อูรักลาโวยจ
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
---|---|
จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดกระบี่, จังหวัดสตูล ประเทศไทย | |
ภาษา | |
ภาษาอูรักลาโวยจ, ภาษามลายูถิ่น, ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทย | |
ศาสนา | |
ศาสนาดั้งเดิม, พระพุทธศาสนา, ศาสนาคริสต์ |
อูรักลาโวยจ (Urak Lawoi’) หรือ อูรักลาโว้ย[1] เป็นชาวเล กลุ่มใหญ่มีถิ่นฐานในภาคใต้ของประเทศไทย พบได้ที่เกาะสิเหร่ และที่หาดราไวย์ บ้านสะปํา จังหวัดภูเก็ต จนถึงทางใต้ของเกาะพีพีดอน เกาะจำ เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่, เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะราวี จังหวัดสตูล และบางส่วนอยู่ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย
ชาวเลกลุ่มอูรักลาโวยจมีภาษาที่แตกต่างกับกลุ่มมอแกนและมอแกลน แม้จัดอยู่ในตระกูลออสโตรนีเชียน เช่นเดียวกัน พิธีกรรมสำคัญของอูรักลาโวยจคือ การลอยเรือ "ปลาจั๊ก" เพื่อกำจัดเคราะห์ร้ายออกไปจากชุมชน
ในปัจจุบัน ชาวเลกลุ่มอูรักลาโวยจตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร หันมาประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง รับจ้างทำสวน และอาชีพอื่น ๆ ซึมซับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น และเรียกขานตัวเองว่า ไทยใหม่ [2]
ประวัติ
[แก้]อูรักลาโวยจ มีความหมายว่า "คนทะเล" มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตชาวอูรักลาโวยจอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาฆูนุงฌึไร ในแถบชายฝั่งทะเลในรัฐเกอดะฮ์ (ไทรบุรี) จากนั้นก็เร่ร่อนเข้ามาสู่ในน่านน้ำไทย แถบทะเลอันดามัน ในช่วงแรกยังมีวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน โดยอาศัยเรือไม้ระกำเป็นที่อยู่และพาหนะ พวกเขาใช้กายัก หรือแฝกสำหรับมุงหลังคาเป็นเพิงอาศัยบนเรือ หรือเพิงพักชั่วคราวตามชายหาดในฤดูมรสุม
ชาวอูรักลาโวยจยังชีพด้วยการท่องเรือตามหมู่เกาะ กลุ่มละ 5-6 ลำ บางครั้งพวกเขาก็จะขึ้นเกาะมาเพื่อหาของป่า แต่ส่วนใหญ่จะล่าสัตว์ทะเลด้วยเครื่องมือง่าย ๆ อย่าง ฉมวก สามง่าม เบ็ดพวกเขามีความสามารถในการดำน้ำทะเลลึกเพื่อแทงปลาหรือจับกุ้งมังกรด้วยมือเปล่าและดำน้ำเก็บหอยจากก้นทะเล
ตามตำนานเล่าว่าชาวอูรักลาโวยจเคยมีบรรพบุรุษเดียวกับชาวมอแกนและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เร่ร่อนในทะเลมานาน พวกเขาใช้ภาษาอูรักลาโวยจเป็นภาษาพูด พวกเขาเชื่อกันว่าเกาะลันตาเป็นสถานที่แรกที่ชาวอูรักลาโวยจตั้งถิ่นฐาน เปรียบเสมือนเมืองหลวงของพวกเขาเลยทีเดียว แต่พวกเขาก็ยังอพยพเร่ร่อนอยู่เรื่อย ๆ โดยโยกย้ายไปตามหมู่เกาะต่าง ๆ และตั้งถิ่นฐานที่เกาะนั้น ๆ และกลับมาที่เดิม แต่ทุกกลุ่มยังคงมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ถือว่าเป็นสังคมเครือญาติใหญ่
ปัจจุบันพวกเขาตั้งบริเวณเกาะสิเหร่ หาดราไวย์ แหลมหลาเหนือ และบ้านสะปำ ในจังหวัดภูเก็ต เกาะพีพี เกาะจำ เกาะปู เกาะไหว และเกาะลันตาใหญ่ ในจังหวัดกระบี่ ไปจนถึงเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบุโหลน และเกาะราวี จังหวัดสตูล
วิถีชีวิต
[แก้]ชาวอูรักลาโวยจใช้ชีวิตครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยฝ่ายชายจะเข้าอยู่กับครัวเรือนฝ่ายหญิงชั่วคราว ก่อนแยกเป็นครอบครัวเดี่ยวเมื่อถึงเวลาสมควร ชาวอุรักลาโวยจนั้นนับถือผีบรรพบุรุษ และสิ่งเหนือธรรมชาติว่ามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต "โต๊ะหมอ"จะเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่างๆ เช่นพิธีลอยเรือ พิธีแก้บน เป็นต้น
ทุกครึ่งปีในเดือนหกและเดือนสิบเอ็ด ไม่ว่าชาวอูรักลาโวยจ จะกระจัดกระจายอยู่ที่ใด พวกเขาก็จะกลับมายังถิ่นฐานเดิมเพื่อเข้าร่วมในพิธีลอยเรือ หรือ "เปอลาจั๊ก" ในวันนั้นที่ชายหาดจะมีการบรรเลงรำมะนา เสียงเพลง การร้องรำ การเล่นรองเง็ง ตลอดจนการดื่มฉลองพิธีการในวาระอันสำคัญของชาวอูรักลาโวยจ
ตำนานเกี่ยวกับฆูนุงฌึรัย : ที่มาของชาวเลอูรักลาโวยจ
[แก้]มีตำนานเรื่องหนึ่งซึ่ง David Hogan (1972 : 129,128) บันทึกจากคำบอกเล่าของชาวเลวัย 60-70 ปี ที่อาศัยอยู่บนเกาะอาดังว่า พระเจ้าได้ส่ง นะบีโน๊ะ มาชักชวนให้บรรพบุรุษของเขานับถือพระเจ้า แต่ถูกปฏิเสธจึงสาปแช่งไว้ จนพวกเขาต้องเคลื่อนย้ายลงมายังชายฝั่งเชิงเขา “ฆูนุงฌึรัย” บ้างก็เข้าป่าเป็นคนป่า บ้างก็กลายเป็นลิง บ้างก็เป็นกระรอก บ้างก็เป็นอูรักลาโวยจ คนของทะเล หรือชาวเลไป ผู้ให้ข้อมูลคนเดียวกันเล่าว่า ชาวเลกลุ่มแรกที่อาศัยเรือ “jukok” หรือ “เรือเป็ด” ไหลลอยขึ้นมา บ้างก็ตั้งถิ่นฐานในป่าเคดาห์ บ้างก็ตั้งถิ่นฐานที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ Hogan ได้เน้นย้ำว่าอูรักลาโวยจผู้สูงอายุส่วนใหญ่กล่าวกันว่า เกาะลันตาเป็นดินแดนแห่งแรกในประเทศไทยที่ชาวเลอูรักลาโวยจเปลี่ยนวิถีชีวิตขึ้นไปตั้งถิ่นฐาน
ทว่า David Hogan และผู้วิจัยคนอื่น ๆ ไม่ได้เข้าใจว่า อันที่จริงเรื่องเล่าของชาวเลคนนั้นเป็นเรื่องเล่าจากคัมภีร์อัลกุรอาน และคัมภีร์ไบเบิล คำว่า นะบี เป็นคำในภาษาอาหรับแปลว่า ศาสดาพยากรณ์ ส่วน โน๊ะ ก็คือ นูฮฺ หรือ โนอาห์ ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ เมื่อพระเจ้าบันดาลให้เกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ นะบีนูฮฺ ก็พาบรรดาศรัทธาชนลงเรือหนีน้ำที่ท่วมโลก ในที่สุดเรือนั้นก็จอดบนเขา อัลญูดี ส่วนผู้เฒ่าที่เล่าเรื่อง หรือชาวเลอูรักลาโวยจ คิดว่าเป็น ฆูนุงฌึรัย (แปลว่า ภูผาต้นไทร)
อย่างไรก็ตาม จากความเชื่ออันนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ชาวเลอูรักลาโวยจ ในอดีตเคยได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับชนชาติในตระกูลมาเลย์อิกทั้งหลาย นอกจากนี้ภาษาอูรักลาโวยจยังใกล้เคียงกับภาษามลายูอีกด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ชนเผ่าพื้นเมืองอูรักลาโว้ย โดย โครงการพัฒนาระบฐานขอ้มูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแขง็ให้แก่ชนเผาพื้นเมืองในประเทศไทย, “สิทธิเรา คือ เสาบ้าน” : การต่อรองเชิงความหมายในกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวเล โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
- ↑ "บทความเมืองกระบี่::ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย เกาะลันตา, สังคมชาวเลที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-11. สืบค้นเมื่อ 2009-07-31.