รัฐประหาร 18 ฟรุกตีดอร์
รัฐประหาร 18 ฟรุกตีดอร์ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ การปฏิวัติฝรั่งเศส | |||||||
นายพล ชาร์ล-ปีแยร์ โอเฌอโร นำกำลังเข้ายึดพระราชวังตุยเลอรีเพื่อจับกุมชาร์ล ปีเชอกรูว์ และบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่า วางแผนล้มล้างสาธารณรัฐ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
คณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส | ฝ่ายนิยมราชวงศ์ในสภาห้าร้อยและสภาผู้อาวุโส | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ฝ่ายการเมือง: ฝ่ายทหาร: ชาร์ล-ปีแยร์ โอเฌอโร ลาซาร์ อ็อช |
ฟร็องซัว-มารี มาร์กีแห่งบาร์เตเลมี ชาร์ล ปีเชอกรูว์ ฟร็องซัว บาร์เบ-มาร์บัว[1] | ||||||
กำลัง | |||||||
ทหาร 30,000 คน[1] | |||||||
ความสูญเสีย | |||||||
|
รัฐประหารในวันที่ 18 ฟรุกตีดอร์ ปี 5 (ฝรั่งเศส: coup d'État du 18 fructidor an V) ตรงกับวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1797 ในปฏิทินสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นการยึดอำนาจการปกครองในสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ผู้ก่อการ คือ สมาชิกคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในเวลานั้น โดยได้การสนับสนุนจากกองทัพฝรั่งเศส[2] รัฐประหารครั้งนี้มีสาเหตุมาจากผลการเลือกตั้งเมื่อหลายเดือนก่อนหน้า ซึ่งทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่นิยมราชวงศ์ได้รับตำแหน่งส่วนใหญ่ในองค์กรนิติบัญญัติ นำไปสู่ความหวาดกลัวว่า จะเกิดการรื้อฟื้นราชวงศ์บูร์บงและการหวนคืนสู่ระบอบเก่า[3] ปอล บารัส (Paul Barras), ฌ็อง-ฟร็องซัว เรอแบล (Jean-François Reubell) และหลุยส์ มารี เดอ ลา เรแวลีแยร์-เลโป (Louis Marie de La Révellière-Lépeaux) สมาชิกคณะดีแร็กตัวร์สามในห้าคน พร้อมด้วยการสนับสนุนจากชาร์ล มอริส เดอ ตาแลร็อง-เปรีกอร์ (Charles Maurice de Talleyrand-Périgord) รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ[4] เป็นผู้ดำเนินการรัฐประหาร มีผลเป็นการยกเลิกการเลือกครั้งที่ผ่านมาและขับผู้นิยมกษัตริย์ออกจากสภานิติบัญญัติ[5]
ภูมิหลัง
[แก้]ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1795 ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่นิยมราชวงศ์ได้ตำแหน่งถึง 87 ตำแหน่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในองค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งประกอบด้วยสภาห้าร้อย (Conseil des Cinq-Cents) กับสภาผู้อาวุโส (Conseil des Anciens) จากฝ่ายนิยมสาธารณรัฐไปเป็นฝ่ายนิยมราชวงศ์[1] หลังจากนั้นไม่นาน เสียงข้างมากกลุ่มใหม่นี้ก็ยกเลิกกฎหมายหลายฉบับที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนักบวชผู้ไม่กระทำสัตย์ปฏิญาณตามธรรมนูญทางแพ่งสำหรับคณะสงฆ์ (Constitution civile du clergé) และที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มเอมีเกร (emigré) ทั้งยังเรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรี 4 คนในรัฐบาลฌากอแบ็ง[1]
ภายใต้สภาวะที่ฝ่ายนิยมราชวงศ์มีเสียงข้างมากเช่นนี้ ฟร็องซัว-มารี มาร์กีแห่งบาร์เตเลมี (François-Marie, marquis de Barthélemy) ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า นิยมกษัตริย์ ก็ได้รับเลือกจากองค์กรนิติบัญญัติให้เข้าเป็นสมาชิกคณะดีแร็กตัวร์แทนที่เอเตียน-ฟร็องซัว เลอตูร์เนอร์ (Étienne-François Letourneur) ที่พ้นจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ฟร็องซัว บาร์เบ-มาร์บัว (François Barbé-Marbois) ก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้อาวุโส[1] และฌ็อง-ชาร์ล ปีเชอกรูว์ (Jean-Charles Pichegru) ซึ่งมีความเห็นกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นผู้เห็นใจในระบอบกษัตริย์และการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ ก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาห้าร้อย[2]
การยึดอำนาจ
[แก้]หลังจากที่นายพล นาปอเลอง บอนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) ส่งเอกสารเกี่ยวกับแผนการกบฏของปีเชอกรูว์ให้แก่คณะดีแร็กตัวร์ คณะดีแร็กตัวร์จึงเห็นว่า องค์กรนิติบัญญัติทั้งหมดกำลังวางแผนล้มล้างสาธารณรัฐ จึงเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยในเช้าตรู่วันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1797 มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วปารีส และมีการออกกฤษฎีกาว่า ผู้ใดสนับสนุนการนิยมกษัตริย์ หรือการรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญ ฉบับ ค.ศ. 1793 ต้องถูกยิงทิ้งทันทีโดยไม่ต้องไต่สวนก่อน และเพื่อสนับสนุนการยึดอำนาจของคณะดีแร็กตัวร์ในครั้งนี้ นายพล ลาซาร์ อ็อช (Lazare Hoche) ผู้บัญชาการกองทหารบกแห่งซ็องบร์และเมิซ (Armée de Sambre-et-Meuse) นำกำลังเข้ามาในปารีส และบอนาปาร์ตก็ส่งทหารในสังกัดของชาร์ล-ปีแยร์ โอเฌอโร (Charles-Pierre Augereau) เข้ามาเช่นกัน[3] จากนั้น มีการจับกุมฝ่ายนิยมราชวงศ์[2] เช่น ปีเชอกรูว์, มาร์กีแห่งบาร์เตเลมี และดอมีนิก-แว็งซ็อง ราแมล-นอกาแร (Dominique-Vincent Ramel-Nogaret) ส่วนลาซาร์ การ์โน (Lazare Carnot) หนีรอดไปได้แต่ถูกจับในภายหลัง มีการเนรเทศผู้ถูกจับกุม 65 คน ซึ่งรวมปีเชอกรูว์, มาร์กีแห่งบาร์เตเลมี และการ์โน ไปยังกาแยน (Cayenne) อนึ่ง นักบวชราว 1,320 รูปก็ถูกเนรเทศด้วยข้อหาว่า "สมรู้ร่วมคิดกันต่อต้านสาธารณรัฐ"[1] นอกจากนี้ มีประกาศยกเลิกผลการเลือกตั้งในจังหวัดทั้ง 49 แห่งของฝรั่งเศส ส่วนตำแหน่งประธานสภาทั้ง 2 ขององค์กรนิติบัญญัตินั้น มีการตั้งฟีลิป อ็องตวน กงต์แมร์แล็ง (Philippe Antoine, comte Merlin) กับนีกอลา-หลุยส์ ฟร็องซัว เดอ เนอชาโต (François de Neufchâteau) เข้าแทน[4]
เหตุการณ์ภายหลัง
[แก้]หลังจากนั้น 2 ปี มีรัฐประหาร 30 แพรรียาล ปี 7 (coup d'État du 30 prairial an VII) ตรงกับวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1799 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 7 (Constitution de l'an VIII) ในวันที่ 24 ธันวาคม ปีเดียวกัน เป็นอันยุติยุคสมัยแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นผลให้นายพล นาปอเลอง บอนาปาร์ต ได้เข้าสู่อำนาจ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "coup d'État du 18 fructidor an V". Larousse (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 11 June 2021.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Doyle, William (2002). The Oxford History of the French Revolution. Oxford: Oxford University Press. p. 330. ISBN 978-0-19-925298-5.
- ↑ 3.0 3.1 Manière, Fabienne. "4 septembre 1797 - Coup d'État de Fructidor". Horodote (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 11 June 2021.
- ↑ 4.0 4.1 Bernard, pp. 193–194.
- ↑ Hall Stewart, John (1951). A Documentary Survey of the French Revolution (adapted). New York: Macmillan.
- Bernard, J.F. (1973). Talleyrand: A Biography. New York: Putnam. ISBN 0-399-11022-4.