คำประกาศพิลนิทซ์
คำประกาศพิลนิทซ์ (อังกฤษ: Declaration of Pillnitz) เป็นคำแถลงการณ์ห้าประโยค[1] ซึ่งพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย และจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จากราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ผู้เป็นพระเชษฐาของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ทรงออกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1791 ณ ปราสาทพิลนิทซ์ ใกล้เมืองเดรสเดิน (แซกโซนี)[2] โดยประกาศว่า ปรัสเซียกับจักรวรรดิโรมันจะร่วมกันสนับสนุนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศส[3]
ภูมิหลัง
[แก้]ตั้งแต่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 ทรงเป็นกังวลขึ้นเรื่อย ๆ ถึงความปลอดภัยของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ผู้เป็นพระขนิษฐา รวมถึงครอบครัวของพระนาง แต่ก็ทรงรู้สึกว่า การเข้าแทรกแซงอย่างใด ๆ ในกิจการของประเทศฝรั่งเศสนั้น มีแต่จะทำให้พวกเขาเป็นอันตรายมากขึ้น[4] ขณะเดียวกัน ชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสหลายคนก็พากันหลบหนีออกจากประเทศไปอาศัยอยู่ในเพื่อนบ้าน แพร่กระจายความหวาดกลัวการปฏิวัติไปทั่ว และปลุกเร้าให้ต่างชาติช่วยกันหนุนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16[5] ครั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชวงศ์เสด็จหนีจากปารีสเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1791 โดยหวังจะไปยุยงให้เกิดการต่อต้านการปฏิวัติ (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า การเสด็จหนีไปวาแรน) แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ทรงถูกจับกลับมาปารีส และทรงถูกกักขังไว้ภายใต้ความควบคุมของกองกำลังติดอาวุธ กระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1791 จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 ก็ทรงออกหนังสือเวียนปาโดวา (Padua Circular) เชิญชวนให้กษัตริย์ในยุโรปมาร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นอิสระ[6]
วัตถุประสงค์
[แก้]คำประกาศนี้เชิญชวนให้มหาอำนาจยุโรปเข้าแทรกแซงหากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกคุมคาม โดยมุ่งหมายจะให้เป็นคำเตือนต่อคณะปฏิวัติฝรั่งเศสว่า ให้เลิกละเมิดพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และยอมให้พระองค์กลับคืนสู่อำนาจ[7]
คำประกาศนี้ว่า ถ้าบรรดามหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรปจะเปิดสงครามกับฝรั่งเศสแล้ว ออสเตรียก็จะร่วมด้วย จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 ทรงเลือกใช้ถ้อยคำเช่นนี้เพื่อที่ว่า พระองค์จะไม่ต้องทรงถูกบีบให้เข้าสู่สงคราม พระองค์ทรงรู้ดีว่า วิลเลียม พิตต์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่สนับสนุนการทำสงครามกับฝรั่งเศส แต่ก็ทรงออกคำประกาศนี้เพื่อให้เป็นที่พอใจของเหล่าชาวฝรั่งเศสผู้ลี้ภัยมาในประเทศของพระองค์และเรียกร้องให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงบ้านเกิดเมืองนอนของพวกตน[ต้องการอ้างอิง]
(ส่วนการประชุมพิลนิทซ์เองมีเนื้อหาหลัก ๆ ว่าด้วยปัญหาโปแลนด์และสงครามระหว่างออสเตรียกับจักรวรรดิออตโตมัน)
เนื้อความ
[แก้]"โดยที่ได้ทรงทราบถึงความปรารถนาของพระองค์ท่านและของท่านเคานต์แห่งอาร์ตัวแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งปรัสเซียจึงขอร่วมกันประกาศว่า จะทรงถือว่า สถานการณ์ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ของพระราชาธิบดีแห่งฝรั่งเศสนั้นเป็นเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันของบรรดาพระมหากษัตริย์ยุโรป ทรงหวังว่า มหาอำนาจทั้งหลายที่ได้รับคำร้องขอให้ช่วยเหลือนั้นจะไม่เพิกเฉยต่อผลประโยชน์นี้เสีย และฉะนั้น มหาอำนาจเหล่านี้ พร้อมด้วยสมเด็จทั้งสองดังกล่าว จะไม่ปฏิเสธการดำเนินวิธีการที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในกองทัพของพวกตน เพื่อดลให้พระราชาธิบดีแห่งฝรั่งเศสทรงอยู่ในสถานะที่จะเสริมสร้างรากฐานการปกครองในระบอบกษัตริย์อันเหมาะสมกับพระราชสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์และสวัสดิภาพของชาวฝรั่งเศสได้อย่างเต็มตามพระทัยปรารถนา ฉะนั้น และในการนี้ สมเด็จทั้งสองดังกล่าว คือ พระจักรพรรดิและพระราชาธิบดีแห่งปรัสเซียนั้น จึงมั่นพระทัยแล้วว่า จะทรงดำเนินการโดยพลันและโดยสอดคล้องต้องกัน ด้วยการใช้กองทัพตามที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังที่เสนอร่วมกันไว้ ในระหว่างนั้น ทั้งสองพระองค์จะมีพระบัญชาตามความเหมาะสมไปยังกองทหารของพระองค์ให้เตรียมพร้อมเริ่มปฏิบัติการ"[8]
ผลพวง
[แก้]สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสตีความว่า ประกาศนี้หมายความว่า ออสเตรียกับปรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อการปฏิวัติ ส่งผลให้คณะปฏิวัติเกิดแนวคิดถอนรากถอนโคน และทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น[9] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1791 สมัชชาแห่งชาติลงมติให้ผนวกพื้นที่กงตาเวอแนแซ็ง ซึ่งรวมถึงอาวีญง เข้ากับฝรั่งเศส โดยแยกออกมาจากรัฐสันตะปาปา[10] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 ออสเตรียกับปรัสเซียจึงตกลงเป็นพันธมิตรกันเพื่อเตรียมตั้งรับ[11] ชาวฝรั่งเศสหัวรุนแรงซึ่งเรียกร้องให้เปิดสงคราม ดังเช่นฌัก ปีแยร์ บรีโซนั้น อาศัยคำประกาศฉบับนี้เป็นข้ออ้างเพื่อเพิ่มพูนอิทธิพลและประกาศสงครามในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1792 ซึ่งต่อมาก่อให้เกิดการทัพ ค.ศ. 1792 ในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Amy Tikkanen, Thinley Kalsang Bhutia (20 August 2021). "Declaration of Pillnitz". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
- ↑ Schama, S. Citizens p.586 penguin 1989
- ↑ Chronicle of the French Revolution p.232 Longman Group 1989
- ↑ Schama S. Citizens p.590 Penguin 1989
- ↑ Schama, S. Citizens p.586 Penguin 1989
- ↑ Chronicle of the French Revolution p.225 Longman Group 1989
- ↑ Karl Otmar von Aretin: Vom Deutschen Reich zum Deutschen Bund. Vandenhoeck & Ruprecht, 1993, ISBN 978-3-525-33583-3, p. 24. (ในภาษาเยอรมัน)
- ↑ Translation of the text as given in the French Wikipedia, fr:Déclaration de Pillnitz, section La conference
- ↑ Amy Tikkanen, Thinley Kalsang Bhutia (20 August 2021). "Declaration of Pillnitz". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
- ↑ Amy Tikkanen, Thinley Kalsang Bhutia (20 August 2021). "Declaration of Pillnitz". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
- ↑ Amy Tikkanen, Thinley Kalsang Bhutia (20 August 2021). "Declaration of Pillnitz". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 20 February 2022.
- ↑ Thomas Lalevée, "National Pride and Republican grandezza: Brissot’s New Language for International Politics in the French Revolution", French History and Civilisation (Vol. 6), 2015, pp. 66-82.