แสงศตวรรษ
แสงศตวรรษ | |
---|---|
ภาพใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล |
เขียนบท | อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล |
อำนวยการสร้าง | อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ชาร์ลส์ เดอ โมซ์ |
นักแสดงนำ | นันทรัตน์ สวัสดิกุล จารุชัย เอี่ยมอร่าม โสภณ ภู่กนก อาคเนย์ เชื้อขำ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นุติ์ นิ่มสมบุญ |
กำกับภาพ | สยมภู มุกดีพร้อม |
ตัดต่อ | ลี ชาตะเมธีกุล |
วันฉาย | 19 เมษายน พ.ศ. 2550 (งดฉาย) |
ความยาว | 105 นาที |
ภาษา | ไทย |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
แสงศตวรรษ (อังกฤษ: Syndromes and a Century) เป็นภาพยนตร์ไทย กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นหนึ่งในชุดผลงานของผู้กำกับ 6 คนจากทั่วโลก ร่วมกับผู้กำกับจากปารากวัย อิหร่าน ชาด ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ที่ได้รับเชิญให้ร่วมผลิตภาพยนตร์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล “นิว คราวน์ โฮป” ในโอกาสเฉลิมฉลอง 250 ปีชาตกาลของ โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท คีตกวีชาวออสเตรีย[1] เมื่อ พ.ศ. 2549 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากทางการกรุงเวียนนา และออกฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส
ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ ได้รับรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม จากงานเอเชียน ฟิล์มส์ อวอร์ดส์ ที่ฮ่องกง และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Lotus du Meuilleur Film-Grand Prix ในงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชียโดวิลล์ ครั้งที่ 9 ประเทศฝรั่งเศส[2]
การเซ็นเซอร์ในประเทศไทย
[แก้]ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดฉายในประเทศไทย ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2550 แบบจำกัดโรง จำนวน 2 โรง แต่ภาพยนตร์ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน และ 10 เมษายน พ.ศ. 2550 โดยมีเงื่อนไขให้ตัดฉากสำคัญออกไป 4 ฉาก ซึ่งทางคณะกรรมการชี้ว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์ จึงจะอนุญาตให้ฉายได้ ซึ่งอภิชาติพงศ์ ได้ตัดสินใจที่ไม่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทย
ฉากที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์คือ 1) ฉากพระกำลังเล่นกีตาร์ 2) ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ 3) ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ก่อนจะต้องจากกันเมื่อฝ่ายหญิงต้องย้ายไปทำงานต่างจังหวัด และเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง (ในกางเกง) และ 4) ฉากพระเล่นเครื่องร่อน
ทีมงานได้ติดต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ เพื่อขอรับฟิล์มภาพยนตร์คืนเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2550 ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ไม่คืนฟิล์มภาพยนตร์ให้ โดยชี้แจงว่า จะคืนให้ก็ต่อเมื่อได้นำฟิล์มไปทำการตัดฉากทั้ง 4 ฉากทิ้งออกเสียก่อน ด้วยเหตุผลว่า หากส่งฟิล์มในสภาพสมบูรณ์คืนแก่ทีมงาน ทางทีมงานอาจถือโอกาสนำกลับมาตัดเองแล้วส่งเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์อีกครั้ง อันจะทำให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาฯ มีความผิดในการปฏิบัติงานทันที [3]
หลังจากเหตุการณ์ไม่คืนฟิล์มภาพยนตร์ ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ อย่างกว้างขวาง ทั้งทางสื่อมวลชน และสังคมอินเทอร์เน็ต[4][5] และผู้ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว นำโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นิตยสารไบโอสโคป มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ และกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้พิจารณากฎหมายเซ็นเซอร์ และระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของไทย โดยเปิดให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์[6]
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 มีประกาศว่าผู้กำกับภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์นี้เข้ารับการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ถูกสั่งให้ตัดเพิ่มเป็น 6 ฉาก โดยอภิชาติพงษ์ใส่ฟิล์มดำแทนฉากที่โดนตัด เพื่อแสดงถึงการโดนบังคับตัดออก โดยเข้าฉายที่พารากอนซีนีเพล็กซ์ในวันที่ 10 เมษายน[7]
นักแสดง
[แก้]- นันทรัตน์ สวัสดิกุล รับบท หมอเตย
- จารุชัย เอี่ยมอร่าม รับบท หมอหน่อง
- โสภณ ภู่กนก รับบท หนุ่ม นักเพาะกล้วยไม้
- อาคเนย์ เชื้อขำ รับบท เปิ้ล หมอฟัน
- ศักดิ์ดา แก้วบัวดี รับบท พระศักดา
- นุติ์ นิ่มสมบุญ รับบท โต๋
- จารุณี แสงทับทิม รับบท จอย แฟนสาวของหมอหน่อง
เรื่องย่อ
[แก้]ภาพยนตร์กล่าวถึง ชีวิตของแพทย์หญิง ในโรงพยาบาลเล็กๆ ในต่างจังหวัด ที่มีความทรงจำที่ดีต่อผู้ป่วยและความรัก และชีวิตของแพทย์ทหารหนุ่ม ในโรงพยาบาลทันสมัยในเมือง กับผู้ป่วยพิการและคู่รักของเขาที่กำลังจะจากไป โดยได้อิทธิพลมาจากชีวิตจริงของพ่อและแม่ของผู้กำกับ ซึ่งเป็นแพทย์ทั้งคู่
การตอบรับ
[แก้]ในนิตยสาร ฟิล์มแมกซ์ มีนักวิจารณ์ร่วมให้ดาว "แสงศตวรรษ" 7 คน รวม 25.5 ดาว เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 3.64 ดาว (จากคะแนนเต็ม 4 ดาว) โดยนักวิจารณ์ชื่อดังอย่าง มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ และ ก้อง ฤทธิ์ดี ให้คะแนนเต็ม 4 ดาว ขณะที่คนอื่นๆ ไม่มีใครให้ต่ำกว่า 3 ดาวครึ่ง [8]
อ้างอิง
[แก้]- http://www.bangkokbiznews.com/2007/04/11/WW06_WW06_news.php?newsid=63774 เก็บถาวร 2007-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01ent02130450&day=2007/04/13§ionid=0105
- ↑ แสงศตวรรษ: การไหลเวียนของเรื่องเล่า, โอเพ่นออนไลน์, 30 มีนาคม พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
- ↑ "เจ้ย" ไม่หั่น "แสงศตวรรษ" กองเซ็นเซอร์เล่นแง่ ไม่ตัดไม่คืนฟิล์ม เก็บถาวร 2007-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์, 11 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
- ↑ งดฉาย แสงศตวรรษ เก็บถาวร 2007-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บล็อกของภาพยนตร์แสงศตวรรษ, 10 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
- ↑ ประกาศ งดฉายแสงศตวรรษ...และรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บบอร์ด ไบโอสโคป, 10 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
- ↑ ขอเชิญร่วมลงชื่อและแสดงความคิดเห็นที่ท่านมีต่อระบบการเซ็นเซอร์ไทย โดยมีภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษเป็นกรณีศึกษา เก็บถาวร 2007-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บบอร์ด เว็บไซต์มูลนิธิหนังไทย, 11 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
- ↑ Free Thai Cinema Movement
- ↑ เจ้ย ตัดสินใจยอมฉาย แสงศตวรรษ ฉบับเซ็นเซอร์ เก็บถาวร 2008-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มูลนิธิหนังไทย 29 มีนาคม 2551. เรียกข้อมูล 7 เมษายน 2551
- ↑ คอลัมน์วิจารณ์ นิตยสารฟิล์มแมกซ์ เดือนธันวาคม 2550 หน้า 57
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการ เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์ทางการ (ภาษาไทย) เก็บถาวร 2007-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Free Thai Cinema Movement การเข้าชื่อเรียกร้องให้ทบทวนระบบการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทย
- รายงานความเคลื่อนไหวของแสงศตวรรษ
- Syndromes and a Century (2006) ที่สยามโซน
- Hunt, Matthew (2020). Thai Cinema Uncensored. Chiang Mai: Silkworm Books. ISBN 9786162151699.