ข้ามไปเนื้อหา

พรรคเสรีธรรม (พ.ศ. 2535)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พรรคประชาชนไทย (พ.ศ. 2535))
พรรคเสรีธรรม
ผู้ก่อตั้งดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์
หัวหน้าประจวบ ไชยสาส์น
เลขาธิการเอกภาพ พลซื่อ
ก่อตั้ง21 กรกฎาคม พ.ศ. 2535
ถูกยุบ6 กันยายน พ.ศ. 2544 [1]
แยกจากพรรคสามัคคีธรรม
ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย
ที่ทำการเลขที่ 113/1617 ถนนเทอดดำริ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
สี   
เว็บไซต์
พรรคเสรีธรรม
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคเสรีธรรม (อังกฤษ: Liberal Democratic Party) เป็นพรรคการเมืองของประเทศไทยในอดีต เดิมชื่อ พรรคประชาชนไทย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 113/1617 ถนนเทอดดำริ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร[2] เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ที่ประชุมใหญ่ของพรรคมีมติเอกฉันท์ให้รวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อปี พ.ศ. 2546 มีความพยายามก่อตั้งพรรคเสรีธรรมขึ้นมาใหม่ แต่ก็ถูกยุบไปเนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไข[3]

ประวัติ

[แก้]

พรรคประชาชนไทย (อังกฤษ: The Pracharchon Thai Party, ชื่อย่อ: พ.ป.ท.) พรรคการเมืองของไทยในอดีตที่จดทะเบียนจัดตั้งตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เป็นลำดับที่ ๓๓/๒๕๓๕ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 [4] โดยมี ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีต ประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรองหัวหน้า พรรคสามัคคีธรรม เป็นหัวหน้าพรรคและนาย ปรีดี หิรัญพฤกษ์ เป็นเลขาธิการพรรค

ในการประชุมวิสามัญใหญ่ของพรรคประชาชนไทยครั้งที่ ๑/๒๕๓๕ ที่ประชุมได้มีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคเสรีธรรม พร้อมกับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค ภาพเครื่องหมายพรรค และที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค [5] พรรคเสรีธรรม จัดตั้งขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 โดยการนำของนายพินิจ จารุสมบัติ และ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมในหลายรัฐบาล มีรัฐมนตรีจากพรรคเสรีธรรมหลายคน อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ นายรักเกียรติ สุขธนะ

พรรคเสรีธรรม ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535/2 ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 8 คน และเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีรัฐมนตรีจากพรรคฯ 2 คน คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมว.สาธารณสุข และนายพินิจ จารุสมบัติ รมช.คมนาคม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค จึงได้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ปรากฏว่านายพินิจ จารุสมบัติ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแทน และการนำของนายพินิจ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 4 คน

ก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 พรรคเสรีธรรมได้แต่งตั้งให้นายประจวบ ไชยสาส์น มาเป็นหัวหน้าพรรค โดยมุ่งหาเสียงด้วยนโยบาย "นายกรัฐมนตรีของคนอีสาน"[6] แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้รับที่นั่งในสภาจำนวน 14 ที่นั่ง แต่ไม่ได้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่ที่นั่งเดียว[7] ซึ่งรวมถึงแกนนำคนสำคัญของพรรคด้วย

6 กันยายน พ.ศ. 2544 พรรคเสรีธรรมประกาศยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคไทยรักไทยมี ส.ส. รวม 262 เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย[7]

ตราสัญลักษณ์ของพรรค

[แก้]

พรรคเสรีธรรม ใช้ภาพเครื่องหมายพรรคเป็นภาพลักษณะวงกลม 2 วง ซ้อนกัน มีรูปช้างเผือกประดับอยู่ภายในวงกลม โดยมีความหมายดังนี้[8]:

  • พื้นสีน้ำเงิน หมายถึง เสถียรภาพและความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ
  • พื้นสีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสันติธรรม
  • พื้นสีแดง หมายถึง ดวงอาทิตย์ พลังสร้างชีวิตและความเจริญรุ่งเรือง
  • ช้างเผือกสีขาว หมายถึง สัญลักษณ์แห่งความดีงามอันประเสริฐ
  • ช่อมะกอก 4 ใบ หมายถึง ปฏิญญา 4 ประการ ของพรรคเสรีธรรม ซึ่งเป็นปรัชญาขั้นมูลฐานของพรรคเสรีธรรม อันเสมือนเข็มทิศชี้นำการดำเนินงานทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
    • เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมิ่งขวัญของชาติและปวงชนชาวไทย
    • ยึดถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขส่งเสริมการกระจายอำนาจโดยวิธีการเลือกตั้ง
    • ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมคุ้มครองเกษตรกรและผู้ด้อยโอกาสทางสังคมส่งเสริมระบบสหกรณ์ เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เป็นธรรม
    • ยึดมั่นแนวทาง "สันติธรรม" อันหมายถึง วิถีทางแห่งสันติวิธีกับหลักเหตุผลบนพื้นฐานแห่งความชอบธรรมเป็นหลักในการปกครอง การบริหารและการสร้างสรรค์ชาติ

เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายว่า สัญลักษณ์อันดีงาม โดยมีความบริสุทธิ์และสันติธรรม เป็นเข็มทิศชี้นำประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง เจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและสังคม

รายนามผู้บริหารพรรค

[แก้]

หัวหน้าพรรค

[แก้]
ลำดับ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ ตำแหน่งสำคัญ
1 อาทิตย์ อุไรรัตน์
(9 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 - )
21 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 8 ตุลาคม พ.ศ. 2539 • อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร
• อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
• อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
• อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
2 สุเมธ พรมพันห่าว
(12 ตุลาคม พ.ศ. 2482 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553)
8 ตุลาคม พ.ศ. 2539
(รักษาการ)
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 • อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย
3 พินิจ จารุสมบัติ
(13 ตุลาคม พ.ศ. 2494 - )
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 15 กันยายน พ.ศ. 2543 • อดีตรองนายกรัฐมนตรี
• อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
4 ประจวบ ไชยสาส์น
(20 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 1 เมษายน พ.ศ. 2563)
15 กันยายน พ.ศ. 2543 6 กันยายน พ.ศ. 2544 • อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
• อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
• อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย

เลขาธิการพรรค

[แก้]
  1. ปรีดี หิรัญพฤกษ์ (พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2537)
  2. สุเมธ พรมพันห่าว (พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2538)
  3. พินิจ จารุสมบัติ (พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2539)
  4. เอกภาพ พลซื่อ (พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2544)

บทบาททางการเมือง

[แก้]

ฝ่ายบริหาร

[แก้]

พรรคเสรีธรรม ได้เข้าร่วมรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ในปี 2535 โดยมีสมาชิกของพรรคได้รัแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จำนวน 1 คน คือ รักเกียรติ สุขธนะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อมามีการปรับคณะรัฐมนตรีในเดือนกันยายน พ.ศ. 2536 เนื่องจากพรรคกิจสังคม ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จึงมีการปรับคณะรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคเสรีธรรม จากเดิม 1 ที่นั่ง เป็น 2 ที่นั่ง โดยปรับนายรักเกียรติ ออกจากตำแหน่งและแต่งตั้ง อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พินิจ จารุสมบัติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แทน

การเลือกตั้ง

[แก้]

ผลการเลือกตั้งทั่วไป

[แก้]
การเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ที่นั่งเปลี่ยน สถานภาพพรรค ผู้นำเลือกตั้ง
ก.ย. 2535
8 / 360
เพิ่มขึ้น 8 ฝ่ายค้าน (2535-2536) อาทิตย์ อุไรรัตน์
ร่วมรัฐบาล (2536-2538)
2538
11 / 391
เพิ่มขึ้น 3 ฝ่ายค้าน
2539
4 / 393
ลดลง 7 ร่วมรัฐบาล พินิจ จารุสมบัติ
2544
14 / 500
821,736 2.82% เพิ่มขึ้น 10 ประจวบ ไชยสาส์น


การยุบพรรค

[แก้]

ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเสรีธรรม ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคเสรีธรรม เข้าไปรวมกับพรรคไทยรักไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ให้ยุบรวมพรรคเสรีธรรม เพื่อรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทยที่เป็นพรรคการเมืองหลัก เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2544[9] อันเป็นการสิ้นสุดการดำเนินงานของพรรคเสรีธรรม

ความพยายามตั้งพรรคใหม่

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการจัดตั้งพรรคเสรีธรรมขึ้นอีกครั้ง โดยมี พลเอก สุนทร หงษ์พร้อมญาติ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องยุบไปเนื่องจากมีสมาชิกพรรคไม่ครบ 5,000 คน และมีสาขาพรรคไม่ครบทั้ง 4 ภาค[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคเสรีธรรมและรวมพรรคเสรีธรรมเข้ากับพรรคไทยรักไทย
  2. ฐานข้อมูลพรรค
  3. 3.0 3.1 ฐานข้อมูลพรรค[ลิงก์เสีย]
  4. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง (พรรคประชาชนไทย)
  5. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคประชาชนไทยเปลี่ยนแปลงชื่อพรรค ภาพเครื่องหมายพรรค และที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค
  6. นายกรัฐมนตรีของคนอีสาน[ลิงก์เสีย]
  7. 7.0 7.1 Siripan Nogsuan Sawasdee, Thai Political Parties in the Age of Reform (Bangkok: Institute of Public Policy Studies, 2006), p. 114.
  8. สัญลักษณ์และความหมายของพรรค - พรรคเสรีธรรม
  9. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเสรีธรรม เพื่อรวมพรรค เสรีธรรมเข้ากับพรรคไทยรักไทยที่เป็นพรรคการเมืองหลัก