ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Princess Mononoke)
เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร
กำกับฮายาโอะ มิยาซากิ
เขียนบทฮายาโอะ มิยาซากิ
อำนวยการสร้างโทะชิโอะ ซุซุกิ
นักแสดงนำโยจิ มัตสุดะ
ยูริโกะ อิชิดะ
ยูโกะ ทะนะกะ
คะโอะรุ โคะบะยะชิ
กำกับภาพAtsushi Okui
ตัดต่อTakeshi Seyama
ดนตรีประกอบโจ ฮิซาอิชิ
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายโทะโฮะ (ญี่ปุ่น)
มิราแมกซ์ (สหรัฐฯ)
วันฉาย12 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 (ญี่ปุ่น)
29 ตุลาคม ค.ศ. 1999 (สหรัฐอเมริกา)
ความยาว134 นาที
ประเทศญี่ปุ่น
ภาษาญี่ปุ่น
ทุนสร้าง2,135,666,804.93 เยน
(23.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ทำเงิน14,487,325,138.75 เยน
(159.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (ญี่ปุ่น: もののけ姫โรมาจิMononoke Himeทับศัพท์: โมโมโนเกะ ฮิเมะ) เป็นภาพยนตร์อนิเมะแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ ที่เขียนและกำกับโดยฮายาโอะ มิยาซากิแห่งสตูดิโอจิบลิ โมะโนะโนะเกะ (ญี่ปุ่น: 物の怪โรมาจิ"Mononoke") ไม่ใช่ชื่อแต่เป็นคำที่ใช้เรียกภูตผีปีศาจ ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม และ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ตามลำดับ

เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นภาพยนตร์ย้อนยุคซึ่งมีฉากอยู่ในปลายยุคมุโระมะจิของญี่ปุ่น แต่แต่งเติมด้วยองค์ประกอบจากจินตนาการลงไปจำนวนมาก เนื้อเรื่องกล่าวถึงอะชิตะกะซึ่งเป็นคนภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับพลังเหนือธรรมชาติที่ดูแลป่าและผู้คนของโลหะนครซึ่งใช้ทรัพยากรจากป่า ในเรื่องนี้มิได้แสดงถึงฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่วที่เด่นชัด และจุดยืนของผู้สร้างภาพยนตร์ก็เปลี่ยนไปมาระหว่างทั้งสองฝ่าย ไม่มีชัยชนะของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ชัดเจน มีเพียงความหวังที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติจะดำเนินเป็นวัฎจักรต่อไป[1]

โรเจอร์ เอเบิร์ต จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในอันดับที่หกในรายชื่อภาพยนตร์ที่ดีที่สุดสิบเรื่องแห่งปี พ.ศ. 2542 [2] เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ยังเคยเป็นภาพยนตร์ที่สร้างรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น ซึ่งถูกทำลายสถิติลงด้วยภาพยนตร์เรื่องไททานิคในหลายเดือนถัดมา[3] ปัจจุบันเจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นภาพยนตร์อนิเมะที่ทำรายได้สูงที่สุดอันดับสี่ในญี่ปุ่น[ต้องการอ้างอิง] รองลงมาจาก เซ็น โทะ ชิฮิโระ โนะ คะมิกะกุชิ (Spirited Away) ใน พ.ศ. 2544 ฮารุ โนะ ยุโงะคุชิโระ (Howl's Moving Castle) ใน พ.ศ. 2547 และ โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย ใน พ.ศ. 2551 ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานของมิยะซะกิทั้งสิ้น

เรื่องย่อ

[แก้]

อะชิตะกะเจ้าชายองค์สุดท้ายแห่งเอะมิชิต่อสู้กับปีศาจหมูป่ายักษ์ที่รุกเข้ามา เขาจำต้องยิงธนูฆ่าปีศาจเพื่อปกป้องหมู่บ้าน ระหว่างการต่อสู้เขาได้รับบาดเจ็บที่แขน มิโกะเฒ่าประจำหมู่บ้านทำนายว่าแผลที่แขนขวาต้องคำสาปและจะขยายไปทำให้ถึงแก่ชีวิตในที่สุด อะชิตะกะบอกว่ายอมรับผลที่ตามมาได้ตั้งแต่ชักคันธนูขี้นแล้ว เขาตัดสินใจเดินทางไปยังดินแดนทางตะวันตกเพื่อตามหาที่มาของหมูป่า และหาสาเหตุที่ทำให้เทพเจ้าหมูป่ากลายร่างเป็นปีศาจ ซึ่งอาจมีทางช่วยแก้ไขคำสาปได้แทนที่จะอยู่รอความตาย อะชิตะกะตัดมวยผมออกต่อหน้าที่ประชุมเป็นสัญลักษณ์ของการจากไปอย่างถาวรและตายจากสังคมที่เขาอยู่[4] อะชิตะกะได้รับกริชแก้วจากเด็กสาวในหมู่บ้านไว้แล้วขี่ยักกุรุกวางแดงคู่ใจของเขาออกจากหมู่บ้านไปในกลางดึก

ระหว่างทางอะชิตะกะผ่านหมู่บ้านที่ถูกซามูไรรุกราน เขาจำเป็นต้องป้องกันตัวเพราะถูกขวางทางและถูกโจมตี แขนที่ต้องคำสาปได้แสดงพลังเหนือธรรมชาติ ทำให้ลูกธนูของเขาตัดแขนขาหรือศีรษะมนุษย์ได้ เมื่อถึงเมืองถัดไปอะชิตะกะได้พบกับจิโกะนักบวชพเนจร จิโกะและอะชิตะกะค้างแรมด้วยกัน จิโกะรู้ว่าอะชิตะกะเป็นชาวเอะมิชิเพราะเห็นกวางแดง ธนูหิน และชามที่เขาใช้ เขาบอกอะชิตะกะว่าเขาอาจพบกับสิ่งที่ตามหาได้ในป่าของเทพเจ้ากวาง "ชิชิกะมิ" ในภูเขาทางตะวันตกที่เต็มไปด้วยเทพเจ้าสัตว์ป่าขนาดยักษ์ จิโกะยังบอกอีกด้วยว่าป่านั้นเป็นแดนหวงห้ามที่มนุษย์ไม่อาจรุกล้ำ

ใกล้กับภูเขาทางตะวันตกมีเมืองโลหะนคร คนในเมืองตัดไม้จากป่ามาใช้หลอมแร่เหล็กอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการต่อสู้กับสัตว์ป่าที่ต้องการปกป้องถิ่นอาศัยของตน การต่อสู้ครั้งหนึ่งมีหมาป่ายักษ์สามตัว นำโดยเทพเจ้าหมาป่าโมะโระ ลอบโจมตีชาวบ้านที่กำลังขนข้าว นอกจากหมาป่าสามตัวมีซัง เด็กหญิงที่โมะโระเลี้ยงไว้ติดตามมาด้วย ชาวเมืองเรียกเด็กหญิงนี้ว่า "เด็กหญิงหมาป่า" หรือ "เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร" (แปลว่า ปีศาจที่สร้างความรำคาญ หรือ ผีร้ายที่คอยก่อกวน) การต่อสู้ครั้งนี้ทั้งโมะโระและชาวบ้านต่างบาดเจ็บ วันต่อมาอะชิตะกะเดินทางมาถึงก็ได้พบผู้บาดเจ็บสลบอยู่สองคนในลำธาร ขณะที่เขาลากทั้งสองขึ้นจากน้ำก็เห็นซังกำลังรักษาแผลให้โมะโระ เมื่อซังหันมาอะชิตะกะจึงแนะนำตัวและถามหาชิชิกะมิ ซังและกลุ่มหมาป่ามิได้โต้ตอบและหายตัวไปอย่างรวดเร็ว อะชิตะกะนำชาวบ้านกลับคืนสู่หมู่บ้านถลุงเหล็กผ่านป่าที่เต็มไปด้วยวิญญาณต้นไม้ขนาดเล็กที่เรียกว่าโคะดะมะ ระหว่างทางเขายังได้เห็นชิชิกะมิ (เทพเจ้าแห่งชีวิตและความตาย ซึ่งเป็นกวางคิรินในเวลากลางวัน และเป็นเงาเดินได้ในเวลากลางคืน) เดินผ่านไป แผลที่ต้องคำสาปของเขาตอบสนองกับสิ่งที่เห็นอย่างรุนแรงจนเขาต้องกดแขนข้างนั้นลงในน้ำ

ชาวโลหะนครต้อนรับอะชิตะกะอย่างอบอุ่น เอะโบะชิ ผู้นำของเมืองนี้เล่าว่า นะโกะหมูป่ายักษ์ที่เป็นต้นเหตุนำเขามาที่นี้เคยเป็นเทพเจ้าประจำป่าแห่งนี้ แต่เอะโบะชิยิงนะโกะทำให้คุ้มคลั่งกลายร่างเป็นปีศาจ เมื่อทราบเรื่องแขนขวาของอะชิตะกะก็มีความคลั่งแค้นจะฆ่าเอะโบะชิ เขาต้องใช้มือซ้ายระงับไว้ คนโรคเรื้อนที่เอะโบะชิชุบเลี้ยงไว้เพื่อประดิษฐ์ปืนร้องขอชีวิตของเอะโบะชิ และรับรองว่านางเป็นคนดี เป็นผู้ดูแลพวกเขามาโดยตลอดโดยมิได้รังเกียจ เอะโบะชิยังซื้อหญิงโสเภณีมาทำงานเพื่อปลดปล่อยหญิงเหล่านั้นจากซ่อง ระหว่างที่เอะโบะชิพาอะชิตะกะชมเมืองอยู่นั่นเอง ซังก็ลอบเข้ามาในเมืองเพื่อสังหารเอะโบะชิ อะชิตะกะเข้าขัดขวางโดยแสดงให้ทุกคนเห็นว่าความแค้นนี่แหละเป็นเหตุให้เขาต้องเขาสาปและใช้พลังจากแขนนั้นหยุดยั้งการต่อสู้ของทั้งสอง ทั้งสองสลบไปเพราะโดนอะชิตะกะทุบ อะชิตะกะตัดสินใจพาซังออกไปจากเมือง แม้จะถูกยิงทะลุอกอะชิตะกะก็ยังดึงดันใช้พลังจากแขนที่ต้องคำสาปเปิดประตูเมืองขี่ยักกุรุนำซังที่หมดสติออกไปยังป่าได้โดยมีหมาป่าสองตัวติดตามไป แต่ในที่สุดอะชิตะกะก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวร่วงลงจากหลังยักกุรุ

ซังไม่พอใจที่อะชิตะกะเข้ามาขัดขวางและสั่งสอนเธอมิให้ต่อสู่กับมนุษย์แต่ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยความโกรธเธอเกือบจะฆ่าอะชิตะกะ ขณะที่เธอกำลังจะลงดาบอะชิตะกะก็พูดว่าเธอสวย ทำให้เธอตกใจและทิ้งดาบลง ในที่สุดซังตัดสินใจนำอะชิตะกะไปหาชิชิกะมิซึ่งรักษาแผลที่อกของเขาแต่มิได้ถอนคำสาป อะชิตะกะพักฟื้นอยู่ในถ้ำหมาป่าโดยมีซังดูแลเขาอย่างดี กระทั่งเขี้ยวใบไม้ป้อนให้อะชิตะกะด้วยปาก โมะโระซึ่งได้รับพิษจากบาดแผลที่เอะโบะชิยิงในการต่อสู้คราวก่อนเตือนอะชิตะกะว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะนำซังออกจากเผ่าหมาป่า หากไม่มีป่าซังก็ต้องตาย ในที่สุดเมื่ออะชิตะกะหายดีเขาฝากกริชแก้วให้หมาป่านำไปมอบแก่ซัง ซึ่งเมื่อเธอได้เห็นก็รับไว้โดยไม่ลังเล

ซังทราบว่าพวกหมูป่าภายใต้ผู้นำคือโอคโคะโตะเทพเจ้าหมูป่ากำลังเตรียมแผนโจมตีหมู่บ้านถลุงเหล็ก ส่วนเอะโบะชิก็เตรียมการที่จำทำลายชิชิกะมิเช่นกัน มีความเชื่อกันว่าศีรษะของชิชิกะมิให้ความเป็นอมตะแก่ผู้ครอบครอง จิโกะซึ่งแท้จริงแล้วเป็นพ่อค้า-คนเก็บของป่าล่าสัตว์ ต้องการจะมอบศีรษะชิชิกะมิให้แก่พระจักรพรรดิ เพื่อให้ทรงใช้พระราชอำนาจปกป้องโลหะนครจากไดเมียวที่อยากเข้ามาช่วงชิงความมั่งคั่งในเมือง เอะโบะชิก็รู้ดีอยู่ว่าซามูไรอาจใช้โอกาสบุกยึดโลหะนครได้ในช่วงที่ออกไปล่าชิชิกะมิ แต่เธอก็ดึงดันที่จะออกไปล่าชิชิกะมิกับจิโกะ คนของจิโกะทำหลุมพรางสำหรับหมู่ป่า และยิงโอคโคะโตะด้วยลูกเหล็กพิษชนิดเดียวที่ใช้กับนะโกะ โอคโคะโตะจึงต้องเข้าป่าไปหาชิชิกะมิเพื่อหวังว่าจะได้รับการรักษา

อะชิตะกะกลับไปยังโลหะนครแต่พบว่าเมืองกำลังถูกโจมตีและเอะโบะชิกำลังออกไปล่าชิชิกะมิ เขาสัญญากับชาวเมืองว่าจะจำเอะโบะชิกลับมา ระหว่างทางยักกุรุถูกยิงแต่อะชิตะกะพบหมาป่าเผ่าโมะโระในซากหมูป่า จึงฝากยักกุรุไว้ที่โลหะนครและขี่หมาป่าตามไป เมื่อเขาพบเอะโบะชิก็รีบเตือนว่าเมืองกำลังถูกโจมตีแต่เธอก็ไม่ถอยกลับ โอคโคะโตะกลายร่างเป็นปีศาจใกล้สระน้ำของชิชิกะมิ ซังพยายามยับยั้งไว้แต่ไม่สำเร็จและติดอยู่ในจมูกของหมูป่ายักษ์ที่มีหนอนน่าเกลียดชอนไช ซังกำลังจะต้องคำสาปอย่างเดียวกับที่อะชิตะกะได้รับจากนะโกะ อะชิตะกะเข้าช่วยเหลือซังแต่ถูกสลัดกระเด็นตกน้ำไป โมะโระต่อสู้กับโอคโคะโตะเพื่อช่วยซังและมอบเธอให้กับอะชิตะกะ ชิชิกะมิเข้ามาเอาชีวิตของโมะโระและโอคโคะโตะไป ทั้งสองจึงสิ้นลมอย่างสงบ

ดวงจันทร์เริ่มแจ่มชัดขึ้นบนท้องฟ้า ชิชิกะมิกลายร่างจากกวางเป็นเงาเดินได้ในยามกลางคืน อะชิตะกะพยายามยับยั้งเอะโบะชิด้วยการปาดาบไปปักที่ปืนของเอะโบะชิ เธอก็ยังสามารถใช้ปืนยิงตัดหัวชิชิกะมิที่กำลังแปลงร่างได้ จิโกะรีบนำหัวใส่หม้อเหล็กปิดฝาแล้วให้คนหามวิ่งหนีออกไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างนี้หัวของโมะโระคืนชีพมาชั่วคราวกัดแขนของเอะโบะชิขาดไป ร่างที่ไร้หัวของชิชิกะมิกลายเป็นเทพเจ้าแห่งความตายที่ไร้ใจ ซึ่งเป็นเมือกสีดำที่แผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว เมือกนี้ทำลายทุกสิ่งที่มันสัมผัส ชาวบ้านต้องทิ้งโลหะนครไปหลบอยู่ในทะเลสาบเพราะเมือกดำนี้ได้ทำลายเมืองลงขณะที่ตามหาหัวของตัวเอง อะชิตะกะช่วยทำแผลให้เอะโบะชิและให้ชาวเมืองพาเธอกลับไป และขอให้ซังช่วยเขา ซังเสียใจและโกรธที่ป่าและชิชิกะมิถูกทำลาย เธอเห็นว่าอะชิตะกะอยู่ฝ่ายตรงข้ามและใช้กริชแก้วที่เขามอบให้ปักอกอะชิตะกะ แต่อะชิตะกะไม่เป็นไรเพราะกริชนั้นปักโดนแผลต้องคำสาปที่ลามถึงอกของเขาแล้ว อะชิตะกะกอดซังและขอให้เธอร่วมมือ

อะชิตะกะและซังตามศีรษะชิชิกะมิมาทันในที่สุด จิโกะบอกว่าใกล้รุ่งเช้าแล้วร่างเมือกดำกำลังจะสลายไปไม่จำเป็นต้องคืนหัวแก่ชิชิกะมิ อะชิตะกะและซังไม่เชื่อฟังและตัดสินใจใช้มือของมนุษย์ชูหัวขึ้นคืนให้กับร่างเมืองดำที่ตามมาอย่างไม่เกรงกลัวความตายและขอให้ชิชิกะมิไปสู่สุขคติ เมือกดำถาโถมลงสู่ทั้งสองซึ่งมีรอยแผลดำที่เกิดจากการต้องคำสาปอยู่ทั่วร่างกาย ทั้งสองใช้มือคนละข้างชูศีรษะชิชิกะมิขึ้นและกอดกันไว้แน่นจนหมดสติด้วยพลังอันมหาศาลของเมือกดำที่ถาโถมใส่ ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบลงไปชั่วขณะ ร่างเมือกดำล้มลงสู่โลหะนครและทะเลสาบหลังจากรับศีรษะคืน ทุกสิ่งเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แผ่นดินกลับเขียวขจี คนที่เป็นโรคเรื้อน คนที่ต้องคำสาป รวมถึงอะชิตะกะ ต่างก็ได้รับการเยียวยา อะชิตะกะและซังต้องแยกจากกัน ซังยังไม่อาจให้อภัยมนุษย์และเธอตัดสินใจกลับไปอยู่กับหมาป่า อะชิตะกะตัดสินใจอยู่ที่โลหะนครซึ่งเอะโบะชิปฏิญาณตนว่าจะทำให้ดีกว่าเดิม แต่ทั้งสองสัญญาว่าจะมาพบกันอีก เรื่องราวจบลงด้วยฉากของโคะดะมะกลับคืนมาในป่าแสดงให้เห็นว่าในที่สุดชีวิตก็ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ตัวละคร

[แก้]

การสร้าง

[แก้]

มิยะซะกิใช้เวลาถึง 16 ปีในการผูกเรื่องและสร้างตัวละครของเจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร โครงเรื่องและการแต่งกายที่คล้ายกันอาจพบได้ในมังงะเรื่อง The Journey of Shuna ใน ค.ศ. 1983 ของมิยะซะกิ เนื่อเรื่องและตัวละครได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากระหว่างขั้นวางแผนสร้างภาพยนตร์ เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้หลังจากมิยะซะกิและทีมงานไปเที่ยวป่าเก่าแก่แห่งเกาะยุคุชิมะ แต่มิยะซะกิก็ยังเขียนโครงเรื่องไม่เสร็จสมบูรณ์กระทั่งได้เริ่มสร้างภาพยนตร์ไปแล้ว แผนผังโครงตอนจบเพิ่งจะเสร็จสิ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนวันฉายรอบปฐมทัศน์ในญี่ปุ่น[5]

การเร็นเดอร์ สำหรับใช้สร้างหนอนปีศาจ ซึ่งรวมลงไปในภาพอะชิตะกะที่วาดด้วยมือ

เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรวาดด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยประมาณห้านาทีในภาพยนตร์ [6] การใช้คอมพิวเตอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ออกแบบมาให้เข้ากับการทำภาพยนตร์อนิเมะแบบ cell ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมในสร้างภาพยนตร์อนิเมะ นอกจากนี้อีกประมาณ 10 นาทีของภาพยนตร์ยังใช้สีดิจิทัล ซึ่งเป็นเทคนิคที่สตูดิโอจิบลิได้ใช้ในภาพยนตร์เรื่องอื่นต่อไป ส่วนที่เหลือของภาพยนตร์ใช้สีจริงทั้งสิ้น ผู้ผลิตภาพยนตร์ตกลงยินยอมใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจะทำภาพยนตร์ให้เสร็จตามกำหนดปฐมทัศน์ในญี่ปุ่น[5]

มิยะซะกิตรวจเซลราว 144,000 เซลด้วยตนเอง[7] และในจำนวนนี้เขาได้วาดแก้ไขเซลราว 80,000 เซล[8][9]

เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นภาพยนตร์อนิเมะที่แพงที่สุดที่เคยมีการจัดสร้างมา [ต้องการอ้างอิง] ด้วยต้นทุนทั้งสิ้นราว 2.35 พันล้านเยน[9][10][11]

มิยะซะกิไม่ต้องการให้อะชิตะกะเป็นพระเอกทั่วไป:[12]

อะชิตะกะมิใช่เด็กผู้ชายที่ร่าเริงไร้ความกังวล เขาเป็นเด็กที่มีความเศร้าหมองฝังลึกอยู่ในใจ เขามีโชคชะตาเป็นของตัวเอง ผมคิดว่าตัวผมเองก็เป็นอย่างนั้น แต่ผมไม่มีโอกาสได้สร้างภาพยนตร์ที่มีตัวละครอย่างนี้สักที อะชิตะกะต้องคำสาปด้วยเหตุผลอันสุดแสนบัดซบ แน่นอนว่าเขาได้ทำสิ่งที่เขาไม่ควรทำ คือการปลิดชีวิตทะทะริกะมิ แต่มันก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะต้องทำเช่นนั้นจากมุมมองของมนุษย์ แม้กระนั้นเขาก็ต้องคำสาปที่อาจคร่าชีวิตเขาได้ ผมคิดว่านี่คล้ายกับเรื่องราวในชีวิตผู้คนสมัยนี้ มันเป็นสิ่งบัดซบที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

— ฮายาโอะ มิยาซากิ

เขาบอกว่าเอะโบะชิมีประวัติที่น่าเศร้า แม้ว่ามันจะไม่ได้กล่าวถึงโดยตรงในภาพยนตร์ เอะโบชิมีบุคลิกภาพที่แช็งแกร่งและมั่นคง เห็นได้จากการที่เธอปล่อยให้อะชิตะกะไปมาอย่างเสรีในเมืองของเธอโดยไม่มีผู้ติดตาม แม้ว่าจุดประสงค์การมาเยือนของเขาไม่แน่ชัด เอะโบชิไม่เคยยอมรับพระราชอำนาจแห่งพระจักรพรรดิในเมืองของเธอเลย นี่เป็นมุมมองที่ก้าวหน้ามากสำหรับสมัยนั้นและทัศนะคติที่เธอยอมสละทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความฝันเป็นทัศนะที่ไม่ธรรมดาในผู้หญิงยุคนั้น[12]

เมื่อมิยะซะกิสร้างจิโกะ เขาไม่แน่ใจว่าจะสร้างให้เป็นสายลับของรัฐบาล นินจา นักบวช หรือ "คนที่ดีมาก" ในที่สุดเขาตัดสินใจที่จะใส่องค์ประกอบของทุกกลุ่มที่กล่าวมาลงไป[12]

ภูมิทัศน์ที่ปรากฏในภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจมากจาป่าโบราณแห่งเกาะยะกุ ในคิวชู และภูเขาแห่งเทือกเขาชิระคะมิ ทางตอนเหนือของฮอนชู[13]

การเผยแพร่

[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นและประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ในประเทศเหล่านี้มีการตีความกันอย่างกว้างขวางว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่บอกเล่าในรูปแบบตำนานโบราณของญี่ปุ่น มิราแมกซ์ แห่ง ดิสนีย์ ได้ซื้อสิทธิ์การจัดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาไปและต้องการจะตัดภาพยนตร์ให้เหมาะกับผู้ชมในสหรัฐอเมริกา (สำหรับการจัดเรตติ้ง PG) อย่างไรก็ตามมิยะซะกิไม่อนุญาตและในที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เผยแพร่ในอเมริกาโดยไม่มีการตัดต่อโดยได้รับการจัดเรตติ้ง PG-13 Miramax ได้ลงทุนมหาศาลในการสร้างเสียงภาษาอังกฤษของภาพยนตร์โดยใช้นักพากย์ที่มีชื่อเสียง อย่างไรก็ดีเมื่อถึงเวลาฉายในโรงภาพยนตร์ปรากฏว่าไม่มีการโฆษณาเท่าที่ควร ทำให้จัดฉายในโรงภาพยนตร์ที่จำนวนไม่มากในเวลาอันสั้น ซึ่งต่อมาดิสนีย์ประกาศว่าภาพยนตร์เรื่องทำเงินจากการฉายในโรงได้ไม่ดี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดออกจำหน่าวนรูปแบบ DVD ในสหรัฐอเมริกา แต่มิราแม็กซ์ประกาศว่าจะมีเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แฟนที่คลังไคล้ภาพยนตร์จึงต่อต้าน ด้วยกลัวว่าจะขายไม่ดีมิราแมกซ์จึงต้องจ้างคนแปลซับไตเติ้ล และทำให้ DVD ออกช้ากว่ากำหนดไปเกือบสามเดือน เมื่อ DVD ออกมาในที่สุดก็ปรากฏว่าสามารถขายดีอย่างมาก

ฉบับภาษาอังกฤษ

[แก้]

ดีวีดีที่เผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร มีซาวด์แทรกทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น และซับไตเติ้ลทั้งสองภาษา และมีการแปลตามตัวอักษรมากขึ้น

ภาพยนตร์ในฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่เหมือนต้นฉบับในญี่ปุ่นโดยไม่มีการตัดต่อเพราะมิยะซะกิดึงดันอย่างแข็งขัน[14] เฉพาะซาวด์แทรกเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง เสียงภาษาอังกฤษแปลโดย Neil Gaiman ผู้แต่ง The Sandman การปรับปรุงส่วนใหญ่เป็นการให้ความหมายคำเฉพาะในวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คนนอกทวีปเอเชียอาจเข้าใจได้ยาก รวมถึงชื่อเฉพาะเช่น Jibashiri และ Shishigami ในภาษาญี่ปุ่นถูกเปลี่ยนเป็น Mercenary และ Forest Spirit ในภาษาอังกฤษ เพราะคำเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักของผู้ชมนอกญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์ เช่น ไมเคิล แอทคินสัน, มร.สโนบิซ กล่าวว่าการแปลเช่นนี้ทำให้เนื้อหาของภาพยนตร์อ่อนลง

การตอบรับจากสังคม

[แก้]

เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร เป็นภายยนตร์อันดับหนึ่งในญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2540 ทำรายได้ 11.3 พันล้านเยน[15] โดยนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นในเชิงบวกต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ อาทิเช่น ได้รับคะแนน 93% "Certified Fresh" บนเว็บ Rotten Tomatoes Leonard Klady แห่งนิตยสาร Variety ได้เขียนคำวิจารณ์เชิงบวกเมื่อได้ชม an early release of the picture.[16] ในรายการ Roger Ebert & The Movies เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ได้รับ two thumbs up จาก Harry Knowles และ Roger Ebert.[17] Ebert ยังจัดอันดับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ได้รับดาวสี่ดวงจากทั้งหมดสี่ดวงและใส่ภาพยนตร์เรื่องนี้ลงรายชื่อสิบภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งปีของเขา[18]

เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ได้รับอันดับที่ 488 จาก 500 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล (ใน พ.ศ. 2551) ของเอมไพร์แมกกาซีน[19]

เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร ยังอยู่ในรายการภาพยนตร์อเนิเมชันที่ดที่สุด 50 เรื่องของ เทอร์รี่ กิลเลียม[20]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรเป็นภาพยนตร์อนิเมะชันที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ดีภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จทางการเงินเท่าที่ควรในสหรัฐอเมริกา โดยมียอดรายได้ได้ทั้งสิ้น 2,298,191 ดอลลาร์สหรัฐนช่วงแปดสัปดาห์แรก[21]

รางวัล

[แก้]
  • ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก Japanese Academy Awards ครั้งที่ 21
  • ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม, แอนิเมชันยอดเยี่ยม และรางวัล Japanese Movie Fans' Choice จาก Mainichi Movie Competition ครั้งที่ 52
  • ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม และรางวัล Readers' Choice จากเทศกาล Asahi Best Ten Film Festival
  • รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จาก The Agency for Cultural Affairs
  • แกรนด์ไพร์ส ในประเภทแอนิเมชัน จากงาน มีเดียอาร์ทเฟสติวอล ครั้งที่ 1
  • ผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาล ทาคาซากิฟิล์มเฟสติวอล
  • ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม จาก The Association of Movie Viewing Groups
  • มูฟวี่อะวอร์ด จาก Mainichi Art Award ครั้งที่ 39
  • ผู้กำกับยอดเยี่ยม จาก Tokyo Sports Movie Award
  • Nihon Keizai Shinbun Award for Excellency จาก Nikkei Awards for Excellent Products/Service
  • Theater Division ได้รับจาก Asahi Digital Entertainment Award
  • MMCA สเปเชียล ได้รับจาก Multimedia Grand Prix 1997
  • ผู้กำกับยอดเยี่ยม และ Yujiro Ishihara Award จาก Nikkan Sports Movie Award
  • รางวัลความสำเร็จพิเศษ ได้รับจาก The Movie's Day
  • รางวัลพิเศษ จาก Houchi Movie Award
  • รางวัลพิเศษจาก Blue Ribbon Award
  • รางวัลพิเศษ จากเทศกาล โอซาก้าฟิล์มเฟสติวอล
  • รางวัลพิเศษ จาก Elandore Award
  • รางวัลด้านวัฒนธรรม จาก Fumiko Yamaji Award
  • Grand Prize และ Special Achievement Award จาก Golden Gross Award
  • First Place ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี จาก "Pia Ten" ครั้งที่ 26
  • First Place จาก Japan Movie Pen Club ในฐานะ 5 ภาพยนตร์ญี่ปุ่นยอดเยี่ยม ปี 1997
  • First Place จาก 1997 Kinema Junpo Japanese Movies Best 10 (Readers' Choice)
  • Second Place จาก 1997 Kinema Junpo Japanese Movies Best 10 (Critics' Choice)
  • ผู้กำกับยอดเยี่ยม จาก 1997 Kinema Junpo Japanese Movies (Readers' Choice)
  • First Place จาก Best Comicker's Award
  • First Place จาก CineFront Readers' Choice
  • Nagaharu Yodogawa Award; RoadShow
  • ผู้แต่งเพลงยอดเยี่ยม และ Best Album Production จาก Japan Record Award ครั้งที่ 39
  • รางวัลยอดเยี่ม จาก Yomiruri Award for Film/Theater Advertisement

เพลงประกอบภาพยนตร์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Critics' Picks: 'Princess Mononoke' - NYTimes.com/Video, A. O. Scott reviews 'Princess Mononoke,' Hayao Miyazaki's anime masterpiece.
  2. Roger Ebert. "Roger Ebert's Top Ten Lists 1967-2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-31. สืบค้นเมื่อ 2007-12-22.
  3. Ebert, Roger (1999-10-24). "Director Miyazaki draws American attention". Chicago Sun-Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-18. สืบค้นเมื่อ 2009-08-27.
  4. "Mononoke Hime Annotated Script with Japanese Text". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-13. สืบค้นเมื่อ 2007-05-07.
  5. 5.0 5.1 Toshio Uratani (2004). Princess Mononoke: Making of a Masterpiece (Documentary). Japan: Buena Vista Home Entertainment.
  6. "The Animation Process". Official film site.
  7. "Transcript on Miyazaki interview". Official film site.
  8. "Mononoke DVD Website". Disney.
  9. 9.0 9.1 "Wettbewerb/In Competition". Moving Pictures, Berlinale Extra. Berlin: 32. February 11–22, 1998.
  10. "Movie-Vault.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-04. สืบค้นเมื่อ 2011-02-07.
  11. "Articles about Mononoke Hime". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-25. สืบค้นเมื่อ 2009-10-25.
  12. 12.0 12.1 12.2 "Miyazaki on Mononoke-hime". Nausicaa.net. สืบค้นเมื่อ 2010-06-14.
  13. もののけ姫 ロケ地情報 (ภาษาญี่ปุ่น).
  14. Brooks, Xan (September 14, 2005). "A god among animators". London: The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
  15. "Kako haikyū shūnyū jōi sakuhin 1997-nen" (ภาษาญี่ปุ่น). Motion Picture Producers Association of Japan. สืบค้นเมื่อ 16 February 2011.
  16. Leonard Klady review
  17. Roger Ebert & The Movies review[ลิงก์เสีย]
  18. "Roger Ebert's print review". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-21. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  19. "The 500 Greatest Movies of All Time". Empireonline.com. สืบค้นเมื่อ 2010-06-14.
  20. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-08. สืบค้นเมื่อ 2011-02-24.
  21. "Anime Radar: News". Animerica. San Francisco, California: Viz Media. 9 (2): 32. March 2001. ISSN 1067-0831. OCLC 27130932.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]