ข้ามไปเนื้อหา

การเดินขบวนสู่แวร์ซาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเดินขบวนของสตรีสู่แวร์ซาย

การเดินขบวนสู่แวร์ซาย (อังกฤษ: March on Versailles) บ้างเรียก การเดินขบวนเดือนตุลาคม เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นการเดินขบวนของสตรีชาวปารีสเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 สู่พระราชวังแวร์ซาย ที่พำนักของกษัตริย์และสถานที่ประชุมสภาร่างธรรมนูญแห่งชาติ

วิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงได้ส่งผลกระทบต่อสตรีซึ่งมีหน้าที่หาอาหารให้สามีและสมาชิกครอบครัว พวกเธอมองเห็นงานเลี้ยงอันใหญ่โตฟุ่งเฟือยในราชสำนักขณะที่ตัวเองกลับอดอยาก กลุ่มสตรีหลายพันคนซึ่งประกอบด้วยหญิงหาเช้ากินค่ำ, แม่ค้า, ช่างหัตกรรม, หญิงข้างถนน ตลอดจนโสเภณีชั้นสูง[1] รวมตัวกันที่ออแตลเดอวีล (ศาลาว่าการกรุงปารีส)[2] ในเช้าวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 จนกระทั่งมีจำนวนราว 7,000–9,000 คน จึงเริ่มเดินขบวนสู่แวร์ซายพร้อมด้วยอาวุธและปืนใหญ่ที่ยึดมาจากออแตลเดแซ็งวาลีดและการทลายคุกบัสตีย์เมื่อสองเดือนก่อนหน้า

การเดินขบวนของสตรีสู่แวร์ซาย

กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาเดินเท้าจากปารีสไปแวร์ซายราวหกชั่วโมงท่ามกลางสายฝนในฤดูใบไม้ร่วง พวกเธอเต็มไปด้วยความโกรธแค้นต่อราชวงศ์ หวังจะคุมองค์กษัตริย์กลับปารีสและต้องการคุยกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เมื่อพวกเธอไปถึงพระราชวังแวร์ซาย ก็พบกับผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งที่รายล้อมพระราชวังอยู่ก่อน[3] สมาชิกสภาบางส่วนออกมาเชิญให้ผู้ชุมนุมเข้าไปหลบฝนและพักผ่อนในห้องประชุมสภา เหล่าฝูงชนต่างไปนั่งพักบนม้านั่งของสมาชิกสภาอย่างเหน็ดเหนื่อย แกนนำของพวกเธอพูดกับผู้แทนในสภาร่างธรรมนูญแห่งชาติว่าพวกเธอมาล้อมสภาเพื่อขอขนมปังเพียงเท่านั้น ในช่วงนี้มีสมาชิกสภาหลายคนออกมาต้อนรับและให้กำลังใจฝูงชน หนึ่งในนั้นคือมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีอำนาจ

ฌ็อง โฌแซ็ฟ มูว์นีเย ประธานสภาร่างธรรมนูญนำตัวแกนนำผู้ชุมนุมจำนวนหกคนไปเข้าเฝ้าองค์กษัตริย์ในพระราชวัง[4][5] องค์กษัตริย์แสดงความเห็นใจและปลอบปละโลมพวกเธอจนบางคนถึงกับล้มลงไปร้องให้ที่พื้น[6] ทรงสัญญาว่าจะปันส่วนอาหารส่วนหนึ่งจากคลังหลวงให้ ฝูงชนบางส่วนจึงพอใจและเดินเท้ากลับปารีส[7] อย่างไรก็ตาม ฝูงชนส่วนใหญ่ยังคงปักหลักอยู่ และมีข่าวลือว่ากษัตริย์ให้สัญญาหลอกๆ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงตระหนักถึงอันตรายที่รายล้อม จึงปรึกษากับข้าราชบริพาร ในเวลาหกโมงเย็น พระองค์ทรงประกาศยอมรับกฤษฎีกาสิงหาคม (กฎหมายเลิกระบบศักดินา) และทรงยอมรับประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข[5] เพื่อคลายความไม่พอใจของฝูงชน

เช้าวันต่อมา ผู้ประท้วงบางส่วนค้นพบประตูขนาดเล็กของพระราชวังที่ไม่มียามเฝ้า พวกเขาจึงแอบเข้าไปในเขตพระราชฐานและเดินตามหาห้องบรรทมขององค์ราชินีเพื่อสังหารพระนาง ราชองค์รักษ์กรู่เข้ามาทั่วเขตพระราชฐานและยิงผู้บุกรุกตายไปหลายคน[8] ฝูงชนจึงโกรธเคืองและพากันบุกเข้าเขตพระราชฐาน[9][10] ความโกลาหลในจึงเกิดขึ้นในพระราชวัง ราชองครักษ์สู้ไม่ได้และถูกฆ่าตายไปอย่างน้อยหนึ่งนาย หน่วยของนายพลลาฟาแย็ต ต้องเข้ามาห้ามปราม ลาฟาแย็ต ทหารผู้ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ต้องตื่นขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางจนเหตุการณ์คลี่คลายลง[9][11] อย่างไรก็ตาม การชุมนุมนอกพระราชวังยังคงดำเนินต่อไป พระบรมวงศ์จึงเสด็จออกจากแวร์ซายไปประทับที่พระราชวังตุยเลอรีในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 6 ตึลาคม ค.ศ. 1789 ตามคำทูลของนายพลลาฟาแย็ต ที่เชื่อว่าสถานการณ์คงจะคลี่คลายถ้ากษัตริย์อยู่ใกล้ประชาชนมากขึ้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. บทบาท “สตรี” กับการ “ปฏิวัติ” ฝรั่งเศส (1) ศิลปวัฒนธรรม. 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2560
  2. Doyle, p. 121.
  3. Schama, p. 462.
  4. Carlyle pp. 257–258.
  5. 5.0 5.1 Schama, p. 465.
  6. Hibbert, p. 99.
  7. Hibbert, p. 100.
  8. Hibbert, p. 101.
  9. 9.0 9.1 Carlyle, p. 273.
  10. Schama, pp. 467–468.
  11. Schama, pp. 467–468.