พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี
พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี | |
---|---|
วันที่ | 4–25 เมษายน พ.ศ. 2475 |
ประเทศ | ประเทศสยาม |
เหตุการณ์ก่อนหน้า | พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี |
เหตุการณ์ถัดไป | พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี |
จัดโดย | พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี เป็นงานพระราชพิธีฉลองพระนครหรือสมโภชพระนครจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นวาระที่กรุงเทพอายุ 150 ปี ถือเป็นงานสมโภชพระนครครั้งที่ 3
การสร้างและปฏิสังขรณ์
[แก้]พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับงานฉลองพระนครครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2469[1] ในระยะเวลานั้นประเทศไทยประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่ด้วยเหตุที่การฉลองพระนครเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา จึงได้มีการพิจารณาค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่จะได้รับมากที่สุด ในครั้งนี้มีการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือพระบรมนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มประชุมการสร้างครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2470[2] จากนั้นมีแนวคิดสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าเพื่อเชื่อมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เป็นการขยายพระนครและบำรุงการค้า โดยมีบริษัทดอร์แมน ลองเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เริ่มทำงานที่ตอม่อฝั่งพระนครเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2472[3]
การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามทั่วทั้งพระอาราม โดยมีการรับเงินบริจาคเพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชพระทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบด้วย และพระราชทานที่ดินของพระคลังที่ไว้ใช้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ค่าก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์เป็นเงินจำนวน 4 ล้านบาท[4] ผู้บริจาคเงินสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ได้เหรียญที่ระลึกมี 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่วนในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามก็มีการประกาศรับเงินเรี่ยไรด้วยเช่นกัน โดยมีการทำเหรียญที่ระลึกตอบแทน เป็นเหรียญดุนรูปพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร อยู่ในเรือนแก้วด้านหนึ่ง ดุนลายยันต์มีอักษรภาษามคธว่า "วา ละ ลุ กัง สัง วา ตัง วา" เป็นเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองขาว และเหรียญทองแดง ตามจำนวนเงินบริจาค[5] นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อปฏิสังขรณ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นส่วนเฉพาะของตนหรือของหมู่คณะหรือของสกุล เพื่อจะได้เป็นวัตถุอนุสรณ์แห่งกุศลกรรมสืบไป[6] นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสร้างคัมภีร์พระธรรมเทศนาด้วย
งานพระราชพิธี
[แก้]งานพระราชพิธีมีกำหนดรวมทั้งสิ้น 9 วัน แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ ภาค 1 งานฉลองพระนคร ถือเอาวันที่ 6 เมษายน วันงาน คือ 4–6 เมษายน ภาค 2 งานเฉลิมสิริราชสมบัติ ถือเอาวันที่ 9 เมษายน ซึ่งโหรคำนวนนับ วันงาน คือ 8–10 เมษายน และภาค 3 งานพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ถือเอาวันที่ 24 เมษายน อันเป็นวันหลักพระนครครบ 150 ปี เป็นสำคัญ วันงาน คือ 23–25 เมษายน[7]
งานฉลองพระนครมีการเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งถือเป็นการใหญ่ในวันนั้น โดยงานวันที่ 4 เมษายน เป็นงานบูชาบวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ พลับพลาท้องสนามหลวง และในวันนี้ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่กองทหารด้วย[8] วันที่ 6 เมษายน ทรงพระที่นั่งราชยานพุดตานทองเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค จากพระบรมมหาราชวังเพื่อทรงนมัสการบูชาปูชนียวัตถุ ณ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีกระบวนแห่นำและตามเสด็จไปยังพระโรงราชพิธีที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป พระปฐมบรมราชานุสรณ์ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคไปเทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิษฐ์ วันที่ 7–8 เมษายน มีการเวียนเทียนสมโภชองค์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ และได้จัดให้มีการเล่นมหรสพที่ท้องสนามหลวงกันอย่างครึกครื้น โดยจัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ เช่น โขน ละคร ลิเก และจัดให้ประชาชนได้ลงเรือ ลงแพ[9]
งานเฉลิมสิริราชสมบัติ สมโภชพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ถือเอาวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติตามโหรคำนวน วางสรงมุรธาภิเษกไว้ในวันนั้น งานพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ทรงพระราชอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีทั้ง 6 รัชกาล[10] ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 1.
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 10.
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 81.
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 108.
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 116.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 94.
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 129.
- ↑ "สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
- ↑ "สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-08. สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
- ↑ พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี, 135.
- ↑ จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525, 105.
บรรณานุกรม
[แก้]- พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. กรมศิลปากร. 2525.
- กรมศิลปากร, จดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ 200 ปี พุทธศักราช 2525. (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงพิมพ์ยูไนเต็ดโปรดักชั่น จำกัด, 2525)