พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 | |
---|---|
![]() ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 | |
วันที่ | 4–6 ธันวาคม พ.ศ. 2542 |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เหตุการณ์ก่อนหน้า | พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 |
เหตุการณ์ถัดไป | พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 |
จัดโดย | รัฐบาลไทย |
พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 (อังกฤษ: Celebration onthes of the Auspicious Occasion the His Majesty king's 6 th Cycle Buddhism Anniversary 5th December 1999) เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา หรือ 6 รอบ จัดขึ้นในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็น นายกรัฐมนตรี ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานพระราชพิธีเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธีและรัฐพิธีต่าง ๆ ดังนี้
พระราชพิธี
[แก้]พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ไปในการพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระชนมพรรษา 6 รอบ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง แต่งเครื่องประดับและทรงพระมหามงกุฎ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันนั้นเป็นวันทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499
วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2542
[แก้]พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนิน ไปในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปในการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทน พระองค์ไป ทำพิธีเปิดเดิน รถไฟฟ้า เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ 72 พรรษา พุทธศักราช 2542 รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม และ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท
พระราชดำรัส มีความว่า
ความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ทุกคนทุกฝ่ายแสดงให้เห็น ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณธรรมข้อหนึ่ง ที่อุปถัมภ์และผูกพันคนไทยให้รวมกันเป็นเอกภาพสามารถธำรงชาติบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นอิสระยั่งยืนมาช้านาน.คุณธรรมข้อนั้นก็คือไมตรี ความมีเมตตาหวังดีในกันและกัน.คนที่มีไมตรีต่อกัน จะคิดอะไรก็คิดแต่ในทางสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลกัน.จะพูดอะไรก็ใช้เหตุผลเจรจากันด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน.จะทำอะไรก็ช่วยเหลือกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน.
— พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จากนั้นช่วงบ่าย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงรับการถวายพระพรจากบรรพชิตญวนและจีน และพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศแก่บรรพชิตญวนและจีน ที่มุขหน้า พระอุโบสถ จากนั้น พระสงฆ์ 5 รูป สวด "นวัคคหายุสมธัมม์" ทรงบูชาเทวดานพเคราะห์ และพระราชทานสังคหวัตถุ แก่ข้าทูลละอองทุลีพระบาทสูงอายุ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยัง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสถาปนาสมณศักดิ์ พระสงฆ์และฐานันดรศักดิ์แก่พราหมณ์ประจำราชสำนัก
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยัง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปในการพระราชพิธีพระราชกุศลเลี้ยงพระเทศน์มงคลวิเศษ
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ คณะทูตานุทูตต่างประเทศ และ ผู้แทนกงสุล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ นายจาร์ค ดุฟ (Mr. Jacques Diouf) ผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ทูลเกล้าฯถวาย เหรียญเทเลฟูด (Telefood medal) เหรียญแรกของโลก ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย เพื่อยกระกับความเป็นอยู่ของเกษตรกร และสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
รัฐพิธี
[แก้]รัฐบาลไทยได้เตรียมการจัดรัฐพิธี เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 พิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
- วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต
- วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พิธีถวายเครื่องราชสักการะ และ จุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และพิธีถวายพระพรชัยมงคล ของเหล่าข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทย ซึ่งกำหนดจัดที่ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง และ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ดังเช่นที่ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี โดย มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปในงานสโมสรสันนิบาตและถวายพระกระยาหารค่ำเฉลิมพระเกียรติ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสนี้รัฐบาลได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระที่นั่งสันติชัยปราการจำลอง ซึ่งรัฐบาลได้จัดสร้างองค์จริงไว้ ณ สวนสันติชัยปราการตามโครงการบูรณะป้อมพระสุเมรุ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลนี้ในนามรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ทั้งปวง
การประชาสัมพันธ์
[แก้]โดยสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกสำนัก จะถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยให้ทุกสถานีเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
ตราสัญลักษณ์
[แก้]ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ออกแบบโดย นายนิรันดร์ ไกรสรรัตน์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานตราสัญลักษณ์ดังกล่าว (ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดตราสัญลักษณ์ฯ โดยกรมศิลปากร) สำหรับใช้ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จากการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแบบโดยรัฐบาล เพื่อทรงเลือกแบบที่เหมาะสม
ของที่ระลึก
[แก้]เหรียญที่ระลึก
[แก้]



เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542
ธนบัตรที่ระลึก
[แก้]ธนบัตรที่ระลึก พิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 เป็นธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท จำนวน 9,999,999 ฉบับ
ลักษณะและขนาด เช่นเดียวกับธนบัตรแบบ 15 ในชนิดราคาเดียวกัน ต่างกันที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแทนพระราชสัญจกรประจำพระองค์
แสตมป์ที่ระลึก
[แก้]พัดรองที่ระลึก
[แก้]
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
[แก้]
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดำเนินการจัดทำโดยคณะกรรมการชำระพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน โดยมีการแก้ไขปรับปรุงจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ทั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระชนมพรรษา 6 รอบ จัดพิมพ์โดยบริษัท นามมีบุ๊คส์ จำกัด
พระราชพิธีต่อเนื่อง
[แก้]หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบแล้ว ยังมีพระราชพิธีที่จัดขึ้นต่อเนื่องคือ พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ที่เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วันเท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี