เมฆฮิลส์
เมฆฮิลส์ (Hills cloud) หรือ เมฆออร์ตชั้นใน (inner Oort cloud)[1] เป็นจานรอบดาวฤกษ์ ตามทฤษฎีที่สันนิษฐานไว้ว่าอยู่ด้านในของเมฆออร์ต ตั้งชื่อตามแจ็ก จี. ฮิลส์ ซึ่งเป็นผู้เสนอขึ้น ขอบด้านนอกของแผ่นจานอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ประมาณ 20,000 ถึง 30,000 AU ส่วนขอบด้านในยังไม่ทราบชัดเจนนัก แต่คาดกันไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ 250 ถึง 1500 AU ซึ่งเลยวงโคจรของ ดาวเคราะห์ และวัตถุในแถบไคเปอร์ไป
สมมติฐานเมฆฮิลส์ถูกเสนอเพื่ออธิบายความขัดแย้งของสมมติฐานเมฆออร์ต ดาวหางในเมฆออร์ตถูกรบกวนอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาราจักรทางช้างเผือกและดาวฤกษ์ใกล้เคียง ดังนั้นแล้ว ดาวหางจำนวนไม่น้อยจึงน่าจะออกจากระบบสุริยะ หรือบ้างก็เข้าสู่ระบบสุริยะชั้นใน และระเหย หรือตกลงบนดวงอาทิตย์หรือดาวเคราะห์ยักษ์เช่นดาวพฤหัสบดีไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่ามีดาวหางจำนวนมากพอสมควรในเมฆออร์ตซึ่งยังต้องการหาแหล่งที่มาของดาวหางที่ไหนสักแห่ง
ในสมมติฐานเมฆฮิลส์นั้น ได้คาดการณ์การมีอยู่ของเมฆฮิลส์ที่มีจำนวนวัตถุมากขึ้นเพื่อไขปัญหาการคงอยู่ของเมฆออร์ต วัตถุที่พุ่งออกมาจากเมฆฮิลส์ไปยังบริเวณของเมฆออร์ตนั้นจะคอยค้ำจุนเมฆออร์ตไว้[2] เชื่อกันว่าเมฆฮิลส์เป็นบริเวณที่มีดาวหางรวมตัวกันอยู่มากที่สุดในระบบสุริยะ และถ้าเมฆฮิลส์มีอยู่จริง มันจะมีดาวหางมากกว่าเมฆออร์ตประมาณ 5 เท่า[3]
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบวัตถุที่เป็นไปได้หลายอย่าง เช่น ดาวหางและดาวเคราะห์น้อยที่เชื่อว่ามีต้นกำเนิดจากเมฆฮิลส์ ซึ่งสนับสนุนการมีอยู่ของเมฆฮิลส์ ถ้าเมฆฮิลส์มีอยู่จริง ความหนาแน่นของมันควรจะสูงกว่าเมฆออร์ต[4] ดาวหางเมฆออร์ตโคจรเป็นวงกลมภายใต้อิทธิพลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์ใกล้เคียงและผลกระทบจากแรงน้ำขึ้นน้ำลงของทางช้างเผือก แต่ดาวหางในเมฆฮิลส์นั้นบางทีอาจไม่เป็นเช่นนั้น มวลรวมของเมฆฮิลส์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่นักวิจัยบางคนเชื่อว่ามีมวลมากกว่าเมฆออร์ตชั้นนอกหลายเท่า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "astronomie, astéroïdes et comètes". villemin.gerard.free.fr. สืบค้นเมื่อ 2021-04-07.
- ↑ Fernández, Julio A. (1997). "The Formation of the Oort Cloud and the Primitive Galactic Environment". Icarus. 129 (1): 106–119. Bibcode:1997Icar..129..106F. doi:10.1006/icar.1997.5754. ISSN 0019-1035.
- ↑ Duncan, M.; Quinn, T.; Tremaine, S. (1987). "The formation and extent of the solar system comet cloud". The Astronomical Journal. 94: 1330. Bibcode:1987AJ.....94.1330D. doi:10.1086/114571. ISSN 0004-6256.
- ↑ Hills, J. G. (1981). "Comet showers and the steady-state infall of comets from the Oort cloud". The Astronomical Journal. 86: 1730. Bibcode:1981AJ.....86.1730H. doi:10.1086/113058. ISSN 0004-6256.