ข้ามไปเนื้อหา

จักรวรรดิดัตช์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Dutch Empire)
จักรวรรดิอาณานิคมดัตช์

Nederlandse koloniale rijk
ค.ศ. 1602–ค.ศ. 1975
ธงชาติจักรวรรดิดัตช์
ธงชาติ
แผนที่แสดงอาณานิคมของจักรวรรดิดัตช์และสถานีการค้าที่เกี่ยวข้อง สีเขียวอ่อนคือดินแดนที่ถูกปกครองโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ส่วนสีเขียวเข้มถูกปกครองโดยบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ ประเทศในปัจจุบัน  เนเธอร์แลนด์  เบลเยียม  บราซิล  กานา  กายอานา  อินเดีย  อินโดนีเซีย  ญี่ปุ่น  ลักเซมเบิร์ก  มาเลเซีย  มอริเชียส  แอฟริกาใต้  ศรีลังกา  ซูรินาม  ไทย  ไต้หวัน  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา
แผนที่แสดงอาณานิคมของจักรวรรดิดัตช์และสถานีการค้าที่เกี่ยวข้อง สีเขียวอ่อนคือดินแดนที่ถูกปกครองโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ส่วนสีเขียวเข้มถูกปกครองโดยบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์
สถานะจักรวรรดิ
เมืองหลวงอัมสเตอร์ดัม
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 1602
• การยึดครองเกาะอัมบน
ค.ศ. 1605
• เข้าปกครองอินโดนีเซีย
ค.ศ. 1800
• เสียอินโดนีเซีย
ค.ศ. 1949
ค.ศ. 1962
• ปาปัวนิวกินีประกาศเอกราช
ค.ศ. 1975

จักรวรรดิอาณานิคมดัตช์ (ดัตช์: Nederlandse koloniale rijk) เป็นหนึ่งในจักรวรรดิอาณานิคมของโลกที่เป็นดินแดนโพ้นทะเลของสาธารณรัฐดัตช์ซึ่งได้ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิสเปน และเป็นมหาอำนาจทางทะเลเช่นเดียวกับ สเปน โปรตุเกสและสหราชอาณาจักร ประกอบด้วยดินแดนโพ้นทะเลและสถานีการค้าที่ควบคุมโดยบริษัทเอกชนของดัตช์ (ส่วนใหญ่คือบริษัทอินเดียตะวันตกและบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์) ซึ่งต่อมาควบคุมโดยสาธารณรัฐดัตช์ และราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ตามลำดับ[1] ในช่วงแรก อาณานิคมของดัตช์เริ่มต้นมาจากจุดประสงค์ทางการค้ามากกว่าการขยายอาณาเขตดินแดน มีการสร้างป้อมปราการริมฝั่ง โรงงาน ท่าเรือ และไม่ครอบครองพื้นที่มากนักเพื่อเลี่ยงการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็นในการบริหารอาณานิคม[2] เน้นการแลกเปลี่ยนค้าขายกับชนพื้นเมืองดั้งเดิม ยกเว้นในเคปโคโลนี(ปัจจุบันคือแอฟริกาใต้)และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์(ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย)ที่มีการขยายอาณาเขตเข้าไปในดินแดนเพื่อปกครองชาวอาณานิคม

ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมต่อเรือของชาวดัตช์มีส่วนสำคัญในการขยายอาณาจักรการค้าระหว่างยุโรปกับโลกตะวันออก แต่เดิมนั้นบริษัทการค้าในยุโรปมีขนาดเล็ก ไม่มีเงินทุนและกำลังคนมากพอที่จะดำเนินงานในระดับใหญ่ รัฐสภาเนเธอร์แลนด์มอบสิทธิ์ขาดให้บริษัทเอกชนคือคือบริษัทอินเดียตะวันตกและบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ดำเนินการค้า โดยมีอำนาจสูงเกือบเทียบเท่ารัฐบาล มีความสามารถที่จะเข้าร่วมสงคราม สั่งจำคุกประประหารชีวิตนักโทษ เจรจาสนธิสัญญา และจัดตั้งอาณานิคมเองได้[3] นับว่าเป็นบริษัทการค้าทางทะเลที่ใหญ่และกว้างขวางมากที่สุดในขณะนั้น[4] ขยายเส้นทางการค้าไปถึงทวีปอเมริกาใต้ผ่านช่องแคบมาเจลลันทางตะวันออกของแอฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮป มีเงินทุนไหลเวียนมหาศาล ทำให้กรุงอัมสเตอร์ดัมก็ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป จนมีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนถือให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศระบอบทุนนิยมประเทศแรกของโลก[5] นำมาสู่ยุครุ่งเรืองที่เรียกว่า ยุคทองของเนเธอร์แลนด์ในศตวรรษที่ 17[6]

แต่เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิดัตช์เริ่มเสื่อมลงจากผลของสงครามอังกฤษ-ดัตช์ครั้งที่ 4 ในช่วงปี ค.ศ. 1780 ถึง 1784 เป็นผลให้จักรวรรดิดัตช์สูญเสียอาณานิคมจำนวนมากให้กับจักรวรรดิบริติช[7] และมาเสียดินแดนเป็นบริเวณกว้างช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการเรียกร้องเอกราชในดินแดนอาณานิคมทั่วโลก

จุดเริ่มต้น (ค.ศ. 1543-1602)

[แก้]

จุดเริ่มต้นของจักรวรรดิดัตช์มาจากการรวมตัวเป็นสหอาณาจักรของรัฐในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำกำเนิดเป็นกลุ่มสิบเจ็ดมณฑล ขึ้นตรงต่อการปกครองโดยตรงของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1543 ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติดัตช์โดยชาวโปรเตสแตนท์ขึ้นในปี ค.ศ. 1566 เพื่อการเป็นอิสระต่อการปกครองของสเปนที่เป็นโรมันคาทอลิก และนำไปสู่สงครามแปดสิบปี เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ได้ประกาศเอกราชของเนเธอร์แลนด์และก่อตั้งสาธารณรัฐดัตช์ขึ้นในปี ค.ศ. 1581 แต่ไม่ได้รับการรับรองจากสเปนจนกระทั่งปี ค.ศ. 1648 ที่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลียที่มีการลงนาม ยุติสงครามสามสิบปี สงครามแปดสิบปี และรับรองเอกราชของสาธารณรัฐดัตช์อย่างเป็นทางการ

จังหวัดฮอลแลนด์และเซลันด์ของสาธารณรัฐเริ่มมีบทบาททางการค้าทางทะเลมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยู่ใต้การปกครองของสเปน เนื่องจากทะเลที่ตั้งประจวบเหมาะที่จะเป็นจุดผ่านของสินค้าไปยังฝรั่งเศส สก็อตแลนด์ เยอรมนี อังกฤษ และรัฐบอลติก เมื่อเกิดสงครามกับสเปน พ่อค้าที่มั่งคั่งและช่างฝีมือที่ส่วนใหญ่ชาวโปรเตสแตนท์ได้อพยพจากแอนต์เวิร์ปขึ้นเหนือไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัมจนกลายมาเป็นศูนย์กลางการลงทุน ธนาคาร และการต่อเรือแห่งใหม่ จำนวนทุนที่มากขึ้นทำให้ชาวดัตช์ขยายเส้นทางการค้าจากเดิมจำกัดอยู่แค่เพื่อนบ้านในยุโรปเหนือไปสู่การเปิดเส้นทางใหม่สู่ทะเลเมดิเตอเรเนียนและลิแวนต์ และในช่วงทศวรรษที่ 1590 ชาวดัตช์เริ่มค้าขายกับบราซิล โกลด์โคสต์ในแอฟริกา และเปิดเส้นทางใหม่สู่มหาสมุทรอินเดีย อันเป็นแหล่งค้าเครื่องเทศที่สำคัญ โดยเมื่อปี ค.ศ. 1594 มีการก่อตั้งคอมปานญีฟานแฟร์เรอ (บริษัทเพื่อแดนไกล) ขึ้นที่อัมสเตอร์ดัม มีเป้าหมายจะส่งกองเรือสองลำไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศมาลูกู กองเรือออกสู่มหาสมุทรครั้งแรกในปี 1596 กลับมาในปี 1594 บรรทุกพริกไทยกลับมาเต็มลำ แม้การเดินทางครั้งแรกจะเท่าทุน แต่ก็ช่วยยืนยันการมีอยู่และความเป็นไปได้ในการทำการค้ากับหมู่เกาะเครื่องเทศ นำไปสู่การเดินเรือครั้งที่สองในปี 1598 ถึง 1599 นำเครื่องเทศกลับมาอีกครั้งและทำกำไรครั้งนี้สูงถึง 400 เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จครั้งนี้นำไปสู่การก่อตั้งบริษัทอีกหลายแห่งเพื่อแข่งขันทางการค้า

การเปิดเส้นทางการค้าสู่โลกตะวันออกนี้เป็นการรุกล้ำอิทธิพลของโปรตุเกสที่กำลังเติบโตเป็นมหาอำนาจค้าขายกับตะวันออกไกลในขณะนั้น เมื่อกษัตริย์ของโปรตุเกสสวรรคตและไม่มีพระราชโอรสสืบทอดราชสมบัติ โปรตุเกสได้ผนวกรวมกับสเปน ดังนั้น ความขัดแย้งกับโปรตุเกสจึงกลายเป็นความขัดแย้งกับสเปนโดยปริยาย สงครามระหว่างดัตช์กับโปรตุเกสทำให้อาณาจักรสเปนต้องแบ่งทั้งงบประมาณและกำลังพลที่ใช้ในการต่อสู้กับชาวดัตช์ในผืนแผ่นดินใหญ่ในสงครามประกาสอิสรภาพ มาต่อสู้กับชาวดัตช์ในดินแดนโพ้นทะเลอีกด้วย

การเรืองอำนาจของชาวดัตช์ (ค.ศ. 1602-1652)

[แก้]

เมื่อมีบริษัทเกิดขึ้นมากมายหลังจากที่กองเรือบรรทุกเครื่องเทศกลับมายังสาธารณรัฐและทำกำไรมหาศาล ผลประโยชน์จากการค้าจึงลดลงไปเนื่องจากการแข่งขันไปทำให้ต้นทุนเครื่องเทศที่ต้นทางในอินโดนีเซียมีราคาสูงขึ้น ปัญหาระหว่างบริษัทนี้นำไปสู่การก่อตั้งสหบริษัทอินเดียตะวันออก (ดัตช์: Verenigde Oost-Indische Compagnie หรือย่อเป็น VOC) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1602 โดยบริษัทได้สิทธิ์ขาดจากรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ในการทำการค้าและสำรวจเป็นเวลา 21 ปีกับดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของแหลมกู๊ดโฮปและทางตะวันตกของช่องแคบมาเจลลัน ผู้อำนวยการคนแรกของบริษัท คือ เฮเรินที่ 17 ได้รับอำนาจในการสร้างป้อมปราการ ลงนามในสนธิสัญญา จัดตั้งกองกำลังทหารทางบกและทะเล และทำสงครามป้องกันผลประโยชน์ บริษัทได้ออกขายใบหุ้นคล้ายกับระบบของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษแต่เปิดขายให้กับสาธารณชนด้วย มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาซื้อใบหุ้นเพื่อร่วมลงทุนกับบริษัทอย่างท่วมท้น ต่อมาในปี ค.ศ. 1621 ได้มีการก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันตกแห่งเนเธอร์แลนด์ขึ้นเพื่อทำการค้ากับส่วนอื่นของโลกที่ไม่ได้ทับซ้อนกับบริษัทอินเดียตะวันออกโดยหลักๆอยู่ในทะเลแอตแลนติก ทวีปอเมริกา และฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา โดยได้รับสิทธิ์ขาดในการทำการค้า 25 ปี ชาวดัตช์ยังได้ตั้งสถานีการค้ากับอาณาจักรอยุธยาของสยามด้วยในปี ค.ศ. 1604 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ความขัดแย้งกับสเปนและโปรตุเกส

[แก้]
เซาหลุยส์ ในรัฐมารันเยา สมัยที่ชาวดัตช์ปกครองบราซิลบางส่วน
ชัยชนะของโปรตุเกสในยุทธการกัวราราเปสปิดฉากอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในบราซิล

สงครามระหว่างเนเธอร์แลนด์และสเปนไม่เพียงเป็นการสู้รบระหว่างชาวดัตช์และชาวสเปนในผืนแผ่นดินใหญ่เพื่อการเรียกร้องเอกราชเท่านั้น ยังเป็นการก่อสู้กับกองกำลังในสถานีการค้าและป้อมปราการในดินแดนโพ้นทะเลด้วย ชาวดัตช์เริ่มรุกรานอาณานิคมของสเปนและต่อมาของโปรตุเกสด้วย

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1517 ท่าเรือลิสบอนของโปรตุเกสเป็นตลาดสำคัญในการซื้อขายสินค้าที่มาจากอินเดียกับชาวยุโรป แต่หลังจากที่สเปนได้ผนวกรวมโปรตุเกสเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันภายใต้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คในปี ค.ศ. 1580 ดินแดนและตลาดของโปรตุเกสจึงกลายเป็นของสเปนด้วย ชาวดัตช์จึงตัดสินใจที่จะออกเดินทะเลด้วยตัวเองนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1595 เป็นต้นมา โดยพยายามใช้เส้นทางการค้าที่ชาวโปรตุเกสเก็บเป็นความลับ แต่คอร์เนลิส เด เฮาท์มัน นักสำรวจชาวดัตช์สืบหามาได้จากลิสบอน

การขยายเส้นทางการค้าของดัตช์ที่เริ่มไปไกลถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนกับผลประโยชน์กับสเปนและโปรตุเกสที่ได้รวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 บริษัทอินเดียตะวันตกเริ่มบุกโจมตีอาณานิคมของโปรตุเกสในบราซิลและแอฟริกาที่เป็นดินแดนค้าน้ำตาล

เอเชีย

[แก้]
ชุมชนหลักของชาวดัตช์และชาวโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1665

เมื่ออำนาจของจักรวรรดิโปรตุเกสเริ่มเสื่อมลงจากสงครามต่อเนื่อง บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์เริ่มทยอยยึดครองดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกสทีละเล็กละน้อย เพราะแต่ละดินแดนตั้งอยู่แยกกันและยากที่จะหากำลังเสริมหากถูกโจมตี ชาวดัตช์ยึดเกาะอัมบน(ในอินโดนีเซีย)จากโปรตุเกสได้ในปี ค.ศ. 1605 แต่ยึดมะละกาไม่สำเร็จ ชาวดัตช์ค้นพบว่าเกาะอัมบนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่เหมาะและใช้ประโยชน์จากลมมรสุมไม่ได้ จึงเสาะหาที่ตั้งฐานทัพแห่งใหม่จนกระทั่งมาพบจาการ์ตาที่ตอบโจทย์นี้ ยาน คูน นำกำลังเข้ายึดในปี ค.ศ.1619 ตั้งชื่อใหม่เป็นปัตตาเวีย และกลายมาเป็นเมืองหลวงของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ชาวดัตช์พยายามยึดดินแดนของโปรตุเกสต่อไปและยึดครองมะละกาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1641 ในการบุกครั้งที่สองเท่านั้น ตามมาด้วยการยึดโคลัมโบ (ค.ศ. 1656) ซีลอง (ค.ศ. 1658) นากาปัตตินัม (ค.ศ. 1662) แครงกานอร์และโกชิ (ค.ศ. 1662)

อย่างไรก็ตาม ชาวดัตช์ไม่สามารถยึดกัวอันเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโปรตุเกสทางตะวันออกได้หลังบุกโจมตีในปี ค.ศ. 1603 และ 1610 และการโจมตีมาเก๊าที่ชาวโปรตุเกสตั้งเป็นศูนย์กลางการผูกขาดการค้ากับจีนและญี่ปุ่นถึงสี่ครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลโชกุนของญี่ปุ่นเริ่มคลาแคลงใจสงสัยในการเผยแพร่ศาสนาของพระคาทอลิกชาวโปรตุเกสนำไปสู่การขับไล่ออกจากเกาะในปี ค.ศ. 1639 และเปลี่ยนมาให้สิทธิ์ขาดกับเนเธอร์แลนด์ทำการค้าขายกับญี่ปุ่น เป็นชาติตะวันตกเพียงชาติเดียวที่ได้สิทธิ์นี้ในยุคที่ญี่ปุ่นปิดประเทศในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1639 ถึง 1854) นอกจากนี้ ชาวดัตช์ยังได้สำรวจพบบริเวณตะวันตกของออสเตรเลียกลางศตวรรษที่ 17 ด้วย

ชาวดัตช์ยึดครองมอริเชียสได้ในปี ค.ศ. 1638 โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับเจ้าชายมอรีส​ แห่งราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา​ เจ้าผู้ครองดินแดนดัตช์ นับเป็นช่วงเวลาสี่สิบปีหลังจากที่กองเรือกองที่สองของเนเธอร์แลนด์ที่มาขนเครื่องเทศกลับไปขายในปี ค.ศ. 1598 อับปางด้วยพายุที่ดินแดนนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวดัตช์ได้สละเกาะนี้ไปเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่อำนวยในอีกหลายสิบปีต่อมา ส่วนทางตะวันออก ชาวดัตช์ได้ตั้งอาณานิคมที่ถาหยวน ทางตอนใต้ของไต้หวัน โดยในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสที่รู้จักกันในชื่อเกาะฟอร์โมซา ก่อนที่ชาวดัตช์จะยึดครองตอนเหนือของเกาะได้จากสเปนในปี ค.ศ. 1642 ความพยายามของเนเธอร์แลนด์ในการยึดครองฟิลิปปินส์จากสเปนในปี ค.ศ. 1646 นั้นเกือบจะประสบความสำเร็จแต่มาพลาดท่าในครั้งที่จะยึดมะนิลา จากนั้น ชาวดัตช์ก็ล้มเลิกความคิดที่จะยึดมะนิลาและฟิลิปปินส์อีก

โดยรวม ชาวดัตช์ส่งชาวยุโรปไปทำงานในเส้นทางการค้ากับเอเชียระหว่างปี ค.ศ. 1602 ถึง 1796 เกือบหนึ่งล้านคน หลายคนเสียชีวิตด้วยโรคภัยในการเดินทางกลับยุโรปแต่อีกหลายคนก็ปรับตัวเข้ากับดินแดนอาณานิคมได้ ชาวดัตช์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชาวพื้นเมืองในศรีลังกาและหมู่เกาะอินโดนีเซีย

อเมริกา

[แก้]
การยึดครองอาณานิคมของดัตช์โดยบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์

ในทะเลแอตแลนติกนั้น บริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์เน้นการขยายอำนาจไปยังดินแดนศูนย์กลางการค้าน้ำตาลและทาสแข่งกับจักรวรรดิโปรตุเกสและสเปน ชาวดัตช์ยึดบาเอียที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลได้ในปี ค.ศ. 1624 แต่ก็ถูกกองกำลังผสมสเปนโปรตุเกสยึดคืนได้ในปีถัดมา แม้โดยรวมแล้ว บริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์จะทำสงครามสู้รบกับอาณาจักรสเปนไม่ได้ แต่ปีเตอร์ เฮย์น พลเรือเอกของดัตช์โจมตีและจับกุมกองเรือของสเปนได้ในปี ค.ศ. 1628 แล้วส่งสินค้าและโลหะมีค่ากลับไปยังบริษัททำให้บริษัทอินเดียตะวันตกสามารถจ่ายเงินปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 70 ชาวดัตช์ยึดครองเปร์นัมบูกู ถิ่นการค้าน้ำตาลของโปรตุเกสได้ในปี ค.ศ. 1630 ตลอดจนโรงงานน้ำตาลที่อยู่รอบๆ และยึดเมืองเอลมินา ศูนย์กลางการค้าทาสได้จากโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1637 เพื่อป้อนแรงงานสู่อุตสาหกรรมน้ำตาล ส่วนในแอฟริกา ชาวดัตช์ยึดครองชุมชนโปรตุเกสในแองโกลาได้ในปี ค.ศ. 1641 และเมืองอาซิม(ปัจจุบันอยู่ในประเทศกานา)ได้ในปีต่อมา กล่าวได้ว่า ภายในปี ค.ศ. 1650 ชาวดัตช์สามารถยึดครองเส้นทางการค้าน้ำตาลและทาสได้อย่างมั่นคง และยังได้ยึดครองหมู่เกาะแคริบเบียน ได้แก่ ซินต์มาร์เติน กือราเซา อารูบา และโบแนเรอได้เพื่อครอบครองนาเกลือของหมู่เกาะ

แผนที่ของนิวเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1650

อย่างไรก็ตาม การยึดครองอาณานิคมในบราซิลและแอฟริกาจากมือของโปรตุเกสนั้นไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในเอเชียเพราะส่วนใหญ่มักจะยึดครองได้ไม่นานก็มักจะเสียไป โดยธรรมชาติแล้วชาวดัตช์เป็นพ่อค้ามากกว่าผู้ปกครองอาณานิคม ชาวโปรตุเกสหลายคนยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนโพ้นทะเลแม้จะเสียอำนาจการปกครองให้กับชาวดัตช์ ชุมชนโปรตุเกสในเปร์นัมบูกูก่อการกบฎขึ้นนปี ค.ศ. 1654 ขับชาวดัตช์ออกจากบราซิล และโปรตุเกสยังได้ส่งกองกำลังจากบราซิลไปยึดเมืองลูอันดา เมืองหลวงของแองโกลาคืนในปี ค.ศ. 1648 ขับไล่ชาวดัตช์ออกไปจากพื้นที่

ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ บริษัทนิวเนเธอร์แลนด์เข้ายึดครองพื้นที่บริเวณออลบานี ริมแม่น้ำฮัดสันได้ในปี ค.ศ. 1614 และครอบครองเป็นเวลาสี่ปีก่อนที่บริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์จะเข้ามาครอบครองกิจการ ชาวดัตช์ส่งกองเรือไปค้าขายขนสัตว์นับตั้งแต่เฮนรี ฮัดสัน นักเดินเรือชาวอังกฤษสำรวจค้นพบอ่าวฮัดสันเมื่อปี ค.ศ. 1609 อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งของออลบานีไม่ค่อยจะปลอดภัยนักเพราะอยู่ใกล้กับดินแดนที่อังกฤษและฝรั่งเศสครอบครองอยู่ จึงได้มีการย้ายลงมาสร้างเมืองป้อมปราการอยู่ที่นิวอัมสเตอร์ดัมในปี ค.ศ. 1625 ที่ปากแม่น้ำฮัดสันและส่งเสริมให้ประชาชนมาตั้งถิ่นฐานตามเกาะลองและรัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่โชคไม่ดีที่การค้าขนสัตว์ไม่ประสบความสำเร็จนัก การผูกขาดการค้าถูกทำลายด้วยการลักลอบค้าขาย ทำให้การตั้งอาณานิคมที่นิวเนเธอร์แลนด์ไม่ทำกำไร อย่างไรก็ดี ชาวดัตช์ได้ดินแดนเพิ่มเติมเมื่อสามารถยึดครองอาณานิคมของนิวสวีเดนริมแม่น้ำเดลาแวร์ได้ในปี ค.ศ. 1655

ในปี ค.ศ. 1643 บริษัทอินเดียตะวันตกของดัตช์ได้ตั้งอาณานิคมที่เมืองบัลดิเบีย ทางตอนใต้ของชิลีได้ในปี ค.ศ. 1643 เพื่อเปิดเส้นทางการขยายดินแดนสู่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งในยุคนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของสเปน เหตุผลหนึ่งของการยึดครองคือการเข้าถึงแหล่งทองคำที่สเปนเคยมาขุดค้นและนำแร่มีค่านี้กลับไปทำกำไรมหาศาลให้กับจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม ชาวพื้นเมืองที่เคยขับไล่กองทัพสเปนออกจากบัลดิเบียในปี ค.ศ. 1604 ก็ทำเช่นเดียวกันกับกองกำลังชาวดัตช์ ขับไล่ผู้รุกรานได้หลังจากการเข้ายึดครองเพียงไม่กี่เดือน หลังจากนั้นสเปนก็กลับมาที่บัลดิเบียอีกครั้งและสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งขึ้นที่เมืองนี้

แอฟริกาใต้

[แก้]
ภาพของอ่าวเทเบิล แอฟริกาใต้ โดยมีกองเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ประจำการ ในปี ค.ศ. 1683

บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์เป็นมหาอำนาจในการค้าเครื่องเทศและไหมช่วงกลางศตรรษที่ 17 มีการตั้งอาณานิคมที่แหลมกู๊ดโฮปในปี ค.ศ. 1652 เพื่อเป็นสถานีเสบียงสำหรับเรือสินค้าที่จะเดินทางไปยุโรปและเอเชีย ชาวดัตช์ย้ายถิ่นฐานมาที่แอฟริกาใต้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น รัฐยังสนับสนุนเงินทุนและยกเว้นภาษีให้กับชาวอาณานิคมแลกกับการผลิตอาหารเพื่อป้อนให้กับเรือที่ผ่านไปมา นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังนำเข้าแรงงานชาวยุโรปชาติอื่นอย่างเยอรมนีและชาวอูว์เกอโนในฝรั่งเศสเข้ามาเสริมแรงงานทาสหลายพันคนจากหม่เกาะอินเดียตะวันออกด้วย

อาณานิคมของชาวดัตช์ที่แหลมกู๊ดโฮปขยายตัวไปอย่างรวดเร็วจากการเป็นชุมชนเล็กๆสู่การตั้งเป็นอาณานิคมเคปโคโลนีในปี ค.ศ. 1778 ชาวดัตช์ปราบชนพื้นเมืองโคยซานและซานที่เคยอาศัยอยู่ที่เคปได้และยึดดินแดนของชนพื้นเมืองมาเป็นของตน แต่การขยายดินแดนไปทางตะวันออกนั้นถูกจำกัดเมื่อมาชนกับการขยายดินแดนสู่ตะวันตกของชนพื้นเมืองคอร์ซา รัฐบาลของดัตช์จึงได้เจรจากับหัวหน้าเผ่าคอร์ซาเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบที่ไม่จำเป็นและเพื่อแบ่งเขตดินแดน ตกลงกันว่าจะไม่รุกรานกัน แต่ข้อตกลงนี้มักถูกละเมิดอยู่บ่อยครั้ง เกิดเป็นสงครามที่ยืดเยื้อและยาวนานที่สุดในดินแดนอาณานิคมแอฟริกาใต้คือ สงครามคอร์ซา

การแข่งขันกับบริเตนใหญ่และฝรั่งเศส (ค.ศ. 1652-1795)

[แก้]

พระราชบัญญัติการเดินเรือที่รัฐสภาอังกฤษออกในปี ค.ศ. 1651 มีผลกระทบโดยตรงกับการเดินเรือของชาวดัตช์ในแถบทะเลแคริบเบียน นำมาสู่ความเป็นปฏิปักษ์ของทั้งสองประเทศในอีกหลายปีต่อมา เกิดเป็นสงครามอังกฤษ-ดัตช์หลายครั้ง นำมาซึ่งความเสื่อมของอำนาจทางทะเลของจักรวรรดิดัตช์

เริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1661 ราชวงศ์ชิงของจีนส่งนายพลมารุกรานเกาะฟอร์โมซาที่ดัตช์ยึดครองในตอนนั้น เฟรเดริค โคเย็ตต์ ผู้ว่าราชการของชาวดัตช์สามารถรักษาที่มั่นได้กว่า 9 เดือน ก่อนที่นายพลของจีนจะเอาชนะกองกำลังเสริมที่ดัตช์ส่งมาจากเกาะชวาได้ ทำให้ชาวดัตช์ขาดแคลนกำลังพล โคเย็ตต์จึงได้ถอนตัวจากเกาะฟอร์โมซา และไม่เคยกลับมายึดครองอีกเลย

สงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สองประทุขึ้นในปี ค.ศ. 1664 เมื่อชาวอังกฤษเคลื่อนพลเข้ายึดอาณานิคมนิวเนเธอร์แลนด์ แม้สงครามจะจบลงชัยชนะของเนเธอร์แลนด์ แต่เนเธอร์แลนด์ต้องยกอาณานิคมนิวเนเธอร์แลนด์ให้กับอังกฤษแลกกับอำนาจในการควบคุมโรงงานน้ำตาลในซูรินาม และได้โตบาโก ซินต์เอิสตาซียึส และสถานีการค้าในแอฟริกาตะวันตกมาครอบครองตามสนธิสัญญาเบรดาในปี ค.ศ. 1667 อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงในสนธิสัญญาไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายเท่าไหร่นัก นำมาสู่สงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สาม โดยชาวดัตช์พยายามจะยึดนิวเนเธอร์แลนด์คืน และทำสำเร็จในปี ค.ศ. 1673 แต่ก็เสียไปอีกครั้งในปีต่อมา จากนั้นชาวดัตช์ถอนตัวออกจากทวีปอเมริกาเหนืออย่างสิ้นเชิง แม้ชุมชนชาวดัตช์จะยังเข้มแข็งและรักษาธรรมเนียมวัฒนธรรมของตนได้อย่างเหนียวแน่นภายใต้การปกครองของอังกฤษจนถึงกลางศววรรษที่ 18 ส่วนในอเมริกาใต้ ชาวดัตช์ยึดครองกาเยินเน (ปัจจุบันคือเฟรนช์เกียนา) ได้ในปี ค.ศ. 1658 แต่มาเสียคืนให้กับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1664 เพราะอาณานิคมไม่ได้ทำกำไรให้กับเนเธอร์แลนด์เท่าใดนัก ชาวดัตช์ยึดครองคืนมาได้ในปี ค.ศ. 1676 แต่ก็เสียคืนไปอย่างถาวรในปีต่อมา

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปี ค.ศ. 1688 เป็นการปฏิวัติโค่นล้มราชบัลลังก์ของ สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ เจ้าชายวิลเลียมแห่งราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา ประสบความสำเร็จในการบุกยึดอังกฤษ ด้วยกองทัพเรือของเจ้าชายวิลเลียม ตามมาซึ่งการขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษเป็น พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษร่วมกับ สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษ การปฏิวัติครั้งนี้นำมาซึ่งเอกภาพในการครองราชบัลลังก์อังกฤษ สก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ จึงเป็นการยุติความขัดแย้งระหว่างเนเธอร์แลนด์และอังกฤษไปโดยปริยาย แต่ความเป็นปฏิปักษ์กับฝรั่งเศสยังคงอยู่

แต่ต่อมาในช่วงสงครามปฏิวัติอเมริกา บริเตนประกาศสงครามกับเนเธอร์แลนด์ และในสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สี่ บริเตนยึดครองเกาะซีลอน อาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ได้ แต่เมื่อสิ้นสงคราม สนธิสัญญาปารีสระบุว่าเกาะซีลอนตกเป็นของเนเธอร์แลนด์อีกครั้งแลกกับการเสียนากาปัตตินัมให้กับบริเตน ในปี ค.ศ. 1783

สมัยนโปเลียน (ค.ศ. 1795-1815)

[แก้]

กองกำลังปฏิวัติฝรั่งเศสเข้ายึดครองสาธารณรัฐดัตช์ในปี ค.ศ. 1795 ทำให้เนเธอร์แลนด์อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสในฐานะสาธารณรัฐปัตตาเวีย บริเตนซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสงครามกับฝรั่งเศสจึงได้เข้ายึดครองอาณานิคมของดัตช์ในเอเชีย แอฟริกาใต้ และทะเลแคริบเบียน

บริเตนและฝรั่งเศสได้ลงนามกันในสนธิสัญญาอาเมียง โดยเคปโคโลนีและหมู่เกาะของบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ที่บริเตนยึดมาได้จะถูกคืนให้กับสาธารณรัฐปัตตาเวีย เกาะซีลอนตกเป็นของจักรวรรดิบริติช และเมื่อบริเตนกับฝรั่งเศสแตกหักกันในปี ค.ศ. 1803 กองกำลังบริติชเข้ายึดครองเคปโคโลนีได้อีกครั้ง และบริเตนเข้ายึดครองเกาะชวาได้ในปี ค.ศ. 1811

ในปี ค.ศ. 1806 จักรพรรดินโปเลียนยุบสาธารณรัฐปัตตาเวียและตั้งราชวงศ์ของหลุยส์ โบนาปาร์ต พระอนุชาของพระองค์เป็นกษัตริย์ปกครองเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์นี้อยู่ได้ไม่นานเมื่อมีการยุบเลิกและให้เนเธอร์แลนด์ตกอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสโดยตรงในฐานะจังหวัดเมื่อปี ค.ศ. 1810 ซึ่งระบบนี้คงอยู่ได้สามปี ฝรั่งเศสก็เพี่ยงพล้ำในสงครามนำมาซึ่งอิสรภาพของเนเธอร์แลนด์ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1814 โดยอาณานิคมที่บริเตนเคยยึดไปก่อนหน้านี้ถูกโอนคืนให้กับเนเธอร์แลนด์ ยกเว้นเคปโคโลนี กายอานา และศรีลังกา

หลังสมัยนโปเลียน (ค.ศ. 1815-1945)

[แก้]
แผนที่การขยายอำนาจของเนเธอร์แลนด์ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย
แผนที่อาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ประมาณปี ค.ศ. 1840 ทั้งในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก กือราเซา ซูรินาม และโกลด์โคสต์

ผลจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนามีการแบ่งเส้นพรมแดนยุโรปใหม่ เบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ผนวกรวมกันอีกครั้งเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1815 ก่อนที่เบลเยียมจะแยกประเทศออกไปในปี ค.ศ. 1830

บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ที่ล้มละลายไปในช่วงสงครามนโปเลียนถูกกู้คืนและปลดหนี้ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1800 และดินแดนต่างๆถูกรวมเป็นชาติของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ แต่การแข่งขันล่าอาณานิคมของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะที่สิงคโปร์ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษยึดครองสิงคโปร์ได้ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านแห่งยะโฮร์ แต่เนเธอร์แลนด์ชี้ว่าได้มีการทำสนธิสัญญากับสุลต่านพระองค์ก่อนไปแล้วที่ได้ให้ชาวดัตช์มีอำนาจควบคุมสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องนี้กลับไม่เป็นผล สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญและมีชาวบริติชเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากไปแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะอพยพย้ายออกไป เนเธอร์แลนด์มองเห็นปัญหานี้จึงได้เจรจาและลงนามในสนธิสัญญาอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1824 โดยเนเธอร์แลนด์เสียเมืองมะละกาให้กับจักรวรรดิบริติชและยอมรับการครอบครองของบริเตนเหนือสิงคโปร์ ส่วนบริเตนจะคืนเบิงโกเลิน(ปัจจุบันคือจังหวัดเบิงกูลูในเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย)ให้กับเนเธอร์แลนด์และจะไม่เซ็นสนธิสัญญาใดๆกับผู้ปกครองของเกาะต่างๆทางตอนใต้ของช่องแคบสิงคโปร์อีก ดังนั้น ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงถูกแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน โดยอังกฤษครอบครองดินแดนจนถึงคาบสมุทรมลายู ส่วนชาวดัตช์ครองครองหมู่เกาะอินโดนีเซีย

ในอดีต บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ไม่ได้ครอบครองพื้นที่ของอินโดนีเซียมากนัก แต่เริ่มมาขยายดินแดนอย่างจริงจังในศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีการขยายอาณาเขตมาจนถึงราวๆชายแดนของอินโดนีเซียในปัจจุบัน แต่เดิม ประชาชนจะอาศัยอยู่แค่ในเกาะชวา อันเป็นบริเวณเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนพื้นที่อื่นๆในอาเจะฮ์ ลมบก บาหลี บอร์เนียว นั้นยังเป็นเอกราช

ส่วนทางตะวันตกนั้น ดัตช์ได้ขายดินแดนโกลด์โคสต์ (ปัจจุบันคือดินแดนประเทศกานา) ให้กับอังกฤษ และได้ยุบบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1791 ส่วนอาณานิคมในซูรินามและในทะเลแคริบเบียนเปลี่ยนมาขึ้นตรงต่อรัฐบาลเนเธอร์แลนด์โดยตรง เศรษฐกิจของอาณานิคมดัตช์ในแคริบเบียนเคยขึ้นอยู่กับการลักลอบค้าทาสก็ได้รับผลกระทบโดยตรงเมื่อมีการประกาศเลิกทาสในปี ค.ศ. 1814 และการประกาศเอกราชของหลายประเทศในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้จากการปกครองของสเปน เศรษฐกิจของอาณานิคมในทะเลแคริบเบียนถดถอยอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวดัตช์อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาและประเทศในอเมริกาใต้ เหลือเพียงประชากรส่วนน้อยที่ยังปักหลักอยู่ที่เดิมและต้องคอยรับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ การเลิกทาสในดินแดนแถบนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า ผู้ครองทาสเรียกร้องเงินชดเชยจากรัฐบาลเพื่อการปลดปล่อยทาสทีละเล็กละน้อย ก่อนจะมีการนำแรงงานจีนเข้ามาแทนที่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

การปลดปล่อยอาณานิคม (ค.ศ. 1945-1975)

[แก้]

อินโดนีเซีย

[แก้]
ประธานาธิบดีซูการ์โน ผู้นำเรียกร้องเอกราชของอินโดนีเซีย

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติขึ้น มีกลุ่มชาตินิยมอินโดนีเซียดำเนินการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช แต่ก็ถูกชาวดัตช์ผู้ปกครองปราบปรามลงได้อย่างสงบ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นเข้ารุกรานหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ชาวดัตช์ยอมจำนนในอีกสองเดือนต่อมาที่ชวา ชาวอินโดนีเซียยอมเข้าร่วมกับญี่ปุ่นเพราะมองว่าเป็นผู้มาปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนกลุ่มชาตินิยมโดยมีซูการ์โนเป็นผู้นำ

สองวันหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข ซูการ์โนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ชาตินิยมได้ประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1945 แต่ทางการเนเธอร์แลนด์ไม่ได้เห็นด้วย นำกำลังเข้าโจมตีชาวอาณานิคมหวังจะเข้าปกครองดังเดิม แต่กลับถูกนานาชาติคัดค้าน จนกระทั่งเดือนธันวาคม ค.ศ. 1949 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้เจรจาและประกาศรับรองเอกราชของอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ แต่ชาวดัตช์ยังครอบครองดินแดนทางตะวันตกของเกาะนิวกินีอยู่และปกครองในชื่อนิวกินีของเนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซียได้เรียกร้องและกดดันให้เนเธอร์แลนด์คืนดินแดนทั้งหมด และสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกดดันด้วย เนเธอร์แลนด์จึงได้ยกให้กับอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการจากข้อตกลงนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ. 1962

ซูรินามและเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส

[แก้]
ชาวอาณานิคมในซูรินาม ปี ค.ศ. 1920 ชาวยุโรปส่วนใหญ่กลับเนเธอร์แลนด์หลังซูรินามได้อิสรภาพในปี ค.ศ. 1975

ในปี ค.ศ. 1954 มีการออกกฎบัตรราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประกาศให้เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม และเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส(รวมถึงอารูบา)เป็นรัฐรวม ในชื่อ ราชอาณาจักรไตรภาคีเนเธอร์แลนด์ (Tripartite Kingdom of the Netherlands) อดีตอาณานิคมในอเมริกาใต้และแคริบเบียนได้รับสิทธิ์ในการปกครองตนเองยกเว้นเรื่องการป้องกันประเทศ การต่างประเทศ และสิทธิพลเมืองที่เป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง กระทั่งในปี ค.ศ. 1969 มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชในกือราเซา กองทัพเรือของเนเธอร์แลนด์ส่งกองกำลังเข้าปราบปราม กระทั่งมีการเปิดเจรจาสันติภาพกันกับซูรินามในปี ค.ศ. 1973 และรับรองเอกราชของซูรินามอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1975 ประชาชนกว่า 60,000 คนอพยพไปอยู่ในเนเธอร์แลนด์

ต่อมาในปี ค.ศ. 2010 เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีสถูกยุบอย่างเป็นทางการ ซาบา ซินต์มาร์เติน และซินต์เอิสตาซียึส ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะเทศบาลพิเศษของประเทศ หรือที่เรียกกันว่า เนเธอร์แลนด์แคริบเบียน ส่วนเกาะอื่นๆอย่างกือราเซาและซินต์มาร์เตินแยกออกไปเป็นประเทศเอกราช แต่อยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์องค์เดียวกันกับเนเธอร์แลนด์ ภายใต้ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

วิวัฒนาการของจักรวรรดิ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Israel, Jonathan (2003). Empires and Entrepots: Dutch, the Spanish Monarchy and the Jews, 1585–1713. London: Hambledon Press. pp. x–xii. ISBN 978-1852850227.
  2. Andre du Toit & Hermann Giliomee. Afrikaner Political Thought: Analysis and Documents, Volume One (1780–1850) (1983 ed.). Claremont: David Philip (Pty) Ltd. pp. 1–305. ISBN 0908396716.
  3. Ames, Glenn J. (2008). The Globe Encompassed: The Age of European Discovery, 1500–1700. pp. 102–103.
  4. Hunt, John (2005). Campbell, Heather-Ann (บ.ก.). Dutch South Africa: Early Settlers at the Cape, 1652–1708. Philadelphia: University of Pennsylvania Press. pp. 2–13. ISBN 978-1904744955.
  5. http://jirat-b-fluke.blogspot.com/2012/05/blog-post.html
  6. Hsin-Hui, Chiu (2008). The Colonial 'civilizing Process' in Dutch Formosa: 1624–1662. Leiden: Tuta Sub Aegide Pallas. pp. 3–8. ISBN 978-9004165076.
  7. Indrajit Ray (2011). Bengal Industries and the British Industrial Revolution (1757-1857). Routledge. pp. 57, 90, 174. ISBN 978-1-136-82552-1.

ดูเพิ่ม

[แก้]