ช้างเผือก
ช้างเผือก (อังกฤษ: White Elephant) คือช้างที่มีลักษณะต่างจากช้างธรรมดาทั่วไป ด้วยมีนัยน์ตาและเล็บสีขาว รวมถึงสีผิวที่อ่อนกว่าช้างธรรมทั่วไป อาจจะเป็นสีชมพูหรือสีขาวก็ได้ โดยที่มิใช่เป็นสัตว์เผือก[1] จัดได้ว่ามีลักษณะที่หาได้ยาก จึงเชื่อกันว่าช้างเผือกเป็นสัตว์มงคลแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของ และเป็นเครื่องมงคลชนิดหนึ่งในสัปตรัตนะแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว (ที่ชื่อ อุโบสถ) ม้าแก้ว (ที่ชื่อ พลาหก) แก้วมณี ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว และ นางแก้ว
ประวัติ
[แก้]จากความเชื่อในพระพุทธศาสนา ช้างเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลแห่งการบำเพ็ญบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏในชาดกเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพระยาช้างที่ทรงบำเพ็ญบารมี เช่น พระยาฉัททันต์และพระยาช้างปัจจัยนาเคนทร์[2] พระยาเศวตมงคลหัตถี หรือพระยามงคลนาคในทุมเมธชาดก และเป็นส่วนหนึ่งในการบำเพ็ญบารมีในพระเวสสันดรชาดก และตามพระพุทธประวัติ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ ก็ทรงพระสุบินเห็นช้างเผือกนำดอกบัวมาถวาย อันเป็นนิมิตว่าผู้มีบุญญาธิการเพียบพร้อมด้วยบารมี ได้มาอุบัติเป็นมนุษย์สู่พระครรภ์มารดาทางพระนาภีเบื้องขวาในรูปของช้างเผือก ช้างเผือกจึงเป็นที่นับถือว่าเป็นสัตว์มงคลที่สำคัญประเภทหนึ่งในพระพุทธศาสนา และสัญลักษณ์มงคล 108 ในรอยพระพุทธบาทนั้นมีรูปช้างมงคล 2 เชือก
จะเห็นได้ว่า ช้างนั้นได้รับความสนใจศึกษาลักษณะอย่างละเอียด มีการแบ่งช้างออกตามลักษณะดีและลักษณะอัปมงคล ดังปรากฏในตำราคชลักษณ์ ช้างที่มีลักษณะมงคลนั้นจะถูกคัดเลือกออกมาเฉพาะนำมาน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างต้น เพื่อเป็นราชพาหนะแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ช้างที่มีลักษณะเป็นมงคลซึ่งเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งแต่โบราณ คือ ช้างเผือก หรือช้างสำคัญ ซึ่งเมื่อพบแล้วจะถูกนำน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีรับและขึ้นระวางสมโภชเป็นพระยาช้างต่อไป แต่เดิมคำว่าช้างต้นจะหมายถึงช้างหลวงของพระมหากษัตริย์ ทั้งช้างเผือกและช้างทรงที่เป็นราชพาหนะ โดยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ช้างต้นจะหมายถึงช้างเผือกเป็นสำคัญ
จากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำริเห็นความสำคัญของช้างเผือกจึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาดาราตราช้างเผือกขึ้น ใน พ.ศ. 2404 เพื่อพระราชทานแก่ ผู้มียศต่าง ๆ ในราชอาณาจักร โดยให้ทำเป็นดาราทองคำ มีรูปช้างเผือกสลักตรงกลาง เหนือขึ้นไปเป็นพระมหามงกุฏ มีทั้งดาราที่มีเครื่องสูงประดับและไม่มีเครื่องสูงประดับ และถ้าพระราชทานชาวต่างชาติที่มีความดีความชอบ ดาราก็จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น คือ มีรูปเสาธงอยู่บนหลังช้าง
ดาราตราช้างเผือกได้มีการสถาปนาเพิ่มเติมขึ้นอีกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพายขึ้นและปรับเปลี่ยนลวดลายและกำเนิดชั้นของดาราใหม่ จนในปี พ.ศ. 2432 เรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก มี 8 ชั้น
ลักษณะ
[แก้]ตามความหมายในพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 ในสมัยรัชกาลที่ 6 กำหนดช้างซึ่งมีลักษณะพิเศษไว้ 3 ชนิด ตามมาตรา 4 ระบุไว้ว่า
- "ช้างสำคัญ" มีคชลักษณะ 7 ประการ คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว อัณฑโกศขาวหรือคล้ายสีหม้อใหม่
- "ช้างสีปลาด" [ปะหฺลาด] คือ ช้างที่มีมงคลลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 อย่างที่กำหนดไว้ในคชลักษณะของช้างสำคัญ
- "ช้างเนียม" มีลักษณะ 3 ประการ คือ พื้นหนังดำ งามีลักษณะดังรูปปลีกล้วย เล็บดำ
พระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 นี้ไม่มีชนิดใดเรียกว่าช้างเผือก แต่คนไทยทั่วไปคุ้นเคยกับคำว่า "ช้างเผือก"
เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบว่ามีช้างเผือก ณ ที่ใด จะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญการดูคชลักษณ์ไปตรวจดูอีกครั้ง โดยต้องคำนึงถึงลักษณะอันเป็นมงคลอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น เวลาที่ช้างหลับ ถ้ามีเสียงกรนประดุจเสียงแตรสังข์ถือว่าเป็นมงคล ถ้าเสียงกรนคล้ายคนร้องไห้ถือว่าเป็นอัปมงคล แม้จะมีคชลักษณ์สมบูรณ์ก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีตำราคชลักษณ์กล่าวว่า การดูลักษณะช้าง ให้พึงพิจารณาลักษณะ 10 ประการ คือ ขน หาง จักษุ เล็บ อัณฑโกศ ช่องแมลงภู่ ขุมขน เพดาน สนับงา ข้างในไรเล็บ ถ้าต้องกับสีกาย เป็นศุภลักษณะใช้ได้ ถ้านับสีกายด้วยก็เป็น 11 ประการ
ความเชื่อเกี่ยวกับช้างเผือก
[แก้]ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ กล่าวถึงต้นกำเนิดของช้างในเรื่องการสร้างโลกว่าพระวิษณุ (พระนารายณ์) ขณะที่บรรทมอยู่ในเกษียรสมุทรทรงแสดงเทวฤทธิ์อธิษฐาน ให้มีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี 1 ดอก ดอกบัวนี้มี 8 กลีบ และมีเกสร 173 เกสร พระวิษณุได้ทรงนำดอกบัวนี้ไปถวายแด่พระศิวะ (พระอิศวร) ซึ่งพระองค์ได้ทรงแบ่งดอกบัวและเกสรดอกบัวนั้นออกเป็น 4 ส่วน และทรงแบ่งให้กับเทวะองค์อื่น ๆ อีก 3 องค์ คือ ทรงเก็บไว้เอง ,ทรงแบ่งให้พระวิษณุ, ทรงแบ่งให้พระพรหม และทรงแบ่งให้พระอัคนิ (พระเพลิง) โดยองค์เทวะทั้งสี่ได้ทรงสร้างช้างขึ้นองค์ละตระกูล ดังที่ปรากฏในตำราคชลักษณ์ จึงมีช้าง 4 ตระกูล และช้างทั้ง 4 ตระกูลเหล่านี้ยังถูกแบ่งออกเป็นวรรณะ เช่นเดียวกับการแบ่งวรรณะของคนอินเดียด้วย คือ
- อิศวรพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระอิศวรหรือพระศิวะทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติ กษัตริย์
- พรหมพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระพรหมทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติ พราหมณ์
- วิษณุพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์ทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติ แพศย์
- อัคนิพงศ์ เป็นช้างในตระกูที่พระอัคนิหรือพระเพลิงทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติ ศูทร
ความเชื่อของคนไทย ช้างเผือกหรือช้างสำคัญเป็นช้างที่เกิดขึ้นเพราะพระบารมีของพระมหากษัตริย์ ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดมีช้างเผือกมาก ก็จะถือว่าเป็นมงคล บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อสำนักพระราชวังตรวจคชลักษณ์ว่าเป็นช้างเผือกหรือช้างสำคัญแล้ว ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญ และมีพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ พระมหากษัตริย์องค์ใดได้พบช้างเผือกเป็นจำนวนมาก แสดงว่าพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงพร้อมด้วยบุญญาภินิหารบารมีมาก และมักถวายพระนามพระองค์ว่า พระเจ้าช้างเผือก ดังเช่น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
ในความเชื่อของชาวพม่า ซึ่งนับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาทเช่นเดียวกับไทย เชื่อว่า ใครได้พบกับช้างเผือกเสมือนกับได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในอดีตชาติเคยเสวยชาติเกิดเป็นช้างเผือก[1]
ในตำนานพุทธประวัติ กล่าวว่าช้างเผือกนั้นคือสัญลักษณ์แห่งความรู้และการเกิด คืนก่อนวันประสูติของพระพุทธเจ้า พระมารดาของพระองค์ทรงสุบิณท์ถึงช้างเผือก มอบดอกบัวให้พระนาง ดอกบัวอันหมายถึงความบริสุทธิ์และความรู้
ตำนานไตรภูมิ มีบทหนึ่งกล่าวถึงช้างเผือกว่า: " มหาราชมีครบซึ่งสิ่ง 7 ประการ ภริยาที่สมบูรณ์ ขุมสมบัติคณานับ ผู้ปรึกษาแผ่นดินที่ดี ม้าที่วิ่งเร็ว กฎการปกครองที่ดี แก้วแหวนอันเป็นสิ่งสำคัญ และช้างเผือกที่สง่างาม"
ขนช้างเผือกโดยเฉพาะขนหางถือว่าเป็นเครื่องรางของคลังชนิดหนึ่ง สามารถป้องกันเสนียดจัญไรแก่ผู้ที่มีไว้ครอบครองได้ จึงนิยมนำมาทำเป็นแหวนติดตัว และพระแส้หางช้างเผือกของพระมหากษัตริย์ก็ทำมาจากขนหางช้างเผือกเช่นกัน
เชื่อกันว่าเด็กคนใดที่มักจะเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่แข็งแรง หรือเลี้ยงยาก ถ้านำเด็กคนนั้นไปลอดใต้ท้องช้างเผือกครบ 3 รอบ จะกลับมาแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อย ๆ และเลี้ยงง่าย
หากมีเหตุต่าง ๆ เกิดขึ้นแก่ช้างเผือก เช่น เจ็บ งาหัก หรือล้ม ถือว่าเป็นลางร้ายของแผ่นดิน จะเกิดอาเพศภัยร้ายแรงขึ้นแก่บ้านเมืองและประชาชน หรือเมื่อบ้านเมืองจะเกิดวิกฤตการณ์ ช้างเผือกจะมีอาการประหลาด ๆ ให้เห็น ดังเช่นในประเทศพม่าตอนที่แม่ทัพอังกฤษเข้าเฝ้าพระเจ้าสีป่อ เพื่อเชิญเสด็จออกจากประเทศพม่า ช้างเผือกก็ส่งเสียงร้องเหมือนคนร้องไห้และดิ้นรนมิได้หยุด หมอควาญจะปลอบอย่างไรก็มิได้สงบ ซึ่งหลังจากที่พระเจ้าสีป่อเสด็จออกไปนอกประเทศและชาวอังกฤษเข้ามาปกครองแทนแล้ว ช้างเผือกก็ล้มโดยมิได้เป็นโรคอะไร
วัฒนธรรม
[แก้]ช้างเผือกถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของชาติไทย มีการนำรูปช้างเผือกติดไว้บนธงสีแดง ซึ่งเดิมถือเป็นธงประจำชาติไทย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นธงไตรรงค์ การกำหนดไว้ในเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกทั้ง 8 ชั้น ชั้นสูงสุด คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) การสร้างเหรียญกษาปณ์ไทย ธนบัตรรูปช้างสามเศียร และแสตมป์ที่มีรูปช้าง การสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องพระเจ้าช้างเผือก ตราสมาคมต่าง ๆ นอกจากนี้ตราช้างเผือกยังได้รับราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6 ให้ใช้เป็นตราประจำกองลูกเสือของอังกฤษ "King of Siam's Own Troop of Boy Scouts" หรือ "K.S.O." อีกด้วย
ปัจจุบัน ยังนำคำว่า "ช้างเผือก" มาใช้ในแวดวงการศึกษาและแวดวงกีฬา โดยเปรียบเปรยถึงเยาวชนซึ่งอาศัยอยู่ต่างจังหวัดที่เรียนเก่งระดับหัวกะทิ หรือมีความสามารถทางกีฬาเป็นเลิศ และได้โควตาพิเศษเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ หรือมาเป็นนักกีฬาทีมชาติตามโครงการช้างเผือก[3]
ในภาษาอังกฤษคำว่า "white elephant" มีความหมายในเชิงลบ ซึ่งหมายถึงของที่ใหญ่และหายาก แต่มักจะไม่มีใครต้องการ เนื่องจากต้องเสียค่าดูแลหรือค่าบำรุงสูง มีที่มาจากการมอบของหรือสิ่งใดให้กับศัตรูหรือผู้ที่ไม่ชอบ ซึ่งคนผู้นั้นจะถูกบังคับให้ต้องดูแลสิ่งของหายากนั้นไปโดยปริยาย และสูญเสียเงินในการดูแลจนล้มละลาย[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ข่าวฟ้ายามเย็น 22 09 57 เบรก3". ฟ้าวันใหม่. 22 September 2014. สืบค้นเมื่อ 27 September 2014.
- ↑ "ช้างปัจจัยนาเคนทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-17. สืบค้นเมื่อ 2007-08-05.
- ↑ "ช้างเผือก ๑ น." ราชบัณฑิตยสถาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-27. สืบค้นเมื่อ 2014-09-22.
- ↑ "Home : Oxford English Dictionary". oxforddictionaries.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-02. สืบค้นเมื่อ 2013-04-25.
- ช้างเผือก www.himmapan.com
- ช้างและช้างเผือก โดย พลเรือตรี อังกุศ ธชาลุภัฏ เก็บถาวร 2009-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ช้างเผือก คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติ ประชาชื่น เก็บถาวร 2005-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ช้างราชพาหนะ, มรดกไทย หน้า 215-216