ข้ามไปเนื้อหา

ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา เป็นพระพุทธรูปในลักษณะอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายแบบปางสมาธิ มองเห็นพระวรกายซูบผอมจนพระอัฐิ (กระดูก) และพระนหารุ (เส้นเอ็น) ปรากฏ ลักษณะพระวรกายผ่ายผอมเห็นหนังติดกระดูก

ประวัติ

[แก้]
พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกกรกิริยาที่ประดิษฐานในวัดแห่งหนึ่งในนครคาวาโงเอะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น

การบำเพ็ญทุกรกิริยา (กิริยาที่ทำได้โดยยาก ได้แก่การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ ด้วยวิธีการทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ เป็นวิธีของโยคี) หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุธรรม) เมื่อพระองค์ทรงศึกษาจนสำเร็จสมาบัติ 7 จากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และสมาบัติ 8 จากสำนักอุทกดาบส รามบุตร และอุทกดาบสได้ตั้งพระบรมโพธิสัตว์ไว้ในตำแหน่งอาจารย์เสมอด้วยตนเอง แต่พระบรมโพธิสัตว์เห็นว่าวิชาที่ศึกษามายังมิใช่หนทางแห่งโพธิญาณ จึงอำลาออกจากสำนัก ทรงแสวงหาหนทาง ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มีปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ เป็นอุปัฏฐาก พระบรมโพธิสัตว์ทรงกระทำทุกรกิริยา เช่น ลดอาหารลงทีละน้อยจนถึงงดเสวย ร่างกายซูบผอม พระโลมา (ขน) มีรากเน่าหลุดออกมา แลเห็นพระอัฐิได้ชัดเจน ไปทั่วพระวรกาย การกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปี จนมีพระวรกายผ่ายผอมแต่ก็ยังคงไม่ได้พบหนทางหลุดพ้นจากทุกข์ได้เพราะเป็นการปฏิบัติฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค ต่อมาเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ได้ทรงสดับเสียงพิณและพิจารณาตามเสียงพิณว่า สายพิณเส้นหนึ่งถ้าปล่อยให้หย่อนลง ถ้าเล่นไปเสียงจะผิดเพี้ยนไม่ไพเราะ อีกสายพิณอีกหนึ่งที่ตั้งขึงถ้าบิดมากไป ถ้าเล่นไปสายจะขาดได้ เส้นสายพิณที่อยู่ตรงกลางที่ไม่หย่อนไม่ตึงเสียงจะไพเราะ ทางสายกลางต่างหากที่เป็นทางถูกต้อง ในที่สุดพระองค์จึงทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยาหันมาเสวยพระกายาหาร เป็นเหตุให้ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 เสื่อมความศรัทธาว่า พระบรมโพธิสัตว์กลายเป็นคนมักมาก จึงพากันละทิ้งไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันทำให้พระบรมโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญเพียรตามลำพังต่อไป

ลักษณะพระพุทธรูป

[แก้]

ความเชื่อและคตินิยม

[แก้]

การสร้างพระพุทธรูปลักษณะปางทุกรกิริยานี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเพียรที่ปฏิบัติได้ยากยิ่งหาที่เปรียบไม่ได้

พระพุทธรูปประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : ศิลปาบรรณาคาร โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  2. เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  3. สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  4. ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล