ข้ามไปเนื้อหา

ดินแดนสรวงสวรรค์แห่งพระราชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดินแดนสรวงสวรรค์แห่งพระราชา
The Royal Siam Haven
โครงการ
เริ่มสร้างพ.ศ. 2568
ค่าก่อสร้าง150,000 – 200,000 ล้านบาท
สถานะมีแผนโครงการ
พื้นที่2,353 ไร่ (930 เอเคอร์)
ผู้จัดการบริษัท รอแยล สปอร์ต คอมเพลกซ์ จำกัด
เจ้าของราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ลักษณะทางกายภาพ
อาคารหลักสนามม้านางเลิ้งแห่งใหม่
ที่ตั้ง
ประเทศประเทศไทย
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
เขตคลองเตย, พระโขนง
แขวงคลองเตย, พระโขนง, พระโขนงใต้

ดินแดนสรวงสวรรค์แห่งพระราชา (อังกฤษ: The Royal Siam Haven) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมขนาดใหญ่ ของราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตเจ้าของสนามม้านางเลิ้ง ดำเนินโครงการโดย บริษัท รอแยล สปอร์ต คอมเพลกซ์ จำกัด เบื้องต้นมีการคาดการณ์ที่ตั้ง 3 แห่ง แต่จุดที่มีความเป็นไปได้สูง คือ พื้นที่ประมาณ 2,353 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนแออัดคลองเตย และท่าเรือกรุงเทพในปัจจุบัน ในพื้นที่เขตคลองเตยและเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร รูปแบบโครงการเป็นศูนย์ความบันเทิงครบวงจร ประกอบด้วย สนามม้าแห่งใหม่ ที่ย้ายมาจากสนามม้านางเลิ้งเดิมที่ถูกรื้อถอน, ศูนย์กีฬา, โรงแรม 6 ดาว, สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ, โรงพยาบาล, ภัตตาคารหรู, โรงละคร และสถานบันเทิงอื่น ๆ รวมถึงยังมีแผนก่อตั้งกาสิโนอีกด้วย โดยใช้เงินลงทุนมูลค่า 150,000 – 200,000 ล้านบาท ทำให้เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยในปัจจุบัน

ประวัติ

[แก้]

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ปฐวี สุรินทร์ กรรมการบริหารราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ราชตฤณมัยสมาคมฯ จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2567 ที่อาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยมีพลเอก จำลอง บุญกระพือ ประธานกรรมการอำนวยการฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ การกลับมาดำเนินงานอีกครั้งของราชตฤณมัยสมาคมฯ และเปิดตัวโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมแห่งใหม่ ในรูปแบบศูนย์ความบันเทิงครบวงจร (Entertainment complex) มีชื่อว่า The Royal Siam Haven[1] ซึ่งต่อมามีชื่อภาษาไทยว่า ดินแดนสรวงสวรรค์แห่งพระราชา[2] เป็นสถานบันเทิงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย มีแนวคิดที่ทันสมัย สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบัน และสอดรับกับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมบันเทิง โดยวางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางความบันเทิงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในทวีปเอเชียของชาวต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศไทย[3]

โครงการนี้ดำเนินงานโดย บริษัท รอแยล สปอร์ต คอมเพลกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรของราชตฤณมัยสมาคมฯ โดยมี อริย์ธัช รัตนศุทธพบูลย์ รองประธานกรรมการอำนวยการ นายสนามราชตฤณมัยสมาคมฯ และผู้บริหารของรอแยล สปอร์ต คอมเพลกซ์ เป็นประธานโครงการ[4] มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนแล้ว 1 ราย คือ นักลงทุนสนามม้าจากประเทศเกาหลีใต้ และมีนักลงทุนที่สนใจร่วมลงทุนอีก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเอ็มจีเอ็ม ไชน่า โฮลดิ้งส์ เจ้าของธุรกิจกาสิโนในมาเก๊า, กลุ่มนักลงทุนสนามม้าจากสหรัฐ และนักลงทุนจากประเทศจีน[5] เช่นเดียวกับนักลงทุนจากทั่วโลกที่มาร่วมประชุมเพื่อแสดงเจตจำนงขอร่วมลงทุนในโครงการนี้ในการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ[6] โดยใช้เงินลงทุนมูลค่าทั้งหมด 150,000 – 200,000 ล้านบาท[7] ทำให้เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยในปัจจุบัน ทำลายสถิติเดิมมูลค่าการลงทุน 125,000 ล้านบาท ของโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ มีกำหนดเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2568 โดยใช้เวลา 7 ปี[5]

สำหรับที่ตั้งของโครงการ มีคาดการณ์ไว้ 3 แห่ง คือ พื้นที่เขตหนองจอก จำนวนประมาณ 1,000 ไร่, พื้นที่เขตลาดกระบัง จำนวนประมาณ 2,000 ไร่ และพื้นที่ที่เจ้าของโครงการสนใจมากที่สุด คือ พื้นที่ที่ตั้งของชุมชนแออัดคลองเตย และท่าเรือกรุงเทพในปัจจุบัน บนที่ดินของกรมศุลกากร และการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งหมดประมาณ 2,353 ไร่ ในพื้นที่แขวงคลองเตย แขวงพระโขนง เขตคลองเตย และแขวงพระโขนงใต้ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร[7] เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ด้วยทำเลที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และใกล้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งทำให้สามารถดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมทุนได้มากขึ้น[8] ทั้งนี้ โครงการนี้มิได้มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่สนามม้านางเลิ้งเดิม ที่ถูกรื้อภายหลังจากราชตฤณมัยสมาคมฯ หมดสัญญาเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และปัจจุบันแปรสภาพเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่อย่างใด[9]

การจัดสรรพื้นที่

[แก้]

ดินแดนสรวงสวรรค์แห่งพระราชา ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญต่าง ๆ แบ่งตามการพัฒนาได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้[10][2]

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการก่อสร้างกาสิโนถูกกฎหมายขึ้นในพื้นที่นี้อีกด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการภายหลังจากพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรมีผลบังคับใช้[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ราชตฤณมัยสมาคมฯ ทุ่ม 2 แสนล้าน ประกาศทำ Entertainment Complex แบบครบวงจร". ข่าวสด. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
  2. 2.0 2.1 "'The Royal Siam Haven' โปรเจกต์ Entertainment Complex แสนล้าน ราชตฤณมัยฯ ปักหมุดก่อนใคร". เดอะสแตนดาร์ด. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
  3. "'ราชตฤณมัยสมาคมฯ' เปิดแผนลงทุน 2 แสนล้าน ลุย 'Entertainment Complex'". กรุงเทพธุรกิจ. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2024.
  4. "ราชตฤณมัยฯ ทุ่ม 2 แสนล้านบาท ลุย Entertainment Complex". การเงินธนาคาร. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
  5. 5.0 5.1 5.2 "เปิดไทม์ไลน์ เนรมิต เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 1.2 พันไร่ กลางกรุง ผุดกาสิโน-โรงแรม 6 ดาว". มติชน. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
  6. "ด่วน "ราชตฤณมัยสมาคมฯ ประกาศลุย Entertainment Complex 2 แสนล้าน". ฐานเศรษฐกิจ. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2024.
  7. 7.0 7.1 "เปิดแผน Royal Siam Haven เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ สนามม้านางเลิ้งริมเจ้าพระยา". ไทยรัฐ. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
  8. "เล็ง หนองจอก ลาดกระบัง คลองเตย ผุดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 2 แสนล้าน". มติชน. 27 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2024.
  9. "เปิดชื่อบอร์ด 'ราชตฤณมัย' ผุดโปรเจกต์ยักษ์ 2 แสนล้าน ไม่ใช่พื้นที่สนามม้านางเลิ้ง". ไทยโพสต์. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
  10. "ราชตฤณมัยฯ ประกาศทุ่มเงิน 2 แสนล้าน พร้อมลุย Entertainment Complex". สนุก.คอม. 26 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.