ข้ามไปเนื้อหา

การแบ่งยุคสมัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ การแบ่งยุคสมัย (อังกฤษ: Periodization) คือกระบวนการหรือการศึกษาที่แบ่งอดีตออกเป็นช่วงเวลาที่แยกออกจากกัน มีการกำหนดปริมาณ และมีชื่อเรียก เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือวิเคราะห์[1] โดยทั่วไปแล้ว วิธีการนี้มุ่งเน้นความเข้าใจกระบวนการทางประวัติศาสตร์ทั้งในปัจจุบันและอดีต รวมถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุภาพ (causality) ที่อาจเชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านั้นเข้าด้วยกัน

การแบ่งยุคสมัยช่วยให้เราแบ่งช่วงเวลาออกเป็นส่วน ๆ ได้อย่างสะดวก โดยเหตุการณ์ภายในยุคสมัยเดียวกันมักจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม การกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่ชัดเจนของ "ยุคสมัย" ใด ๆ มักเป็นการกำหนดตามอำเภอใจ เนื่องจากการกำหนดเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและตลอดช่วงประวัติศาสตร์ ระบบการแบ่งยุคสมัยแม้จะขึ้นอยู่กับการกำหนดโดยพลการบ้าง แต่ก็ยังคงเป็นกรอบช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ การแบ่งยุคสมัยที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ มักถูกท้าทายและนิยามใหม่เสมอ แต่เมื่อมีการกำหนดขึ้นแล้ว "แบรนด์" ของแต่ละยุคสมัยก็สะดวกสบายเสียจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ประเพณีการแบ่งประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคหรือสมัยนั้น มีมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการประดิษฐ์ตัวเขียน และสามารถสืบค้นไปถึงยุคสุเมเรียนได้เลย รายชื่อกษัตริย์สุเมเรียน ซึ่งมีอายุย้อนหลังไปถึง สหัสวรรษที่สองก่อนคริสต์ศักราช — แม้จะไม่ถือว่าเป็นข้อมูลที่แม่นยำทางประวัติศาสตร์ในหลายส่วน— ถูก "แบ่งยุคสมัย" เป็นช่วงรัชกาลของราชวงศ์ต่าง ๆ การแบ่งยุคสมัยแบบดั้งเดิมจะแบ่งออกเป็น ยุคทอง ยุคเงิน ยุคสำริด ยุควีรบุรุษ และยุคเหล็ก มีที่มาจากเฮสิโอด ในช่วงศตวรรษที่ 8 – 7 ก่อนคริสต์ศักราช

ในยุคกลาง มีรูปแบบการแบ่งยุคสมัยตามหลักเทววิทยาของศาสนาคริสต์แบบหนึ่งที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป นั่นคือ แนวคิดของนักบุญเปาโล ที่แบ่งประวัติศาสตร์ออกเป็น 3 ยุค โดยยุคแรกคือยุคก่อนโมเสส (ภายใต้ธรรมชาติ) ยุคที่สองอยู่ภายใต้กฎหมายโมเสส (อยู่ภายใต้กฎหมาย) และยุคที่สามในยุคของพระคริสต์ (อยู่ภายใต้พระหรรษทาน) แต่รูปแบบการแบ่งยุคสมัยที่อาจเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในยุคกลาง น่าจะเป็นทฤษฎีหกยุคของโลก (Six Ages of the World) ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5[2] โดยกำหนดให้แต่ละยุคมีระยะเวลาหนึ่งพันปี นับตั้งแต่ อดัม มาถึงยุคปัจจุบัน โดยยุคปัจจุบัน (ในยุคกลาง) ถือเป็นยุคที่หกและเป็นยุคสุดท้าย

ภูมิหลัง

[แก้]

บล็อกการแบ่งยุคสมัยเหล่านี้อาจมีการทับซ้อน ขัดแย้ง หรือโต้แย้งกันเองได้ บางช่วงแบ่งตามวัฒนธรรม (เช่น ยุคทอง) บางช่วงอ้างอิงตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ (เช่น สมัยระหว่างสงคราม) ขณะที่บางช่วงถูกกำหนดโดยระบบหมายเลขทศนิยม (เช่น 'ทศวรรษ 1960', 'ศตวรรษที่ 17') นอกจากนี้ ยังมีบางยุคที่ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพล (เช่น 'ยุคนโปเลียน ', ' ยุควิกตอเรียน ' และ 'ยุคปอร์ฟิเรียโต')

บางกรณี การแบ่งยุคสมัยเหล่านี้อาจมีความเฉพาะเจาะจงทางภูมิศาสตร์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแบ่งยุคสมัยที่ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญหรือราชวงศ์ที่ปกครอง เช่น ยุคแจ็กสัน ในอเมริกา, ยุคเมจิ ในญี่ปุ่น หรือ ยุคเมรอแว็งเฌียง ในฝรั่งเศส

แม้แต่คำศัพท์ทางวัฒนธรรมก็ยังมีความหมายจำกัดอยู่แค่บางพื้นที่ ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ "ยุคโรแมนติก" แทบจะไม่มีความหมายใดนอกเหนือจากโลกตะวันตกของยุโรปและวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากยุโรป ในทำนองเดียวกัน "ยุค 1960" ถึงแม้จะสามารถใช้กับทุกพื้นที่ทั่วโลกตามระบบปฏิทินคริสต์ศักราช แต่ก็ยังคงมีความหมายเฉพาะทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า "ยุค 60s ไม่เคยเกิดขึ้นในสเปน" เพราะในช่วงเวลานั้น สเปนอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมอันเข้มงวดของ ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ผู้นำเผด็จการที่เคร่งครัดในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  ทำให้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นในยุค 60 ของประเทศอื่น ๆ  เช่น การปฏิวัติทางเพศ วัฒนธรรมต่อต้าน การกบฏของเยาวชน  ไม่สามารถเบ่งบานได้ในสังคมสเปนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์ อาเธอร์ มาร์วิก ที่กล่าวว่า "ยุค 60 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และสิ้นสุดลงในช่วงต้นทศวรรษ 1970" เนื่องจากบริบททางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่กำหนดความหมายของช่วงเวลานี้  มีความครอบคลุมมากกว่ากรอบตายตัวของช่วง 10 ปีที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 เท่านั้น การใช้กรอบเวลายืดหยุ่นนี้เรียกว่า "ทศวรรษ 1960 อันยาวนาน" แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากนักประวัติศาสตร์ท่านอื่น ๆ ที่เคยเสนอแนวคิดแบ่งช่วงเวลา เช่น "ศตวรรษที่ 19 อันยาวนาน" (ค.ศ. 1789–1914) เพื่อเชื่อมโยงการแบ่งช่วงเวลาแบบทศวรรษตามเลขกับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมที่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับ เอริค ฮอบส์บาวม์ นักประวัติศาสตร์อีกท่าน  ที่เสนอแนวคิด "ศตวรรษที่ 20 อันแสนสั้น [en]" ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนถึงสิ้นสุด สงครามเย็น

คำศัพท์ที่ใช้แบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ (periodizing terms) มักจะมีความหมายแฝงในทางบวกหรือลบ ส่งผลต่อการใช้และการตีความ เช่น คำว่า สมัยวิกตอเรีย มักถูกมองในแง่ลบ ชวนให้นึกถึงสังคมที่เคร่งครัดกฎเกณฑ์ทางเพศ และความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ในขณะเดียวกัน  คำศัพท์อื่น ๆ  อย่างเช่น สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) กลับมีลักษณะเชิงบวกอย่างชัดเจน ส่งผลให้ความหมายของคำศัพท์แบ่งยุคสมัยเหล่านี้อาจขยายความหมายออกไปได้ ตัวอย่างเช่น สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอังกฤษ มักถูกนำไปใช้ครอบคลุมช่วงเวลาที่ตรงกับ สมัยของอลิซาเบธ หรือรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งถัดมาจากสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลีราว 200 ปี อย่างไรก็ตาม สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในจักรวรรดิการอแล็งเฌียงกลับถูกกำหนดให้เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของชาร์เลอมาญ กษัตริย์แห่งแฟรงก์ และรัชสมัยของทายาทในราชวงศ์ต่อมา ซึ่งนับว่าไม่ตรงกับความหมายดั้งเดิมของ "ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา" ที่สื่อถึงการฟื้นคืนชีพของศิลปวิทยาการกรีกโรมัน ตัวอย่างอื่น ๆ ที่ไม่ได้สื่อถึงความหมายของ "การเกิดใหม่" ในแง่ของการฟื้นฟู  เช่น สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการของอเมริกา ครอบคลุมช่วงเวลาราวคริสต์ทศวรรษ 1820-1860 เน้นด้านวรรณกรรมเป็นหลัก  และ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาฮาร์เล็ม ในคริสต์ทศวรรษ 1920 เน้นด้านวรรณกรรมเป็นหลัก  แต่รวมถึงดนตรีและศิลปะทัศนศิลป์ด้วย

เพทราร์ก เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับ "ยุคมืด" ของยุโรป ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปสู่การแบ่งช่วงเวลาประวัติศาสตร์ตะวันตกออกเป็น 3 ยุค  ได้แก่ สมัยโบราณ ยุคหลังคลาสสิก และ สมัยใหม่

แนวคิดเรื่อง "การฟื้นคืนชีพ" (rebirth) ของการเรียนรู้ภาษาละตินโบราณนั้น เชื่อกันว่า เริ่มต้นโดย เพทราร์ก (ค.ศ. 1304–1374) กวีชาวอิตาลี ผู้บุกเบิกแนวคิด มนุษยนิยมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา แม้ว่าแนวคิดการฟื้นคืนชีพนี้ จะถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยของเพทราร์กแล้วก็ตาม การใช้คำว่า เรอเนซองส์ ส่วนใหญ่ มักหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในอิตาลี  โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ช่วง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้น ราวปี ค.ศ. 1500–1530 แนวคิดนี้มักเน้นไปที่ศิลปะทัศนศิลป์ โดยเฉพาะผลงานของศิลปินระดับปรมาจารย์อย่าง ไมเคิลแองเจโล, ราฟาเอล และ เลโอนาร์โด ดา วินชี นอกจากนั้น อาจมีการใช้คำนี้กับศิลปะแขนงอื่น ๆ บ้าง แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่ามีประโยชน์หรือไม่ในการใช้คำนี้เพื่ออธิบายช่วงเวลาในด้านเศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์การเมือง ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์จำนวนมาก เปลี่ยนมาเรียกช่วงเวลาที่เคยรู้จักกันว่า สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และ สมัยการปฏิรูปศาสนา ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ ยุคสมัยใหม่ตอนต้น แทน  ซึ่งยุคสมัยใหม่ตอนต้นกินเวลายาวนานกว่าเดิมมาก การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อหลักสูตรที่เปิดสอนและหนังสือที่ตีพิมพ์  ให้สอดคล้องกับการแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไป  สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความแตกต่างระหว่าง ประวัติศาสตร์สังคม และ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การใช้คำศัพท์ใหม่นี้ ชี้ให้เห็นถึงขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขึ้น  และความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับโลกภายนอก

คำว่า ยุคกลาง ก็มีที่มาจาก เพทราร์ก เช่นเดียวกัน เขาเปรียบเทียบยุคสมัยของเขากับโลกโบราณหรือโลกยุคคลาสสิก โดยมองว่าช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่นั้น  เป็นยุคแห่งการฟื้นฟู  หลังจากผ่านช่วงเวลายุคมืดอันยาวนาน  ซึ่งก็คือยุคกลาง แม้จะมีแนวคิดที่ว่ายุคกลางเองเป็นช่วงเวลาที่อยู่ตรงกลางระหว่างยุคโบราณ และยุคใหม่ ยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่ยุคกลางเองก็สามารถแบ่งช่วงเวลาออกได้เป็น ยุคกลางตอนต้น, ยุคกลางตอนกลาง และ ยุคกลางตอนปลาย คำว่า ยุคมืด ไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้วในหมู่นักวิชาการสมัยใหม่  เนื่องจากมีความหมายแฝงทางลบ  แม้จะมีนักเขียนบางคนพยายามนำคำนี้กลับมาใช้  แต่ก็มักจะพยายามลดทอนความหมายเชิงลบนั้นออกไป คำว่า "ยุคกลาง" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำคุณศัพท์ ในยุคกลาง อาจมีความหมายในเชิงลบเมื่อใช้ในภาษาพูดทั่วไป  แต่ความหมายเชิงลบนี้ ไม่ได้นำไปใช้กับคำศัพท์ทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม คำศัพท์อื่น ๆ อย่างเช่น สถาปัตยกรรมกอทิก ซึ่งแต่เดิมเคยถูกใช้เรียกศิลปะรูปแบบเฉพาะที่มีในช่วงยุคกลางตอนกลาง  ปัจจุบัน ความหมายเชิงลบที่เคยมีได้เลือนหายไป  กลายเป็นความหมายใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมืดมัว (ดู สถาปัตยกรรมกอทิก และ วัฒนธรรมย่อยกอทิก)

กอทิก และ บาโรก ถูกตั้งชื่อในยุคศิลปะถัดมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะแบบเดิมไม่ได้รับความนิยม คำว่า "กอทิก" ถูกนำมาใช้เป็นคำดูถูก สิ่งของต่าง ๆ ที่มาจากยุโรปเหนือ  ซึ่งโดยนัยหมาย ก็หมายถึง ป่าเถื่อน ผู้ที่อาจเป็นคนแรกที่ใช้คำนี้คือ จอร์โจ วาซารี เขาบัญญัติคำว่า "กอทิก" ขึ้นด้วยความพยายามที่จะอธิบาย (โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม) สิ่งที่เขาพบว่าน่ารังเกียจ คำว่า บาโรก มาจากคำที่คล้ายกันในภาษาโปรตุเกส สเปน หรือฝรั่งเศส โดยแท้จริงแล้วหมายถึงหมายถึง ไข่มุกที่ไม่กลมหรือมีรูปร่างผิดปกติ การใช้งานครั้งแรกนอกจากวงการผลิตเครื่องประดับ คือในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เพื่อ วิจารณ์ดนตรี ที่ฟังดู ซับซ้อน และหยาบเกินไป ต่อมาคำนี้ถูกนำไปใช้กับสถาปัตยกรรมและศิลปะด้วย[3] แนวคิดเกี่ยวกับยุคบาโรกเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 และโดยทั่วไปถือว่าเริ่มประมาณปี 1600 ครอบคลุมทุกแขนงศิลปะ นักประวัติศาสตร์ดนตรี กำหนดยุคบาโรก สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1750 ตรงกับปีที่ โยฮัน เซบาสทีอัน บัค นักดนตรีชื่อดัง เสียชีวิตในทางกลับกัน นักประวัติศาสตร์ศิลป์ มองว่า ยุคบาโรกยุคสำคัญ สิ้นสุดลงเร็วกว่านั้นมาก ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค

ระบบนับสามสมัย

[แก้]

ในทางโบราณคดี วิธีการแบ่งช่วงเวลาของยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนต้น มักอาศัยการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมวัตถุ และเทคโนโลยีเป็นหลัก เช่น ยุคหิน ยุคสำริด และ ยุคเหล็ก รวมถึงการแบ่งช่วงย่อยภายในยุคเหล่านี้ตามลักษณะรูปแบบที่แตกต่างกันของเครื่องมือเครื่องใช้ แม้ว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เราสามารถกำหนดอายุที่แน่นอนของแหล่งโบราณสถานหรือโบราณวัตถุจำนวนมากได้ด้วยวิธีอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี และวิธีการทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ แต่ระบบการแบ่งช่วงเวลายาวนานเหล่านี้ก็น่าจะยังคงถูกใช้ต่อไป ในหลายกรณี อารยธรรมใกล้เคียงที่มีระบบการเขียนได้ทิ้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอารยธรรมที่ไม่มีระบบการเขียนไว้บ้าง ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบได้ ระบบการแบ่งช่วงเวลานี้ยังมีการแบ่งย่อยลงไปอีก เช่น การแบ่งยุคหินออกเป็น ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง และยุคหินใหม่ โดยจอห์น ลับบ็อก ในปี ค.ศ. 1865[4]

ประวัติศาสตร์นิพนธ์

[แก้]

บางเหตุการณ์หรือช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ส่งผลรุนแรงต่อวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ย่อมก่อให้เกิดจุดแบ่งช่วงเวลาตามธรรมชาติในประวัติศาสตร์ บ่อยครั้งจุดแบ่งเหล่านี้มักถูกกำหนดโดยการใช้คำหรือวลีทั้ง ก่อน (pre-) และ หลัง (post-) นำหน้าเหตุการณ์ อย่างแพร่หลาย เช่น ใน ยุคก่อนการปฏิรูปศาสนา (pre-Reformation) และ ยุคหลังการปฏิรูปศาสนา (post-Reformation) หรือ ยุคก่อนอาณานิคม (pre-colonial) และ ยุคหลังอาณานิคม (post-colonial) ทั้งคำว่า ยุคก่อนสงคราม (pre-war) และ ยุคหลังสงคราม (post-war) ล้วนยังคงเข้าใจได้ว่าหมายถึง สงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าในอนาคต วลีเหล่านี้อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ประวัติศาสตร์โลก

[แก้]
ตัวอย่างช่วงเวลาในประวัติศาสตร์

นักประวัติศาสตร์ยุคสำคัญ ๆ หลายสมัยอาจใช้ ได้แก่:

  1. ยุคก่อนประวัติศาสตร์
  2. ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ
  3. สมัยโบราณตอนปลาย
  4. ประวัติศาสตร์ยุคหลังคลาสสิก
  5. ยุคต้นสมัยใหม่
  6. ยุคสมัยใหม่ตอนปลาย
  7. ประวัติศาสตร์สมัยใหม่[5] (บางครั้งคริสต์ศตวรรษที่ 19 และสมัยใหม่ผสมผสานกัน)[5]
  8. ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

แม้ว่าคำว่า ยุคหลังคลาสสิก (post-classical) จะมีความหมายเหมือนกันกับ ยุคกลาง ของยุโรปตะวันตก แต่คำว่า ยุคหลังคลาสสิก ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งช่วงเวลาแบบไตรภาค แบบดั้งเดิมของประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตก ที่แบ่งเป็น 'ยุคคลาสสิก' 'ยุคกลาง' และ 'ยุคใหม่' เสมอไป

การกำหนดช่วงเวลาที่เป็นที่นิยมบางช่วงโดยใช้คำยาวหรือสั้นโดยนักประวัติศาสตร์ ได้แก่:

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

การอ้างอิง

[แก้]
  1. "Definition of periodization". Dictionary.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2022.
  2. Alexander, David C. (2008). Augustine's Early Theology of the Church: Emergence and Implications, 386–391 (ภาษาอังกฤษ). Peter Lang. p. 219. ISBN 978-1-4331-0103-8.
  3. Pasiscla, Claude V., "Baroque" in Grove Music Online, Oxford Music Online. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 2014.
  4. "John Lubbock's "Pre-Historic Times" is Published (1865)". History of Information. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มิถุนายน 2017. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2016.
  5. 5.0 5.1 Stearns, Peter N. (2017). "Periodization in World History: Challenges and Opportunities". ใน R. Charles Weller (บ.ก.). 21st-Century Narratives of World History: Global and Multidisciplinary Perspectives. Palgrave. ISBN 978-3-319-62077-0.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Lawrence Besserman, ed., The Challenge of Periodization: Old Paradigms and New Perspectives, 1996, ISBN 0-8153-2103-1. See Chapter 1 for an overview of the postmodernist position on periodization.
  • Bentley, J. H. (1996). Cross-Cultural Interaction and Periodization in World History. American Historical Review (June): 749–770.
  • Grinin, L. (2007). Periodization of History: A theoretic-mathematical analysis. In: "History & Mathematics". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2012. Moscow: KomKniga/URSS. pp. 10–38. ISBN 978-5-484-01001-1.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
Wikiquote
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Periodization