ข้ามไปเนื้อหา

ฮายาโอะ มิยาซากิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Hayao Miyazaki)
ฮายาโอะ มิยาซากิ
เกิด (1941-01-05) 5 มกราคม ค.ศ. 1941 (84 ปี)
บุงเคียว โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อาชีพผู้กำกับภาพยนตร์
ผู้เขียนบทภาพยนตร์
นักออกแบบตัวละคร
อะนิเมเตอร์
นักวาดสตอรี่บอร์ด
ศิลปินมังงะ
ปีปฏิบัติงาน1963-ปัจจุบัน
คู่สมรสอาเคมิ โอตะ (1965 - ?)
มีบุตร 2 คน

ฮายาโอะ มิยาซากิ (ญี่ปุ่น: 宮崎 駿โรมาจิMiyazaki Hayao; เกิด 5 มกราคม พ.ศ. 2484) เป็นนักวาดมังงะ ผู้กำกับ และผู้สร้างอนิเมะชาวญี่ปุ่น ที่มีผลงานที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง จากการคร่ำหวอดในวิชาชีพเป็นเวลาราวห้าทศวรรษ มิยาซากิได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นผู้สร้างภาพยนตร์อนิเมะ ร่วมกับอิซาโอะ ทาคาฮาตะ ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ความสำเร็จของภาพยนตร์เหล่านี้ทำให้เขาได้รับการเปรียบเทียบกับวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งเป็นผู้สร้างแอนิเมชันชาวอเมริกัน กับ นิค พาร์ค ซึ่งเป็นผู้สร้างแอนิเมชันชาวอังกฤษ รวมถึง โรเบิร์ต เซเม็กคิส ผู้บุกเบิกการสร้างแอนิเมชัน นิตยสารไทม์ ยกย่องว่าเขาเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง[1][2]

มิยาซากิเริ่มทำงานที่ โตเอแอนิเมชัน ในตำแหน่งศิลปินคนกลาง ในการสร้างภาพยนตร์ Gulliver's Travels Beyond the Moon เขาได้เสนอความคิดที่เป็นฉากจบของเรื่องได้ในที่สุด มิยาซากิทำงานในหลายหน้าที่ในวงการอนิเมะชันราวสิบปีจนกระทั่งได้มีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ จอมโจรลูแปงที่ 3 ตอนปราสาทของคาริออสโตร ซึ่งเผยแพร่ใน พ.ศ. 2522 หลังจากความสำเร็จในภาพยนตร์เรื่องที่สอง มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม เขาจึงร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ซึ่งก็ได้ผลิตผลงานภาพยนตร์ของเขาออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเรื่องเจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (โมะโนะโนะเกะฮิเมะ, Princess Mononoke) มิยาซากิจึงเกษียณอายุงานตัวเองไปชั่วคราว หลังจากการพักช่วงสั้น ๆ มิยาซากิก็กลับมากำกับภาพยนตร์เรื่องมิติวิญญาณมหัศจรรย์ (เซ็น โทะ ชิฮิโระ โนะ คะมิกะกุชิ, Spirited Away) และผลิตภาพยนตร์ออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ภาพยนตร์ของมิยาซากิประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์และได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ในญี่ปุ่นเป็นเวลายาวนาน เขาไม่เป็นที่รู้จักมากนักในโลกตะวันตกจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2540 มิราแมกซ์ได้เผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องโมะโนะโนะเกะฮิเมะของเขาออกไป โมะโนะโนะเกะฮิเมะเคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในญี่ปุ่นแห่ง พ.ศ. 2540 จนกระทั่งไททานิคมาทำลายสถิติลง โมะโนะโนะเกะฮิเมะยังเป็นภาพยนตร์อนิเมะเรื่องแรกที่ได้รับรางวัล Picture of the Year จาก เจแปนีส-อคาเดมีอะวอร์ด Spirited Away ภาพยนตร์เรื่องถัดไปของเขาทำลายสถิติรายได้ของไททานิคในญี่ปุ่นลง และกวาดรางวัล พิกเจอร์ออฟเดอะเยียร์ จาก เจแปน-อคาเดมี่อะวอร์ด และเป็นภาพยนตร์อนิเมะเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ มิยาซากิยังมีผลงานภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย

ภาพยนตร์ของมิยาซากิมักจะมีแก่นเรื่องที่คล้ายคลึงกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและเทคโนโลยี หรือ ความยากลำบากในการดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมสันตินิยม ตัวละครเอกของเรื่องมักจะเป็นเด็กหญิงที่ห้าวหาญและเป็นอิสระ สะท้อนถึงความคิดสตรีนิยมของมิยาซากิ แนวคิดสังคมนิยมของมิยาซากิยังสะท้อนออกมาในภาพยนตร์ของเขาด้วย โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ มิยาซากิเป็นคนที่วิพากษ์ทุนนิยมและโลกาภิวัตน์อย่างเปิดเผยซึ่งอาจสังเกตได้จากงานภาพยนตร์ของเขาเช่นกัน[3] ในขณะที่ภาพยนตร์สองเรื่องของเขา จอมโจรลูแปงที่ 3 ตอนปราสาทของคาริออสโตร และ ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา นำเสนอตัวร้ายตามแบบฉบับทั่วไป ภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ของเขา เช่น มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม หรือ เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร มิได้นำเสนอตัวร้ายที่เลวร้ายอย่างชัดแจ้ง หากแต่มีข้อดีข้อเสียที่หักล้างกันไป

ภาพยนตร์

[แก้]

ผลงานส่วนใหญ่ของเขาประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำชื่นชมมาโดยตลอด ภาพยนตร์ของมิยาซากิมักเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ท่ามกลางภาพที่ยิ่งใหญ่และงดงามของธรรมชาติ รวมถึงการมองโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องเลวร้ายด้วยสายตาที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ มิยาซากิเริ่มทำงานกับสตูดิโอโตเอะ ในค.ศ. 1965 ซึ่งที่นี่เขาได้พบกับอิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสตูดิโอจิบลิในช่วงต่อมา ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขากำกับคือ จอมโจรลูแปงที่ 3 ตอนปราสาทของคาริออสโตร (The Castle of Cagliostro) (1979) ผลงานชิ้นถัดมาทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในวงการก็คือ เนาซิก้าแห่งหุบผาสายลม (Nausicaä of the Valley of Wind) ซึ่งสร้างมาจากนิยายภาพที่เขาเป็นผู้แต่งขึ้นเอง ความสำเร็จและการได้รับการตอบรับของเนาซิก้า ทำให้เขากับทาคาฮาตะได้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนด้านการเงินของกลุ่มสิ่งพิมพ์โทคุมะ

ผลงานเรื่องต่อมาของมิยาซากิซึ่งถือเป็นเรื่องแรกกับสตูดิโอจิบลิอย่างเป็นทางการคือ ลาพิวตา: คาสเซิลอินเดอะสกาย (Laputa: Castle in the Sky) (1986) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของเด็กชายหญิงคู่หนึ่งเพื่อตามหาปราสาทลอยฟ้าในตำนานลาพิวตา ได้รับการตอบรับจากผู้ชมไม่แพ้เนาซิก้า ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวภาพยนตร์ของมิยาซากิเกิดขึ้นใน โทนาริ โน โต๊ะโตะโระ (1988) เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิงสองคนพี่น้องกับตัวโต๊ะโตะโระ ไม่มีการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นที่ผู้ชมคาดหวังไว้เหมือนภาพยนตร์สองเรื่องก่อนหน้า โดยเน้นถึงการผจญภัยของเด็กสองคน ในโลกแห่งใหม่ เน้นที่ความเรียบง่ายและน่าประทับใจของเรื่องราว ทำให้เมื่อออกฉายครั้งแรกจึงไม่ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้มากนัก แต่กลับได้รับคำชมอย่างมากมายโดยเฉพาะจาก คุโรซะวะ อะกิระปรมาจารย์แห่งวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นถึงกับยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ที่เขาชื่นชอบ แต่อย่างไรก็ตามมิยาซากิก็กลับมาประสบความสำเร็จในแง่การตอบรับจากผู้ชมอีกครั้งด้วยภาพยนตร์ กิกิส์ดีลิเวอรีเซอร์วิส (Kiki's Delivery Service) เรื่องราวในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กหญิงสู่วัยรุ่นของแม่มดน้อยฝึกหัด ที่ต้องจากบ้านมาเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกกว้างด้วยตัวของเธอเอง

ภาพยนตร์เรื่องถัดมาของมิยาซากิคือ พอร์โค รอสโซ (Porco Rosso) เรื่องราวของนักบินในยุคสงครามในยุโรป หลังจากที่ถูกสาปให้เป็นหมู พอร์โคได้กลายมาเป็นนักล่าโจรสลัด เนื้อเรื่องค่อนข้างต่างออกไปจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ของเขา กล่าวคือ มิยาซากิยอมรับว่า พอร์โค รอสโซ คือ "หนังส่วนตัว" ของเขา ซึ่งสะท้อนถึง 2 สิ่งในความเป็นตัวมิยาซากิเองนั่นคือ ความหลงใหลในเครื่องบินโบราณ กับ หมู (มิยาซากิชอบวาดภาพล้อตนเองเป็นหมูเหมือนตัวเอกของหนัง พอร์โค รอสโซ) ความแตกต่างของเรื่องนี้จากเรื่องอื่น ๆ ก็คือตัวละครเอกไม่ได้เป็นเด็กผู้หญิงรวมถึงตัวหนังเองไม่น่าจะจัดประเภทให้เป็นภาพยนตร์สำหรับเด็กได้ เมื่อ พอร์โค รอสโซออกฉายประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมายของตัวเขาเองด้วย ต่อมาปี ค.ศ. 1997 มิยาซากิกำกับเรื่อง เจ้าหญิงโมะโนะโนะเกะ (Princess Mononoke) ภาพยนตร์ย้อนยุคที่ฉีกแนวไปใช้ ในยุคมุโระมะจิ ยุคญี่ปุ่นโบราณ เป็นฉากหลังซึ่งต่างไปจากภาพยนตร์แอนิเมชันญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ที่นิยมให้ท้องเรื่องอยู่ในโลกอนาคต เจ้าหญิงโมะโนะโนะเกะประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งคำชมเชยและรายได้ รวมถึงกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในขณะนั้น (ภายหลัง ไททานิค ได้ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทน) และส่งผลให้ชื่อของมิยาซากิกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในนานาประเทศ

มิยาซากิเคยประกาศจะหยุดกำกับภาพยนตร์ ก่อนจะเปลี่ยนใจมากำกับเรื่อง สปิริตเต็ดอเวย์ อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่พลัดหลงเข้าไปในดินแดนประหลาดของ เทพเจ้า ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถทำลายสถิติรายได้สูงสุดถึง 30.4 ล้ายเยน นำไททานิคได้ และได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมในปี ค.ศ. 2002

ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาคือ ฮาวล์สมูฟวิงแคสเสิล จากบทประพันธ์ของ ไดแอนา ไวนน์ โจนส์ เป็นเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งที่ถูกสาปให้เป็นหญิงชราแล้วต้องออกเดินทางหาพ่อมดผู้เป็นเจ้าของปราสาทเดินได้เพื่อถอนคำสาปให้ตน ฮาวล์สมูฟวิงแคสเสิลออกฉายในญี่ปุ่นปลายปี ค.ศ. 2004 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย และจะนำเข้าไปฉายในสหรัฐโดยดิสนีย์ในปี ค.ศ. 2005 หลังมิยาซากิหยุดพักการทำงานแอนิเมชันอีกครั้ง เขาก็กลับมาสร้างผลงานชิ้นล่าสุด โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย ซึ่งทำให้สตูดิโอจิบลิกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง หลังกระแสตอบรับที่ไม่ดีนักกับภาพยนตร์อนิเมะที่กำกับโดยบุตรชาย

มังงะ

[แก้]

ชื่อของมิยาซากิมักถูกอ้างถึงในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน ทั้งที่จริง ๆ แล้วตัวเขาเองก็มีผลงานนิยายภาพที่เป็นที่รู้จักไม่แพ้ภาพยนตร์ นั่นคือมังงะหรือนิยายภาพเรื่อง เนาซิก้าแห่งหุบผาสายลม มิยาซากิเขียนเรื่องนี้เป็นมังงะก่อน ขณะที่เขาไม่มีงานทางทีวีและภาพยนตร์ เมื่อ เนาซิก้าแห่งหุบผาสายลมตีพิมพ์ไปได้ประมาณ 1 ปีก็เริ่มเป็นที่นิยม ทางนิตยสารอะนิเมจ (Animage) จึงขอให้มิยาซากินำมาทำเป็นภาพยนตร์ (ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยขอไว้ว่าอย่าทำเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์) เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย (เนื้อหาอ้างอิงประมาณ เล่มที่ 1 และ 2 ของการ์ตูน) และประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งสตูดิโอจิบลิในเวลาต่อมา ระหว่างที่เขากำกับภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ มิยาซากิก็ยังเขียนเนาซิก้าอย่างต่อเนื่องใช้เวลาเกือบ 13 ปี กว่าที่เขาจะตัดสินใจจบการ์ตูนชุดนี้ลง ทั้งนั้นทั้งนี้เนื้อหาของเนาซิก้า ในฉบับการ์ตูนจะแตกต่างไปจากฉบับภาพยนตร์มาก ทั้งในแง่ความซับซ้อนของเรื่องและความคิดของผู้ประพันธ์เอง ถือได้ว่าเนาซิก้า ฉบับนิยายภาพ (7 เล่ม) เป็นงานที่มีสะท้อนตัวตนและความคิดของมิยาซากิได้มากที่สุด

ขณะที่ผลงานมังงะเรื่องอื่น ๆ (หรือจริง ๆ แล้วควรเรียกว่า "บทความภาพ" อาจเหมาะสมกว่า) ของมิยาซากิก็มี People of the Desert, Journey of Shuna(เป็นต้นแบบของ Princess Momonoke), Daydream Data Note (การ์ตูนสั้น ๆ เกี่ยวกับเครื่องบิน, เรือรบ, รถถัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเรื่อง "The Age of Seaplane" ที่เป็นต้นฉบับของ Porco Rosso), Tiger in the Mud, Returns of Huns, To My Sister (การ์ตูนสั้น 8 หน้าจบ) รวมถึงการเขียนภาพหน้าปกให้กับหนังสือวรรณกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีผลงานรวมเล่มภาพสตอรี่บอร์ดที่มิยาซากิเขียนไว้ตั้งแต่สมัยทำงานทีวีอยู่ด้วย

รายชื่อผลงาน

[แก้]
มิยาซากิที่งาน ซานดิเอโก คอมิก-คอน อินเตอร์เนชั่นแนล 2009

ผู้กำกับภาพยนตร์, นักเขียนบทภาพยนตร์ และสตอรี่บอร์ด

[แก้]

ภาพยนตร์ที่กำกับ/เขียนบทโดยมิยาซากิ

[แก้]

ภาพยนตร์สั้น

[แก้]

ผลงานอื่น

[แก้]

ผลตอบรับ

[แก้]

ผลตอบรับ ทั้งคำวิจารณ์และรายได้ จากการกำกับภาพยนตร์ทั้งหมด 10 เรื่องของ ฮายาโอะ มิยาซากิ

ปี เรื่อง รอตเทนโทเมโทส์[6] เมทาคริติก[7] ทุนสร้าง รายได้ทั่วโลก
1984 มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม 89% (8.20/10) (18 รีวิว) 86 (7 รีวิว) $1,000,000 $2,340,981
1986 ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา 96% (7.50/10) (26 รีวิว) 78 (7 รีวิว) $3,300,000 $15,542,039
1988 โทโทโร่เพื่อนรัก 94% (8.40/10) (53 รีวิว) 86 (15 รีวิว) $3,700,000 $45,140,200
1989 แม่มดน้อยกิกิ 98% (8.10/10) (41 รีวิว) 83 (15 รีวิว) $6,900,000 $48,150,365
1992 พอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน 95% (8.10/10) (20 รีวิว) 83 (11 รีวิว) $9,200,000 $58,990,641
1997 เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร 93% (8.00/10) (110 รีวิว) 76 (29 รีวิว) $23,500,000 $169,785,704
2001 มิติวิญญาณมหัศจรรย์ 97% (8.60/10) (188 รีวิว) 96 (41 รีวิว) $19,000,000 $355,475,917
2004 ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ 87% (7.50/10) (181 รีวิว) 80 (40 รีวิว) $24,000,000 $236,214,446
2008 โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย 91% (7.60/10) (172 รีวิว) 86 (29 รีวิว) $34,000,000 $204,826,668
2013 ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก 88% (7.90/10) (179 รีวิว) 83 (41 รีวิว) $30,000,000 $136,533,257
เฉลี่ย และ รวม 93% (8.00/10) 84 $154.6 ล้าน $1,273,000,218

0–59% คำวิจารณ์ที่นักวิจารณ์ไม่ชอบ 60–100% คำวิจารณ์ที่นักวิจารณ์ชอบ

สีแดง 0–19 คำวิจารณ์ที่นักวิจารณ์ไม่ชอบเลย 20–39 คำวิจารณ์ที่นักวิจารณ์ไม่ชอบ สีส้ม 40–60 คำวิจารณ์ที่นักวิจารณ์ให้ปานกลาง สีเขียว 61–80 คำวิจารณ์ที่นักวิจารณ์ชอบ 81–100 คำวิจารณ์ที่นักวิจารณ์ชอบมาก

$ ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Tim Morrison (2006-11-13). "Hayao Miyazaki: In an era of high-tech wizardry, the anime auteur makes magic the old way". Time Asia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-22. สืบค้นเมื่อ 2007-02-19.
  2. Lee, Stan (2005-04-18). "The 2005 TIME 100: Hayao Miyazaki". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-08. สืบค้นเมื่อ 2009-07-15.
  3. [1] เก็บถาวร 2008-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 30th of November, A NEPPU INTERVIEW WITH MIYAZAKI HAYAO.
  4. Coranto Archive
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-06. สืบค้นเมื่อ 2011-02-08.
  6. "ฮายาโอะ มิยาซากิ". รอตเทนโทเมโทส์.
  7. "ฮายาโอะ มิยาซากิ". เมทาคริติก.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]