การเสด็จหนีไปวาแรน
การเสด็จหนีไปวาแรน (ฝรั่งเศส: Fuite à Varennes) ในคืนวันที่ 20 ย่างเช้าวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1791 เป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งพระเจ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส พร้อมด้วยพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตและพระราชวงศ์ใกล้ชิด พยายามเสด็จหนีออกจากปารีสเพื่อไปเตรียมต่อต้านการปฏิวัติ ณ เมืองม็งเมดี ใกล้กับชายแดนฝรั่งเศส ที่ซึ่งเหล่านายทหารผู้ภักดีและข้าราชการฝ่ายกษัตริย์นิยมไปรวมตัวกัน แต่เสด็จไปได้ไกลเพียงเมืองวาแรนก็ทรงถูกจับกุม เนื่องจากมีผู้จดจำพระราชวงศ์ได้ในระหว่างการแวะพักที่เมืองแซ็งเตอ-แมนนู
เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดพลิกผันของการปฏิวัติ เนื่องจากทำให้การต่อต้านระบอบราชาธิปไตยฝรั่งเศสในฐานะสถาบัน และการต่อต้านองค์กษัตริย์และพระราชินีในฐานะปัจเจกบุคคล มีความเด่นชัดมากขึ้น ความพยายามครั้งนี้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกตั้งข้อหากบฏ จนท้ายที่สุดนำไปสู่การสำเร็จโทษในปี ค.ศ. 1793
ความเคราะห์ร้าย ความล่าช้า ความเข้าใจผิด และดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมซึ่งเกิดต่อเนื่องกัน เป็นปัจจัยที่ทำให้ความพยายามหนีดังกล่าวล้มเหลว[1] โดยมากมีที่มาจากความไม่เด็ดขาดในการตัดสินพระทัยของพระเจ้าหลุยส์เอง พระองค์ทรงเลื่อนกำหนดการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปล่อยให้ปัญหาเล็กบานปลายจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังประมาณเสียงสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อระบอบกษัตริย์แบบดั้งเดิมผิดพลาดไป เนื่องจากเข้าพระทัยผิดมาโดยตลอดว่าทรงเป็นที่รักใคร่ของราษฎรในชนบทและสามัญชนทั่วไป[2]
การเสด็จหนีดังกล่าวสร้างบาดแผลลึกให้แก่ฝรั่งเศส และได้ปลุกเร้าอารมณ์ของผู้คนทั่วไปให้รู้สึกวิตกกังวล ฉุนเฉียวรุนแรง หรือตื่นตระหนก เนื่องจากทุกคนตระหนักได้ว่าการแทรกแซงจากต่างชาติจวนที่จะเกิดขึ้นจริงแล้ว นอกจากนี้ยังสร้างความตกตะลึงให้แก่กลุ่มคนที่ยังมองว่าพระองค์คือพระมหากษัตริย์ผู้มีเจตนาดีเป็นพื้นฐานและปกครองอาณาจักรโดยประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะทรงต่อต้านการปฏิรูปและการปฏิวัติได้ร้ายแรงมากถึงเพียงนี้ ส่งผลให้เหล่าผู้นำการปฏิวัติหันมายึดถือแนวคิดสาธารณรัฐนิยมเป็นอุดมการณ์หลักในทันที จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงแนวคิดซึ่งอภิปรายตามวงกาแฟเท่านั้น[3]
ภูมิหลัง
[แก้]ท่าทีที่ลังเลพระทัยของพระเจ้าหลุยส์ต่อข้อเรียกร้องของการปฏิวัติเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้พระราชวงศ์ต้องเสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซายในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1789 ไปประทับ ณ พระราชวังตุยเลอรีในปารีสแทน เนื่องจากพระราชวังแวร์ซายถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ชุมนุมผู้โกรธแค้น ซึ่งนับแต่นั้นมา พระเจ้าหลุยส์มีพระอารมณ์เศร้าหมองเหมือนเป็นอัมพาตทางจิตใจ ทรงปล่อยให้ราชการแผ่นดินสำคัญส่วนมากตกอยู่ในการตัดสินพระทัยของราชินีผู้ไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมมาสำหรับพระราชกรณียกิจด้านการเมือง ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1791 ในขณะที่มาร์กี เดอ ลา ฟาแย็ต กำลังเข้าระงับเหตุวุ่นวายที่แว็งเซน กลุ่มกษัตริย์นิยมหลายร้อยคนรวมตัวกันที่พระราชวังตุยเลอรีเพื่อแสดงพลังสนับสนุนพระราชวงศ์ แต่สุดท้ายกลับถูกไล่ตะเพิดออกจากพระราชวังโดยกองกำลังแห่งชาติ (ฝรั่งเศส: Garde Nationale)[4]
จุดประสงค์
[แก้]จุดประสงค์ของการเสด็จหนีครั้งนี้คือเพื่อปลดปล่อยพระมหากษัตริย์สู่อิสรภาพตามพระราชอัธยาศัยและความปลอดภัยที่มากกว่าการประทับอยู่ในปารีส[5] ที่ม็องเมดี นายพลฟร็องซัว โกลด เดอ บุยเย (ฝรั่งเศส: François Claude de Bouillé) หรือมาร์กี เดอ บุยเย ได้รวบรวมนายทหารหลวงเก่าที่ยังจงรักภักดีต่อระบอบราชาธิปไตยได้ประมาณ 10,000 นาย [6] ซึ่งก่อนหน้านี้ เดอ บุยเย ปรากฏความดีความชอบจากการปราบปรามเหตุกบฏร้ายแรงที่น็องซีมาแล้วในปี ค.ศ. 1790 กองกำลังของเขาประกอบไปด้วยทหารรับจ้างสวิส 2 กองพล และทหารรับจ้างเยอรมันอีก 1 กองพล โดยมองว่าภายใต้ความไม่สงบทางการเมืองเช่นที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ทหารรับจ้างต่างชาติน่าจะไว้วางใจได้มากกว่าทหารชาวฝรั่งเศสเอง[7] ในร่างจดหมายฉบับใช้นำเสนอต่อรัฐสภาแห่งสมาพันธรัฐสวิส ณ เมืองซูริก ขุนนางฝ่ายกษัตริย์นิยม บารง เดอ เบรอเตย (ฝรั่งเศส: Baron de Breteuil) แจ้งว่า "สมเด็จฯ ประสงค์ที่จะมีกองกำลังอันโอฬารไว้ใต้พระเดชพระคุณ ที่แม้นแต่กบฏอันอาจหาญที่สุดก็มิอาจมีทางเลือกอื่นเว้นแต่จักยอมศิโรราบ" โดยราชสำนักคาดเดาว่า "พสกนิกรผู้ศรัทธาจากทุกชนชั้นจำนวนมาก" จะเดินขบวนเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูเอกสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์เหนือราชบัลลังก์ และความสงบเรียบร้อยจะคืนกลับมาโดยปราศจากซึ่งสงครามกลางเมืองหรือการแทรกแซงจากต่างชาติ[8]
อย่างไรก็ตาม พระประสงค์ทางการเมืองในระยะยาวของพระเจ้าหลุยส์ พระชายา และที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระองค์ยังคงไม่ปรากฏแน่ชัด มีเพียงรายละเอียดปรากฏในเอกสารที่ชื่อว่า "ประกาศถึงชนชาวฝรั่งเศส" (Declaration to the French People) ซึ่งจัดเตรียมโดยพระเจ้าหลุยส์เพื่อที่จะทรงนำแถลงต่อสภาแห่งชาติ แต่ถูกทิ้งไว้ที่พระราชวังตุยเลอรีหลังเสด็จหนีออกจากปารีส โดยได้บ่งชี้พระประสงค์ส่วนพระองค์ที่จะกลับไปสู่ข้อยินยอมและการประนีประนอมที่ได้บัญญัติไว้ในประกาศแห่งฐานันดรที่สาม (Declaration of the Third Estate) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1789 ก่อนหน้าเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในปารีสและการทลายคุกบัสตีย์ ในขณะที่จดหมายส่วนพระองค์ของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต กลับเป็นไปในเชิงโต้ตอบมากกว่า โดยประสงค์ที่จะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์เก่าขึ้นมาโดยปราศจากการประณีประนอม และจะประทานอภัยโทษแก่ทุกคนยกเว้นกลุ่มผู้นำการปฏิวัติและชาวปารีส "หากไม่ยอมกลับคืนสู่ระเบียบเก่าของตน"[9]
พยายามออกจากปารีส
[แก้]หลังทรงได้ยินคำแนะนำจากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต พระเจ้าหลุยตัดสินพระทัยเสด็จหนีออกจากปารีสไปยังชายแดนด้านตะวันออกสู่ออสเตรียในคืนวันที่ 20 ย่างวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1791 อันนำมาซึ่งความหายนะต่อตัวพระองค์และพระราชวงศ์ฝรั่งเศสเอง การเสด็จหนีเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่มาร์กีซ เดอ ตูร์แซล (ฝรั่งเศส: Marquise de Tourzel) ข้าหลวงราชโอรสราชธิดาฝรั่งเศสปลอมตัวเป็นบารอนเนสชาวรัสเซีย ส่วนพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต และมาดามเอลีซาแบ็ต พระขนิษฐาของพระเจ้าหลุยส์ปลอมตัวเป็นข้ารับใช้หญิงของบารอนเนส และพระเจ้าหลุยส์ทรงรับบทเป็นพ่อบ้าน ในขณะที่เจ้าฟ้าชาย-หญิงพระองค์น้อยทรงรับบทเป็นบุตร-ธิดาของบารอนเนส โดยทั้งหมดเริ่มเดินทางออกจากพระราชวังตุยเลอรีเวลาประมาณเที่ยงคืน[10] แผนการส่วนมากวางแผนโดยเคานต์อักเซล ฟอน แฟร์เซิน (เยอรมัน: Count Axel von Fersen) และบารง เดอ เบรอเตย ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แห่งสวีเดน แฟร์เซินเร่งเร้าว่าควรใช้รถม้าเบาสองหลังในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยให้ถึงม็งเมดีที่อยู่ห่างไปประมาณ 250 กิโลเมตรได้ค่อนข้างเร็ว แลกกับการต้องแบ่งพระราชวงศ์ออกจากกันเป็นสองคณะ แต่กระนั้นก็ตาม พระเจ้าหลุยส์และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ตัดสินพระทัยที่จะใช้รถม้าหนักอันเด่นสะดุดตาหลังเดียวลากจูงด้วยม้าจำนวน 6 เชือกแทน[11]
เปิดโปงและจับกุม
[แก้]เนื่องจากเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นสะสมและต่อเนื่องกัน ทั้งความล่าช้า การคำนวณเวลาที่ผิดพลาด การเปิดเผยตนที่มากเกินไปจนไม่เป็นการลับ และสายลากจูงรถที่ต้องคอยซ่อมแซม[12] ทำให้ความพยายามเสด็จหนีของพระราชวงศ์ถูกขัดขวางไว้ได้หลังออกจากปารีส นอกจากนี้ตัวพระราชวงศ์เองก็มีส่วนทำให้ความพยายามนี้ล้มเหลว เช่น พระเจ้าหลุยส์ตรัสกับชาวนาเป็นการส่วนพระองค์ขณะกำลังทำการเปลี่ยนม้าที่ฟรอม็องตีแยร์ ส่วนพระนางมารี อ็องตัวแน็ตก็ได้มอบจานเงินแก่เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คณะราชวงศ์ที่แช็งตรีซ์ด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่คนทั่วไปได้โดยง่าย ที่ชาล็ง มีรายงานว่าชาวเมืองถึงกลับออกมาต้อนรับและปรบมือสรรเสริญคณะราชวงศ์อย่างโจ่งแจ้ง จนในที่สุด ฌ็อง-บาติสต์ ดรูแอ บุรุษไปรษณีย์จากเมืองแซ็งเตอ-แมนนู จดจำพระเจ้าหลุยส์ได้จากพระรูปที่พิมพ์บนพันธบัตรอัสซิญาต์ที่เขามีไว้ครอบครอง[13] กองทหารม้าจำนวน 7 กองซึ่งประจำการตามแนวเส้นทางที่จะใช้เสด็จหนีถูกถอนกำลังออกไปหรือถูกควบคุมโดยฝูงชนผู้เคลือบแคลงสงสัยก่อนที่คณะราชวงศ์จะเสด็จถึง ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์และพระราชวงศ์ทรงถูกจับกุมที่เมืองวาแรน ซึ่งห่างจากจุดหมายปลายทางที่เมืองม็องเมดีอันเป็นที่ตั้งของป้อมปราการฝ่ายกษัตริย์นิยมเป็นระยะทางเพียง 50 กิโลเมตร[11]
ทั้งนี้ จึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่ากองกำลังของเดอ บุยเย จะใหญ่หรือไว้วางใจมากพอที่จะเปลี่ยนทิศทางของการปฏิวัติและดำรงไว้ซึ่งระบอบราชาธิปไตยได้หรือไม่[14][15]
คุมขังที่ตุยเลอรี
[แก้]เมื่อพระราชวงศ์เสด็จนิวัตปารีสภายใต้การคุ้มกัน ฝูงชนฝ่ายปฏิวัติมองดูขบวนรถม้าหลวงด้วยท่าทีนิ่งสงัดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งหมดตกอยู่ในความตะลึงงันสุดขีดเมื่อได้เห็นกษัตริย์ของพวกเขาในสถานการณ์เช่นนี้ พระราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงถูกคุมขัง ณ พระราชวังตุยเลอรี และจากเหตุการณ์นี้เป็นต้นไป แนวคิดล้มล้างระบอบกษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐดูจะมีความเป็นไปได้มากอย่างที่ไม่เคยมาก่อน ความน่าเชื่อถือในตัวพระเจ้าหลุยส์ในฐานะพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญถูกลดทอนลงอย่างร้ายแรงจากความพยายามหลบหนีในครั้งนี้
หลังจากนำพระราชวงศ์เสด็จนิวัตปารีสแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติก็ตกลงว่าจะฟื้นฟูพระเจ้าหลุยส์คืนสู่พระราชอำนาจได้หากทรงยอมรับรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเช่นฝ่ายกอเดอลิแยร์และฝ่ายฌากอแบ็งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว จนนำไปสู่การประท้วงที่สวนช็อง เดอ มาร์ และบานปลายกลายเป็นเหตุสังหารหมู่ขึ้น[16]
นับแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1791 เป็นต้นมา พระเจ้าหลุยส์ทรงฝากความหวังในการรื้อฟื้นพระราชอำนาจทางการเมืองไว้กับแนวทางอันน่าแคลงใจอย่างการแทรกแซงจากต่างชาติ ถึงขนาดที่ทรงสนับสนุนนโยบายสงครามกับออสเตรียของฝ่ายฌีรงแด็งในสภานิติบัญญัติ โดยทรงคาดหมายว่ากองทัพฝรั่งเศสที่พ่ายแพ้ย่อยยับจะช่วยปูทางไปสู่การฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระองค์ ทรงปฏิเสธคำแนะนำของนักรัฐธรรมนูญนิยมสายกลางอย่างอ็องตวน บาร์แนฟ ที่ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่พระเจ้าหลุยส์ทรงปฏิญาณว่าจะดำรงไว้ หากแต่ลับ ๆ แล้วพระองค์เองกลับทรงเข้าไปมีส่วนแอบแฝงในนโยบายการปฏิวัติต่อต้าน
ล้มเลิกราชาธิปไตย
[แก้]ความล้มเหลวจากการเสด็จหนีของพระเจ้าหลุยส์ได้ส่งสัญญาณเตือนแก่พระมหากษัตริย์ยุโรปพระองค์อื่น ๆ ผู้ซึ่งหวั่นเกรงว่าการปฏิวัติจะลุกลามเข้ามายังอาณาจักรของตนและก่อให้เกิดความไม่สงบนอกฝรั่งเศสขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเพื่อนบ้านอยู่ในภาวะตึงเครียดมาก่อนแล้วจากการปฏิวัติ และยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิมถึงขนาดที่ชาติยุโรปบางแห่งเรียกร้องให้ทำสงครามกับรัฐบาลคณะปฏิวัติเสียด้วยซ้ำ[17]
การปะทุขึ้นของสงครามกับออสเตรียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1792 และคำประกาศเบราน์ชไวก์โดยแม่ทัพชาวปรัสเซีย ชาลส์ วิลเลียม เฟอร์ดินานด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์ ซึ่งข่มขู่ว่าปารีสจะพังพินาศลงหากพระราชวงศ์ตกอยู่ในภัยอันตรายอีกครั้ง ส่งผลให้ชาวปารีสหัวรุนแรงบุกโจมตีพระราชวังตุยเลอรีในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792[18] จึงนับเป็นเหตุการณ์ที่เสมือนกับการลั่นระฆังมรณะเตือนพระเจ้าหลุยส์ในอนาคต[19]
การโจมตีดังกล่าวนำไปสู่การระงับพระราชอำนาจโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติและการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่งในวันที่ 21 กันยายน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน หลักฐานข้อตกลงลับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับนักการเมืองฝ่ายปฏิวัติผู้ล่วงลับ เคาต์แห่งมีราโบ ถึงแผนคบคิดการปฏิวัติต่อต้านร่วมกับชาวต่างชาติถูกพบในหีบเหล็กลับ อาร์มัวร์เดอแฟร์ (ฝรั่งเศส: armoire de fer) ภายในพระราชวังตุยเลอรี[20] บัดนี้จึงไม่อาจเสแสร้งได้อีกต่อไปแล้วว่าพระมหากษัตริย์ทรงยินยอมให้มีการปฏิรูปภายใต้การปฏิวัติได้โดยเสรี ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมบางส่วนเรียกร้องโค่นล้มพระองค์ บางส่วนเรียกร้องให้มีการไต่ส่วนในข้อหาสมคบคิดก่อการกบฏและชักนำศัตรูเข้ามาในชาติ ต่อมาในวันที่ 3 ธันวาคม ได้มีการตัดสินใจว่าควรนำพระเจ้าหลุยส์ซึ่งถูกจองจำ ณ ต็องเปลอ ร่วมกับพระราชวงศ์พระองค์อื่นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม เข้าสู่กระบวนการไต่สวนในข้อหากบฏจนได้ปรากฏพระองค์ต่อหน้าที่ประชุมใหญ่แห่งชาติสองครั้งในวันที่ 11 และ 23 ธันวาคม[21]
วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ทรงถูกนำไปสำเร็จโทษด้วยเครื่องกิโยตีนหลังจากที่ทรงถูกตัดสินว่ามีความผิด เก้าเดือนต่อมา พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ก็ทรงถูกตัดสินในข้อหากบฏด้วยเช่นกัน และทรงถูกบั่นพระเศียรในวันที่ 16 ตุลาคม[22]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ พันธบัตรอัสซิญาต์ (ฝรั่งเศส: Assignat) คือเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพันธบัตรรัฐบาล เป็นที่นิยมในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Thompson, J. M. (James Matthew) (1943), The French Revolution, Oxford, สืบค้นเมื่อ 5 April 2017
- ↑ Timothy Tackett, When the King Took Flight (2003) ch. 3
- ↑ Timothy Tackett, When the King Took Flight (2003) p. 222
- ↑ Thiers, Marie Joseph L Adolphe (1845). The History of the French Revolution. pp. 61–62.
- ↑ Cobb, Richard; Jones, Colin, บ.ก. (1988). Voices of the French Revolution. Harpercollins. pp. 114. ISBN 0881623385.
- ↑ Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. p. 170. ISBN 0-330-48827-9.
- ↑ Tozzi, Christopher J. (2016). Nationalizing France's Army. pp. 62–63. ISBN 9780813938332.
- ↑ Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. pp. 176–77. ISBN 0-330-48827-9.
- ↑ Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. pp. 193–94. ISBN 0-330-48827-9.
- ↑ Richard Cavendish, page 8, "History Today", June 2016
- ↑ 11.0 11.1 Richard Cavendish, p. 8, "History Today", June 2016
- ↑ Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. pp. 173–175. ISBN 0-330-48827-9.
- ↑ Drouet, Jean-Baptiste (1791). Récit fait par M. Drouet, maître de poste à Ste Menehould, de la manière dont il a reconnu le Roi, et a été cause de son arrestation à Varennes: honneurs rendus à ce citoyen et à deux de ses camarades. Gallica. Les archives de la Révolution française. Bibliothèque nationale de France. สืบค้นเมื่อ 2014-03-28.
- ↑ Price, Monro (2003). The Fall of the French Monarchy. p. 187. ISBN 0-330-48827-9.
- ↑ Tozzi, Christopher J. (2016). Nationalizing France's Army. p. 63. ISBN 9780813938332.
- ↑ Woodward, W.E. (1938). Lafayette.
- ↑ Schama, Simon (1989). Citizens. A Chronicle of the French Revolution. pp. 590–591. ISBN 0-670-81012-6.
- ↑ McPhee, Peter (2002). The French Revolution 1789–1799. Oxford: Oxford University Press. pp. 96. ISBN 0-199-24414-6.
- ↑ Hampson, Norman (1988). A Social History of the French Revolution. Routledge: University of Toronto Press. pp. 148. ISBN 0-710-06525-6.
- ↑ Schama, Simon (1989). Citizens. A Chronicle of the French Revolution. p. 652. ISBN 0-670-81012-6.
- ↑ Schama, Simon (1989). Citizens. A Chronicle of the French Revolution. pp. 658–660. ISBN 0-670-81012-6.
- ↑ "The final days of Marie Antoinette".
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Dunn, Susan. The Deaths of Louis XVI: Regicide and the French Political Imagination (1994).
- Esmein, Jean Paul Hippolyte Emmanuel Adhémar (1911). . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 10 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. pp. 854–855.
- Loomis, Stanley, The Fatal Friendship: Marie Antoinette, Count Fersen and the Flight to Varennes, Avon Books, 1972. ISBN 0-931933-33-1
- Timothy Tackett, When the King Took Flight, Cambridge: Harvard University Press, 2003.
- Thompson, J. M. The French Revolution (1943) 206–27, detailed narrative with explanation of what went wrong
- The article also draws material from the out-of-copyright History of the French Revolution from 1789 to 1814, by François Mignet (1824), as made available by Project Gutenberg.