ข้ามไปเนื้อหา

ซาโลมอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Solomon)
ซาโลมอน
שְׁלֹמֹה
พระเจ้าซาโลมอน (1872)
ภาพวาดโดย Simeon Solomon
กษัตริย์แห่งอิสราเอล
ครองราชย์ป. 970–931 ปีก่อน ค.ศ. (สันนิษฐาน)
ก่อนหน้าดาวิด
ถัดไปเรโหโบอัม
ฝังพระศพเยรูซาเลม
คู่อภิเษกนาอามาห์
ธิดาของฟาโรห์
มเหสี 700 องค์และนางสนม 300 องค์[1][2]
พระราชบุตร
พระราชโอรสที่มีการบันทึก 3 พระองค์:
ราชสกุลราชวงศ์ดาวิด
พระราชบิดาดาวิด
พระราชมารดาบัทเชบา

ซาโลมอน[3][4][5] (ศัพท์คริสต์ศาสนา) หรือ โซโลมอน (ศัพท์ประวัติศาสตร์)[a] หรืออีกพระนามหนึ่งคือ เยดีดิยาห์[b] เป็นกษัตริย์ชาวยิวแห่งอิสราเอลโบราณและพระราชโอรสกับผู้สืบทอดในพระเจ้าดาวิด ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ฮีบรูหรือพันธสัญญาเก่า[7][8] พระองค์ได้รับการอธิบายเป็นผู้ปกครององค์สุดท้ายของอิสราเอลและยูดาห์ที่รวมกันเป็นหนึ่ง รัชสมัยของซาโลมอนได้รับการสันนิษฐานว่าอยู่ในช่วง 970 ถึง 931 ปีก่อน ค.ศ. ตามพระคัมภีร์ หลังพระองค์สวรรคต เรโหโบอัม พระราชโอรสและผู้สืบทอด ใช้นโยบายที่โหดร้ายต่อชนเผ่าทางเหนือ ซึ่งนำไปสู่การแบ่งแยกวงศ์วานอิสราเอลระหว่างราชอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือกับราชอาณาจักรยูดาห์ทางใต้ หลังจากการแตกประเทศ รายงานพระคัมภีร์ระบุถึงผู้ที่สืบเชื้อสายซาโลมอนปกครองเหนือยูดาห์เท่านั้น[9]

พระคัมภีร์กล่าวว่าพระเจ้าซาโลมอนเป็นผู้สร้างวิหารแห่งแรกในเยรูซาเลม[8] ที่อุทิศแด่พระยาห์เวห์หรือพระผู้เป็นเจ้า[10] ซาโลมอนได้รับการพรรณาว่าเป็นผู้มีความฉลาด มั่งคั่ง และมีอำนาจมาก และเป็นหนึ่งใน 48 ศาสดาชาวยิว[11]

ความเป็นประวัติศาสตร์ของซาโลมอนเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างร้อนแรง โดยความเห็นพ้องในปัจจุบันยอมรับความเป็นประวัติศาสตร์ของซาโลมอน แต่ในเรื่องการเป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอลและยูดาห์ในศตวรรษที่ 10 ก่อน ค.ศ. ถือว่าไม่ชัดเจน และรายละเอียดเกี่ยวกับความฟุ่มเฟือยของราชอาณาจักรที่ชัดเจนของพระองค์ในพระคัมภีร์มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าเป็นการพูดเกินจริงแบบไม่เข้ากับยุคสมัย[12][13][14]

ในพันธสัญญาใหม่ พระองค์ได้รับการพรรณาเป็นสติปัญญาของโซโลมอนโดยเยซูแห่งนาซาเรธผู้ยิ่งใหญ่กว่า[15] และมีความโอ่อ่า แต่กลับไม่งามสง่าเท่า "ดอกไม้ในท้องทุ่ง"[16] ในอัลกุรอาน พระองค์ถือเป็นศาสดาหลัก ในวงการนอกพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ ซาโลมอนเป็นที่รู้จักในฐานะจอมเวทและหมอผีที่มีเครื่องรางและเหรียญตราที่ระบุพระนามของพระองค์จากสมัยเฮลเลนิสต์[17]

ในพระคัมภีร์[แก้]

ช่วงชีวิตของซาโลมอนโดยหลักอธิบายใน 2 ซามูเอล, 1 พงศ์กษัตริย์ และ 2 พงศาวดาร พระนามทั้งสองของพระองค์ตามธรรมเนียมหมายถึง "ความสงบ" และ "พระสหายของพระเจ้า" ทั้งสองพระนามถือเป็นการ "ทำนายลักษณะการครองราชย์ของพระองค์"[18]

เส้นเวลา[แก้]

ช่วงรัชสมัยของซาโลมอนตามแบบแผนนำมาจากวิทยาการลำดับเวลาพระคัมภีร์และระบุอยู่ในช่วงประมาณ 970 ถึง 931 ปีก่อน ค.ศ.[19] รายงานจากเส้นเวลาที่มีการใช้งานแพร่หลายสุด ซึ่งอิงจากเส้นเวลาของ Edwin R. Thiele ศาสตราจารย์พันธสัญญาเก่า การสวรรคตของซาโลมอนและการแบ่งแยกราชอาณาจักรอาจเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงดมื่อ 931 ปีก่อน ค.ศ.[20]

ทรงพระเยาว์[แก้]

ซาโลมอนเสด็จพระราชสมภพในเยรูซาเลม[21] เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของกษัตริย์ดาวิดที่ประสูติแด่พระนางบัทเชบา (ภรรยาหม้ายของอุรียาห์ชาวฮิตไทต์) พระราชโอรสองค์แรก (ตามบันทึกไม่ได้ระบุพระนาม) มาจากการตั้งครรภ์อย่างผิดประเวณีในช่วงที่อุรียาห์ยังมีชีวิต สิ้นพระชนม์ไปหลังพระราชสมภพเพียง 7 วัน ในพระคัมภีร์เสนอแนะว่าเป็นการพิพากษาจากพระเจ้า ซาโลมอนมีพระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระราชบิดามารดาอยู่สามองค์ คือ: นาธัน ชัมมุวา และโชบับ[22] และมีพระเชษฐาต่างมารดาอยู่ 6 องค์[23]

รายงานพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าซาโลมอนทำหน้าที่เป็นเครื่องบูชาสันติระหว่างพระเจ้ากับดาวิด เนื่องจากดาวิดมีความสัมพันธ์ล่วงประเวณีกับบัทเชบา ด้วยความพยายามที่จะซ่อนบาปของตน ดาวิดจึงส่งอุรียาห์ชาวฮิตไทต์ สามีของบัทเชบา เข้าสนามรบ และให้อยู่ในแนวหน้า โดยดาวิดสั่งให้โยอาบ ผู้บังคับบัญชา ถอนกำลังสนับสนุนแก่อุรียาห์ เพื่อให้เขาถูกศัตรูฆ่าตายในสนามรบ หลังจากที่เขาตาย ดาวิดก็สามารถอภิเษกสมรสกับบัทเชบาได้ เพื่อเป็นการลงโทษ พระราชโอรสองค์แรกที่มาจากความสัมพันธ์ชู้สาวจึงสิ้นพระชนม์[24] ซาโลมอนเสด็จพระราชสมภพหลังดาวิดได้รับการให้อภัย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงมีการเลือกพระนามของพระองค์ ซึ่งหมายถึง สันติ นักประวัติศาสตร์บางส่วนอ้างอิงว่าศาสดานาธันเลี้ยงดูซาโลมอน เนื่องจากพระราชบิดาทรงยุ่งอยู่กับการปกครองราชอาณาจักร[25] สิ่งนี้อาจเป็นผลมาจากแนวคิดที่ว่าผู้เผยพระวจนะมีอิทธิพลเหนือดาวิดอย่างมาก เนื่องจากท่านรู้เรื่องการทำชู้ของพระองค์ ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรงตามกฎหมายของโมเสส[26]

ขึ้นครองราชย์และการบริหาร[แก้]

ซาโลมอนรับการเจิมเป็นกษัตริย์ วาดโดย Cornelis de Vos (c. 1630) ตาม 1 พงศ์กษัตริย์ 1:39 ซาโลมอนได้รับการเจิมจากศาโดก

หนังสือพงศ์กษัตริย์เล่ม 1 ได้ระบุว่า "กษัตริย์​ดาวิด​มี​พระ‍ชน‌มายุ​และ​ทรง‍พระ‍ชรา​มาก​แล้ว แม้​จะ​ห่ม​ผ้า​ให้​หลาย​ผืน พระ‍องค์​ก็​ยัง​ไม่​อบอุ่น"[27] "พวกเขาจึงเสาะหาสาวงามทั่วทั้งดินแดนอิสราเอล แล้วได้พบอาบีชากหญิงชาวชูเนม จึงได้นำเธอมาเฝ้าพระราชา หญิงสาวคนนั้นงามยิ่งนัก เธอได้เป็นผู้ดูแลพระราชาและอยู่ปรนนิบัติพระองค์ แต่พระราชาไม่ได้ทรงมีเพศสัมพันธ์กับเธอ"[28]

เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงอยู่ในสภาพเช่นนี้จึงทำให้เกิดการชิงอำนาจขึ้นในราชสำนัก อาโดนียาห์ ทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงของดาวิด ประกาศตนขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ แต่ก็แพ้แก่กลอุบายของพระ‍นาง​บัท‌เช‌บาและนาธันผู้เผยพระวจนะ ซึ่งได้โน้มน้าวให้กษัตริย์ดาวิดทรงประกาศให้เจ้าชายซาโลมอนเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ตามที่เคยปฏิ‌ญาณ​ไว้เมื่อก่อนหน้านั้น (ไม่ปรากฏบันทึกในพระคัมภีร์)[29] ถึงแม้ว่าซาโลมอนจะไม่ใช่โอรสองค์ใหญ่ก็ตาม

ซาโลมอนได้ขึ้นครองราชย์ตามพระบัญชาของกษัตริย์ดาวิด หลังครองราชย์แล้วซาโลมอนก็เริ่มกำจัดฝ่ายตรงข้าม เช่น แม่ทัพโยอาบ และคนื่น ๆ และรวมตำแหน่งของพระองค์เพิ่มเติมด้วยการ แต่งตั้งให้เพื่อนฝูงญาติมิตรมีอำนาจในราชสำนัก ซึ่งรวมถึงตำแหน่งทางศาสนา เช่นเดียวกันกับทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร[30] กล่าวกันว่าซาโลมอนขึ้นครองราชย์ตอนมีพระชนมพรรษาประมาณ 15 พรรษาเท่านั้น[31]

หลังครองราชย์ได้สี่ปีพระองค์ก็ได้สร้างวิหารหลังแรกขึ้นคือวิหารแห่งซาโลมอน การค้าขายระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างรุ่งเรืองในรัชสมัยพระองค์ พระองค์ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นกษัตริย์อิสราเอลที่มั่งคั่งที่สุดที่ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์

สติปัญญา[แก้]

ความฝันของซาโลมอน: พระยาห์เวห์ประทานสติปัญญาแก่ซาโลมอน วาดโดย Luca Giordano

ซาโลมอนเป็นบุคคลที่ทรงพระสติปัญญาที่สุดในพระคัมภีร์ ในหนังสือพงศ์กษัตริย์ฉบับ 1 ซาโลมอนได้ทรงอุทิศพระองค์เองต่อพระยาห์เวห์ และพระองค์ปรากฏในความฝันของซาโลมอน[32] ซาโลมอนทูลขอพระสติปัญญา พระยาห์เวห์ทรงตอบรับคำอธิษฐานของพระองค์ ทรงให้สัญญาแก่ซาโลมอนว่าจะประทานสติปัญญาชั้นเลิศที่สุดแก่ซาโลมอน เนื่องจากพระองค์ไม่ได้ทูลขอสิ่งที่เห็นแก่ตัวอย่างความเป็นอมตะหรือความพินาศของอริศัตรู

เรื่องราวที่มีชื่อเสียงที่สุดในด้านพระสติปัญญาของซาโลมอนคือคำพิพากษาของซาโลมอน เป็นคดีที่มีสตรีสองคนอ้างสิทธิว่าเป็นแม่ที่แท้จริงของเด็กทารกคนหนึ่งและขอให้ซาโลมอนทรงตัดสิน ซาโลมอนพิพากษาคดีอย่างง่าย ๆ โดยให้ตัดเด็กทารกออกเป็นสองส่วนแบ่งให้สตรีผู้กล่าวอ้างทั้งสองคนเสีย ทันใดนั้นมีสตรีคนหนึ่งยอมถอนตัวทันที เธอกล่าวว่าเธอขอยอมแพ้เสียดีกว่าให้เด็กถูกฆ่าตาย เมื่อได้ยินเช่นนั้นซาโลมอนจึงประกาศให้สตรีผู้ที่ถอนตัวเป็นแม่ของเด็กทารก[33]

ตามธรรมเนียม ซาโลมอนถือเป็นผู้เขียนหนังสือในพระคัมภีร์หลายเล่ม เช่น หนังสือสุภาษิต หนังสือปัญญาจารย์ และพระธรรมเพลงสดุดี โดยได้รับการกำหนดให้เป็นผู้เขียนตามธรรมเนียมของสติปัญญาของซาโลมอน ซึ่งถูกรวมเข้าในคัมภีร์ของออร์ทอดอกซ์ตะวันออกและคาทอลิก แต่ฝั่งโปรเตสแตนต์ถือเป็นคัมภีร์นอกสารบบ[34]

พระราชทรัพย์[แก้]

ซาโลมอนต้อนรับทูตจากชาติบรรณาการ

ตามรายงานจากคัมภีร์ฮีบรู ราชอาณาจักรอิสราเอลโบราณได้รับความรุ่งโรจน์และความมั่งคั่งสูงสุดในช่วงรัชสมัยซาโลมอนที่กินเวลา 40 ปี 1 Kings 10:14 ระบุว่าในปีเดียว ซาโลมอนรับเครื่องบรรณาการทองคำถึง 666 ตะลันต์ (18,125 กิโลกรัม) ซาโลมอนได้รับการบรรยายว่ารายล้อมไปด้วยสิ่งฟุ่มเฟือยและความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ตะวันออก และรัฐบาลของพระองค์เจริญรุ่งเรือง พระองค์จัดตั้งพันธมิตรกับฮิรัมที่ 1 กษัตริย์แห่งไทร์ที่ช่วยเหลือพระองค์ในกิจการอันมากมายหลายประการ

โครงการก่อสร้าง[แก้]

ชายาและบาทบริจาริกา[แก้]

กษัตริย์ซาโลมอนกับพระมเหสีของพระองค์ ภาพวาดใน ค.ศ. 1668 โดย Giovanni Battista Venanzi

พระคัมภีร์ระบุว่า ซาโลมอนมีมเหสี 700 องค์ และนางสนม 300 คน[35] มเหสีเหล่านี้ได้รับการอธิบายเป็นเจ้าหญิงต่างอาณาจักร เช่น ธิดาของฟาโรห์[36] และสตรีจากโมอับ, อัมโมน, เอโดม, ไซดอน และฮิตไทต์ การอภิเษกสมรสกับธิดาของฟาโรห์ดูเหมือนจะเชื่อมความเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับอียิปต์ ในขณะที่การยึดติดกับมเหสีและนางสนมคนอื่น ๆ ของพระองค์นั้นเนื่ิองด้วยความ "รักใคร่"[37][38] มเหสีองค์เดียวที่ระบุด้วยพระนามคือนาอามาห์ชาวอัมโมน พระราชมาดาของเรโหโบอัม ผู้สืบทอดของซาโลมอน

คำบรรยายในพระคัมภีร์ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เห็นชอบที่ซาโลมอนอนุญาตให้มเหสีชาวต่างชาตินำเทพเจ้าประจำชาติของตนเข้ามา สร้างวิหารให้แก่อัชโทเรทและมิลโคม[39]

ความสัมพันธ์กับพระราชินีแห่งเชบา[แก้]

บาปและการลงโทษ[แก้]

"อนิจจังแท้ๆ! ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง" ภาพวาดโดย Isaak Asknaziy แสดงกษัตริย์ซาโลมอนชราผู้ชอบคิดใคร่ครวญ

อาลักษณ์ชาวยิวกล่าวว่าครูของซาโลมอนคือ Shimei ben Gera และเขาห้ามซาโลมอนแต่งงานกับมเหสีต่างชาติตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปรากฏในทัลมุดที่ Ber. 8a ว่า: "ตราบเท่าที่ Shimei บุตร Gera ยังมีชีวิตอยู่ ซาโลมอนจะไม่มีวันอภิเษกสมรสกับธิดาของฟาโรห์" (ดูเพิ่มใน Midrash Tehillim ที่ Ps. 3:1) การประหารชีวิต Shimei ของซาโลมอนเป็นการดำดิ่งสู่บาปครั้งแรก[18]

รายงานจาก 1 Kings 11:4 "เหล่าภรรยาของท่านทำให้ใจของท่านหันไปเชื่อในบรรดาเทพเจ้า" ซึ่งคือเทพเจ้าของบรรดาพระนางที่ซาโลมอนสร้างวิหารให้ ทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงโกรธกริ้วและลงโทษในรูปแบบแบ่งอาณาจักรหลังซาโลมอนสวรรคต (1 Kings 11:9–13) 1 Kings 11 กล่าวถึงการที่ซาโลมอนหันเหไปสู่การบูชารูปปั้น โดยเฉพาะการหันไปบูชาอัชโทเรท เทพีของชาวไซดอน และมิลโคม เทพเจ้าของชาวอัมโมน ใน Deuteronomy 17:16–17 ระบุว่า "ขอเพียงอย่าให้กษัตริย์มีม้าศึกจำนวนมากเป็นของตนเอง...อย่ามีภรรยามาก...อย่าสะสมเงินทองส่วนของตนให้งอกเงยมากเกินไปนัก" ซาโลมอนละเมิดทั้งสามข้อ นอกจากนี้ พระองค์ยังเก็บทองคำในแต่ละปีถึง 666 ตะลันต์ (1 Kings 10:14) ถือว่ามีจำนวนมากสำหรับชาติขนาดเล็กอย่างอิสราเอล พระองค์ทรงรวบรวมม้าและรถม้าไปไกลถึงอียิปต์ และ "ถูกชักจูงออกห่างไป" ตามที่เตือนไว้ใน Deuteronomy 17

ซาโลมอนได้รับการกล่าวถึงว่าได้ทำบาปด้วยการรับมเหสีต่างชาติหลายองค์. Solomon's descent into idolatry, วาดโดย Willem de Poorter, ไรกส์มือเซยึม

รายงานจาก 1 Kings 11:30–34 และ 1 Kings 11:9–13 ด้วยบาปกรรมเหล่านี้ทำให้พระผู้เป็นเจ้าลงโทษซาโลมอนด้วยการถอนชนเผ่าอิสราเอลส่วนใหญ่ไปจากการปกครองของราชวงศ์ซาโลมอน[40]

พระผู้เป็นเจ้าโกรธกริ้วซาโลมอน เพราะจิตใจของท่านหันเหไปจากพระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของอิสราเอล ผู้ได้ปรากฏแก่ท่านถึง 2 ครั้งแล้ว และได้บัญชาท่านในเรื่องนี้ คือท่านไม่ควรติดตามบรรดาเทพเจ้า แต่ท่านก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่พระผู้เป็นเจ้าได้บัญชาไว้ ฉะนั้น พระผู้เป็นเจ้ากล่าวกับซาโลมอนว่า “ในเมื่อเจ้าประพฤติเช่นนี้ และไม่ได้รักษาพันธสัญญาและกฎเกณฑ์ของเราที่เราบัญชาเจ้า เราจะฉีกอาณาจักรที่เจ้าครอบครองอย่างแน่นอน และยกให้กับผู้รับใช้ของเจ้า แต่เพราะเห็นแก่ดาวิดบิดาของเจ้า เราจะไม่ทำเช่นนั้นในชั่วอายุของเจ้า แต่เราจะทำกับบุตรของเจ้า อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ฉีกอาณาจักรทั้งหมด แต่เราจะให้บุตรของเจ้าปกครอง 1 เผ่า เพราะเห็นแก่ดาวิดผู้รับใช้ของเรา และเห็นแก่เยรูซาเล็มที่เราได้เลือกไว้

สวรรคต เรโหโบอัมครองราชย์ และการแตกอาณาจักร[แก้]

สหราชาธิปไตยแตกสลาย โดยเยโรโบอัมปกครองอิสราเอล (น้ำเงิน) ส่วนเรโหโบอัมปกครองยูดาห์

ในคัมภีร์ฮีบรูระบุว่า พระเจ้าซาโลมอนเป็นบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์ที่สร้างพระวิหารแห่งแรกในเยรูซาเลม และผู้ปกครององค์สุดท้ายของสหราชาธิปไตยอิสราเอล หลังครองราชย์ 40 ปี (1 พงศ์กษัตริย์ 11:42) พระองค์สวรรคตจากสาเหตุตามธรรมชาติ[41] ด้วยพระชนมพรรษาประมาณ 55 พรรษา

ก่อนที่ซาโลมอนสวรรคต เรโหโบอัม พระราชโอรส ขึ้นครองราชย์ แต่ชนเผ่าอิสราเอล 10 กลุ่มไม่ยอมรับพระองค์เป็นกษัตริย์ แล้วแยกดินแดนออกเป็นราชอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือ ภายใต้การปกครองของเยโรโบอัม ส่วนเรโหโบอัมยังคงปกครองราชอาณาจักรยูดาห์ขนาดเล็กกว่าทางใต้ ทำให้สองอาณาจักรนี้ไม่มีวันรวมกันเป็นหนึ่งอีกต่อไป

ซาโลมอนมีความเกี่ยวโยงกับ"ยุคทอง"สูงสุดของราชอาณาจักรอิสราเอลอันเป้นเอกราช และเป็นแหล่งตำนานภูมิปัญญาด้านตุลาการและศาสนา

คำว่า לשלמה ในภาษาฮีบรู ปรากฏในชื่อบทของหนังสือเพลงสดุดีเพียง 2 บท (72 และ 127) คำนี้มีความหมายว่า "ถึงซาโลมอน" แต่ก็สามารถแปลได้เป็น "โดยซาโลมอน" ทำให้บางคนเสนอแนะว่าซาดลมอนเป็นผู้เขียนหนังสือเพลงสดุดีสองบทนั้น[42][43][44]

คัมภีร์อธิกธรรมหรือนอกสารบบ[แก้]

ความเป็นประวัติศาสตร์[แก้]

มุมมองศาสนา[แก้]

ยูดาห์[แก้]

คริสต์[แก้]

อิสลาม[แก้]

บัลลังก์ซาโลมอน บริเวณมัสยิดอัลอักศอ เยรูซาเลม

ตามธรรมเนียมอิสลาม ซาโลมอนเป็นรู้จักกันในชื่อ ซุลัยมาน อิบน์ ดาวูด และถือเป็นศาสดาและศาสนทูตของอัลลออ์ เช่นเดียวกันกับการเป็นกษัตริย์ที่พระเจ้าแต่งตั้ง[45] ซาโลมอนดำรงตำแหน่งถัดจากพระราชบิดาในฐานะกษัตริย์ศาสดาแห่งวงศ์วานอิสราเอล สิ่งที่ต่างจากพระคัมภีร์คือ พระองค์ไม่สักการะรูปเคารพใด ๆ ทั้งสิ้น[46]

อัลกุรอานกำหนดให้ซาโลมอนมีสติปัญญา ความรู้ และอำนาจในระดับที่ดีเยี่ยม[47] พระองค์รู้ภาษาของนก (อาหรับ: منطق الطير, อักษรโรมัน: manṭiq al-ṭayr)[47]

ซาโลมอนในศาสนาอิสลามยังเป็นที่รู้จักจาดการมีความสามารถเหนือธรรมชาติที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมา เช่น ควบคุมลม ปกครองเหนือญิน และได้ยินการสื่อสารของมด:

และเราได้ให้มีลมพัดแก่สุลัยมาน ซึ่งมันจะพัดไปในยามเช้าเป็นเวลาหนึ่งเดือน และมันจะพัดกลับในยามเย็นเป็นเวลาหนึ่งเดือน และเราได้ให้ไหลมาแก่เขาซึ่งตาน้ำทองเหลือง (คือให้ทองเหลืองที่หลอมตัวเป็นตาน้ำไหลมาสำหรับสุลัยมาน) ในหมู่ญินนั้น มีผู้ทำงานอยู่เบื้องหน้าเขาด้วยอนุมัติแห่งพระเจ้าของเขา และผู้ใดในหมู่พวกเขาหันเหจากพระบัญชาของเรา เราจะให้เขาลิ้มรสการลงโทษที่มีไฟลุกโชติช่วง

จนกระทั่งเมื่อพวกเขาได้มาถึงทุ่งที่มีมดมาก มดตัวหนึ่งได้พูดว่า “โอ้พวกมดเอ๋ย! พวกเจ้าจงเข้าไปในรังของพวกเจ้าเถิด เพื่อว่าสุลัยมานและไพร่พลของเขาจะได้ไม่บดขยี้พวกเจ้า โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว” เขา (สุลัยมาน) ยิ้มแกมหัวเราะต่อคำพูดของมันและกล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแกข้าพระองค์ เพื่อให้ข้าพระองค์ขอบคุณต่อความโปรดปรานของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงโปรดปรานแก่ข้าพระองค์ และบิดามารดาของข้าพระองค์ และให้ข้าพระองค์กระทำความดีเพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัยมัน และทรงให้ข้าพระองค์เข้าอยู่ในความเมตตาของพระองค์ ในหมู่ปวงบ่าวของพระองค์ที่ดีทั้งหลาย”

อัลกุรอานได้ระบุว่า:

และพวกเขาได้ปฏิบัติตามสิ่งที่บรรดาชัยฏอน ในสมัยสุลัยมานอ่านให้ฟัง และสุลัยมานหาได้ปฏิเสธการศรัทธาไม่ แต่ทว่าชัยฏอนเหล่านั้นต่างหากที่ปฏิเสธการศรัทธา โดยสอนประชาชนซึ่งวิชาไสยศาสตร์และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่มะลาอิกะฮ.ทั้งสอง คือ ฮารูต และมารูต ณ เมืองบาบิล และเขาทั้งสองจะไม่สอนให้แก่ผู้ใดจนกว่าจะกล่าวว่า แท้จริงเราเพียงเป็นผู้ทดสอบเท่านั้นท่านจงอย่าปฏิเสธการศรัทธาเลย แล้วเขาเหล่านั้นก็ศึกษาจากเขาทั้งสอง สิ่งที่พวกเขาจะใช้มันยังความแตกแยกระหว่างบุคคลกับภรรยาของเขาและพวกเขาไม่อาจทำให้สิ่งนั้นเป็นอันตรายแก่ผู้ใดได้นอกจากด้วยการอนุมัติของอัลลอฮฺเท่านั้น และพวกเขาก็เรียนสิ่งที่เป็นโทษแก่พวกเขา และมิใช่เป็นคุณแก่พวกเขา และแท้จริงนั้นพวกเขารู้แล้วว่า แน่นอนผู้ที่ซื้อมันไว้นั้น ในปรโลกก็ย่อมไม่มีส่วนได้ใด ๆ และแน่นอนเป็นสิ่งที่ชั่วช้าจริง ๆ ที่พวกเขาขายตัวของพวกเขาด้วยสิ่งนั้น หากพวกเขารู้

ตำนาน[แก้]

ดวงตราแห่งซาโลมอน[แก้]

ซาโลมอนมีแหวนมนตราวงหนึ่งที่เรียกว่า ดวงตราแห่งซาโลมอน (Seal of Solomon) เชื่อกันว่าซาโลมอนได้รับมอบแหวนวงนี้และมีอำนาจเหนือญินและปิศาจ กล่าวกันว่าสัญลักษณ์มนตราบนแหวนเป็นสัญลักษณ์เดียวกับ ดาราแห่งดาวิด (บ้างเรียก โล่แห่งดาวิด) แม้ว่าดาราแห่งดาวิดจะเป็นสัญลักษณ์ของศาสนายูดาห์ซึ่งเริ่มปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ถึง 4 ก็ตาม บันทึกของรับบีระบุว่า ครั้งหนึ่งราชาแห่งเหล่ามารแอสโมเดียส (Asmodeus) ถูกจับกุมโดยเบไนอา (Benaiah) ที่สวมแหวนอยู่ และถูกบังคับให้อยู่ใต้อาณัติของซาโลมอน

ในอีกตำนานระบุว่าแอสโมเดียสนำชายผู้หนึ่งซึ่งมีสองหัวขึ้นมาจากโลกบาดาลเพื่อให้ซาโลมอนทอดพระเนตร ชายผู้นั้นไม่สามารถกลับไปโลกบาดาลได้ จึงได้อยู่กินกับสตรีนางหนึ่งในกรุงเยรูซาเลม และมีลูกชายด้วยกันเจ็ดคน หกในจำนวนเจ็ดคนนั้นมีลักษณะเช่นมารดา ส่วนอีกหนึ่งคนมีสองหัวเช่นบิดา เมื่อบิดาเสียชีวิต นายสองหัวได้เรียกร้องมรดกในส่วนสำหรับสองคน ซาโลมอนตัดสินว่านายสองหัวเป็นเพียงบุคคลเดียว

ดวงตราแห่งซาโลมอนเปรียบได้ดั่งแหวนแห่งอำนาจ ในหลายตำนานระบุว่า มีหลายกลุ่มคณะบุคคลเคยพยายามชิงหรือขโมยแหวนด้วยทางใดทางหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจมนตรา

วัตถุแห่งซาโลมอน[แก้]

อีกหนึ่งวัตถุมาตราหนึ่งของซาโลมอนคือโต๊ะและกุญแจแห่งซาโลมอน เป็นที่กล่าวว่าโต๊ะแห่งซาโลมอนตั้งอยู่ในเมืองโตเลโดในช่วงที่ชาววิซิกอทปกครอง ก่อนที่จะถูกชิงไปโดยนายทหารฝ่ายมุสลิมในช่วงอาณาจักรอุมัยยะฮ์พิชิตดินแดนไอบีเรีย[48] ส่วนกุญแจแห่งซาโลมอนปรากฏอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า กุญแจย่อยของซาโลมอน ซึ่งเป็นตำราไสยเวทมีโครงเรื่องที่ซาโลมอนจับกุมปิศาจต่างๆด้วยแหวน และบังคับให้ปิศาจพวกนั้นแนะนำชื่อเสียงเรียงนามแก่ตน

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ฮีบรู: שְׁלֹמֹה, ใหม่: Šlōmō, ไทบีเรียน: Šălōmō, แปลว่า ความสงบ;[6] ซีรีแอก: ܫܠܶܝܡܽܘܢ, Šlēmūn; อาหรับ: سُلَيْمَان, Sulaymān, Silimān, Slemān; กรีก: Σολομών, Solomōn; ละติน: Salomon
  2. ฮีบรู: יְדִידְיָהּ, สมัยใหม่: Yǝdīdyah, ไทบีเรียน: Yăḏīḏyāh, "ผู้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรัก"

อ้างอิง[แก้]

  1. "In Our Time With Melvyn Bragg: King Solomon". UK: BBC Radio 4. 7 June 2012. สืบค้นเมื่อ 2012-06-10.
  2. 1 Kings 11:1–3
  3. หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1-2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  4. หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1-2, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  5. หนังสือเพลงซาโลมอน, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  6. Khan, Geoffrey (2020). The Tiberian Pronunciation Tradition of Biblical Hebrew. Vol. 1. Open Book Publishers. p. 305. ISBN 978-1-78374-676-7.
  7. หนังสือพงศ์กษัตริย์: 1  พงศ์กษัตริย์ 1–11; หนังสือพงศาวดาร: 1 พงศาวดาร 28–29, 2 พงศาวดาร 1–9
  8. 8.0 8.1 Barton, George A. (1906). "Temple of Solomon". Jewish Encyclopedia. pp. 98–101. สืบค้นเมื่อ 2018-10-24.
  9. Stefon, Matt (27 June 2023). "Solomon king of Israel". Britannica.
  10. 1 พงศ์กษัตริย์ 5:5; 8:20
  11. Rashi, to Megillah, 14a
  12. Finkelstein & Silberman 2006, p. 20.
  13. Grabbe, Lester. The Dawn of Israel: A History of Canaan in the Second Millennium BCE. 2023. T&T Clark. p. 255-259. “It is essentially a folktale about an Eastern potentate – it is royal legend or Königsnovelle.” “Thus, it looks difficult to discover much in the Solomon story that strikes the critical reader as likely to be historical.” “[T]he temple story has been inflated into a legendary extravaganza.” “[T]he Solomon story is the most problematic of those relating to the early Israelite kings, providing the thickest cloud of obscurity over the history that lies behind it.”
  14. Dever, William G. (2021). "Solomon, Scripture, and Science: The Rise of the Judahite State in the 10th Century BCE". Jerusalem Journal of Archaeology. 1: 102–125. doi:10.52486/01.00001.4. ISSN 2788-8819.
  15. มัทธิว 12:42; ลูกา 11:31
  16. มัทธิว 6:28–29; ลูกา 12:27
  17. "Archaeology, Culture, and other Religions". FMC terra santa. สืบค้นเมื่อ 2013-06-21.
  18. 18.0 18.1 Public Domain Hirsch, Emil G.; Price, Ira Maurice; Bacher, Wilhelm; Seligsohn, M.; Montgomery, Mary W.; toy, Crawford Howell (1905). "Solomon". ใน Singer, Isidore; และคณะ (บ.ก.). The Jewish Encyclopedia. Vol. 11. New York: Funk & Wagnalls. pp. 436–448.
  19. E. Clarity, 2012, p. 305.
  20. Thiele 1983, p. 78.
  21. 1 Chronicles 14:4
  22. 1 Chronicles 3:5
  23. 1 Chronicles 3:1–4
  24. Vance, Jennifer (2015). Solomon. New York: Simon and Schuster. ISBN 978-1-68146-118-2.
  25. Golden childhood. The Little People's Own Pleasure—Book of Delight and Instruction. London: Ward, Lock, and Co. 1878. p. 116.
  26. Farrel, Pam; Jones, Jean (2017). Discovering Hope in the Psalms: A Creative Bible Study Experience. Eugene: Harvest House Publishers. p. 70. ISBN 978-0-7369-6997-0.
  27. 1 พงศ์กษัตริย์ 1:1
  28. "1 Kings 1 (ESV)". BibleGateway.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-03.
  29. Lumby, J. R., Cambridge Bible for Schools and Colleges on 1 Kings 1, accessed 24 September 2017
  30. 1 Kings 4:1–19
  31. Wiersbe, Warren (2003). The Bible Exposition Commentary, Volume 1. Eastbourne: Cook Communications. pp. 496. ISBN 978-0-7814-3531-4.
  32. 1 พงศ์กษัตริย์ 3:3–15
  33. 1 พงศ์กษัตริย์ 3:16–28
  34. Coogan 2009, p. 375.
  35. 1 Kings 11:3; ไม่ใช่ในบันทึก 2 พงศาวดาร
  36. ดูเพิ่มที่ 1 Kings 3:1
  37. 1 Kings 11:2–3: NKJV
  38. "1 Kings 12—2 Kings 25", Introduction to the Hebrew Bible, Fortress Press, pp. 281–304, 2018, doi:10.2307/j.ctt1w6tbx5.24, ISBN 978-1-5064-4605-9
  39. 1 Kings 11:5–9: NKJV
  40. "NIV 1 Kings 11 (Solomon's Wives)". Bible Gateway. สืบค้นเมื่อ 2013-06-21.
  41. "Ancient Jewish History: The Kings of Ancient Israel". Jewish Virtual Library. สืบค้นเมื่อ 2010-03-03.
  42. Gottlieb, Isaac (2010). "Mashal Le-Melekh: The Search for Solomon". Hebrew Studies. 51: 107–127. doi:10.1353/hbr.2010.a400580. S2CID 170687286 – โดยทาง Gale Literature Resource Center.
  43. Dahood, Mitchell (1968). Psalms II, 51-100: Introduction, Translation, and Notes. New York: Doubleday. pp. 179–180. ISBN 0-385-03759-7.
  44. The Anchor Bible. New York: Doubleday. 1964. p. 47.
  45. อัลกุรอาน 2:102
  46. Shalev-Eyni, Sarit. "Solomon, his demons and jongleurs: The meeting of Islamic, Judaic and Christian culture." Al-Masaq 18.2 (2006): 155.
  47. 47.0 47.1 อัลกุรอาน 27:15-19
  48. Ibn Abd-el-Hakem. History of the Conquest of Spain.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]