ต่อมลูกหมาก
ต่อมลูกหมาก (อังกฤษ: prostate) เป็นต่อมมีท่อของระบบสืบพันธุ์เพศชายในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด ต่อมลูกหมากมีความแตกต่างกันอย่างมากไปตามแต่ละสปีชีส์ ทั้งในทางกายวิภาคศาสตร์ เคมี และสรีรวิทยา ในภาษาอังกฤษคำว่า prostate มาจากภาษากรีกโบราณว่า προστάτης (prostátēs) แปลตรงตัวได้ว่า "สิ่งที่ตั้งอยู่มาก่อน", "ผู้คุ้มครอง", "ผู้ปกครอง"[1] ส่วนในภาษาไทยราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายคำว่าลูกหมากในแง่อวัยวะไว้ว่า เป็นต่อมในเพศชายรูปร่างคล้ายเนื้อในของผลหมาก[2]
ในทางกายวิภาคศาสตร์ ต่อมลูกหมากสามารถถูกแบ่งย่อยได้สองวิธี คือ แบ่งเป็นบริเวณ หรือ แบ่งเป็นกลีบ ต่อมลูกหมากไม่มีปลอกหรือถุงหุ้ม ในทางตรงกันข้ามจะมีแถบเส้นใยกล้ามเนื้อฝังใน (integral fibromuscular band) ล้อมรอบแทน[3] โดยถูกหุ้มห่ออยู่ในกล้ามเนื้อของฐานเชิงกรานอีกที ซึ่งกล้ามเนื้อจะหดตัวในระหว่างที่มีการหลั่งน้ำอสุจิ นอกจากนี้ตัวต่อมลูกหมากเองยังมีกล้ามเนื้อเรียบบางส่วน คอยช่วยในการขับน้ำอสุจิออกมาในระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิด้วย
หน้าที่ของต่อมลูกหมากคือการหลั่งของเหลว ซึ่งเป็นส่วนประกอบในปริมาตรของน้ำอสุจิ น้ำต่อมลูกหมาก (prostatic fluid) นี้มีลักษณะเป็นด่างเล็กน้อย ปรากฏเป็นสีน้ำนมหรือสีขาว และในมนุษย์มักจะมีน้ำต่อมลูกหมากประกอบอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของปริมาตรน้ำอสุจิ ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นสเปอร์มาโทซูนและน้ำถุงน้ำอสุจิ[4] โดยความเป็นด่างของน้ำอสุจิช่วยทำให้สภาพกรดของช่องคลอดเป็นกลาง ทำให้อายุของตัวอสุจิยาวนานขึ้น
น้ำต่อมลูกหมากจะถูกขับออกมาในช่วงแรกของการหลั่งน้ำอสุจิ พร้อมกับตัวอสุจิส่วนมาก เมื่อเทียบกับสเปอร์มาโทซูนที่ถูกขับออกมาพร้อมกับน้ำถุงน้ำอสุจิเป็นหลัก จะพบว่า สเปอร์มาโตซูนที่อยู่ในน้ำต่อมลูกหมากจะมีการเคลื่อนไหวเองที่ดีกว่า อยู่รอดได้นานขึ้น และปกป้องสารพันธุกรรมไวัได้ดีกว่า
โรคของต่อมลูกหมาก ประกอบด้วย ต่อมลูกหมากโต, ต่อมลูกหมากอักเสบ, ต่อมลูกหมากติดเชื้อ และมะเร็งต่อมลูกหมาก
โครงสร้าง
[แก้]ต่อมลูกหมากเป็นต่อมมีท่อในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ในผู้ใหญ่จะมีขนาดประมาณผลวอลนัต[5] ต่อมลูกหมากตั้งอยู่ในเชิงกราน ภายในต่อมเป็นทางผ่านของท่อปัสสาวะที่มาจากกระเพาะปัสสาวะ เรียกว่า ท่อปัสสาวะส่วนต่อมลูกหมาก ซึ่งมีท่อฉีดอสุจิอีกสองท่อมารวมเข้าด้วย[5]
ต่อมลูกหมากปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 11 กรัม และมักแปรผันอยู่ระหว่าง 7 ถึง 16 กรัม[6] ส่วนปริมาตรของต่อมลูกหมากสามารถประมาณได้จากสูตร 0.52 × ความยาว × ความกว้าง × ความสูง โดยต่อมลูกหมากที่มีปริมาตรมากกว่า 30 ลบ.ซม. จะถือว่าเป็นต่อมลูกหมากโต (prostatomegaly) การศึกษาระบุว่า ปริมาตรต่อมลูกหมากในบรรดาผู้ป่วยที่ผลการตัดเนื้อออกตรวจเป็นลบ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับน้ำหนักและส่วนสูง (ดัชนีมวลกาย) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการควบคุมน้ำหนัก[7] ต่อมลูกหมากนั้นล้อมรอบท่อปัสสาวะอยู่ทางด้านล่างของกระเพาะปัสสาวะ จึงสามารถสัมผัสได้ผ่านการตรวจทางทวารหนัก
ชั้นเส้นใยโดยรอบต่อมลูกหมากบางครั้งจะเรียกว่า ปลอกหุ้มต่อมลูกหมาก (prostatic capsule) หรือ พังผืดต่อมลูกหมาก (prostatic fascia)[8] และล้อมรอบด้วยแถบเส้นใยกล้ามเนื้อฝังใน[3]
การแบ่งย่อย
[แก้]ต่อมลูกหมากสามารถถูกแบ่งย่อยได้สองวิธี คือ แบ่งเป็นบริเวณ หรือ แบ่งเป็นกลีบ[5] เนื่องจากความแปรปรวนในคำอธิบายและคำจำกัดความของกลีบ จึงทำให้การแบ่งเป็นบริเวณนั้นโดดเด่นกว่า[5]
กลีบ
[แก้]การจัดแบ่งเป็น "กลีบ" (lobe) นั้นพบการใช้ได้บ่อยครั้งในทางกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งต่อมลูกหมากจะถูกแบ่งออกเป็นห้ากลีบอย่างไม่สมบูรณ์ ดังนี้
กลีบหน้า (Anterior lobe) (หรือ isthmus) | สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณเชื่อม |
กลีบหลัง (Posterior lobe) | สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณรอบนอก |
กลีบข้างซ้ายและขวา (Right & left Lateral lobes) | ครอบคลุมทุกบริเวณ |
กลีบใน (Median lobe) หรือกลีบกลาง (or middle lobe) | สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณกลาง |
บริเวณ
[แก้]ต่อมลูกหมากสามารถถูกแบ่งออกได้เป็นสามหรือสี่บริเวณ[5][8] การจัดแบ่งเป็น "บริเวณ" (zone) นี้พบการใช้ได้บ่อยครั้งในทางพยาธิวิทยา[9] ซึ่งต่อมลูกหมากมีบริเวณต่อม (glandular region) ที่แตกต่างกันอยู่สี่บริเวณ โดยสองจากสี่บริเวณนั้นเกิดมาจากส่วนที่แตกต่างกันของท่อปัสสาวะส่วนต่อมลูกหมาก ดังนี้
ชื่อ | ส่วนของต่อมในผู้ใหญ่[5] | คำอธิบาย |
บริเวณรอบนอก (Peripheral zone หรือ PZ) | 70% | ส่วนกึ่งปลอกหุ้มของมุมด้านหลังของต่อมลูกหมากที่ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนปลาย มะเร็งต่อมลูกหมากร้อยละ 70–80 มีจุดเริ่มต้นมาจากส่วนนี้ของต่อม[10][11] |
บริเวณกลาง (Central zone หรือ CZ) | 20% | บริเวณนี้ล้อมรอบท่อฉีดอสุจิ[5] บริเวณกลางมีสัดส่วนในมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณร้อยละ 2.5 โดยมะเร็งจากบริเวณนี้มีแนวโน้มจะก้าวร้าวมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะลามไปยังถุงน้ำอสุจิ[12] |
บริเวณเชื่อม (Transition zone หรือ TZ) | 5% | บริเวณเชื่อมล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น[5] มะเร็งต่อมลูกหมากมีจุดเริ่มต้นจากบริเวณนี้ประมาณร้อยละ 10–20 บริเวณนี้เป็นบริเวณที่เติบโตได้ตลอดชีวิตของต่อมลูกหมาก อันเป็นที่มาของโรคการเจริญเกินของต่อมลูกหมาก[10][11] |
บริเวณเส้นใยกล้ามเนื้อหน้า (Anterior fibro-muscular zone) (หรือส่วนพยุง) | N/A | ส่วนนี้ไม่ถือเป็นบริเวณเสมอไป[8] โดยปกติแล้วมักจะปราศจากซึ่งส่วนหรือส่วนประกอบของต่อม อันเป็นที่มาของชื่อ ซึ่งสื่อถึงกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน[5] |
-
กลีบของต่อมลูกหมาก
-
บริเวณของต่อมลูกหมาก
หลอดเลือดและน้ำเหลือง
[แก้]หลอดเลือดดำของต่อมลูกหมากมาจากข่ายที่เรียกว่า ข่ายหลอดเลือดดำต่อมลูกหมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณรอบพื้นผิวด้านหน้าและด้านนอก[8] ข่ายหลอดเลือดนี้ยังรับเลือดมาจากหลอดเลือดดำลึกด้านบนขององคชาตด้วย และเชื่อมต่อผ่านทางแขนงเข้าสู่ข่ายหลอดเลือดดำกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดดำอวัยวะเพศภายนอกใน[8] โดยหลอดเลือดดำมีการระบายเข้าสู่หลอดเลือดดำกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดดำกระดูกปีกสะโพกใน[8]
การระบายน้ำเหลืองจากต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับต่ำแหน่งของพื้นที่ ซึ่งหลอดน้ำเหลืองที่อยู่โดยรอบหลอดนำอสุจิ บางส่วนของหลอดน้ำเหลืองในถุงน้ำอสุจิ และหลอดน้ำเหลืองจากพื้นผิวด้านหลังของต่อมลูกหมาก จะถูกระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองกระดูกปีกสะโพกนอก[8] ขณะที่บางส่วนของหลอดน้ำเหลืองจากถุงน้ำอสุจิ หลอดน้ำเหลืองต่อมลูกหมาก และหลอดน้ำเหลืองจากด้านหน้าของต่อมลูกหมาก จะถูกระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองกระดูกปีกสะโพกใน[8] ส่วนหลอดน้ำเหลืองของตัวต่อมลูกหมากเองนั้นยังอาจระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองออบทูเรเตอร์และต่อมน้ำเหลืองกระดูกใต้กระเบนเหน็บได้ด้วย[8]
-
ชื่อต่อมน้ำเหลืองบางส่วนของเชิงกราน
-
หลอดน้ำเหลืองของต่อมลูกหมาก
จุลกายวิภาคศาสตร์
[แก้]เนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากประกอบด้วย ต่อม (glands) และ ส่วนพยุง (stroma)[5] โดยส่วนต่อมบุด้วยเซลล์รูปคอลัมนาร์ (เนื้อเยื่อบุผิว)[5] เนื้อเยื่อบุเหล่านี้มีการวางตัวแบบชั้นเดียวหรือไม่ก็แบบซูโดสแตรติไฟด์[8] เนื้อเยื่อบุผิวนั้นมีความแปรผันสูงและ และพื้นที่ที่มีเนื้อเยื่อบผิวแบบคิวบอยดัลหรือแบบสวามัสต่ำก็ยังมีให้เห็นได้ เช่นเดียวกับเนื้อเยื่อบุผิวแบบทรานซิชันแนลในส่วนปลายของท่อยาวด้วย[13] ส่วนต่อมจะพบรูพรุนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีการระบายลงสู่คลองยาว (long canal) และท่อหลัก 12–20 ท่อในลำดับถัดมา โดยต่อมาก็จะระบายลงสู่ท่อปัสสาวะที่ทอดตัวผ่านต่อมลูกหมาก[8] นอกจากนี้ยังมีเซลล์เบซัลอยู่จำนวนน้อย ซึ่งวางตัวอยู่ถัดจากเยื่อฐานของต่อม ทำหน้าที่เป็นเซลล์ต้นกำเนิด[5]
ส่วนพยุงของต่อมลูกหมาก ประกอบด้วย เนื้อเยื่อเส้นใย และกล้ามเนื้อเรียบ[5] เนื้อเยื่อเส้นใยจะแยกต่อมออกเป็นกลีบ[5] นอกจากนี้ยังวางตัวอยู่ระหว่างต่อมและเป็นส่วนประกอบอย่างสุ่มของมัดกล้ามเนื้อเรียบที่ต่อเนื่องกับกระเพาะปัสสาวะด้วย[14]
เมื่อเวลาผ่านไป จะมีสิ่งหลั่งที่จับตัวหนาขึ้น เรียกว่า คอร์ปอรา อะไมเลเซีย (corpora amylacea) ค้างอยู่ภายในต่อม[5]
ประเภทของเซลล์ทางมิญชวิทยาที่ปรากฏอยู่ในต่อมลูกหมากนั้นมีอยู่สามชนิด ได้แก่ เซลล์ต่อม (glandular cells), เซลล์ไมโอเอพิทีเลียม (myoepithelial cells) และเซลล์ซับเอพิทีเลียมอินเตอร์สติเชียล (subepithelial interstitial cells)[15]
การแสดงออกของยีนและโปรตีน
[แก้]ยีนเข้ารหัสโปรตีนประมาณ 20,000 ชนิดแสดงอยู่ในเซลล์ของมนุษย์ และเกือบร้อยละ 75 ของยีนเหล่านี้พบแสดงอยู่ในต่อมลูกหมากปกติ[16][17] ยีนเหล่านี้ประมาณ 150 ตัวมีการแสดงออกอย่างจำเพาะมากกว่าในต่อมลูกหมาก โดยมียีนประมาณ 20 ตัวที่มีความจำเพาะสูงในต่อมลูกหมาก[18] โปรตีนจำเพาะที่เกี่ยวข้องจะถูกแสดงในเซลล์ต่อมและเซลล์หลั่งของต่อมลูกหมาก และมีหน้าที่สำคัญต่อลักษณะของน้ำอสุจิ โปรตีนจำเพาะของต่อมลูกหมากบางชนิดเป็นเอนไซม์ เช่น สารก่อภูมิต้านทานจำเพาะต่อมลูกหมาก (PSA) และโปรตีน ACPP
การพัฒนา
[แก้]ส่วนต่อมลูกหมากของท่อปัสสาวะพัฒนาขึ้นจากส่วนกลาง (middle) และส่วนเชิงกรานของโพรงอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ ของเอนโดเดิร์มต้นดำเนิด[19] ประมาณปลายเดือนที่สามของชีวิตของเอ็มบริโอ ปุ่ม (outgrowths) จะเจริญขึ้นมาจากส่วนต่อมลูกหมากของท่อปัสสาวะ และเจริญเติบโตไปสู่เมเซนไคม์โดยรอบ[19] เซลล์ที่บุในส่วนนี้ของท่อปัสสาวะเปลี่ยนสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อบุผิวต่อมของต่อมลูกหมาก[19] ส่วนเมเซนไคม์ที่เกี่ยวข้องจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นส่วนพยุงหนาแน่นและกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมาก[20]
การรวมตัวกันของเมเซนไคม์ ท่อปัสสาวะ และท่อเมโซเนฟริก ทำให้เกิดต่อมลูกหมากในผู้ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่เป็นต่อมและไม่เป็นต่อม เชื่อมอยู่ด้วยกันอย่างแน่นหนาหลายส่วน
เพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม ต่อมลูกหมากต้องการฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) ซึ่งรับผิดชอบคุณลักษณะทางเพศของเพศชาย ส่วนฮอร์โมนหลักของเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน ซึ่งโดยหลักแล้วถูกผลิตขึ้นที่อัณฑะ ส่วนฮอร์โมนที่มีอำนาจเหนือกว่าที่ควบคุมต่อมลูกหมาก คือ ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ซึ่งเป็นเมทาบอไลท์ของเทสโทสเตอโรน
ต่อมลูกหมากจะใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงทศวรรษที่สี่ของชีวิต[8]
หน้าที่
[แก้]ตอบสนองทางเพศชาย
[แก้]ในระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิในผู้ชาย ตัวอสุจิจะถูกส่งต่อมาจากหลอดนำอสุจิเข้าสู่ท่อปัสสาวะผ่านท่อฉีดอสุจิ ซึ่งวางตัวอยู่ภายในต่อมลูกหมาก[21] โดยการหลั่งน้ำอสุจิเป็นการขับน้ำอสุจิออกทางท่อปัสสาวะ[21] ซึ่งน้ำอสุจิจะเข้าสู่ท่อปัสสาวะหลังจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดนำอสุจิและถุงน้ำอสุจิ อันเกิดมาจากการกระตุ้นส่วนมากอยู่ที่หัวองคชาต การกระตุ้นจะส่งสัญญาณผ่านทางประสาทอวัยวะเพศภายนอกในไปยังกระดูกสันหลังส่วนเอวด้านบน และสัญญาณประสาทที่ทำให้เกิดการหดตัวจะผ่านมาทางประสาทไฮโปแกสทริก[21] หลังจากน้ำอสุจิเข้าสู่ท่อปัสสาวะแล้ว น้ำอสุจิจะพุ่งออกมาโดยการหดตัวของกล้ามเนื้อบัลโบคาเวอร์โนซุส[21]
ในผู้ชายบางคนอาจบรรลุความเสียวสุดยอดทางเพศได้จากการกระตุ้นต่อมลูกหมากเพียงอย่างเดียว เช่น การนวดต่อมลูกหมาก หรือ การร่วมเพศทางทวารหนัก[22][23]
สิ่งคัดหลั่ง
[แก้]สิ่งคัดหลั่งของต่อมลูกหมากในมนุษย์ มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบน้อยกว่าร้อยละ 1[ต้องการอ้างอิง] และมีความเป็นกรดเล็กน้อย[8] สิ่งคัดหลั่งประกอบด้วยเอนไซม์โปรทีเอส เอนไซม์โพรสตาติกแอซิดฟอสเฟเทส เอนไซม์ไฟบริโนซิน และสารก่อภูมิต้านทานจำเพาะต่อมลูกหมาก[8] นอกจากนี้ยังมีสังกะสีอยู่ด้วย[8] โดยมีความเข้มข้น 500–1,000 เท่าของความเข้มข้นสังกะสีในเลือด[ต้องการอ้างอิง]
ลักษณะสำคัญด้านการรักษา
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การอักเสบ
[แก้]-->
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Harper, Douglas. "Prostate". Online Etymology Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2013-11-03.
- ↑ "ลูกหมาก". Sanook Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2020-04-24.
- ↑ 3.0 3.1 Raychaudhuri, B.; Cahill, D. (2008). "Pelvic fasciae in urology". Annals of the Royal College of Surgeons of England. 90 (8): 633–637. doi:10.1308/003588408X321611. PMC 2727803. PMID 18828961.
- ↑ Huggins, Charles; Scott, William W.; Heinen, J. Henry (1942). "Chemical composition of human semen and of the secretions of the prostate and seminal vehicles". Am J Physiol. 136 (3): 467–473. doi:10.1152/ajplegacy.1942.136.3.467.
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 Young, Barbara; O'Dowd, Geraldine; Woodford, Phillip (2013). Wheater's functional histology: a text and colour atlas (6th ed.). Philadelphia: Elsevier. pp. 347–8. ISBN 9780702047473.
- ↑ Leissner KH, Tisell LE (1979). "The weight of the human prostate". Scand. J. Urol. Nephrol. 13 (2): 137–42. doi:10.3109/00365597909181168. PMID 90380.
- ↑ Fowke JH, Motley SS, Cookson MS, Concepcion R, Chang SS, Wills ML, Smith-Jr JA (December 19, 2006). "The association between body size, prostate volume and prostate-specific antigen". Prostate Cancer and Prostatic Diseases. 10 (2): 137–142. doi:10.1038/sj.pcan.4500924. PMID 17179979.
- ↑ 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 Standring, Susan, บ.ก. (2016). "Prostate". Gray's anatomy : the anatomical basis of clinical practice (41st ed.). Philadelphia. pp. 1266–1270. ISBN 9780702052309. OCLC 920806541.
- ↑ Myers, Robert P (2000). "Structure of the adult prostate from a clinician's standpoint". Clinical Anatomy. 13 (3): 214–5. doi:10.1002/(SICI)1098-2353(2000)13:3<214::AID-CA10>3.0.CO;2-N. PMID 10797630.
- ↑ 10.0 10.1 "Basic Principles: Prostate Anatomy" เก็บถาวร 2010-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Urology Match. Www.urologymatch.com. Web. 14 June 2010.
- ↑ 11.0 11.1 "Prostate Cancer Information from the Foundation of the Prostate Gland." Prostate Cancer Treatment Guide. Web. 14 June 2010.
- ↑ Cohen RJ, Shannon BA, Phillips M, Moorin RE, Wheeler TM, Garrett KL (2008). "Central zone carcinoma of the prostate gland: a distinct tumor type with poor prognostic features". The Journal of Urology. 179 (5): 1762–7, discussion 1767. doi:10.1016/j.juro.2008.01.017. PMID 18343454.
- ↑ "Prostate Gland Development". ana.ed.ac.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-04-30. สืบค้นเมื่อ 2011-08-03.
- ↑ "Prostate". webpath.med.utah.edu. สืบค้นเมื่อ 2019-11-17.
- ↑ (ในภาษาอังกฤษ) Gevaert, T; Lerut, E; Joniau, S; Franken, J; Roskams, T; De Ridder, D (2014). "Characterization of subepithelial interstitial cells in normal and pathologic human prostate". Histopathology. 65 (3): 418–28. doi:10.1111/his.12402. PMID 24571575.
- ↑ "The human proteome in prostate - The Human Protein Atlas". www.proteinatlas.org. สืบค้นเมื่อ 2017-09-26.
- ↑ Uhlén, Mathias; Fagerberg, Linn; Hallström, Björn M.; Lindskog, Cecilia; Oksvold, Per; Mardinoglu, Adil; Sivertsson, Åsa; Kampf, Caroline; Sjöstedt, Evelina (2015-01-23). "Tissue-based map of the human proteome". Science. 347 (6220): 1260419. doi:10.1126/science.1260419. ISSN 0036-8075. PMID 25613900.
- ↑ O'Hurley, Gillian; Busch, Christer; Fagerberg, Linn; Hallström, Björn M.; Stadler, Charlotte; Tolf, Anna; Lundberg, Emma; Schwenk, Jochen M.; Jirström, Karin (2015-08-03). "Analysis of the Human Prostate-Specific Proteome Defined by Transcriptomics and Antibody-Based Profiling Identifies TMEM79 and ACOXL as Two Putative, Diagnostic Markers in Prostate Cancer". PLOS ONE. 10 (8): e0133449. Bibcode:2015PLoSO..1033449O. doi:10.1371/journal.pone.0133449. ISSN 1932-6203. PMC 4523174. PMID 26237329.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 Sadley, TW (2019). Langman's medical embryology (14th ed.). Philadelphia: Wolters Kluwer. pp. 265–6. ISBN 9781496383907.
- ↑ Moore, Keith L.; Persaud, T. V. N.; Torchia, Mark G. (2008). Before We are Born: Essentials of Embryology and Birth Defects (7th ed.). ISBN 978-1-4160-3705-7.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 Barrett, Kim E. (2019). Ganong's review of medical physiology. Barman, Susan M.,, Brooks, Heddwen L.,, Yuan, Jason X.-J. (26th ed.). New York. pp. 411, 415. ISBN 9781260122404. OCLC 1076268769.
- ↑ Rosenthal, Martha (2012). Human Sexuality: From Cells to Society. Cengage Learning. pp. 133–135. ISBN 978-0618755714. สืบค้นเมื่อ September 17, 2012.
- ↑ Komisaruk, Barry R.; Whipple, Beverly; Nasserzadeh, Sara & Beyer-Flores, Carlos (2009). The Orgasm Answer Guide. JHU Press. pp. 108–109. ISBN 978-0-8018-9396-4. สืบค้นเมื่อ 6 November 2011.