เอ็มวี จอร์จิก (ค.ศ. 1931)
เอ็มวี จอร์จิก ราวปี ค.ศ. 1933
| |
ประวัติ | |
---|---|
สหราชอาณาจักร | |
ชื่อ | จอร์จิก (Georgic) |
เจ้าของ |
|
ผู้ให้บริการ |
|
เส้นทางเดินเรือ | ลิเวอร์พูล–นิวยอร์ก |
อู่เรือ | ฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ, เบลฟาสต์, ประเทศไอร์แลนด์[1] |
Yard number | 896[1] |
เดินเรือแรก | 12 พฤศจิกายน 1931 |
สร้างเสร็จ | 10 มิถุนายน 1932[1] |
Maiden voyage | 25 มิถุนายน 1932 |
บริการ | 1932–1941, 1945–1956 |
หยุดให้บริการ | 1956 |
ความเป็นไป | ถูกโจมตีด้วยระเบิดและจมลงบางส่วนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941, ได้รับการกู้ขึ้นมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 โดยบริษัท ชิปเบรกกิง อินดัสตรีส์ จำกัด, ถูกทำให้ลอยขึ้นมาใหม่และได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงในช่วงปี ค.ศ. 1941–44, กลับเข้าประจำการเป็นเรือขนส่งกำลังพลในปี ค.ศ. 1945, กลับมาให้บริการพลเรือนในปี ค.ศ. 1948, ปลดระวางและแยกชิ้นส่วนในปี ค.ศ. 1956 |
ลักษณะเฉพาะ | |
ประเภท: | เรือเดินสมุทร |
ขนาด (ตัน): | 27,759 ตันกรอส |
ความยาว: | 711 ฟุต (216.7 เมตร) |
ระบบขับเคลื่อน: |
|
ความเร็ว: | 18 นอต (33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 21 ไมล์ต่อชั่วโมง) |
ความจุ: | ผู้โดยสาร 1,542 คน |
เอ็มวี จอร์จิก (อังกฤษ: MV Georgic) เป็นเรือลำสุดท้ายที่สร้างขึ้นสำหรับบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ก่อนการควบรวมกิจการกับบริษัทคูนาร์ดไลน์ สร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ในเมืองเบลฟาสต์ และเป็นเรือคู่วิ่งและแฝดน้องของเรือเอ็มวี บริแทนนิก (MV Britannic) เช่นเดียวกับเรือบริแทนนิก เรือจอร์จิกเป็นเรือยนต์ (motor vessel) ไม่ใช่เรือกลไฟ โดยติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลเป็นแหล่งพลังงานหลัก ณ เวลาที่เปิดตัวเรือในปี ค.ศ. 1931 เรือลำนี้ถือเป็นเรือยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร
หลังจากประสบความสำเร็จในการให้บริการเป็นเรือโดยสารในทศวรรษที่ 1930 เรือจอร์จิกได้ถูกเรียกใช้เป็นเรือขนส่งกำลังพลในปี 1940 เรือลำนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักและจมลงบางส่วนในปี ค.ศ. 1941 จากการโจมตีทางอากาศของเยอรมันขณะจอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือเทวฟิก ประเทศอียิปต์ ภายหลังจากการกู้เรือและการปรับปรุงซ่อมแซมอย่างครอบคลุมแล้ว เรือลำนี้ก็ได้กลับมาประจำการในฐานะเรือขนส่งกำลังพลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1944 และยังคงให้บริการทั้งในภารกิจทางทหารและพลเรือนมาจนถึงปี ค.ศ. 1956 ก่อนจะถูกปลดระวางและนำไปแยกชิ้นส่วน
ภูมิหลัง
[แก้]ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 บริษัทไวต์สตาร์ไลน์ได้วางแผนที่จะสร้างเรือโดยสารลำใหม่ 2 ลำเพื่อทดแทนเรือโดยสารรุ่นเก่าของบริษัท โดยทั้งสองลำจะเป็นเรือยนต์ ไม่ใช่เรือกลไฟแบบดั้งเดิม เรือลำแรกมีขนาด 1,000 ฟุต (300 เมตร) ชื่อว่าโอเชียนิก (Oceanic) และเรือลำที่สองมีขนาดที่เล็กกว่าและประหยัดกว่า แต่มีการออกแบบที่คล้ายกันชื่อว่าบริแทนนิก (Britannic) การก่อสร้างเรือบริแทนนิกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1927 และปล่อยลงน้ำในปี ค.ศ. 1929 ส่วนเรือโอเชียนิกนั้นเริ่มการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1928 และได้วางกระดูกงูแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเงินได้ทำให้การก่อสร้างเรือโอเชียนิกล่าช้าลงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1929 และในที่สุดโครงการดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปในปีถัดมา แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ไวต์สตาร์จึงตัดสินใจให้ความสำคัญกับการสร้างเรือลำที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเพื่อเป็นเรือคู่แฝดกับเรือบริแทนนิก เดิมทีไวต์สตาร์ไลน์พิจารณาจะตั้งชื่อเรือลำนี้ว่าเจอร์แมนิก (Germanic) แต่ภายหลังได้มีการตัดสินใจเลือกใช้ชื่อจอร์จิกแทน เรือลำนี้จะเป็นเรือลำที่สองของไวต์สตาร์ที่ใช้ชื่อจอร์จิก ซึ่งเรือเอสเอส จอร์จิก (SS Georgic) ลำก่อนหน้านั้นเคยให้บริการแก่บริษัทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 ถึง 1916[2]
การออกแบบและการสร้าง
[แก้]ในแง่ของการออกแบบ เรือจอร์จิกถือเป็นเรือแฝดของเรือบริแทนนิกที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย โดยมีขนาดระวางบรรทุกรวม 27,759 ตัน เมื่อเทียบกับเรือบริแทนนิกที่มีขนาด 26,943 ตัน เรือจอร์จิกมีความแตกต่างทางรูปลักษณ์จากเรือบริแทนนิกตรงที่ส่วนโครงสร้างบนและสะพานเดินเรือมีรูปทรงโค้งมนแทนที่จะเป็นแบบตรง และส่วนหน้าของดาดฟ้าสำหรับเดินเล่นถูกปิดทับ เช่นเดียวกับเรือบริแทนนิก เรือจอร์จิกมีปล่องไฟสั้นเตี้ยสองปล่อง โดยปล่องไฟด้านหน้าเป็นปล่องไฟปลอมที่ใช้เป็นที่ของตั้งห้องวิทยุและห้องสูบบุหรี่ของวิศวกร[2]
ระบบขับเคลื่อนของเรือจอร์จิกนั้นเหมือนกับเรือแฝดของมัน โดยประกอบด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 10 สูบเรียง 4 จังหวะ ทำงานสองทาง จำนวน 2 เครื่อง ออกแบบโดยบริษัท เบอร์ไมส์เตอร์แอนด์เวน จำกัด (Burmeister & Wain) ในสมัยนั้น เครื่องยนต์เหล่านี้ถือเป็นเครื่องยนต์ประเภทเดียวกันที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยสร้างขึ้น เครื่องยนต์เหล่านี้เชื่อมต่อกับเพลาใบจักรสองเพลา และสามารถผลิตกำลังขับได้ 20,000 แรงม้า ซึ่งสามารถขับเคลื่อนเรือด้วยความเร็วตามการออกแบบที่ 18 นอต (33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 21 ไมล์ต่อชั่วโมง) แม้ในทางปฏิบัติเรือจะแล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 18.5 นอตก็ตาม[2]
ภายในของเรือจอร์จิกได้รับการตกแต่งในสไตล์อลังการศิลป์ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น ต่างจากเรือบริแทนนิกที่ได้รับการตกแต่งหลากหลายสไตล์ที่เป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษที่ 1920 ความจุผู้โดยสารของเรือจอร์จิกถูกระบุไว้ดังนี้ ชั้นแคบิน 479 คน ชั้นท่องเที่ยว 557 คน และชั้นสาม 506 คน นอกจากพื้นที่สำหรับผู้โดยสารแล้ว เรือจอร์จิกยังมีพื้นที่เก็บสินค้าแช่เย็นในห้องเก็บสินค้าสองแห่ง ตัวเรือลำนี้ถูกแบ่งออกเป็นห้องเก็บสินค้า 8 ห้องโดยผนังกั้นห้อง 12 แนว[2]
การก่อสร้างเริ่มขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1929 ทำพิธีปล่อยเรือในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1931 หลังจากนั้นจึงติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักร และทำการทดสอบเดินเรือในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1932 จากนั้นจึงพร้อมให้บริการ[2]
ช่วงต้น
[แก้]เรือจอร์จิกเริ่มต้นการเดินทางครั้งแรกในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1932 เรือลำนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเส้นทางเดินเรือระหว่างลิเวอร์พูลกับนิวยอร์กและวิ่งควบคู่กับเรือบริแทนนิก ในวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1933 เรือลำนี้ได้ทำหน้าแทนที่เรืออาร์เอ็มเอส โอลิมปิก (RMS Olympic) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงใหญ่บนเส้นทางเซาแทมป์ตัน–นิวยอร์กเป็นการชั่วคราว[2]
แม้เรือจอร์จิกและบริแทนนิกจะไม่ใช่เรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดหรือเร็วที่สุดในยุคของตน แต่ก็ได้รับความนิยมและเป็นสองเรือที่ทำกำไรได้มากที่สุดในกองเรือของไวต์สตาร์ไลน์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการเดินเรือที่ต่ำกว่าและราคาตั๋วที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับเรือกลไฟแบบดั้งเดิม เรือสองลำได้ช่วยให้บริษัทยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่[2]
วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 ไวต์สตาร์ไลน์ได้ควบรวมกิจการกับคูนาร์ดไลน์ซึ่งเป็นคู่แข่งรายเก่า ส่งผลให้เรือลำนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือของบริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ไลน์ (Cunard-White Star Line) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม เรือทั้งสองลำยังคงใช้สีและธงเดินเรือของไวต์สตาร์ตามเดิม แต่ได้เพิ่มธงเดินเรือของคูนาร์ดเข้าไปด้วย ในปีถัดมา เรือจอร์จิกและบริแทนนิกได้ถูกย้ายไปให้บริการบนเส้นทางลอนดอน–เลออาฟวร์–เซาแทมป์ตัน–นิวยอร์ก และเรือจอร์จิกได้เริ่มให้บริการบนเส้นทางนี้ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 ทำให้เรือจอร์จิกกลายเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่แล่นเข้าแม่น้ำเทมส์และใช้ท่าเรือลอนดอน เรือลำนี้ให้บริการบนเส้นทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1939 เมื่อสงครามปะทุขึ้น เรือจอร์จิกไม่ได้ถูกเรียกใช้ในทันที แต่กลับถูกส่งกลับไปยังเส้นทางลิเวอร์พูล–นิวยอร์กในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 และได้ทำการเดินทางไปกลับ 5 เที่ยวก่อนจะถูกเรียกใช้เพื่อภารกิจขนส่งกำลังพลในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1940[2][3]
สงครามโลก
[แก้]ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 เรือจอร์จิกได้รับการดัดแปลงให้กลายเป็นเรือขนส่งกำลังพลอย่างเร่งด่วน โดยมีกำลังการบรรทุกทหาร 3,000 นาย ในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น เรือได้ช่วยอพยพทหารอังกฤษจากการทัพนอร์เวย์ที่ล้มเหลวจากท่าเรือนาร์วิก และในเดือนมิถุนายนได้ให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการแอเรียล โดยการอพยพทหารจากท่าเรือแบร็สต์และแซ็ง-นาแซร์ของฝรั่งเศส ซึ่งหลังจากนั้นเรือขนส่งกำลังพลเอชเอ็มที แลงคาสเตรีย (HMT Lancastria) ก็ได้ถูกทิ้งระเบิดและอับปางลงในวันที่ 17 มิถุนายน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,888 คน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ค.ศ. 1940 เรือลำนี้ได้เดินทางไปยังประเทศไอซ์แลนด์ และจากนั้นได้เดินทางต่อไปยังเมืองแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย เพื่อขนส่งทหารแคนาดา ต่อมาเรือจอร์จิกได้ทำการเดินทางหลายครั้งจากลิเวอร์พูลและกลาสโกว์ไปยังตะวันออกกลางผ่านทางแหลมกู๊ดโฮป รวมไปถึงการเดินทางระหว่างลิเวอร์พูล นิวยอร์ก และแคนาดาระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 เรือจอร์จิกได้ทำการขนส่งกำลังพลประมาณ 25,000 นายไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่[2]
ถูกทิ้งระเบิด
[แก้]วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 เรือจอร์จิกได้ออกเดินทางจากกลาสโกว์ภายใต้การบัญชาการของกัปตัน เอ.จี. เกร็ก (A.G. Greig) พร้อมด้วยกองพลทหารราบที่ 50 (นอร์ทัมเบรียน) มุ่งหน้าสู่ท่าเรือเทวฟวิก ในอ่าวสุเอซผ่านทางแหลมกู๊ดโฮป เรือลำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนเรือที่จำเป็นต้องปล่อยให้ปราศจากการคุ้มกันเกือบทั้งหมด เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับการตามล่าเรือประจัญบานบิสมาร์คของเยอรมนี อย่างไรก็ตาม เรือลำดังกล่าวสามารถเดินทางถึงอย่างปลอดภัยในวันที่ 7 กรกฎาคม และได้ทำการส่งกำลังพลบนเรือลงสู่ฝั่งเป็นที่เรียบร้อย หนึ่งสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 ขณะที่เรือลำนี้ทอดสมออยู่ที่นอกท่าเรือเทวฟิกเพื่อรอรับนักโทษชาวอิตาลีจำนวน 800 คน เครื่องบินของเยอรมันที่กำลังกวาดล้างเป้าหมายในเส้นทางน้ำได้พบเห็นเรือลำนี้และได้ดำเนินการโจมตี หลังจากถูกโจมตีหลายครั้ง เรือลำนี้ก็ถูกระเบิดสองลูก ลูกแรกชนข้างเรือและระเบิดลงในน้ำ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อตัวเรือใกล้กับห้องเก็บสินค้าหมายเลข 4 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ลูกที่สองระเบิดที่ด้านท้ายของดาดฟ้าเรือบด ทะลุผ่านดาดฟ้าห้าชั้นและระเบิดในลิฟต์ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อห้องเก็บสินค้าหมายเลข 5 นำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ที่ลุกลามไปยังน้ำมันเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมาจากถังน้ำมันที่แตก เพลิงดังกล่าวได้จุดชนวนกระสุนที่เก็บไว้ในห้องเก็บสินค้าด้านท้ายเรือ ส่งผลให้เกิดการระเบิดและเพลิงลุกไปทั่วบริเวณท้ายเรือ[2]
แม้จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่เหล่าวิศวกรบนเรือก็ยังคงสามารถสตาร์ตเครื่องยนต์ได้ และกัปตันเกร็กสามารถควบคุมเรือที่กำลังลุกไหม้ให้ไปยังแนวปะการังกลางอ่าวสุเอซเพื่อให้เรือเกยตื้น ไม่กีดขวางช่องทางเดินเรือที่พลุกพล่าน ขณะเดียวกันเรือก็ได้ชนกับเรือลำอื่นคือ เอชเอ็มเอส เกลเนิร์น (HMS Glenearn) ทำให้ทวนหัวเรือจอร์จิกบิดเบี้ยวอย่างรุนแรง ณ จุดนี้ เพลิงได้ลุกลามไปยังดาดฟ้าชั้นบนแล้ว เมื่อเรือเริ่มจมลง ได้มีคำสั่งให้ทุกคนสละเรือโดยด่วน และทุกคนบนเรือสามารถหนีรอดออกมาได้โดยเรือชูชีพ เรือจอร์จิกค่อย ๆ จมลงที่ท้ายเรือจนกระทั่งเกยตื้นบนแนวปะการังตื้น และถูกเพลิงไหม้จนหมดสิ้นภายในสองวัน เมื่อถึงเวลานั้นเรือได้จมลงไปครึ่งลำ ห้องเครื่องถูกน้ำท่วม และโครงสร้างส่วนบนของเรือถูกเพลิงไหม้จนภายนอกดำคล้ำบิดเบี้ยวไปจากสภาพเดิม[2]
การกู้และสร้างใหม่
[แก้]วันที่ 14 กันยายน ได้มีการประเมินความเสียหายของเรือจอร์จิก และมีมติว่าเรือลำดังกล่าวยังสามารถกู้ได้ เนื่องจากโครงสร้างตัวเรือและเครื่องจักรส่วนใหญ่ยังคงสภาพสมบูรณ์ จากนั้นเรือจอร์จิกได้เข้าสู่กระบวนการกู้และซ่อมแซมที่กินเวลานานถึงสามปี ซึ่งริชาร์ด เดอ เคอร์เบรก นักประวัติศาสตร์ ได้อธิบายว่าเป็น "หนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การกู้เรือ" ระหว่างเดือนตุลาคม เรือได้ถูกอุดรอยรั่วและช่องเปิดชั่วคราว จากนั้นจึงทำการสูบน้ำออกเพื่อให้เรือลอยน้ำได้อีกครั้ง ในเดือนธันวาคม เรือจอร์จิกซึ่งขณะนั้นลอยลำอยู่และจอดเทียบท่า ได้มีการเปลี่ยนท่ออุดชั่วคราวออกและแทนที่ด้วยกล่องซีเมนต์ถาวรเพื่อทำเรือให้พร้อมสำหรับการออกทะเล แต่เนื่องจากเรือจอร์จิกไม่มีพลังงาน ไฟฟ้ส หรือที่พัก จึงจำเป็นต้องลากจูงเรือลำดังกล่าวในสภาพซากเรือที่ถูกทิ้ง เนื่องจากไม่มีเรือลากจูงให้บริการ จึงได้มอบหมายให้เรือบรรทุกสินค้าของอังกฤษสองลำคือ เรือแคลนแคมป์เบล (Clan Campbell) และซิตีออฟซิดนีย์ (City of Sydney) มาทำหน้าที่ลากจูงเรือลำนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พวกเขาได้ทำการลากเรือจอร์จิกไปยังพอร์ตซูดานโดยใช้เวลา 13 วัน ณ ที่แห่งนี้ เรือจอร์จิกได้เข้ารับการซ่อมแซมเพิ่มเติมเป็นเวลาแปดสัปดาห์ เพื่อให้มีความพร้อมในการเดินทางระยะไกลไปยังการาจี[2]
วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1942 เรือจอร์จิกได้ออกเดินทางจากพอร์นซูดานภายใต้การลากจูงของเรือโดยสารชื่อเรคอร์เดอร์ (Recorder) ของบริษัทแฮร์ริสันไลน์ และเรือลากจูงเซนต์แซมป์สัน (St Sampson) ซึ่งต่อมาพิสูจน์แล้วว่ามีขนาดเล็กเกินไปสำหรับภารกิจนี้ และต้องหยุดการลากจูงหลังจากผ่านไปหนึ่งวัน ในวันที่แปด มีเรือลากจูงอีกลำชื่อพอลีน มอลเลอร์ (Pauline Moller) และเรือกลไฟสัญชาติอังกฤษชื่อ แฮร์สฟีลด์ (Haresfield) เข้าร่วมปฏิบัติการ และด้วยความร่วมมือกัน เรือทั้งสามลำจึงสามารถนำเรือจอร์จิกมาถึงการาจีได้สำเร็จในวันที่ 31 มีนาคม ณ ที่แห่งนี้ ได้มีการตัดสินใจว่าเรือจอร์จิกจะต้องได้รับการซ่อมแซมที่จำเป็นซึ่งไม่ต้องเข้าอู่แห้ง การซ่อมแซมใช้เวลาแปดเดือนโดยมีทรัพยากรจำกัด เครื่องยนต์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเรือได้รับการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ ทวนหัวเรือได้รับการปรับให้ตรง และที่พักสำหรับลูกเรือบางส่วนได้รับการสร้างขึ้นใหม่บนเรือ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1942 เรือจอร์จิกได้ออกเดินทางจากการาจีด้วยกำลังเครื่องของตนเองมุ่งหน้าสู่บอมเบย์ โดยสามารถทำความเร็วได้ 11 นอต (20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 13 ไมล์ต่อชั่วโมง) ที่บอมเบย์ เรือลำนี้ได้ถูกนำเข้าอู่แห้งเพื่อซ่อมแซมความเสียหายของตัวเรือ และมีการปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากนั้นเรือจอร์จิกได้ออกเดินทางจากงบอมเบย์มุ่งหน้าสู่สหราชอาณาจักรในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1943 และเดินทางถึงลิเวอร์พูลในวันที่ 1 มีนาคม โดยสามารถเดินได้โดยไม่มีการคุ้มกันด้วยความเร็วเฉลี่ย 15 นอต (28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 17 ไมล์ต่อชั่วโมง)[2]
ต่อมากระทรวงทหารเรือและกระทรวงคมนาคมสงคราม (Ministry of War Transport หรือ MoWT) ได้ดำเนินการสำรวจเรือลำดังกล่าวอย่างละเอียด และได้มีมติให้ส่งเรือลำนี้กลับไปยังฮาร์แลนด์แอนด์โวล์ฟ ในเบลฟาสต์ เพื่อดำเนินการสร้างใหม่ให้เป็นเรือขนส่งกำลังพลอย่างสมบูรณ์ ระหว่างการสร้างใหม่ เรือจอร์จิกได้มีการนำเหล็กที่ถูกไฟไหม้ไปกว่า 5,000 ตันออกไป และชั้นบนและส่วนโครงสร้างส่วนบนของเรือได้มีการสร้างใหม่ทั้งหมด เรือจอร์จิกได้กลับมาให้บริการอีกครั้งหลังจากการซ่อมแซมที่ใช้เวลา 19 เดือนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1944 โดยมีลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างมาก คือ ปล่องไฟด้านหน้าและเสากระโดงหลักได้ถูกนำออกไป และเสากระโดงหน้าได้ถูกตัดให้สั้นลงครึ่งหนึ่ง ภายหลังการสร้างใหม่ เรือจอร์จิกได้กลายเป็นทรัพย์สินของรัฐบาล โดยการเป็นเจ้าของได้โอนไปยังกระทรวงคมนาคมสงคราม ส่วนบริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการเรือในนามของกระทรวง[2]
หลังสงคราม
[แก้]วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1944 เรือจอร์จิกได้กลับมาให้บริการอีกครั้งในฐานะเรือขนส่งกำลังพลระหว่างอิตาลี ตะวันออกกลาง และอินเดีย หลังจากสงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 เรือลำนี้ได้ใช้เวลาอีกสามปีในการส่งกำลังพล พลเรือน และเชลยศึกกลับประเทศ ในปี ค.ศ. 1948 เนื่องด้วยความต้องการเรือขนส่งกำลังพลลดลง และมีความจำเป็นต้องใช้เรือเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการของผู้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กระทรวงคมนาคมจึงตัดสินใจปรับปรุงเรือจอร์จิกเพื่อให้บริการพลเรือน โดยมีเงื่อนไขว่าเรือลำนี้จะสามารถเปลี่ยนกลับมาใช้ในการขนส่งกำลังพลได้อีกครั้งหากมีความจำเป็น[2]
เดือนกันยายน ค.ศ. 1948 เรือจอร์จิกถูกส่งไปยังอู่ต่อเรือพาลเมอส์ บนแม่น้ำไทน์ เพื่อรับการปรับปรุงให้เป็นเป็นเรืออพยพ โดยมีการปรับปรุงที่พักให้เป็นแบบชั้นเดียว รองรับผู้โดยสารได้ 1,962 คน ภายหลังการปรับปรุง เรือจอร์จิกได้รับการคืนสู่สภาพเดิมด้วยการนำสีประจำของบริษัทไวต์สตาร์กลับมาใช้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้เรือลำนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรือที่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก เนื่องจากการตกแต่งภายในไม่ได้รับการฟื้นฟูกลับสู่มาตรฐานความหรูหราอย่างก่อนสงคราม ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 1949 ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1953 เรือจอร์จิกถูกนำไปใช้ในการให้บริการขนส่งผู้อพยพระหว่างสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทคูนาร์ด แต่เช่าโดยรัฐบาลออสเตรเลีย[2]
ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสูงสุดระหว่างปี ค.ศ. 1950 ถึง 1954 บริษัทคูนาร์ดได้ทำสัญญาเช่าเรือจอร์จิกจากกระทรวงคมนาคมเพื่อให้บริการเดินเรือบางเที่ยวจากลิเวอร์พูลหรือเซาแทมป์ตันไปยังนิวยอร์กร่วมกับเรือบริแทนนิกซึ่งเป็นเรือคู่แฝดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น เรือจอร์จิกได้ทำการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปกลับจำนวน 6 เที่ยวในปี ค.ศ. 1950 และเพิ่มเป็น 7 เที่ยวต่อฤดูกาลในช่วงปี ค.ศ. 1951 ถึง 1954[2]
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1953 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1955 เรือจอร์จิกได้ถูกนำกลับมาใช้ในภารกิจการขนส่งกำลังพลอีกครั้ง โดยได้รับมอบหมายให้ขนส่งกำลังพลของเครือจักรภพที่กำลังเดินทางกลับจากสงครามเกาหลี แม้ว่าในระหว่างนี้เรือจอร์จิกจะได้ทำการเดินเรือไปกลับระหว่างเซาแทมป์ตันและนิวยอร์กจำนวน 7 เที่ยว ภายใต้การเช่าโดยบริษัทคูนาร์ดในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสูงสุดของปี ค.ศ. 1954 ก็ตาม ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1955 กระทรวงคมนาคมได้ประกาศว่าเรือจอร์จิกจะถูกถอนออกจากการให้บริการ และจะถูกนำออกประมูลขายภายในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ในระยะนี้เครื่องจักรของเรือจอร์จิกที่ได้รับความเสียหายจากสงครามได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคมได้เสนอโอนกรรมสิทธิ์เรือจอร์จิกกลับไปยังบริษัทคูนาร์ด แต่บริษัทคูนาร์ดได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรือจอร์จิกได้ถูกถอนออกจากการประมูลขายเมื่อรัฐบาลออสเตรเลียได้เช่าเหมาลำไปใช้ในการขนส่งผู้อพยพเป็นเวลาหนึ่งฤดูกาล เรือได้เดินทางไปยังประเทศออสเตรเลียเป็นครั้งสุดท้ายในเดือนสิงหาคมของปีนั้น เรือจอร์จิกทำการเดินทางครั้งสุดท้ายจากฮ่องกงมายังลิเวอร์พูลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1955 โดยบรรทุกกำลังพล 800 นาย เมื่อเดินทางถึงลิเวอร์พูลในวันที่ 19 พฤศจิกายน เรือจอร์จิกก็ได้ถูกถอนออกจากการให้บริการ[2] ในที่สุดเรือลำนี้ก็ถูกนำไปจอดพักไว้ ณ อ่าวเคมส์ ไอล์ออฟบิวต์ เพื่อรอการกำจัด และต่อมาได้ถูกขายเพื่อนำไปแยกชิ้นส่วนในเดือนมกราคม ค.ศ. 1956 ในเดือนถัดมา เรือจอร์จิกได้เดินทางไปยังฟัสเลนเพื่อทำการแยกชิ้นส่วน และกระบวนการแยกชิ้นส่วนเรือจอร์จิกได้เสร็จสิ้นลงในช่วงปลายปี ค.ศ. 1956[3][4][2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 McCluskie, Tom (2013). The Rise and Fall of Harland and Wolff. Stroud: The History Press. p. 142. ISBN 9780752488615.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 Kerbrech, Richard De (2009). Ships of the White Star Line. Ian Allan Publishing. pp. 221–235. ISBN 978-0-7110-3366-5.
- ↑ 3.0 3.1 "Georgic - Chris' Cunard Page". สืบค้นเมื่อ 11 Dec 2014.
- ↑ "The Cunard White Star Liners 'Britannic ' and 'Georgic'". liverpoolships.org. สืบค้นเมื่อ 11 December 2014.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- The Great Ocean Liners: RMS Georgic
- White Star Ships: RMS Georgic
- "Georgic". Chris' Cunard Page. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2010.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - Greatships.net - Postcards of Georgic.