ข้ามไปเนื้อหา

มิติวิญญาณมหัศจรรย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มิติวิญญาณมหัศจรรย์
ใบปิดภาพยนตร์
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ千と千尋の神隠し
การถอดเสียง
เฮ็ปเบิร์นปรับปรุงSen to Chihiro no Kamikakushi
กำกับฮายาโอะ มิยาซากิ
เขียนบทฮายาโอะ มิยาซากิ
อำนวยการสร้างโทชิโอะ ซูซูกิ
นักแสดงนำ
กำกับภาพอัตสึชิ โอคุอิ
ตัดต่อทาเคชิ เซยามะ
ดนตรีประกอบโจ ฮิไซชิ
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายโทโฮ
วันฉาย
  • 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 (2001-07-20) (ญี่ปุ่น)
ความยาว125 นาที[1]
ประเทศญี่ปุ่น
ภาษาญี่ปุ่น
ทุนสร้าง19.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2][3]
ทำเงิน395.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[a]

มิติวิญญาณมหัศจรรย์ (อังกฤษ: Spirited Away; ญี่ปุ่น: 千と千尋の神隠しโรมาจิSen to Chihiro no Kamikakushi "เซ็นกับจิฮิโระผู้ถูกเทพลักพา") เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันญี่ปุ่นแนวแฟนตาซี ฉายเมื่อ ค.ศ. 2001 เขียนบทและกำกับโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ เล่าเรื่องของ จิฮิโระ "เซ็น" โองิโนะ เด็กหญิงอายุสิบขวบที่ย้ายไปอยู่ละแวกใหม่และเข้าสู่โลกของ คามิ (วิญญาณของนิทานพื้นบ้านชินโตของญี่ปุ่น)[7] โดยไม่ได้ตั้งใจ หลังจากที่พ่อแม่ของเธอกลายเป็นหมูโดยแม่มดยูบาบะ จิฮิโระก็เข้าทำงานในโรงอาบน้ำของยูบาบะ เพื่อค้นหาหนทางที่จะปลดปล่อยตัวเองและพ่อแม่ของเธอ และกลับสู่โลกมนุษย์ ภาพยนตร์สร้างโดย สตูดิโอจิบลิ ให้กับ โทคุมะโชเต็น, นิปปงทีวี, เดนท์สุ, บวยนาวิสตาโฮมเอนเทอร์เทนเมนต์, โทโฮคูชินฉะฟิล์มและมิตซูบิชิ จัดจำหน่ายโดย โทโฮ[8]

มิยาซากิเขียนบทภาพยนตร์หลังจากที่เขาตัดสินใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะอิงจากลูกสาววัยสิบขวบของเพื่อนของเขา เซอิจิ โอคูดะ ผู้สร้างร่วมของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งมาเยี่ยมบ้านของเขาในทุกฤดูร้อน[9] ในขณะนั้น มิยาซากิกำลังพัฒนาโครงการส่วนตัวสองโครงการ แต่ก็ถูกปฏิเสธ การสร้างภาพยนตร์ มิติวิญญาณมหัศจรรย์ เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 2000 ด้วยงบประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จอห์น แลสซีเตอร์ แอนิเมเตอร์ของ พิกซาร์ ซึ่งเป็นแฟนและเพื่อนของมิยาซากิ โน้มน้าวให้ วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ ซื้อลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ในอเมริกาเหนือ และทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารของภาพยนตร์พากย์ภาษาอังกฤษ[10] ต่อมา แลสซีเตอร์ว่าจ้าง เคิร์ก ไวส์ เป็นผู้กำกับ และ โดนัลด์ ดับเบิลยู. เอิร์นส์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง ในขณะที่ผู้เขียนบท ซินดีและโดนัลด์ ฮิววิตต์ เขียนบทสนทนาภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้ากับการเคลื่อนไหวริมฝีปากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นของตัวละคร[11]

มิติวิญญาณมหัศจรรย์ ฉายในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางและประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์[12] ภาพยนตร์ทำเงิน 395.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก[a][13] กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในประเทศญี่ปุ่น ด้วยจำนวนเงิน 3.168 หมื่นล้านเยน (305 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[14] ภาพยนตร์ครองสถิตินี้เป็นเวลา 19 ปี ก่อนจะถูกแซงโดย ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ ใน ค.ศ. 2020[15]

มิติวิญญาณมหัศจรรย์ เป็นผู้ร่วมรับรางวัลหมีทองคำกับ บลัดดีซันเดย์ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน 2002 และภาพยนตร์แอนิเมชันญี่ปุ่นเรื่องแรกที่วาดด้วยมือและไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 75[16] ปัจจุบัน ภาพยนตร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล และถูกรวมอยู่ในรายการ "ดีที่สุด" หลายรายการ รวมถึงอันดับที่สี่ใน 100 ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 ของบีบีซี

โครงเรื่อง[แก้]

ชิฮิโระ โองิโนะ (Chihiro Ogino) เด็กหญิงวัยสิบปี ย้ายบ้านไปกับบิดามารดาอย่างเสียมิได้ ขณะขับรถยนต์ไปเมืองใหม่ พวกเขาหลงทาง และพบสวนสนุกร้าง บิดาของชิฮิโระออกสำรวจทั่วบริเวณ ขณะที่มารดาและจิฮิโระติดตามไปอย่างตะขิดตะขวงใจ ใจกลางสวนสนุกนั้น พวกเขาพบแผงลอยอาหารกำลังสุกส่งกลิ่นชวนรับประทาน ปราศจากทั้งคนขายและลูกค้า บิดามารดาจิฮิโระจึงนั่งลงบริโภค แต่จิฮิโระไม่เห็นด้วยและเดินไปชมดูรอบ ๆ แทน เธอพบโรงอาบน้ำหลังมหึมา ทันใดนั้น เด็กชายคนหนึ่งโผเข้าหาเธอ และเตือนเธอให้เร่งกลับไปก่อนตะวันลับฟ้า เมื่อจิฮิโระวิ่งกลับไปยังแผงลอย เธอพบว่าบิดามารดากลายเป็นสุกรเสียแล้ว และเริ่มปรากฏภูตผีปิศาจเดินขวักไขว่ในสวนสนุกนั้น

ด้วยความตกใจ จิฮิโระวิ่งหนีไปจนพบแม่น้ำสายใหญ่ และทรุดลงร้องไห้ ณ ที่นั้น เด็กชายคนดังกล่าวเข้ามาพบเธออีก และแจ้งชื่อว่า ฮากุ (Haku) เขาบอกว่า เขารู้ชื่อเธอ เพราะเขารู้จักเธอมาตั้งแต่เธอยังเด็กแล้ว เขาเผยว่า ครอบครัวของเธอกำลังอยู่ในโลกของภูต โดยบิดามารดาของเธอรับประทานอาหารของภูตเข้า จึงกลายร่างเป็นสุกร จากนั้น เขานำพาเธอไปยังโรงอาบน้ำ แล้วบอกให้เธอไปพบ คะมะจิ (Kamajī) ชายแก่ผู้มีหกแขนและเป็นพนักงานต้มน้ำ เพื่อของานทำ เพราะในท้องที่นี้ คนว่างงานจะถูก ยูบาบา (Yubāba) แม่มดผู้เป็นเจ้าของโรงอาบน้ำ สาปให้เป็นสัตว์ไว้ใช้งานแทน ดุจเดียวกับที่ยามนี้บิดามารดาของเธอถูกยูบาบากักไว้ในคอก

ชิฮิโระพบคะมะจีที่ห้องต้มน้ำ คะมะจีฝากฝังเธอกับ ริน (Rin) หญิงคนงาน เพื่อให้รินพาเธอไปพบยูบาบา แล้วทำสัญญาจ้างแรงงานกัน เมื่อแรก ยูบาบาไม่ตกลงด้วย แต่ที่สุดก็ยินยอม โดยมีเงื่อนไขว่า เธอต้องเปลี่ยนชื่อเป็น เซ็น (ญี่ปุ่น: โรมาจิSen, ตัดมาจาก 千尋 (จิฮิโระ)) ภายหลัง ฮากุบอกจิฮิโระว่า ยูบาบาควบคุมทาสโดยทำให้ทาสลืมชื่อที่แท้จริงของตน ต่อเมื่อทาสลืมอดีตสนิทแล้ว ก็จะติดอยู่ในโลกของภูตชั่วนิรันดร์ เช่นเดียวกับเขาที่กลายเป็นทาสของยูบาบา เพราะลืมชื่อจริงของตนไปแล้ว จำได้แต่ว่า บางส่วนของชื่อคือ ฮากุ

ระหว่างทำงานที่โรงอาบน้ำในฐานะเป็นผู้ช่วยของรินนั้น จิฮิโระได้พบภูตผีปิศาจมากมาย ครั้งหนึ่ง เธอพบเจอผีตนหนึ่งสวมหน้ากากยืนตากฝนอยู่นอกอาคาร จึงเปิดประตูให้มันเข้ามาหลบฝน ต่อมา ภูตตนหนึ่ง มีร่างกายอันแล้วไปด้วยสิ่งโสโครกส่งกลิ่นคละคลุ้ง จนทุกคนเรียกว่า ภูตเหม็นฉึ่ง (stinky spirit) เข้าใช้บริการโรงอาบน้ำ ชาวโรงอาบน้ำรังเกียจมัน และไม่กล้าให้บริการ ยูบาบาจึงให้จิฮิโระรับผิดชอบ จิฮิโระทำความสะอาดภูตตนนี้จนเกลี้ยงเกลา แล้วพบว่า ที่จริงแล้วมันคือภูตแม่น้ำ (river spirit) ผู้เลื่องชื่อ มันพอใจที่เธอฟื้นฟูสุขอนามัยให้ และมอบ "ลูกกลอนอาเจียน" (emetic dumpling) ให้เป็นการตอบแทน

ต่อมา จิฮิโระทราบว่าฮากุเป็นมังกร และพบเขาถูกฝูงนกกระดาษชิกิงามิ (shikigami) ไล่ล่าทำร้าย ยูบาบาสั่งให้ฮากุไปขโมยตราประจำตัวของ เซนีบา (Zenība) น้องสาวฝาแฝดของตน เซนีบาจึงปลุกเสกนกพยนต์เข้าโจมตี และติดตามมาถึงโรงอาบน้ำ เซนีบาเปลี่ยนโบ (Bō) ทารกร่างมโหฬารซึ่งเป็นบุตรของยูบาบาให้เป็นหนู และเปลี่ยนอีกาของยูบาบาให้เป็นนกกระจิบ แล้วเรียกให้ฮากุส่งตราคืนมา โดยกล่าวว่า ใครที่ลักตราของนางมา จะต้องคำสาปให้มีอันเป็นไป

จิฮิโระเข้าช่วยเหลือฮากุที่บาดเจ็บไว้ และพากันร่วงหล่นลงสู่ห้องต้มน้ำ คะมะจี พนักงานต้มน้ำ ช่วยพยาบาลฮากุ และจิฮิโระให้ฮากุบริโภคลูกกลอนอาเจียนครึ่งลูก เพื่อให้สำรอกตราของเซนีบาที่ฮากุกลืนเข้าไประหว่างขโมยออกมา ฮากุรากตรานั้นออกมาพร้อมกับทากสีดำตัวหนึ่ง จิฮิโระจึงกระทืบทากดังกล่าวจนแหลกลาญ และกล่าวว่า จะนำตราไปคืนให้แก่เซนีบา เพื่อขอให้เซนีบาถอนคำสาปให้ฮากุ คะมะจีมอบตั๋วรถไฟไปสู่ที่พำนักของเซนีบาให้ โบซึ่งอยู่ในร่างหนูขอติดตามเธอไปด้วย

เวลานั้นเอง ผีสวมหน้ากากที่จิฮิโระเคยเรียกให้เข้ามาหลบฝนข้างในและซาบซึ้งน้ำใจของเธอได้ปรากฏตัวขึ้นเพื่อขอใช้บริการโรงอาบน้ำ มันกลืนคนงานคนหนึ่งลงท้องเพื่ออาศัยเสียงเขาพูด แล้วเรียกคนงานอื่น ๆ ให้ปรนเปรอมันด้วยอาหารจำนวนมาก แลกกลับทองคำจำนวนมาก มันบริโภคอาหารไม่หยุดหย่อนจนร่างกายพองโตอักโข และเริ่มกลืนกินคนงานด้วย ยูบาบาทราบเรื่องจึงเข้าระงับเหตุ นางพบว่าผีตนนี้คือ "ผีไร้หน้า" (No-Face) ที่เคยหมายหัวไว้ว่าห้ามเข้าใช้บริการ นางใช้อาคมต่อกรกับมัน แต่กลับทำให้มันรากท่วมนาง และพลุ่งพล่านอาละวาดทั่ว จิฮิโระจึงโยนลูกกลอนอาเจียนครึ่งที่เหลือให้มันกิน มันสำรอกทุกคนและทุกสิ่งจนสิ้น และกลับคืนสู่สภาพเดิมที่เป็นมิตร ผีไร้หน้าบอกจิฮิโระว่า มันเพียงต้องการเพื่อน เพราะมันไร้บ้านไร้ครอบครัว และขอติดตามจิฮิโระไปที่พำนักของเซนีบาด้วย

จิฮิโระและคณะนั่งรถไฟไปถึงบ้านของเซนีบา พวกเขาพบว่า แม้เป็นน้องสาวของยูบาบา แต่เซนีบามีจิตใจงาม นางต้อนรับพวกเขาอย่างดี และแถลงไขว่า ฮากุเป็นมังกรที่ต้องการเรียนเวทมนตร์ จึงสมัครไปอยู่กับยูบาบา แต่ถูกยูบาบาใช้เล่ห์กลทำให้ลืมชื่อและตกเป็นทาสไป เซนีบาบอกด้วยว่า คำสาปที่ผนึกไว้กับตรานั้นถูกทำลายลงแล้วด้วยความรักที่จิฮิโระมีต่อฮากุ ส่วนทากที่จิฮิโระกระทืบแหลกไปนั้นเป็นคุณไสยที่ยูบาบาใช้ผูกมัดฮากุไว้เป็นทาส เป็นเหตุให้ระหว่างนั้นฮากุฟื้นคืนสติ เขาพบว่า ยูบาบาโมโหโกรธเป็นอันมากที่โรงอาบน้ำพัง ซ้ำจิฮิโระยังหายไปอีก จึงสั่งให้เอาสุกรบิดามารดาของจิฮิโระไปปรุงเป็นอาหารเย็น เขาเข้าขัดขวางโดยแจ้งยูบาบาว่า ได้สังเกตหรือไม่ว่าของรักของหวงของนางหายไป ยูบาบาจึงสังเกตได้ว่า โบ ลูกรัก หายไป ฮากุบอกนางว่า โบไปพบเซนีบากับจิฮิโระ และเสนอว่า ถ้าเขานำพาโบกลับมาให้นาง ขอให้นางปลดปล่อยจิฮิโละพร้อมครอบครัวเป็นไท นางยินดี แต่เน้นย้ำว่า สัญญาระหว่างนางกับจิฮิโระจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อจิฮิโระผ่านการทดสอบประการหนึ่ง ฮากุจึงกลับร่างเป็นมังกรโผไปรับจิฮิโระและคณะ ส่วนผีไร้หน้านั้นชอบใจจะอยู่กับเซนีบา

ระหว่างที่ขี่หลังมังกรฮากุกลับโรงอาบน้ำนั้น จิฮิโระนึกถึงถ้อยคำของฮากุที่ว่า เขาเคยพบเจอเธอเมื่อเธอยังเล็ก แล้วหวนระลึกได้ว่า เมื่อเด็กเธอเคยตกแม่น้ำโคฮากุขณะก้มลงเก็บรองเท้า และฮากุเป็นเทพารักษ์แม่น้ำโคฮากุที่ช่วยเธอไว้ ฮากุจึงจดจำได้ว่า ชื่อจริงของตนคือ "แม่น้ำโคฮากุ" และเป็นผลให้ฮากุเป็นอิสระจากยูบาบา ฮากุพาโบมาคืนให้แก่ยูบาบา ยูบาบาทดสอบจิฮิโระโดยให้เธอตอบว่า สุกรตัวใดในฝูงที่อยู่เบื้องหน้าเธอนี้คือบิดามารดาของเธอ จิฮิโระตอบได้ถูกต้องว่า บิดามารดาของตนมิได้อยู่ท่ามกลางสุกรเหล่านี้ สัญญาจ้างงานจึงสิ้นสุดลง ฮากุนำพาจิฮิโระมาสู่ทางเข้าสวนสนุก และให้ "สัญญาใจ" ว่าทั้งคู่ต้องได้พบกันอีก จิฮิโระได้พบบิดามารดาอีกครั้ง คนทั้งสองจดจำเรื่องราวในโลกของภูตมิได้เลย แล้วครอบครัวโองิโนะก็ลาสวนสนุกกลับสู่โลกที่เคยจากมา

ตัวละคร[แก้]

ริง (ซ้าย, เท้าเอว), จิฮิโระ (กลาง, ชุดแดง) และแม่มดยูบาบา (ขวา) ณ โรงอาบน้ำ
  • จิฮิโระ โอะงิโนะ (ญี่ปุ่น: 荻野 千尋โรมาจิOgino Chihiro) - เด็กหญิงวัยสิบปี ซึ่งย้ายบ้านไปเมืองใหม่พร้อมครอบครัวอย่างไม่เต็มใจ และหลงเข้าไปในโลกของภูตโดยบังเอิญ
  • ฮากุ (ญี่ปุ่น: ハクโรมาจิHaku) หรือ เทพารักษ์แม่น้ำโคฮากุ (ญี่ปุ่น: ニギハヤミコハクヌシโรมาจิNigihayami Kohakunushi, ตามตัวอักษร: "อารักษ์แห่งแม่น้ำสีอำพันอันเชี่ยวกราก" (god of the swift amber river); อังกฤษ: Spirit of the Kohaku River) - มีกำเนิดเป็นมังกร ปรากฏร่างเป็นเด็กชายวัยสิบสองปี[17] ฮากุเป็นเทพารักษ์ประจำแม่น้ำมาก่อน ในอดีตจิฮิโระเคยตกลงไปในแม่น้ำโคฮากุ ฮากุช่วยเหลือเธอขึ้นจากน้ำ เมื่อแม่น้ำถูกถมเพื่อสร้างเป็นอพาร์ตเมนท์ฮากุจึงไม่มีที่อยู่จำต้องเร่รอนมาฝากตัวในสำนักแม่มดยูบาบา[18] โดยแลกกับการเป็นมือขวาให้แก่นาง แม่มดยูบาบาใช้คุณไสยให้ฮากุลืมตัวตน แต่ความทรงจำร่วมกันกับจิฮิโระทำให้เขาหลุดพ้นจากการเป็นทาสของยูบาบาได้ในที่สุด
  • ยูบาบา (ญี่ปุ่น: 湯婆婆โรมาจิYubāba, ตามตัวอักษร: "แม่เฒ่าอ่างน้ำ") - เป็นหญิงสูงวัยซึ่งเป็นแม่มด มีศีรษะและจมูกอันใหญ่โตผิดมนุษย์ มีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการและวางอำนาจ แต่อ่อนโยนต่อ โบ ทารกร่างยักษ์ซึ่งเป็นบุตรของนาง นางเปิดโรงอาบน้ำซึ่งทำรายได้ให้แก่นางเป็นอันมาก
  • เซนีบา (ญี่ปุ่น: 銭婆โรมาจิZenība) - เป็นน้องสาวฝาแฝดของยูบาบา รูปลักษณ์ไม่ผิดกันแม้สักน้อย แต่อุปนิสัยต่างกัน เซนีบาใจดี และใช้ชีวิตสมถะห่างไกลผู้คน
  • คะมะจี (ญี่ปุ่น: 釜爺โรมาจิKamajī, ตามตัวอักษร: "ตาเฒ่าหม้อต้มน้ำ") - เป็นชายชรา มีแขนสามคู่ ทำหน้าที่ควบคุมห้องต้มน้ำ ณ โรงอาบน้ำของยูบาบา แขนทั้งหกนั้นยืดได้หดได้ตามใจปรารถนา ทำให้เขาเอื้อมถึงลิ้นชักซึ่งอยู่ง้ำหัวได้โดยอยู่กับที่ เขามีผีเขม่า (ญี่ปุ่น: ススワタリโรมาจิSusuwatari) กลุ่มหนึ่งช่วยขนถ่านหินเข้าเตาให้
  • ผีไร้หน้า (ญี่ปุ่น: カオナシโรมาจิKaonashi; อังกฤษ: No-Face) - เป็นสัมภเวสีขี้อาย เร้นกายในเสื้อคลุมสีดำ และสวมหน้ากาก ปรกติไม่พูดไม่จา และมักแสดงออกโดยส่งเสียงฟืดฟาด แต่สุภาพ และสงบเสงี่ยม อย่างน้อยก็ก่อนมันอาละวาดที่โรงอาบน้ำของยูบาบา มันไร้ญาติขาดมิตรและเฝ้าตามจิฮิโระต้อย ๆ หลังจากเธอช่วยเหลือมัน มันดำรงชีพอยู่โดยอาศัยอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะอารมณ์พึงพอใจเมื่อได้รับของกำนัล
  • ริน (ญี่ปุ่น: リンโรมาจิRin; อังกฤษ: Lin) - เป็นภูตสาว มีกำเนิดเป็นตัวเซเบิล (sable)[19] ทำงานอยู่โรงอาบน้ำของยูบาบา และรับเป็นผู้ปกครองของจิฮิโระในโลกของภูต
  • โบ (ญี่ปุ่น: โรมาจิ; อังกฤษ: Boh) - เป็นบุตรชายของยูบาบา และเป็นหลานของเซนีบา แม้เป็นทารก แต่มีร่างกายมโหฬารเป็นสองเท่าของยูบาบา เขาแข็งแรง ถูกยูบาบาตามใจจนเคยตัว และมักทำอันตรายเมื่อไม่ได้ดังประสงค์
  • อากิโอะ โองิโนะ (ญี่ปุ่น: 荻野 明夫โรมาจิOgino Akio) - บิดาของจิฮิโระ
  • ยูโกะ โองิโนะ (ญี่ปุ่น: 荻野 悠子โรมาจิOgino Yūko) - มารดาของจิฮิโระ
  • เทพแม่น้ำ (ญี่ปุ่น: 川の神โรมาจิKawa no Kami; อังกฤษ: River Spirit) - เป็นเทพผู้มากด้วยฤทธิ์และกิตติศัพท์ตนหนึ่ง มันอาศัยอยู่ในแม่น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษและสิ่งโสโครก จนร่างกายสกปรกและมีดินโคลนพอกพูนส่งกลิ่นเหม็นเน่า มันเข้าใช้บริการโรงอาบน้ำ แต่ทุกคนขยะแขยงและเรียกมันว่า "ภูตเหม็นฉึ่ง" (stinky spirit)

นักพากย์[แก้]

ตัวละคร พากย์ญี่ปุ่น พากย์อังกฤษ
จิฮิโระ โอะงิโนะ รุมิ ฮิอิรางิ (Rumi Hiiragi) เดเวห์ เชส (Daveigh Chase)
ฮากุ มิยุ อิริโนะ (Miyu Irino) เจสัน มาร์สเดน (Jason Marsden)
ยูบาบา และเซนีบา มาริ นัตสึกิ (Mari Natsuki) ซูแซน เพลแชต (Suzanne Pleshette)
คะมะจี บันตะ ซุงาวาระ (Bunta Sugawara) เดวิด อ็อกเดน สตีเออส์ (David Ogden Stiers)
ผีไร้หน้า อากิโอะ นากมุระ (Akio Nakamura) บ็อบ เบอร์เกิน (Bob Bergen)
ริน ยุมิ ทามาอิ (Yumi Tamai) ซูเซิน อีแกน (Susan Egan)
โบ เรียวโนะซุเกะ คามิกิ (Ryunosuke Kamiki) ทารา สตร็อง (Tara Strong)
อากิโอะ โองิโนะ ทาคาชิ นาอิโตะ (Takashi Naito) ไมเคิล ชีคลีส (Michael Chiklis)
ยูโกะ โองิโนะ ยาซุโกะ ซาวางุชิ (Yasuko Sawaguchi) ลอเริน ฮอลลี (Lauren Holly)

แก่นเรื่องและต้นแบบ[แก้]

แก่นสารของ มิติวิญญาณมหัศจรรย์ นั้นอยู่ที่จิฮิโระ ตัวนางของเรื่อง และการเดินทางในโรงอาบน้ำภูตผีปิศาจอันเหนือความคาดหมายของเธอ จิฮิโระจำต้องเผชิญสิ่งอัศจรรย์พันลึกทั้งที่เป็นเพียงเด็ก เธอจึงเสมือนถูกแยกจากสรรพสิ่งที่เคยเรียนรู้มาโดยสิ้นเชิง และต้องหาหนทางกลับสู่ความเป็นจริงที่จากมา ประสบการณ์ที่จิฮิโระได้รับมาในโลกคู่ขนาน ซึ่งมักได้รับการเปรียบเทียบกับวรรณกรรมเรื่อง อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ (Alice's Adventures in Wonderland) ของ ลิวอิส แคร์รอล (Lewis Carroll) นั้น สื่อว่าเธอได้ก้าวข้ามความเป็นเด็กและเติบโตเป็นผู้ใหญ่[20]

เรื่องราวแบบฉบับดั้งเดิมที่ว่าด้วยการเดินทางจากโลกหนึ่งไปอีกโลกหนึ่งนั้น ย่อมบ่งบอกว่าจิฮิโระกำลังก้ำกึ่งอยู่ระหว่างสิ่งสองสิ่ง คือ ความเป็นเด็ก และความเป็นผู้ใหญ่ คำ "คะมิกะกุชิ" (神隠し) ในชื่อภาษาญี่ปุ่นของภาพยนตร์ ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า "ถูกเทวดาซ่อนไว้" (หรือ "ถูกผีอุ้มไป") กับทั้งคติชาวบ้านอันเป็นองค์ประกอบของเรื่องนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่า "ที่ว่า 'ถูกผีอุ้มไป' นั้น คือว่า ถูกสังคมหมางเหมินประหนึ่งตายไปแล้วในโลกนี้ และการได้กลับมายังโลกนี้อีกหลังถูกผีอุ้มไปนั้น คือว่า ได้รับการยอมรับจากสังคมอีกครั้ง"[21]

แม่มดยูบาบาคล้ายคลึงกับ นายสารถี (Coachman) จากเรื่อง ปิน็อกกีโอ (Pinocchio) ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะที่นางเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นสุกร เฉกเช่นเดียวกับที่นายสารถีเปลี่ยนเด็กชายให้เป็นลา ตามท้องเรื่อง เมื่อนางตกลงให้จิฮิโระทำงานที่โรงอาบน้ำ นางก็ยึดชื่อจริงของเธอไป แล้วตัดเหลือแต่อักษรแรกคือ "เซ็ง" และให้เธอใช้ชื่อนั้นแทน ซึ่งเป็นแนวเรื่องที่พบได้ดาษดื่นในคติชาวบ้านญี่ปุ่น และเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า ยูบาบาสังหารเด็กน้อยจิฮิโระ[20] เมื่อจิฮิโระลืมเลือนวัยเด็กอันเป็นอดีตของเธอแล้ว เธอก็ไม่สามารถกลับสู่โลกจริง และทำได้เพียงเจริญวัยไปสู่อนาคต ฉะนั้น เรื่องราวที่จิฮิโระต้องเรียนรู้และก้าวให้พ้นหลังจากนั้นไป จึงเป็นสิ่งท้าท้ายและบทเรียนชนิดที่พบบ่อย ๆ ในพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (rite of passage) และในเนื้อเรื่องแบบสูตรเดียว (monomyth) นอกจากนี้ เพื่อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับอดีตกาล และเพื่อให้ตนดำเนินต่อเนื่องไปกับอดีต จิฮิโระจำจะต้องสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้ตนเองด้วย[20]

แม้ผิวเผินอาจมองว่า มิติวิญญาณมหัศจรรย์ ดำเนินเรื่องแนว "เรียนรู้เติบโต" แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแฝงการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นในเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่น, การที่สังคมส่วนมากพยายามละลายวัฒนธรรมประเพณีแบบดั้งเดิม และการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย[22] ในฐานะที่จิฮิโระสื่อถึงสาวน้อยแรกเริ่ม จึง "อาจมองได้ว่า [เธอ] เป็นอุปลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่น ที่ในช่วงสิบปีหลัง ๆ นี้ ชักลืมเลือนและละเลยคุณธรรมและกรอบอุดมการณ์ยุคหลังสงครามไปกันมาก"[23] ทั้งนี้ ด้วยว่าญี่ปุ่นที่กำลังหน้ามืดเพราะเศรษฐกิจขาลงในช่วงฉายภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อปี 2544 เองก็กำลังพยายามปะติดปะต่อคุณงามความดีที่เคยยึดถือกันมา ดุจเดียวกับที่จิฮิโระไขว่คว้าหาตัวตนในอดีตของเธอ[24]

ตอนต้นเรื่อง จิฮิโระเดินทางผ่านสวนสนุกร้าง อันส่อสำแดงถึงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกกระจุยในญี่ปุ่น และผ่านบิดามารดาของตนที่ปล่อยใจปล่อยกายไปตามอำนาจบัตรเครดิตจนกลายร่างเป็นสุกรนั้น ก็เพื่อบรรลุโลกมายาของโรงอาบน้ำ อันแล้วไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนคตินิทานต่าง ๆ ทว่า "โรงอาบน้ำภูตผีปิศาจเองก็เอาแน่เอานอนมิได้ และมีด้านมืดของมัน...[เพราะ] มิยาซากิไม่ไร้เดียงสาถึงขนาดสร้างอดีตภูมิหรืออสุรภูมิให้มีลักษณะบรรเจิดเลิศล้ำถ่ายเดียว"[25] ลูกจ้างจำนวนมากที่โรงอาบน้ำมีอุปนิสัยกักขฬะและเลือกปฏิบัติต่อจิฮิโระ ซ้ำโรงอาบน้ำก็ยังยืดโยงอยู่บน "ขื่อแป" แห่งพวกหน้าเงินใจคด[23] โรงอาบน้ำเป็นสถานแห่ง "ความฟุ้งเฟ้อและมักมาก" เช่นนั้นจริงเมื่อคราที่ผีไร้หน้าปรากฏตัวแรก ๆ[26]

แม้การเดินทางและเปลี่ยนแปลงของจิฮิโระจะแสดงภาพ "วัฒนธรรมฟื้นตัวตามแบบฉบับดังเดิม อาทิ มีการตระหนักค่า การกำหนดตัวตนอันสมบูรณ์ การชำระจิตวิญญาณ และการเสียสละ" ทว่า โรงอาบน้ำอันวิจิตรภายใต้ฉากหลังที่สลัวเสมอนั้น เตือนให้ผู้ชมจำไว้ให้มั่นว่า ชีวิตจริงหาได้ง่ายดายไม่ ดังมีข้อความว่า "โรงอาบน้ำซึ่งพร้อมด้วยแสงสีรื่นเริงบันเทิงใจ แต่ขณะเดียวกันก็มากด้วยความสับสนอลหม่าน ชี้ว่า ภัยอันคุกคามคนทั้งหลายนั้นหาได้มีมาแต่ภายนอกไม่"[23] อีกประการหนึ่ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่ผีเสื้อน้ำต้องปนเปื้อนสกปรก และฮะกุจำต้องสละแม่น้ำที่ตนสิงสู่ให้แก่หมู่อาคารห้องแถว ยังส่อสำแดงด้วยว่า เป็นสังคมญี่ปุ่นนั้นเอง ที่ก่อมลพิษให้แก่โรงอาบน้ำ สถานที่ซึ่งตามแบบแผนแล้วควรมีแต่ความสะอาดหมดจด

การผลิต[แก้]

ผมสร้างนางเอกที่เป็นเด็กหญิงธรรมดา เด็กที่ผู้ชมสามารถเห็นอกเห็นใจได้ มันไม่ใช่เรื่องที่ตัวละครเติบโตขึ้นแต่เป็นเรื่องที่ตัวละครนำสิ่งที่ตนเองมีอยู่ออกมาใช้ภายใต้เงื่อนไขของสภาวะรอบข้าง ผมต้องการให้เพื่อนตัวน้อยของผมใช้ชีวิตอย่างนั้นและผมก็คิดว่าพวกเขาก็มีความปรารถนาเช่นเดียวกัน
— ฮายาโอะ มิยาซากิ[27]

ทุกฤดูร้อนผู้กำกับมิยาซากิจะใช้เวลาพักผ่อนบนภูเขากับครอบครัวและเพื่อน แนวคิดของเรื่อง มิติวิญญาณมหัศจรรย์ เกิดจากความปรารถนาของมิยาซากิที่ต้องการสร้างภาพยนตร์ให้กับเด็กหญิงตัวน้อยที่มาพักผ่อนกับเขาด้วย มิยาซากิเคยกำกับภาพยนตร์อย่าง โทโทโร่เพื่อนรัก และ แม่มดน้อยกิกิ ซึ่งเป็นภาพยนตร์สำหรับเด็กเล็กและวัยรุ่น แต่เขายังไม่เคยสร้างภาพยนตร์สำหรับเด็กหญิงอายุสิบขวบเลย เขาค้นหาแรงบันดาลใจจากนิตยสาร shōjo manga เช่น Nakayoshi และ Ribon ซึ่งพวกเด็กๆ ได้ทิ้งไว้ เมื่อมิยาซากิได้อ่านนิตยสารเหล่านี้ เขารู้สึกว่ามันมีเพียงเรื่องความรักชั่ววูบและฉาบฉวยของหนุ่มสาว เมื่อหวนกลับมามองที่เพื่อนตัวน้อย มิยาซากิคิดว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะประทับใจและจดจำมันไปตลอดไป มิยาซากิจึงตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ที่มีนางเอกที่พวกเธอสามารถเอาเป็นแบบอย่างได้[27]

ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้เขียนเรื่องและกำกับภาพยนตร์

มิยาซากิต้องการสร้างภาพยนตร์ใหม่มานานแล้ว ก่อนหน้านี้เขาได้เขียนข้อเสนอโครงการถึงสองโครงการ แต่ก็ถูกปฏิเสธ โครงการแรกมาจากหนังสือ Kirino Mukouno Fushigina Machi และโครงการที่สองเกี่ยวกับนางเอกที่เป็นวัยรุ่น โครงการซึ่งได้รับการอนุมัติกลายมาเป็น Spirited Away ในที่สุด ทั้งสามเรื่องที่มิยาซากิเสนอเกี่ยวข้องกับโรงอาบน้ำซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากบ้านเกิด มิยาซากิคิดว่าโรงอาบน้ำเป็นสถานที่ลึกลับ มีประตูเล็ก ๆ อยู่ถัดจากอ่างน้ำในโรงอาบน้ำ มิยาซากิอยากรู้อยากเห็นว่ามีอะไรอยู่หลังประตูบานนั้น เขาแต่งเรื่องหลายเรื่องเกี่ยวกับประตูและหนึ่งในเรื่องเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจของ มิติวิญญาณมหัศจรรย์ [27]

ภาพยนตร์นี้เข้าสู่ขั้นตอนการผลิตใน พ.ศ. 2543 ด้วยงบประมาณ 1.9 พันล้านเยน ในภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าของเขา Princess Mononoke มิยาซากิและทีมงานได้ทดลองการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสร้างอนิเมะชัน ในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่าง 3D มากขึ้น แต่ก็จำกัดการใช้งานอยู่ในขอบเขตที่ไม่ให้เทคโนโลยีขโมยจุดเด่นของเรื่องไป ตัวละครส่วนใหญ่ยังวาดด้วยมือโดยมีมิยาซากิคอยกำกับดูแล[2] ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือการตัดต่อภาพยนตร์ให้สั้นลง ตามโครงเรื่องต้นฉบับของมิยาซากิภาพยนตร์มีความยาวถึงสามชั่วโมง เขาจึงต้องตัดฉากจำนวนมากออกจากภาพยนตร์และลด "eye-candy" เพื่อความเรียบง่าย มิยาซากิไม่ต้องการสร้างนางเอกที่สวย ในตอนต้นเขารู้สึกว่า "เธอดูไม่น่าสนใจและไม่น่ารักเอาเสียเลย เราต้องปรับปรุงอะไรหรือเปล่า?" แต่เมื่อภาพยนตร์ใกล้สำเร็จเขาก็พบว่า "เธอจะเติบโตขึ้นเป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์"[27]

The Takahashi Korekiyo residence in the Edo-Tokyo Open Air Architectural Museum เป็นแรงบันดาลใจของมิยาซากิ

มิยาซากิได้ต้นแบบของตึกในโลกวิญญาณบางส่วนมาจาก Edo-Tokyo Open Air Architectural Museum ใน Koganei, Tokyo ประเทศญี่ปุ่น มิยาซากิเข้าชมพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวบ่อยๆ ระหว่างที่เขากำลังสร้างภาพยนตร์ มิยาซากิมีความสนใจในดึกรามบ้านช่องแบบ Pseudo-Western style จากยุคเมจิในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว บรรยากาศที่พิพิธภัณฑ์ทำให้มิยาซากิหวนคำนึงถึงอดีต "โดยเฉพาะเวลาที่ผมยืนอยู่คนเดียวในเวลาเย็น ใกล้เวลาปิด และดวงอาทิตย์กำลังจะลับฟ้า – นำตาซึมออกมาจากตาของผม"[27] อีกแรงบันดาลใจหนึ่งมาจากเมือง Jiufen และ Jinguashi ในไต้หวัน ทั้งสองเมืองมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเมจิเพราะสร้างในช่วงที่ไต้หวันเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น[ต้องการอ้างอิง]

ฉบับภาษาอังกฤษ[แก้]

เดเวห์ เชส ให้เสียงจิฮิโระในภาพยนตร์ฉบับภาษาอังกฤษ

พิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ทำเสียงภาษาอังกฤษให้กับภาพยนตร์ มิติวิญญาณมหัศจรรย์ ภายใต้การกำกับดูแลของ John Lasseter Lasseter เป็นแฟนตัวยงของมิยาซากิ เขาและทีมงานมักจะนั่งดูงานของมิยาซากิเมื่อพบปัญหาในการแปลเรื่อง มีการฉายภาพยนตร์Spirited Away ครั้งแรกในสหรัฐเมริกาที่ Pixar's screening room หลักจากได้ชมภาพยนตร์ Lasseter ก็ตื่นเต้นดีใจมาก คนของดิสนีย์จึงชักชวนให้ Lasseter ทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษให้ชาวอเมริกันได้ชม แม้จะมีงานรัดตัวแต่ Lasseter ก็รับคำกำกับดูแลงานนี้ หลังจากนั้นทีมงานคนสำคัญอื่นก็ทยอยเข้าร่วมโครงการ อาทิเช่น Kirk Wise (โฉมงามกับเจ้าชายอสูร co-director Kirk Wise และ Donald W. Ernst (Aladdin producer) โดยทั้งสองได้เข้ามาเป็น director และ producer ของ Spirited Away ตามลำดับ[28]

ผู้พากย์เสียงภาพยนตร์ประกอบไปด้วย เดเวห์ เชส, Susan Egan, David Ogden Stiers และ John Ratzenberger (เป็น "good luck charm" ของ John Lasseter) ด้วยความสามารถของผู้พากษ์เสียงและทีมงานข่าวการจัดทำภาพยนตร์ภาคภาษาอังกฤษก็กระจายไปในอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่ครึกโครมนัก Pixar ผลักดันภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ออกฉายในฤดูใบไม้ร่วง แต่พบว่า Spirited Away ถูกซ่อนไว้ในมุมเล็กๆ ของ Disney.com ขณะที่หน้าเว็บของภาพยนตร์อย่าง Signs แสดงอย่างชัดเจนจากหน้าหลัก สำหรับ Spirited Away มีเฉพาะผู้ที่อยากรู้อยากเห็นเท่านั้นที่จะหามันพบ[28]

การเผยแพร่[แก้]

Spirited Away เข้าฉายในประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2544 มีผู้ชมราว 23 ล้านคน และทำรายได้ไปถึง 3 หมื่นล้านเยน (ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่กวาดรายได้ทั่วโลกถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนการฉายในสหรัฐในปี พ.ศ. 2545

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในสหรัฐในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2545 และทำรายได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำเป็นภาคภาษาอังกฤษโดย วอลท์ดิสนีย์ พิคเจอร์ ภายใต้การดูแลของ John Lasseter แห่งพิกซาร์

ถูกจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีในแถบอเมริกาเหนือโดยบัวนาวิสตา ดิสตริบิวชัน ของดิสนีย์ ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2546 เมื่อภาพยนตร์ได้รางวัลออสการ์ช่วยกระตุ้นความสนใจจนสร้างยอดขายที่ดีเยี่ยม และส่งผลไปถึงภาพยนตร์เรื่องอื่นของมิยาซากิ อย่าง ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา, แม่มดน้อยกิกิ และ มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม

ดีวีดีถูกจัดจำหน่ายในสหราชอาณาจักร ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2547 สำหรับในประเทศไทยใช้ชื่อในดีวีดีว่า "มิติวิญญาณมหัศจรรย์" [29]

คำวิจารณ์[แก้]

Spirited Away เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์ทั่วไปถึง 155 คนใน Rotten Tomatoes ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดเป็นภาพยนตร์อนิเมะชันที่ดีที่สุดในอันดับที่สิบสาม โดยได้คะแนน 97% ในเว็บดังกล่าว[30] ใน พ.ศ. 2548 มันถูกจัดให้เป็นภาพยนตร์อนิเมะชันที่ดีที่สุดตลอดกาลในอันดับที่สิบสอง จากการจัดอันดับโดย IGN.[31] ได้อันดับที่ 9 ของภาพยนตร์อนิเมะชันที่ดีที่สุดตลอดกาล Metacritic และเป็นภาพยนตร์อนิเมะชันต่างประเทศอันดับที่ 10 ใน Empire magazine's "The 100 Best Films Of World Cinema" in 2010.[32]

ดีวีดีและวิดีโอ[แก้]

ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวได้จัดฉายในอเมริกาเหนือ โดย Buena Vista Distribution ของดิสนีย์ในรูปแบบDVD และ VHS เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2545 ซึ่งผลของรางวัลออสการ์ทำให้จำหน่ายได้ดี[33] Spirited Away มักจะถูกจำหน่ายและทำตลาดพร้อมกับภาพยนตร์เรื่องอื่นของมิยาซากิ เช่น ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา, แม่มดน้อยกิกิ และ มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม

เพลงประกอบภาพยนตร์[แก้]

เพลงปิด (ญี่ปุ่น: "Always With Me"โรมาจิいつも何度でもทับศัพท์: Itsumo Nandodemo; literally, "Always, No Matter How Many Times") ประพันธ์และขับร้องโดย Youmi Kimura นักประพันธ์และ lyre-player จากโอซากา เนื้อเพลงแต่โดยWakako Kaku เพื่อนของคิมุระ

นอกจากซาวด์แทรคต้นฉบับของภาพยนตร์ ยังมี image album ซึ่งประกอบด้วย 10 เพลง

รายการเพลงในออริจินอลซาวด์แทรค[แก้]
แทรค ผู้ประพันธ์ ความยาว
1 (ญี่ปุ่น: One Summer's Dayโรมาจิあの夏へทับศัพท์: Ano Natsu e) (ญี่ปุ่น: Joe Hisaishiโรมาจิ久石譲) 3:09
2 (ญี่ปุ่น: Road To Somewhereโรมาจิとおり道ทับศัพท์: Toori Michi) 2:07
3 (ญี่ปุ่น: Empty Restaurantโรมาจิ誰もいない料理店ทับศัพท์: Dare mo Inai Ryōriten) 3:15
4 (ญี่ปุ่น: Nighttime Comingโรมาจิ夜来るทับศัพท์: Yoru Kuru) 2:00
5 (ญี่ปุ่น: Dragon Boyโรมาจิ竜の少年ทับศัพท์: Ryū no Shōnen) 2:12
6 (ญี่ปุ่น: Sootballsโรมาจิボイラー虫ทับศัพท์: Boirā Mushi) 2:33
7 (ญี่ปุ่น: Procession Of The Spiritsโรมาจิ神さま達ทับศัพท์: Kamisama-tachi) 3:00
8 (ญี่ปุ่น: Yubabaโรมาจิ湯婆婆) 3:30
9 (ญี่ปุ่น: Bathhouse Morningโรมาจิ湯屋の朝ทับศัพท์: Yuya no Asa) 2:02
10 (ญี่ปุ่น: Day Of The Riverโรมาจิあの日の川ทับศัพท์: Ano Hi no Kawa) 3:13
11 (ญี่ปุ่น: It's Hard Workโรมาจิ仕事はつらいぜทับศัพท์: Shigoto wa Tsuraize) 2:26
12 (ญี่ปุ่น: Stink Spiritโรมาจิおクサレ神ทับศัพท์: Okusaregami) 4:01
13 (ญี่ปุ่น: Sen's Courageโรมาจิ千の勇気ทับศัพท์: Sen no Yūki) 2:45
14 (ญี่ปุ่น: Bottomless Pitโรมาจิ底なし穴ทับศัพท์: Sokonashi Ana) 1:18
15 (ญี่ปุ่น: No Faceโรมาจิカオナシทับศัพท์: Kaonashi) 3:47
16 (ญี่ปุ่น: Sixth Stationโรมาจิ6番目の駅ทับศัพท์: Roku Banme no Eki) 3:38
17 (ญี่ปุ่น: Yubaba's Panicโรมาจิ湯婆婆狂乱ทับศัพท์: Yubaba Kyōran) 1:38
18 (ญี่ปุ่น: House At Swamp Bottomโรมาจิ沼の底の家ทับศัพท์: Numa no Soko no Ie) 1:29
19 (ญี่ปุ่น: Repriseโรมาจิふたたびทับศัพท์: Futatabi) 4:53
20 (ญี่ปุ่น: The Return Dayโรมาจิ帰る日ทับศัพท์: Kaeru Hi) 3:20
21 (ญี่ปุ่น: Always With Meโรมาจิいつも何度でもทับศัพท์: Itsumo Nando demo) (ญี่ปุ่น: Youmi Kimuraโรมาจิ木村弓) 3:35
รายการเพลงใน Image album[แก้]
  1. (ญี่ปุ่น: Ano Hi no Kawa eโรมาจิあの日の川へทับศัพท์: lit. To that Days' River) by Umi (3:54)
  2. (ญี่ปุ่น: Yoru ga Kuruโรมาจิ夜が来るทับศัพท์: lit. Night is Coming) by Joe Hisaishi (4:25)
  3. (ญี่ปุ่น: Kamigami-samaโรมาจิ神々さまทับศัพท์: lit. Gods) by Shizuru Otaka (3:55)
  4. (ญี่ปุ่น: Yuyaโรมาจิ油屋ทับศัพท์: lit. Bathhouse) by Tsunehiko Kamijō (3:56)
  5. (ญี่ปุ่น: Fushigi no Kuni no Jyūninโรมาจิ不思議の国の住人ทับศัพท์: lit. The People in Wonderland) by Joe Hisaishi (3:20)
  6. (ญี่ปุ่น: Samishii samishiiโรมาจิさみしいさみしいทับศัพท์: lit. Lonely lonely) by Monsieur Kamayatsu (3:41)
  7. (ญี่ปุ่น: Solitudeโรมาจิソリチュードทับศัพท์: Sorichūdo) by Rieko Suzuki and Hiroshi Kondo (3:49)
  8. (ญี่ปุ่น: Umiโรมาจิทับศัพท์: lit. The Sea) by Joe Hisaishi (3:22)
  9. (ญี่ปุ่น: Shiroi Ryūโรมาจิ白い竜ทับศัพท์: lit. White Dragon) by Rikki (3:33)
  10. (ญี่ปุ่น: Chihiro no Waltzโรมาจิ千尋のワルツทับศัพท์: Chihiro no Warutsu; Chihiro's Waltz) by Joe Hisaishi (3:20)

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

  • รางวัล Best Animated Feature (ฮายาโอะ มิยาซากิ) จากเวทีรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 75
  • รางวัล Annie Awards ปี 2003
    • รางวัล Outstanding Achievement in an Animated Theatrical Feature
    • รางวัล Outstanding Direction in an Animated Feature Production (ฮายาโอะ มิยาซากิ )
    • รางวัล Outstanding Music in an Animated Feature Production (โจ ฮิไซชิ)
    • รางวัล Outstanding Writing in an Animated Feature Production (ฮายาโอะ มิยาซากิ )
  • รางวัล Golden Bear (ฮายาโอะ มิยาซากิ) จาก Berlin International Film Festival ปี 2002
  • รางวัล Best Film (ฮายาโอะ มิยาซากิ) จาก Blue Ribbon Awards ปี 2002
  • รางวัล Special Commendation จาก Boston Society of Film Critics Awards ปี 2002
  • รางวัล Best Animated Feature จาก Broadcast Film Critics Association Awards ปี 2003
  • รางวัล Best Animated Film จาก Dallas-Fort Worth Film Critics Association Awards ปี 2003
  • รางวัล Best Animated Feature จาก Florida Film Critics Circle Awards ครั้งที่ 7
  • รางวัล Best Asian Film จาก Hong Kong Film Awards ปี 2002
  • รางวัล Best Film จาก Japanese Academy Awards ปี 2001
  • รางวัล Best Animation จาก Los Angeles Film Critics Association Awards ปี 2002
  • รางวัล Best Animated Feature จาก National Board of Review Awards ปี 2002
  • รางวัล Best Animated Film จาก New York Film Critics Circle Awards ปี 2002
  • รางวัล Best Animated Feature จาก Online Film Critics Society Awards ครั้งที่ 6
  • รางวัล Audience Award; Best Narrative Feature (ฮายาโอะ มิยาซากิ) จากซานฟรานซิสโก อินเตอร์เนชั่นแนลฟิล์มเฟสติวอล ปี 2002
  • รางวัล Best Motion Picture, Animated or Mixed Media จาก Satellite Awards ปี 2003
  • รางวัล Best Animated Film จากแซทเทิร์นอะวอร์ดส ปี 2003

Spirited Away เป็นภาพยนตร์อนิเมะเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ นอกจากนี้ ยังเป็นแอนิเมชันเรื่องแรกที่คว้ารางวัลโกลเดนแบร์ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 การทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลกของ มิติวิญญาณมหัศจรรย์:
    • ช่วงฉายครั้งแรกรวมถึงฉายซ้ำจนถึงสตูดิโอจิบลิเฟสต์ 2020 – US$395,580,000 (¥47,030,975,000)[4]
    • ฉายซ้ำในสเปนเมื่อ ค.ศ. 2021 – 186,772[5] (US$222,070)[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Spirited Away (PG)". British Board of Film Classification. 14 สิงหาคม 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มกราคม 2015. สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2015.
  2. 2.0 2.1 The Making of Hayao Miyazaki's "Spirited Away" – Part 1 เก็บถาวร 12 มีนาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Jimhillmedia.com.
  3. Herskovitz, Jon (15 December 1999). "'Mononoke' creator Miyazaki toons up pic". Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 February 2020. สืบค้นเมื่อ 24 February 2020.
  4. Harding, Daryl. "Demon Slayer: Mugen Train Overtakes Your Name to Become 2nd Highest-Grossing Anime Film of All Time Worldwide". Crunchyroll (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 February 2021. สืบค้นเมื่อ 15 February 2021.
  5. España, Taquilla (24 May 2021). "El viaje de Chihiro". TAQUILLA ESPAÑA (ภาษาสเปนแบบยุโรป). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 July 2021. สืบค้นเมื่อ 2 July 2021.
  6. "Spirited Away 2021 Re-release (Spain)". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 July 2021. สืบค้นเมื่อ 30 June 2021.
  7. Boyd, James W. and Tetsuya Nishimura. [2004] 2016. "Shinto Perspectives in Miyazaki's Anime Film 'Spirited Away' (PDF) เก็บถาวร 20 กรกฎาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Journal of Religion & Film 8 (3):Article 4.
  8. "Sen To Chihiro No Kamikakushi เก็บถาวร 4 ธันวาคม 2012 ที่ archive.today". http://www.bcdb.com เก็บถาวร 4 ธันวาคม 2012 ที่ archive.today, 13 May 2012
  9. Sunada, Mami (Director) (16 November 2013). 夢と狂気の王国 [The Kingdom of Dreams and Madness] (Documentary) (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Studio Ghibli. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 July 2014. สืบค้นเมื่อ 12 July 2014. Interview with Toshio Suzuki
  10. "15 Fascinating Facts About Spirited Away". mentalfloss.com (ภาษาอังกฤษ). 30 March 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2019. สืบค้นเมื่อ 16 May 2019.
  11. Turan, Kenneth (20 September 2002). "Under the Spell of 'Spirited Away'". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2012. สืบค้นเมื่อ 20 July 2012.
  12. "Spirited Away (2002)". Metacritic. CBS Interactive. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 June 2019. สืบค้นเมื่อ 24 June 2019.
  13. Pineda, Rafael Antonio (13 December 2020). "Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba Film Is 1st Since Spirited Away to Earn 30 Billion Yen". Anime News Network. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 December 2020. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  14. Harding, Daryl. "Toho Updates Spirited Away Lifetime Japanese Box Office Gross as Demon Slayer: Mugen Train Inches Closer to #1". Crunchyroll (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 February 2021. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  15. "Demon Slayer Overtakes Spirited Away as Japan's Highest Grossing Film Ever". ScreenRant (ภาษาอังกฤษ). 29 December 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2023. สืบค้นเมื่อ 14 July 2023.
  16. "The 75th Academy Awards (2003)". Academy of Motion Picture Arts and Sciences. 5 October 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 November 2017. สืบค้นเมื่อ 1 December 2017.
  17. Hayao Miyazaki (2008). The Art of Miyazaki's Spirited Away. Studio Ghibli Library. Viz Media. p. 84. ISBN 1569317771.
  18. Miyazaki's Spirited Away Picture Book. Viz Media. 2008. p. 116,152. ISBN 1569317968.
  19. Hayao Miyazaki (2008). The Art of Miyazaki's Spirited Away. Studio Ghibli Library. Viz Media. p. 120. ISBN 1569317771.
  20. 20.0 20.1 20.2 Satoshi, Ando. "Regaining Continuity with the Past: Spirited Away and Alice's Adventures in Wonderland." Bookbird 46.1: 23–29. Project MUSE. 11 Feb. 2009 [1].
  21. Reider, Noriko T. "Spirited Away: Film of the Fantastic and Evolving Japanese Folk Symbols." Film Criticism 29.3: 4–27. Academic OneFile. Gale. 11 Feb. 2009 [2].
  22. Napier, Susan J. "Matter Out of Place: Carnival, Containment and Cultural Recovery in Miyazaki's Spirited Away." Journal of Japanese Studies 32.2: 287–310. Project MUSE. 11 Feb. 2009 [3].
  23. 23.0 23.1 23.2 Napier, Susan J. "Matter Out of Place: Carnival, Containment and Cultural Recovery in Miyazaki's Spirited Away." Journal of Japanese Studies 32.2: 287–310. Project MUSE. 11 Feb. 2009 [4].
  24. Mes, Tom (2002-01-07). "Hayao Miyazaki Interview". Midnight Eye. สืบค้นเมื่อ 2009-08-01.
  25. Thrupkaew, Noy. "Animation Sensation: Why Japan's Magical Spirited Away Plays Well Anywhere." American Prospect 13.19: 32–33. Academic OneFile. Gale. 11 Feb. 2009 [5].
  26. Harris, Timothy. "Seized by the Gods." Quadrant 47.9: 64–67. Academic OneFile. Gale. 11 Feb. 2009 [6].
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 http://www.nausicaa.net/miyazaki/interviews/sen.html
  28. 28.0 28.1 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-17. สืบค้นเมื่อ 2011-02-20.
  29. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-05. สืบค้นเมื่อ 2011-02-26.
  30. "Best Animated Films - Spirited Away)". Rotten Tomatoes. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-27. สืบค้นเมื่อ May 6, 2010.
  31. "The Top 25 Animated Movies of All-Time". IGN Entertainment. สืบค้นเมื่อ May 6, 2010.
  32. "The 100 Best Films of World Cinema – 10. Spirited Away". Empire. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2012.
  33. Reid, Calvin (April 28, 2003). "'Spirited Away' Sells like Magic". Publisher's Weekly.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]