ข้ามไปเนื้อหา

สอ เสถบุตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สอ เศรษฐบุตร)
สอ เสถบุตร
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
4 ธันวาคม พ.ศ. 2490 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491
นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446
เมืองธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต9 กันยายน พ.ศ. 2513 (67 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองพรรคก้าวหน้า
พรรคประชาธิปัตย์
คู่สมรส3 คน
บุตร9 คน
บุพการี
  • สวัสดิ์ เศรษฐบุตร (บิดา)
  • เกษร เศรษฐบุตร (มารดา)
บรรดาศักดิ์เสวกโท
หลวงมหาสิทธิโวหาร
(พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2476)
ชื่อเดิมสอ เศรษฐบุตร

สอ เสถบุตร[1] หรือ เสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร ชื่อเดิม สอ เศรษฐบุตร (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 - 9 กันยายน พ.ศ. 2513) อดีตรัฐมนตรี ในรัฐบาลพันตรีควง อภัยวงศ์ ผู้แต่งพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ฉบับ สอ เสถบุตร ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทย

ประวัติ

[แก้]

เกิดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 (พ.ศ. 2445 ตามการนับศักราชแบบเดิม) บิดาชื่อ นายสวัสดิ์ เศรษฐบุตร บุตรพระประเสริฐวานิช เจ้าภาษีรังนก มารดาชื่อ เกษร (บุตรขุนพัฒน์ นายอาการบ่อนเบี้ยย่านหลังวัดประยุรวงศาวาส กับ นางแจ่ม) สกุลเดิม เหมะพุกกะ

นักเรียนทุนหลวง

[แก้]

จบ ม.8 จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับทุนคิงสกอลาชิพ (ทุนเล่าเรียนหลวง) [2] ไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาธรณีวิทยากับวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และกลับมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2469 ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "รองเสวกเอก หลวงมหาสิทธิโวหาร" ด้วยวัยเพียง 26 ปี[3] และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นปลัดกรมองคมนตรี สังกัดกรมราชเลขาธิการในราชสำนัก

นักโทษกบฏ

[แก้]

ต้องโทษจองจำในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 เสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหารถูกถอดบรรดาศักดิ์[4] ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแต่ในภายหลังก็ได้รับอภัยโทษ ที่ บางขวาง, เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า ระหว่างเป็นนักโทษ ใช้เวลาเขียนพจนานุกรมอังกฤษเป็นไทย (เริ่มแรกใช้คำว่า ปทานุกรม) ทั้งฉบับห้องสมุด และ ฉบับตั้งโต๊ะ ได้ความนิยมยกย่องทั่วประเทศว่าเป็นพจนานุกรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา โดยลักลอบส่งต้นฉบับออกมาตีพิมพ์นอกเรือนจำผ่านทางมารดาที่เดินทางเข้ามาเยี่ยม

นักหนังสือพิมพ์

[แก้]

ด้วยประสบการณ์เมื่อคราวเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "สามัคคีสาร" แห่งสามัคคีสมาคมของคนไทยในอังกฤษ กับ เคยเป็นนักเขียนบทความประจำในหนังสือพิมพ์ "แมนเชสเตอร์ การ์เดี้ยน" จึงได้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ "ศรีกรุง" ,"สยามราษฎร์" และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ "ลิเบอร์ตี้" กับ "ลีดเดอร์"

นักการเมือง

[แก้]

เข้าสู่ถนนการเมือง ร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อพรรค "ก้าวหน้า" ต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี เขต 1 กระทั่งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลพันตรีควง อภัยวงศ์ และได้โอนมาสังกัดกับพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งวันที่ 27 มกราคม 2491 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานคืนยศ เสวกโท บรรดาศักดิ์ หลวงมหาสิทธิโวหาร และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น เบญจมาภรณ์ช้างเผือก ให้กับเขา[5]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

คุณสอ เสถบุตร มีภรรยา 3 คน ภรรยาคนแรกคือคุณนิจ ภรรยาคนที่สองคือคุณสมพงษ์ มีบุตร-ธิดา 6 คน เป็นชาย 4 หญิง 2 ส่วนภรรยาคนสุดท้ายคือคุณ พิมพวัลด์ มีบุตร-ธิดา 3 คน เป็นชาย 1 หญิง 2[6]

อนิจกรรม

[แก้]

ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อเช้าวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2513 รวมอายุได้ 67 ปี 7 เดือน 1 วัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. สอ เศรษฐบุตร เปลี่ยนชื่อเป็น สอ เสถบุตร ช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการงดใช้อักษรไทยหลายตัวที่ซ้ำซ้อนกัน และภายหลังไม่ได้เปลี่ยนกลับตามเดิม
  2. ขณะที่จบ ม.7 ไปสอบได้ทุนรถไฟหลวงไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ได้รับการขอร้องให้สละสิทธิ์ เมื่อจบ ม.8 สอบชิงทุนคิงสกอลาชิพ (ทุนเล่าเรียนหลวง) ได้ที่ 3 ของประเทศจึงไม่ได้รับสิทธิ์ เนื่องจากจำกัดจำนวนผู้รับทุนเพียงสองคน จึงเรียนซ้ำชั้น ม.8 เพื่อสอบชิงทุนอีกครั้ง ครั้งหลังได้ที่ 2 ของประเทศ ผู้ที่ได้ที่ 1 คือ หลวงธาราดิเรก (ฮ่องฮี ลิ้มเจริญ)
  3. พระราชทานยศ
  4. ราชกิจจานุเบกษา 6 มกราคม พ.ศ. 2477
  5. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศบรรดาศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์กลับคืน
  6. 10 กุมภาพันธ์ 2547: รำลึกวันคล้ายวันเกิดท่าน OSK สอ เสถบุตร ครบรอบ 101 ปี
  • พิมพวัลคุ์ เสถบุตร, ชีวิตและการต่อสู้ สอ เสถบุตร บุรุษผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับโชคชะตา, สำนักพิมพ์วิชั่น , ISBN 974-88357-6-6

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]