การเลิกระบบฟิวดัลในประเทศฝรั่งเศส
การประชุมสภาสมัชชาธรรมนูญแห่งชาติในคืนวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1789 | |
วันที่ | 4–11 สิงหาคม ค.ศ. 1789 |
---|---|
ที่ตั้ง | พระราชวังแวร์ซาย กรุงปารีส |
ผล | อภิสิทธิ์ของขุนนางและพระสงฆ์ถูกเพิกถอน |
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสคือ ราตรี 4 สิงหาคม (ฝรั่งเศส: Nuit du 4 août) ซึ่งเป็นการเลิกระบบศักดินา ตลอดจนเลิกกฎเกณฑ์เก่า ระบบภาษี และอภิสิทธิ์ที่หลงเหลือจากยุคศักดินา สภาธรรมนูญแห่งชาติได้ประชุมกันในคืนวันที่ 4 สิงหาคม และประกาศว่า "สภาแห่งชาติจะล้มเลิกระบบศักดินาทั้งปวง"[1] ซึ่งรวมถึงสิทธิถือครองที่ดินของฐานันดรที่สอง (พวกขุนนาง) และเครื่องทศางค์ที่สั่งสมโดยฐานันดรที่หนึ่ง (คณะสงฆ์คาทอลิก)[2][3] ระบบการพิจารณาคดีแบบเก่าถูกระงับใช้ในคราวเดียวกัน และถูกยกเลิกที่สุดใน ค.ศ. 1790[4]
เหตุการณ์
[แก้]ภายหลังการทลายคุกบัสตีย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนไปทั่วกรุงปารีสและแถบชนบท พวกขุนนางถูกทำร้ายและคฤหาสน์ต่าง ๆ ของชนชั้นสูงถูกเผาทำลาย วิหารและปราสาทหลายแห่งถูกโจมตีและทำลายเช่นกัน กลายเป็นช่วงที่เรียกว่า ลากร็องด์เปอร์ (La Grande Peur) หรือความกลัวครั้งใหญ่ สังคมอยู่ในภาวะหวาดผวาว่าใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีแต่เพียงพวกคนไร้บ้านและชาวนาชาวไร่ผู้หิวโหยเท่านั้น ยังมีพวกคนชนบทที่ถือโอกาสนี้เข้าร่วมผสมโรง
เหตุลากร็องด์เปอร์ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสตกอยู่ในภาวะเปราะบาง รัฐบาลขาดอำนาจในการตัดสินใจ การจลาจลที่ยืดเยื้อทำให้ต่างฝ่ายต่างวิตกว่าเหตุการณ์จะยิ่งบานปลายเกินกว่าจะควบคุม ซึ่งก็เป็นจริงดังว่า นับเป็นสภาวะที่ประเทศไม่เคยประสบพบมาก่อน
ปลายเดือนกรกฎาคม มีรายงานว่าชาวไร่ผู้ก่อจลาจลกำลังมุ่งหน้าเข้ากรุงปารีสจากทั่วทุกทิศของประเทศ สภาแห่งชาติจึงตัดสินใจที่จะปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมเสียใหม่เพื่อหวังลดอุณหภูมิทางการเมืองและจะนำไปสู่การปรองดอง สภาแห่งชาติได้พิจารณาวาระนี้ในกลางดึกของวันที่ 4 สิงหาคม และในเช้าวันที่ 5 นั้นเองก็ประกาศว่าจะมีการล้มเลิกระบบศักดินาทั้งหมด รวมถึงเพิกถอนสิทธิพิเศษของคณะสงฆ์และขุนนาง กฤษฎีกานี้ตราขึ้นอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 11 สิงหาคม[5]