ข้ามไปเนื้อหา

อัมสเตอร์ดัม

พิกัด: 52°22′23″N 4°53′32″E / 52.37306°N 4.89222°E / 52.37306; 4.89222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Amsterdam)
อัมสเตอร์ดัม
นครและเทศบาล
ธงของอัมสเตอร์ดัม
ธง
ตราราชการของอัมสเตอร์ดัม
ตราอาร์ม
คำขวัญ: 
Heldhaftig, Vastberaden, Barmhartig
(กล้าหาญ, แน่วแน่, มีเมตตา)
ที่ตั้งกรุงอัมสเตอร์ดัมในประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่ตั้งกรุงอัมสเตอร์ดัมในประเทศเนเธอร์แลนด์
พิกัด: 52°22′23″N 4°53′32″E / 52.37306°N 4.89222°E / 52.37306; 4.89222
ประเทศเนเธอร์แลนด์
จังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์
เขตCentrum (กลาง)
Noord (เหนือ)
West (ตะวันตก)
Nieuw-West (ตะวันตก-ใหม่)
Zuid (ใต้)
Oost (ตะวันออก)
Zuidoost (ใต้-ตะวันออก)
Westpoort (ประตูตะวันตก)
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีเฟมเกอ ฮัลเซอมา (GL)
พื้นที่[1][2]
 • นครและเทศบาล219 ตร.กม. (85 ตร.ไมล์)
 • พื้นดิน166 ตร.กม. (64 ตร.ไมล์)
 • พื้นน้ำ53 ตร.กม. (20 ตร.ไมล์)
 • รวมปริมณฑล1,815 ตร.กม. (701 ตร.ไมล์)
ความสูง[1]2 เมตร (7 ฟุต)
ประชากร
 (กุมภาพันธ์ 2560)[2]
 • นครและเทศบาล851,573 คน
 • ความหนาแน่น3,506 คน/ตร.กม. (9,080 คน/ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง1,351,587 คน
 • รวมปริมณฑล2,289,762 คน
 • Randstad7,891,564
เขตเวลาCET (UTC+01)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)CEST (UTC+02)
รหัสไปรษณีย์1011–1109
รหัสพื้นที่020
เว็บไซต์www.amsterdam.nl

อัมสเตอร์ดัม (ดัตช์: Amsterdam ออกเสียง: [ˌɑmstərˈdɑm]) เป็นเมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอัมสเติล จังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ ปัจจุบันเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์ มีประชากรในเขตตัวเมืองประมาณ 872,680 คน[3] แต่ถ้านับรวมประชากรในเขตเมืองโดยรอบทั้งหมด จะมีประมาณ 1,380,872 ล้านคน[4] (ข้อมูลปี ค.ศ. 2019)

ชื่อของอัมสเตอร์ดัมมาจากคำว่า อัมสเติลเรอดัมเมอ (Amstelredamme) หมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ริมเขื่อนของแม่น้ำอัมสเติล[5] มีประวัติศาสตร์เริ่มต้นจากการเป็นหมู่บ้านชาวประมงในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ก่อนจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และการเดินเรือที่สำคัญในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17[6] ซึ่งเป็นช่วงยุคทองของเนเธอร์แลนด์ และขยายตัวออกไปอีกในศตวรรษที่ 19 และ 20 แต่ระบบคลองที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 ยังได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับองค์การยูเนสโก

ปัจจุบัน อัมสเตอร์ดัมเป็นศูนย์การการค้าและการเงิน และเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของของเนเธอร์แลนด์[7] แต่ศูนย์กลางของหน่วยงานรัฐบาลนั้นอยู่ที่เฮก บริษัทยักษ์ใหญ่ของเนเธอร์แลนด์มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม เช่น ฟิลิปส์ อักโซโนเบิล โตมโตม และไอเอ็นจี[8] ส่วนบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็มีสำนักงานใหญ่สาขายุโรปอยู่ในอัมสเตอร์ดัมเช่นกัน เช่น อูเบอร์ เน็ตฟลิกซ์ และเทสลามอเตอร์ส[9]

อัมสเตอร์ดัมเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮล ท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมาเป็นอันดับ 3 ของยุโรป และที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ ไรกส์มิวเซียม พิพิธภัณฑ์ฟันโคค พิพิธภัณฑ์สเตเดไลก์ และบ้านอันเนอ ฟรังค์ ทั้งยังเป็นบ้านของผู้มีชื่อเสียงหลายคน ทั้งแร็มบรันต์ ฟินเซนต์ ฟัน โคค บารุค สปิโนซา และอันเนอ ฟรังค์ จึงมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมกว่า 5 ล้านคนต่อปี[10] เข้าไปผ่อเฟสบุคกษัตย์น้ำแข็งหนะ ตรวจก้าว่าอะไรเหรอ ไม่เรียนหนังสือ หรือ จะเป็นใหญ่

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ยุคกลางและการปฏิวัติ

[แก้]
โบสถ์เก่า (เอาเดอแกร็ก) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1306

เมื่อเทียบกับเมืองเก่าแก่ในเนเธอร์แลนด์อย่างไนเมเคิน รอตเทอร์ดาม และยูเทรกต์แล้ว อัมสเตอร์ดัมถือเป็นเมืองที่อายุน้อยกว่ามาก นักประวัติศาสตร์ระบุว่าพื้นที่รอบๆอัมสเตอร์ดัมเกิดขึ้นราวๆปลายคริสต์ศตวรรษ 10 จากการผันน้ำทะเลออก ก่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม[11] จนเติบโตและยกระดับเป็นเมืองเมื่อราว ค.ศ. 1300 หรือ 1306[12] จากนั้น ในศตวรรษที่ 14 อัมสเตอร์ดัมเติบโตขึ้นมาจากความสำเร็จในค้าขายกับสันนิบาตฮันเซอ

ต่อมาในศตวรรษที่ 16 เนเธอร์แลนด์ก่อการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน เนื่องจากระบบเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมและการไต่สวนทางศาสนาต่อต้านนิกายโปรเตสแตนท์อย่างรุนแรง การปฏิวัตินำไปสู่สงคราม 80 ปีกับสเปนแและการจัดตั้งสาธารณรัฐดัตช์[13] เป็นเอกราชต่อการปกครองของสเปน มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ทำให้ชาวยิวจากคาบสมุทรไอบีเรีย ชาวอูว์เกอโนจากฝรั่งเศส พ่อค้า จิตรกร และผู้ลี้ภัยศาสนาจากฟลานเดอร์สทางตอนใต้ของกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ อพยพเข้ามาอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม การย้ายถิ่นครั้งใหญ่นี้ทำให้อัมสเตอร์ดัมเติบโตขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าของยุโรป ทั้งยังเปิดกว้างรับแนวคิดภูมิปัญญาที่หลากหลาย มีเสรีภาพทางสื่ออย่างสูง[14]

ศูนย์กลางของเนเธอร์แลนด์ในช่วงยุคทอง

[แก้]
ชาวเมืองอัมสเตอร์ดัมเฉลิมฉลองการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย รับรองเอกราชของเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1648

ในช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงที่เรียกว่ายุคทองของเนเธอร์แลนด์ จากการรุ่งเรืองของการค้าขายและการขยายอิทธิพลใหญ่ของจักรวรรดิดัตช์ไปจนถึงอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา และอินเดีย(ในปัจจุบัน) อัมสเตอร์ดัมเป็นศูนย์กลางการระดมทุนของพ่อค้า[15]ผู้หวังจะทำกำไรจากบริษัทอินเดียตะวันออกและบริษัทอินเดียตะวันตกของเนเธอร์แลนด์[16] ผู้ผูกขาดการค้ากับชาวอาณานิคมในดินแดนโพ้นทะเล มีการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่เปิดขายหุ้นต่อสาธารณชนเมื่อปี ค.ศ. 1602[17] และก่อตั้งธนาคารแห่งอัมสเตอร์ดัมเพื่อให้บริการเต็มรูปแบบแก่พ่อค้าชาวดัตช์ในปี ค.ศ. 1609 และเป็นแหล่งทุนสำรองของประเทศไปพร้อมๆกัน

การเสื่อมและยุคใหม่

[แก้]

ความรุ่งเรืองของอัมสเตอร์ดัมถึงคราวต้องสะดุดในศตวรรษที่ 18 และ 19 จากผลพวงของสงครามระหว่างสาธารณรัฐดัตช์กับอังกฤษและฝรั่งเศสหลายต่อหลายครั้ง จนมาถึงจุดตกต่ำที่สุดเมื่อเนเธอร์แลนด์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิฝรั่งเศสในสมัยของจักรพรรดินโปเลียน เมื่อฝรั่งเศสเสื่อมอำนาจลง ได้มีการสถาปนาสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ขึ้นในปี ค.ศ. 1815 อันเป็นจุดเปลี่ยนผันกลับอีกครั้ง

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นจุดที่เป็นยุคทองยุคที่สองของอัมสเตอร์ดัมอีกครั้งเมื่อมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว[18] มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ สถานีรถไฟ และโรงคอนเสิร์ตขึ้นใหม่หลายแห่ง และในขณะเดียวกันก็เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมพร้อมๆกันทั่วประเทศ มีการขุดคลองเชื่อมระหว่างอัมสเตอร์ดัมกับแม่น้ำไรน์และทะเลเหนือโดยตรง ทำให้การค้าของอัมสเตอร์ดัมกับต่างประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง

คริสต์ศตวรรษที่ 20 และ 21

[แก้]

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เนเธอร์แลนด์มีนโยบายเป็นกลาง แม้อัมสเตอร์ดัมจะไม่ถูกโจมตีแต่ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงจนเกิดการจลาจลทั่วเมือง มีการบุกปล้นร้านค้าและโกดังหลายแห่งและมีผู้เสียชีวิตหลายรายจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ย่านดัมสแควร์ ในกลางกรุงอัมสเตอร์ดัม ช่วงต้นศตวรรษที่ 20

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี ค.ศ. 1916 มีการปรับผังเมืองโดยรวมเอาเมืองดูร์เกร์ดัม โฮลีสโลต ซุนเดร์โดร์ป สเคลลิงเวาเดอ ยอร์ดัน และเฟรเดริก เฮนดริกบูร์ตเข้ากับอัมสเตอร์ดัม[19][20]

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเยอรมนีบุกยึดเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 และปกครองประเทศ กวาดต้อนชาวยิวเข้าไปใช้แรงงานที่ค่ายกักกันของนาซีจำนวนกว่า 100,000 คนโดยกว่า 60,000 คนในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในอัมสเตอร์ดัม รวมถึง อันเนอ ฟรังค์ หญิงสาวชาวยิวผู้มีชื่อเสียงจากการบันทึกของเธอที่เขียนขึ้นก่อนจะโดนนาซีจับกุมตัวไปและเสียชีวิตที่ค่ายกักกันก่อนสงครามโลกสิ้นสุด[21] หลังสงครามสงบ ระบบโทรคมนาคมยังใช้การไม่ได้ อาหารและเชื้อเพลิงยังขาดแคลน ชาวเมืองหลายคนต้องเดินทางออกสู่ต่างจังหวัดเพื่อหาอาหาร กล่าวกันว่ามีการนำสุนัข แมว หัวผักกาดหวาน หรือแม้แต่หัวดอกทิวลิปมาปรุงอาหารเพื่อความอยู่รอด ต้นไม้ในอัมสเตอร์ดัมถูกโค่นเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง[22]

ย่านโอสโดร์ป สโลเตร์ฟาร์ต สโลเตร์เมร์ และเกอเซ็นเฟลด์ ถูกสร้างขึ้นแถบชานเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[23] โดยมีสวนสาธารณะและพื้นที่เปิดแทรกอยู่ทั่วไป บ้านเรือนสมัยใหม่ก่อสร้างขึ้น สงครามทำให้เมืองได้รับความเสียหายหนัก สภาพสังคมอัมสเตอร์ดัมจึงเปลี่ยนใหม่ นักการเมืองและผู้มีอำนาจรื้อแผนเมืองขึ้นมาวางระบบใหม่ นำไปสู่การก่อสร้างอาคารสำนักงานที่ทันสมัยจำนวนมาก ตลอดจนถนนสายใหม่[24] รถไฟใต้ดินสายแรกที่เปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1977 ตลอดจนมีแผนสร้างทางด่วนพิเศษเชื่อมใจกลางเมืองกับส่วนอื่นของเมือง ย่านที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิวถูกรื้อถอนเพื่อสร้างชุมชนใหม่ ขยายการรื้อถอนออกไปเรื่อยๆตามการขยายตัวของเมืองจนบางครั้งนำมาซึ่งความไม่พอใจของชาวเมือง[25] ออกมาประท้วงหลายครั้ง เป็นผลให้แผนการสร้างทางด่วนพิเศษต้องยุบเลิกไป การปรับโครงสร้างเมืองมีความรอบคอบมากขึ้นและค่อยเป็นค่อยไป พื้นที่ใจกลางเมืองโดยเฉพาะภายในเขตคลองทั้งสามชั้นได้รับการอนุรักษ์จนต่อมาได้ขึ้นทะเบียนกลายเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก[26]

ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 อัมสเตอร์ดัมกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยมีมากถึง 17 ล้านคนต่อปี ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้น[27] มีการสร้างรถไฟใต้ดินส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดิน ขยับขยายเมืองออกสู่บริเวณชานเมืองตามแผนการสร้างอัมสเตอร์ดัมรูปแบบใหม่ให้เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2040[28][29]

ภูมิศาสตร์

[แก้]
แผนภาพแสดงพื้นที่อัมสเตอร์ดัมและชานเมือง ค.ศ. 2014
แผนภาพแสดงใจกลางเมืองอัมสเตอร์ดัมและจุดท่องเที่ยวที่สำคัญข้อมูลเมื่อ เมษายน 2017

อัมสเตอร์ดัมตั้งอยู่ทางตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ในจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ แม้จะเป็นเมืองหลวงของประเทศแต่เมืองหลวงของจังหวัดนี้คือฮาร์เลม แม่น้ำอัมสเติลเป็นแม่น้ำหนักที่เริ่มต้นที่ใจกลางเมือง เชื่อมต่อคลองต่างๆและไหลหลงสู่ทะเลสาบไอ อัมสเตอร์ดัมอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 2 เมตร[1] พื้นที่โดยรอบค่อนข้างต่ำ มีป่าเทียมอัมสเตอร์ดัมเซอโบสทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง เชื่อมต่อกับทะเลเหนือผ่านทางคลองทะเลเหนือ

อัมสเตอร์ดัมเป็นมหานครที่มีการพัฒนาพื้นที่เมืองสูง มีพื้นที่ 219.4 ตารางกิโลเมตร มีชาวเมืองอาศัยอยู่ 4,457 คนต่อตารางกิโลเมตรและมีบ้าน 2,275 หลังต่อตารางกิโลเมตร[30] มีพื้นที่สีเขียวคิดเป็นร้อยละ 12 ของแผ่นดินอัมสเตอร์ดัม[31]

น้ำ

[แก้]

อัมสเตอร์ดัมมีคลองยาวรวมกันกว่า 100 กิโลเมตร ทำให้สามารถสัญจรได้โดยเรือ คลองหลักสามคลองของเมืองได้แก่ ปรินเซินคราชท์ เฮเรินคราชท์ และเกเซอร์สคราชท์ ไหลผ่านใจกลางของเมือง

อัมสเตอร์ดัมในยุคกลางถูกล้อมรอบด้วยคูเมืองที่เรียกว่า ซิงเกล นับเป็นคลองชั้นในสุดของเมือง ทำให้ใจกลางของเมืองมีลักษณะคล้ายเกือกม้า พื้นที่อัมสเตอร์ดัมมีลักษณะเป็นเกาะแก่งด้วยการตัดผ่านของคลอง นับรวมกันได้กว่า 90 เกาะ มีสะพานมากกว่า 1,200 แห่ง[32]

ภูมิอากาศ

[แก้]

อัมสเตอร์ดัมมีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทร[33] ได้รับอิทธิพลจากทะเลเหนือทางทิศตะวันตกค่อนข้างมาก ฤดูหนาวมีอากาศเย็นและฤดูร้อยมีอากาศอบอุ่น อุณหภูมิแปรเปลี่ยนตลอดทั้งปี บางครั้งมีหิมะในฤดูหนาวและมีอากาศร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 838 มิลลิเมตรต่อปี[34] มักเป็นฝนปรอยๆ ช่วงฤดูหนาวตั้งแต่ตุลาคมจนถึงมีนาคมท้องฟ้ามักปกคลุมด้วยเมฆและหมอก

ประชากร

[แก้]

การเติบโตของจำนวนประชากร

[แก้]

เมื่อปี ค.ศ. 1300 อัมสเตอร์ดัมมีประชากรเพียง 1,000 คน[35] ได้จำนวนได้พุ่งสูงขึ้นมากในคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 จากการค้าขายธัญพืชกับสันนิบาตฮันเซอ[36] แต่ยังเล็กกว่าเมืองใหญ่ในฟลานเดอร์สและบราบันต์ ที่อยู่ในกลุ่มประเทศต่ำเช่นกัน[37] แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของสเปนและการเสียแอนต์เวิร์ปให้กับสเปนในปี ค.ศ. 1585 ผู้คนหลั่งไหลมาอยู่ในอัมสเตอร์ดัมทั้งมาจากสเปน โปรตุเกส ยุโรปตะวันออก เยอรมนี และสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะชาวยิว[38] จำนวนประชากรจากปี ค.ศ. 1585 (ราว 41,000 คน) เพิ่มเป็นเท่าตัวในปี ค.ศ. 1610 (ราว 82,000 คน) จนเมื่อสาธารณรัฐได้เอกราช ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คนราว ค.ศ. 1660[39] จนมาคงตัวที่ตัวเลข 240,000 คนตลอดช่วงศตวรรษที่ 18[40]

ในปี ค.ศ. 1750 อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยุโรปรองจากลอนดอน ปารีส และเนเปิลส์[41] นับเป็นการขยายตัวของเมืองที่น่าสนใจเพราะอัมสเตอร์ดัมไม่ได้เป็นศูนย์กลางของรัฐบาลและอาณาจักรของเนเธอร์แลนด์ก็มีขนาดเล็กกว่าของอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือจักรวรรดิออตโตมันมาก

จำนวนประชากรเริ่มหดตัวในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ลงมาเหลือ 200,000 คนในปี ค.ศ. 1820[42][43] ก่อนที่จะกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชากรของอัมสเตอร์ดัมแตะ 872,000 คนเมื่อปี ค.ศ. 1959[44] ก่อนจะลดลงมาเล็กน้อยหลังจากที่รัฐบาลสนับสนุนการขยายตัวของเมืองในบริเวณชานเมืองและเมืองรอบข้าง ทำให้ชาวอัมสเตอร์ดัมย้ายออกไปอยู่ปืร์เมอเร็นด์และอัลเมเรอเป็นจำนวนมาก[45][46][47][45] จนกระทั่งปี ค.ศ. 1985 อัมสเตอร์ดัมเหลือประชากร 675,570 คน[48] ก่อนจะมีการปรับโครงสร้างเมืองอีกครั้ง เมืองเติบโตขึ้นและเกิดการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในอัมสเตอร์ดัมอีกระลอก[49][50] ปัจจุบัน มีผู้อพยพต่างชาติเข้ามาอยู่มากขึ้น จนมีประชากรมากกว่า 872,680 คน ในปี ค.ศ. 2019[51]

การอพยพย้ายถิ่น

[แก้]

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ผู้อพยพย้ายถิ่นมาอยู่อัมสเตอร์ดัมส่วนใหญ่คือชาวอูว์เกอโน ชาวฟลานเดอร์ส ชาวยิวเซฟาร์ดี และชาวแคว้นเว็สท์ฟาเลิน สามกลุ่มแรกเป็นผู้อพยพหนีภัยศาสนา ส่วนชาวเว็สต์ฟาเลินนั้นอพยพเพื่อการค้าขายเป็นหลัก อัมสเตอร์ดัมมีผู้อพยพย้ายเข้ามาอยู่เรื่อยมาในศตวรรษที่ 18 และ 19 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะมีการกวาดต้อนชาวยิวไปใช้แรงงานและสังหารหมู่ที่ค่ายกักกันโดยนาซีเยอรมนี คิดเป็นราวๆร้อยละ 10 ของประชากรทั้งเมือง[52]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดการย้ายถิ่นครั้งใหญ่ครั้งแรกเมื่อหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ประกาศเอกราชกลายเป็นประเทศอินโดนีเซียราวๆทศวรรษที่ 1940 และ 1940 จากนั้นในทศวรรษที่ 1960 มีแรงงานอพยพจากตุรกี โมร็อกโก อิตาลี และสเปนย้ายเข้ามาหางานทำในอัมสเตอร์ดัม ต่อด้วยการอพยพหลังการประกาศเอกราชของประเทศซูรินามที่ผู้อพยพย้ายเข้ามาอาศัยในแถบไบล์เมอร์

นอกจากนี้ยังผู้ลี้ภัยและผู้หลบหนีเข้าเมืองจากยุโรป อเมริกา เอเชีย และแอฟริกา ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น ทำให้ชาวอัมสเตอร์ดัมที่อยู่มาก่อนเริ่มอพยพไปยังเมืองใหม่ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ย้ายมาอยู่อย่างปืร์เมอเร็นด์และอัลเมเรอในช่วงทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 กลุ่มคนทำงานและศิลปินจึงย้ายเข้าไปอยู่ยังย่านเดอไปป์และยอร์ดันที่เป็นแหล่งที่อยู่เก่าของกลุ่มผู้ย้ายออก ผู้อพยพที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกมักอาศัยอยู่ตามอาคารเคหะที่รัฐบาลจัดหาให้ซึ่งอยู่ที่ย่านตะวันตกและย่านไบล์เมอร์ ปัจจุบันชาวอัมสเตอร์ดัมที่สืบเชื้อสายมาจากเชื้อสายอื่นๆที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกมีมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด[53][54][55] ในขณะเดียวกัน เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มีพ่อแม่เป็นชาวดัตช์ดั้งเดิมมีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น[56] ผู้มีเชื้อสายต่างชาติส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในย่านนิวเว็สท์ เซบืร์ค ไบล์เมอร์ และบางส่วนของอัมสเตอร์ดัมโนร์ด[57][58]

ปัจจุบัน ชาวเมืองอัมสเตอร์ดัมมาจาก 180 ประเทศ[59] เป็นหนึ่งในเมืองที่มีสัญชาติของประชากรหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[60]

ทิวทัศน์และสถาปัตยกรรม

[แก้]
ทิวทัศน์ของใจกลางเมืองเมื่อมองจากอาคารโอสเตอร์โดกสกาเดอไปทางตะวันตกเฉียงใต้

ลักษณะของอัมสเตอร์ดัมเป็นเหมือนเมืองที่กระจายตัวออกเป็นพัดโบราณโดยมีจุดกึ่งกลางอยู่ที่สถานีรถไฟอัมสเตอร์ดัมเซ็นทราลและถนนดัมรัก บริเวณเมืองเก่าคือย่านที่เรียกว่า เดอวัลเลิน (หมายถึง ท่าเรือ) โดยอยู่ทางตะวันออกของถนนดัมรักและมีย่านเรดไลท์ซ่อนอยู่ ทางตอนใต้ของเดอวัลเลินเคยเป็นชุมชนของชาวยิวที่เรียกว่า วาเตอร์โลเพลน

อัมสเตอร์ดัมเมืองเก่าถูกล้อมรอบด้วยคลองสามชั้น ถัดออกไปเป็นย่านยอร์ดันและเดอไปป์ที่เคยเป็นย่านกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทางใต้มีมิวเซียมเพลนที่มีพิพิธภัณฑ์สำคัญตั้งเรียงรายและโฟนเดิลปาร์กที่กว้างใหญ่ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับโยสต์ ฟันเดนโฟนเดิล พื้นที่หลายเขตของอัมสเตอร์ดัมเคยเป็นผืนน้ำมาก่อนและถูกผันน้ำออกเพื่อสร้างเป็นผืนดินการเกษตร สังเกตได้จากการมีคำว่า "เมร์" (meer) ต่อท้ายชื่อ ซึ่งหมายถึง ทะเลสาบ นั่นเอง

คลอง

[แก้]
เฮเรินคราชท์
ปรินเซินคราชท์

ระบบคลองในอัมสเตอร์ดัมเกิดจากการวางผังเมืองที่มีแบบแผนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17[61] พื้นที่ภายในคูคลองทั้งสามชั้นเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเมือง คลองทั้งสามได้แก่ เฮเรินคราชท์ (คลองของลอร์ดผู้ปกครองอัมสเตอร์ดัม) เกเซอร์สคราชท์ (คลองของจักรพรรดิ) และปรินเซินคราชท์ (คลองของเจ้าชาย)[62] นอกจากนี้ยังมีคลองชั้นที่สี่ที่เป็นเหมือนการเรียกรวมๆคลองรอบนอกว่า ซิงเกลคราชท์ (แต่ไม่ใช่คลองซิงเกลที่เป็นคลองดั้งเดิมที่อยู่ใจกลางเมือง)

คลองทำหน้าที่เป็นด่านปราการ ระบบจัดการน้ำ และเส้นทางขนส่งของชาวเมือง มีการสร้างคันดินและเขื่อนดินบริเวณจุดสำคัญของเมืองพร้อมด้วยประตู[63] เริ่มการขุดคลองเมื่อปี ค.ศ. 1613 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1656 และมีการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเรื่อยมา แต่เดิมมีการวางแผนให้ขุดคลองทางตะวันออกเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมกับแม่น้ำอัมสเติลและอ่าวไอแต่ได้ล้มเลิกแผนไป อย่างไรก็ตาม ในช่งปลายปีที่ผ่านมามีการถมคลองและก่อสร้างขึ้นเป็นถนนและจัตุรัสต่างๆ เช่นที่นิวเวอไซด์สโฟร์บูร์กวัล และ สเปา[64]

การขยายเมือง

[แก้]

หลังจากมีการพัฒนาระบบคลองในศตวรรษที่ 17 การพัฒนาเมืองของอัมสเตอร์ดัมไม่เคยเกินรัศมีของของคลองเป็นเวลาเกือบสองศตวรรษ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซามูเอล ซาร์ปาตี นักวางผังเมืองได้วางผังของอัมสเตอร์ดัมใหม่โดยดูแบบของปารีสและลอนดอนเป็นหลัก ผังเมืองใหม่ส่งเสริมให้มีการสร้างบ้านเรือน อาคาร และถนนนอกอาณาเขตคลองสามชั้นของอัมสเตอร์ดัมเพื่อพัฒนาสุขอนามัยของชาวเมือง แม้แผนจะไม่ได้ทำให้เมืองเติบโตเท่าไหร่นักแต่ได้มีการสร้างอาคารสาธารณะขนาดใหญ่บริเวณรอบนอก เช่นอาคารปาเลสโฟร์โฟล์กสไฟลท์ (Paleis voor Volksvlijt) อันเป็นหอแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่ถูกไฟไหม้เมื่อปี ค.ศ. 1929[65][66][67]

ต่อมา อัมสเตอร์ดัมได้ว่าจ้าง ยาโคบุส ฟันนิฟตริก และยัน กาล์ฟฟ์ ออกแบบบริเวณพื้นที่วงแหวนรอบนอกรอบอัมสเตอร์ดัม พื้นที่เหล่านี้กลายมาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเวลาต่อมา[68]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการสร้างเมืองใหม่ทางตะวันตก ทางตะวันออกเฉียงใต้ และทางเหนือของอัมสเตอร์ดัมเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของชาวเมือง ให้คนมีบ้านในงบประมาณที่เข้าถึงได้ ย่านที่อยู่อาศัยเหล่านี้มักเป็นอาคารชุด มีพื้นที่สีเขียวอยู่ตรงกลางชุมชน เชื่อมต่อด้วยถนนกว้าง สัญจรด้วยรถยนต์สะดวก

สถาปัตยกรรม

[แก้]
อาคารสเคปฟาร์ตเฮาส์ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในรูปแบบโรงเรียนอัมสเตอร์ดัม ออกแบบโดยโยฮัน ฟันเดร์เมย์

สถาปัตยกรรมในอัมสเตอร์ดัมมีประวัติศาสตร์ยาวนาน อาคารที่เก่าแก่ที่สุดคือเอาเดอแกร็ก (โบสถ์เก่า) ใจกลางย่านเดอวัลเลิน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1306 ส่วนอาคารไม้ที่เก่าแก่ที่สุดคือ เฮ็ทเฮาเติเฮยส์ (Het Houten Huys) ใกลักับย่านเบไคน์โฮฟ[69] ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1425 และเป็นหนึ่งในสองอาคารไม้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันและมีสถาปัตยกรรมแบบกอทิก

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีการรื้อถอนอาคารไม้และสร้างอาคารอิฐแทนที่ มีการก่อสร้างตึกในรูปสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจั่วของหลังคาที่เป็นแบบขั้นบันได สถาปนิกที่โด่งดังในยุคนี้คือเฮนดริก เดอเกย์เซอร์ ผู้ออกแบบเว็สเตอร์แกร็ก (โบสถ์ตะวันตก)[70] จากนั้นในศตวรรษที่ 17 สถาปัตยกรรมบาโรกได้รับความนิยมทั่วยุโรป ประจวบเหมาะกับช่วงเวลายุคทองของเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์มั่งคั่งไปด้วยการค้า สถาปัตยกรรมที่เน้นความโอ่งโถงหรูหรานี้จึงได้รับเสียงตอบรับดีจากชาวเมืองอัมสเตอร์ดัม สถาปนิกที่โดดเด่นในยุคนี้ได้แก ยาค็อบ ฟันคัมเพิน ฟิลิปส์ ฟิงโบนส์ และดาเนียล สตัลแปร์ต[71] นอกจากฟิลิปส์ ฟิงโบนส์จะออกแบบบ้านให้กับพ่อค้าผู้มั่งคั่งแล้วยังเป็นผู้ออกแบบอาคารสำคัญในอัมสเตอร์ดัมอีกมากมาย เช่น พระราชวังหลวงที่ดัมสแควร์ใจกลางเมือง

ต่อมาในศตวรรษที่ 18 สถาปัตยกรรมของเนเธอร์แลนด์ได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศสค่อนข้างมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1815 หลังเนเธอร์แลนด์ได้รับเอกราชต่อการปกครองของจักรวรรดิฝรั่งเศส สถาปัตยกรรมก็เปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ (นีโอ)[72] อาคารโกทิกกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก ก่อนที่ศิลปะแบบอาร์นูโว ที่เน้นรูปแบบธรรมชาติจะได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่อัมสเตอร์ดัมขยายเมืองอย่างรวดเร็ว อาคารสมัยใหม่จึงมีสถาปัตยกรรมแบบนี้ เช่น บ้านเรือนแถบมิวเซียมเพลน

ห้องสมุดสาธารณะอัมสเตอร์ดัม หนึ่งในตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 21

จากนั้น สถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโคที่เน้นการผสนผสานศิลปะหลากหลายรูปแบบ มีความเป็นสมัยใหม่และมีประโยชน์ทางการใช้สอย เข้ามามีบทบาทในการสร้างอาคารสมัยใหม่ในอัมสเตอร์ดัม มีการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เรียกว่า โรงเรียนอัมสเตอร์ดัม (Amsterdamse School) ซึ่งเน้นโครงสร้างอิฐ มีการตกแต่งที่เด่นชัด และบางครั้งมีหน้าต่างและประตูรูปทรงแปลก

โดยรวมแล้ว อาคารสมัยเก่ามักกระจุกรวมอยู่ที่บริเวณใจกลางเมือง ส่วนเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 นั้นจะกระจายอยู่รอบนอก

สวนสาธารณะ

[แก้]

อัมสเตอร์ดัมมีสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว และจัตุรัสอยู่ทั่วเมือง โฟนเดิลปาร์กเป็นสวนที่ใหญ่ที่สุดของเมืองโดยตั้งอยู่ทางใต้ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับโยสต์ ฟันเดนโฟนเดิล กวีผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 17 มีผู้เยี่ยมชมกว่า 10 ล้านคนต่อปี ภายในสวนยังมีโรงละครกลางแจ้ง นอกจากนี้ ทางใต้ของอัมสเตอร์ดัมยังมีสวนเบียทริกซ์ปาร์ก ที่ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ มีการปลูกป่าอัมสเตอร์ดัมเซอโบสทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง เป็นพื้นที่นันทนาการที่ใหญ่ที่สุดของอัมสเตอร์ดัม มีขนาดราวๆ 3 เท่าของเซ็นทรัลปาร์กในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา[73]

เศรษฐกิจ

[แก้]
ตลาดหลักทรัพย์อัมสเตอร์ดัม ตลาดหลักทรัพย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองหลวงทางการเงินและธุรกิจของเนเธอร์แลนด์[74] ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองธุรกิจระหว่างประเทศอันดับที่ 5 ของยุโรปรองจากลอนดอน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต และบาร์เซโลนา[75] บริษัทขนาดใหญ่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อัมสเตอร์ดัม เช่น อักโซโนเบิล ไฮเนอเกิน ไอเอ็นจี อาเบเอ็นอัมโร โตมโตม เดลตาลอยด์ บุคกิงดอตคอม และฟิลิปส์ บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเลือกที่จะตั้งสำนักงานอยู่รอบนอกอัมสเตอร์ดัมเพราะเมืองรอบข้างอนุญาตให้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบเต็มรูปแบบ ส่วนอัมสเตอร์ดัมนั้นอนุญาตเพียงการให้เช่าที่ดินเท่านั้น

ย่านเซาดัสทางตอนใต้ของอัมสเตอร์ดัมเป็นแหล่งศูนย์กลางด้านการเงินแห่งใหม่ มีบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจหลายแห่งตั้งสำนักงานที่นี่[76] เช่น บอสตันคอนซัลติงกรุ๊ปและแอกเซนเจอร์ และยังมีย่านการเงินขนาดเล็กกว่าตั้งอยู่ในย่านใกล้สถานีรถไฟอัมสเตอร์ดัมสโลเทอร์ไดก์ ย่านใกล้สนามกีฬาโยฮัน ไกรฟฟ์อาเรนา และย่านใกล้สถานีรถไฟอัมสเตอร์ดัมอัมสเติลที่มีอาคารแร็มบรันด์ สำนักงานใหญ่ของฟิลิปส์ตั้งอยู่[77][78]

ท่าเรือและท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัม

[แก้]

ท่าเรืออัมสเตอร์ดัมเป็นท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยุโรปและอันดับ 38 ของโลกเมื่อวัดตามจำนวนบรรทุกในเมตริกตัน มีการขนส่งสินค้า 97.4 ล้านตันในปี ค.ศ. 2014 มีเรือสำราญเข้าจอดกว่า 150 ลำต่อปี

ส่วนท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮลเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ทีสุดของประเทศ เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์

การท่องเที่ยว

[แก้]
ย่านเดอวัลเลิน อันเก่าแก่ของอัมสเตอร์ดม[79]

อัมสเตอร์ดัมเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของยุโรป มีนักท่องเที่ยวกว่า 4.63 ล้านคนต่อปี[80] (โดยไม่นับรวมนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมเพียงรายวัน) จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โรงแรม 2 ใน 3 ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง โรงแรมระดับ 4-5 ดาวมีจำนวนเตียงราวร้อยละ 42 ของจำนวนเตียงทั้งหมด อัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 85 ในปี ค.ศ. 2017[81] [82] นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากยุโรป (ร้อยละ 74) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 14)[83]

ย่านเดอวัลเลินเป็นย่านที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว นอกจากจะเป็นเมืองเก่าแล้วยังเป็นย่านที่มีแหล่งค้าประเวณีที่ถูกกฎหมายในเนเธอร์แลนด์อันรู้จักในชื่อเรดไลท์

อัมสเตอร์ดัมมีแหล่งจับจ่ายซื้อสินค้าปลีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นถนนกัลเฟอร์สตราต ที่เป็นย่านการค้ามาตั้งแต่ยุคกลาง ถนนเนเคินสตราตเจอส์ (แปลว่า เก้าซอย) ถนนฮาร์เลมเมร์ไดก์ และถนนฮาร์เลมเมร์สตราต นอกจากนี้ยังมีตลาดกลางแจ้งอีกหลายแห่งที่จะคึกคักเป็นพิเศษในวันหยุดสุดสัปดาห์

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Kerncijfers voor Amsterdam en de stadsdelen". os.amsterdam.nl. Research and Statistics Service, City of Amsterdam. 1 January 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-23. สืบค้นเมื่อ 4 April 2007.
  2. 2.0 2.1 "Area, population density, dwelling density and average dwelling occupation". os.amsterdam.nl. Research and Statistics Service, City of Amsterdam. 1 January 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-23. สืบค้นเมื่อ 13 August 2008.
  3. https://opendata.cbs.nl/statline/#/CBS/nl/dataset/37230ned/table?ts=1578685738191
  4. "Bevolking op 1 januari en gemiddeld; geslacht, leeftijd en regio". CBS StatLine (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 1 March 2019.
  5. Encyclopædia Britannica Eleventh Edition, Vol 1, pp. 896–898.
  6. Cambridge.org, Capitals of Capital -A History of International Financial Centres – 1780–2005, Youssef Cassis, ISBN 978-0-521-84535-9
  7. After Athens in 1888 and Florence in 1986, Amsterdam was in 1986 chosen as the European Capital of Culture, confirming its eminent position in Europe and the Netherlands. See EC.europa.eu for an overview of the European cities and capitals of culture over the years. เก็บถาวร 14 ธันวาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. Forbes.com, Forbes Global 2000 Largest Companies – Dutch rankings.
  9. "The Next Global Tech Hotspot? Amsterdam Stakes Its Claim".
  10. "Amsterdam verwelkomde in 2014 ruim 5 miljoen buitenlandse toeristen – Amsterdam – PAROOL".
  11. "Amsterdam 200 jaar ouder dan aangenomen" (ภาษาดัตช์). Nu.nl. 22 October 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 October 2008. สืบค้นเมื่อ 22 October 2008.
  12. "De geschiedenis van Amsterdam" (ภาษาดัตช์). Municipality of Amsterdam. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 May 2008. สืบค้นเมื่อ 21 May 2008.
  13. "Eighty Years' War" (ภาษาดัตช์). Leiden University. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 May 2008. สืบค้นเมื่อ 21 May 2008.
  14. Case in point: After his trial and sentencing in Rome in 1633, Galileo chose Lodewijk Elzevir in Amsterdam to publish one of his finest works, Two New Sciences. See Wade Rowland (2003), Galileo's Mistake, A new look at the epic confrontation between Galileo and the Church, New York: Arcade Publishing, ISBN 1-55970-684-8, p. 260.
  15. Amsterdam in the 17th century เก็บถาวร 26 สิงหาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The University of North Carolina at Pembroke
  16. E. Haverkamp-Bergmann, Rembrandt; The Night Watch (New Jersey: Princeton University Press, 1982), p. 57
  17. "The oldest share". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2008. สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  18. "Amsterdam through the ages -A medieval village becomes a global city". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 May 2008. สืบค้นเมื่อ 21 May 2008.
  19. "Amsterdam city archives". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 October 2014. สืบค้นเมื่อ 4 October 2014.
  20. http://www.centraledorpenraad.nl/landelijk-noord/historie เก็บถาวร 11 กรกฎาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน from website for the centrale dorpen raad (villages central council)
  21. "Deportation to camps". Hollandsche Schouwburg. สืบค้นเมื่อ 21 May 2008.
  22. "Kou en strijd in een barre winter" (ภาษาดัตช์). NOS. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 January 2008. สืบค้นเมื่อ 21 May 2008.
  23. "Stadsdeel Slotervaart – Geschiedenis" (ภาษาดัตช์). Municipality Amsterdam. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 May 2008. สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  24. "Stadsherstel Missie/Historie" (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  25. "Typisch Metrostad" (ภาษาดัตช์). Municipality Amsterdam. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 June 2008. สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  26. "Grachtengordel Amsterdam Werelderfgoed" (ภาษาดัตช์). Gemeente Amsterdam. สืบค้นเมื่อ 5 August 2015.
  27. "Amsterdam als koelkastmagneetje" [Amsterdam as a fridge magnet]. De Groene Amsterdammer. 27 July 2016.
  28. "Plan Openbare Ruimte Frederik Hendrikbuurt" (PDF) (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 26 September 2016.
  29. "Structural Vision Amsterdam 2040" (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 26 September 2016.
  30. "Kerncijfers Amsterdam 2007" (PDF) (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 May 2008. สืบค้นเมื่อ 18 May 2008.
  31. "Openbare ruimte en groen: Inleiding" (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 June 2008. สืบค้นเมื่อ 18 May 2008.
  32. "Adventure". 16 June 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 July 2014. สืบค้นเมื่อ 17 June 2014.
  33. "Amsterdam, Netherlands Köppen Climate Classification (Weatherbase)". Weatherbase. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 2 July 2019.
  34. "Stationsdata station Schiphol 1981–2010" (PDF). Royal Netherlands Meteorological Institute. สืบค้นเมื่อ 10 September 2013.
  35. Bairoch, Paul (18 June 1991). Cities and Economic Development: From the Dawn of History to the Present (ภาษาอังกฤษ). University of Chicago Press. p. 140. ISBN 9780226034669.
  36. Bogucka, M. (1983), Wieringa, W. J. (บ.ก.), The Interactions of Amsterdam and Antwerp with the Baltic region, 1400–1800. The Baltic and Amsterdam in the First Half of the 17th Century, Werken (ภาษาอังกฤษ), Springer Netherlands, pp. 51–57, doi:10.1007/978-94-017-5952-6_7, ISBN 9789401759526
  37. Henk van Nierop, "Amsterdam", Oxford Bibliographies Online. 28 March 2018. DOI: 10.1093/OBO/9780195399301-0106; and Jessica Dijkman, Shaping Medieval Markets: The Organisation of Commodity Markets in Holland, c.1200 - c. 1450 (Leiden: Brill, 2011). ISBN 9789004201484
  38. Paping, Richard (September 2014). "General Dutch population development 1400–1850" (PDF). University of Groningen. p. 12–13.
  39. Liedtke, Walter A.; Vermeer, Johannes; Plomp, Michiel; Rüger, Axel (2001). Vermeer and the Delft School (ภาษาอังกฤษ). Metropolitan Museum of Art. p. 197. ISBN 9780870999734.
  40. Schmidt, Freek (28 July 2017). Passion and Control: Dutch Architectural Culture of the Eighteenth Century (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 9781134797042.
  41. Hood, Clifton (8 November 2016). In Pursuit of Privilege: A History of New York City's Upper Class and the Making of a Metropolis (ภาษาอังกฤษ). Columbia University Press. p. 14. ISBN 9780231542951.
  42. Engeli, Christian; Matzerath, Horst (1989). Modern urban history research in Europe, USA, and Japan: a handbook (ภาษาอังกฤษ). Berg. ISBN 9780854960408.
  43. Van Leeuwen & Oeppen 1993, p. 87
  44. Mulder, Eduardo F. J. De; Pater, Ben C. De; Fortuijn, Joos C. Droogleever (28 July 2018). The Netherlands and the Dutch: A Physical and Human Geography (ภาษาอังกฤษ). Springer. p. 152. ISBN 9783319750736.
  45. 45.0 45.1 Tzaninis, Yannis; Boterman, Willem (2 January 2018). "Beyond the urban–suburban dichotomy". City. 22 (1): 43–62. doi:10.1080/13604813.2018.1432143. ISSN 1360-4813.
  46. van der Wouden, Ries (2016). "The Spatial Transformation of the Netherlands 1988—2015". The Netherlands Environmental Assessment Agency (PBL). 6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 February 2019. สืบค้นเมื่อ 23 February 2019.
  47. Musterd, Sako; Ostendorf, Wim (3 April 2008). "Integrated urban renewal in The Netherlands: a critical appraisal" (PDF). Urban Research & Practice. 1 (1): 78–92. doi:10.1080/17535060701795389. ISSN 1753-5069.
  48. van Gent, W.P.C. (2008). "The context of neighbourhood regeneration in Western Europe. A comparative study of nine neighbourhoods undergoing physical and social economic regeneration" (PDF). University of Amsterdam. p. 148.
  49. "Gentrification in Amsterdam: Assessing the Importance of Context". Population Space and Place (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 23 February 2019.
  50. Tzaninis, Yannis; Boterman, Willem (2 January 2018). "Beyond the urban–suburban dichotomy". City. 22 (1): 43–62. doi:10.1080/13604813.2018.1432143. ISSN 1360-4813.
  51. "Amsterdam's population poised to beat 60-year-old record". DutchNews.nl (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 21 February 2019. สืบค้นเมื่อ 23 February 2019.
  52. "The Netherlands". Holocaust Encyclopedia (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 24 January 2019.
  53. "Half of young big-city dwellers have non-western background". Cbs.nl. สืบค้นเมื่อ 10 October 2010.
  54. "Bevolking naar herkomstgroepering, 1 January 2001–2006" (ภาษาดัตช์). Dienst Onderzoek en Statistiek (Research and Statistics Service). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 August 2009. สืบค้นเมื่อ 19 April 2007.
  55. "Most foreign babies born in big cities". Cbs.nl. 26 April 2004. สืบค้นเมื่อ 10 October 2010.
  56. Terpstra, Jendra (28 March 2017). "Wit is de 'nieuwe minderheid' in grote steden". Trouw.nl (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 30 June 2018.
  57. "Statistics on a map" (ภาษาดัตช์).
  58. "Statistics by Neighborhood" (ภาษาดัตช์).
  59. Onderzoek, Informatie en Statistiek, Gemeente Amsterdam
  60. Quest, issue of March 2009
  61. "Amsterdamse Grachten" (ภาษาดัตช์). Municipality Amsterdam. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 March 2008. สืบค้นเมื่อ 21 May 2008.
  62. "SHVriendenwandeling2017web1.pdf" (PDF). stadsherstel. สืบค้นเมื่อ 9 April 2018.
  63. Taverne, E. R. M. (1978). In 't land van belofte, in de nieuwe stadt: ideaal en werkelijkheid van de stadsuitleg in de Republiek, 1580–1680 (In the land of promise, in the kinky city: ideal and reality of the city lay-out in the [Dutch] Republic, 1580–1680). Maarssen: Schwartz. ISBN 978-90-6179-024-2.
  64. "Dempingen en Aanplempingen" (ภาษาดัตช์). Walther Schoonenberg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 May 2008. สืบค้นเมื่อ 21 May 2008.
  65. "Samuel Sarphati" (ภาษาดัตช์). Joods Historisch Museum Amsterdam. สืบค้นเมื่อ 5 June 2008.
  66. "Uitbreidingsplan Sarphati" (ภาษาดัตช์). Zorggroep Amsterdam. สืบค้นเมื่อ 5 June 2008.[ลิงก์เสีย]
  67. "Samuel Sarphati" (ภาษาดัตช์). JLG Real Estate. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 August 2009. สืบค้นเมื่อ 5 June 2008.
  68. "Amsterdam Oud-Zuid" (ภาษาดัตช์). BMZ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2008. สืบค้นเมื่อ 5 June 2008.
  69. "Houten Huys" (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2007. สืบค้นเมื่อ 19 May 2008.
  70. "Amsterdamse renaissance in de stijl van Hendrick de Keyser" (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 November 2007. สืบค้นเมื่อ 19 May 2008.
  71. "Hollands Classicisme" (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 February 2007. สืบค้นเมื่อ 21 May 2008.
  72. "Neo-stijlen" (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 August 2007. สืบค้นเมื่อ 19 May 2008.
  73. Amsterdamse Bos – English site เก็บถาวร 19 พฤษภาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. City of Amsterdam. Retrieved on 27 November 2008.
  74. "Amsterdam – Economische Zaken" (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 June 2008. สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  75. "European Cities Monitor 2007" (ภาษาดัตช์). I Amsterdam. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 January 2008. สืบค้นเมื่อ 11 June 2008.
  76. "Zuidas" (ภาษาดัตช์). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 December 2007. สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  77. "Rembrandt Tower". สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  78. "Philips" (ภาษาดัตช์). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 May 2008. สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  79. Sex and Society. Marshall Cavendish. 2010. pp. 705–. ISBN 978-0-7614-7908-6.
  80. "Key Figures Amsterdam 2009: Tourism". City of Amsterdam Department for Research and Statistics. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 May 2011. สืบค้นเมื่อ 30 September 2009.
  81. "Dutch Hotel City Index 2019" (PDF). June 2019.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  82. Fedorova, T; Meijer, R (January 2007). "Toerisme in Amsterdam 2006/2007" (PDF) (ภาษาดัตช์). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2008. สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.
  83. Fedorova, T; Meijer, R (January 2007). "Toerisme in Amsterdam 2006/2007" (PDF) (ภาษาดัตช์). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2008. สืบค้นเมื่อ 22 May 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]