ข้ามไปเนื้อหา

ปลาบู่มหิดล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาบู่มหิดล
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
Actinopterygii
อันดับ: Gobiiformes
Gobiiformes
วงศ์: วงศ์ปลาบู่
Gobiidae
H. M. Smith, 1932
สกุล: Mahidolia
Mahidolia
(Valenciennes, 1837)
สปีชีส์: Mahidolia mystacina
ชื่อทวินาม
Mahidolia mystacina
(Valenciennes, 1837)
ชื่อพ้อง

สกุล

  • Rictugobius Koumans, 1932

ชนิด

  • Gobius mystacinus Valenciennes, 1837
  • Waitea mystacina (Valenciennes, 1837)
  • Gobius pulverulentus Kuhl & van Hasselt, 1837
  • Mahidiolia normani H. M. Smith & Koumans, 1932
  • Mahidiolia duque J. L. B. Smith, 1947
  • Waitea buchanani Visweswara Rao, 1972

ปลาบู่มหิดล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Mahidolia mystacina) เป็นปลาบู่ที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2475 โดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ[2] และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ในฐานะที่ได้ทรงอุปถัมภ์ และพระราชทานทุนสำหรับส่งนักเรียนไปศึกษาต่อด้านการประมงในต่างประเทศ[3] และทรงได้รับถวายสมัญญานามว่า "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย"[4]

ประวัติ

[แก้]

ในราวปี พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีการจัดตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ โดยมีชาวอเมริกันชื่อ ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ (Hugh McCormick Smith)[5] เข้ามาปฏิบัติงานด้านการเพาะเลี้ยงและการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในประเทศไทย ในตำแหน่งเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรก

ผลงานในหน้าที่รับผิดชอบของฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยโดยเฉพาะพันธุ์ปลา มีรวมกว่า 60 เรื่อง อีกทั้งยังได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์สำหรับปลาที่ค้นพบใหม่รวม 67 ชนิด เป็นสกุลใหม่รวม 21 สกุลในจำนวนนี้ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ปลาบู่ โดยให้ชื่อสกุลว่า Mahidolia เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในการที่พระองค์ทรงสนพระทัย ทรงใคร่ติดตาม และเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อการประมงของประเทศไทย พระองค์ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับคนไทย เพื่อที่จะได้มาทำงานด้านการประมงต่อจาก ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยง และการอนุรักษ์พันธุ์ปลา

จนถึงปัจจุบัน ปลาบู่มหิดลนับเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Mahidolia[6]

เนื้อหา

[แก้]
ภาพวาดขณะที่ยังใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Waitea mystacina

ปลาบู่มหิดล ค้นพบเป็นครั้งแรกในรั้วไซมาน ณ ปากแม่น้ำจันทบุรี ในเขตพื้นที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี[7][8][9] และปัจจุบันได้รับการคุ้มครองได้ในลำดับที่ 49 โดยระบุปลาบู่มหิดลทุกชนิดในสกุล Mahidolia ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับธรณีพิบัติ จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสตูล พ.ศ. 2549 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2549 โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น เพราะปลาบู่มหิดลนอกจากจะค้นพบที่จังหวัดจันทบุรีแล้ว ยังค้นพบที่จังหวัดระนองและจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

สถานการณ์ปลาบู่มหิดล

[แก้]

ปลาบู่มหิดลเป็นปลาขนาดเล็กที่หาได้ยาก ไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง ในปัจจุบันป่าชายเลนเสื่อมโทรม อันเนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เช่น การปล่อยน้ำทิ้ง และของเสียจากแหล่งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และการเลี้ยงกุ้งทะเล เป็นต้น นอกจากนี้แหล่งน้ำต่าง ๆ เกือบตลอดแขนงชายฝั่งทะเลมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะตื้นเขิน เนื่องจากมีการชะล้างหน้าดิน (soil erosion) บนพื้นที่ดินจากการประกอบกิจกรรมดังกล่าวแล้ว รวมทั้งการทำประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ประเภทกางกั้นจำพวกโพงพางปีก เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาวะความเปลี่ยนแปลงของแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีผลต่อความเสื่อมโทรมของพันธุ์สัตว์น้ำสำคัญ ๆ อย่างปลาบู่มหิดล ที่มีให้พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก อาจเป็นผลให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ได้ในอนาคต[4]

ลักษณะสำคัญของปลาบู่มหิดล

[แก้]

ปลาบู่มหิดลมีลักษณะเด่น คือ หัวค่อนข้างโต และแบนข้างมาก ปากกว้างจนมีกระดูขากรรไกรที่ยื่นไปทางข้างเลยขอบหลังตา ฟันมีขนาดเล็ก และมีแถวเดียวที่ขากรรไกรบน แต่มีหลายแถวที่ขากรรไกรล่าง ลำตัวสั้น ไม่มีเกล็ดบนหัว และบนฝาเหงือกมีเกล็ดค่อนข้างใหญ่[10][11]

ถิ่นอาศัยของปลาบู่มหิดล

[แก้]

ปลาบู่มหิดลชอบอาศัยในบริเวณปากแม่น้ำ และป่าชายเลนที่สภาพเป็นอ่าว พื้นทะเลเป็นโคลนปนทราย มักพบเสมอว่า ปลาชนิดนี้มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่กับกุ้งดีดขัน (Alpheas spp.) โดยกุ้งเป็นผู้สร้างรูเป็นที่อาศัยร่วมกันกับปลา และปลาเป็นผู้ทำความสะอาดภายในรู[12]

แผนที่การกระจายของปลาบู่มหิดล

[แก้]
การกระจายของปลาบู่มหิดล

มีการพบปลาบู่มหิดลกระจายอยู่ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย อินโดนีเซีย และไต้หวัน[13] ในส่วนของแหล่งที่พบปลาบู่มหิดลในประเทศไทย จากแหล่งข้อมูลเดียวกัน พบว่า แหล่งที่พบปลาบู่ คือ ชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี จังหวัดระนอง และจังหวัดภูเก็ต

กิจกรรมเกี่ยวกับปลาบู่มหิดล

[แก้]

เทศบาลตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ โดยความร่วมมือจาก "โครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษานิเวศวิทยาแหล่งที่พบปลาบู่มหิดล" (นำโดย ดร.ศุภกฤต โสภิกุล, ดร.ทนง ทองภูเบศร์ และคณะทำงาน) ภายใต้การดำเนินการของบุคลากรประกอบด้วย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาในคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำศูนย์การเรียนรู้เรื่อง "ปลาบู่มหิดล" ขึ้นในพื้นที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี โครงการดังกล่าวมีรูปแบบเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับมิติทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาพื้นที่แหล่งกำเนิดปลาบู่มหิดล[14] ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Larson, H. (2016). "Mahidolia mystacina". The IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T192982A2180744. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T192982A2180744.en.
  2. ๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หน้า 261 - 262
  3. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ “พระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย” เก็บถาวร 2004-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สกุลไทย ฉบับที่ 2554 ปีที่ 49 ประจำวัน อังคาร ที่ 30 กันยายน 2546
  4. 4.0 4.1 ลือชัย ดรุณชู. (2536). การศึกษาชีววิทยาบางประการของปลาบู่มหิดลในแม่น้ำจันทบุรี. กรมประมง. หน้า 4.
  5. http://www.vcharkarn.com/varticle/59035
  6. "ITIS". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-04. สืบค้นเมื่อ 2011-04-12.
  7. ทศพร วงศ์รัตน์. (2534). ปลาบู่มหิดล, วารสารการประมง, ปีที่ 44 ฉบับที่ 4 หน้า 295-313.
  8. นายวิทยา โสภิกุล อดีตประมงอำเภอแหลมสิงห์
  9. ลือชัย ดรุณชู. (2536). การศึกษาชีววิทยาบางประการของปลาบู่มหิดลในแม่น้ำจันทบุรี. กรมประมง. หน้า 7-23.
  10. Smith, H.M. 1945. The Fresh-Water Fishes of Siam, or Thailand. United States Government Printing office, Washington. 512-525
  11. The Journal of the Siam Society. 1933. Natural History Supplement. Bangkok. 255-262 pp.
  12. สุด แสงวิเชียร. (2531). “ปลาบู่มหิดล บทความพิเศษ” โรงพยาบาลศิริราช ปีที่ 40 เล่ม 9 เดือนกันยายน. หน้า 659 – 666.
  13. Froese, R. and D. Pauly. Editors (2006) - FishBase, World Wide Web electronic publication. www.fishbase.org, version (01/2006). Map generated on Sunday, October 1st, 2006, 8:45 pm. http://www.practicalfishkeeping.co.uk/pfk/pages/map.php?species_id=1159735557#[ลิงก์เสีย], (2009). Retrieved on 26 Feb 2009.
  14. ศุภกฤต โสภิกุล. (2552). เอกสารประกอบการบรรยายการจัดตั้งเครือข่ายสหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตยสถาน ภาคตะวันออก (โครงการนำร่องการจัดทำเขตอนุรักษ์ปลาบู่มหิดลในแหลมสิงห์). ราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร.
  15. อีกทั้งฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: Vulnerable (VU) ประเภทปลา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]