ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศโซมาเลีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย

Jamhuuriyadda Federaalka Soomaaliya (โซมาลี)
جمهورية الصومال الفدرالية (อาหรับ)
ที่ตั้งของโซมาเลีย
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
โมกาดิชู
2°2′N 45°21′E / 2.033°N 45.350°E / 2.033; 45.350
ภาษาราชการภาษาโซมาลีและภาษาอาหรับ[1][2]
การปกครองสหพันธ์สาธารณรัฐระบบรัฐสภา
ฮัสซัน ชีค โมฮามุด
Hamza Abdi Barre
เอกราช
26 มิถุนายน พ.ศ. 2503
• จากอิตาลี
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2503
พื้นที่
• รวม
637,661 ตารางกิโลเมตร (246,202 ตารางไมล์) (43)
1.6
ประชากร
• 2550 ประมาณ
9,118,773² (59)
13 ต่อตารางกิโลเมตร (33.7 ต่อตารางไมล์) (198)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2549 (ประมาณ)
• รวม
$ 5.26 พันล้าน (157)
$ 600 (148)
เอชดีไอ (2562)เพิ่มขึ้น 0.361[3]
ต่ำ
สกุลเงินชิลลิงโซมาลี (SOS)
เขตเวลาUTC+3 (EAT)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+3 (not observed)
รหัสโทรศัพท์252
โดเมนบนสุด.so

โซมาเลีย (อังกฤษ: Somalia; โซมาลี: Soomaaliya; อาหรับ: الصومال) หรือชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย (อังกฤษ: Federal Republic of Somalia; โซมาลี: Jamhuuriyadda Federaalka Soomaaliya; อาหรับ: جمهورية الصومال الفدرالية) มีชื่อเดิมว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี และ สาธารณรัฐโซมาลี มีพื้นที่ติดกับแหลมแอฟริกา มีพรมแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับจีบูติ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเคนยา มีพื้นที่ทางทิศเหนือติดกับประเทศเยเมนโดยมีอ่าวเอเดนเป็นพรมแดนทางทะเล ทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรอินเดีย และทิศตะวันตกติดกับประเทศเอธิโอเปีย

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ตามประวัติศาสตร์สาธารณรัฐโซมาลี หรือ โซมาเลีย ตั้งอยู่บริเวณจงอยแอฟริกา ซึ่งแต่เดิมเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของแอฟริกา โดยเป็นจุดค้าขายสินค้าที่มีค่า ได้แก่ ยางสน ยางไม้หอม และเครื่องเทศ ประชาชนในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับมุสลิม

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปเริ่มแผ่ขยายลัทธิล่าอาณานิคมมายังดินแดน Horn of Africa แต่ผู้ปกครองชาว Dervish ในสมัยนั้น สามารถต่อสู้และขับไล่ชาติตะวันตกออกไปได้ จนกระทั่งปี 2463 สหราชอาณาจักรทำสงครามรูปแบบใหม่โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่เมือง Taleex ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของชาว Dervish ส่งผลให้ดินแดน Dervish ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร (British Somaliland) และมีดินแดนบางส่วนตกอยู่ภายใต้การปกครองของอิตาลี (Italian Somaliland) ต่อมาในปี 2484 ดินแดนทางตอนเหนือของโซมาเลียตกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการทางทหารของสหราช อาณาจักรส่วนดินแดนทางใต้มีสถานะเป็นดินแดนในอารักขา หลังจากนั้น สหราชอาณาจักรถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าวในปี 2503 และยินยอมให้ดินแดนของตนรวมตัวกับดินแดนที่อยู่ภายใต้การดูแลของอิตาลี และจัดตั้งรัฐใหม่โดยใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยโซมาลี

ในปี 2512 นายพล Salaad Babeyre Kediye นายพล Siad Barre และนาย Jama Korshel ผู้บัญชาการตำรวจได้ทำรัฐประหาร และแต่งตั้งให้นายพล Barre เป็นประธานาธิบดี โดยปกครองประเทศแบบเผด็จการ (Authoritarian Socialist) แต่ท้ายที่สุดระบบการปกครองของ นายพล Barre ก็ล่มสลายลงในช่วงหลังสงครามเย็น

หลังจากนั้น สถานการณ์ในประเทศโซมาเลียตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย เกิดการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ จนกระทั่งตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย ในช่วงกลางปี 2534 ชนเผ่าทางเหนือของโซมาเลียที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรประกาศ เอกราช และจัดตั้งรัฐใหม่ มีชื่อว่าสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์ (Republic of Somaliland) ปกครอง 6 เขต ได้แก่ Awdal, Woqooyi Galbeed, Togdheer, Sanaag และ Sool อย่างไรก็ตาม รัฐดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ นอกจากนี้รัฐพุนต์แลนด์ (Puntland) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของโซมาเลียได้ประกาศเป็นรัฐปกครองตนเอง (autonomous state) ในปี 2541 และปกครอง 3 เขต ได้แก่ Bari, Nugaal และทางตอนเหนือของเขต Mudug อย่างไรก็ตามรัฐพุนต์แลนด์ยังไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะประกาศเอกราช แต่ต้องการปฏิรูประบบบริหารให้เกิดความชอบธรรม ซึ่งต่อมาทั้งสองรัฐเกิดความขัดแย้งอันเนื่องจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ พื้นที่ทางตะวันออกของเขต Sool และ Sanaag

ต้นปี 2536 สหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทในโซมาเลียโดยได้จัดตั้งภารกิจสหประชาชาติใน โซมาเลีย (United Nations Operation in Somalia: UNOSOM) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับประชาชนในพื้นที่ แต่เนื่องจากการดำเนินภารกิจกระทำด้วยความยากลำบาก ทำให้สหประชาชาติต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ในปี 2538

หลังจากนั้น รัฐบาลเคนยาและ Intergovernmental Authority on Development (IGAD) ร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการสันติภาพในโซมาเลีย โดยสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและจัดตั้งรัฐบาล จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2547 นาย Abdullahi Yusuf Ahmed ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐบาลรักษาการโซมาเลีย (Transitional Federal Government: TFG) และได้จัดตั้งสถาบันสหพันธรัฐรักษาการ (Transitional Federal Institutions: TFIs) ขึ้นที่ประเทศเคนยา โดยประกอบด้วยสมาชิกสภา จำนวน 275 คน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสมัชชาสหพันธรัฐรักษาการ (Transitional Federal Assembly: TFA) อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความไม่สงบในกรุงโมกาดิชูยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และในปี 2549 TFG ย้ายที่ตั้งของรัฐบาลกลับมายังโซมาเลียที่เมือง Baidoa และยึดเป็นฐานที่มั่น

เมื่อ TFG ย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานในโซมาเลีย TFG ได้ขอรับการสนับสนุนกองกำลังจากเอธิโอเปียเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาลและ เสถียรภาพของรัฐ การกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่หลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่ม Islamic Court of Union (ICU) ที่สนับสนุนการปกครองตามหลักกฎหมายอิสลาม (Sharia Law) และมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ ทำให้กลุ่มต่อต้าน TFG ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรปลดปล่อยโซมาเลีย (Alliance for the Re-Liberation of Somalia: ARS) เพื่อตอบโต้การที่ TFG อนุญาตให้เอธิโอเปียรุกล้ำเข้ามาในดินแดนโซมาเลีย

ในปี 2549 สงครามระหว่าง ARS ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมุสลิม และTFG ภายใต้การสนับสนุนจากกองกำลังเอธิโอเปีย หรือเรียกว่า Battle of Baidoa จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่กองกำลังเอธิโอเปียออกไปจากโซมาเลีย อย่างไรก็ตาม TFG และกองกำลังเอธิโอเปียเป็นฝ่ายชนะ และสามารถเข้ายึดกรุงโมกาดิชูซึ่งเป็นเมืองหลวงและฐานที่มั่นของ ARS ได้สำเร็จ หลังจากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) จึงได้รับรองข้อมติ UNSC ที่ 1744 (2007) อนุมัติให้สหภาพแอฟริกาจัดตั้งภารกิจของสหภาพแอฟริกาในโซมาเลีย (African Union Mission in Somalia: AMISOM) เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพทางการเมืองของโซมาเลีย โดยมีอาณัติในการสนับสนุนการเจรจาและความปรองดองแห่งชาติ ตลอดจนคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้นำทางการเมือง ผู้นำชนเผ่า ผู้นำทางศาสนา และผู้แทนจากภาคประชาสังคม

ต่อมารัฐบาลเคนยาและองค์กร Intergovernmental Authority for Development ได้ร่วมกันพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการสันติภาพในโซมาเลีย จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงสันติภาพจิบูตี (Djibouti Peace Agreement) ร่วมกัน โดยมีสหประชาชาติเป็นคนกลาง และในเดือนมกราคม 2552 เอธิโอเปียได้ถอนกำลังทหารออกจากโซมาเลีย

ผลของ Battle of Baidoa ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และขั้วอำนาจของ ARS ได้แตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนให้มีการประณีประนอมกับ TFG นำโดย Sheikh Sharif Sheikh Ahmed ซึ่งเป็นอดีตผู้นำ ICU และฝ่ายต่อต้าน TFG นำโดย Shiekh Hassan Dahir Aweys

ในช่วงปลายปี 2551 นาย Yusuf ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากนั้น TFG และ ARS ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล (TFG-ARS unity government) ขึ้นในเดือนมกราคม 2552 โดยเห็นชอบให้เพิ่มสมาชิกสภาจากฝ่าย ARS อีก 275 คน ดังนั้น รัฐสภาจึงมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 550 คน และรัฐสภาใหม่ได้คัดเลือกให้ Sheikh Sharif Sheikh Ahmed ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 นอกจากนี้ ได้แต่งตั้งให้นาย Omar Abdirashid ali Sharmarke บุตรชายของนาย Yusuf ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโซมาเลีย

อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพของ TFG ยังคลอนแคลน เนื่องจากกองกำลังเอธิโอเปียซึ่งเป็นกำลังพลส่วนมากได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ คงเหลือเฉพาะกองกำลังของสหภาพแอฟริกาที่ช่วยรักษาความมั่นคงและฟื้นฟูประเทศ ความอ่อนแอของรัฐบาลทำให้กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงกลับมามีอำนาจ ประกาศใช้ Sharia Law และบุกยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของโซมาเลีย และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงได้เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงโมกาดิชูได้สำเร็จ แต่ยังไม่สามารถล้มรัฐบาลได้

สงครามกลางเมืองของโซมาเลีย

[แก้]
  • ยุทธการโมกาดิชู เป็นสงครามระหว่างกลุ่มไอซิล (กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ) กับสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ ซึ่งเคยมีการนำมาทำเป็นภาพยนตร์ชื่อว่า Black Hawk Down เมื่อปี 2544 สงครามนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ กว่า 1000 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนในโมกาดิชู

การเมืองการปกครอง

[แก้]

- โซมาเลียแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ Somaliland Puntland มีสถานะเป็นรัฐกึ่งปกครองตนเองตั้งอยู่ทางตอนเหนือและตอนกลางของประเทศ ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ประกอบไปด้วย Northland Galmudug และ Maakhir - โซมาเลียปกครองในระบบสหพันธรัฐแบบสภาเดียว (unicameral) ปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลถาวร และมี Sheikh Sharif Sheikh Ahmed เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน - ฝ่ายบริหารประกอบด้วยประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ โดยได้รับเลือกโดย TFA และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร - คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีและต้องได้รับการรับรองจาก TFAฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วยสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งมีสภาเดียวคือ สมัชชาสหพันธรัฐรักษาการประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 550 คน ฝ่ายตุลาการยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลถาวร ปัจจุบันแต่ละชนเผ่าใช้ Sharia Law เป็นกฎหมายของแต่ละท้องถิ่น - โซมาเลียไม่มีรัฐบาลปกครองประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในปี 2534 นอกจากนั้น รัฐ Somaliland และรัฐ Puntland มีความพยายามแยกตัวออกเป็นอิสระ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งยังได้เกิดการต่อสู้ระหว่างชนเผ่าต่างๆ มาโดยตลอด - โซมาเลียประกอบด้วยเผ่า (clan) หลายเผ่า เผ่า Hawiye เป็นเผ่าที่ใหญ่ที่สุด อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ นอกจากนี้ เผ่า Darod เป็นอีกเผ่าที่มีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลในฐานะชนชั้นปกครอง

เขตปกครอง

[แก้]
  • จับบาดาฮูส
  • จูบากลาง
  • ชาเบลกลาง
  • บารี
  • ฮีราน
  • มาดัก
  • โมกาดิชู
  • เกโด
  • ชาบีลลาฮาอูเซ
  • อ่าวโซมาลี
  • กัลกูดูด
  • บากูล
  • นูกัล

ภูมิประเทศ

[แก้]

ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง โดยมีเนินเขาสูงทางภาคเหนือไล่ระดับลงมายังภาคตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล

ภูมิอากาศ

[แก้]

อากาศร้อน ภาคใต้ฝนตกชุกเพราะได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ภาคเหนืออากาศเย็นกว่าภาคใต้ เพราะลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์

ภาษา

[แก้]

โซมาเลียใช้ภาษาโซมาเลียเป็นภาษาราชการ แต่มีภาษาพูดหลายภาษา เช่นโซมาเลีย อาหรับ อิตาลี และอังกฤษ

ศาสนา

[แก้]

จากการสำรวจวิจัยของศูนย์วิจัยพิวของสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 99.8 ของประชากรโซมาเลียนับถือศาสนาอิสลาม

เชื้อชาติ

[แก้]

โซมาเลีย 85% บันตูและอาหรับ 15%

อ้างอิง

[แก้]
  1. According to article 7 of The Transitional Federal Charter of the Somali Republic เก็บถาวร 2010-02-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: The official languages of the Somali Republic shall be Somali (Maay and Maxaatiri) and Arabic. The second languages of the Transitional Federal Government shall be English and Italian.
  2. "Somalia". World Factbook. Central Intelligence Agency. 2009-05-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-01. สืบค้นเมื่อ 2009-05-31. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  3. "Sub-national HDI – Area Database – Global Data Lab". hdi.globaldatalab.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-07-21.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
รัฐบาล
ข้อมูลทั่วไป

http://www.mfa.go.th/web/479.php?id=366# เก็บถาวร 2007-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน