สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 แห่งเดนมาร์ก
มาร์เกรเธอที่ 1 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมรูปสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 ที่มีการสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1423 บนโลงพระบรมศพของพระองค์ในมหาวิหารรอสกิลด์[1] | |||||
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก | |||||
ครองราชย์ | 10 สิงหาคม ค.ศ. 1387 - 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412 (25 ปี 79 วัน) | ||||
ก่อนหน้า | โอลาฟที่ 2 | ||||
ถัดไป | อีริคที่ 7 | ||||
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งนอร์เวย์ | |||||
ครองราชย์ | 3 สิงหาคม ค.ศ. 1387 - 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412 (25 ปี 86 วัน) | ||||
ก่อนหน้า | โอลาฟที่ 4 | ||||
ถัดไป | อีริคที่ 3 | ||||
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสวีเดน | |||||
ครองราชย์ | 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1389 - 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412 (23 ปี 247 วัน) | ||||
ก่อนหน้า | อัลเบรกท์ | ||||
ถัดไป | อีริคที่ 13 | ||||
พระราชสมภพ | 15 มีนาคม ค.ศ. 1353[2] ปราสาทซือบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก | ||||
สวรรคต | 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412 บนเรือพระที่นั่ง ณ ท่าเรือเฟล็นส์บวร์ค, ชเลสวิช, เดนมาร์ก (ปัจจุบันอยู่ในเยอรมนี) | (59 ปี)||||
ฝังพระศพ | มหาวิหารรอสกิลด์, เดนมาร์ก | ||||
คู่อภิเษก | พระเจ้าโฮกุนที่ 6 แห่งนอร์เวย์ | ||||
พระราชบุตร | พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งเดนมาร์ก | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์แอสตริดเซน | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก | ||||
พระราชมารดา | เฮลวิกแห่งชเลสวิช | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 แห่งเดนมาร์ก (เดนมาร์ก: Margrete Valdemarsdatter, นอร์เวย์: Margrete Valdemarsdatter, สวีเดน: Margareta Valdemarsdotter, อังกฤษ: Queen Margaret I of Denmark; 15 มีนาคม ค.ศ. 1353 - 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินี (พระอัครมเหสี) แห่งนอร์เวย์ (ค.ศ. 1363 - 1380) และสวีเดน (ค.ศ. 1363 - 1364) และจากนั้นทรงเป็นพระประมุขตามสิทธิในราชบัลลังก์ของเดนมาร์ก นอร์เวย์และสวีเดน ซึ่งในภายหลังนี้เกิดความคลุมเครือและสับสนถึงการเรียกพระบรมราชอิสริยยศของพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 ทรงเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพคาลมาร์ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมทั่วคาบสมุทรสแกนดิเนเวียเป็นระยะเวลากว่าศตวรรษ[3][4] พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่ทรงปัญญา ขะมักเขม้นและมีความสามารถ ทรงได้รับพระสมัญญาว่า "เซมิรามิสแห่งอุดรทิศ" (Semiramis of the North)[5] หรือ "เลดี้คิง" (the Lady King) แม้ว่าพระนามชื่อหลังนี้เป็นพระนามที่เย้ยหยันอันมาจากศัตรูของพระองค์ คือ อัลเบิร์ตแห่งเมคเลินบวร์ค[6] แต่กลับกลายว่าชื่อนี้เป็นที่นิยมใช้เมื่อมีการกล่าวถึงความสามารถของพระองค์[7][8][9][10]
พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์สุดท้องในพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์กกับพระนางเฮลวิกแห่งชเลสวิช พระองค์ประสูติที่ปราสาทซือบอร์ก สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 ทรงเป็นผู้ที่โปรดการทรงงาน บริหารราชอาณาจักรด้วยความอดทนและเป็นนักการทูตผู้มีชั้นเชิง[11] ทรงเป็นผู้ที่มีปณิธานอย่างแรงกล้าในการรวมสแกนดิเนเวียให้เป็นรัฐอัตลักษณ์หนึ่งเดียวและมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะแข่งขันทางอำนาจกับสันนิบาตฮันเซอ[12] พระองค์ไม่ทรงมีรัชทายาทตามสายพระโลหิตที่จะมาสืบบัลลังก์ต่อ[13][14][15] ด้วยพระโอรสเพียงพระองค์เดียวได้สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อนที่พระองค์จะครองราชย์ แม้ว่านักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพระองค์ทรงมีพระราชธิดานอกสมรสอีกพระองค์หนึ่งอันประสูติแต่อับราฮัม บรอเดอร์สัน ที่ปรึกษาชาวสวีเดนคนสนิทของพระนาง[16] อย่างไรก็ตามสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 ทรงใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดในการประคับประคองกษัตริย์พระองค์ต่อไปซึ่งไร้ความสามารถ โดยทรงอบรมและให้ความรู้แก่อีริคแห่งพอเมอเรเนีย และเจ้าหญิงฟิลิปปาแห่งอังกฤษ พระชายาของพระองค์ อีริคแห่งพอเมอเรเนียเป็นพระนัดดา (หลานยาย) ของพระเชษฐภคินีในพระนางมาร์เกรเธอ โดยพระนางมาร์เกรเธอที่ 1 ทรงครองราชย์ร่วมกันกับอีริคแห่งพอเมอเรเนีย เป็นพระเจ้าอีริคที่ 7 แห่งเดนมาร์ก ทำให้มีพระประมุขสองพระองค์ สมเด็จพระราชินีฟิลิปปาเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยมภายใต้การอบรมของพระองค์ แต่สิ้นพระชนม์เร็วเกินไป ในที่สุดสหภาพที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 ทรงพยายามอย่างมากที่จะรักษาไว้สืบไปต้องสลายตัวลงอย่างช้าๆ
นักประวัติศาสตร์บางคนวิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 ว่าทรงฝักใฝ่เดนมาร์กมากเกินไป และปกครองด้วยเผด็จการอย่างหนัก แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วพระองค์ทรงได้รับการยกย่องอย่างสูงในนอร์เวย์ และเป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งในเดนมาร์กและสวีเดน พระองค์ทรงถูกแต่งเติมเรื่องราวในแง่ลบจากพงศาวดารทางศาสนาร่วมสมัย ว่าพระองค์ไม่ทรงมีความปราณี ทรงปราบปรามศาสนจักรเพื่อสร้างพระราชอำนาจของราชวงศ์[17][18][19][20][21][22]
ปัจจุบันพระองค์ทรงถูกเรียกว่า "มาร์เกรเธอที่ 1" ในเดนมาร์ก เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับอดีตสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 แห่งเดนมาร์ก กษัตริย์องค์ปัจจุบันของเดนมาร์ก[23]
ช่วงต้นพระชนมชีพและอภิเษกสมรส
[แก้]เจ้าหญิงมาร์เกรเธอประสูติในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1353 ทรงเป็นพระราชบุตรพระองค์ที่หก และเป็นองค์สุดท้องในพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์กกับเฮลวิกแห่งชเลสวิช[2][24] เจ้าหญิงประสูติที่ปราสาทซือบอร์ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระราชบิดาของเจ้าหญิง ทรงกักขังพระราชินีเฮลวิก พระราชมารดา[25] เจ้าหญิงทรงเข้ารับบัพติศมาที่รอสกิลด์ และในปีค.ศ. 1359 ขณะมีพระชนมายุ 6 พรรษา ทรงหมั้นหมายกับพระเจ้าโฮกุนที่ 6 แห่งนอร์เวย์ วัย 18 พรรษา พระโอรสองค์สุดท้องในพระเจ้ามักนุสที่ 4 และที่ 6 แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ตามลำดับ[24] ในสนธิสัญญาการอภิเษกสมรสได้มีข้อตกลงให้กษัตริย์วัลเดมาร์แห่งเดนมาร์กทำการช่วยเหลือกษัตริย์มักนุสแห่งสวีเดนในการต่อต้านพระเจ้าอีริคที่ 12 แห่งสวีเดน พระโอรสในกษัตริย์มักนุสซึ่งในปีค.ศ. 1356 ทำการยึดครองดินแดนภาคใต้ของสวีเดน ซึ่งต่อต้านอำนาจพระราชบิดา[24] การอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์กจึงเป็นส่วนหนึ่งของการแย่งชิงอำนาจในกลุ่มอาณาจักรนอร์ดิก มีความไม่พอใจถึงเหตุการณ์นี้ในกลุ่มแวดวงการเมืองต่างๆ นักกิจกรรมทางการเมืองอย่าง บริจิตแห่งสวีเดน ได้เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์นี้ไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาว่าเหมือน "พวกเด็กๆเล่นตุ๊กตา"[24] เป้าหมายของกษัตริย์วัลเดมาร์ในการอภิเษกสมรสของพระธิดานี้คือการครอบครองแคว้นสคาเนีย ซึ่งถูกจำนองไปให้กับสวีเดนตั้งแต่ปีค.ศ. 1332 [26] ในรัชสมัยกษัตริย์คริสตอฟเฟอร์ที่ 2 ตามแหล่งหลักฐานร่วมสมัยระบุว่า สนธิสัญญาการอภิเษกสมรสมีการระบุถึงข้อตกลงในการคืนปราสาทเฮลซิงบอรย์แก่เดนมาร์ก แต่สิ่งนี้ไม่เพียงพอสำหรับกษัตริย์วัลเดมาร์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1359 ทรงระดมกองทัพขนาดใหญ่กรีฑาทัพข้ามเออเรซุนด์และยึดครองแคว้นสคาเนีย[26] การโจมตีทางตอนใต้ของสวีเดนนี้ถิอเป็นการแสดงให้เห็นว่าเดนมาร์กโจมตีกษัตริย์อีริคที่ 12 และสนับสนุนกษัตริย์มักนุส แต่ในเดือนเดียวกันนั้นกษัตริย์อีริคเสด็จสวรรคต เป็นผลให้สมดุลแห่งอำนาจเปลี่ยน ข้อตกลงระหว่างกษัตริย์วัลเดมาร์และกษัตริย์มักนุสถูกยกเลิกเสียสิ้น รวมถึงการเตรียมอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงมาร์เกรเธอและกษัตริย์โฮกุนแห่งนอร์เวย์ต้องยกเลิกไปด้วย[26]
แต่การยกเลิกสัญญานี้ไม่ได้ทำให้กษัตริย์วัลเดมาร์ถอนทัพออกจากสคาเนีย พระองค์ทรงเดินทัพต่อบุกยึดเกาะเกิทลันด์ในทะเลบอลติก[26] เมืองวิสบี เป็นเมืองที่ชาวเยอรมันอาศัยจำนวนมาก เป็นเมืองหลักบนเกาะนี้และเป็นเมืองสำคัญที่ควบคุมยุทธศาสตร์ของทะเลบอลติก[26] ในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1361 เกิดการสู้รบระหว่างทหารติดอาวุธเดนมาร์กและชาวนากอทลันด์ ทหารเดนส์ชนะและยึดครองวิสบี โดยที่พวกเยอรมันไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย[26] กษัตริย์มักนุสและสันนิบาตฮันเซอไม่สามารถละเลยต่อการยั่วยุของเดนมาร์กได้ และได้ออกกฎหมายห้ามทำการค้ากับเดนมาร์กในทันทีและได้มีข้อตกลงทางทหารร่วมกันหากจำเป็น[27] ในขณะเดียวกันกษัตริย์มักนุสทรงเปิดการเจรจากับเฮนรีที่ 2 เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนส์บวร์ก เกี่ยวกับข้อตกลงอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์โฮกุนแห่งนอร์เวย์ พระโอรสกับเอลิซาเบธแห่งฮ็อลชไตน์ น้องสาวของเคานท์เฮนรี[27] ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1362 ได้มีการออกเรือเพื่อนำเอลิซาเบธมาเสกสมรสที่สวีเดน[27] แต่ด้วยลมพายุได้พัดเรือจากฮ็อลชไตน์หันไปทางเดนมาร์กแทนที่จะเป็นสวีเดน ถูกซัดไปเทียบท่าที่เกาะบอร์นโฮล์มของเดนมาร์ก ซึ่งอาร์กบิชอปแห่งลุนด์ได้ประกาศทันทีว่าการเสกสมรสครั้งนี้เป็นการทำลายกฎของศาสนจักร ซึ่งฝ่ายกษัตริย์มักนุสนั้นทรงหมั้นกับเจ้าหญิงมาร์เกรเธออยู่แล้ว[27] ในท้ายที่สุดกองทัพสวีเดนและฮันเซอได้ถอนทัพออกจากการโจมตีเมืองเฮลซิงบอรย์[27] หลังจากนี้ ได้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพ สันนิบาตฮันเซอและกษัตริย์มักนุสละทิ้งสงคราม[28] ซึ่งหมายความว่า การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงมาร์เกรเธอวัย 10 พรรษา กับกษัตริย์โฮกุนแห่งนอร์เวย์เริ่มเข้ามาสู่ประเด็นเจรจาอีกครั้ง พระราชพิธีอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นในโคเปนเฮเกนในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1363[28]
การอภิเษกสมรสของกษัตริย์โฮกุนและเจ้าหญิงมาร์เกรเธอเป็นการทำสนธิสัญญาพันธมิตร และเจ้าหญิงน่าจะทรงประทับอยู่ที่เดนมาร์กเป็นเวลานานหลังเสกสมรส[28] แต่ในที่สุดทรงถูกพามาที่อาร์เคอเซาส์ในออสโลฟยอร์ด ซึ่งเจ้าหญิงทรงถูกอบรมอภิบาลโดยมาร์ธา อูล์ฟสด็อทเทอร์[29] มาร์ธา อูล์ฟสด็อทเทอร์เป็นสตรีชนชั้นขุนนางที่มีชื่อเสียง และเป็นบุตรสาวของบริจิตแห่งสวีเดน ผู้โด่งดัง และมาร์ธายังเป็นภรรยาในคนุต อัลก็อตสัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ติดตามคนสนิทของกษัตริย์มักนุส[29] เจ้าหญิงมาร์เกรเธอทรงถูกเลี้ยงดูมาพร้อมกับบุตรสาวของมาร์ธา คือ อิงเกเกิร์ด คนุตสด็อทเทอร์[29] ซึ่งทำการอบรมให้การศึกษาแก่เจ้าหญิงในเรื่องศาสนาและสถาบันกษัตริย์[29] บุตรสาวของมาร์ธาคือ อิงเกเกิร์ด และแคทเทอรีน จะเป็นพระสหายสนิทของเจ้าหญิงมาร์เกรเธอที่สุด ด้วยต่อมาจะทรงชื่นชอบการดำเนินงานของอิงเกเกิร์ดในฐานะที่เป็นหัวหน้านางชีและศาสนสถานของนาง นอกจากนี้พระนางจะทรงมีแนวโน้มในการสนับสนุนคณะนางชีบริจิตทีนด้วยความเคารพนับถือและความสนใจทางการเมืองด้วย[30][31] การศึกษาของเจ้าหญิงด้านอื่นค่อนข้างจำกัด แต่ก็ทรงเรียนรู้การเขียน การอ่าน และยังทรงได้รับการศึกษาได้ศิลปการปกครองประเทศ[29] เจ้าหญิงทรงสามารถแสดงอำนาจทางการปกครองและดูเหมือนจะทรงอำนาจอย่างแท้จริง[32]
หลังจากอภิเษกสมรส เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชินีมาร์เกรเธอแห่งนอร์เวย์ ในฐานะพระมเหสี ก็ต้องทรงพบกับความวุ่นวายทางการเมืองในสแกนดิเนเวีย ไม่กี่เดือนหลังอภิเษกสมรส พระเชษฐาของพระนางคือ เจ้าชายคริสตอฟเฟอร์แห่งเดนมาร์ก ดยุกแห่งลอลันด์ สิ้นพระชนม์ ซึ่งหมายความว่าราชอาณาจักรเดนมาร์กไร้รัชทายาท พระราชบิดาของพระนางไม่มีทายาทที่เป็นชายอีกแล้ว[33] ในปีค.ศ. 1364 ขุนนางสวีเดนยึดอำนาจปลดกษัตริย์มักนุสที่ 4 ออกจากราชบัลลังก์ และกีดกันกษัตริย์โฮกุนที่ 6 พระสวามีของพระนางออกจากราชบัลลังก์สวีเดน เหล่าขุนนางเลือกอัลเบิร์ตแห่งเมคเลินบวร์ค ครองราชย์เป็นกษัตริย์อัลเบรกท์แห่งสวีเดน[29]
สำเร็จราชการแผ่นดิน
[แก้]บทบาทแรกของสมเด็จพระราชินีมาร์เกรเธอแห่งนอร์เวย์หลังการสวรรคตของพระราชบิดาในปี ค.ศ. 1375 คือ การเตรียมการจัดการเลือกตั้งกษัตริย์ให้เจ้าชายโอลาฟแห่งนอร์เวย์ พระโอรสวัยทารกของพระนางขึ้นเป็นกษัตริย์เดนมาร์ก ทั้งๆที่สิทธิในบัลลังก์ควรเป็นของดยุกเฮนรีที่ 3 แห่งเมคเลินบวร์ค พระสวามี และอัลเบิร์ต พระโอรสของเจ้าหญิงอิงเงอบอร์กแห่งเดนมาร์ก ดัชเชสแห่งเมคเลินบวร์ค พระเชษฐภคินีของพระนางมาร์เกรเธอที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว พระนางมาร์เกรเธอทรงยืนยันต่อขุนนางว่า เจ้าชายโอลาฟจะได้รับการประกาศให้เป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมแห่งราชบัลลังก์สวีเดนและตำแหน่งต่างๆ ซึ่งกษัตริย์โอลาฟที่ 2 ทรงพระเยาว์เกินกว่าจะปกครองแผ่นดิน และสมเด็จพระราชินีมาร์เกรเธอทรงสามารถพิสูจน์พระองค์เองว่าเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจและชาญฉลาดในช่วงหลายปีนี้ กษัตริย์โฮกุน พระสวามีของพระนางสวรรคตในปีค.ศ. 1380 กษัตริย์โอลาฟจึงทรงสืบราชบัลลังก์นอร์เวย์ด้วย แต่กษัตริย์โอลาฟกลับสวรรคตอย่างกระทันหันในปีค.ศ. 1387 ขณะมีพระชนมายุ 17 พรรษา และพระนางมาร์เกรเธอซึ่งปกครองในนามของกษัตริย์ได้รับการสถาปนาเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งนอร์เวย์และเดนมาร์กในปีถัดมา พระนางทรงมีความสามารถทางการปกครองโดยทรงสามารถทวงคืนชเลสวิชมาจากเหล่าเคานท์แห่งฮ็อลชไตน์-เรนด์บวร์กได้ เคานท์แห่งฮ็อลชไตน์ถือครองชเลสวิชมาหลายชั่วอายุคนและต่อมาได้ดินแดนกลับคืนมาตามข้อตกลงนีบอร์ก ค.ศ. 1386[34] แต่ด้วยข้อตกลงที่เข้มงวดในสัญญาดังกล่าว กลายเป็นว่าราชสำนักเดนมาร์กได้ประโยชน์ทั้งหมดจากการทำข้อตกลงนี้ ด้วยข้อตกลงที่เข้มงวดนี้ ทำให้เหล่าขุนนางชาวจูตที่มักจะแข็งข้อต่อราชวงศ์เดนมาร์กสูญเสียกำลังสนับสนุนจากดินแดนชเลสวิชและฮ็อลชไตน์ เมื่อพระนางมาร์เกรเธอทรงแก้ปัญหาภายในอาณาจักรได้แล้ว พระนางจึงหันไปสนใจสวีเดน ซึ่งเกิดขุนนางที่ทำการแข็งข้อต่อกษัตริย์สวีเดน นำโดย บีร์เกอร์ (บุตรชายของบริจิตและพี่ชายของมาร์ธา)[5] เตรียมพร้อมก่อกองกำลังต่อต้านกษัตริย์อัลเบรกท์ ผู้ไม่เป็นที่นิยม ขุนนางผู้มีอำนาจหลายคนเพียนสาส์นถึงพระนางมาร์เกรเธอว่า ถ้าพระนางช่วยสวีเดนกำจัดกษัตริย์อัลเบรกท์ พระนางจะได้รับการสถาปนาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระนางจึงทรงรีบรวบรวมกองทัพเข้ารุกรานสวีเดน
จากการประชุมกันที่ปราสาทดาลาบอร์กในสวีเดน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1388 ชาวสวีเดนถูกบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขของพระนางมาร์เกรเธอทุกข้อ และทรงได้รับเลือกตั้งเป็น "จอมราชันสตรีและองค์ประมุข" (Sovereign Lady and Ruler) และชาวสวีเดนต้องยอมรับกษัตริย์องค์ใดก็ตามที่พระนางทรงเลือก กษัตริย์อัลเบรกท์ทรงเรียกขานพระนางว่า "กษัตริย์ไร้กางเกง" (King Pantsless) พระองค์รีบเสด็จกลับเมคเลินบวร์ค และกลับมายังสวีเดนด้วยกองทัพทหารรับจ้าง ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1389 เกิดการสู้รบอย่างตัดสินใกล้ฟาลเคอปิง นายพลเฮนริก ปาโรว์ แม่ทัพชาวเมคเลินบวร์คของกองทัพมาร์เกรเธอ เสียชีวิตในสนามรบ แต่กลศึกของเขาทำให้พระนางได้รับชัยชนะ[35] พระนางมาร์เกรเธอตอนนี้กลายเป็นสตรีผู้ทรงอำนาจเหนือสามราชอาณาจักร[11]
สต็อกโฮล์ม ซึ่งเป็นเมืองที่เกือบจะเป็นเมืองชาวเยอรมันยังคงแข็งข้อ ด้วยความกลัวกองทัพของมาร์เกรเธอได้กระตุ้นให้เหล่าเจ้าเมคเลินบวร์คและเมืองของชาวเวนด์พยายามรีบเร่งหาความช่วยเหลือ เราคนที่อาศัยแถบทะเลบอลติกและทะเลเหนือต่างหลั่งไหลขึ้นเรือของวิกชัวบราเทอร์ส (Victual Brothers) เพื่อหลบหนี สันนิบาตฮันเซอได้ยื่นมือเข้ามาแทรกแซง ภายใต้ข้อตกลงลินด์โฮล์ม ค.ศ. 1395 พระนางมาร์เกรเธอต้องปล่อยตัวกษัตริย์อัลเบรกท์ โดยที่กษัตริย์อัลเบรกท์จะต้องทรงจ่ายเงินค่าไถ่ให้พระนาง 60,000 มาร์กภายในสามปี ในขณะที่ฮันเซอจะให้เมืองสต็อกโฮล์มเป็นสิ่งค้ำประกัน ต่อมากษัตริย์อัลเบรกท์ไม่สามารถจ่ายค่าไถ่ภายในเวลาที่กำหนดได้ ฮันเซอจึงต้องยอมยกสต็อกโฮล์มให้แก่พระนางมาร์เกรเธอในเดือนกันยายน ค.ศ. 1398 เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษทางการค้าของสันนิบาตฮันเซอในน่านน้ำนี้
อีริคแห่งพอเมอเรเนีย
[แก้]เป็นที่เข้าใจกันว่าพระนางมาร์เกรเธอ จะทรงจัดหาโอกาสที่เหมาะสมในการตั้งกษัตริย์ขึ้นปกครองทั้งสามราชอาณาจักร ซึ่งกษัตริย์จะต้องมีสายพระโลหิตสืบจากราชวงศ์เก่าของทั้งสามอาณาจักรด้วย แม้ว่าในนอร์เวย์มีการกำหนดให้พระนางต้องทรงปกครองร่วมกับกษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ในสวีเดนนั้น ขุนนางแจ้งแก่พระนางมาร์เกรเธอว่า พวกเขาพึงพอใจที่พระนางจะปกครองโดยไม่มีการตั้งกษัตริย์ตลอดจนพระชนมชีพของพระนางเลยก็ได้ ซึ่งพวกเขาหวังว่าพระนางจะทรงปกครองอย่างยาวนาน[36] ในปีค.ศ. 1389 พระนางทรงประกาศสถาปนา พระนัดดาชื่อว่า โบกิสลาฟ ซึ่งเปลี่ยนพระนามเป็น อีริคแห่งพอเมอเรเนีย ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งนอร์เวย์ (สมเด็จยายของเจ้าชายอีริคเป็นพี่สาวของพระนางมาร์เกรเธอ) ด้วยทรงรับเจ้าชายอีริคกับเจ้าหญิงคาทารีนาแห่งพอเมอเรเนีย พระขนิษฐาของเจ้าชายอีริค เป็นบุตรบุญธรรม ในปีค.ศ. 1396 อีริคแห่งพอเมอเรเนียได้เข้ารับการถวายบังคมจากขุนนางในเดนมาร์กและสวีเดน ในขณะที่พระนางมาร์เกรเธอขึ้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงที่กษัตริย์อีริคยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พระนางมาร์เกรเธอทรงใช้โอกาสที่ประชาชนทั้งสามอาณาจักรกำลังยินดีปรีดา ในการจัดทำสนธิสัญญาคาลมาร์ที่สร้างชื่อเสียงแก่พระนางขึ้นไปอีก "เป็นเอกสารที่มีการเขียนอย่างเชี่ยวชาญลงตราประทับของสหภาพนอร์เวย์ สวีเดนและเดนมาร์ก"[36] วันที่เธอเลือกลงนามในสัญญานั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เป็นความตั้งใจของพระนางที่จะใช้วันเฉลิมฉลองนักบุญมาร์กาเรตแห่งแอนติออก ผู้ซึ่งเป็น "เลดี้คิง" คล้ายพระนางเอง ที่นักบุญถูกพ่อทอดทิ้งและถูกจับโยนเข้าคุก[37] ในสนธิสัญญาได้เสนอ "สหภาพอันเป็นนิรันดร์" ซึ่งสะท้อนให้เห็นความทะเยอทะยานอันแรงกล้าของพระนางในการรวมสามแผ่นดินเข้าด้วยกัน ด้วยว่า "ราชอาณาจักรทั้งสามควรอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีและความรัก เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอย่างเช่น สงครามและข่าวลือว่าจะเกิดสงคราม หรือ การรุกรานจากชาวต่างชาติ ซึ่งทั้งสามอาณาจักรจะต้องช่วยกัน และจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างภักดีต่อกัน หลังจากนี้ขอบขัณฑสีมาของนอร์ดิกจะมีกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวและจะไม่มีกษัตริย์หลายพระองค์"[37] ด้วยทรงมีความทระนงและความผยองต่อภูมิภาคนี้ พระนางจึงทรงดำเนินกลยุทธ์อย่างระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจว่าแต่ละรัฐสามารถปกครองตามกฎหมายและประเพณีของแต่ละรัฐได้ จะไม่มีการนำกฎหมายมาใช้โดยปราศจากความยินยอมของเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองจนถึงเหล่าทหาร ซึ่งบุคคลเหล่านี้มาจากประชาชนในท้องที่แต่ละรัฐ เป็นการแสดงให้พสกนิกรของพระนางเห็นว่า พวกเขาจะได้รับผลประโยชน์ทุกอย่างจากการรวมเป็นสหภาพเดียวกันโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกคุกคามทางอัตลักษณ์ของชาติตนเอง[38] เพื่อประสานความใกล้ชิดทั้งสามอาณาจักรมากขึ้น พระนางมาร์เกรเธอจึงทรงเรียกประชุมสภาราชอาณาจักรที่เมืองคาลมาร์ ของสวีเดนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1397 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์องค์สาม (Trinity Sunday) 17 มิถุนายน กษัตริย์อีริคได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก นอร์เวย์และสวีเดน แต่พระราชบัญญัติก่อตั้งสหภาพนั้นไม่ได้มีการหารืออย่างเสร็จสมบูรณ์ นักวิชาการทั้งหลายต่างโต้เถียงกันด้วยเหตุผลต่างๆ แต่สหภาพก็คงมีอยู่โดย "พฤตินัย" จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในรัชสมัยพระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และสหภาพระหว่างเดนมาร์กกับนอร์เวย์ยังคงดำรงอยู่ต่อไปจนถึงค.ศ. 1814[5]
ไม่กี่ปีหลังก่อตั้งสหภาพคาลมาร์ กษัตริย์อีริควัย 18 พรรษา ได้รับการประกาศว่าทรงบรรลุนิติภาวะ และมีการถวายบังคมต่อพระองค์ในทั้งสามอาณาจักร แม้ว่าพระนางมาร์เกรเธอจะลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แต่พระนางก็ทรงเป็นผู้ปกครองที่ใช้พระราชอำนาจแท้จริงในสแกนดิเนเวียตลอดพระชนม์ชีพของพระนาง
พระราโชบาย
[แก้]เมื่อสหภาพยังไม่มั่นคง พระนางมาร์เกรเธอยังคงต้องปรากฏพระองค์ในสภาริคสรัด แต่ถึงกระนั้นอิทธิพลของพวกขุนนางยังน้อย ส่วนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ยังทรงอำนาจสูงสุด ตำแหน่งขุนนางผู้ตรวจการณ์สูงสุดและตำแหน่งจอมพลถูกปล่อยให้ว่างไว้ พวกสภาเดนฮอฟก็หมดบทบาทลง และ "พระราชินีผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ทรงอำนาจอันเด็ดขาด"[39] ทรงปกครองข้าราชสำนักผ่านข้าราชการผู้ชำนาญ ไม่ว่าเหตุการณ์ใด กฎหมายและความสงบเรียบร้อยถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัด สิทธิต่างๆของเหล่าขุนนางถูกลิดรอนอย่างเข้มงวด ราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์ถูกปฏิบัติเสมือนเป็นรัฐหนึ่งของเดนมาร์ก การตื่นตัวเรื่องชาตินิยมจะถูกตรวจสอบและกดดัน โดยนอร์เวย์ มีความจงรักภักดีมากกว่าก็จะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าสวีเดนซึ่งคอยต่อต้านเนืองๆ
ตามงานเขียนของเกอร์เธอ จาค็อบเซนระบุว่า ในปีค.ศ. 1396 พระนางมาร์เกรเธอทรงออกพระราชโองการว่าสิ่งใดควรจะอยู่ในระดับชั้นที่สูงกว่าและได้รับการเคารพมากกว่า เป็นการสร้างสันติภาพมาสู่โบสถ์ (pax dei), บ้านเรือน, ท้องนา, สถานที่ราชการ, เหล่าคนงานตามท้องนาและผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงมีการเขียนเป็นคำว่า "kvindefred" จาค็อบเซนเชื่อว่ามีการลงโทษในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา โดยกฎหมายนี้มีการลงโทษเป็นปกติซึงไม่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสันติภาพตามนโนบาย "pax dei" สิ่งนี้อาจแสดงให้เห็นถึงมุมมองของพระนางมาร์เกรเธอที่มีต่อผู้หญิงว่า ผู้หญิงเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงอันตรายเป็นพิเศษในช่วงที่เกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศ และทรงมองว่าในฐานะประมุขจะต้องเป็นผู้ปกป้องขจัดความทุกข์ยากของประชาชน ซึ่งรวมถึงเหล่าสตรีและหญิงม่ายด้วย พระราโชบายอีกประการคือ ในพระราชโองการปี 1411 พระนางทรงแจกจ่ายเงินจำนวน 500 มาร์ก แก่เหล่าสตรีและหญิงสาว ผู้ถูก "ทำร้ายและถูกลดทอนคุณค่า" ในช่วงสงครามระหว่างสวีเดนกับเดนมาร์กในปีค.ศ. 1388 - 1399[40]
พระนางมาร์เกรเธอทรงฟื้นฟูทรัพย์สินของกษัตริย์ในที่ดินทั้งหมดที่เคยมีปัญหาในรัชกาลกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 4 พระราโชบายนี้เรียกว่า "reduktion" หรือการกู้คืนที่ดิน ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเข้มงวดสูงสุดและที่ดินหลายร้อยแห่งตกเป็นในทรัพย์สินของกษัตริย์ พระนางยังทรงปฏิรูประบบเงินตราของเดนมาร์ก มีการแทนที่เหรียญทองแดงไร้ค่าด้วยเหรียญเงินชั้นดี เพื่อสร้างผลประโยชน์แก่ทั้งพระนางและรัฐ พระนางทรงมีพระราชทรัพย์จำนวนมากในการจัดการ และส่วนมากทรงใช้เพื่อการกุศล
ตามงานเขียนของโทมัส คิงส์ตัน เดอร์รี ระบุว่า พระนางมาร์เกรเธอทรงพยายามทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจของสหภาพมีความมั่นคง แต่ละมาตรการของพระนาง (การกู้คืนที่ดินของกษัตริย์มาจากพวกขุนนางและศาสนจักร การมีระบบภาษีใหม่และระบบเหรียญเงินใหม่) ได้ทำลายผลประโยชน์ของของชนชั้นต่างๆผู้ทรงอำนาจ แต่พระนางก็ทรงกีดกันพวกเขาจากการก้าวมาเป็นผู้นำ โดยมีการแบ่งแยกสภาเป็นสามอาณาจักร ซึ่งสมาชิกสภาเป็นผู้ที่พระนางทรงเลือกเองจากเหล่าเจ้าพนักงานพลเรือนและนักบวชที่มีทักษะสูง พระนางทรงแต่งตั้งพระชาวเดนส์ในเขตสังฤมณฑลของสวีเดนและนอร์เวย์ ในขณะที่ที่ดินและปราสาทของพระราชวงศ์ทรงให้ผู้บังคับบัญชาประจำป้อมและผู้ดูแลที่ดินชาวต่างชาติทำการบริหารจัดการ โดยสิ่งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการส่งเสริมชาวเดนมาร์ก และทอดทิ้งชาวสวีเดนและนอร์เวย์ เดอร์รีมองว่า พระนางก็ทรงจ้างชาวเยอรมันให้มาบริหารจัดการในเดนมาร์กมากกว่าชาวเดนมาร์กด้วยกันเอง พระนางทรงมั่นพระทัยว่าจะสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยปกป้องพระราชวงศ์และสร้างการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพด้วย[41]
พระนางทรงเดินทางบ่อยครั้ง ในช่วงปลายรัชกาล ทรงประทับในสวีเดนมากกว่าเดนมาร์ก พระนางสนับสนุนการสมรสของตระกูลขุนนางทั้งสามอาณาจักร ความเคร่งครัดในศาสนาของพระนางมาร์เกรเธอเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ทรงเป็นผู้สนับสนุนหลักในการประกาศเป็นนักบุญของบริจิตแห่งสวีเดน ทรงผลักดันเมืองวัดสเตนาให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและทรงสนับสนุนการเผยแพร่ "ภาษาบริจิตทีน" ซึ่งเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมของสวีเดนจำนวนมากในหมู่ชาวเดนมาร์กและนอร์เวย์[42]
ในด้านการต่างประเทศทรงมีพระราโชบายที่ตรงกันข้ามกับนโยบายสงครามที่มีความเสี่ยงของพระราชบิดา พระนางมาร์เกรเธอทรงดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบและเป็นกลางอย่างเหนียวแน่นในช่วงสงครามนองเลือดระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส รวมถึงความขัดแย้งอื่นๆในยุโรป[5] อย่างไรก็ตาม พระนางก็ไม่ทรงต้องเจ็บปวดจากการพยายามกู้คืนดินแดนเดนมาร์กที่เสียไป พระนางทรงซื้อเกาะกอตแลนด์จากผู้ครอบครองที่แท้จริงได้แก่ อัลเบิร์ตแห่งเมคเลินบวร์คกับภาคีลิโวเนียน และพระนางสามารถซื้อดินแดนชเลสวิชส่วนใหญ่ได้
ในปีค.ศ. 1402 พระนางมาร์เกรเธอทรงดำเนินการเจรจากับพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ เกี่ยวกับการอภิเษกสมรสสองคู่ระหว่างอังกฤษกับสหภาพนอร์ดิก ข้อเสนอคือให้กษัตริย์อีริคอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงฟิลิปปาแห่งอังกฤษ พระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 และเฮนรี เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 อนาคตของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ให้อภิเษกสมรสกับคาทารีนาแห่งพอเมอเรเนีย พระขนิษฐาของกษัตริย์อีริค ตามงานเขียนของมาร์ค เชลล์ ระบุว่า พระนางมาร์เกรเธอทรงปรารถนาที่จะสร้างจักรวรรดิแห่งภาคเหนือของพระเจ้าคนุตมหาราชขึ้นมาอีกครั้ง[43] ฝ่ายอังกฤษต้องการให้การอภิเษกสมรสครั้งนี้เป็นการอภิเษกสมรสเพื่อการสงคราม โดยต้องการให้เหล่าอาณาจักรนอร์ดิกเข้ามามีส่วนร่วมในสงครามร้อยปีต่อต้านฝรั่งเศส พระนางมาร์เกรเธอทรงตั้งใจที่จะทำตามข้อเสมอร่วมกันโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับความเป็นพันธมิตรในสงคราม และดังนั้นจึงทรงปฏิเสธข้อเสนอของอังกฤษ การอภิเษกสมรสของทั้งสองคู่พร้อมกันจึงไม่เกิดขึ้น แต่ก็ได้เพียงคู่เดียวคือ กษัตริย์อีริคอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงฟิลิปปา พระชนมายุ 13 พรรษา พระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ที่ประสูติแต่แมรีแห่งโบฮุน พระราชพิธีจัดขึ้นที่เมืองลุนด์ในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1406 ในฐานะพันธมิตรเชิงป้องกันไม่ใช่รุกราน ส่วนเจ้าหญิงคาทารีนา พระขนิษฐาของกษัตริย์อีริค ได้อภิเษกสมรสกับจอห์น เคานท์พาลาทีนแห่งเนามาร์ก พระนางทรงหวังว่าจะได้พันธมิตรจากกลุ่มเยอรมันทางใต้ ซึ่งจะช่วยคานอำนาจกับพวกเจ้านครเยอรมันทางตอนเหนือและเหล่าเมืองต่างๆ
สวรรคต
[แก้]ในปีค.ศ. 1412 พระนางมาร์เกรเธอทรงพยายามเรียกร้องดินแดนดัชชีชเลสวิชคืน จึงทรงประกาศสงครามกับฮ็อลชไตน์ ก่อนหน้านั้นทรงพยายามเรียกคืนดินแดนฟืนแลนด์และกอตแลนด์ ในขณะที่ทรงกำลังจะชนะสงคราม พระนางมาร์เกรเธอสวรรคตอย่างกระทันหันบนเรือพระที่นั่งที่เมืองท่าเฟล็นส์บวร์ค[44]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1412 พระนางทรงล่องเรือไปยังซีแลนด์ ในบันทึก Trinity ระบุว่าพระนางทรงมีกรณีพิพาทหลายเรื่อง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเมือง เมื่อทรงเสด็จขึ้นเรือเพื่ออกจากท่าเรือไป พระนาง "ประชวรอย่างกะทันหันและรุนแรง" พระนางมาร์เกรเธอทรงทราบว่านี้เป็นจุดจบของพระชนม์ชีพของพระนาง พระนางจึงมีรับสั่งให้นำเงินจำนวน 37 มาร์กไปบริจาคตามอารามใกล้ๆแคมเปน เพื่อประกอบศีลมหาสนิทสุดท้ายของพระนาง นอกจากนี้ไม่มีการบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรายละเอียดการสวรรคตของพระนาง พระนางมาร์เกรเธอสวรรคตในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412 โดยมีการสวดภาวนาถึงนักบุญซีโมนเศโลเทและยูดาอัครทูต[45] มีการบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เป็นไปได้คือเกิดโรคระบาด หรือทรงตกพระทัยจากการตายของอับราฮัม บรอเดอร์สันที่ปรึกษาคนสนิทของพระนาง[46][47] หรือบ้างก็ว่าทรงถูกลอบวางยาพิษโดยกษัตริย์อีริค[48]
โลงหินของพระนางนั้นแกะสลักโดยโจฮันเนส จุนเก ประติมากรชาวลือแบร์ก ในปี 1423 และประดิษบานเบื้องหลังแท่นบูชาสูงของมหาวิหารรอสกิลด์ ใกล้เมืองโคเปนเฮเกน พระนางทรงพระราชทานทรัพย์สมบัติแก่มหาวิหารเพื่อประกอบศีลมหาสนิทซึ่งเป็นสิ่งที่พระนางพึงปฏิบัติบ่อยครั้งและดำเนินประกอบพิธีศีลต่อไปเรื่อยๆหลังสวรรคตไปแล้ว แต่ก็ต้องหยุดลงในปี 1536 ระหว่างการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ แต่ก็มีการสั่นระฆังดังสองครั้งต่อวันเพื่อเป็นการระลึกถึงพระนาง
รูปลักษณ์และบุคลิกภาพ
[แก้]มีการบรรยายว่าพระนางเป็นสตรีที่ทรงพระสิริโฉม มีพระเกศาสีดำ พระเนตรดำ ทรงมีสายพระเนตรที่ข่มขู่ให้กลัว และทรงมีรัศมีของความเป็นผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาด[49] พระนางทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงในช่วงวัยชรา มีความเป็นเผด็จการ และไม่ทรงย่อท้อต่อเรื่องใดๆ ด้วย "สติปัญญาที่แหลมคมเหมือนบุรุษ"[50][51] และยังทรงถูกบรรยายว่าทรงเฉลียวฉลาด ยุติธรรม มีไหวพริบและมีเมตตา [52][49] ฮัดสัน สตรอด์เขียนว่า "พระนางมาร์เกรเธอทรงเป็นเหมือนนักบุญบริจิต คือมีความไม่ย่อท้อเหมือนบุรุษเพศ ซึ่งทำให้ทรงมีความแข็งแกร่งโดยไม่ต้องสงสัย ไม่มีข้าราชการชายคนใดทำงานหนักเท่า พระนางทรงใช้ความสามารถเชิงสร้างสรรค์ ความสามารถทางการทูต และความตั้งมั่นในการทำให้สหภาพประสบความสำเร็จและสามารถรักษาอภิสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ได้ด้วย"[53]
ความคลุมเครือเกี่ยวกับพระอิสริยยศ
[แก้]ในเดนมาร์ก พระนางมาร์เกรเธอทรงถูกเรียกว่า "ท่านหญิงพระประมุขและลอร์ด และผู้พิทักษ์แห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กทั้งมวล" (ต่อมาในนอร์เวย์และสวีเดนก็มีพระอิสริยยศคล้ายกัน) เป็นความพิเศษเมื่อมีคตำแหน่งของทั้งสองเพศในอิสริยยศเดียวกันซึ่งมีทั้งอำนาจของผู้ชาย (ลอร์ด) และผู้หญิง (sovereign lady-ท่านหญิงพระประมุข) และตำแหน่งทั้งสองเพศอย่าง "ผู้พิทักษ์" (Guardian) หลังจากนั้นเมื่ออีริคทรงได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ในปี 1392 พระนางจึงทรงสละพระอิสริยยศของนอร์เวย์ และในปี 1396 เมื่อกษัตริย์อีริคสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์กและสวีเดน พระนางจึงทรงหยุดใช้พระอิสริยยศของทั้งสองประเทศต่อ แม้ว่าจะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อก็ตาม[54]
พระนางทรงมีพระอิสริยยศเพียง "สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก" ในปีค.ศ. 1375 ทรงมักจะบรรยายพระนามของพระนางเองว่า "มาร์เกรเธอ โดยความดีงามของพระผู้เป็นเจ้า สมเด็จพระราชธิดาในวัลเดมาร์ พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก" และ "องค์รัชทายาทผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมแห่งเดนมาร์ก" เมื่อยามที่ทรงกล่าวถึงตำแหน่งของพระนางในเดนมาร์ก พระอิสริยยศในเดนมาร์ทรงได้รับมาจากพระราชบิดาของพระนางคือ พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 4 แห่งเดนมาร์ก บางแห่งมีการบรรยายถึงพระนางว่า "เลดี้ควีน" (ท่านหญิงพระราชินี) โดยไม่มีการระบุว่าทรงเป็นพระราชินีจากอาณาจักรใด แต่ถึงกระนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาบอนิเฟซที่ 9 ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระนางว่า "ธิดาผู้เป็นที่รักยิ่งของเราในคริสต์ มาร์เกรเธอ สมเด็จพระราชินีนาถผู้ทรงประเสริฐที่สุดแห่งเดนมาร์ก สวีเดนและนอร์เวย์" ("Carissime in Christo filie Margarete Dacie Suecie et Norwegie regine illustri")[55]
เมื่อพระนางทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าโฮกุนที่ 6 แห่งนอร์เวย์ในปีค.ศ. 1363 พระองค์เป็นกษัตริย์ร่วมแห่งสวีเดน ทรงสถาปนามาร์เกรเธอเป็นสมเด็จพระราชินี และแม้ว่าจะทรงถูกถอดจากบัลลังก์ ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ทรงเคยถูกริบอิสริยยศคืน ในทางทฤษฎี การขับไล่พระเจ้าอัลเบรกท์แห่งสวีเดนออกจากบัลลังก์ในปีค.ศ. 1389 ได้ทำให้พระนางมาร์เกรเธอทรงกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1353[2] ถึง 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412 พระนางทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก นอร์เวย์และสวีเดน และทรงเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพคาลมาร์ ซึ่งรวมประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นเวลากว่าศตวรรษ พระนางทรงดำรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก แม้ว่าในช่วงยุคสมัยนั้นธรรมเนียมของชาวเดนมาร์กยังไม่อนุญาตให้สตรีครองราชสมบัติ[56]
เกียรติภูมิ
[แก้]เอลิซ ออตต์ได้เขียนไว้ในปี 1874 ว่า "ถ้าพระนางมาร์เกรเธอทรงมีผู้สืบบัลลังก์ โดยเป็นผู้นำที่มีความสามารถเหมือนพระนาง พระราชบัญญัติสหภาพคาลมาร์จักเป็นประโยชน์ต่อทั้งสามราชอาณาจักร เพราะมันเป็นเรื่องจริงตามที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงตรัสว่า แต่ละรัฐดำรงอยู่รัฐเดียวอย่างโดดเดี่ยวอ่อนแอ เปิดให้อันตรายเข้ามาจากทุกฝ่าย แต่เมื่อสามอาณาจักรรวมเป็นหนึ่งจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์แข็งแกร่งพอที่จะต่อต้านการโจมตีและแผนการของพ่อค้าฮันเซอ และเหล่าศัตรูทั้งหลายจากด้านนอกเยอรมนี และจะทำให้ทะเลบอลติกไร้อันตรายจากพวกต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีประมุของค์ใดหลังจากนี้ที่ทรงปรีชาเทียบเท่าพระนางมาร์เกรเธอ และไม่มีใครที่จะมาเทียบพระนางได้"[57]
ตามงานเขียนของสไตนาร์ อิมเซน ระบุว่า ไม่มีใครมาโต้แย้งความชาญฉลาดทางการเมืองของพระนางได้ แต่แรงจูงใจของพระนางมักจะเป็นเป้าของการโต้เถียง ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 พระนางมักจะทรงถูกอธิบายว่าเป็นนักอุดมคตินิยมที่ต่อสู้เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับอิทธิพลเยอรมัน หลังจากเดนมาร์กพ่ายแพ้สงครามต่อปรัสเซียในปี 1864 ภาพลักษณ์ของพระราชินีมาร์เกรเธอผู้รักชาติก็เกิดขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ พระนางทรงได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเป็นแบบแมคคิเวลเลียน (Machiavellist) ผู้ทรงต่อสู้เพื่อพระราชอำนาจและผลประโยชน์ของราชวงศ์เป็นหลัก[58]
ริชาร์ด ไวท์ เขียนว่า "มีการเขียนว่าพระนางมาร์เกรเธอทรงทำให้เกิดปัญหามากมาย แต่การรวมอำนาจสามแผ่นดินของพระนางได้ก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นใหม่และความรุ่งโรจน์แก่ชาวสแกนดิเนเวีย ในแง่ของประวัติศาสตร์อันสับสนวุ่นวายของอาณาจักรเหล่านั้น เป็นประวัติศาสตร์ของสงคราม โรคระบาดและการแย่งชิงอำนาจ ชัยชนะของพระนางมาร์เกรเธอทำให้ทรงเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่โดดเด่นที่สุดของยุโรป แต่ชื่อเสียงของพระนางก็ยังคงตามติดไม่หนีหายไปไหน ประวัติศาสตร์เป็นเกมที่ดีที่สุดสำหรับโอกาสและชื่อเสียงจะมีเมตตาต่อสายลมทุกสายที่พัดผ่าน ซึ่งนักเขียนประวัติศาสตร์จะกังวลถึงความยุติธรรม พระนามของมาร์เกรเธอ พระราชธิดาของวัลเดมาร์ กษัตริย์แห่งชาวเดนส์ จะมีชื่อเสียงขจรขจายไกลและจะเป็นหนึ่งในอีกหลายๆชื่อที่เด็กๆจะรู้จักในโรงเรียน"[59]
ใน The Middle Ages: Dictionary of World Biography, Volume 2 แม็คฟัดเดนได้ระบุว่า "ความสำเร็จของพระนางมาร์เกรเธอนั้นเกิดขึ้นเมื่อเหล่าสแกนดิเนเวียทั้งมวลถูกคุกคามโดยวัฒนธรรมเยอรมันและการครอบงำทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องรวมอาณาจักรเข้าด้วยกัน และไม่เพียงแต่เอาคืนพวกเยอรมันเท่านั้นแต่ยังได้ดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนด้วย ในช่วงที่สวรรคต สหภาพสแกนดิเนเวียมีอำนาจสูงสุดในทะเลบอลติก กลายเป็นดินแดนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรปซึ่งอยู่ภายใต้พระประมุของค์เดียว"[60]
พงศาวลี
[แก้]เชิงอรรถ: [61] [62] [63] [64] [65] [66] [67] [68] [69] [70] [71]
พระราชลัญจกร
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | Hendes Majestæt (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
-
พระราชลัญจกรของพระนางมาร์เกรเธอ ใช้ในปีค.ศ. 1375–1376
-
พระราชลัญจกรของพระนางมาร์เกรเธอ ใช้ในปีค.ศ. 1381–1409
-
พระราชลัญจกรของพระนางมาร์เกรเธอที่ทรงใช้ในนอร์เวย์ ใช้ในปีค.ศ. 1388
-
พระราชลัญจกรของพระนางมาร์เกรเธอ ใช้ในปีค.ศ. 1390–1393
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Margrete Valdemarsdatter" (ภาษานอร์เวย์). Norsk biografisk leksikon. สืบค้นเมื่อ 28 August 2012.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Colliers Encyclopedia. 1986 edition. p.386
- ↑ Jacobsen, p. 1. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFJacobsen (help)
- ↑ Earenfight, Theresa (2013). Queenship in Medieval Europe. Palgrave Macmillan. p. 238. ISBN 9781137303929.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 Magill 2012, p. 627. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFMagill2012 (help)
- ↑ Goodrich, Samuel Griswold (1852). The Second Book of History: Including the Modern History of Europe, Africa, and Asia ... : Designed as a Sequel to the First Book of History. Jenks, Hickling & Swan. p. 154.
- ↑ Williamson, David (1988). Debrett's Kings and Queens of Europe. Salem House. p. 106. ISBN 9780881623642.
- ↑ White 2010, pp. 1, 39. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFWhite2010 (help)
- ↑ Derry 2000, pp. 72. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFDerry2000 (help)
- ↑ Hooper Gottlieb, Agnes (1998). 1,000 years, 1,000 people: ranking the men and women who shaped the millennium. Kodansha International. p. 221. ISBN 9781568362533.
- ↑ 11.0 11.1 Chisholm 1906, p. 702.
- ↑ Kuiper, Kathleen (2009). The 100 Most Influential Women of All Time. The Rosen Publishing Group. p. 53. ISBN 9781615300105.
- ↑ Durant, Will (2011). The Reformation: The Story of Civilization. Simon and Schuster. p. 156. ISBN 9781451647631.
- ↑ Otte 1874, p. 180. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFOtte1874 (help)
- ↑ Everett Green, Mary Anne (1851). Lives of the Princesses of England: From the Norman Conquest, Volume 3. H. Colburn. pp. 360, 388.
- ↑ Marryat, Horace (1862). One Year in Sweden: Including a Visit to the Isle of Götland, Volume 2. J. Murray. p. 302.
- ↑ Otte 1874, pp. 183–184. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFOtte1874 (help)
- ↑ Larsen, Karen (2015). History of Norway. Princeton University Press. p. 212. ISBN 9781400875795.
- ↑ Geijer, Erik Gustaf (1845). The History of the Swedes. Whittaker. p. 62.
- ↑ Magill 2012, p. 628. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFMagill2012 (help)
- ↑ Strindberg, August (1959). The saga of the Folkungs: Engelbrekt. University of Washington Press. p. 123.
- ↑ Oakley, Stewart (1972). A Short History of Denmark. Praeger Publishers. p. 81.
- ↑ Chelminski, Rudolph (28 Jan 1972). Margrethe of Denmark - 'Best damn queen there is'. LIFE 28 Jan 1972 (Vol. 72, No. 3 ed.). Time Inc. p. 68. ISSN 0024-3019.
- ↑ 24.0 24.1 24.2 24.3 Etting 2009, p. 12.
- ↑ Hare, Augustus J. C. (2005). Sketches in Holland and Scandinavia. Cosimo, Inc. p. 74. ISBN 9781596053434.
- ↑ 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 26.5 Etting 2009, p. 13.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 Etting 2009, p. 15.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 Etting 2009, p. 16.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 Etting 2009, p. 17.
- ↑ Duggan, Anne J. (1997). Queens and Queenship in Medieval Europe: Proceedings of a Conference Held at King's College London, April 1995. Boydell Press. ISBN 9780851158815.
- ↑ Higgins, Sophia Elizabeth (1885). Women of Europe in the Fifteenth and Sixteenth Centuries, Volume 1. Hurst and Blackett. p. 8.
- ↑ Nagle (Editor), Jeanne; Britannica Educational Publishing (2014). Top 101 Remarkable Women. Britannica Educational Publishing. p. 134. ISBN 9781622751273.
{{cite book}}
:|last1=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Etting 2009, p. 19.
- ↑ Chisholm, Hugh; Garvin, James Louis (1926). The Encyclopædia Britannica: A Dictionary of Arts, Sciences, Literature & General Information, Volumes 17–18. Encyclopædia Britannica Company, Limited. p. 702.
- ↑ Daniel Scott, Franklin (1988). Sweden, the Nation's History. SIU Press. p. 82. ISBN 9780809314898.
- ↑ 36.0 36.1 White 2010, p. 56. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFWhite2010 (help)
- ↑ 37.0 37.1 White 2010, p. 57. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFWhite2010 (help)
- ↑ White 2010, pp. 57–58. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFWhite2010 (help)
- ↑ Yust, Walter; University of Chicago (1950). Encyclopædia Britannica: A New Survey of Universal Knowledge, Volume 14. Encyclopædia Britannica. p. 876.
- ↑ Jacobsen, Grethe. Page 1 Less Favored – More Favored: Queenship and the Special Case of Margrete of Denmark, 1353–1412 (PDF). pp. 9–10.
- ↑ Derry 2000, pp. 73–74. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFDerry2000 (help)
- ↑ Derry 2000, p. 74. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFDerry2000 (help)
- ↑ Shell, Marc (2014). Islandology: Geography, Rhetoric, Politics. Stanford University Press. p. 131. ISBN 9780804786294.
- ↑ Derry, T. K. (2000). History of Scandinavia: Norway, Sweden, Denmark, Finland, and Iceland. U of Minnesota Press. pp. 73–74. ISBN 9780816637997.
- ↑ Wakefield, Andrew. "Queen Margaret of Denmark, Norway, and Sweden (1353–1412). 2005". Prof. Pavlac's Women's History Resource Site. สืบค้นเมื่อ 9 September 2016.
- ↑ Smollett, Tobias George (1762). The Critical Review, Or, Annals of Literature, Volume 12. W. Simpkin and R. Marshall. p. 170.
- ↑ White 2010, p. 210. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFWhite2010 (help)
- ↑ Higgins, Sophia Elizabeth (1885). Women of Europe in the fifteenth and sixteenth centuries, Volume 1. Oxford University. p. 69.
- ↑ 49.0 49.1 White 2010, p. 40. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFWhite2010 (help)
- ↑ Williams, Henry Smith (1907). The Historians' History of the World: A Comprehensive Narrative of the Rise and Development of Nations as Recorded by Over Two Thousand of the Great Writers of All Ages, Volume 6. Hooper & Jackson, Limited.
- ↑ MacDonald, Michael H. (1996). Europe, a Tantalizing Romance: Past and Present Europe for Students and the Serious Traveler. University Press of America. p. 155. ISBN 9780761804116.
- ↑ Durant, Will (Jun 7, 2011). The Reformation: The Story of Civilization. Simon and Schuster. p. 156. ISBN 9781451647631.
- ↑ Strode, Hudson (1949). Sweden: Model for a World. Harcourt, Brace. p. 130.
- ↑ Jacobsen, p. 7-9. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFJacobsen (help)
- ↑ Lange, Christian Christoph Andreas; Unger, Carl Rikard; Huitfeldt-Kaas, Henrik Jørgen; Storm, Gustav; Bugge, Alexander; Brinchmann, Christopher; Kolsrud, Nils Oluf (1861). Diplomatarium Norvegicum, Volume 5. P.T. Malling. p. 251.
- ↑ Schnith, Karl Rudolf (1997). Frauen des Mittelalters in Lebensbildern (ภาษาเยอรมัน). Styria. p. 396. ISBN 3-222-12467-1.
- ↑ Otte, E.C. (1874). Scandinavian History. p. 180.
- ↑ Schaus, Margaret (2006). Women and Gender in Medieval Europe: An Encyclopedia. Taylor & Francis. p. 510. ISBN 9780415969444.
- ↑ White, Richard (2010). These Stones Bear Witness. AuthorHouse. p. 59. ISBN 9781452017198.
- ↑ Magill, Frank N. (2012). The Middle Ages: Dictionary of World Biography, Volume 2. Routledge. p. 628. ISBN 9781136593130.
- ↑ "Margrete 1. (1387 - 1396) - Denmark's National Museum". Nationalmuseet - Museer i hele Danmark. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-12. สืบค้นเมื่อ August 12, 2016.
- ↑ "Christoffer 2. (1320–1326 og 1330–1332) - Denmark's National Museum". Nationalmuseet - Museer i hele Danmark. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-12. สืบค้นเมื่อ August 12, 2016.
- ↑ Ulwencreutz, Lars (2013). Ulwencreutz's The Royal Families in Europe V. Lulu.com. pp. 219–220. ISBN 9781304581358.
- ↑ "Generation: die Kinder Wizlaws II". Die Website zum slawischen Fürstentum Rügen im Mittelalter. สืบค้นเมื่อ August 12, 2016.
- ↑ Collegium medievale, Volumes 5-6. Collegium Medievale (Interdisciplinary journal of Medieval Research). 1992.
- ↑ Verein für Mecklenburgische Geschichte und Alterthumskunde (1887). Mecklenburgische Jahrbücher, Volumes 31-60. Schwerin. p. 127.
- ↑ Rudolf Vierhaus, Rudolf (Jan 1, 2006). Einstein - Görner. Walter de Gruyter. ISBN 9783110946550.
- ↑ Damberger, Josef Ferdinand (1831). Fürstenbuch zur Fürstentafel der europäischen Staatengeschichte: Sechzig genealogische, auch chronologische und statistische Tabellen zu Fürstentafel und Fürstenbuch der europäischen Staatengeschichte, Volume 2. Pustet. p. 92.
- ↑ Donald Lines Jacobus, D.L. (1970). The American Genealogist, Volumes 46-47. D.L. Jacobus. p. 154.
- ↑ Baanderheren boeren & burgers. Uitgeverij Æneas BV. 2004. p. 27. ISBN 9789075365689.
- ↑ Wildeisen, Johann Melchior (1680). Hoch-fürstl. Brandenburg. Onolzbach. Genealogischer Lust-Wald.
- Etting, Vivian (2009), Margrete den første, Nordisk Forlag A/S, ISBN 978-87-02-07177-1.
- Magill, Frank N. (2012), The Middle Ages: Dictionary of World Biography, volume 2, Routledge, ISBN 9781136593130.
- Jacobsen, Grethe, Less Favored – More Favored: Queenship and the Special Case of Margrete of Denmark, 1353–1412 (PDF).
- Otte, E.C. (1874), Scandinavian History.
- White, Richard (2010), These Stones Bear Witness, AuthorHouse, ISBN 9781452017198.
- Derry, Thomas Kingston (2000), A History of Scandinavia, Minneapolis: University of Minnesota Press.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 แห่งเดนมาร์ก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
บลานซ์แห่งนามูร์ | สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ (ค.ศ. 1363 - ค.ศ. 1380) |
'ว่าง' ลำดับถัดไป เจ้าหญิงฟิลิปปาแห่งอังกฤษ | ||
บลานซ์แห่งนามูร์ | สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน (ค.ศ. 1360 - ค.ศ. 1364) |
'ว่าง' ลำดับถัดไป ริชาร์ดิสแห่งชเวรีน | ||
พระเจ้าโอลาฟที่ 2 | สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก (10 สิงหาคม ค.ศ. 1387 - 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412) |
พระเจ้าอีริคที่ 7 | ||
พระเจ้าโอลาฟที่ 4 | สมเด็จพระราชินีนาถแห่งนอร์เวย์ (3 สิงหาคม ค.ศ. 1387 - 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412) |
พระเจ้าอีริคที่ 3 | ||
พระเจ้าอัลเบรกท์ | สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสวีเดน (24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1389 - 28 ตุลาคม ค.ศ. 1412) |
พระเจ้าอีริคที่ 13 |