อาณาจักรเซียน
เซียน | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
สถานะ | ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ | ||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||
กษัตริย์ | |||||||||
• พ.ศ. 1837 | กั่นมู่ติง | ||||||||
• พ.ศ. 1842 | ไม่ปรากฏพระนาม | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ประเทศไทย |
เซียน (จีน: 暹; พินอิน: Xīan) หรือเรียกโดยความนิยมว่า เสียน คืออาณาจักรที่ถูกกล่าวถึงโดยเอกสารจีนและเวียดนามในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ชื่อของอาณาจักรเซียนได้รับการสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า สยาม และอาจหมายถึงอาณาจักรสุโขทัย[1], อาณาจักรสุพรรณภูมิ[2], เมืองอยุธยา[3] หรืออาณาจักรนครศรีธรรมราช[4] ภายหลังอาณาจักรเซียนได้รวมเข้ากับอาณาจักรละโว้เป็นอาณาจักรอยุธยา
บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรเซียน
[แก้]พงศาวดารราชวงศ์ซ่ง
[แก้]อาณาจักรเซียนถูกกล่าวถึงในพงศาวดารราชวงศ์ซ่ง[note 1]บรรพที่ 418 ว่าด้วยประวัติของเฉินอี๋จง (จีน: 陳宜中)[5] ขุนนางในช่วงปลายราชวงศ์ซ่งใต้ โดยระบุว่า เฉินอี๋จงหลบหนีการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลไปยังอาณาจักรจา่มปา ต่อมากองทัพมองโกลเข้าโจมตีอาณาจักรจามปา เฉินอี๋จงจึงหลบหนีไปยังอาณาจักรเซียนและพำนักอยู่จนสิ้นชีวิต[6] เฉินอี๋จงได้รับการสันนิษฐานว่าเดินทางเข้ามายังภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ. 1827 ถึงต้นปี พ.ศ. 1828 โดยมีหลักฐานสนับสนุนคือ แผ่นทองคำประทับอักษรจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้[7] ซึ่งค้นพบที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุงในปี พ.ศ. 2557[8] และข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งว่า อาจเป็นทองคำของพ่อค้าที่เดินทางมาในบริเวณนี้ได้ถูกโต้แย้งเนื่องจากในปี พ.ศ. 1725 ราชวงศ์ซ่งได้ประกาศห้ามไม่ให้ใช้ทองคำและแร่เงินในการค้าโพ้นทะเล[7]
พงศาวดารราชวงศ์หยวน
[แก้]พงศาวดารราชวงศ์หยวน[note 2]บันทึกถึงการติดต่อกันระหว่างอาณาจักรเซียนและราชวงศ์หยวนดังนี้[9]
ปี (พ.ศ.) | ต้นทาง | ปลายทาง | เนื้อหา | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
ไม่ปรากฏ | หยวน | ไม่ปรากฏ | ราชสำนักหยวนส่งทูตไปเกลี้ยกล่อมอาณาจักรทางใต้ ปรากฏว่ากว่า 20 อาณาจักรยอมอ่อนน้อม | สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 1821 และต้องก่อน พ.ศ. 1830 |
1825 | หยวน | เซียน | คณะทูตถูกสังหารที่อาณาจักรจามปา | |
1835 | เซียน | หยวน | ขุนนางแห่งกว่างตงให้เจ้าหน้าที่เชิญพระสุพรรณบัตรของเซียนไปยังนครหลวง (ปักกิ่ง) | |
1836 | หยวน | เซียน | ราชสำนักหยวนส่งทูตไปเกลี้ยกล่อมให้อาณาจักรเซียนมาอ่อนน้อม | |
1837 | หยวน | เซียน | กุบไล ข่านมีพระราชโองการให้กั่นมู่ติง (จีน: 敢木丁) กษัตริย์แห่งเซียนมาเฝ้า ถ้ามีเหตุขัดข้องให้ส่งบุตรหลานหรือขุนนางผู้ใหญ่มาเป็นตัวประกัน | กั่นมู่ติง ได้รับการสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า กมรเตง อันเป็นศัพท์เขมรที่ใช้เรียกเจ้าเมือง |
1838 | เซียน | หยวน | อาณาจักรเซียนขอให้ราชสำนักหยวนส่งทูตไปยังเซียน แต่ราชสำนักหยวนได้ส่งทูตไปก่อนแล้ว จึงให้ทูตรีบเดินทางกลับเพื่อติดตามทูตของราชสำนักหยวนให้ทัน โทโมร์ ข่านมีพระราชโองการมิให้ชาวเซียนทำร้ายชาวมลายู | |
1840 | เซียน | หยวน | อาณาจักรเซียนถวายบรรณาการ | |
1842 | เซียน | หยวน | อาณาจักรเซียนถวายบรรณาการ โทโมร์ ข่านพระราชทานตราเสือแก่รัชทายาทของอาณาจักรเซียน กษัตริย์แห่งเซียนมีพระราชสาส์นขอให้ราชสำนักหยวนพระราชทานม้าเช่นเดียวกับสมัยพระราชบิดา โทโมร์ ข่านไม่พระราชทาน | ถูกใช้อ้างอิงเป็นปีสวรรคตของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช |
1843 | เซียน | หยวน | อาณาจักรเซียนถวายบรรณาการ | |
1857 | เซียน | หยวน | อาณาจักรเซียนถวายบรรณาการ | |
1861 | เซียน | หยวน | อาณาจักรเซียนถวายบรรณาการ | |
1865 | เซียน | หยวน | อาณาจักรเซียนถวายบรรณาการ |
ดั่ยเหวียตสือกี๊ตว่านทือ
[แก้]ดั่ยเหวียตสือกี๊ตว่านทือ (จื๋อฮ้าน: 大越史記全書) บันทึกอาณาจักรเซียนในสมัยราชวงศ์ลี้ และราชวงศ์เจิ่น ดังนี้[ต้องการตรวจสอบความถูกต้อง]
ปี (พ.ศ.) | รัชกาล | ต้นฉบับ | เนื้อหา | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1692 | ลี้อัญตง | 己巳十年〈宋紹興十九年〉春二月,爪哇、路貉、暹羅三國商舶入海東,乞居住販賣,乃於海島等處立庄,名雲屯,買賣寳貨,上進方物。 | พ่อค้าจากอาณาจักรเซียนหลัว (จีน: 暹羅) เดินทางมายังไห่ตง (จื๋อฮ้าน: 海東) เพื่อขออนุญาตทำการค้าและได้ตั้งสถานีการค้าขึ้นที่ยฺหวินถุน (จื๋อฮ้าน: 雲屯) | |
1725 | ลี้กาวตง | 暹羅國來貢。 | อาณาจักรเซียนหลัวถวายบรรณาการ | |
1727 | 暹羅、三佛齊等國商人入雲屯鎮,進寳物,乞行買賣。 | พ่อค้าจากอาณาจักรเซียนหลัวเดินทางมาที่เมืองยฺหวินถุนเพื่อขออนุญาตทำการค้า | ||
1856 | เจิ่นอัญตง | 時占城被暹人侵掠,帝以天覷經畧乂安、臨平徃救。後凣西邉籌畫,明宗悉以委之。 | ชาวเซียนเข้าโจมตีอาณาจักรจามปา จักรพรรดิทรงส่งกองทัพไปช่วยอาณาจักรจามปาสู้รบ | ทั้งสองฝ่ายได้สู้รบกันเป็นเวลา 2 ปี[10] |
1903 | เจิ่นหยูตง | 冬十月,路鶴、茶哇哇音鴉、暹羅等國商舶至雲屯販賣,進諸異物。 | พ่อค้าจากอาณาจักรเซียนหลัวเดินทางมาที่ยฺหวินถุนเพื่อทำการค้า |
เคิมดิ่ญเหวียตสือทงซ้ามเกืองหมุก
[แก้]เคิมดิ่ญเหวียตสือทงซ้ามเกืองหมุก (จื๋อฮ้าน: 欽定越史通鑑綱目) บันทึกถึงเหตุการณ์เพิ่มเติมจากดั่ยเหวียตสือกี๊ตว่านทือว่า อาณาจักรเซียนได้เข้าถวายบรรณาการในเหตุการณ์ที่ราชวงศ์เจิ่นส่งกองทัพไปยังอาณาจักรอายหลาว (จีน: 哀牢) ระหว่างปี พ.ศ. 1877–1879 ปรากฏในต้นฉบับดังนี้
香村之山。字畫掌大,深可寸許。其辭曰:「皇越陳朝第六帝章堯文哲太上皇帝,受天眷命,奄有中夏,薄海内外,罔不臣服。蕞爾哀牢,猶梗王化。歲在乙亥季秋,帝親帥六師,巡于西鄙。占城國世子、眞臘國、暹國及蠻酋道臣、葵禽、車勒、新附、杯盆蠻、會道、聲車蠻諸部,各奉方物,爭先迎見。獨逆俸執迷畏罪,未卽來朝。季冬,帝駐蹕于密州巨屯之原,乃命諸將及蠻夷之兵入于其國。逆俸望風奔竄,遂降詔班師。辰開祐七年乙亥冬閏十二月日勒石。」此文與舊史所載其年不同,竝錄以備考。
— เคิมดิ่ญเหวียตสือทงซ้ามเกืองหมุก ส่วนเนื้อหาหลัก เล่มที่ 9, เคิมดิ่ญเหวียตสือทงซ้ามเกืองหมุก
บันทึกเกี่ยวกับที่ตั้งและสภาพสังคมของอาณาจักรเซียน
[แก้]บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจนละ
[แก้]บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจนละบันทึกถึงอาณาจักรเซียนและชาวเซียนประกอบการบรรยายถึงอาณาจักรพระนคร โดยกล่าวถึงอาณาจักรเซียนในฐานะอาณาจักรหรือสถานที่ว่า "ทางตะวันตกเฉียงใต้ใช้เวลาเดินทางครึ่งเดือนถึงเซียนหลัว", "แม้ว่าในประเทศจะทอผ้าได้เอง ก็ยังมีมาจากเซียนหลัว..." และ "พันธุ์ตัวไหมและพันธุ์ต้นหม่อนจึงมาจากประเทศเซียนทั้งสิ้น"[11]
พงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับชำระใหม่
[แก้]พงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับชำระใหม่[note 3]บรรพที่ 252 ว่าด้วยพม่า อยุธยา และล้านนาระบุว่า เดิมเซียนและละโว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนาน ทางเหนือของเซียนติดต่อกับล้านนา ทางตะวันออกติดกับอันหนาน และทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับพม่า ละโว้ตั้งอยู่ทางใต้ของเซียน ดินแดนเซียนแห้งแล้ง ประชาชนต้องพึ่งพาผลผลิตจากละโว้ เซียนมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านไปที่ละโว้และลงสู่ทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างรัชศกจื้อเจิ้ง (พ.ศ. 1884-1913) ในรัชสมัยจักรพรรดิฮุ่ยจง เซียนสวามิภักดิ์ต่อละโว้ ผนวกรวมกันเป็นอาณาจักรอยุธยา[6]
บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ
[แก้]บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ[12]บันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรเซียนว่า จากซินเหมินไถเข้าสู่ปากน้ำ แนวเขาด้านนอกขรุขระและด้านในลึก พื้นดินไม่อุดมสมบูรณ์ ต้องพึ่งพาอาหารจากละโว้ อากาศไม่แน่นอน ชาวเซียนนิยมการปล้นสะดม เมื่ออาณาจักรอื่นเกิดความวุ่นวาย ชาวเซียนมักออกเรือไปยังที่นั่น ไม่นานมานี้เซียนเข้าโจมตีตานหม่าซี (จีน: 單馬錫, ได้รับการสันนิษฐานว่า คือเกาะสิงคโปร์[13]) และซีหลี่ (จีน: 昔里) ในรัชศกจื้อเจิ้งปีจี่โฉ่ว[note 4] ฤดูร้อนเดือน 5 (พฤษภาคม/มิถุนายน พ.ศ. 1892) ถูกผนวกเข้ากับละโว้ ชาวเซียนใช้ปรอทเพื่อรักษาสภาพศพ แต่งกายเช่นเดียวกับละโว้ และใช้เบี้ยที่ทำจากเปลือกหอยเป็นเงินตรา ผลผลิตมีไม้ฝาง ดีบุก ผลกระเบา งาช้าง ขนนกกระเต็น สินค้าที่ขายคือลูกปัด ปรอท ผ้าฝ้ายสีน้ำเงิน ทองแดง และเหล็ก[6]
นอกจากนี้ อาณาจักรเซียนยังถูกกล่าวถึงในการบรรยายอาณาจักรละโว้ ("...ละโว้เป็นที่ราบกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวเซียนได้พึ่งพาอาศัย...") และอาณาจักรเจินลู่ (จีน: 針路, "...เจินลู่ใช้เบี้ยที่ทำจากเปลือกหอยเป็นเงินตราเช่นเดียวกับเซียน...")[6]
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การผนวกอาณาจักรเซียนและละโว้ได้รับการโต้แย้งว่า อาจมีการบันทึกวันเวลาผิดพลาด เนื่องจากวังต้ายวน (จีน: 汪大淵) เพิ่งจะเขียนบันทึกย่อเผ่าชาวเกาะเสร็จในฤดูหนาวปีเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1882–1883[14]
บันทึกดินแดนทะเลใต้
[แก้]บันทึกดินแดนทะเลใต้[6] หรือต้าเต๋อหนานไห่จื้อ (จีน: 大德南海志) ระบุดินแดนที่อาณาจักรเซียนปกครองว่า "อาณาจักรเซียนปกครอง: ซ่างสุ่ยซู่กูตี่" (จีน: 暹国管:上水速孤底)[12] ซึ่ง "ซ่างสุ่ยซู่กูตี่" อาจแปลได้ว่า "สุโขทัยที่ตั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำ"[13]
เอกสารสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง
[แก้]ซูยฺวี่โจวจือลู่ (จีน: 殊域周咨录)[note 5] บรรพที่ 8 เรื่องอาณาจักรอยุธยาระบุข้อความที่คล้ายคลึงกับพงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับชำระใหม่ โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เซียนมีชื่อเดิมว่าชื่อถู่ (จีน: 赤土) หยิงหวนจื้อลฺวี่ (จีน: 瀛环志略)[note 6] บรรพที่ 1 เรื่องอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไหลสู่ทางเหนือของอาณาจักรเซียนไปยังทางใต้ของละโว้แล้วออกสู่ทะเล[15]
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่ตั้งของอาณาจักรเซียน
[แก้]ส่วนนี้ต้องการการขยายความ คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อาณาจักรเซียนได้รับการสันนิษฐานว่า คืออาณาจักรสุโขทัย[1] และบันทึกของพงศาวดารราชวงศ์หยวนเกี่ยวกับอาณาจักรเซียนในปี พ.ศ. 1842 ถูกใช้อ้างอิงถึงปีสวรรคตอย่างเป็นทางการของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช[16][17] อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการโต้แย้งโดยอ้างอิงบันทึกดินแดนทะเลใต้ว่า "อาณาจักรเซียนปกครองสุโขทัย" ทำให้อาณาจักรเซียนไม่สามารถหมายถึงสุโขทัยได้[18][13] นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอแนวคิดอื่นเกี่ยวกับที่ตั้งของอาณาจักรเซียน เช่น
- อาณาจักรเซียนอาจหมายถึงอาณาจักรสุพรรณภูมิ โดยอ้างอิงบันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจนละว่า "ทางตะวันตกเฉียงใต้ใช้เวลาเดินทางครึ่งเดือนถึงเซียนหลัว" ซึ่งได้รับการโต้แย้งว่า เป็นการบันทึกโดยรวมระหว่างอาณาจักรเซียนและละโว้ อีกทั้งบันทึกฉบับดั้งเดิมสูญหายไป จึงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดระหว่างการคัดลอก[2]
- อาณาจักรเซียนอาจหมายถึงเมืองอยุธยา โดยอ้างอิงจากการส่งคณะทูตไปจีน ซึ่งบ่งชี้ว่าเซียนเป็นเมืองท่า และพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองอยุธยาก่อนการก่อตั้งอาณาจักรอยุธยา[3]
- อาณาจักรเซียนอาจหมายถึงเมืองมากกว่าหนึ่งเมือง โดยอ้างอิงนาครกฤตาคม[19]ว่า สยามอาจหมายถึงได้ทั้งอยุธยาและนครศรีธรรมราช ในขณะที่เอกสารจีนสมัยราชวงศ์หมิงเองก็มีการกล่าวถึงเซียนหลัว, เซียน และสุพรรณบุรีปะปนกัน[4]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ชำระในสมัยราชวงศ์หยวน
- ↑ ชำระในสมัยราชวงศ์หมิง
- ↑ ชำระในสมัยราชวงศ์ชิงและสาธารณรัฐจีน
- ↑ ปีในระบบแผนภูมิสวรรค์
- ↑ เขียนในสมัยราชวงศ์หมิง
- ↑ เขียนในสมัยราชวงศ์ชิง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 โบราณคดีสโมสร (1914), พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา [Royal Chronicle: Royal Autograph Version] (PDF), vol. 1, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย, pp. 90–92, สืบค้นเมื่อ 2024-10-30
- ↑ 2.0 2.1 พรหมบุญ, สืบแสง (2012), ""เสียน" ในจดหมายเหตุจีน", รวมบทความทางประวัติศาสตร์ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบแสง พรหมบุญ, ม.ป.พ., pp. 75–81, สืบค้นเมื่อ 2024-10-30
- ↑ 3.0 3.1 เบเคอร์, คริส; พงษ์ไพจิตร, ผาสุก (2021), ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ (3rd ed.), กรุงเทพฯ: มติชน, pp. 79–82, ISBN 978-974-02-1721-3, สืบค้นเมื่อ 2024-06-23
- ↑ 4.0 4.1 Yoneo, Ishii (2004). "Exploring a New Approach to Early Thai History" (PDF). Journal of the Siam Society. 92: 40–42. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-05-18. สืบค้นเมื่อ 2024-10-30 – โดยทาง The Siam Society under Royal Patronage.
- ↑ "卷四百十八 列傳第一百七十七 吳潛 程元鳳 江萬里 王爚 章鑑 陳宜中 文天祥" [Volume 418 Biographies 177: Wu Qian, Cheng Yuanfeng, Jiang Wanli, Wang Yue, Zhang Jian, Chen Yizhong, Wen Tianxiang], 宋史 [History of Song] (ภาษาจีน), Fo Guang Shan Nan Tian Institute, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-04, สืบค้นเมื่อ 2024-06-18
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 สิริไพศาล, ศุภการ; บุษบก, พิภู (2018), การแปลและศึกษาเอกสารจีนโบราณเกี่ยวกับไทยในบริบทของเส้นทางสายไหม [The Translation into Thai and Study of Ancient Chinese Records Relating to Thailand in Connection with the Maritime Silk Road] (PDF), กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, pp. 54, 63–65, สืบค้นเมื่อ 2024-06-18
- ↑ 7.0 7.1 Kessler, Adam T (2018). "The Last Days of the Song Dynasty: Evidence of the Flight of Song Officials to Southeast Asia before the Mongol Invasions" (PDF). Journal of the Royal Asiatic Society. Cambridge University Press. 28 (2): 315–337. สืบค้นเมื่อ 2024-06-18 – โดยทาง JSTOR.
- ↑ เลิศพิพัฒน์วรกุล, ทนงศักดิ์ (1 October 2014). "ทองคำเขาชัยสน : ความคืบหน้า (2)". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-30. สืบค้นเมื่อ 2024-06-18.
- ↑ ความสัมพันธ์ไทย - จีน จากเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง, กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2022, pp. 2–6, ISBN 978-616-283-585-8, สืบค้นเมื่อ 2024-06-18
- ↑ ณ นคร, ประเสริฐ (1998), "เรื่องเกี่ยวกับศิลาจารึกสุโขทัย", สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, pp. 121–123, ISBN 974-86374-6-8, สืบค้นเมื่อ 2024-10-30
- ↑ โจว, ต๋ากวาน (1967), บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ (PDF), แปลโดย ยงบุญเกิด, เฉลิม, พระนคร: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, pp. 2, 7, 32, สืบค้นเมื่อ 2024-10-30
- ↑ 12.0 12.1 ประภากร, ภูเทพ (19 December 2022). "ละโว้ในเอกสารโบราณจีน: การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างละโว้และประเทศจีนในเอกสารโบราณและพงศาวดารจีน" [Lawo in Ancient Chinese Manuscripts: A Study of Relationship between Lawo and China in Ancient Chinese Manuscripts and Chinese Ancient Documents]. Journal of Sinology. 17 (1): 87, 100–101. สืบค้นเมื่อ 2024-06-18 – โดยทาง The Sirindhorn Chinese Language and Culture Center.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 ฉัตรพลรักษ์, พรรณี, บ.ก. (31 August 2022). "เสียน-สยาม ไม่ใช่ "สุโขทัย"? และสัมพันธ์ที่ไม่เคยคาดคิดกับมลายู?". ศิลปวัฒนธรรม. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-11. สืบค้นเมื่อ 2024-06-18.
- ↑ Geoff, Wade (2000). "The Ming shi-lu as a Source for Thai History—Fourteenth to Seventeenth Centuries" (PDF). Journal of Southeast Asian Studies. Cambridge University Press. 31 (2): 257. สืบค้นเมื่อ 2024-10-30 – โดยทาง JSTOR.
- ↑ ประภากร, ภูเทพ (22 April 2023). "การศึกษาบันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรละโว้ในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หมิง" [A Study of the Memorandum of Lavo Kingdom in Chinese Documents in the Ming Dynasty]. มนุษยสังคมสาร (มสส.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. 21 (3): 114–116. สืบค้นเมื่อ 2024-06-18 – โดยทาง Thai Journals Online.
- ↑ มูลศิลป์, วุฒิชัย (2019). "ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กับความก้าวหน้าการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย" [Professor Dr. Prasert na Nagara and Development of Sukhothai Studies]. วารสารประวัติศาสตร์: 8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-20. สืบค้นเมื่อ 2024-10-30.
- ↑ ทรัพย์พลอย, อรวรรณ, บ.ก. (2017), พระมหากษัตริย์ของไทย (PDF), กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, p. 19, ISBN 978-616-283-320-5, สืบค้นเมื่อ 2024-10-30
- ↑ Yamamoto, Tatsuro (1989). "Thailand as it is referred to in the Da-de Nan-hai zhi at the beginning of the fourteenth century". Journal of East-West Maritime Relations. 1: 47–58. อ้างใน Geoff, Wade (2000). "The Ming shi-lu as a Source for Thai History—Fourteenth to Seventeenth Centuries" (PDF). Journal of Southeast Asian Studies. Cambridge University Press. 31 (2): 257. สืบค้นเมื่อ 2024-10-30 – โดยทาง JSTOR.
- ↑ ธรรมานนท์, วันวิสาข์ (2022). "ช่วงเวลาการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ปัตตานีโบราณ: ข้อสันนิษฐานจากหลักฐานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีตันหยงลุโละ" [The Presumption of Early Settlement Periods in Pattani: Findings from Archaeological Excavation at Tanyonglulo Site]. ดำรงวิชาการ. 21 (2): 73. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-09-06. สืบค้นเมื่อ 2024-10-30 – โดยทาง Thai Journals Online.