ข้ามไปเนื้อหา

ลุงบุญมีระลึกชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives)
ลุงบุญมีระลึกชาติ
กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
เขียนบทอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
อำนวยการสร้างไซมอน ฟิลด์
คีธ กริฟฟิธส์
ชาร์ลส เด ม็อกซ์
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
ฮานส์ ว. เกซเซนเดอร์เฟอร์
ลูอิส มินาร์โร
ไมเคิล เวเบอร์
นักแสดงนำธนภัทร สายเสมา
เจนจิรา จันทร์สุดา
ศักดิ์ดา แก้วบัวดี
กำกับภาพสยมภู มุกดีพร้อม
ตัดต่อลี ชาตะเมธีกุล
ดนตรีประกอบโคะอิฌิ ชิมิซุ
บริษัทผู้สร้าง
คิก เดอะ แมชชีน
อิลลูมิเนชัน ฟิล์ม
ผู้จัดจำหน่ายเดอะ แมทช์ แฟคทอรี
วันฉาย21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
(เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63)
ความยาว114 นาที
ประเทศไทย
สหราชอาณาจักร
ฝรั่งเศส
เยอรมนี
สเปน
ภาษาไทย / อีสาน / ลาว
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ลุงบุญมีระลึกชาติ (อังกฤษ: Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives, ฝรั่งเศส: Oncle Boonmee, celui qui se souvient de ses vies antérieures) เป็นภาพยนตร์ไทยนอกกระแส ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ร่วมอำนวยการสร้าง เขียนบทและกำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งเป็นผลงานเรื่องที่ 6 ของเขา ภาพยนตร์ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้ [1]

ภาพยนตร์ได้ผู้ร่วมทุนเพิ่มจากสเปน (Seta) อังกฤษ (Illuminations Films) ฝรั่งเศส (Anna Sanders) และเยอรมนี (Fernsehproduction และ Match Factory) กับทุนสร้าง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35 ล้านบาท โดยบริษัทแมทช์แฟคตอรี่ จากกสเปนเป็นผู้จัดจำหน่ายระหว่างประเทศ และบริษัท ZDF และ Arte ถือลิขสิทธิ์ในเยอรมนี[2]

เนื้อเรื่อง

[แก้]

ภาพยนตร์มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเชิงเหนือจริง การนั่งสมาธิ สะกดจิต และระลึกชาติ โดยกล่าวถึงลุงบุญมีที่กำลังล้มป่วยด้วยอาการไตวาย บุญมีรู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง และเชื่อว่าความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่อาจเกี่ยวกับกรรมที่เขาเคยฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตายไปหลายราย เขาถูกภรรยาที่ตายไปมาหลอกหลอนในสภาพผู้บริบาลรักษา ลูกชายที่หายสาบสูญไปนานก็กลับมาจากป่าในสภาพที่คล้ายลิง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ลุงบุญมีสามารถระลึกชาติได้ และติดตามไปยังสถานที่ที่เกี่ยวของกับอดีตชาติของเขา ก่อนจะเสียชีวิตไปพร้อม ๆ กับการสนทนาถึงเรื่องราวของชีวิตตนเอง ที่กินเวลานานหลายร้อยปี

งานสร้าง

[แก้]

อภิชาติพงศ์ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนี้จากแหล่งใหญ่สองแหล่ง คือ การเดินทางไปยังตำบลนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม แล้วได้พบกับชาวบ้านที่ผ่านช่วงเวลาที่รัฐบาลทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในช่วง พ.ศ. 2508 - พ.ศ. 2525 และหนังสือ คน ระลึกชาติ เขียนโดยพระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น[3] มีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การระลึกชาติของนายบุญมี ผู้เคยเกิดเป็นนายพราน เป็นเปรต เป็นควายเป็นวัว ก่อนจะมาเกิดเป็นคนในภพชาตินี้ ซึ่งขณะที่เขาได้อ่านหนังสือเรื่องนี้บุญมีได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยหนังสือเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทให้เขาเรื่องเนื้อหาและโครงสร้าง ส่วนเนื้อเรื่องในภาพยนตร์เขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่เขาคิดขึ้นเอง[4][5] โดยเนื้อเรื่องและการออกแบบงานสร้างเขาได้รับแรงบันดาลใจจากรายการโทรทัศน์สมัยก่อนและการ์ตูนไทย ที่มักมีเนื้อเรื่องง่าย ๆ และเต็มไปด้วยองค์ประกอบเรื่องที่เหนือธรรมชาติ[5]

ทุนสร้างภาพยนตร์มาจากบริษัทของอภิชาติพงศ์ ชื่อ คิกเดอะแมชชีน, บริษัทอิลลูมิเนชันส์ของอังกฤษ, บริษัทแอนนาแซนเดอร์สของฝรั่งเศส, บริษัทแมตช์แฟกทอรีและ Geissendörfer Film- und Fernsehproduktion ของเยอรมนี และบริษัทเอ็ดดีเซตาของสเปน[6] ยังได้รับทุนสนับสนุน 3.5 ล้านบาทจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย[7]

ภาพยนตร์ถ่ายทำในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง กุมภาพันธ์ 2553 ที่มีอุปสรรคเรื่องภูมิอากาศ ทั้งที่กรุงเทพและในภาคอีสานของไทย[6] โดยใช้ฟิล์ม 16 มม. ในการถ่ายเนื่องจากเหตุผลด้านทุนและต้องการให้ดูเหมือนภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนมากกว่า[7]

ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นส่วนเติมเต็มสุดท้ายของผลงานชุด "ดึกดำบรรพ์" (Primitive) ของอภิชาติพงศ์ ซึ่งนอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วยังประกอบด้วยงานศิลปะแบบจัดวาง (Installation Arts) ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะตามเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น มูลนิธิเพื่อศิลปะและการสร้างสรรค์แห่งเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น รวมถึงภาพยนตร์สั้นอีก 2 เรื่อง ได้แก่ "จดหมายถึงลุงบุญมี" และ "ผีนาบัว"[8]

การออกฉาย

[แก้]

ภาพยนตร์ออกฉายรอบปฐมทัศน์ ในฐานะภาพยนตร์เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[9] ส่วนในประเทศไทย ลุงบุญมีระลึกชาติ มีกำหนดออกฉายเฉพาะโรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีนีมา สาขาดิ เอ็มโพเรี่ยม เพียงแห่งเดียว ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป[10] โดยอภิชาติพงศ์ได้แสดงความเห็นต่อการฉายในประเทศไทย ก่อนที่ภาพยนตร์จะได้รับรางวัลว่า "ทุกครั้งที่ออกหนังมา ผมต้องใช้เงินในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ แต่ผมก็อยากให้ออกฉายที่บ้านเกิดของผม"[11]

ภาพยนตร์ได้รับกระแสตอบรับที่ดี จนเพิ่มรอบออกฉายในอีก 5 สาขาของเครือเอสเอฟ ซึ่งรวมถึงออกฉายในต่างจังหวัดอย่างใน ขอนแก่น บางแสน พัทยาและภูเก็ต[12]

การตอบรับ

[แก้]
ทีมงานผู้ผลิตภาพยนตร์ "ลุงบุญมีระลึกชาติ" เข้าพบนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ภาพยนตร์ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้ คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลปาล์มทองคำ อย่างทิม เบอร์ตัน และเบนิซิโอ เดล โทโร่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์ว่า เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้พวกเขาเข้าใจประเด็นเรื่องความตายจากมุมมองใหม่แบบ “ตะวันออก”[13]

ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผู้เข้าร่วมงานแจกรางวัลปาล์มทองคำเช่นกัน ให้ความเห็นว่า "มันโดดเด่นและแตกต่างจาก เรื่องอื่นจริง คือ หนังดีที่นี่ก็เป็นหนังที่ทำดี แต่หนังของเจ้ยเป็นหนังที่เปิดโลกทัศน์ภาพยนตร์และไม่ยึดติดในกรอบเดิม ๆ" และยังพูดถึงการได้รับรางวัลของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ตัวเขารวมถึงนักวิจารณ์จาก สื่อต่างประเทศรายอื่นๆยัง ใช้คำว่า unexpected winner หรือ เป็นม้ามืด[14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""ลุงบุญมีระลึกชาติ"ของ"เจ้ย"คว้าปาล์มทองคำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-25. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24.
  2. รายละเอียดหนังเรื่องยาวลุงบุญมีระลึกชาติ thaicinema.org
  3. ลุงบุญมีระลึกชาติ ณ เมืองคานส์ เก็บถาวร 2010-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
  4. Kwai, Wise (2010-04-20). "The late, great Apichatpong". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-07. สืบค้นเมื่อ 2010-05-01.
  5. 5.0 5.1 "English press kit Lung Boonmee raluek chat" (PDF). Illuminations films. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-07. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  6. 6.0 6.1 Mayorga, Emilio (2010-01-20). "Eddie Saeta joins 'Uncle Boonmee'". Variety. สืบค้นเมื่อ 2010-04-19.
  7. 7.0 7.1 Rithdee, Kong (2010-05-07). "Multiple avatars". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2010-05-07.[ลิงก์เสีย]
  8. ปลุกผีคอมมิวนิสต์แห่งบ้านนาบัว | PRIMITIVE INSTALLATION @ FACT LIVERPOOL นิตยสารโอเพนออนไลน์ เรียกดูข้อมูลเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553
  9. "The screenings guide" (PDF). festival-cannes.com. Cannes Film Festival. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-19. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  10. หนัง“ลุงบุญมีระลึกชาติ”ผลงานสร้างชื่อได้ฤกษ์เข้า โรงฉายแล้ว 24 มิ.ย. เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน เรียกดูข้อมูลเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553
  11. Landreth, Jonathan (2010-05-18). "Q&A: Apichatpong Weerasethakul". The Hollywood Reporter. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-21. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  12. "กระแสตอบรับดีเกินคาด คอหนังแห่ชม "ลุงบุญมี ระลึกชาติ" แน่นทุกรอบ SF เอาใจ เพิ่มสาขาเข้าฉายอีก 5 สาขา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 2010-08-05.
  13. "เจ้ย ย้ำชัด หนังลุงบุญมีฯ ไม่ใช่ หนังการเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-23. สืบค้นเมื่อ 2010-05-26.
  14. "ปาล์มทอง แด่ 'ลุงบุญมีฯ'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-29. สืบค้นเมื่อ 2010-05-30.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]