ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539
ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี
วันที่8–10, 12, 14, 23 มิถุนายน และ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
ประเทศประเทศไทย
เหตุการณ์ก่อนหน้าพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2531
เหตุการณ์ถัดไปพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ. 2549
จัดโดยรัฐบาลไทย

พระราชพิธีกาญจนาภิเษก (อังกฤษ: Golden Jubilee) เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ตามคติสากล

พระราชพิธีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระองค์ทรงครองราชสมบัติ เป็นปีที่ 50 ใน พุทธศักราช 2538 และครบรอบ 50 ปีจริงในวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีหมายกำหนดการจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างวันที่ 8-10, 12, 14, 23 มิถุนายน, 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 รวมทั้งสิ้น 7 วัน

พระราชพิธีนี้ รัฐบาล สมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา และ ประชาชนชาวไทย เป็นผู้ร่วมกันจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

กำหนดการพระราชพิธีกาญจนาภิเษก

[แก้]
วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 16.30 น.

พระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 10.00 น.

พระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า และเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งกาญจนาภิเษก มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 16.30 น.

พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษกพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์ 59 รูป ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 17.00 น.

คณะทูตานุทูตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พุทธศักราช 2539 เวลา 15.00 น.

พิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ณ บริเวณถนนราชดำเนิน จากท้องสนามหลวง ถึงลานพระราชวังดุสิต

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2539 เวลา 15.30 น.

พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารควัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

รัฐพิธี

[แก้]

รัฐบาลไทยได้เตรียมการจัดรัฐพิธี เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 พิธีถวายเครื่องราชสักการะ และ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และพิธีถวายพระพรชัยมงคล ของเหล่าข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทย ซึ่งกำหนดจัดที่ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง และ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ดังเช่นที่ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี โดย มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  • วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2539 เวลา 19.30 น. งานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระพรชัยมงคล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

การประชาสัมพันธ์

[แก้]

โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกสำนัก จะถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยให้ทุกสถานีเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539

[แก้]
ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีฯ

ตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ออกแบบโดย นางสาววิยะดา เจริญสุข (เป็นแบบตราที่ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์งานดังกล่าวโดยกรมศิลปากร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระบรมราชวินิจฉัยเพื่อแก้ไขปรับปรุงแบบตราเพิ่มเติมก่อนพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ได้) ประกอบด้วย พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นหลักสำคัญ มีตราพระบรมราชวงศ์จักรี และพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ด้านบน เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีพานเครื่องสูง 2 ชั้น ที่มักอยู่ในมโนภาพของผู้คนทั่วไป เมื่อนึกถึงสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีช้าง 2 เชือก เทินตราพระราชลัญจกร อยู่ภายใต้พระเศวตฉัตร ซึ่งสามารถแปลความหมายได้หลายทาง ดังนี้

  1. ช้าง เป็นพระราชพาหนะของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเสมือนข้าช่วงใช้ของพระมหากษัตริย์ จึงเปรียบได้กับประชาชน ซึ่งเสมือนเป็นข้ารับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ในสัญลักษณ์จึงเสมือนพสกนิกรเทิดทูนและเชิดชูองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์จักรี ขณะเดียวกัน ก็อยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้ร่มพระมหาเศวตฉัตร
  2. ช้างเผือก เป็นสัตว์คู่พระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ช้างเผือกที่มีลักษณะตรงตามตำรา จะมีส่วนช่วยเกิดทั้งแสนยานุภาพ และพระปรีชาสามารถ ความรอบรู้ แก่องค์พระมหากษัตริย์ จึงแสดงถึงความเป็นผู้มีบุญญาธิการ และทรงพระปรีชาญาณ
  3. ช้าง มีความเป็นมาคู่กับประวัติศาสตร์ของชาติมาโดยตลอด อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ที่เคยใช้ในธงชาติไทยในอดีต และเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว จึงเปรียบได้กับประเทศไทย ซึ่งก็มีอายุและประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นกัน
  4. ช้าง เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ที่สมควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ การนำมาใช้ในตราสัญลักษณ์ฯ ก็เพื่อหวังผลต่อเนื่อง ที่อาจจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเล็งเห็นความสำคัญ ของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และช่วยกันเกื้อกูลอนุรักษ์ไว้บ้าง และหากแม้ว่าวันข้างหน้าช้างสูญพันธุ์ไป อย่างน้อยก็ยังมีรูปพรรณ และความเป็นมาของช้าง หลงเหลือไว้ในตราสัญลักษณ์ฯ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง ด้านล่างมีแพรแถบบรรจุข้อความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539

กรมศิลปากร มีความมุ่งหมายให้ตราสัญลักษณ์ สื่อความหมาย ดังนี้ คือ

  1. เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  2. จะต้องแสดงให้ประจักษ์ในศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดทั้งเอกลักษณ์ของชาติ อย่างถูกต้อง
  3. แสดงให้ประจักษ์ในความภาคภูมิใจ ที่ชาวไทยได้มี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระปรีชาญาณยิ่ง และทรงปกครองประชนชาวไทย ในระบอบประชาธิปไตย อย่างร่มเย็นเป็นสุข มาถึง 50 ปี
  4. แสดงให้ประจักษ์ในความเป็นชาติ ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน

ของที่ระลึก

[แก้]

คณะกรรมการฝ่ายจัดทำของที่ระลึก ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐจัดทำของที่ระลึกเนื่องในวโรกาสดังกล่าว ดังต่อไปนี้

เหรียญที่ระลึก
  • เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลสมัยพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำธนบัตรที่ระลึก ชนิดราคา 500 บาท และ 50 บาท โดยธนบัตรชนิดราคา 500 บาทแบบแรกที่ผลิตขึ้นคล้ายคลึงกับแบบที่ 14 แต่แตกต่างจากตรงที่ตราสัญลักษณ์ แบบที่ 2 เป็นพอลิเมอร์คล้ายคลึงกับธนบัตรชนิดราคา 50 บาทแบบที่ 13 จะแตกต่างกันตรงที่วัสดุ และแบบที่ 3 เป็นธนบัตรชนิดราคา 500 บาทพอลิเมอร์ลักษณะด้านหน้าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ฉลองพระองค์ ครุย มหาจักรีบรมราชวงศ์ ด้านหลังเป็นภาพโครงการพระราชดำริที่สื่อถึงพระองค์ มีความพิเศษที่ธนบัตรชนิดราคา 50 บาทคือเมื่อ นำธนบัตรส่องกับแสงแบตไลท์ มีพระปฐมบรมราชโองการว่าเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งมีความเป็นพิเศษ
  • การสื่อสารแห่งประเทศไทย จัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึก

ถาวรวัตถุที่ระลึก

[แก้]

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของรัฐอื่น ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดสร้างถาวรวัตถุขึ้นเป็นที่ระลึก ประกอบด้วย ถนนกาญจนาภิเษก โดยกระทรวงคมนาคม โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก โดยกระทรวงศึกษาธิการ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ [1] ซึ่งเป็นเจดีย์เฉลิมพระเกียรติจัดสร้างโดยวัดทางสาย เป็นต้น ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ป้ายแสดงทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ฝั่งตะวันออก และฝั่งใต้

ถนนกาญจนาภิเษก

[แก้]

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือ ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร จัดสร้างขึ้นโดยกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมต่อกันเป็นวง ล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อบรรเทาปัญหาปริมาณการจราจรและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหลวง รวมทั้งยังเป็นทางเลี่ยงที่จะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และเชื่อมโยงเส้นทางสายหลัก ที่มุ่งไปสู่ทุกภาคของประเทศ

ป้ายแสดงหมายเลขทางหลวง หมายเลข 9

ถนนวงแหวนสายนี้ มีระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 165 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็นสามช่วงคือ ฝั่งตะวันตก เริ่มจากอำเภอบางปะอิน ผ่านอำเภอบางบัวทอง สิ้นสุดที่เขตบางขุนเทียน (68 กิโลเมตร), ฝั่งตะวันออก เริ่มจากอำเภอบางปะอิน ผ่านจังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพมหานครตอนเหนือ สิ้นสุดที่อำเภอบางพลี (63 กิโลเมตร) และ ฝั่งใต้ เริ่มจากอำเภอบางพลี เชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน สิ้นสุดที่เขตบางขุนเทียน (34 กิโลเมตร)

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เชิญนามพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เป็นชื่อถนนวงแหวนสายนี้ พร้อมกันนั้น กรมทางหลวงยังดำเนินการ เปลี่ยนหมายเลขทางหลวง จากทางหลวงหมายเลข 37 เป็นทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 อีกด้วย

ตราประจำโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐมฯ

โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย

[แก้]

กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐบาลไทย กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานจัดตั้งโรงเรียนระดับสามัญศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น ขึ้นจำนวน 9 แห่ง ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาสมหามงคลนี้ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามว่า โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ประกอบกับชื่อจังหวัดอันเป็นที่ตั้ง ดังมีรายนามต่อไปนี้

วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก

[แก้]
ตราประจำวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐบาลไทย จัดตั้งวิทยาลัยระดับอาชีวศึกษา สังกัดกรมอาชีวศึกษาในขณะนั้น ขึ้นจำนวน 7 แห่ง ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาสมหามงคลนี้ โดยใช้ชื่อว่า วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก ประกอบชื่อท้าย ดังรายนามต่อไปนี้

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ

[แก้]

พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ

[แก้]
พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ

พระมหาธาตุเจดีย์แห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาธงชัย บริเวณวัดทางสาย ตำบลเขาธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ประมาณ 60 กิโลเมตร หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทุ่มเทสร้างผลงานชิ้นนี้อย่างสุดฝีมือและถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นชีวิต โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ[3]

สถานที่เพื่อจัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

[แก้]

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นอำเภอซึ่งได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอำเภอกรณีพิเศษ โดยไม่ผ่านการเป็นกิ่งอำเภอ มีการประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยมีการตั้งชื่ออำเภอว่า อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ใน 5 จังหวัด ดังนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ พระมหาธาตุเจดีย์แห่งในหลวง รัชกาลที่ 9 เว็บกะปุก Kapook
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-04-17.
  3. พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]