เลอศักดิ์ สมบัติศิริ
เลอศักดิ์ สมบัติศิริ | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม | |
ดำรงตำแหน่ง 22 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520 | |
นายกรัฐมนตรี | ธานินทร์ กรัยวิเชียร |
ก่อนหน้า | ทวิช กลิ่นประทุม |
ถัดไป | สุรกิจ มัยลาภ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 (91 ปี) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | พินิจ สมบัติศิริ |
บุตร | 2 คน |
บุพการี |
|
นามสกุลเดิม | เศรษฐบุตร |
ท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ (20 กุมภาพันธ์ 2462 — 9 พฤศจิกายน 2553) อดีตประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท โรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด, อดีตเจ้าของโรงแรมสวิสโซเทลปาร์คนายเลิศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหญิงคนแรกของไทย
ประวัติการทำงาน
[แก้]ท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริเป็นบุตรของพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ผู้สร้างโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ และโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ผู้ริเริ่มรถโดยสารประจำทางขึ้นในเมืองไทย (รถเมล์นายเลิศ) และผู้สร้างโรงแรมปาร์คนายเลิศ ซึ่งปัจจุบันคือโรงแรมสวิสโฮเต็ลปาร์คนายเลิศ ถนนวิทยุ และคุณหญิงสิน ภักดีนรเศรษฐ
ภายหลังจบการศึกษาด้านคหกรรมศาสตร์ จากวิทยาลัยเคียวลิตสุ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2484 ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ได้เข้าทำงานครั้งแรกที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ต่อมาจึงเข้าดำเนินกิจการรถเมล์ขาว ของบริษัท นายเลิศ จำกัด และธุรกิจอย่างอื่นของพระยาภักดีนรเศรษฐ ผู้เป็นบิดา จนกระทั่งสิ้นบุญบิดาจึงได้ดำรงตำแหน่งประธาน กรรมการบริษัท นายเลิศ จำกัด เรื่อยมา จากนั้นได้ก่อตั้งบริษัท นายเลิศพัฒนา จำกัด เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริษัท โรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรม
ด้านการเมือง ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1] และในปี พ.ศ. 2519 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม[2] ในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นับว่าเป็นรัฐมนตรีหญิงสองคนแรกของประเทศไทย (ได้รับแต่งตั้งพร้อมกับ วิมลศิริ ชำนาญเวช)
ชีวิตครอบครัว
[แก้]ท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ สมรสกับนายพินิจ สมบัติศิริ บุตรพระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ) และคุณหญิงถวิล มีธิดา 2 คน คือ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ และนางสัณหพิศ โพธิรัตนังกูร
ถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]ท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเช้าวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ด้วยโรคปอดอักเสบ ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุรวม 91 ปี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน เวลา 17.00 น. ณ บ้านปาร์คนายเลิศ เลขที่ 2/4 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-16 พฤศจิกายน จากนั้นจะมีพิธีสวดอภิธรรมทุกวันอังคารเวลา 19.00 น. จนกระทั่งครบ 100 วัน ทั้งนี้กำหนดให้มีการทำบุญครบ 50 วัน และ 100 วันด้วย[3]
และในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เวลา 17 นาฬิกา โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาโดยเสด็จไปในการนี้ด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
[แก้]- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)[4]
- พ.ศ. 2520 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[5]
- พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)[6]
- พ.ศ. 2512 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- ญี่ปุ่น : พ.ศ. 2547 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 3 มงกุฎแสงสีทอง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 17 ราย)
- ↑ "อดีตรมต.หญิงเลอศักดิ์" สิ้นลม". เดลินิวส์. เรียกข้อมูลวันที่ 10 พ.ย. 2553.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒๖๐, ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๑๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๓๘, ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๙
ก่อนหน้า | เลอศักดิ์ สมบัติศิริ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ทวิช กลิ่นประทุม | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ครม. 39) (22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520) |
สุรกิจ มัยลาภ |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2462
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2553
- ท่านผู้หญิง
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- นักธุรกิจชาวไทย
- นักการเมืองสตรีชาวไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไทย
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ.ว. (ฝ่ายใน)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ช.
- สกุลเศรษฐบุตร
- นักการกุศลชาวไทย
- บุคคลจากเขตสัมพันธวงศ์
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์
- บุคคลจากโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์