ช้าง
ช้าง | |
---|---|
ช้างพุ่มไม้แอฟริกาเพศเมียในอุทยานแห่งชาติมิคุมิ ประเทศแทนซาเนีย | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | อันดับช้าง |
วงศ์ใหญ่: | Elephantoidea |
วงศ์: | วงศ์ช้าง |
กลุ่มที่รวมอยู่ด้วย | |
| |
หน่วยที่รวมโดยแคลดิสติกส์แต่ไม่รวมโดยดั้งเดิม | |
|
ช้าง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ในวงศ์ Elephantidae ปัจจุบันรับรองว่ามีอยู่ 3 สปีชีส์ คือ ช้างแอฟริกา, ช้างป่าแอฟริกา และช้างเอเชีย วงศ์ Elephantidaeเป็นวงศ์เดียวที่ยังไม่สูญพันธุ์ในอันดับ Proboscidea สมาชิกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น มาสโตดอน (mastodon) วงศ์ Elephantidae ยังมีกลุ่มที่บัดนี้สูญพันธุ์ไปแล้วหลายกลุ่ม รวมทั้งช้างแมมมอธและช้างงาตรง ช้างแอฟริกามีหูขนาดใหญ่กว่าและหลังเว้า ส่วนช้างเอเชียมีหูขนาดเล็กกว่าและมีหลังนูนหรือราบ ลักษณะเด่นของช้างทุกชนิดได้แก่ งวงยาว หูกางขนาดใหญ่ ขาใหญ่ และผิวหนังที่หนาแต่ละเอียดอ่อน งวงใช้สำหรับการหายใจ หยิบจับอาหารและน้ำเข้าปาก และคว้าวัตถุ งาซึ่งดัดแปลงมาจากฟันตัด ใช้เป็นทั้งอาวุธและเครื่องมือสำหรับเคลื่อนย้ายวัตถุและขุดดิน หูกางขนาดใหญ่ช่วยในการคงอุณหภูมิกายให้คงที่ เช่นเดียวกับใช้ในการสื่อสาร ขาใหญ่เหมือนเสารองรับน้ำหนักตัว ช้างเป็นสัตว์บกขนาดใหญ่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ช้างกระจัดกระจายอยู่ทั่วแอฟริกาใต้สะฮารา เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบได้ในที่อยู่อาศัยหลากหลาย ทั้งสะวันนา ป่า ทะเลทรายและที่ลุ่มชื้นแฉะ ช้างเป็นสัตว์กินพืช และอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำเมื่อสามารถเข้าถึงได้ ช้างถือเป็นสิ่งมีชีวิตหลัก เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์อื่นมักรักษาระยะห่างจากช้าง โดยมีข้อยกเว้นคือสัตว์นักล่าช้าง เช่น สิงโต เสือโคร่ง ไฮยีนาและหมาป่าทุกชนิด ซึ่งปกติมักเลือกช้างอ่อนเป็นเป้าหมายเท่านั้น ช้างมีสังคมฟิชชัน–ฟิวชัน หมายความว่า กลุ่มครอบครัวหลายกลุ่มมารวมกันเข้าสังคม ช้างเพศเมีย (ช้างพัง) มักอาศัยอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว ซึ่งอาจประกอบด้วยช้างเพศเมียหนึ่งตัวและลูกช้างหรือช้างเพศเมียหลายตัวที่มีความเกี่ยวดองกันกับลูก ๆ โดยไม่มีช้างเพศผู้ (ช้างพลาย) กลุ่มนี้มีช้างพังที่ปกติอายุมากที่สุดเป็นหัวหน้า
ช้างพลายออกจากลุ่มครอบครัวเมื่อถึงวัยเริ่มเจริญพันธุ์ และอาจอยู่สันโดษหรืออยู่กับช้างพลายตัวอื่น ช้างพลายโตเต็มวัยมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มครอบครัวเมื่อหาคู่และเข้าสู่ภาวะที่มีเทสโทสเตอโรนและความก้าวร้าวสูงขึ้น เรียก ตกมัน ซึ่งช่วยให้พวกมันถือความเป็นใหญ่และสืบพันธุ์ได้สำเร็จ ลูกช้างเป็นศูนย์กลางความสนใจของกลุ่มครอบครัวและต้องอาศัยแม่เป็นเวลานานสุดสามปี ช้างป่ามีชีวิตอยู่ได้ถึง 70 ปี ช้างสื่อสารกันโดยการสัมผัส การมองเห็น การรับกลิ่นและการฟังเสียง ช้างใช้อินฟราซาวน์ และการสื่อสารไหวสะเทือนเป็นระยะทางไกล สติปัญญาของช้างเทียบได้กับสติปัญญาของไพรเมตและอันดับฐานวาฬและโลมา ช้างดูมีความสำนึกเกี่ยวกับตนเองและแสดงความเห็นใจต่อช้างที่กำลังตายหรือช้างที่ตายแล้ว
สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติจัดช้างแอฟริกาเป็นชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ และช้างเอเชียเป็นชนิดใกล้สูญพันธุ์ ภัยคุกคามต่อประชากรช้างใหญ่สุดประการหนึ่งคือการค้างาช้าง ซึ่งทำให้ช้างถูกบุกรุกเข้าไปล่าเพื่อเอางา ภัยคุกคามช้างป่าประการอื่นได้แก่การทำลายที่อยู่อาศัยและความขัดแย้งกับประชากรท้องถิ่น มีการใช้ช้างเป็นสัตว์ใช้แรงงานในทวีปเอเชีย และยังมีการจัดแสดงในสวนสัตว์หรือถูกใช้ประโยชน์สำหรับความบันเทิงในละครสัตว์ ช้างเป็นสัตว์ที่มนุษย์รู้จักดีและปรากฏทั้งในศิลปะ นิทานพื้นบ้าน ศาสนา วรรณกรรมและวัฒนธรรมสมัยนิยม
อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการ
[แก้]สกุลช้างแอฟริกาประกอบด้วยช้างสอง หรืออาจแย้งได้ว่า สามชนิดที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ขณะที่สปีชีส์ช้างเอเชียเป็นชนิดเดียวที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในสกุลช้างเอเชีย แต่สามารถแบ่งออกได้เป็นสี่สปีชีส์ย่อย ช้างแอฟริกาและช้างเอเชียวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อราว 7.6 ล้านปีก่อน[1]
ช้างแอฟริกา
[แก้]ช้างในสกุล Loxodonta ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าช้างแอฟริกานั้น ปัจจุบันพบอยู่ใน 37 ประเทศในทวีปแอฟริกา
ช้างแอฟริกามีความแตกต่างจากช้างเอเชียหลายประการ ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือหูที่มีขนาดใหญ่กว่าช้างเอเชียมาก นอกจากนี้ ช้างแอฟริกายังมีขนาดใหญ่กว่าช้างเอเชียอย่างเห็นได้ชัดและมีหลังเว้า ในช้างเอเชีย มีเพียงเพศผู้เท่านั้นที่มีงา แต่ช้างแอฟริกาทั้งเพศผู้และเพศเมียล้วนมีงาและมักจะมีขนน้อยกว่าช้างเอเชีย
ช้างแอฟริกาเดิมเคยถูกจัดเป็นสปีชีส์เดียวซึ่งประกอบด้วยสองสปีชีส์ย่อย ชื่อว่า ช้างสะวันนา (Loxodonta africana africana) และช้างป่า (Loxodonta africana cyclotis) แต่การวิเคราะห์ดีเอ็นเอล่าสุดเสนอแนะว่าทั้งสองนี้อาจเป็นคนละสปีชีส์กัน[2] การแบ่งนี้ไม่ได้รับการยอมรับเป็นสากลโดยผู้เชี่ยวชาญ[3] นอกจากนี้ยังมีการเสนอช้างแอฟริกาสปีชีส์ที่สามอยู่[4]
ผู้แต่งการวิเคราะห์ดีเอ็นเอนิวเคลียสที่สกัดมาจาก "ช้างสะวันนาแอฟริกา ช้างป่าแอฟริกา ช้างเอเชีย มาสโตดอนอเมริกาซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว และแมมมอททุนดรา" ได้มีข้อสรุปในปี ค.ศ. 2010 ว่าช้างสะวันนาแอฟริกาและช้างป่าแอฟริกานั้น แท้จริงแล้วเป็นคนละสปีชีส์กัน โดยระบุว่า
เราได้พิสูจน์อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าช้างเอเชียเป็นสปีชีส์พี่น้องของแมมมอททุนดรา การค้นพบอันน่าประหลาดใจจากการศึกษาของเรานั้นคือการวิวัฒนาการแยกออกจากกันของช้างสะวันนาและช้างป่าแอฟริกา ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นประชากรสองกลุ่มในสปีชีส์เดียวกัน นั้นเกิดขึ้นในอดีตนานพอ ๆ กับที่ช้างเอเชียวิวัฒนาการแยกออกจากแมมมอท และด้วยการวิวัฒนาการแยกออกจากกันแต่โบราณนี้เอง เราจึงสรุปว่าช้างสะวันนาและช้างป่าแอฟริกาควรจะถูกจัดเป็นคนละสปีชีส์กัน[5]
ช้างป่าและช้างสะวันนาสามารถเกิดลูกผสมขึ้นได้ แต่เนื่องจากช้างทั้งสองชอบอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่แตกต่างกันจึงลดโอกาสที่จะผสมข้ามสปีชีส์ เนื่องจากช้างแอฟริกาเพิ่งจะได้รับการยอมรับว่าประกอบด้วยสองสปีชีส์ที่แตกต่างกัน กลุ่มของช้างที่ถูกจับยังไม่ได้รับการจัดประเภทอย่างทั่วถึงและบางเชือกอาจเป็นลูกผสมก็เป็นได้
ภายใต้การจำแนกสองสปีชีส์ใหม่นี้ Loxodonta africana หมายความถึงแต่ช้างสะวันนา ซึ่งเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพศผู้มีความสูงระหว่าง 2.2 ถึง 8.7 เมตรเมื่อวัดจากพื้นถึงไหล่ และหนัก 2,700 กิโลกรัม โดยตัวที่หนักที่สุดนั้นมีบันทึกไว้ที่ 9,000 กิโลกรัม[6] เพศเมียตัวเล็กกว่า สูงจากพื้นถึงไหล่วัดได้ 3 เมตร[7] ช้างสะวันนามักจะพบได้ในทุ่งหญ้าเปิด บึงและริมทะเลสาบ มีถิ่นที่อยู่อาศัยครอบคลุมเขตสะวันนาแถบตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา
ส่วนช้างอีกสปีชีส์หนึ่งนั้น คือ ช้างป่า (Loxodonta cyclotis) มักจะมีขนาดเล็กกว่าและกลมกว่า งาของมันจะบางกว่าและตรงกว่าเมื่อเทียบกับช้างสะวันนา ช้างป่าสามารถหนักได้ถึง 3,500 กิโลกรัม และสูงราว 2.5 เมตร ช้างชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันน้อยกว่าช้างสะวันนามาก เนื่องจากอุปสรรคทางธรรมชาติและทางการเมืองทำให้การศึกษาพวกมันเป็นไปได้ยาก โดยปกติแล้ว พวกมันจะอาศัยอยู่ในป่าฝนแอฟริกาที่หนาทึบที่อยู่ทางตอนกลางและทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา แม้ว่าในบางครั้งอาจพบพวกมันอยู่ตามชายป่าอยู่บ้าง และอาจทับซ้อนกับถิ่นที่อยู่และถิ่นผสมพันธุ์ของช้างสะวันนา ในปี ค.ศ. 1979 เอียน ดัคลาส-ฮามิลตัน ประเมินประชากรช้างแอฟริกาไว้ที่ 1.3 ล้านตัว[8] การประเมินตัวเลขดังกล่าวเป็นที่โต้เถียงกันและเชื่อว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริง[9] แต่ตัวเลขดังกล่าวมักจะได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางและได้กลายมาเป็นเส้นฐานโดยพฤตินัยซึ่งมักใช้อย่างผิด ๆ ในการบอกจำนวนของประชากรช้างที่ลดจำนวนลง ตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 Loxodonta ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเนื่องจากการลดจำนวนของประชากรกลุ่มใหญ่ในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นผลมาจากการล่าสัตว์ ตาม "รายงานสถานะช้างแอฟริกา พ.ศ. 2550"[10] โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) นั้น พบช้างแอฟริกาอาศัยอยู่ในธรรมชาติระหว่าง 470,000 และ 690,000 ตัว ถึงแม้ว่าการประเมินดังกล่าวจะครอบคลุมเพียงครึ่งหนึ่งของถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่เชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงจะสูงไปกว่านี้ เนื่องจากไม่คาดว่าประชากรกลุ่มใหญ่จะถูกค้นพบอีกในอนาคต[11] จนถึงขณะนี้ ประชากรช้างกลุ่มใหญ่ที่สุดพบได้ทางใต้และตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของช้างทั้งหมด จากการวิเคราะห์ล่าสุดโดยผู้เชี่ยวชาญของ IUCN นั้น ประชากรกลุ่มใหญ่จำนวนมากทางตะวันออกและใต้ของแอฟริกานั้นเสถียรหรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1990 ด้วยอัตราเฉลี่ย 4.5% ต่อปี[11][12]
ตรงกันข้ามกับประชากรช้างในแอฟริกาตะวันตกที่มักมีขนาดเล็กและอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย และคิดเป็นสัดส่วนน้อยต่อประชากรช้างทั้งหมด[13] ประชากรช้างในตอนกลางของแอฟริกานั้นยังไม่แน่ชัด ขณะที่ความหนาแน่นของป่าทำให้การสำรวจประชากรเป็นไปได้อย่างยากลำบาก แต่เชื่อว่าการบุกรุกเข้าไปล่าเอางาและเนื้อจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในภูมิภาคนี้[14] ประชากรช้างในแอฟริกาใต้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 8,000 เป็น 20,000 ตัวในรอบสิบสามปี หลังจากการห้ามค้างาช้างในปี ค.ศ. 1995[15]
ช้างเอเชีย
[แก้]ช้างเอเชีย หรือเรียกว่า ช้างอินเดีย (Elephas maximus) มีขนาดเล็กกว่าช้างแอฟริกามาก มีหูเล็กกว่า และที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีเพียงเพศผู้เท่านั้นที่มีงาขนาดใหญ่โผล่ออกมาให้เห็น
ประชากรช้างเอเชียทั่วโลกประเมินไว้อยู่ที่ราว 60,000 ตัว[16] คิดเป็นหนึ่งในสิบของประชากรช้างแอฟริกา หรือหากจะกล่าวให้เจาะจงไปกว่านั้น โดยระหว่าง 41,410 และ 52,345 ตัวที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ[17] และระหว่าง 14,500 และ 15,300 เชือกที่ถูกเลี้ยงไว้ในทวีปเอเชีย โดยอาจมีอีกราว 1,000 เชือกที่อยู่กระจัดกระจายไปตามสวนสัตว์ทั่วโลก[18] เป็นไปได้ว่าช้างเอเชียอาจลดจำนวนลงในอัตราที่ช้ากว่าช้างแอฟริกา และส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์และการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยจากการรุกล้ำของมนุษย์
Elephas maximus ได้ถูกจำแนกออกเป็นหลายสปีชีส์ย่อย โดยอาศัยข้อมูลทางสัณฐานวิทยาและโมเลกุลเครื่องหมาย
- Elephas maximus maximus (ช้างศรีลังกา) พบได้เฉพาะบนเกาะศรีลังกา และเป็นช้างขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาช้างเอเชีย มีการประเมินว่าช้างศรีลังกานี้มีชีวิตเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 3,000-4,500 ตัวเท่านั้น[16] ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการสำรวจตัวเลขที่แน่ชัดเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพศผู้ตัวใหญ่นั้นสามารถหนักได้ถึง 4,400 กิโลกรัม และสูงกว่า 6 เมตร ช้างศรีลังกาเพศผู้มีกะโหลกนูนขนาดใหญ่มาก และทั้งสองเพศมีบริเวณรอยด่างมากกว่าช้างเอเชียอื่นทั้งหมด หู หน้า งวง และช่วงท้องจะมีหนังเป็นรอยด่างสีชมพูขนาดใหญ่[19] ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน
- Elephas maximus indicus (ช้างอินเดีย) เป็นช้างเอเชียที่มีประชากรมากที่สุด มีอยู่ราว 36,000 ตัว[16] ช้างเหล่านี้มีสีเทาอ่อน และมีรอยด่างเฉพาะบนหูและงวง เพศผู้ตัวใหญ่นั้นมีน้ำหนักระหว่าง 2,000-5,000 กิโลกรัม[19] แต่มีความสูงเท่ากับช้างศรีลังกา ช้างอินเดียนี้สามารถพบได้ในประเทศเอเชีย 11 ประเทศ ไล่ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงอินโดนีเซีย พวกมันชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและบริเวณรอยต่อระหว่างป่ากับทุ่งหญ้า ซึ่งสามารถหาอาหารได้หลายชนิดกว่า
- Elephas maximus sumatranus (ช้างสุมาตรา) พบเฉพาะบนเกาะสุมาตรา มีขนาดเล็กกว่าช้างอินเดียและช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ มีประชากรอยู่ระหว่าง 2,100 ถึง 3,000 ตัว[16] มีสีเทาจางและมีรอยด่างน้อยกว่าช้างเอเชียอื่น โดยมีจุดสีชมพูเฉพาะบนหูเท่านั้น ช้างสุมาตราตัวเต็มวัยมีความสูงจากพื้นถึงไหล่วัดได้ 2-2.2 เมตร และหนักระหว่าง 2,000-4,000 กิโลกรัม[19] มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและถิ่นที่อยู่ปกคลุมด้วยต้นไม้บางส่วน
- Elephas maximus borneensis (ช้างแคระบอร์เนียว) เป็นสปีชีส์ย่อยใหม่ซึ่งได้รับการจำแนกในปี ค.ศ. 2003 มันมีขนาดเล็กกว่าและเชื่องกว่าช้างเอเชียอื่น ๆ มันค่อนข้างมีหูขนาดใหญ่กว่า หางยาวกว่าและงาตรงกว่า มีประชากรราว 1,500 ตัว[16]
ลักษณะทางกายภาพ
[แก้]งวง
[แก้]งวงเป็นลักษณะร่วมกันของจมูกและริมฝีปากบน ซึ่งยืดยาวออกไปและเกิดจากวิวัฒนาการเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่าง งวงเป็นรยางค์ที่สำคัญและมีประโยชน์ที่สุดของช้าง ช้างแอฟริกามีสิ่งคล้ายนิ้วโผล่ออกมาสองอันที่ปลายงวง ขณะที่ช้างเอเชียโผล่ออกมาแค่อันเดียว งวงช้างมีความละเอียดพอที่จะหยิบหญ้าขึ้นมาเพียงยอดเดียว แต่ก็แข็งแรงพอที่จะหักกิ่งไม้จากต้นได้ สามารถยกของหนักได้ถึง 250 กิโลกรัม และเป็นเนื้อเยื่อที่ละเอียดอ่อนที่สุดเท่าที่เคยศึกษามา[20]
สัตว์กินพืชส่วนใหญ่มีฟันที่ออกแบบมาเพื่อตัดและฉีกส่วนต่าง ๆ ของพืช อย่างไรก็ตาม ยกเว้นช้างวัยอ่อนมาก ช้างมักจะใช้งวงฉีกอาหารแล้วจึงนำมาวางไว้ที่ปาก พวกมันจะกินหญ้าหรือเอื้อมงวงขึ้นไปบนต้นไม้เพื่อฉีกเอาใบไม้ ผลไม้หรือกิ่งไม้ทั้งกิ่ง หากอาหารที่ต้องการนั้นอยู่สูงเกินเอื้อม ช้างจะพันงวงของตัวเข้ากับต้นไม้หรือกิ่งไม้และเขย่าเอาอาหารลงมาหรืออาจล้มต้นไม้ทั้งต้นลงเลยทีเดียว
งวงยังสามารถใช้สำหรับการดื่มได้ด้วย ช้างจะดูดน้ำเข้าไปในงวง ซึ่งสามารถดูดเข้าไปได้มากที่สุดถึง 14 ลิตรในคราวหนึ่ง จากนั้นจึงพ่นน้ำเข้าไปในปาก ช้างยังสามารถดูดน้ำมาเพื่อพ่นใส่ร่างกายของตัวระหว่างการอาบน้ำได้ด้วย นอกเหนือไปจากการดูดน้ำแล้ว ช้างยังอาจพ่นดินและโคลน ซึ่งจะแห้งตัวและทำหน้าที่เหมือนกับสารกันแดด ขณะว่ายน้ำ งวงเป็นท่อช่วยหายใจที่ยอดเยี่ยม[21][22]
งวงยังมีบทบาทสำคัญในปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหลายอย่าง ช้างที่คุ้นเคยกันจะทักทายกันโดยการพันงวงรอบงวงของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับการจับมือของมนุษย์มาก นอกจากนี้ ช้างยังสามารถใช้งวงในการเล่นมวยปล้ำ โดยการสัมผัสระหว่างการเกี้ยวพาราสีและปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูก และสำหรับการแสดงความเหนือกว่า การชูงวงขึ้นสามารถเป็นได้ทั้งการเตือนหรือการคุกคาม ขณะที่งวงที่ลดลงสามารถเป็นสัญลักษณ์ของการจำยอม ช้างยังสามารถป้องกันตนเองได้เป็นอย่างดีโดยการเคลื่อนไหวงวงไปมาที่ผู้รุกรานหรือโดยการจับและขว้างออกไป
ช้างมีจมูกใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถรับกลิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจดีที่สุดเหนือกว่าสัตว์อื่นใดในโลก[20] การแกว่งงวงไปมาของช้างเป็นการทดสอบกลิ่นในอากาศจากทุกทิศทาง ช้างป่าสามารถรับกลิ่นได้ไกลหลายไมล์ซึ่งสามารถรับรู้ถึงอันตรายล่วงหน้าได้[20] นอกจากนี้ งวงช้างยังสามารถใช้เปล่งเสียงได้อีกด้วย
งา
[แก้]งาของช้าเป็นฟันตัดขากรรไกรบนคู่ที่สอง งาจะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง งาของช้างเพศผู้เติบโตในอัตรา 17 เซนติเมตรต่อปี[23] งาใช้ในการขุดหาน้ำ เกลือหรือรากไม้ เพื่อขูดเปลือกไม้เพื่อที่จะกินเปลือกไม้ เพื่อขุดเข้าไปในต้นบัลบับเพื่อเอาผลไม้ที่อยู่ข้างใน เพื่อย้ายต้นไม้และกิ่งในการเปิดเส้นทาง นอกเหนือจากนี้ ช้างยังใช้ทำสัญลักษณ์บนต้นไม้เพื่อสร้างอาณาเขต และในบางครั้งใช้เป็นอาวุธด้วย
มนุษย์มีความถนัดมือซ้ายหรือมือขวาข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจน ช้างเองก็ถนัดใช้งาข้างใดข้างหนึ่งเช่นเดียวกัน งาข้างที่ถนัดมักจะสั้นกว่าและมีรูปร่างกลมกว่าที่ปลายจากการสึกหรอ ช้างแอฟริกาทั้งเพศผู้และเพศเมียมีงาขนาดใหญ่ที่ยาวได้ถึง 3 เมตร และหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม[23] ในช้างเอเชีย มีเพียงเพศผู้เท่านั้นที่มีงาขนาดใหญ่ ส่วนเพศเมียจะมีงาขนาดเล็กหรือไม่มีเลย ช้างเพศผู้สามารถมีงาที่ใหญ่กว่าของช้างแอฟริกามาก แต่งาของช้างเอเชียมักจะมีรูปร่างเรียวกว่าและเบากว่า งาที่ยาวที่สุดที่เคยบันทึกไว้ยาว 3.27 เมตร และงาที่หนักที่สุดที่เคยบันทึกไว้หนัก 102.7 กิโลกรัม[24] สถิติในหลายทศวรรษหลังสุดได้ชี้ให้เห็นว่าน้ำหนักของงาช้างโดยเฉลี่ยลดลงอย่างน่าตกใจ เฉลี่ยถึง 0.5 ถึง 1 กิโลกรัมต่อปี[24] งาของช้างเอเชียและช้างแอฟริกาส่วนใหญ่มีแคลเซียมฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบในรูปอะพาไทต์ งาเป็นชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อที่มีชีวิต มันจึงค่อนข้างอ่อนเมื่อเทียบกับแร่อื่น เช่น หิน ศิลปินทั้งหลายระบุว่างาเป็นวัสดุที่แกะสลักได้ง่าย ความต้องการเอางาช้างเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการลดจำนวนลงของประชากรช้างทั่วโลก
สายพันธุ์เกี่ยวข้องกับช้างที่สูญพันธุ์ไปแล้วบางสายพันธุ์มีงาในขากรรไกรล่างนอกเหนือไปจากขากรรไกรบน อย่างเช่น Gomphotherium หรือมีเฉพาะในขากรรไกรล่าง อย่างเช่น Deinotherium[25]
ฟัน
[แก้]ฟันของช้างแตกต่างไปจากฟันขอสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่นส่วนใหญ่ โดยปกติช้างจะมีฟันอยู่ 28 ซี่ ซึ่งประกอบด้วยฟันตัดคู่ที่สองขากรรไกรบน เป็นงา ฟันน้ำนมที่ขึ้นก่อนงา ฟันกรามน้อย 12 ซี่ โดยมี 3 ซี่อยู่ในขากรรไกรแต่ละข้าง และฟันกราม 12 ซี่ โดยมี 3 ซี่อยู่ในขากรรไกรแต่ละข้างเช่นเดียวกัน
ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำมนมส่วนใหญ่เมื่อโตขึ้น ฟันน้ำนมจะถูกแทนที่ด้วยชุดฟันแท้ถาวร แต่ช้างกลับมีวัฎจักรสับเปลี่ยนหมุนเวียนฟันเกิดขึ้นตลอดชั่วชีวิต ช้างมีฟันน้ำนม ซึ่งจะหลุดไปและงาจะเข้ามาแทนที่เมื่ออายุได้หนึ่งปี แต่ฟันเคี้ยวอาจสามารถมีได้ถึงห้า[26] หรือที่พบได้น้อยครั้งมาก หกครั้ง[27] ตลอดช่วงชีวิตของช้าง ช้างใช้ฟันกรามและฟันกรามน้อยเพียงสี่ซี่ หรือหนึ่งซี่ในขากรรไกรแต่ละข้างเท่านั้นเป็นหลักในช่วงชีวิตหนึ่ง ๆ ของมัน
ฟันแท้จะไม่แทนที่ฟันน้ำนมโดยการเกิดจากขากรรไกรในแนวตรงอย่างฟันของมนุษย์ แต่ฟันใหม่นั้นจะเติบโตขึ้นด้านในที่หลังปาก แล้วจะผลักดันฟันเก่าออกมาด้านหน้า ขณะที่ฟันเก่าจะแตกออกเป็นชิ้น ๆ จนกว่าฟันเหล่านี้จะหลุดหายไป ในช้ารงแอฟริกา ฟันกรามนอยสองชุดแรกจะเข้าที่เมื่อช้างเกิด ฟันเคี้ยวชุดแรกที่อยู่ในแต่ละข้างของขากรรไกรนั้นจะหลุดออกมาเมื่อช้างอายุได้สองปี ฟันเคี้ยวชุดที่สองจะหลุดออกเมื่อช้างมีอายุได้ประมาณหกปี ฟันชุดที่สามจะหลุดออกไปเมื่ออายุได้ 13 ถึง 15 ปี ฟันชุดที่สี่จะหลุดออกเมื่อช้างมีอายุได้อย่างน้อย 28 ปี ฟันชุดที่ห้าจะหลุดออกเมื่อช้างมีอายุได้ในช่วง 40 ปี และฟันชุดที่หก (มักเป็นชุดสุดท้าย) จะอยู่กับช้างไปจนกระทั่งตาย หากช้างตัวหนึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี และฟันกรามชุดสุดท้ายไม่สามารถใช้การได้อีก มันก็จะไม่สามารถหาอาหารกินได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ฝีบนฟันเคี้ยว เช่นเดียวกับที่งาและขากรรไกร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในช้าง และอาจทำให้ช้างตายก่อนกำหนดได้[28]
ผิวหนัง
[แก้]ช้างอาจถูกเรียกว่า สัตว์หนังหนา (pachyderms) ซึ่งมาจากการจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ดั้งเดิม หนังของช้างนั้นมีความหนามากปกคลุมส่วนใหญ่ของร่างกาย และวัดความหนาได้ประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร[29] อย่างไรก็ตาม หนังรอบปากและด้านในหูนั้นค่อนข้างบาง ผิวหนังของช้างมีขนขึ้นอยู่บ้างเล็กน้อย โดยจะสามารถเห็นได้ชัดเจนมากในช้างอายุน้อย แต่เมื่อช้างมีอายุมากขึ้น ขนนี้มีจำนวนลดลงและบางลง[30] แต่ขนจะยังคงปกคลุมอยู่ที่หัวและหางของพวกมัน ผิวหนังของมันถึงแม้จะหนาแต่ก็มีความละเอียดอ่อนมาก โดยสามารถสัมผัสถึงแมลงและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้[31]
ช้างทุกชนิดแท้จริงแล้วจะมีผิวหนังสีเทา แต่มักพบว่ามีสีน้ำตาลหรือแดงตามดินแถบนั้นเพราะแช่ตัวอยู่ในปลักโคลน[32] โคลนทำหน้าที่เสมือนครีมกันแดด ซึ่งปกป้องผิวหนังของมันจากรังสีอัลตราไวโอเล็ตที่รุนแรง นอกจากนี้ การแช่ตัวในโคลนยังช่วยให้ผัวหนังสามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายไว้ได้และป้องกันแมลงกัดต่อย[33] ทั้งนี้ ช้างเป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ[29] ผิวหนังของช้างมีรอยย่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัส ซึ่งจะช่วยให้ความเย็นและเก็บกักความชื้นไว้ได้[31]
ขาและเท้า
[แก้]ขาของช้างมีรูปร่างค่อนข้างคล้ายกับเสา เนื่องจากขาของมันต้องรองรับร่างกายอันใหญ่โต ช้างใช้พลังงานกล้ามเนื้อในการยืนน้อยเนื่องจากขาของมันตั้งตรงและฝ่าเท้ามีขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลนี้เอง ช้างจึงสามารถยืนได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย อันที่จริงแล้ว ช้างแอฟริกาจะนอนลงกับพื้นน้อยครั้งมาก เฉพาะตอนที่มันป่วยหรือได้รับบาดเจ็บเท่านั้น ตรงกันข้ามกับช้างอินเดียที่นอนลงกับพื้นบ่อยครั้งกว่า
เท้าของช้างมีรูปร่างเกือบกลม เท้าหลังแต่ละข้างของช้างแอฟริกามี 3 เล็บ และเท้าหน้าแต่ละข้างมี 4 เล็บ ส่วนเท้าหลังแต่ละข้างของช้างอินเดียนั้นมี 4 เล็บ และเท้าหน้าแต่ละข้างมี 5 เล็บ ใต้กระดูกของเท้านั้นเป็นวัสดุแข็งคล้ายวุ้นซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องกันกระแทก ช้างสามารถว่ายน้ำได้ แต่ไม่สามารถวิ่งเหยาะ ๆ กระโดด หรือวิ่งห้อได้ ช้างมีท่าเดินอยู่สองท่า คือ ท่าเดินและท่าที่เร็วกว่าซึ่งคล้ายกับการวิ่ง
ในการเดิน ขาของช้างจะทำหน้าที่เหมือนกับตุ้มน้ำหนัก โดยมีสะโพกและไหล่ขยับขึ้นลงขณะที่วางเท้าบนพื้น ท่าเดินเร็วของช้างนั้นไม่ได้เข้าข่ายการวิ่งทั้งหมด เพราะช้างจะไว้เท้าข้างหนึ่งไว้บนพื้นเสมอ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของช้างนั้นใช้ขาคล้ายกับสัตว์อื่นที่กำลังวิ่งมากกว่า โดยใช้สะโพกและไหล่ยกขึ้นและลงขณะที่เท้าวางอยู่บนพื้น ในการเดินท่านี้ ช้างจะยกเท้าสามข้างขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน และเมื่อเท้าหลังทั้งสองข้างและเท้าหน้าทั้งสองข้างอยู่เหนือพื้นดินในขณะเดียวกันแล้ว ท่าเดินนี้จะมีลักษณะคล้ายกับที่เท้าหน้าและเท้าหลังผลัดกันวิ่ง[34] การทดสอบที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีรายงานว่า การเคลื่อนไหวเร็ของช้างนั้นจะ "วิ่ง" โดยใช้เท้าหน้า และจะ "เดิน" โดยใช้เท้าหลัง[35]
แม้ว่าช้างจะเริ่ม "วิ่ง" ด้วยท่าเดินนี้ด้วยอัตราเร็ว 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[36] แต่มีรายงานว่าช้างสามารถเพิ่มความเร็วจนแตะระดับ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้[37] โดยไม่เปลี่ยนท่าในการเดิน จากการทดสอบที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ช้างที่เดินเร็วที่สุดนั้นทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[35] ที่ความเร็วระดับนี้ สัตว์สี่เท้าอื่นส่วนใหญ่แล้วจะเปลี่ยนท่าเป็นท่าวิ่งห้อแล้ว แม้ว่าจะคิดความยาวของขาแล้วก็ตาม การเคลื่อนไหวคล้ายสปริงสามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวของช้างกับสัตว์อื่น ๆ ได้[38]
นักสัตววิทยาชาวอังกฤษ ได้ทำการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ของช้างพบว่าช้างมีนิ้วเท้า 6 นิ้ว ขณะวิวัฒนาการเป็นสัตว์บกเมื่อ 40 ล้านปีก่อน[39]
หู
[แก้]หูที่สามารถกระพือได้ขนาดใหญ่ของช้างนั้นยังมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลอุณหภูมิร่างกายช้างด้วย หูช้างเป็นหนังชั้นบางมากซึ่งถูกขึงอยู่เหนือกระดูกอ่อนและเครือข่ายหลอดเลือดจำนวนมาก ในวันที่มีอากาศร้อน ช้างจะกระพือหูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างลมอ่อน ๆ ขึ้น ลมนี้ช่วยลดอุณหภูมิหลอดเลือดพื้นผิว และจากนั้น เลือดที่ถูกทำให้เย็นลงนั้นจะหมุนเวียนไปทั่วส่วนที่เหลือของร่างกายช้าง เลือดที่เข้าสู่หูนั้นสามารถลดอุณหภูมิลงได้ถึง 6 องศาเซลเซียสก่อนที่จะหมุนเวียนไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ช้างแอฟริกาและช้างเอเชียมีขนาดใบหูแตกต่างกัน ซึ่งบางส่วนสามารถอธิบายได้ด้วยการกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ ช้างแอฟริกามีถิ่นที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ที่ซึ่งมีอากาศร้อนกว่า ดังนั้นจึงต้องมีหูที่มีขนาดใหญ่กว่าตามไปด้วย ส่วนช้างเอเชียซึ่งอยู่ไกลขึ้นไปทางเหนือ อยู่ในอากาศที่เย็นกว่าเล็กน้อย จึงมีหูขนาดเล็กกว่าเช่นกัน
ช้างยังใช้หูในการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและระหว่างช่วงเวลาหาคู่ของเพศผู้ หากช้างต้องการข่มขวัญนักล่าหรือศัตรู มันจะกางหูออกกว้างเพื่อทำให้ดูเหมือนกับว่าตัวมันมีขนาดใหญ่และสง่าขึ้น ระหว่างฤดูผสมพันธุ์ เพศผู้จะปล่อยกลิ่นออกทางต่อมใต้ขมับซึ่งอยู่ห่างใบหูของมัน จอยซ์ พูล นักวิจัยช้างที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้ตั้งทฤษฎีว่าช้างเพศผู้จะพัดหูของมันเพื่อช่วยให้กลิ่นนี้กระจายออกไปไกลยิ่งขึ้น[40]
ชีววิทยาและพฤติกรรม
[แก้]วิวัฒนาการ
[แก้]บรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยรู้จักของช้างในปัจจุบันนี้นั้นมีการวิวัฒนาการมาเมื่อราว 60 ล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษของช้างเมื่อ 37 ล้านปีที่แล้วเป็นสัตว์น้ำและมีการใช้ชีวิตคล้ายคลึงกับฮิปโปโปเตมัส[41]
พฤติกรรมทางสังคม
[แก้]ช้างอยู่ในสังคมที่มีลำดับโครงสร้าง การใช้ชีวิตในสังคมของช้างเพศผู้และเพศเมียมีความแตกต่างกันมาก โดยเพศเมียจะใช้เวลาทั้งชีวิตในกลุ่มครอบครัวหรือโขลง ที่มีความสัมพันธ์แน่นหนา ซึ่งประกอบด้วยแม่ ลูก พี่น้อง ป้าและน้า กลุ่มเหล่านี้จะถูกนำโดยเพศเมียตัวที่มีอายุมากที่สุด ซึ่งเรียกว่า แม่แปรก (matriarch) ในขณะที่เพศผู้ตัวเต็มวัยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่อย่างสันโดษ
วงสังคมของช้างเพศเมียมิได้สิ้นสุดลงด้วยหน่วยครอบครัวขนาดเล็ก นอกเหนือไปจากการพบปะกับช้างเพศผู้ท้องถิ่นซึ่งอยู่ตามริมโขลงตั้งแต่หนึ่งโขลงขึ้นไป ชีวิตของช้างเพศเมียยังมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เผ่าหรือกลุ่มประชากรย่อย กลุ่มครอบครัวใกล้ชิดส่วนใหญ่จะมีช้างตัวเต็มวัยระหว่างห้าถึงสิบห้าตัว เช่นเดียวกับช้างเพศผู้และเพศเมียที่ยังไม่โตเต็มวัยอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อกลุ่มเริ่มมีขนาดใหญ่เกินไป ช้างเพศเมียที่มีอายุมากจำนวนหนึ่งจะแยกตัวออกไปและตั้งกลุ่มขนาดเล็กของตนเอง อย่างไรก็ตาม พวกมันยังคงรู้ว่าโขลงใดที่เป็นหมู่ญาติและโขลงใดที่ไม่ใช่
ชีวิตของช้างเพศผู้ตัวเต็มวัยนั้นแตกต่างจากช้างเพศเมียอย่างมาก โดยเมื่อมันมีอายุมากขึ้น มันจะใช้เวลาที่ขอบของโขลงนานขึ้น โดยจะค่อย ๆ ปลีกตัวไปอยู่สันโดษคราวละหลายชั่วโมงหรือหลายวัน จนกระทั่งเมื่อช้างมีอายุได้ประมาณสิบสี่ปี ช้างเพศผู้ก็จะแยกตัวออกจากโขลงที่ตนกำเนิดขึ้นอย่างถาวร แต่แม้ว่าช้างเพศผู้จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่อย่างสันโดษ แต่พวกมันยังคงมีสายสัมพันธ์หลวม ๆ กับช้างเพศผู้ตัวอื่นด้วยเป็นบางครั้ง ช้างเพศผู้จะใช้เวลาไปกับการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่มากกว่าเพศเมีย มีเพียงช้างเพศผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ ส่วนช้างเพศผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าจะต้องรอคอยจนกว่าจะถึงรอบของมัน ช้างเพศผู้ที่สืบพันธุ์มักจะมีอายุมากถึงสี่สิบห้าสิบปีแล้ว
การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่กันระหว่างเพศผู้นั้นอาจดูดุร้ายมาก แต่ที่จริงแล้วต่างฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การต่อสู้กันส่วนใหญ่นั้นเป็นรูปแบบของการแสดงท่าทีก้าวร้าวและการข่มขู่กัน โดยปกติแล้ว ช้างที่ตัวเล็กกว่า มีอายุน้อยกว่า และมีความมั่นใจน้อยกว่าจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้กันก่อนที่จะเริ่มสู้กันจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ การต่อสู้กันนี้อาจมีความก้าวร้าวอย่างมาก และในบางครั้งอาจมีช้างตัวใดตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ในช่วงฤดูนี้ ซึ่งรู้จักกันว่า ฤดูตกมัน ช้างเพศผู้ตัวเต็มวัยจะสู้กับช้างเพศผู้ตัวอื่นเกือบทุกตัวที่มันพบ และมันจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงนี้เตร็ดเตร่อยู่รอบโขลงเพศเมีย โดยพยายามหาคู่ที่อาจเข้ากันได้
การจับคู่
[แก้]ฤดูจับคู่นั้นสั้นและช้างเพศเมียจะมีช่วงที่สามารถตั้งครรภ์ได้เพียงไม่กี่วันในแต่ละปี โดยช้างเพศเมียจะแยกตัวออกจากโขลง กลิ่นของช้างเพศเมียในอากาศร้อน (หรือฤดูตกมัน) จะดึงดูดช้างเพศผู้ และช้างเพศเมียยังใช้สัญญาณที่สามารถได้ยินได้เพื่อดึงดูดอีกทางหนึ่งด้วย และเนื่องจากช้างเพศเมียมักจะวิ่งเร็วกว่าเพศผู้ มันจึงไม่จำเป็นต้องจับคู่กับช้างเพศผู้ทุกตัวที่พบ
เพศผู้จะเริ่มต้นการเกี้ยวพาราสีและเพศเมียจะเพิกเฉยต่อมันเป็นเวลาหลายนาที จากนั้นช้างเพศผู้จะหยุดและเริ่มเกี้ยวอีกครั้ง ช้างจะแสดงท่าทางความรักใคร่ อย่างเช่น การดุนด้วยจมูก การคล้องงวง และการวางงวงของตนไว้ในปากของอีกฝ่ายหนึ่ง การแสดงการเกี้ยวพาราสีอาจกินเวลานาน 20-30 นาที และไม่จำเป็นที่ว่าเพศผู้จะได้ผสมพันธุ์กับเพศเมียเสมอไป แม้ว่าเพศผู้จะแสดงการเร้าอารมณ์เพศเมียก็ตาม และช้างเพศเมียเองก็ไม่ได้เป็นฝ่ายอยู่เฉยในการเกี้ยวพาราสีเช่นกัน และใช้ท่าทางเดียวกับเพศผู้ด้วย
ช้างแอฟริกาเช่นเดียวกับช้างเอเชียเพศผู้ยังมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันอีกด้วย ซึ่งจะมีการแสดงพฤติกรรมออกเช่นเดียวกับการเกี้ยวพาราสีต่างเพศ ช้างเพศผู้ตัวหนึ่งจะยื่นงวงออกไปตามหลังของอีกตัวหนึ่งและตามด้วยงาเพื่อแสดงเจตนาที่จะมีความสัมพันธ์ ไม่เหมือนกับความสัมพันธ์แบบต่างเพศ ซึ่งมักจะเป็นเพียงชั่วคราวตามธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างช้างเพศผู้ด้วยกันนั้นจะกลายมาเป็น "มิตรภาพ" ซึ่งประกอบด้วยช้างเพศผู้ที่มีอายุมากกว่าตัวหนึ่งกับบริวารตัวที่อ่อนกว่าอีกหนึ่งหรือสองตัว ความสัมพันธ์ในเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องปกติและพบได้บ่อยในช้างทั้งสองเพศ โดยช้างเอเชียที่เลี้ยงไว้พบว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกว่า 46% เป็นกิจกรรมระหว่างเพศเดียวกัน[42]
สติปัญญา
[แก้]สมองของช้างมีมวลมากกว่า 5 กิโลกรัมเล็กน้อย คิดเป็นสมองของสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลักษณะพฤติกรรมของช้างที่สอดคล้องกับสติปัญญาของมันนั้นมีอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการมีความเศร้าโศก การทำเสียงดนตรี ศิลปะ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การที่เลี้ยงทารกได้โดยไม่มีแม่ การเล่น การใช้อุปกรณ์[43] พัฒนาการต่างๆที่มนุษย์สอนและการใช้เวลาช่วงที่อยู่ด้วยกันตอนทำงานและสงสาร,การรู้จักตนเอง[44] เชื่อกันว่าช้างมีระดับสติปัญญาเทียบเท่ากับสัตว์ในอันดับวาฬและโลมา และไพรเมตที่ไม่ใช่มนุษย์[45] สมองของช้างคล้ายคลึงกับสมองของมนุษย์ในแง่ของโครงสร้างและความซับซ้อน สมองของช้างแสดงรูปแบบหมุนเวียนซึ่งมีความซับซ้อนกว่าและมีขดมวนมากกว่า หรือรอยพับสมอง มากกว่ามนุษย์ ไพรเมตหรือสัตว์กินเนื้อ แต่ยังมีความซับซ้อนน้อยกว่าอันดับวาฬและโลมา[46] อย่างไรก็ตาม เปลือกสมองของช้าง "หนากว่าเปลือกสมองของอันดับวาฬและโลมา" และเชื่อกันว่ามีเซลล์ประสาทและมีไซแนปส์เท่ากับไซแนปส์ของมนุษย์ ซึ่งมากกว่าอันดับวาฬและโลมา[47]
ประสาทสัมผัส
[แก้]ช้างมีงวงที่มีเส้นประสาทดี และมีประสาทการได้ยินและดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม หน่วยรับความรู้สึกการได้ยินนั้นไม่เพียงแต่จะมีอยู่ในหูเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในงวงซึ่งสามารถสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนได้ และที่สำคัญที่สุดคือเท้า ซึ่งมีหน่วยรับความรู้สึกพิเศษเสียงความถี่ต่ำและมีประสาทสัมผัสดีเลิศเช่นกัน ช้างสื่อสารกันด้วยเสียงผ่านระยะทางไกล ๆ หลายกิโลเมตร ซึ่งบางส่วนก็ส่งผ่านทางพื้นดิน ที่มีความสำคัญต่อชีวิตสังคมของพวกมันด้วย นอกจากนี้ยังมีการสังเกตว่าช้างรับเสียงโดยการวางงวงไว้บนพื้นดินและวางตำแหน่งเท้าอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม สายตาของช้างนั้นค่อนข้างเลว
การตระหนักรู้ในตัวเอง
[แก้]การตระหนักรู้ตัวเองในกระจกเป็นการทดสอบการตระหนักรู้ในตัวเองและกระบวนการรับรู้ที่ใช้ในการศึกษาสัตว์ กระจกจะถูกตั้งไว้และมีการเขียนรอยซึ่งสามารถมองเห็นได้บนตัวช้าง ช้างสำรวจรอยเหล่านี้ ซึ่งสามารถมองเห็นได้เฉพาะเมื่อมองดูในกระจกเท่านั้น การทดสอบยังรวมไปถึงการทำรอยที่มองไม่เห็นเพื่อขจัดความเป็นไปได้ที่ว่าช้างอาจใช้ประสาทสัมผัสอื่น ๆ เพื่อตรวจจับรอยเหล่านี้ นี่แสดงให้เห็นว่าช้างสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงที่ว่าภาพในกระจกนั้นเป็นภาพสะท้อนของตัวมันเอง และความสามารถดังนี้ถูกพิจารณาว่าเป็นพื้นฐานของความร่วมรู้สึกและปรัตถนิยมและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมชั้นสูง ความสามารถนี้ยังได้พบแสดงออกในมนุษย์ เอป โลมาปากขวด[48] และนกกางเขน[49]
การสื่อสาร
[แก้]ช้างใช้เสียงหลายแบบในการสื่อสารกัน ช้างมีชื่อเสียงมากจากเสียงแผดเหมือนเสียงแตร (trumpet call) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช้างเป่าลมผ่านโพรงจมูกของมัน ช้างมักทำเสียงแตรดังกล่าวขณะที่ตื่นเต้น เสียงดังกล่าวสื่อความหมายได้หลายอย่างตั้งแต่การสะดุ้งตกใจ การร้องขอความช่วยเหลือไปจนถึงการแสดงความเดือดดาล ช้างยังได้ทำเสียงคำรามอย่างดังเมื่อพบกัน เสียงคำรามดังกล่าวกลายเป็นการแผดเสียงเมื่อเปิดปากและจะกลายเป็นเสียงครางหากทำเสียงต่อไป เสียงคำรามดังกล่าวอาจเสริมด้วยการทำเสียงดังลั่นขณะกำลังขู่ช้างตัวอื่นหรือสัตว์อื่น
ช้างสามารถสื่อสารระหว่างกันในระยะไกลได้โดยการส่งและรับเสียงความถี่ต่ำ (อินฟราซาวน์) ซึ่งเป็นเสียงดังที่ต่ำกว่าความถี่ที่มนุษย์สามารถได้ยิน โดยจะเดินทางโดยอาศัยอากาศเป็นตัวกลางและผ่านพื้นดินไปได้ไกลกว่าเสียงความถี่สูง เสียงเหล่านี้มีความถี่ระหว่าง 15-35 เฮิรตซ์ และอาจมีความดังถึง 117 เดซิเบล ทำให้ช้างสามารถสื่อสารกันได้ไกลหลายกิโลเมตร โดยเป็นไปได้ว่าจะมีพิสัยสูงสุดถึงราว 10 กิโลเมตร[50] เสียงนี้สามารถสัมผัสได้โดยผิวหนังที่มีประสาทสัมผัสที่เท้าและงวงของช้าง ซึ่งรับการสั่นสะเทือนเข้าจังหวะมากพอกับบริเวณแบนราบบนหัวของกลอง ในการฟังเสียงนี้อย่างตั้งใจ สมาชิกของช้างในโขลงจะยกเท้าหน้าขึ้นจากพื้นดินหนึ่งข้าง และหันหน้าไปยังแหล่งที่มาของเสียง หรือบ่อยครั้งที่จะวางงวงของมันลงบนพื้น เป็นไปได้ว่าการยกขาดังกล่าวจะเพิ่มการสัมผัสพื้นดินและการรับสัมผัสของขาที่เหลือ ความสามารถดังกล่าวถูกคาดกันว่ายังช่วยการนำทางในช้างโดยการใช้แหล่งอินฟราซาวน์ภายนอกด้วย
การค้นพบรูปแบบการติดต่อทางสังคมของช้างแบบใหม่และความเข้าใจนี้ทำให้มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีวิทยุ ซึ่งสามารถรับความถี่นอกเหนือไปจากระดับที่หูมนุษย์จะได้ยินได้ เคที เพยน์แห่งโครงการการฟังในช้าง[51] ได้บุกเบิกวิจัยในการสื่อสารอินฟราซาวน์ในช้าง และได้ให้รายละเอียดในหนังสือของเธอชื่อ Silent Thunder (สายฟ้าเงียบ) แม้ว่าการวิจัยนี้จะยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่มันก็ได้ช่วยไขปริศนาหลายอย่าง อาทิเช่น ช้างสามารถหาช้างตัวที่มีศักยภาพจะเป็นคู่ได้อย่างไร และกลุ่มสังคมสามารถร่วมมือกันกำหนดทิศทางการเดินของมันผ่านระยะทางไกล ๆ ได้อย่างไร[50] จอยซ์ พูลยังได้เริ่มต้นถอดรหัสการเปล่งเสียงของช้างที่ได้บันทึกไว้ตลอดหลายปีที่ได้สังเกต โดยหวังจะสร้างคลังศัพท์ที่อาศัยรายการเสียงช้างที่จัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ[52]
อาหาร
[แก้]ช้างเป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหาร และใช้เวลากินมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน อาหารของช้างนั้นมีความหลากหลายมาก ทั้งตามฤดูกาลและที่แตกต่างกันไปตามแหล่งที่อยู่และพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วช้างกินใบไม้ เปลือกไม้ และผลไม้ของต้นไม้หรือพุ่มไม้เป็นอาหาร แต่ก็อาจกินหญ้าและสมุนไพรเข้าไปในปริมาณมากด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับสัตว์ไม่เคี้ยวเอื้องและไม่มีกีบเท้าอื่น ๆ ช้างย่อยอาหารได้เพียง 40% จากปริมาณทั้งหมดที่กินเข้าไปเท่านั้น ระบบการย่อยอาหารของพวกมันขาดประสิทธิภาพในแง่ปริมาตร ช้างตัวเต็มวัยบริโภค 140-270 กิโลกรัมต่อวัน[53]
การนอนหลับ
[แก้]ช้างใช้เวลานอนหลับมากกว่าสามชั่วโมงเล็กน้อย โดยมีผู้อธิบายว่า ช้างใช้เวลาส่วนใหญ่กินอาหารเพราะขนาดตัวที่ใหญ่ของมัน[54]
ความก้าวร้าว
[แก้]แม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมในสวนสัตว์ และถูกพรรณนาว่าเป็นยักษ์ใหญ่ที่อ่อนโยนในนิยาย แต่ช้างเป็นหนึ่งในสัตว์อันตรายที่สุดในโลก พวกมันสามารถฆ่าสัตว์บกอื่นได้ทุกชนิด แม้กระทั่งแรด พวกมันอาจมีความโกรธขึ้นมาในช่วงสั้น ๆ และแสดงพฤติกรรมที่ถูกตีความว่า "อาฆาตพยาบาท"[55] ในแอฟริกา ช้างวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งโจมตีหมู่บ้านของมนุษย์หลังการฆ่าช้างในคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980[56][57] ในอินเดีย ช้างเพศผู้โจมตีหมู่บ้านต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ทำลายบ้านและฆ่าคนเป็นปกติวิสัย ในรัฐฌาร์ขัณฑ์ ประเทศอินเดีย มีคนถูกช้างฆ่าตาย 300 คน ระหว่าง ค.ศ. 2000 และ 2004 และในอัสลัม มีรายงานคนถูกช้างฆ่า 239 คน ระหว่าง ค.ศ. 2001 และ 2006[55]
ช้างเพศผู้ตัวเต็มวัยตามธรรมชาติจะเข้าสู่สภาพที่เรียกว่า "ตกมัน" เป็นครั้งคราว ช้างที่ตกมันจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างยิ่งและเพิ่มระดับการหลั่งฮอร์โมนสืบพันธุ์
ภัยคุกคาม
[แก้]การล่า
[แก้]ภัยคุกคามต่อช้างแอฟริกาปรากฏในรูปการค้างาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนิด สัตว์ที่ใหญ่กว่า มีชีวิตยืนยาวกว่า และเติบโตได้ช้ากว่าอย่างช้าง จะถูกล่าเกินขนาดมากกว่าสัตว์อื่น พวกมันไม่สามารถซ่อนตัว และต้องใช้เวลาหลายปีให้ช้างเติบโตและสืบสายพันธุ์ต่อไป ช้างต้องกินพืชเฉลี่ยวันละกว่า 140 กิโลกรัมเพื่อมีชีวิตรอด และเมื่อสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ถูกล่าไป ทำให้ประชากรสัตว์กินพืชขนาดเล็กในท้องถิ่นเพิ่มจำนวนขึ้น (อันเป็นคู่แข่งแย่งอาหารของช้าง) จำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ต้นไม้ พุ่มไม้และหญ้าถูกทำลาย ช้างเองมีนักล่าตามธรรมชาติน้อย มีเพียงมนุษย์และสิงโตในบางโอกาสเท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแอฟริกาหลายประเทศอนุญาตให้การล่าช้างโดยจำกัดถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากเป็นค่าอนุญาตซักมักใช้เพื่อสนับสนุนความพยายามอนุรักษ์ และมีการอนุญาตเพียงน้อยครั้งเท่านั้น (ปกติแล้วให้สำหรับสัตว์ที่มีอายุมากกว่า) เพื่อทำให้แน่ใจว่าประชากรสัตว์จะไม่หมดไป[58]
เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการประเมินว่าช้างมีจำนวนระหว่าง 5 ถึง 10 ล้านตัว แต่การล่าและการทำลายถิ่นที่อยู่ลดจำนวนช้างลงเหลือเพียง 400,000 ถึง 500,000 ตัว เมื่อถึงปลายศตวรรษ[59] ในช่วงสิบปีก่อน ค.ศ. 1990 ประชากรช้างลดลงมากกว่าครึ่งจาก 1.3 ล้านตัว เหลือราว 600,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการค้างาช้าง ทำให้เกิดการห้ามค้างาช้างระหว่างประเทศ[60][61] ขณะที่ประชากรช้างกำลังเพิ่มขึ้นในบางส่วนของแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันออก[62] ชาติแอฟริกาอื่น ๆ กลับมีรายงานว่าประชากรช้างในประเทศลดลงมากที่สุดถึงสองในสาม และประชากรในพื้นที่คุ้มครองบางแห่งอยู่ในอันตรายว่าจะถูกล่าหมดไป[63] ประเทศชาดมีประวัติศาสตร์การบุกรุกป่าเพื่อล่าช้างนานหลายทศวรรษ ซึ่งทำให้ประชากรช้างในภูมิภาค ซึ่งเคยมีมากกว่า 300,000 ตัว ในปี ค.ศ. 1970 ลดลงเหลือเพียงอย่างน้อย 10,000 ตัวในปัจจุบัน[64] ในอุทยานแห่งชาติวิรุนดา ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประชากรช้างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเข้าชมได้ลดลงจาก 2,889 ตัว ในปี ค.ศ. 1951 เหลือ 348 ตัว ในปี ค.ศ. 2006[65]
มีความเป็นไปได้ว่าการล่าเอาเฉพาะช้างที่มีงาอาจทำให้งาในช้างแอฟริกาหายไปอย่างถาวร แม้ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็ตาม ผลกระทบของช้างที่ไม่มีงาต่อสิ่งแวดล้อม และต่อตัวช้างเองนั้น อาจใหญ่หลวงได้ ช้างใช้งาเพื่อขุดเอาแร่ธาตุที่จำเป็นในดิน ฉีกเนื้อพืชออกจากกัน และใช้ในการต่อสู้เพื่อแย่งคู่ หากปราศจากงา พฤติกรรมของช้างอาจเปลี่ยนไปมาก[66]
การสูญเสียถิ่นที่อยู่
[แก้]อีกภัยคุกคามหนึ่งต่อการมีชีวิตรอดของช้างโดยรวมคือการทำกสิกรรมในถิ่นที่อยู่ของช้างอย่างต่อเนื่องโดยมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการขัดต่อผลประโยชน์ต่อมนุษย์ผู้อยู่อาศัยในละแวกเดียวกัน ความขัดแย้งนี้ทำให้มีช้างถูกฆ่าไป 150 ตัว และมีคนเสียชีวิตไปถึง 100 คนต่อปีในศรีลังกา[67] การลดจำนวนของช้างเอเชียส่วนใหญ่เป็นไปด้วยเหตุผลที่ว่าสูญเสียถิ่นที่อยู่
เมื่อป่าผืนใหญ่หายไปมากขึ้นทุกที ระบบนิเวศจึงได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้ง ต้นไม้มีส่วนสำคัญในการยึดหน้าดินและดูดซับน้ำไหลบ่า อุทกภัยและการพังทลายของหน้าดินขนาดใหญ่เป็นผลกระทบโดยทั่วไปของการตัดไม้ทำลายป่า ช้างต้องการที่ดินผืนใหญ่ เนื่องจากพวกมันคุ้นชินกับการโค่นต้นไม้และไม้พุ่มเพื่อหาอาหาร เหมือนกับชาวไร่เลื่อนลอย แต่ช้างจะค่อยกลับมาในภายหลัง เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้เติบโตขึ้นดังเดิมแล้ว และเมื่อป่าไม้ลดขนาดลง ช้างจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งจะทำลายพืชผลการเกษตรทั้งหมดในพื้นที่ และทำลายทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่
อุทยานแห่งชาติ
[แก้]เขตสงวนอย่างเป็นทางการแห่งแรกของแอฟริกา อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ กลายมาเป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดและประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในเวลาต่อมา[68] อย่างไรก็ตาม มีหลายปัญหาที่เชื่อมโยงกับการจัดตั้งเขตสงวนเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างกินอาณาบริเวณกว้างโดยไม่คำนึงถึงพรมแดนระหว่างประเทศ เมื่อมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและล้อมรั้ว สัตว์หลายชนิดจึงพบว่าตนถูกตัดขาดจากแหล่งอาหารในฤดูหนาวหรือพื้นที่ผสมพันธุ์ในฤดูใบไม้ผลิ สัตว์บางตัวถึงกับตายไปเลย ขณะที่สัตว์อื่น เช่นช้าง อาจเหยียบข้ามรั้วไปเลย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในไร่นาในละแวกนั้น เมื่อถูกจำกัดอยู่ในอาณาเขตเล็ก ๆ ช้างสามารถก่อความเสียหายใหญ่หลวงต่อภูมิประเทศแถบนั้นได้[69]
ยิ่งไปกว่านั้น เขตสงวนบางแห่ง อย่างเช่นอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ในความเห็นของผู้จัดการสัตว์ป่า กำลังประสบปัญหาจากประชากรช้างแออัดเกินไป ขณะที่สัตว์ป่าชนิดอื่นภายในเขตสงวนมีจำนวนลดลง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ประเทศแอฟริกาใต้ประกาศว่าจะรื้อฟื้นการยิงลดจำนวนช้าง (culling) อีกเป็นครั้งแรกนับแต่ปี ค.ศ. 1994 เพื่อควบคุมจำนวนช้าง ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการยิงลดจำนวนเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันก็ตาม[70] แต่เมื่อทางนักวิทยาศาสตร์ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ประจักษ์แล้วว่าอุทยานอาจเป็นความหวังสุดท้ายต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรอบ ๆ พวกมัน
ปุ๋ย
[แก้]ในจังหวัดเบงกูลูของอินโดนีเซีย มีช้างสี่ตัวตาย และจากผลการตรวจซากพบว่าหนึ่งในช้างเหล่านี้มีปริมาณไนโตรเจนในร่างกายสูง ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นคือช้างได้กินเอาปุ๋ยที่ถูกใส่ต้นไม้ในไร่นา ช้างอาจได้รับเกลือในปุ๋ยเข้าไปและนำไปสู่การตายได้[71]
มนุษย์กับช้าง
[แก้]การเลี้ยงและใช้งาน
[แก้]ช้างได้เป็นสัตว์ใช้งานซึ่งถูกใช้ในหลายด้านโดยมนุษย์ ตราประทับที่ถูกพบในลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นการบอกว่าช้างถูกนำมาเลี้ยงเป็นครั้งแรกในอินเดียโบราณ อย่างไรก็ตาม ช้างไม่อาจนำมาเลี้ยงได้อย่างสมบูรณ์ ช้างเพศผู้จะเกิดอาการตกมันตามสภาพขึ้นเป็นบางเวลาและควบคุมได้ยาก ดังนั้น ช้างที่มนุษย์นำไปใช้นั้นจึงมักเป็นช้างเพศเมีย โดยช้างศึกเป็นข้อยกเว้น เพราะช้างเพศเมียจะวิ่งหนีออกจะช้างเพศผู้ ทำให้มีแต่ช้างเพศผู้เท่านั้นที่สามารถถูกใช้ในสงครามได้ มักจะเป็นการประหยัดกว่าที่จะจับช้างป่าอายุน้อยแล้วฝึกมันให้เชื่องกว่าเลี้ยงให้เติบโตในการดูแล
คนลาวได้มีการเลี้ยงช้างมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ และยังมีช้างเลี้ยงราว 500 ตัวยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่พบใช้งานอยู่ในแขวงไชยบุรี ช้างเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมตัดไม้ โดยมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกำลังผุดขึ้นเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ช้างยังมักถูกจัดแสดงในสวนสัตว์และอุทยานสัตว์ป่า ช้างราว 1,200 เชือกถูกเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ทางตะวันตก การศึกษาพบว่าช้างในสวนสัตว์ในยุโรปมีอายุขัยเป็นครึ่งหนึ่งของช้างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองในแอฟริกาและเอเชีย[72] จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2010 ช้างแอฟริกาที่อยู่ในการดูแลที่มีอายุมากที่สุด คือ รัวฮา (59 ปี) ที่สวนสัตว์บาเซล[73]
ในประเทศพม่า ไทย อินเดียและส่วนใหญ่ของเอเชียใต้ ช้างได้ถูกใช้ในทางทหารโดยใช้เป็นแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถอนโคนต้นไม้และการเคลื่อนย้ายซุง และมักถูกใช้ในการประหารชีวิตโดยเหยียบผู้ที่ถูกลงโทษ ช้างยังได้ใช้เป็นพาหนะสำหรับการล่าแบบซาฟารี และสัตว์พาหนะในพิธีกรรมของพระมหากษัตริย์หรือศาสนา ขณะที่ช้างเอเชียได้ถูกใช้เพื่อขนส่งและเพื่อความบันเทิง
การสงคราม
[แก้]ช้างศึกถูกใช้โดยกองทัพในอนุทวีปอินเดีย รัฐซึ่งทำสงครามกันในจีนในยุคจ้านกว๋อ และจักรวรรดิเปอร์เซียในสมัยหลัง การใช้ช้างในการสงรามถูกปรับใช้โดยกองทัพเฮเลนนิสติคหลังอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงเล็งเห็นคุณค่าของช้างต่อพระเจ้าพอรุส ที่โดดเด่นในจักรวรรดิปโตเลมีและเซลูซิด แม่ทัพคาร์เธจ ฮันนิบาล ใช้ช้างข้ามเทือกเขาแอลป์ระหว่างทำสงครามกับโรมัน
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จักรวรรดิขแมร์อันทรงอำนาจได้เข้าครอบงำในภูมิภาคในคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยอาศัยการใช้ช้างศึกอย่างมาก เมื่ออำนาจของเขมรเสื่อมลงในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชาติที่มีอำนาจในเวลาต่อมา ได้แก่ พม่าและไทยก็ได้นำช้างศึกมาปรับใช้อย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน ยุทธหัตถีเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ช้างศึกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สวนสัตว์และละครสัตว์
[แก้]มีเสียงคัดค้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อต้านการจับ การกักขัง และการใช้ช้างป่า[74] ผู้สนับสนุนสิทธิสัตว์ยืนยันว่าช้างในสวนสัตว์และละครสัตว์นั้น "ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บทางกายภาพเรื้อรัง การขาดสังคม ความตายอยากทางอารมณ์และการตายก่อนเวลาอันควร"[75] สวนสัตว์แย้งว่ามาตรฐานการดูแลช้างนั้นมีสูงมากและมีการจัดความต้องการขั้นต่ำสำหรับการดูแลช้าง อย่างเช่น พื้นที่อยู่อาศัยขั้นต่ำ การออกแบบสถานที่กั้นล้อม อาหาร การสืบพันธุ์ สิ่งประดับและการดูแลจากสัตวแพทย์ เพื่อรับประกันความอยู่ดีกินดีของช้างที่อยู่ในการควบคุม แต่ละครสัตว์นั้นยังมีประวัติไม่ดีอยู่ โดยมีข้อมูลรายงานว่า มีช้าง 27 เชือกที่เป็นของละครสัตว์ 3 คณะในสหรัฐอเมริกา ตายตั้งแต่ ค.ศ. 1992[76]
ช้างเป็นส่วนสำคัญในละครสัตว์มานานแล้ว เพราะเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดพอจะฝึกให้แสดงท่าทางได้หลายอย่าง อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นอยู่ของช้างในละครสัตว์นั้นไม่เป็นธรรมชาติ เพราะถูกกักขังในกรงขนาดเล็ก ถูกล่ามโซ่ที่ขา และขาดเพื่อนช้าง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ช้างทำร้ายผู้เลี้ยงหรือควาญซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]ช้างพบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมสมัยนิยมตะวันตกในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์แปลก (exotic) [77] เพราะรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นเอกลักษณ์และขนาดรูปร่างที่ทำให้ช้างแตกต่างจากสัตว์อื่น และเพราะ เช่นเดียวกับสัตว์ในทวีปแอฟริกาอีกหลายชนิด เช่น ยีราฟ แรด และฮิปโปโปเตมัส ทำให้ชาวตะวันตกไม่คุ้นเคยกับสัตว์เหล่านี้[78] การอ้างถึงช้างที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในวัฒนธรรมสมัยนิยมนั้นอาศัยความแปลกของมันเป็นหลัก[78] ยกตัวอย่างเช่น "ช้างเผือก" เป็นภาษิตหมายถึง บางสิ่งที่มีราคาแพงและแปลก แต่มักใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้[78]
ช้างเป็นตัวละครที่ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มวรรณกรรมเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วช้างมักมีบทบาทเป็นตัวอย่างของพฤติกรรมซึ่งน่ายกย่อง[77] มีหลายเรื่องที่เล่าเรื่องราวของช้างวัยเยาว์ที่อยู่ตัวเดียวกลับคืนสู่กลุ่มของมัน อย่างเช่น ดัมโบ้ (ค.ศ. 1942) [78] นอกเหนือไปจากสัตว์แปลกแล้ว ช้างในนิยายยังเป็นตัวแทนของมนุษย์[78] ซึ่งความคิดคำนึงถึงชุมชนและกันและกันได้ถูกแสดงให้เห็นว่าเป็นบางสิ่งที่น่าปรารถนา[79]
ลูกผสม
[แก้]สปีชีส์ช้างแอฟริกาและช้างเอเชียมีการกระจายพันธุ์ไม่ต่อเนื่องกัน และไม่มีลูกผสมในธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 1978 ที่สวนสัตว์เชสเตอร์ แม่พันธุ์ช้างเอเชียได้ให้กำหนดลูกช้างลูกผสมอันเกิดจากการผสมกับพ่อพันธุ์ช้างแอฟริกา ช้างลูกผสมเพศผู้ดังกล่าว ซึ่งได้ชื่อว่า "มอตตี" มีแก้ม หูและขาอย่างช้างแอฟริกา แต่มีจำนวนเล็บเท้าอย่างช้างเอเชีย งวงที่มีรอยย่นนั้นคล้ายกับช้างแอฟริกา ร่างกายมีลักษณะเหมือนอย่างช้างแอฟริกา แต่มีโหนกกลางอย่างช้างเอเชีย และโหนกหลังอย่างช้างแอฟริกา แต่ลูกผสมดังกล่าวตายด้วยอาการติดเชื้อในอีก 12 วันให้หลัง[80] ร่างของมันถูกเก็บรักษาไว้เป็นตัวอย่างที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอังกฤษในกรุงลอนดอน มีข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ามีช้างลูกผสมอื่นอีกสามเชือกเกินในสวนสัตว์หรือละครสัตว์ ซึ่งทั้งหมดถูกกล่าวว่าพิการผิดรูปร่างและไม่มีตัวใดรอดชีวิตเลย
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Scientists map elephant evolution. BBC News. July 24, 2007.
- ↑ Roca, Alfred L.; Georgiadis, N; Pecon-Slattery, J; O'Brien, SJ (24 August 2001). "Genetic evidence for two species of elephant in Africa". Science. 293 (5534): 1473–7. doi:10.1126/science.1059936. ISSN 0036-8075. PMID 11520983.
- ↑ African Elephant Specialist Group (December 2003). "Statement on the taxonomy of extant Loxodonta" (PDF). IUCN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-04. สืบค้นเมื่อ 2006-12-08.
- ↑ Eggert, Lori S.; Rasner, Caylor A.; Woodruff, David S. (2002-10-07). "The evolution and phylogeography of the African elephant inferred from mitochondrial DNA sequence and nuclear microsatellite markers". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences. 269 (1504): 1993–2006. doi:10.1098/rspb.2002.2070. PMC 1691127. PMID 12396498. ISSN: 0962-8452 (Paper) 1471–2954 (Online).
- ↑ Rohland, Nadin (December 2010). "Genomic DNA Sequences from Mastodon and Woolly Mammoth Reveal Deep Speciation of Forest and Savanna Elephants". PLoS Biology. 8 (12). doi:10.1371/journal.pbio.1000564.
- ↑ CITES Appendix II Loxodonta africana – retrieved 4 September 2008
- ↑ Animal Diversity Web – Loxodonta africana – retrieved 4 September 2008
- ↑ Douglas-Hamilton, Iain (1979). The African Elephant Action Plan. unpublished report.
- ↑ Parker, Ian; Amin, Mohammed (1983). Ivory Crisis. Chatto and Windus, London. p. 184. ISBN 0701126337.
- ↑ Blanc, JJ; Barnes, RFW; Craig, GC; Dublin, HT; Thouless, CR; Douglas-Hamilton, I; Hart, JA, (2007). African Elephant Status Report 2007: An update from the African Elephant Database (PDF). IUCN, Gland and Cambridge. p. 276. ISBN 978-2-8317-0970-3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
{{cite book}}
: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ 11.0 11.1 Blanc, JJ (January–June 2005). "Changes in elephant numbers in major savanna populations in eastern and southern Africa" (PDF). Pachyderm. IUCN/SSC African Elephant Specialist Group. 38 (38): 19–28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-04. สืบค้นเมื่อ 2006-12-08.
- ↑ Blanc et al. 2007, op. cit.
- ↑ Blanc, JJ; Thouless, CR; Hart, JA; Dublin, HT; Douglas-Hamilton, I; Craig, GC; Barnes, RFW (2003). African Elephant Status Report 2002: An update from the African Elephant Database (PDF). IUCN, Gland and Cambridge. p. 308. ISBN 2-8317-0707-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
- ↑ Blake, Stephen (2005). "Central African Forests: Final Report on Population Surveys (2003–2005)" (PDF). CITES MIKE Programme, Nairobi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-27. สืบค้นเมื่อ 2006-12-08.
- ↑ "South Africa to Allow Elephant Killing". News.nationalgeographic.com. 2010-10-28. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Asian Elephants เก็บถาวร 2011-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Elephant Facts.
- ↑ Sukumar, R. (2003). The Living Elephants: Evolutionary Ecology, Behavior, and Conservation. Oxford University Press, Oxford, UK.
- ↑ Asian Elephants[ลิงก์เสีย]. Elepahnt Zone.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 Shoshani, J. (2006) Taxonomy, Classification, and Evolution of Elephants In: Fowler, M. E., Mikota, S. K. (eds.) Biology, medicine, and surgery of elephants. Wiley-Blackwell. ISBN 0-8138-0676-3. Pp. 3–14
- ↑ 20.0 20.1 20.2 Elephant Trunks เก็บถาวร 2011-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ West, John B. (2001). "Snorkel breathing in the elephant explains the unique anatomy of its pleura" (PDF). Respiratory Physiology. 126 (1): 1–8. doi:10.1016/S0034-5687(01)00203-1. PMID 11311306. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-07-01. สืบค้นเมื่อ 2021-10-13.
- ↑ West, John B.; Fu, Zhenxing; Gaeth, Ann P.; Short, Roger V. (2003-11-14). "Fetal lung development in the elephant reflects the adaptations required for snorkeling in adult life" (PDF). Respiratory Physiology & Neurobiology. 138 (2–3): 325–333. doi:10.1016/S1569-9048(03)00199-X. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-07-01. สืบค้นเมื่อ 2021-09-21.
- ↑ 23.0 23.1 "Elephant Tusk and Theeths". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-10. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
- ↑ 24.0 24.1 Ivory
- ↑ Scott, William Berryman (1913). A History of Land Mammals in the Western Hemisphere. New York: The Macmillan Company. p. 430.
- ↑ "Elephant Anatomy". Indianapolis Zoo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-03. สืบค้นเมื่อ 2007-05-28.
- ↑ Moss:245
- ↑ Moss:245, 258, 267, 268
- ↑ 29.0 29.1 The skin of the elephants.
- ↑ [1]
- ↑ 31.0 31.1 "ELEPHANTS". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-11. สืบค้นเมื่อ 2011-05-30.
- ↑ The Skin เก็บถาวร 2009-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ Elephant Ears, skin and legs เก็บถาวร 2011-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Elephant Facts.
- ↑ Moore, Tom (2007). "Biomechanics: A Spring in Its Step". Natural History. 116 (4): 28–9.
- ↑ 35.0 35.1 Morelle, Rebecca. (12 February 2010). "Do speedy elephants walk or run?" BBC News. [2]
- ↑ Ren, L. & J.R. Hutchinson (2007). "The three-dimensional locomotor dynamics of African (Loxodonta africana) and Asian (Elephas maximus) elephants reveal a smooth gait transition at moderate speed". J. Roy. Soc. Interface. 5 (19): 195–211. doi:10.1098/rsif.2007.1095. PMC 2705974. PMID 17594960.
- ↑ "Royal Veterinary College: Are fast moving elephants really running?". Rvc.ac.uk. 2008-12-23. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ Hutchinson, J. R.; Famini, D.; Lair, R.; Kram, R. (2003). "Biomechanics: Are fast-moving elephants really running?". Nature. 422 (6931): 493–494. Bibcode:2003Natur.422..493H. doi:10.1038/422493a. PMID 12673241. S2CID 4403723. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 August 2022. สืบค้นเมื่อ 3 January 2023.
- ↑ Elephant's sixth 'toe' discovered
- ↑ "Joyce Poole's publication ''Announcing intent: the aggressive state of musth in African elephants''". Elephantvoices.org. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ Elephant 'had aquatic ancestor'. BBC News. April 15, 2008.
- ↑ Bruce Bagemihl, Biological Exuberance: Animal Homosexuality and Natural Diversity, St. Martin's Press, 1999; pp.427–430
- ↑ Braden, Claire. "Not so Dumbo: Elephant Intelligence". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-07. สืบค้นเมื่อ 2007-05-27.
- ↑ "Elephants' jumbo mirror ability". BBC News. 2006-10-31. สืบค้นเมื่อ 2007-08-10.
- ↑ Hart, B.L.; L.A. Hart; M. McCoy; C.R. Sarath (November 2001). "Cognitive behaviour in Asian elephants: use and modification of branches for fly switching". Animal Behaviour. Academic Press. 62 (5): 839–847. doi:10.1006/anbe.2001.1815. สืบค้นเมื่อ 2007-10-30.
- ↑ "Elephant brain, Part I: Gross morphology, functions, comparative anatomy, and evolution" (PDF). Jeheskel Shoshani, William J. Kupsky b, Gary H. Marchant. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
- ↑ Roth, Gerhard; Maxim I. Stamenov; Vittorio Gallese (2002). "Is the human brain unique?". Mirror Neurons and the Evolution of Brain and Language. John Benjamins Publishing. pp. 63–76.
- ↑ Joshua M. Plotnik, Frans B. M. de Waal, and Diana Reiss (2006) Self-recognition in an Asian elephant. Proceedings of the National Academy of Sciences 103 (45) :17053–17057 10.1073/pnas.0608062103 abstract เก็บถาวร 2008-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Magpies are no bird-brains, mirror test shows". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-27. สืบค้นเมื่อ 2008-08-27.
- ↑ 50.0 50.1 Larom, D.; Garstang, M.; Payne, K.; Raspet, R.; Lindeque, M. (1997). "The influence of surface atmospheric conditions on the range and area reached by animal vocalizations" (PDF). Journal of experimental biology. 200 (3): 421–431. สืบค้นเมื่อ 2009-05-27.
- ↑ "Elephant Listening Project". สืบค้นเมื่อ 2007-06-16.
- ↑ "In Africa, Decoding the "Language" of Elephants". News.nationalgeographic.com. 2010-10-28. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ ELEPHANTS
- ↑ "40 Winks?" Jennifer S. Holland, National Geographic Vol. 220, No. 1. July 2011.
- ↑ 55.0 55.1 Huggler, Justin (2006-10-12). "Animal Behaviour: Rogue Elephants". London: The Independent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-14. สืบค้นเมื่อ 2007-06-16.
- ↑ An Elephant Crackup?
- ↑ Highfield, Roger (2006-02-17). "Elephant rage: they never forgive, either". Sydney Morning Herald. สืบค้นเมื่อ 2007-06-16.
- ↑ "Conservation & Elephant Hunting". IWMC World Conservation Trust - IWMC.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-21. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ Elephant เก็บถาวร 2009-06-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Microsoft Encarta Online Encyclopedia 2009. 2009-10-31.
- ↑ "To Save An Elephant" by Allan Thornton & Dave Currey, Doubleday 1991 ISBN 0-385-40111-6
- ↑ "A System of Extinction - the African Elephant Disaster" Environmental Investigation Agency 1989
- ↑ Blanc, J.J., Barnes, R.F.W., Craig, G.C., Douglas-Hamilton, I., Dublin, H.T., Hart, H.T. & Thouless, C.R. 2005. Changes in elephant numbers in major savanna populations in eastern and southern Africa. Pachyderm 38, 19–28
- ↑ "WWF: Poaching May Erase Elephants From Chad Wildlife Park". 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
- ↑ African Elephants Slaughtered in Herds Near Chad Wildlife Park. National Geographic News.
- ↑ Marc Languy and Emmanuel de Merode (eds.) 2009 Virunga: The Survival of Africa's First National Park Lannoo, Tielt, Belgium. p.143
- ↑ The Learning Kingdom's Cool Fact of the Day for March 30, 1999, Why are elephants in Africa being born without tusks
- ↑ "Conservation GIS Projects". Smithsonian National Zoological Park. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-29. สืบค้นเมื่อ 2007-06-16.
- ↑ "History of Kruger Park: Kruger National Park: South Africa". Krugerpark.co.za. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ "Impact". Elephant.elehost.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-16. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ Clayton, Jonathan (2008-02-26). "Animal rights outrage over plan to cull South Africa's elephants". Times Online. London. สืบค้นเมื่อ 2008-03-22.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Police investigating four elephant deaths". Antara News.
- ↑ "Science Podcast transcript" (PDF) Science 12 December 2008. Retrieved 13 December 2008.
- ↑ Georges Frei (2010-07-29). "The Elephants in Basel Zoo / the Zolli Switzerland". Upali.ch. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ "Resistance against capture and training of wild elephants". Amboseli Trust for Elephants. สืบค้นเมื่อ 2007-12-01.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "SaveWildElephants.com". PETA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-22. สืบค้นเมื่อ 2007-06-16.
- ↑ "Ringling Brothers Circus - Factsheet" (PDF). PETA. April 22, 2008. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
- ↑ 77.0 77.1 Van Riper, A. Bowdoin (2002). Science in popular culture: a reference guide. Westport: Greenwood Press. p. 73. ISBN 0-313-31822-0.
- ↑ 78.0 78.1 78.2 78.3 78.4 Van Riper, op.cit., p. 74.
- ↑ Van Riper, op.cit., p. 75.
- ↑ "Motty the african and asian elephant crossbreed". Elephant.se. สืบค้นเมื่อ 2010-12-12.
บรรณานุกรม
[แก้]- Shoshani, J., บ.ก. (2000). Elephants: Majestic Creatures of the Wild. Checkmark Books. ISBN 978-0-87596-143-9. OCLC 475147472.
- Shoshani, J.; Shoshani, S. L. "What Is an Elephant?". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 14–15.
- Shoshani, J. "Comparing the Living Elephants". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 36–51.
- Shoshani, J. "Anatomy and Physiology". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 66–80.
- Easa, P. S. "Musth in Asian Elephants". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 85–86.
- Moss, C. "Elephant Calves: The Story of Two Sexes". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 106–113.
- Payne, K. B.; Langauer, W. B. "Elephant Communication". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 116–123.
- Eltringham, S. K. "Ecology and Behavior". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 124–127.
- Wylie, K. C. "Elephants as War Machines". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 146–148.
- McNeely, J. A. "Elephants as Beasts of Burden". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 149–150.
- Smith, K. H. "The Elephant Domestication Centre of Africa". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 152–154.
- McNeely, J. A. "Elephants in Folklore, Religion and Art". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 158–165.
- Shoshani, S. L. "Famous Elephants". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 168–171.
- Daniel, J. C. "The Asian Elephant Population Today". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 174–177.
- Douglas-Hamilton, I. "The African Elephant Population Today". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 178–183.
- Tuttle, C. D. "Elephants in Captivity". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 184–193.
- Martin, E. B. "The Rise and Fall of the Ivory Market". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 202–207.
- Shoshani, J. "Why Save Elephants?". Elephants: Majestic Creatures of the Wild. pp. 226–229.
- Sukumar, R. (11 September 2003). The Living Elephants: Evolutionary Ecology, Behaviour, and Conservation. Oxford University Press, USA. ISBN 978-0-19-510778-4. OCLC 935260783.
- Kingdon, J. (29 December 1988). East African Mammals: An Atlas of Evolution in Africa, Volume 3, Part B: Large Mammals. University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-43722-4. OCLC 468569394. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 March 2023. สืบค้นเมื่อ 10 March 2017.
- Wylie, D. (15 January 2009). Elephant. Reaktion Books. ISBN 978-1-86189-615-5. OCLC 740873839. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 March 2023. สืบค้นเมื่อ 10 March 2017.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Carrington, Richard (1958). Elephants: A Short Account of their Natural History, Evolution and Influence on Mankind. Chatto & Windus. OCLC 911782153.
- Nance, Susan (2013). Entertaining Elephants: Animal Agency and the Business of the American Circus. Baltimore, MD: Johns Hopkins University Press, 2013.
- Saxe, John Godfrey (1872). "The Blindmen and the Elephant" at Wikisource. The Poems of John Godfrey Saxe.
- Williams, Heathcote (1989). Sacred Elephant. New York: Harmony Books. ISBN 978-0-517-57320-4.