ข้ามไปเนื้อหา

ปลาพลวงชมพู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาพลวงชมพู
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: ปลาตะเพียน
วงศ์: วงศ์ปลาตะเพียน
สกุล: Tor

(Valenciennes, 1842)[1]
สปีชีส์: Tor douronensis
ชื่อทวินาม
Tor douronensis
(Valenciennes, 1842)[1]

ปลาพลวงชมพู (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tor douronensis) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีรูปร่างคล้ายปลาเวียน (T. tambroides) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน แต่ลำตัวเพรียวและเป็นทรงกระบอกมากกว่า ส่วนหัวค่อนข้างมน ริมฝีปากหนา ปากกว้างเล็กน้อย ใต้คางมีติ่งเนื้อสั้น ๆ มีหนวด 2 คู่เห็นชัดเจน ตาอยู่ค่อนไปทางด้านบนหัว เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบหลังมีก้านแข็ง 1 อัน ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นสั้น ลำตัวด้านบนมีสีคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างลำตัวสีเงินเหลือบชมพูหรือทอง ครีบสีคล้ำ ด้านท้องสีขาว มีขนาดความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ใหญ่สุดที่พบ 35 เซนติเมตร

ในประเทศไทยพบเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่แม่น้ำตาปีไปจนถึงมาเลเซีย โดยอาศัยอยู่ในลำธารหรือแม่น้ำที่มีฝั่งเป็นป่าร่มครึ้มรวมถึงบริเวณน้ำตก พบมากโดยเฉพาะในน้ำตกฮาลา-บาลาภายในอุทยานแห่งชาติฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา เป็นปลาที่มีรสชาติดี เป็นที่ขึ้นชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดยะลา มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาท และในฮ่องกงอาจมีราคาสูงถึง 5,000 บาท นับเป็นปลาที่มีราคาแพงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังจัดว่าเป็นปลาตระกูลปลาพลวงหรือปลาเวียนเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถรับประทานทั้งเกล็ดได้[2] มีชื่อเรียกเป็นภาษามลายูปัตตานีว่า "กือเลาะฮ" หรือ "กือเลาะฮ แมเลาะฮ"

ใน พ.ศ. 2524 ปลาพลวงชมพูอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนบางลาง ทำให้สูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ ต่อมามีการรวบรวมพันธุ์ปลาจากคลองฮาลา-บาลาเพื่อเพาะขยายพันธุ์ แต่ก็ยังเพาะได้น้อยมาก จนกระทั่ง พ.ศ. 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังเขื่อนบางลางและได้ทรงปล่อยพันธุ์ปลาลงเขื่อน ต่อมามีพระราชดำริให้มีหาปลาพลวงชมพูมาเลี้ยงไว้ในฟาร์มพระราชดำริ จนกระทั่งสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากแล้วในปัจจุบันโดยสถานีประมงจังหวัดยะลา และถือเป็นปลาประจำจังหวัดยะลา[3] แต่โดยรวม ปลาพลวงชมพูก็ยังเป็นปลาที่ยังเพาะขยายพันธุ์ได้น้อยและลำบากอยู่ เนื่องจากเป็นปลาที่วางไข่น้อย ครั้งละเพียง 500–1,000 ฟองเท่านั้น แตกต่างจากปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกันที่เมื่อวางไข่แล้วจะให้ปริมาณไข่เป็นแสนฟอง อีกทั้งยังมีการตกไข่หรือไข่สุกไม่พร้อมกันอีกต่างหาก[2]

ปลาพลวงชมพูนอกจากจะนำมาเป็นอาหารแล้ว ยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย[4] [5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2006). "Tor douronensis" in FishBase. April 2006 version.
  2. 2.0 2.1 หน้า 7, "ปลาพลวงชมพู เลี้ยงได้...กิโลละ 2 พัน." โดย ชาติชาย ศิริพัฒน์. ไทยรัฐ ปีที่ 67 ฉบับที่ 21423: วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก.
  3. "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานสีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ ครั้งที่ 8". ช่อง 7. 10 August 2014. สืบค้นเมื่อ 10 August 2014.
  4. ปลา 'พลวงชมพู' รสชาติดี...เลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้[ลิงก์เสีย]จากเว็บไซต์กรมประมง (ข้อมูลเดลินิวส์)
  5. "เรื่องเล่าเช้านี้". ช่อง 3. 8 August 2014. สืบค้นเมื่อ 10 August 2014.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]