หัวองคชาต
หัวองคชาต | |
---|---|
หัวองคชาตมนุษย์ (มองจากด้านบน) | |
หัวองคชาต (มองจากด้านท้อง) | |
รายละเอียด | |
คัพภกรรม | ปุ่มอวัยวะสืบพันธุ์ |
ระบบ | ระบบอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ |
หลอดเลือดแดง | หลอดเลือดแดงด้านบนขององคชาต |
หลอดเลือดดำ | หลอดเลือดดำด้านบนขององคชาต |
ประสาท | เส้นประสาทด้านบนขององคชาต |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | Glans penis |
TA98 | A09.4.01.007 |
TA2 | 3668 |
FMA | 18247 |
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์ |
ในกายวิภาคมนุษย์เพศชาย หัวองคชาตเป็นโครงสร้างคล้ายหัวอยู่บริเวณส่วนปลายสุดขององคชาตมนุษย์ เป็นบริเวณการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศที่ไวที่สุดของมนุษย์เพศชาย และเป็นแหล่งของความพึงใจทางเพศหลักทางกายวิภาคศาสตร์[1][2] ในทางกายวิภาคศาสตร์ถือเป็นอวัยวะที่มีต้นกำเนิดเหมือนกันกับหัวปุ่มกระสัน[3][4] หัวองคชาตเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์เพศชายในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น โดยอาจมีลักษณะทั้งแบบเรียบ มีหนาม ยืดยาว หรือแยกออกเป็นแฉก[5] ภายนอกถูกบุด้วยเยื่อเมือกทำให้มีพื้นผิวเรียบและมันวาว ในมนุษย์ หัวองคชาตเป็นส่วนต่อเนื่องของคอร์ปุส สปอนจิโอซุมขององคชาต ที่ด้านบนสุดมีรูท่อปัสสาวะและที่ฐานก่อตัวขึ้นเป็นคอของหัวองคชาต บริเวณด้านท้องมีแนวของแถบเนื้อเยื่อที่มีความยืดหยุ่น เรียกว่า เส้นสองสลึง ในผู้ชายที่ไม่ได้ขริบส่วนดังกล่าวนี้จะถูกหุ้มด้วยหนังหุ้มปลายทั้งหมดหรือบางส่วน ในผู้ใหญ่ โดยทั่วไปหนังหุ้มปลายจะสามารถร่นกลับลงมาได้ทั้งโดยการใช้มือหรือบางครั้งอาจมีการร่นลงมาโดยอัตโนมัติในระหว่างการแข็งตัวขององคชาต[6]
ในภาษาอังกฤษ หัวองคชาตใช้คำว่า "glans" และสำหรับภาษาอังกฤษแบบบริติชอาจใช้คำว่า “bellend” ได้อย่างไม่เป็นทางการ โดยคำว่า "glans" มาจากคำในภาษาละตินว่า glans ("ลูกโอ๊ก") และ penis ("ขององคชาต")
กายวิภาคศาสตร์
[แก้]โครงสร้าง
[แก้]หัวองคชาตเป็นเนื้อเยื่อพองยุบได้คล้ายฟองน้ำที่ก่อตัวขึ้นบนปลายกลมมนของคอร์ปุส คาเวอร์โนซุม พีนิสทั้งสองแท่ง[7] ขยายขึ้นไปทางด้านบนมากกว่าด้านล่าง นับเป็นหมวกที่ขยายออกมาของคอร์ปุส สปอนจิโอซุม[8] ส่วนที่คล้ายฟองน้ำนั้นล้อมรอบท่อปัสสาวะภายในองคชาตของเพศชายไว้ โดยเป็นช่องทางที่ใช้สำหรับการหลั่งน้ำอสุจิด้วย[9] หัวองคชาตถูกปกคลุมด้วยเยื่อบุผิวสความัสแบบเป็นชั้นและชั้นแน่นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งเทียบได้กับชั้นหนังแท้ของผิวหนังทั่วไป[10] ภายนอกบุด้วยเยื่อเมือกซึ่งทำให้พื้นผิวและลักษณะปรากฏเรียบ ชั้นปาปิลลารีของชั้นหนังแท้นั้นมีการผสานเข้ากับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่แน่นและก่อตัวขึ้นเป็นทูนิกา อัลบูจินีของคอร์ปุส สปอนจิโอซุมใต้หัวองคชาต[10] การเพิ่มขึ้นของการไหลเวียนในหลอดเลือดแดงในระหว่างการแข็งตัวขององคชาตจะทำให้เนื้อเยื่อพองยุบได้ถูกเติมเต็มด้วยเลือด ทำให้หัวองคชาตมีขนาดใหญ่ขึ้นและไวต่อสัมผัสมากขึ้น[11] โดยขณะที่องคชาตจะแข็งทื่อเมื่อแข็งตัว แต่ส่วนหัวองคชาตจะยังคงอ่อนนุ่มอยู่เล็กน้อย[12] ซึ่งวัสดุที่มีลักษณะเป็นนวมนุ่มของหัวองคชาตนั้นจะช่วยซับแรงกระแทกในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้[13] ชนาดตามสัดส่วนของหัวองคชาตสามารถแตกต่างกันไปได้อย่างมาก แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วรูปทรงของหัวองคชาตจะเหมือนกับลูกโอ๊ก แต่ผู้ชายบางคนอาจมีเส้นรอบวงของหัวองคชาตมากกว่าลำ ทำให้องคชาตมีลักษณะคล้ายเห็ดแทน ขณะที่คนอื่นทั่วไปอาจมีเส้นรอบวงแคบกว่าและรูปร่างจึงคล้ายกับอุปกรณ์แหย่ (probe) มากกว่า[12] ผู้วิจัยบางรายเสนอว่า หัวองคชาตวิวัฒนาการจนกลายเป็นรูปลูกโอ๊ก รูปเห็ด หรือรูปกรวย เพื่อทำหน้าที่หนึ่งในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ นั่นคือการกำจัดน้ำอสุจิที่ตกค้างจากคู่นอนก่อนหน้า แต่ข้อเสนอนี้นั้นไม่ได้รับการสนับสนุนเมื่อพิจารณาถึงตระกูลญาติในอันดับวานรที่มีพฤติกรรมการผสมพันธุ์ที่ต่างกัน[14][15]
ที่ยอดสุดของหัวองคชาตเป็นรูท่อปัสสาวะภายนอกที่มีลักษณะเหมือนรอยกรีดในแนวตั้ง เรียกว่า รูท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำปัสสาวะ น้ำอสุจิ และน้ำหล่อลื่นไหลออกจากองคชาต เส้นรอบวงที่ฐานของหัวองคชาตรวมตัวขึ้นเป็นส่วนโค้งมน เรียกว่า คอของหัวองคชาต (corona) ส่วนเว้าลึกลงไปเป็นร่อง เรียกว่า ร่องคอ (coronal sulcus) ซึ่งอยู่ด้านหลังคอขององคชาต[12] เส้นสองสลึงเป็นแถบยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อที่มีหลอดเลือดไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่บริเวณด้านใต้ของหัวองคชาตซึ่งเชื่อมหนังหุ้มปลายเข้ากับหัวองคชาต เส้นสองสลึงนั้นอ่อนนุ่มพอที่จะปล่อยให้มีการร่นของหนังหุ้มปลายลงและร่นกลับเมื่อไม่มีการแข็งตัวขององคชาตได้[16] ในระหว่างอ่อนตัว เส้นสองสลึงจะกระชับให้รูเปิดของหนังหุ้มปลายแคบลง[17]
การมีประสาทไปเลี้ยง
[แก้]หัวองคชาตและเส้นสองสลึงนั้นมีประสาทไปเลี้ยงโดยเส้นประสาทด้านบนขององคชาตและเส้นประสาทฝีเย็บ โดยทั้งสองเป็นแขนงแยกของเส้นประสาทหว่างขา[18] แขนงหลักเกิดเป็นกลุ่มท่อขนาดเล็กของเส้นประสาท ซึ่งขยายออกไปสู่เนื้อเยื่อของหัวองคชาต[18] การมีประสาทไปเลี้ยงจำนวนมากของหัวองคชาตนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นแหล่งความสุขทางเพศหลักทางกายวิภาคศาสตร์ของเพศชาย[2][19] โดยมีการโต้แย้งจากหยางและแบรดลีย์ว่า "รูปแบบที่แตกต่างกันของการมีประสาทไปเลี้ยงของหัวองคชาตนั้น เน้นย้ำถึงบทบาทของมันในฐานะโครงสร้างทางการรับสัมผัส"[2] ขณะที่รายงานของหยางและแบรดลีย์ (1998) ระบุว่า "ไม่พบว่ามีส่วนใดในหัวองคชาตที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงหนาแน่นไปกว่าบริเวณอื่น"[2] ฮาลาตาและมุนเจอร์ (1986) รายงานว่า ความหนาแน่นของปลายประสาทต่าง ๆ นั้นมีมากที่สุดในคอของหัวองคชาต[20]
ฮาลาตาและสเปท (1997) รายงานว่า "หัวองคชาตประกอบไปด้วยปลายประสาทอิสระเป็นหลัก มีอยู่มากที่ปลายกระเปาะอวัยวะสืบพันธุ์ และพบยากในเม็ดพาชีเนียนและปลายรัฟฟินี ส่วนที่ปลายประสาทเมอร์เกิลและเม็ดไมสเนอร์ (ตัวรับแรงกลที่มักพบในผิวเรียบเลี่ยนที่หนา) นั้นไม่มีอยู่"[21] กระเปาะปลายอวัยวะสืบพันธุ์ที่อยู่ทั่วหัวองคชาตจะมีจำนวนมากสุดในคอองคชาตและบริเวณใกล้เส้นสองสลึง[10] ส่วนเม็ดพาชีเนียนและปลายรัฟฟินีนั้นพบได้มากในคอของหัวองคชาต ปลายประสาทที่พบมากที่สุดคือปลายประสาทอิสระที่ปรากฏในแทบทุกหนังแท้แพพิลลีของหัวองคชาต รวมถึงทั้งที่กระจายอยู่ทั่วชั้นหนังแท้ที่อยู่ลึกลงไป[10]
การมีเลือดมาเลี้ยง
[แก้]หัวองคชาตรับเลือดมาจากหลอดเลือดแดงหว่างขาในผ่านแขนงหลอดเลือดแดงด้านบนขององคชาตซึ่งทอดตัวไปตามลำขององคชาต[22] ด้านหลังคอจะมีแขนงปลายของหลอดเลือดแดงด้านบนที่มีการเชื่อมต่อกันกับหลอดเลือดแดงในแนวแกนผ่านแขนงต่าง ๆ ก่อนจะไปสิ้นสุดที่หัวองคชาต[23] การระบายเลือดดำจากองคชาตเริ่มต้นที่ฐานของหัวองคชาต โดยมีแขนงย่อยเล็ก ๆ จากคอองคชาตที่รวมตัวกันขึ้นเป็นข่ายหลอดเลือดดำบริเวณคอองคชาต เรียกว่า ข่ายหลอดเลือดดำเรโทรโคโรนัล (retro-coronal) หรือข่ายหลอดเลือดดำเรโทรบาลานิก (retro-balanic)[24] หลอดเลือดดำลึกด้านบนซึ่งเป็นหนึ่งในหลอดเลือดดำด้านบนขององคชาตสองเส้น ทำหน้าที่ในการรับเลือดที่ระบายออกจากหัวองคชาตและคอร์ปุส คาเวอร์โนซาผ่านหลอดเลือดดำรูปหมวกที่ล้อมรอบทั้งสามไว้[25][24]
หนังหุ้มปลาย
[แก้]หัวองคชาตถูกปกคลุมทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยผิวหนังที่พับเป็นสองชั้น เรียกว่า หนังหุ้มปลาย ในผู้ใหญ่การเปิดหัวองคชาตสามารถทำได้โดยง่ายโดยการดึงให้หนังหุ้มปลายร่นลงมาด้วยตนเอง หรืออาจมีการร่นลงมาได้เองโดยอัตโนมัติในระหว่างการแข็งตัวขององคชาต ระดับของการร่นหนังหุ้มปลายจะแตกต่างกันไปโดยขึ้นกับความยาวของหนังหุ้มปลาย[26] วัตถุประสงค์หลักของหนังหุ้มปลายคือปกคลุมหัวองคชาตและรูปัสสาวะ[27][28] โดยขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาเยื่อเมือกให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชื้น[29]
ความสามารถในการร่นของหนังหุ้มปลายจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปตามอายุ โดยในวัยทารก หนังหุ้มปลายจะเชื่อมติดอยู่กับหัวองคชาต[30] ทำให้การร่นลงจะไม่สามารถทำได้ และจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงช่วงต้นของวัยเด็ก และจะมีการคับแน่นในช่วงวัยก่อนวัยรุ่น[31] จากนั้นผิวหนังจะเริ่มยืดหยุ่นขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงวัยเริ่มเจริญพันธุ์ ทำให้จะสามารถร่นหนังหุ้มปลายลงได้อย่างสมบูรณ์เมื่อจำเป็น โดยในอายุสิบแปดปี เด็กผู้ชายส่วนใหญ่จะมีหนังหุ้มปลายที่สามารถร่นลงได้อย่างเต็มที่[32]
ในบางกรณี อาจมีการขริบหนังหุ้มปลายเกิดขึ้นด้วยเหตุผลด้านศาสนา วัฒนธรรม และการป้องกันโรค โดยการขริบเป็นหัตถการที่นำหนังหุ้มปลายองคชาตออกไปเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด[17] หัวองคชาตของผู้ที่ผ่านการขริบแล้วนั้นจะถูกเปิดออกและมีสภาพแห้งอย่างถาวร มีงานวิจัยหลายชิ้นเสนอว่าโดยทั่วไปแล้วนั้น หัวองคชาตของทั้งผู้ที่ได้รับการขริบหรือไม่ขริบนั้นมีความไวต่อความรู้สึกเท่ากัน[33][34][35]
การพัฒนา
[แก้]หัวองคชาตพัฒนาขึ้นจากโครงสร้างองคชาต เรียกว่า ปุ่มอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งก่อตัวขึ้นในเอ็มบริโอในทั้งสองเพศในช่วงแรกของการตั้งครรภ์[3] ในขั้นแรกนั้นจะยังไม่มีการเปลี่ยนสภาพไป ซึ่งปุ่มจะพัฒนาขึ้นไปเป็นองคชาตในระหว่างการพัฒนาระบบสืบพันธุ์หากมีฮอร์โมนเพศชายเข้ามาควบคุม เช่น แอนโดรเจน
ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม การเปลี่ยนสภาพทางเพศจะถูกกำหนดโดยตัวอสุจิซึ่งมีโครโมโซมเอกซ์หรือโครโมโซมวาย (เพศชาย) อย่างใดอย่างหนึ่งบรรจุอยู่[36] โครโมโซมวายจะมียีนกำหนดเพศ (SRY) ที่จะเข้ารหัสสารการถอดรหัสสำหรับโปรตีน TDF (สารกำหนดอัณฑะ) และไปกระตุ้นการสร้างเทสโทสเตอโรนเพื่อพัฒนาให้เอ็มบริโอเป็นเพศชายต่อไป[4][37]
แม้ว่าเพศของทารกจะถูกกำหนดตั้งแต่การปฏิสนธิ[3] การเปลี่ยนสภาพภายนอกที่สมบูรณ์ของอวัยวะจะเริ่มขึ้นในประมาณสัปดาห์ที่แปดหรือเก้าหลังการปฏิสนธิ[38] บางแหล่งข้อมูลระบุว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์ที่สิบสอง[39][40] ขณะที่แหล่งอื่นระบุว่าอวัยวะเพศจะเริ่มมีความชัดเจนในสัปดาห์ที่สิบสองและจะพัฒนาเต็มที่ในสัปดาห์ที่สิบหก[4] ทั้งองคชาตและปุ่มกระสันนั้นพัฒนามาจากเนื้อเยื่อเดียวกันที่จะกลายไปเป็นหัวองคชาตและลำขององคชาต การมีต้นกำเนิดร่วมครั้งเอ็มบริโอนี้ทำให้อวัยวะทั้งสองนี้เป็นคู่เหมือน (รูปแบบที่ต่างกันของโครงสร้างเดียวกัน)[4][41]
ในทารกในครรภ์เพศหญิง การขาดเทสโทสเตอโรนจะไปหยุดการเจริญเติบโตขององคชาต ทำให้ปุุ่มนั้นหดเล็กลงและกลายเป็นปุ่มกระสัน ในทารกในครรภ์เพศชาย การมีโครโมโซมวายจะนำไปสู่การพัฒนาของอัณฑะ ซึ่งจะหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่าแอนโดรเจนออกมาจำนวนมาก ฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้อวัยวะคงเฉยที่มีลักษณะเป็นกลางทางเพศนั้นเกิดมีความเป็นเพศชายขึ้น[3] เมื่อปุ่มได้เผชิญกับเทสโทสเตอโรนแล้ว ปุ่มจะเกิดการยืดออกและกลายเป็นองคชาต การผสานกันของรอยทบปัสสาวะและเพศซึ่งเป็นโครงสร้างรูปกระสวยที่มีส่วนทำให้เกิดร่องท่อปัสสาวะในด้านท้องของปุ่มอวัยวะสืบพันธุ์ โดยโพรงปัสสาวะและเพศจะปิดลงอย่างสมบูรณ์และกลายเป็นท่อปัสสาวะฟองน้ำและลาบิโอสโครทัลที่บวมขึ้นและกลายเป็นถุงอัณฑะ[42][4] การหลั่งของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในระยะนี้จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการกำหนดรูปร่างสุดท้ายขององคชาต และเมื่อหลังจากคลอดแล้ว ระดับของเทสโทสเตอโรนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนกว่าจะถึงวัยเริ่มเจริญพันธุ์
นัยสำคัญทางคลินิก
[แก้]เนื้อเยื่อบุผิวของหัวองคชาตประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อเยื่อเมือก โดยเบอร์ลีย์และคณะรายงานว่าการล้างหัวองคชาตด้วยสบู่มากเกินไป อาจทำให้เยื่อเมือกที่ปกคลุมหัวองคชาตอยู่นั้นแห้งและเกิดผิวหนังอักเสบแบบไม่จำเพาะได้ โดยมีลักษณะอาการเป็นการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งมักเกิดจากสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรือการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ความไวต่อสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งรวมไปถึงการระคายเคือง อาการคัน และผื่น[43]
การอักเสบของหัวองคชาต เรียกว่า การอักเสบของปลายองคชาต (balanitis) เป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ เกิดขึ้นในผู้ชายประมาณร้อยละ 3 ถึง 11 (มากกว่าร้อยละ 35 เป็นชายที่ป่วยเบาหวาน เอ็ดเวิร์ดรายงานว่าโดยทั่วไปแล้วจะพบในผู้ชายที่สุขอนามัยที่ไม่ดีหรือไม่ได้ขริบ โดยมีสาเหตุหลายประการ รวมถึงการระคายเคืองหรือติดเชื้อจุลชีพก่อโรคหลายชนิด อาการของการอักเสบของปลายองคชาตอาจปรากฏขึ้นอย่างทันทีทันใดหรือค่อย ๆ ปรากฏขึ้นก็ได้ โดยอาจรวมไปถึงความเจ็บปวด ระคายเคือง รอยแดงบนหัวองคชาต การระบุสาเหตุอย่างรอบคอบจำต้องมีการตรวจประวัติของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การเก็บตัวอย่างและการเพาะเชื้อ และการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อกำหนดการรักษาได้อย่างเหมาะสม[44]
รูเปิดของท่อปัสสาวะที่อยู่บนปลายของหัวองคชาตอาจเกิดการตีบ (meatal stenosis) ขึ้นได้ โดยมักพิจารณาว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนภายหลังจากการขริบ โดยมีอุบัติการประมาณร้อยละ 2 ถึง 20 ในเด็กผู้ชายที่ผ่านการขริบแล้ว[45][46] และไม่ค่อยพบในผู้ชายที่ไม่ขริบ[47] มีอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะคือการตีบแคบลงของรูปัสสาวะ และอาจทำให้มีการปัสสาวะบ่อยหรือแสบร้อนระหว่างปัสสาวะได้อย่างกะทันหันหรือบ่อยครั้ง[47]
สัตว์อื่น
[แก้]สัตว์ตัวผู้ในวงศ์เสือและแมวสามารถการถ่ายปัสสาวะไปข้างหลังได้โดยการโค้งส่วนปลายขององคชาตไปด้านหลัง[48][49] ในแมว หัวองคชาตจะถูกปกคลุมด้วยหนามขณะที่ในสุนัขจะเรียบ หนามองคชาตนี้ยังพบได้ในหัวองคชาตของไฮยีนาลายจุดทั้งตัวผู้และตัวเมีย[48] ในสุนัขตัวผู้ หัวองคชาตจะประกอบด้วยสองส่วน คือ บัลบัสแกลนดิส และ พารส์ลองกาแกลนดิส[50] หัวองคชาตของฟอสซานั้นจะยืดยาวลงมาเป็นระยะครึ่งของลำและจะมีหนามเว้นแต่ส่วนปลาย เมื่อเทียบกับองคชาตของแมวแล้ว องคชาตแมวจะสั้นกว่าและเต็มไปด้วยหนาม ขณะที่สัตว์ในวงศ์ชะมดและอีเห็นจะมีลักษณะเรียบและยาว[51] ในสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องรูปร่างของหัวองคชาตจะแตกต่างกันไปในแต่ละสปีชีส์[52][53][54] โดยสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องส่วนใหญ่จะมีหัวองคชาตที่แยกออกเป็นแฉก เว้นแต่มาโครพอดที่มีหัวองคชาตแบบไม่แบ่ง[5] นอกจากนี้ยังมีตุ่นปากเป็ดและอิคิดนาที่หัวองคชาตแบ่งออกเป็นสองแฉกด้วย[55][56]
หัวองคชาตของหนูที่อยู่ในบึงข้าว (marsh rice rat) จะมีลักษณะยาวและแข็งแรง[57] โดยมีความยาวเฉลี่ย 7.3 มม. และกว้าง 4.6 มม.[58]
ในทอมาโซไมส์อูคูชา จะมีหัวองคชาตที่มีลักษณะกลม สั้น และเล็ก และยังมีการแบ่งออกเป็นซีกซ้ายและขวา และมีร่องบนพื้นผิวด้าบนและเป็นสันที่ด้านล่าง ส่วนปลายจะปกคลุมด้วยหนาม ยกเว้นบริเวณใกล้ส่วนปลาย[59]
หนูวินเคิลมันน์สามารถถูกจำแนกได้อย่างง่ายจะบรรดาสัตว์ในวงศ์เดียวกันเนื่องจากมีหัวองคชาตบางส่วนที่เป็นรอยย่น[60]
ในม้าตัวผู้ เมื่อองคชาตแข็งตัวจะมีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 3 ถึง 4 เท่า โดยท่อปัสสาวะจะเปิดออกภายในส่วนที่เรียกว่าแอ่งท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นถุงขนาดเล็กที่ปลายสุดของหัวองคชาต[61] หัวองคชาตของม้าจะยื่นเข้าไปภายในลำซึ่งต่างจากมนุษย์[62][63][64][65][66][67][68][69][70]
ค้างคาวพิพิสเทรลของเรซีย์มีหัวองคชาตเป็นรูปไข่และมีลักษณะแคบ[71]
หัวองคชาตของกระรอกดินเคปจะมีขนาดใหญ่และมีกระดูกองคชาตที่เห็นได้อย่างชัดเจน[72]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Olausson, Håkan; Wessberg, Johan; Morrison, India (2016). Affective Touch and the Neurophysiology of CT Afferents. Springer Science+Business Media. p. 305. ISBN 978-1-4939-6418-5.
...the most pleasurable of all body parts when stimulated sexually: the glans (or tip) of the penis.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Yang, C. C.; W.E. Bradley (July 1998). "Neuroanatomy of the penile portion of the human dorsal nerve of the penis". British Journal of Urology. 82 (1): 109–13. doi:10.1046/j.1464-410x.1998.00669.x. PMID 9698671.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 W.George, D.Wilson, Fredrick, Jean (1984). "2 - Sexual Differentiation". Fetal Physiology and Medicine. ScienceDirect (Second, Revised ed.). Butterworth-Heinemann. pp. 57–79. doi:10.1016/B978-0-407-00366-8.50008-3. ISBN 9780407003668.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Schünke, Michael; Schulte, Erik; Lamperti, Edward D.; Schumacher, Udo (2006). Thieme Atlas of Anatomy: General Anatomy and Musculoskeletal System (ภาษาอังกฤษ). Thieme. ISBN 978-1-58890-387-7.
- ↑ 5.0 5.1 Renfree, Marilyn; Hugh Tyndale-Biscoe (1987-01-30). Reproductive Physiology of Marsupials. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-33792-2. สืบค้นเมื่อ 5 May 2013.
- ↑ Keenan-Lindsay, Lisa; Sams, Cheryl; O'Connor, Constance; Perry, Shannon; Hockenberry, Marilyn; Leonard Lowdermilk, Deitra; Wilson, David (December 17, 2021). Maternal Child Nursing Care in Canada. Elsevier Health Sciences. p. 501. ISBN 9780323759205.
- ↑ Heide Schatten; Gheorghe M. Constantinescu (21 March 2008). Comparative Reproductive Biology. John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-39025-2.
- ↑ Lee, Shin-Hyo; Ha, Tae-Jun; Koh, Ki-Seok; Song, Wu-Chul (2019). "Ligamentous structures in human glans penis". Journal of Anatomy (ภาษาอังกฤษ). 234 (1): 83–88. doi:10.1111/joa.12896. PMC 6284436. PMID 30450557.
- ↑ "penis | Description, Anatomy, & Physiology | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-09-24.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 Halata, Z.; Munger, B. L. (1986-04-23). "The neuroanatomical basis for the protopathic sensibility of the human glans penis". Brain Research. 371 (2): 205–230. doi:10.1016/0006-8993(86)90357-4. ISSN 0006-8993. PMID 3697758. S2CID 23781274.
- ↑ Dean, Robert C.; Lue, Tom F. (2005–2011). "Physiology of Penile Erection and Pathophysiology of Erectile Dysfunction". The Urologic Clinics of North America. 32 (4): 379–v. doi:10.1016/j.ucl.2005.08.007. ISSN 0094-0143. PMC 1351051. PMID 16291031.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 "Glans Penis: Anatomy, Function, and Common Conditions". Healthline (ภาษาอังกฤษ). 2020-05-08. สืบค้นเมื่อ 2022-09-24.
- ↑ HSU, G‐L., et al. "The distribution of elastic fibrous elements within the human penis." BJU International 73.5 (1994): 566-571.
- ↑ Gallup, Gordon G., et al. "The human penis as a semen displacement device." Evolution and Human Behavior 24.4 (2003): 277-289
- ↑ Dixson, Alan F. (2009). Sexual Selection and the Origins of Human Mating Systems (ภาษาอังกฤษ). OUP Oxford. p. 68. ISBN 978-0-19-156973-9.
- ↑ "Penis Frenulum: Location, Function & Conditions". Cleveland Clinic. สืบค้นเมื่อ 2022-09-24.
- ↑ 17.0 17.1 "Male circumcision: Global trends and determinants of prevalence, safety and acceptability" (PDF). World Health Organization. 2007. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-15. สืบค้นเมื่อ 2009-06-12.
- ↑ 18.0 18.1 Weech, David; Ameer, Muhammad Atif; Ashurst, John V. (2022), "Anatomy, Abdomen and Pelvis, Penis Dorsal Nerve", StatPearls, Treasure Island (FL): StatPearls Publishing, PMID 30247841, สืบค้นเมื่อ 2022-09-26
- ↑ Yang, Claire C.; Bradley, William E. (1999-01-01). "Innervation of the human glans penis". Journal of Urology. 161 (1): 97–102. doi:10.1016/S0022-5347(01)62075-5. PMID 10037378.
- ↑ Halata, Zdenek; Bryce L. Munger (April 1986). "The neuroanatomical basis for the protopathic sensibility of the human glans penis". Brain Research. 371 (2): 205–30. doi:10.1016/0006-8993(86)90357-4. PMID 3697758. S2CID 23781274.
- ↑ Halata, Zdenek; A. Spaethe (1997). Sensory innervation of the human penis. Advances in Experimental Medicine and Biology. Vol. 424. pp. 265–6. doi:10.1007/978-1-4615-5913-9_48. ISBN 978-0-306-45696-1. PMID 9361804. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-20. สืบค้นเมื่อ 2006-07-07.
- ↑ Clement, Pierre; Giuliano, Francois (2015). "3 - Anatomy and physiology of genital organs – men". Handbook of Clinical Neurology (ภาษาอังกฤษ). Vol. 130. Elsevier. pp. 19–37. doi:10.1016/B978-0-444-63247-0.00003-1. ISBN 978-0-444-63247-0. ISSN 0072-9752. PMID 26003237.
- ↑ Quartey, J. K.M. (2006), Schreiter, F.; Jordan, G.H. (บ.ก.), "Anatomy and Blood Supply of the Urethra and Penis", Urethral Reconstructive Surgery (ภาษาอังกฤษ), Berlin, Heidelberg: Springer, p. 14, doi:10.1007/3-540-29385-x_3, ISBN 978-3-540-29385-9, สืบค้นเมื่อ 2022-10-29
- ↑ 24.0 24.1 Quartey, J. K.M. (2006), Schreiter, F.; Jordan, G.H. (บ.ก.), "Anatomy and Blood Supply of the Urethra and Penis", Urethral Reconstructive Surgery (ภาษาอังกฤษ), Berlin, Heidelberg: Springer, p. 16, doi:10.1007/3-540-29385-x_3, ISBN 978-3-540-29385-9, สืบค้นเมื่อ 2022-10-29
- ↑ Hsu, Geng-Long; Hsieh, Cheng-Hsing; Wen, Hsien-Sheng; Chen, Yi-Chang; Chen, Shyh-Chyan; Mok, Martin S. (2003-11-12). "Penile Venous Anatomy: An Additional Description and Its Clinical Implication". Journal of Andrology (ภาษาอังกฤษ). 24 (6): 921–927. doi:10.1002/j.1939-4640.2003.tb03145.x. PMID 14581520.
- ↑ Velazquez, Elsa F.; Bock, Adelaida; Soskin, Ana; Codas, Ricardo; Arbo, Manuel; Cubilla, Antonio L. (2003). "Preputial variability and preferential association of long phimotic foreskins with penile cancer: an anatomic comparative study of types of foreskin in a general population and cancer patients". The American Journal of Surgical Pathology. 27 (7): 994–998. doi:10.1097/00000478-200307000-00015. ISSN 0147-5185. PMID 12826892. S2CID 34091663.
- ↑ Kirby R, Carson C, Kirby M (2009). Men's Health (3rd ed.). New York: Informa Healthcare. pp. 283. ISBN 978-1-4398-0807-8. OCLC 314774041.
- ↑ Cold, C. J.; Taylor, J. R. (1999). "The prepuce". BJU International. 83 (S1): 34–44. doi:10.1046/j.1464-410x.1999.0830s1034.x. ISSN 1464-410X.
- ↑ Dave, Sumit; Afshar, Kourosh; Braga, Luis H.; Anderson, Peter (2018). "CUA guideline on the care of the normal foreskin and neonatal circumcision in Canadian infants". Canadian Urological Association Journal (ภาษาอังกฤษ). 12 (2): E76–E99. doi:10.5489/cuaj.5033. ISSN 1920-1214. PMC 5937400. PMID 29381458.
At birth, the inner foreskin is usually fused to the glans penis and should not be forcibly retracted
- ↑ Dave, Sumit; Afshar, Kourosh; Braga, Luis H.; Anderson, Peter (2018). "CUA guideline on the care of the normal foreskin and neonatal circumcision in Canadian infants". Canadian Urological Association Journal (ภาษาอังกฤษ). 12 (2): E76–E99. doi:10.5489/cuaj.5033. ISSN 1920-1214. PMC 5937400. PMID 29381458.
the incidence of non- retractable physiological phimosis was 50% in grade 1 boys and decreased to 35% in grade 4 and 8% in grade 7 boys
- ↑ McGregor, Thomas B.; Pike, John G.; Leonard, Michael P. (2007). "Pathologic and physiologic phimosis: Approach to the phimotic foreskin". Canadian Family Physician (ภาษาอังกฤษ). 53 (3): 445–448. PMC 1949079. PMID 17872680.
most foreskins will become retractile by adulthood.
- ↑ Bleustein, Clifford B.; James D. Fogarty; Haftan Eckholdt; Joseph C. Arezzo; Arnold Melman (April 2005). "Effect of neonatal circumcision on penile neurologic sensation". Urology. 65 (4): 773–7. doi:10.1016/j.urology.2004.11.007. PMID 15833526.
- ↑ Bleustein, Clifford B.; Haftan Eckholdt; Joseph C. Arezzo; Arnold Melman (April 26 – May 1, 2003). "Effects of Circumcision on Male Penile Sensitivity". American Urological Association 98th Annual Meeting. Chicago, Illinois. Archived from the original on February 7, 2005.
- ↑ Payne, Kimberley; Thaler, Lea; Kukkonen, Tuuli; Carrier, Serge; Binik, Yitzchak (May 2007). "Sensation and Sexual Arousal in Circumcised and Uncircumcised Men". Journal of Sexual Medicine. 4 (3): 667–674. doi:10.1111/j.1743-6109.2007.00471.x. PMID 17419812.
- ↑ Arulkumaran, Sabaratnam; Regan, Lesley; Papageorghiou, Aris; Monga, Ash; Farquharson, David (2011-06-23). Oxford Desk Reference: Obstetrics and Gynaecology (ภาษาอังกฤษ). OUP Oxford. ISBN 978-0-19-162087-4.
- ↑ "Genetic Mechanisms of Sex Determination | Learn Science at Scitable". www.nature.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-09-23.
- ↑ Merz, Eberhard; Bahlmann, F. (2004). Ultrasound in Obstetrics and Gynecology. Vol. 1. Thieme Medical Publishers. ISBN 978-1-58890-147-7.
- ↑ C.L.Lachelin, Gillian (1991). "Chapter 4 - Sexual differentiation". Introduction to Clinical Reproductive Endocrinology. ScienceDirect. Butterworth-Heinemann. pp. 36–41. doi:10.1016/B978-0-7506-1171-8.50008-8. ISBN 9780750611718.
- ↑ Merz, Eberhard; Bahlmann, F. (2004). Ultrasound in Obstetrics and Gynecology. Vol. 1. Thieme Medical Publishers. ISBN 978-1-58890-147-7
- ↑ Sloane, Ethel (2002). Biology of Women (ภาษาอังกฤษ). Delmar Thomson Learning. ISBN 978-0-7668-1142-3.
- ↑ Sloane, Ethel (2002). Biology of Women. Cengage Learning. ISBN 978-0-7668-1142-3. Archived from the original on 13 June 2013. Retrieved 27 October 2015.
- ↑ "Contact Dermatitis: Irritants, Allergies, Symptoms & Treatment". Cleveland Clinic. สืบค้นเมื่อ 2022-09-25.
- ↑ "Balanitis: Types, Symptoms, Causes, Treatments, Prevention & Relief". Cleveland Clinic. สืบค้นเมื่อ 2022-09-25.
- ↑ Sorokan SK, Finlay JC, Jefferies AL (2015). "Newborn male circumcision". Paediatrics & Child Health. 20 (6): 311–320. doi:10.1093/pch/20.6.311. PMC 4578472. PMID 26435672. สืบค้นเมื่อ 20 October 2017.
- ↑ Koenig JF (22 September 2016). "Meatal stenosis". EMedicine. สืบค้นเมื่อ 2 October 2017.
- ↑ 47.0 47.1 "Meatal Stenosis: Symptoms, Diagnosis & Treatment - Urology Care Foundation". www.urologyhealth.org. สืบค้นเมื่อ 2022-09-25.
- ↑ 48.0 48.1 R. F. Ewer (1973). The Carnivores. Cornell University Press. pp. 116–. ISBN 978-0-8014-8493-3. สืบค้นเมื่อ 8 February 2013.
- ↑ Reena Mathur (2010). Animal Behaviour 3/e. Rastogi Publications. ISBN 978-81-7133-747-7. สืบค้นเมื่อ 10 February 2013.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Howard E. Evans; Alexander de Lahunta (7 August 2013). Miller's Anatomy of the Dog. Elsevier Health Sciences. ISBN 978-0-323-26623-9.
- ↑ Köhncke, M.; Leonhardt, K. (1986). "Cryptoprocta ferox" (PDF). Mammalian Species (254): 1–5. doi:10.2307/3503919. JSTOR 3503919. สืบค้นเมื่อ 19 May 2010.
- ↑ Australian Mammal Society (December 1978). Australian Mammal Society. Australian Mammal Society. pp. 73–. สืบค้นเมื่อ 25 December 2012.
- ↑ Wilfred Hudson Osgood; Charles Judson Herrick (1921). A monographic study of the American marsupial, Caēnolestes …. University of Chicago. pp. 64–. สืบค้นเมื่อ 25 December 2012.
- ↑ The Urologic and Cutaneous Review. Urologic & Cutaneous Press. 1920. pp. 677–. สืบค้นเมื่อ 25 December 2012.
- ↑ Mervyn Griffiths (2 December 2012). The Biology of the Monotremes. Elsevier Science. ISBN 978-0-323-15331-7.
- ↑ Libbie Henrietta Hyman (15 September 1992). Hyman's Comparative Vertebrate Anatomy. University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-87013-7.
- ↑ Hooper and Musser, 1964, p. 13
- ↑ Hooper and Musser, 1964, table 1
- ↑ Voss, 2003, p. 11
- ↑ Bradley, R.D.; Schmidley, D.J. (1987). "The glans penes and bacula in Latin American taxa of the Peromyscus boylii group". Journal of Mammalogy. 68 (3): 595–615. doi:10.2307/1381595. JSTOR 1381595.
- ↑ "The Stallion: Breeding Soundness Examination & Reproductive Anatomy". University of Wisconsin-Madison. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-16. สืบค้นเมื่อ 7 July 2007.
- ↑ Mating Males: An Evolutionary Perspective on Mammalian Reproduction. Cambridge University Press. 30 June 2012. ISBN 978-1-107-00001-8. สืบค้นเมื่อ 5 May 2013.
- ↑ Bassert, Joanna M; McCurnin, Dennis M (2013-04-01). McCurnin's Clinical Textbook for Veterinary Technicians - Joanna M Bassert, Dennis M McCurnin - Google Boeken. ISBN 978-1-4557-2884-8. สืบค้นเมื่อ 2013-08-16.
- ↑ Research, Equine (2005-07-01). Horseman's Veterinary Encyclopedia, Revised and Updated - Equine Research - Google Boeken. ISBN 978-0-7627-9451-5. สืบค้นเมื่อ 2013-08-16.
- ↑ Weese, Scott; Graham Munroe, Dr; Munroe, Graham (2011-03-15). Equine Clinical Medicine, Surgery and Reproduction - Graham Munroe BVSc (Hons) PhD Cert EO DESM Dip ECVS FRCVS, Scott Weese DVM DVSc DipACVIM - Google Boeken. ISBN 978-1-84076-608-0. สืบค้นเมื่อ 2013-08-16.
- ↑ König, Horst Erich; Hans-Georg, Hans-Georg; Bragulla, H (2007). Veterinary Anatomy of Domestic Mammals: Textbook and Colour Atlas - Google Boeken. ISBN 978-3-7945-2485-3. สืบค้นเมื่อ 2013-08-16.
- ↑ Hedge, Juliet (2004). Horse Conformation: Structure, Soundness, and Performance - Equine Research - Google Boeken. ISBN 978-1-59228-487-0. สืบค้นเมื่อ 2013-08-16.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Evans, Warren J; Borton, Anthony; Hintz, Harold; Dale Van Vleck, L (1990-02-15). The Horse - Google Boeken. ISBN 978-0-7167-1811-6. สืบค้นเมื่อ 2013-08-16.
- ↑ Schatten, Heide; Constantinescu, Gheorghe M (2008-03-21). Comparative Reproductive Biology - Heide Schatten, Gheorghe M. Constantinescu - Google Boeken. ISBN 978-0-470-39025-2. สืบค้นเมื่อ 2013-08-16.
- ↑ McKinnon, Angus O; Squires, Edward L; Vaala, Wendy E; Varner, Dickson D (2011-07-05). Equine Reproduction - Google Boeken. ISBN 978-0-470-96187-2. สืบค้นเมื่อ 2013-08-16.
- ↑ Bates et al., 2006, pp. 306–307
- ↑ Skurski, D., J. Waterman. 2005. "Xerus inauris", Mammalian Species 781:1-4.