ปลาเวียน
ปลาเวียน | |
---|---|
ปลาเวียนจากอำเภอเมอรางิน ประเทศอินโดนีเซีย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | ปลาตะเพียน |
วงศ์: | วงศ์ปลาตะเพียน |
สกุล: | Tor (Bleeker, 1854) |
สปีชีส์: | Tor tambroides |
ชื่อทวินาม | |
Tor tambroides (Bleeker, 1854) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาเวียน เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งจำพวกมาห์เซียร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tor tambroides อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) เป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง รูปร่างลักษณะคล้ายปลาพลวงหิน (Neolissochilus stracheyi) ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกัน เว้นแต่ริมฝีปากบนมีแผ่นหนังยื่นออกมาทำให้ดูคล้ายจะงอยปากงุ้มลง และรูปร่างลำตัวที่เพรียวกว่า ขนาดเฉลี่ยโดยทั่วไปประมาณ 60 เซนติเมตร ขนาดใหญ่สุดที่พบ 1 เมตร
อาศัยตามแหล่งน้ำสะอาดตามต้นน้ำลำธาร มีพฤติกรรมในอพยพย้ายถิ่นลงมาทางปากแม่น้ำในฤดูฝน ตามรายงานพบว่า ปลาที่อาศัยในแม่น้ำแม่กลอง เมื่อถึงฤดูฝนจะว่ายตามกระแสน้ำลงไปจนถึงปากนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ปลาเหล แม่น้ำ" นานประมาณ 4–8 สัปดาห์ จากนั้นจะหวนกลับไปยังต้นน้ำ แสวงหาสถานที่อันเหมาะสมเพื่อผสมพันธุ์ จะวางไข่ในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม
ปลาเวียนเคยเป็นปลาที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี และถือเป็นปลาประจำจังหวัด เพราะมีเนื้อนุ่มละเอียด มีไขมันสะสมในเนื้อมาก แต่ปัจจุบันพบได้น้อยจนแทบกล่าวได้ว่าหมดไปแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมถูกทำลาย[2]
ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี กรมประมง สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วด้วยการรวบรวมพ่อแม่ปลาจากธรรมชาติ โดยมีวิธีการขยายพันธุ์ 2 วิธี คือ การเพาะพันธุ์แบบกึ่งธรรมชาติด้วยการเลี้ยงในระบบที่เลียนแบบธรรมชาติ ความสมบูรณ์ของพ่อแม่ปลาจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน–กุมภาพันธ์ ปลาแม่ที่พร้อมจะวางไข่จะมีการสลัดไข่ จึงนำมารีดผสมกับน้ำเชื้อของปลาตัวผู้ ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 72–96 ชั่วโมง และการเพาะพันธุ์ด้วยวิธีการฉีดฮอร์โมน[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kottelat, M.; Pinder, A.; Harrison, A. (2018). "Tor tambroides". IUCN Red List of Threatened Species. 2018: e.T187939A91076554. doi:10.2305/IUCN.UK.2018-2.RLTS.T187939A91076554.en. สืบค้นเมื่อ 20 November 2021.
- ↑ ดร. ชวลิต วิทยานนท์. ปลาน้ำจืดไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. 115 หน้า. หน้า 43. ISBN 9789744726551
- ↑ หน้า 118-122, "ปลาเวียน" ฟื้นคืนชีพจากการเสี่ยงสูญพันธุ์ โดย นางฟ้าทะเล. "News Update". Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 53: พฤศจิกายน 2014
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Sawika Kunlapapuk and Sitthi Kulabtong. 2011. Breeding, Nursing and Biology of Thai Mahseer (Tor tamboides) in Malaysia: An Overview. Journal of Agricultural Science and Technology A1: 1214-1216.
- รูปและข้อมูลปลาเวียน