หนังสือซามูเอล
หนังสือซามูเอล [1] หรือ พระธรรมซามูเอล (อังกฤษ: Books of Samuel) เป็นคัมภีร์ลำดับที่ 9 ในพระคริสตธรรม ภาคพันธสัญญาเดิม และเป็นลำดับที่ 4 ในหมวดประวัติศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 ฉบับ ได้แก่
- หนังสือซามูเอล ฉบับที่ 1 มีทั้งหมด 31 บท
- หนังสือซามูเอล ฉบับที่ 2 มีทั้งหมด 24 บท
หนังสือซามูเอลตั้งชื่อตามปุโรหิตและผู้เผยพระวจนะที่มีชื่อเสียงของอิสราเอลในยุคนั้น ไม่ทราบผู้แต่ง แต่เชื่อกันในวัฒนธรรมชาวยิวว่า แต่งโดย ซามูเอล เอง (หรือโดยการริเริ่มของซามูเอล) และแต่งเพิ่มเติมโดย กาด และ นาธาน [2]
แต่นักวิชาการสมัยใหม่ลงความเห็นกันว่า ประวัติศาสตร์ในช่วงเฉลยพระธรรมบัญญัติทั้งหมด แต่งและรวบรวมขึ้นในช่วงทศวรรษ 630–540 ปีก่อนคริสตกาล จากบทความหลากหลายในหลายยุคสมัย [3][4]
เนื้อหาของหนังสือทั้งสองฉบับกล่าวถึง พงศาวดารของอิสราเอล ในช่วงชีวิตของ ผู้เผยพระวจนะซามูเอล, กษัตริย์ซาอูล (เป็นกษัตริย์องค์แรกของชนชาติอิสราเอล) และ กษัตริย์ดาวิด (กษัตริย์องค์ที่สองของชนชาติอิสราเอล และเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของกลุ่มศาสนายูดาห์) ในมุมมองของบรรดาผู้เผยพระวจนะ [5]
ประกอบด้วยเนื้อหาตั้งแต่ ความเป็นมาของซามูเอลและ 2 กษัตริย์, ประวัติศาสตร์สำคัญต่างๆ จนถึง มรณกรรมของซามูเอล การสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ซาอูล, เหตุการณ์สำคัญในรัชกาลกษัตริย์ดาวิด และ ซาโลมอนประสูติ
เนื้อหาโดยสังเขป
[แก้]สามารถแบ่งเนื้อหา หนังสือซามูเอลฉบับที่หนึ่ง เป็น 6 ช่วงสำคัญ และ หนังสือซามูเอลฉบับที่สอง เป็น 3 ส่วนสำคัญ
ฉบับที่หนึ่ง
[แก้]- กำเนิดซามูเอล และการทรงเรียกของซามูเอล
ในยุคที่ เอลีอาซาร์ เป็นปุโรหิตและผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า บุตรชายของท่านได้กระทำผิดต่อพระเจ้าว่าด้วยเครื่องถวายบูชา เป็นเหตุให้พระเจ้าไม่อวยพระพรแก่ครอบครัวของเอลีอาซาร์
ในช่วงไล่เลี่ยกัน นางฮันนาห์ ซึ่งเป็นหมัน ได้มาอธิษฐานกราบพระเจ้าให้เบิกครรภ์ โดยนางบนบานว่า จะถวายบุตรชายให้เป็นผู้รับใช้ในพระวิหารของพระเจ้า เมื่อสมปรารถนา นางตั้งชื่อบุตรชายว่า ซามูเอล และถวายซามูเอลให้เป็นผู้รับใช้พระเจ้า
พระองค์จึงทรงเรียก ซามูเอล ให้ทำหน้าที่แทนที่เอลีอาซาร์
- การแต่งตั้งกษัตริย์ซาอูล
เมื่อซามูเอลเป็นปุโรหิตและผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า ประเทศรอบข้างอิสราเอลต่างมีกษัตริย์ทำหน้าที่ปกครองประเทศ มีเพียงอิสราเอลที่ไม่มีกษัตริย์ แต่มีปุโรหิตเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลประชากรตามที่พระเจ้าทรงบัญชา
อิสราเอลได้เรียกร้องให้ซามูเอลแต่งตั้งกษัตริย์ให้ตน ซึ่งถือว่าเป็นการกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้า แต่พระเจ้าก็ทรงอนุญาตให้อิสราเอลแต่งตั้งกษัตริย์ได้ โดยพิจารณาจากบุตรชายหัวปีของตระกูล ตามลำดับพงศ์พันธุ์ของอิสราเอล ซาอูล ได้รับการแต่งตั้งด้วยว่ามีบุคลิกภาพดี มีความเป็นผู้นำ และเป็นนักรบ ซาอูลจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของอิสราเอล
- กษัตริย์ซาอูลทรงถูกถอดจากราชสมบัติ
กษัตริย์ซาอูลทรงขึ้นครองราชย์ปกครองอิสราเอลด้วยความชอบธรรม โดยมีซามูเอลเป็นปุโรหิตผู้คอยให้คำแนะนำด้วยดีในระยะแรก ในทุกสงคราม กษัตริย์ซาอูลให้ซามูเอลอธิษฐานและร้องทูลต่อพระเจ้า และได้ชัยชนะเรื่อยมา
เมื่อชนะบ่อยครั้งเข้า กษัตริย์ซาอูลกลับทรงเหิมเกริม ไม่ปฏิบัติตามพระเจ้าตรัสผ่านซามูเอล เป็นเหตุให้พระเจ้าทอดทิ้งพระองค์ กษัตริย์ซาอูลมิได้กลับพระทัยแต่หันไปพึ่งคนทรง ซึ่งผิดอย่างร้ายแรงในสายพระเนตรพระเจ้า พระเจ้าจึงทรงถอดถอนกษัตริย์ซาอูลออก ไม่สนับสนุนพระองค์อีก และทรงให้ซามูเอลไปทำการตั้งเจิมแก่ว่าที่กษัตริย์องค์ใหม่ของอิสราเอลแทน
- การแต่งตั้งกษัตริย์ดาวิด
เพื่อให้มนุษย์ยำเกรงเชื่อฟังคำสอนของพระเจ้าผู้เป็นกษัตริย์ที่แท้จริง พระเจ้าจึงทรงให้เกิดความอัศจรรย์ว่า กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชนชาติ กลับมาจากบุตรชายคนเล็กที่สุด ของตระกูลที่เล็กน้อยที่สุด จากเผ่ายูดาห์ซึ่งเป็นเผ่าที่เล็กน้อยที่สุด แต่ยิ่งใหญ่ขึ้นด้วยการเชื่อฟังพระเจ้า
ซามูเอลจึงออกค้นหาเพื่อเจิมตั้งให้เป็นกษัตริย์แทนซาอูล ตามพระบัญชาของพระเจ้า และพบ ดาวิด เด็กหนุ่มผุ้ทำหน้าที่เลี้ยงแกะให้แก่บิดา ไม่ได้เป็นนักรบยิ่งใหญ่แต่อย่างใด แต่มีความยำเกรงและเชื่อฟังพระเจ้า
ภายหลังจากที่พระเจ้าทรงให้ซามูเอลเจิมตั้งดาวิด ก็มีเหตุให้ดาวิดได้แสดงความสามารถ และการทรงสถิตย์ของพระเจ้า โดยได้เข้าร่วมกองทัพกับอิสราเอลและรบชนะศึกสำคัญหลายครั้ง จนประชาชนอิสราเอลตระหนักว่าพระเจ้าทรงอยู่ข้างดาวิด มิใช่ซาอูล แต่กระนั้น ดาวิดก็อ่อนน้อมซื่อตรงรับใช้ต่อกษัตริย์ซาอูล มิได้มักใหญ่ตั้งตนเองขึ้น
- การหนีของดาวิด
เมื่อผลงานของดาวิดมีมากขึ้น เป็นเหตุให้กษัตริย์ซาอูลไม่พอพระทัย คิดหาทางกำจัดดาวิดเสียหลายครั้ง แต่ดาวิดก็สามารถรอดมาได้เสมอโดยไม่คิดแค้น และไว้ชีวิตกษัตริย์ซาอูล เมื่อกษัตริย์ซาอูลริษยาดาวิดจนนำกองทัพไล่ติดตาม ดาวิดจำเป็นต้องหลบหนีไปอยู่ในชนบท
แต่มีประชากรอิสราเอลจำนวนมาก ที่เห็นว่าพระเจ้าทรงสถิตย์กับดาวิด จึงได้ขอติดตามพระองค์ไปด้วยและกลายเป็นกองกำลังเพื่อปกป้องตนเอง แต่มิได้เข้าไปยึดบัลลังก์จากซาอูลแต่อย่างใด แม้แต่ โยนาธาน พระโอรสซาอูลก็เคยช่วย
- กษัตริย์ซาอูลสิ้นพระชนม์ กษัตริย์ดาวิดทรงขึ้นครองราชย์
เมื่อดาวิดมีผู้ติดตามมากขึ้น กษัตริย์ซาอูลเห็นว่าเป็นการซ่องสุมกำลังไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ จึงทรงนำกองทัพออกติดตามเพื่อกำจัดดาวิดถึง 2 ครั้ง แต่โดยพระเจ้า ดาวิดสามารถเข้าถึงกษัตริย์ซาอูล แต่กลับไว้ชีวิตและปรับความเข้าใจแล้วต่างยกกำลังกลับทั้ง 2 ครั้งนั้น
ในช่วงนั้น ผู้เผยพระวจนะ ซามูเอล ถึงแก่กรรมด้วยชราภาพ
ต่อมากษัตริย์ซาอูลกลับถูกกองทัพฟีลิสเตียล้อม บาดเจ็บสาหัสด้วยธนู กษัตริย์ซาอูลปลงพระชนม์ พระโอรสและทหารติดตามก็ปลงพระชนม์และฆ่าตัวตายตาม เมื่อดาวิดทราบข่าวก็เสียใจอาลัย
เมื่อสิ้นกษัตริย์ ประชาชนอิสราเอลได้ทูลเชิญดาวิดขึ้นครองราชย์
ฉบับที่สอง
[แก้]- การเถลิงราชย์ของกษัตริย์ดาวิด
- กษัตริย์ดาวิดสถาปนาเยรูซาเล็ม
- การอัญเชิญหีบพันธสัญญา
- ทรงสะสางในเมือง
- บรรดาการกบฎและความทุกข์ของดาวิด
- อัมโมนและซีเรียขนาบ
- ดาวิดสำนึกบาป
- ซาโลมอนประสูติ
- อับซาโลมฆ่าอัมโนน หนีไปจนกลับมา
- กษัตริย์ดาวิดหนีจากอับซาโลมก่อกบฎ จนกลับเข้าเมือง เชบากบฎนำอิสราเอลออกมา
- ปกิณกะเหตุการณ์ ไม่เรียงลำดับ
- กันดารอาหารสามปี
- บทเพลงของกษัตริย์ดาวิด
- พระดำรัสสุดท้าย
- รายชื่อวีรชน
- โรคระบาดจากความหยิ่ง
- กษัตริย์ดาวิดซื้อที่สร้างแท่นบูชา
หนังสือซามูเอลในแง่มุมทางเทววิทยา
[แก้]แม้เนื้อหาของหนังสือซามูเอลเป็นประวัติศาสตร์ของอิสราเอล แต่ได้แฝงไว้ซึ่งหลักคิดที่สำคัญในแง่มุมทางเทววิทยาหลายประการ เช่น
- การเชื่อฟังพระเจ้าจะได้รับพระพรที่ยิ่งใหญ่ - เปรียบเทียบจาก ทรงเลือกกษัตริย์ ระหว่าง ซาอูล และ ดาวิด เพื่อแฝงคำสอนให้เห็นว่า
หากเชื่อฟังพระเจ้า พระเจ้าจะทรงสถิตย์ด้วย ทำให้แม้ความสามารถทางกายภาพที่ด้อยกว่า ก็มิได้เป็นอุปสรรคแม้ใหญ่โตเพียงใด
- การให้อภัย และความซื่อตรงมั่นคง - ของกษัตริย์ดาวิด ที่ไม่เคยถือโทษโกรธกษัตริย์ซาอูลเลย แม้ถูกปองร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า
ทำให้พระองค์ได้รับการสนับสนุนขึ้นเป็นกษัตริย์โดยชอบธรรม
- ความยำเกรงพระเจ้าเป็นแบบอย่าง - กษัตริย์ดาวิดเป็นบุคคลที่พระคัมภีร์หลายตอนได้ยกย่องในด้านความยำเกรงพระเจ้า และความถ่อมพระทัยของพระองค์เป็นอย่างมาก
แม้อิสราเอลในยุคของพระองค์ไม่ได้รุ่งเรืองที่สุด แต่กลับได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล (อิทธิพลในเวลาต่อมา วัฒนธรรมของชาวคริสต์เชื่อว่า พระเยซู ประสูติในวงศ์วานทายาทของ กษัตริย์ดาวิด)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หนังสือซามูเอล[ลิงก์เสีย]
- ↑ 1 Chronicles 29:29
- ↑ Knight 1995, p. 62.
- ↑ Jones 2001, p. 197.
- ↑ Gordon 1986, p. 18.
ดูเพิ่ม
[แก้]ก่อนหน้า หนังสือผู้วินิจฉัย |
หนังสือซามูเอล คัมภีร์ฮีบรู |
ถัดไป หนังสือพงศ์กษัตริย์ |
ก่อนหน้า หนังสือนางรูธ |
หนังสือซามูเอล พันธสัญญาเดิม ของศาสนาคริสต์ |
ถัดไป หนังสือพงศ์กษัตริย์ |