ปฐมบรมราชานุสรณ์
ปฐมบรมราชานุสรณ์ | |
ที่ตั้ง | เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
---|---|
ผู้ออกแบบ | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ออกแบบ) ศิลป์ พีระศรี (ปั้นหุ่นพระบรมรูป) |
ประเภท | พระบรมราชานุสาวรีย์ |
วัสดุ | สำริด |
ความกว้าง | 2.30 เมตร |
ความสูง | 4.60 เมตร |
เริ่มก่อสร้าง | พ.ศ. 2472 |
สร้างเสร็จ | พ.ศ. 2475 |
การเปิด | 6 เมษายน พ.ศ. 2475 |
อุทิศแด่ | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 |
ขึ้นเมื่อ | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000033 |
ปฐมบรมราชานุสรณ์, พระปฐมบรมราชานุสรณ์, อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 หรือ พระบรมนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร สร้างขึ้นในโอกาสฉลองพระนคร 150 ปี
ประวัติ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าสมควรจะจัดสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ที่ระลึกแห่งพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในโอกาสฉลองพระนคร 150 ปี โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรียกว่า คณะกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นนายกกรรมการ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอุปนายก และให้อภิรัฐมนตรีกับทั้งเสนาบดีทุกกระทรวงเป็นกรรมการ
ในการประชุมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2470 มีแนวคิดที่จะสร้างพระบรมรูปหล่ออย่างใหญ่ประดิษฐานอยู่หน้าพระวิหารพระศรีศากยมุนี ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และซ่อมแซมพระวิหาร ขยายลานเสาชิงช้าให้กว้างใหญ่ และทำถนนขนาดใหญ่มีสวนยาวตั้งแต่เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ฯ ตรงไปบรรจบถนนราชดำเนินกลาง แต่แนวคิดนี้ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเห็นว่าเป็นการสร้างถนนดังกล่าวอาจอยู่ในประเภทงดงามเฉย ๆ ไม่สู้เป็นสาธารณประโยชน์มากนัก จึงเสนอสร้างสะพานเชื่อมธนบุรีกับกรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบและมีพระราชดำริให้สร้างพระบรมรูปใกล้สะพานนี้[1]
เงินทุนที่ใช้ในการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ราว 4,000,000 บาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง และรัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินช่วยจำนวนหนึ่ง ส่วนเงินอีกจำนวนหนึ่งนั้นมีการประกาศรับเงินเรี่ยไร[2]
สำหรับการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบและอำนวยการสร้าง มีการนำแบบแปลนต่าง ๆ ถวายขอพระราชทานบรมวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วโปรดให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้นหุ่นพระบรมรูป และส่งไปหล่อที่ยุโรป โดยมีนายช่างจากกรมศิลปากรสถานไปกำกับการจนแล้วเสร็จ ระหว่างนั้นได้จัดทำฐานพระบรมรูป จากนั้นได้อัญเชิญพระบรมรูปซึ่งหล่อเสร็จแล้วประดิษฐาน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมราชนาวีและกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในการลำเลียงพระบรมรูป[3]
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 เมื่อเวลาอุดมมงคลฤกษ์เวลา 8.15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระแท่นชุมสาย ทรงกดไกไฟฟ้าด้วยค้อนเงินสำหรับตัดกระดาษ ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปและเปิดป้ายชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน
พ.ศ. 2505 มีการเสริมแท่นอนุสาวรีย์ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร ภายหลังยังมีการเสริมซุ้มเบื้องหลังองค์อนุสาวรีย์ให้สูงขึ้นไปอีก หรืออาจจะทำในคราวเดียวกับการเสริมแท่นเมื่อ พ.ศ. 2505[4]
ลักษณะทางศิลปกรรม
[แก้]พระบรมรูปหล่อด้วยทองสำริดทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ ขนาดสูงจากพื้นถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร[5] พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดเหนือพระเพลา มีแท่นฐานหินอ่อนสี่เหลี่ยมย่อมุมเป็นฐานรองรับอีกชั้นหนึ่งกึ่งกลางแผ่นหินอ่อน สลักรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหันข้างประทับเหนือแท่นซึ่งเป็นตราปฐมบรมวงศ์จักรี เบื้องหน้าแผ่นสลักนี้ตั้งแท่นสำหรับผู้ไปสักการะและกระถางธูปส่วนเชิงเทียนนั้นติดยื่นออกมาจากแนวรั้ว เบื้องหลังพระบรมรูปเป็นฉากสูง ตอนกลางเป็นร่องลึกคล้ายประตู มีเสาหินสลักสองข้าง หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพวงมาลัยเหนือหน้าบันสลักรูปอุณาโลม หลักฉากมีแผ่นหินอ่อน ด้านข้างพระบรมรูปมีบันไดลาดจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าเป็นชั้น ๆ จนถึงพื้นล่าง
จารึกที่ฐานและที่ลับแลหลังพระบรมรูปใช้วิธีเรียงความ แบ่งตัวอักษรเป็น 2 ขนาด คือตัวใหญ่ปนตัวเล็ก ตัวใหญ่ให้อ่านไกล หากอ่านเฉพาะตัวใหญ่จะได้ความย่อ ได้นำเสนอร่างจารึกเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2474 เมื่อร่างผ่านจึงนำไปเขียนแบบและทำจารึกที่ต่างประเทศ[6]
เหรียญที่ระลึก
[แก้]พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญขึ้นพระราชทานแก่ผู้เข้าเรี่ยไรสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์ สร้างเป็น 2 ชนิด คือ ขนาดใหญ่สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 500 บาท และขนาดเล็กสำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาท[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 8.
- ↑ "เงินทุนดำเนินการก่อสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์".
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 70.
- ↑ "พระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (อนุสาวรีย์ ร.1)". สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-10-06.
- ↑ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2551. บทนิทรรศการพระราชประวัติพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ชั้นที่ 3
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 72.
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 112.
บรรณานุกรม
[แก้]- พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. กรมศิลปากร. 2525.
- กรมศิลปากร, จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525. (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น จำกัด, 2525)