กุ้งก้ามกราม
กุ้งก้ามกราม | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ |
ไฟลัม: | สัตว์ขาปล้อง |
ไฟลัมย่อย: | Crustacea |
ชั้น: | Malacostraca |
อันดับ: | Decapoda |
อันดับย่อย: | Pleocyemata |
อันดับฐาน: | Caridea |
วงศ์: | Palaemonidae |
สกุล: | Macrobrachium De Man, 1879 |
สปีชีส์: | Macrobrachium rosenbergii |
ชื่อทวินาม | |
Macrobrachium rosenbergii De Man, 1879 |
กุ้งก้ามกราม หรือ กุ้งก้ามคราม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Macrobrachium rosenbergii) กุ้งน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Palaemonidae พบได้ทั่วพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของอินโด-แปซิฟิกจากอินเดียไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย[2]
มีเปลือกสีเขียวอมสีฟ้าหรือม่วง ก้ามยาวมีสีครามหรือม่วงเข้ม ตลอดทั้งก้ามมีปุ่มตะปุ่มตะป่ำ โดยธรรมชาติจะอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ในประเทศไทยพบแทบทุกจังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ โดยพบทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย วางไข่ในน้ำกร่อยที่เค็มจัด อาหารได้แก่ ไส้เดือน, ตัวอ่อนของลูกน้ำ, ลูกไร, ลูกปลาขนาดเล็ก, ซากของสัตว์ต่าง ๆ และในบางโอกาสก็กินพวกเดียวกันเอง พบชุกชุมทำให้จับง่าย โดยเฉพาะในฤดูหนาว ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้ปริมาณในธรรมชาติลดน้อยลง ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่าง ๆ แถบภาคกลางของไทย เช่น สุพรรณบุรี, นครปฐม, ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
โดยที่กุ้งก้ามกรามชนิดที่พบในประเทศไทย ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า M. dacqueti ส่วนชนิดที่ใช้ชื่อว่า M. rosenbergii เป็นชนิดที่พบในภูมิภาคปาปัวนิวกินี แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือเป็นชื่อพ้อง[3]
กุ้งก้ามกรามมีความยาวประมาณ 13 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 1 ฟุต น้ำหนักราว 1 กิโลกรัม เป็นกุ้งที่ถูกใช้ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ, เผา หรือทอด เป็นต้น เพราะเนื้อมีมาก เนื้อแน่น มัน อร่อย ทำให้มีราคาที่ขายสูง ปัจจุบันยังนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงามด้วย
กุ้งก้ามกรามมีชื่อเรียกที่ต่างออกไปมากมาย เช่น "กุ้งแม่น้ำ", "กุ้งหลวง" ขณะที่กุ้งตัวเมียที่มีขนาดลำตัวเล็กกว่า เรียก "กุ้งนาง" เป็นต้น[4][5]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ De Grave, S.; Shy, J.; Wowor, D.; Page, T. (2013). "Macrobrachium rosenbergii". IUCN Red List of Threatened Species. 2013: e.T197873A2503520. doi:10.2305/IUCN.UK.2013-1.RLTS.T197873A2503520.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ H. Motoh & K. Kuronuma (1980). Field guide for the edible crustacea of the Philippines. Southeast Asian Fisheries Development Center (SEAFDEC). p. 44.
- ↑ "Macrobrachium rosenbergii". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-18. สืบค้นเมื่อ 2015-05-31.
- ↑ [https://web.archive.org/web/20110926151725/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-1-search.asp เก็บถาวร 2011-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิยามคำว่า "ก้ามกราม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
- ↑ การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ กุ้งก้ามกราม
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Macrobrachium rosenbergii ที่วิกิสปีชีส์
- สิทธิ กุหลาบทอง และสาวิกา กัลปพฤกษ์. 2554. บทความปริทัศน์: ชีววิทยาของกุ้งและปูน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรี. Veridian E-Journal, Silpakorn University, 4(1): 942-951.