พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แห่งเดนมาร์ก | |
---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |
ครองราชย์ | 13 มีนาคม ค.ศ. 1808 – 3 ธันวาคม ค.ศ. 1839 |
ราชาภิเษก | 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1815 ปราสาทเฟรเดอริกส์บอร์ก |
ก่อนหน้า | พระเจ้าคริสเตียนที่ 7 |
ถัดไป | พระเจ้าคริสเตียนที่ 8 |
พระมหากษัตริย์แห่งนอร์เวย์ | |
ครองราชย์ | 13 มีนาคม ค.ศ. 1808 – 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1814 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าคริสเตียนที่ 7 |
ถัดไป | พระเจ้าคริสเตียน เฟรเดอริก |
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ | |
ระหว่าง | 14 เมษายน ค.ศ. 1784 – 13 มีนาคม ค.ศ. 1808 |
ก่อนหน้า | เจ้าชายเฟรเดอริก รัชทายาทแห่งเดนมาร์ก |
พระมหากษัตริย์ | พระเจ้าคริสเตียนที่ 7 |
พระราชสมภพ | 28 มกราคม ค.ศ. 1768 ณ พระราชวังคริสเตียนบอร์ก โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก |
สวรรคต | 3 ธันวาคม ค.ศ. 1839 ณ พระราชวังอามาเลียนบอร์ก โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (พระชนมายุ 71 พรรษา) |
คู่อภิเษก | เจ้าหญิงมารี โซฟีแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล |
พระราชบุตร | เจ้าชายคริสเตียน เจ้าหญิงมารี หลุยส์ เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงหลุยส์ เจ้าชายคริสเตียน เจ้าหญิงจูเลียนา หลุยส์ เจ้าหญิงเฟรเดอริเก มารี เจ้าหญิงวิลเฮลมิเน มารีแห่งเดนมาร์ก โลวีซา เคานท์เตสแห่งเดนเนมานด์ คาโรไลน์ เคานท์เตสแห่งเดนเนมานด์ เฟรเดอริก เคานท์แห่งเดนเนมานด์ วัลเดมาร์ เคานท์แห่งเดนเนมานด์ |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ออลเดนบูร์ก |
พระราชบิดา | พระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก |
พระราชมารดา | เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่ |
พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6[1] (ทั้งภาษาเดนมาร์กกับนอร์เวย์:Frederik; 28 มกราคม พ.ศ. 2311 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2382) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์ก (13 มีนาคม พ.ศ. 2351 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2382) และพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์กกับสมเด็จพระราชินีมาทิลดาแห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร การปกครองของพระองค์เป็นการอธิบายถึงการเป็น พระประมุขสูงสุดที่ทรงภูมิธรรม (An enlightened despot) ในยุคเรืองปัญญา คติพจน์ประจำรัชกาลของพระองค์คือ พระผู้เป็นเจ้าและความยุติธรรม (Gud og den retfærdige sag)
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]เจ้าชายเฟรเดอริกพระราชสมภพในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2311 ณ พระราชวังคริสเตียนเบอร์ก โคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก พระราชบิดาคือพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก ส่วนพระราชมารดาคือสมเด็จพระราชินีมาทิลดาแห่งเดนมาร์ก ซึ่งทรงเป็นสมาชิกในราชวงศ์อังกฤษ หลังจากพระราชสมภพ เจ้าชายทรงได้รับพระอิศริยยศ มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์
พระราชบิดาของพระองค์มีพระสติวิปลาส ในตอนที่พระนางมาทิลดาทรงประสูติพระโอรสซึ่งก็คือเจ้าชายเฟรเดอริก ก็ไม่ทำให้พระอาการทุเลาขึ้น หลังการประสูติกาลได้เพียงหนึ่งปี พระนางมาทิลดา พระมารดาได้มีความสัมพันธ์กับ โจฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซี จิตแพทย์ชาวเยอรมันและแพทย์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าคริสเตียน และทำให้สตรูเอนซีได้ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมือง
พระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีเป็นผู้กำหนดการศึกษาของพระโอรส ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2314 พระนางมาทิลดาทรงพระประสูติกาลพระธิดาองค์หนึ่งอย่างลับ ๆ ที่พระราชวังเฮิร์สโชล์ม ซึ่งก็คือ เจ้าหญิงหลุยส์ ออกัสตาแห่งเดนมาร์ก และเป็นที่ลือกันว่าพระบิดาของเจ้าหญิงไม่ใช่พระเจ้าคริสเตียนแต่เป็นสตรูเอนซี แต่พระเจ้าคริสเตียนกลับทรงยินดีที่ได้พระธิดาและทรงเชื่อว่าเป็นสายพระโลหิตของพระองค์จริง พระองค์ได้ลงพระปรมาภิไธยยอมรับการประสูติกาล ซึ่งทำให้เจ้าหญิงเป็นพระขนิษฐาของเจ้าชายเฟรเดอริคโดยอัตโนมัติ
ผู้สำเร็จราชการแห่งเดนมาร์ก
[แก้]ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2315 เจ้าชายเฟรเดอริก ขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษา ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้สำเร็จราชการแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ โดยทรงอยู่ภายใต้พระนางมาทิลดา ผู้เป็นพระมารดาและสตรูเอนซี ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ในคืนวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2315 พระนางจูเลียนา มาเรีย พระราชชนนี พระมารดาเลี้ยงของพระเจ้าคริสเตียนและเหล่าขุนนางที่เป็นศัตรูกับสตรูเอนซี ได้ก่อการรัฐประหารพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซี พระนางจูเลียนาและคณะผู้ไต่สวนได้ตัดสินประหารชีวิตสตรูเอนซี ส่วนพระนางมาทิลดาทรงถูกบังคับให้ทรงหย่ากับพระเจ้าคริสเตียนแล้วถูกเนรเทศออกจากเดนมาร์ก พระนางสิ้นพระชนม์อย่างโดดเดี่ยวที่เมืองเชลล์
ในปีพ.ศ. 2327 มกุฎราชกุมารเฟรเดอริกทรงได้รับสิทธิตามกฎหมายโดยพระองค์มีพระชนมายุครบ 16 พรรษา ซึ่งเลยกำหนดที่พระพันปีหลวงจูเลยนาจะมอบพระราชอำนาจคืนถึง 2 ปี พระนางทรงพยายามชักจูงให้พระนัดดาทรงมอบพระราชอำนาจให้พระนางไปก่อน หรือไม่ก็อาศัยคำแนะนำของพระนางในด้านต่างๆ และพระนางทรงบังคับให้พระเจ้าคริสเตียนทรงลงนามในพระราชกฤษฎีกาโดยกำหนดให้ มกุฎราชกุมารต้องยินยอมในคำแนะนำปรึกษาตั้งแต่ทรงเริ่มดำรงพระยศจนถึงปัจจุบัน โดยทรงต้องรับฟังบุคคล 3 คน ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้าชายเฟรเดอริก ผู้สำเร็จราชการ และพระนางจูเลียนา พระราชชนนี[2]. พระนางทรงร่วมมือกับโอฟ โฮห์-กัลด์เบิร์กซึ่งเป็นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นพยายามยึดอำนาจเจ้าชายเฟรเดอริค อย่างไรก็ตามมกุฎราชกุมารทรงพยายามขจัดอำนาจของพระนางจูเลียนา พระอัยยิกาและพระโอรสของพระนาง และในการร่วมสภาครั้งแรกของพระองค์ พระองค์ทรงไล่คณะรัฐบาลหลวงโดยที่ไม่ได้แจ้งแก่พระนางจูเลียนา และทรงแต่งตั้งคนของพระองค์เข้ารับตำแหน่ง อีกทั้งมกุฎราชกุมารทรงบังคับให้พระบิดาซึ่งมีพระจริตฟั่นเฟือนลงนามในเอกสารแต่งตั้งพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างผู้สนับสนุนมกุฎราชกุมารกับผู้สนับสนุนพระพันปีหลวงจูเลียนา พระนางทรงพยายามแย่งชิงกษัตริย์จากพระหัตถ์ของพระนัดดา แต่ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะคือ มกุฎราชกุมารเฟรเดอริค ซึ่งนับเป็นจุดจบในระบอบเก่าสมัยยุคกลางของเดนมาร์ก รัชกาลที่ปกครองโดยพระราชชนนีจูเลียนาและพระโอรสของพระนางสิ้นสุดลง ซึ่งถือเป็นการรัฐประหารในพ.ศ. 2327 โดยชาวเดนมาร์กต่างยินดีกันทั่งหน้าซึ่งจบสิ้นยุคสมัยของพระราชชนนีซึ่งปกครองเดนมาร์กอย่างกดขี่และทารุณ พระองค์ทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการจนกระทั่งพระเจ้าคริสเตียน พระบิดาเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2351
ในระหว่างทรงดำรงเป็นผ้สำเร็จราชการ มกุฎราชกุมารทรงทำการปฏิรูปเดนมาร์กให้เป็นไปตามแนวทางแบบเสรีนิยมร่วมกับรัฐมนตรีแอนเดรียส ปีเตอร์ เบิร์นสตอฟ ซึ่งทรงประกาศยกเลิกระบบมาเนอร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง ในปีพ.ศ. 2331 วิกฤตที่เกิดขึ้นในสมัยนี้คือ ทรงไม่เห็นด้วยที่ชาวอังกฤษลำเลียงสินค้าส่งทางเรืออย่างไม่เป็นธรรม ทำให้สหราชอาณาจักรได้ประกาศสงครามกับเดนมาร์กและนอร์เวย์ ซึ่งเป็นสมรภูมิทางทะเลเกิดขึ้นที่โคเปนเฮเกน เรียกว่า สมรภูมิโคเปนเฮเกน ส่งผลให้เดนมาร์กพ่ายแพ้อย่างหนัก
มกุฎราชกุมารเฟรเดอริกอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมารี โซฟีแห่งเฮสส์-คาสเซิล พระญาติชั้นหนึ่งและเป็นสมาชิกราชวงศ์เยอรมันและการอภิเษกครั้งนี้จะเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์เดนมาร์กและอังกฤษ ทั้ง 2 พระองค์อภิเษกสมรสที่ก็อตธ็อปในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2333 มีพระโอรสและพระธิดาร่วมกัน 8 พระองค์ แต่มีพระธิดาเพียง 3 พระองค์ทรงรอดพระชนม์ชีพจากวัยเยาว์มาได้ เจ้าหญิงวิลเฮลมิเน มารีแห่งเดนมาร์กพระธิดาองค์สุดท้องต่อมาทรงได้เป็นพระชายาในพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 7 แห่งเดนมาร์ก เนื่องจากทรงไม่มีพระราชโอรสซึ่งดำรงพระชนม์ชีพ เมื่อพระองค์สวรรคต ราชบัลลังก์จึงไปได้แก่ พระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์ก พระญาติของพระองค์ ซึ่งเป็นพระนัดดาในพระนางจูเลียนา มาเรีย พระราชชนนี
พระมหากษัตริย์เดนมาร์กและปัญหาราชบัลลังก์สวีเดน
[แก้]เจ้าชายเฟรเดอริกทรงชึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2351 ในปีพ.ศ. 2351 ราชบัลลังก์สวีเดนเริ่มปรากฏสัญญาณแห่งการว่างลง เนื่องจากพระเจ้ากุสตาฟที่ 4 อดอล์ฟแห่งสวีเดนทรงถูกปฏิวัติรัฐประหารและทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ พระเจ้าเฟรเดอริกทรงหวังว่าจะได้รับเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน พระเจ้าเฟรเดอริกเป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กและนอร์เวย์พระองค์แรกที่ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ากุสตาฟที่ 1 แห่งสวีเดน ผู้ซึ่งประกาศอิสรภาพสวีเดนหลังจากยุคสมัยของสหภาพที่รวมด้วยประเทศในแถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย (นอกจากนี้พระขนิษฐาของพระเจ้าเฟรเดอริกยังทรงเป็นเชื้อสายของพระเจ้ากุสตาฟโดยผ่านทางพระมารดาของพระนาง ตลอดจนเจ้าชายเฟรเดอริก รัชทายาทแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์พระปิตุลาของพระองค์ด้วย ซึ่งเป็นทายาทของพระนางจูเลียนา) ในตอนแรก เฟรเดอริก คริสเตียนที่ 2 ดยุกแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-ออกัสเตนเบิร์กพระขนิษฐภรรดา(น้องเขย)ของพระเจ้าเฟรเดอริกทรงได้รับการเลือกให้เป็นกษัตริย์แห่งสวีเดนองค์ต่อไปซึ่งจะมีผลหลังจากพระเจ้าคาร์ลที่ 13 แห่งสวีเดนสวรรคต แต่ในภายหลังจอมพลฌ็อง เบอร์นาดอตต์ซึ่งได้รับเลือกจากพระเจ้าชาลส์ที่ 13 ให้สืบราชบัลลังก์ต่อเป็น พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันแห่งสวีเดน นับเป็นจุดสิ้นสุดราชวงศ์ฮ็อลชไตน์-ก็อตธ็อปและเริ่มต้นราชวงศ์เบอร์นาด็อตต์ของสวีเดน ในสงครามนโปเลียน พระองค์ทรงนำเดนมาร์กเข้าสู่สงครามโดยเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส
หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1ทรงหนีออกจากมอสโก และความปราชัยของพระองค์ในยุทธการที่ไลพ์ซิก ในปีพ.ศ. 2356 ทำให้ทรงถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา การปราชัยครั้งนี้ส่งผลให้เดนมาร์กอยู่ในสถานะผู้แพ้ สวีเดนโดยรัชทายาทคาร์ล จอห์นได้รีบดำเนินการอย่างรวดเร็วทรงส่งกองทัพที่ประจำอยู่ที่ฮ็อลชไตน์เพื่อการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเดนมาร์กและสวีเดนในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2357 โดยในสนธิสัญญากำหนดให้เดนมาร์กต้องมอบนอร์เวย์ให้แก่สวีเดน และสวีเดนจะยกแคว้นโพเมราเนียและรูเกนให้เป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์กเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน และจ่ายเงินสมทบสำหรับการเสียนอร์เวย์แก่เดนมาร์ก ซึ่งเรียกว่า สนธิสัญญาเคล และเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การสูญเสียนอร์เวย์ของเดนมาร์ก พระเจ้าเฟรเดอริกทรงยอมในสนธิสัญญาเคล พระองค์ทรงเห็นว่าสวีเดนและอังกฤษพยายามจะแบ่งประเทศเดนมาร์ก และทรงเห็นว่ารัชทายาทแห่งสวีเดนจะคุกคามเดนมาร์กทุกเมื่อถ้ามีโอกาส พระองค์ทรงพิจารณาว่าภัยคุกคามของสวีเดนต่อเดนมาร์กนั้นรุนแรง พระองค์ทรงดำริที่จะดึงมหาอำนาจมาช่วยเหลือเดนมาร์กจากการคุกคามของสวีเดน อังกฤษและรัสเซีย
ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2357 เสด็จประพาสเวียนนาเป็นการส่วนพระองค์ พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับจากจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่หน้าประตูเมือง พระเจ้าเฟรเดอริกและพระจักรพรรดิเสด็จประทับรถม้าพระที่นั่งไปยังพระราชวังฮอฟบวร์ก พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับจากชาวออสเตรียอย่างอบอุ่น แต่ชาวออสเตรียบางคนกล่าวว่าการต้อนรับของจักรพรรดิครั้งนี้เป็นเพียงประเพณีและทั้งสองพระองค์มีกตรัสเรื่องส่วนพระองค์มากกว่าเรื่องการเมือง
อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ออสเตรียในระหว่างการเสด็จประพาสกรุงเวียนนาของพระเจ้าเฟรเดอริกได้รับการบรรยายว่าดูดีที่สุด ในการประชุมข้อเสนอของพระองค์ที่เวียนนาทำให้ขัดต่อพระประมุขของรัฐอื่น ๆ มากที่สุด แต่พระองค์กลับได้รับความนิยมจากประชาชนในกรุงเวียนนาอย่างมากในการเรียกร้องสิทธิของเดนมาร์ก เนื่องจากความขัดแย้งกับประมุขรัฐต่างๆทำให้ทรงถูกประณามจากพระประมุขรัฐต่างๆว่า เป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ
ในการประชุมที่เวียนนาครั้งนี้ พระเจ้าเฟรเดอริคทรงไม่ได้รับการให้เกรียติเทียบเท่าพระประมุขรัฐอื่นๆ แต่การประชุมที่เวียนนาครั้งนี้มีผู้มาเข้าชมมากมาย มีการเต้นรำและความบันเทิง ซึ่งทำให้ถูกเรียกว่า "การประชุมเต้นรำ" และมีเรื่องน่าขบขันคือ "จักรพรรดิออสเตรียทรงสนุกสนานกับทุกสิ่ง จักรพรรดิรัสเซียทรงรักทุกอย่าง และพระมหากษัตริย์เดนมาร์กทรงดำริถึงทุกคน" ในระหว่างทรงประทับอยู่ที่เยนนา ทรงรับเอาแคโรไลน์ เซาเฟิร์ต สตรีชาวออสเตรียที่เป็นนักเต้นรำในการประชุมวัย 18 ปีมาเป็นพระสนม โดยเธออยู่ร่วมกับพระเจ้าเฟรเดอริคในเวลาอันสั้นตลอดเวลาที่ประทับในเวียนนา
แม้ว่าจะมีการจัดการให้มีความบันเทิงในการประชุมที่ตึงเครียด รัชทายาทคาร์ล จอห์นแห่งสวีเดนทรงเชื่อมั่นว่า พระเจ้าเฟรเดอริคจะไม่สามารถต้านทานกระแสการต่อต้านจากชาวนอร์เวย์ และจากสนธิสัญญาเคลทำให้เศรษฐกิจเดนมาร์กซบเซาอย่างมาก
เมื่ออาณาจักรล้มละลาย ทูตรัสเซียได้รายงานว่า "น่าแปลกในดินแดนนี้ นำมาซึ่งความรุ่งเรืองครั้งสุดท้ายและกลายเป็นซากจากการคุกคาม ต้องมีการแก้ปัญหา"
เจ้าหน้าที่เดนมาร์กทำงานอย่างหนัก เพื่อให้รัชทายาทคาร์ล จอห์นแห่งสวีเดนทรงปฏิบัติตามสนธิสัญญาเคล ในการชดเชยการสูญเสียนอร์เวย์ อย่างไรก็ตามสวีเดนได้เกิดความล้มเหลวจากการสัมปทานแผ่นดินที่ได้มา และรัสเซียจำต้องลดค่าบำรุงกองทัพรัสเซีย
ในเดนมาร์ก
[แก้]แม้ว่าด้วยความติ้นรนของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 ในการประชุมที่เวียนนาจะสามารถช่วยประเทศเดนมาร์กของพระองค์จากการคุกคามของมหาอำนาจได้ แต่ก็ทรงผิดหวังที่ประเทศไม่ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร ในช่วงที่เสด็จกลับฮ็อลชไตน์และเดนมาร์กได้มีการฉลองชัยชนะของพระองค์ ซึ่งมีกระแสความนิยมระบอบกษัตริย์ แต่มีประชาชนบางกลุ่มมีความรู้สึกหวาดกลัวที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ในทุกๆที่ของเมืองอัลโทนา พระองค์ทรงได้รับการต้อนรับจากประตูเมืองอย่างสมพระเกียรติ มีการยิงสลุตและฝูงชนที่ปิติยินดีมาถวายการต้อนรับ ในเมืองเรนส์บูร์ก พระองค์ทรงประทับรถพระที่นั่งผ่านในเวลากลางคืนเพื่อเสด็จไปประทับที่พระราชวัง ทุกสิ่งสว่างไสว เหล่าสตรีออกมาร้องเพลงสรรเสริญพระองค์ และการจัดงานเฉลิมฉลองพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 6 มีทุกท้องที่จนถึงเมืองหลวง
เนื่องจากความต้องการประชาธิปไตยในประชาชนมีสูง รวมทั้งความนิยมในพระองค์ก็สูงเช่นกัน พระองค์ทรงไม่เต็มใจที่สละพระราชอำนาจในวิธีการประชาธิปไตย พระองค์ทรงให้มีการเลือกตั้งstænderforsamlingerทั้ง 4 เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินระบอบประชาธิปไตยแม้ว่าพระองค์จะทรงเห็นว่าพวกเขาเป็นเพียงคณะที่ปรึกษาเท่านั้น โดยให้มีการเลือกตั้งกันทั่งราชอาณาจักร
ในปีพ.ศ. 2380 ได้มีการจัดแสดงศิลปวัตถุประจำชาติเพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศในการสร้างพิพิธภัณฑ์ในโคเปนเฮเกน ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการคือ เบอร์เทล โทรวัลด์เซน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2381 โทรวัลด์เซนจึงเดินทางกลับเดนมาร์กหลังจากอาศัยอยู่ที่โรมเป็นเวลา 40 ปี และในปีนั้นพระเจ้าเฟรเดอริคทรงมอบที่ดินสำหรับสร้างพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ถัดจากพระราชวังคริสเตียนเบอร์กไปทางขวา นครโคเปนเฮเกนได้เจริญขึ้นจากการที่มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ซึ่งสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์ออกแบบโดย ไมเคิล ก็อตท์ทีบ บินเดสโบล์ ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2391 ได้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์โทรวัลด์เซน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเดนมาร์ก
ในช่วงนั้นได้มีปัญหาเกี่ยวกับการมีทาส พระองค์ทรงพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างหนัก ในระหว่างปี พ.ศ. 2344 ซึ่งเกิดสงครามกับอังกฤษในสมรภูมิโคเปนเฮเกน มีทาสชาวนิโกรสองคนคือ ฮันส์ โจนาธานและปีเตอร์ ซามูเอลจากทะเลแคริบเบียน ในมาถึงกรุงโคเปนเฮเกนในระหว่างสงคราม ทั้งสองคนได้ร่วมสู้กับกองทัพเรืออังกฤษ หลังสิ้นสุดสงคราม พระองค์ทรงประทานตำแหน่งในกองทัพเรือเป็นรางวัล แต่ทั้งสองปฏิเสธเพราะตนเองเป็นทาสและต้องกลับไปทำงานรับใช้นายจ้างของตน โดยใช้แรงงานไร่กาแฟทางภาคตะวันตกของอินเดีย พระองค์จึงริเริ่มหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องทาส ด้วยการบริหารของพระเจ้าเฟรเดอริค ปีเตอร์ แอนเดรียส ไฮเบิร์กนักปรัชญาชาวเดนมาร์ก ได้ออกมาวิพากย์วิจารณ์การบริหารของพระองค์ พระองค์ทรงรู้สึกว่าไฮเบิร์กดูถูกพระองค์ตลอดเวลาตั้งแต่ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2333 ขณะยังทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ เมื่อพระองค์และพระนางมารี โซฟีพระชายาซึ่งทรงเป็นที่สนใจในวงการสังคม และไฮเบิร์กได้บรรยายถึงพระองค์ว่า "ของตกแต่งในพระตำหนักจัดอย่างน่าเกลียด เหล่าขุนนางจับปากกาและผูกริบบินเหมือนพวกโบราณ...อย่างไรก็ตาม ฝ่าบาท พวกเขาดูดีอยู่อย่างเดียวคือ การที่ไม่ได้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของพระองค์" พระองค์ทรงตอบกลับว่า"ความจริงแล้วข้าพเจ้ายินดีต้อนรับสุภาพบุรุษเหล่านี้ทุกคน แต่เพียงคุณเท่านั้นที่ข้าพเจ้าจะไม่เมตตาอีกต่อไป" ในคริสต์มาสอีพ พ.ศ. 2342 ไฮเบิร์กถูกเนรเทศตลอดชีวิต
สวรรคต
[แก้]พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 เสด็จสวรรคตในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2382 ณ พระราชวังอามาเลียนเบอร์ก กรุงโคเปนเฮเกน สิริพระชนมายุ 71 พรรษา พระบรมศพได้ถูกฝังที่มหาวิหารร็อคสไลด์ พระองค์ทรงครองราชสมบัติเป็นเวลาทั้งหมด 55 ปี โดย 24 ปีแรกทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 และอีก 31 ปี เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
การสืบราชบัลลังก์
[แก้]พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 6 เสด็จสวรรคตโดยปราศจากพระราชโอรสที่สามารถสืบราชบัลลังก์ เนื่องจากพระโอรสของพระองค์ซึ่งประสูติแต่พระราชินีมารี โซฟีสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์และพระโอรสที่ประสูติแต่พระสนม เฟรเดอริเก เดนเนมานด์ ก็ไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์ ทำให้ราชบัลลังก์ไปได้แก่ เจ้าชายคริสเตียน เฟรเดอริก พระราชโอรสในเจ้าชายเฟรเดอริก รัชทายาทแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ พระปิตุลาของพระเจ้าเฟรเดอริคและเป็นพระนัดดาในพระนางจูเลียนา มาเรีย พระอัยยิกาซึ่งเคยเป็นศัตรูกับพระเจ้าเฟรเดอริกในช่วงแรก เจ้าชายคริสเตียนได้ขึ้นครองราชย์ พระนาม พระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์ก
หลังจากพระเจ้าคริสเตียนที่ 8 สวรรคต พระโอรสของพระองค์ได้ครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 7 แห่งเดนมาร์ก ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิลเฮลมิเน มารีแห่งเดนมาร์ก พระราชธิดาในพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แต่หลังจากนั้นทรงหย่ากันโดยไม่มีพระโอรส-ธิดา ซึ่งหมายความว่าเชื้อสายของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 ซึ่งเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ได้หมดสิ้นลง คงเหลือแต่พระโอรสและพระธิดาที่ประสูติแต่พระสนม เฟรเดอริเก เดนเนมานด์ ที่มีทายาทสืบสกุลของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 ต่อไปแต่ไม่มีสิทธิในราชวงศ์
พระโอรส-ธิดา
[แก้]พระโอรส-ธิดาที่ประสูติแต่เจ้าหญิงมารี โซฟีแห่งเฮสส์-คาสเซิล
[แก้]พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส (ประสูติและสิ้นพระชนม์) และพระโอรส-ธิดา | |
เจ้าชายคริสเตียน | พ.ศ. 2334 |
22 กันยายนพ.ศ. 2334 |
23 กันยายนสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงมารี หลุยส์ | พ.ศ. 2335 |
19 พฤศจิกายนพ.ศ. 2336 |
12 ตุลาคมสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งเดนมาร์ก | พ.ศ. 2336 |
28 ตุลาคมพ.ศ. 2424 |
31 มันาคมอภิเษกสมรส 1 สิงหาคม พ.ศ. 2372 เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งเดนมาร์ก (พ.ศ. 2335–2406) ไม่มีพระโอรสธิดา | |
เจ้าหญิงหลุยส์ | พ.ศ. 2338 |
21 สิงหาคมพ.ศ. 2338 |
7 ธันวาคมสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าชายคริสเตียน | พ.ศ. 2340 |
1 กันยายนพ.ศ. 2340 |
5 กันยายนสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงจูเลียนา หลุยส์ | พ.ศ. 2345 |
12 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2345 |
23 กุมภาพันธ์สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงเฟรเดอริเก มารี | พ.ศ. 2348 |
3 มิถุนายนพ.ศ. 2348 |
14 กรกฎาคมสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ | |
เจ้าหญิงวิลเฮลมิเน มารีแห่งเดนมาร์ก | พ.ศ. 2351 |
18 มกราคมพ.ศ. 2434 |
30 พฤษภาคมอภิเษกสมรสครั้งแรก 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2371 เจ้าชายเฟรเดอริคแห่งเดนมาร์กซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 7 แห่งเดนมาร์ก (พ.ศ. 2351–2406) ต่อมาทรงหย่า ไม่มีพระโอรสธิดา อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ดยุคคาร์ลแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ชอนเดนบวร์ก-กลีคสบวร์ก (พ.ศ. 2356 - พ.ศ. 2421) ซึ่งต่อมาเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ไม่มีพระโอรสธิดา |
พระราชโอรสธิดาที่ประสูติแต่พระสนมเฟรเดอริเก เดนเนมานด์
[แก้]- โลวีซา เคาน์เตสแห่งเดนเนมานด์ (16 เมษายน พ.ศ. 2353 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2481) สมรสในปีพ.ศ. 2379 กับวิลเลียม ฟาน ซาชารี(พ.ศ. 2350 - พ.ศ. 2414) มีบุตรธิดา
- คาโรไลน์ เคาน์เตสแห่งเดนเนมานด์ (พ.ศ. 2355 - พ.ศ. 2387) สมรสในปีพ.ศ. 2380 กับอดอล์ฟ เฟรเดอริค ชาค ฟาน บร็อคดอร์ฟ(พ.ศ. 2353 - พ.ศ. 2402) มีบุตรธิดา
- เฟรเดอริก เคาน์แห่งเดนเนมานด์ (20 กรกฎาคม พ.ศ. 2356 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2431) สมรสครั้งแรกในปีพ.ศ. 2383 กับฟรานซิสกา ฟาน สชอเทน(พ.ศ. 2363 - พ.ศ. 2387) ไม่มีบุตรธิดา,สมรสครั้งที่สองในปีพ.ศ. 2388 กับโลวีซา เกรฟวินด์ ชชูลิน(พ.ศ. 2358 - พ.ศ. 2427) ไม่มีบุตรธิดา,สมรสครั้งที่สามในปีพ.ศ. 2427 กับวิลเฮลมินา เลาว์เซน(พ.ศ. 2383 - พ.ศ. 2433) ไม่มีบุตรธิดา
- วัลเดมาร์ เคานท์แห่งเดนเนมานด์ (6 มิถุนายน พ.ศ. 2362 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2373)