ข้ามไปเนื้อหา

ศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าจากหนังสือภาษาไทยปี พ.ศ. 2558 แสดงการใช้ไทป์เฟซทั้งรูปแบบที่มีหัว และแบบที่ไร้หัว

ศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ไทย (อังกฤษ: Thai typography) เกี่ยวข้องกับการแสดงอักษรไทยในสิ่งพิมพ์และบนจอ โดยมีที่มาตั้งแต่ข้อความไทยข้อความแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2362 โดยมิชชันนารีชาวตะวันตกในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นผู้ริเริ่มการใช้แท่นพิมพ์และสิ่งพิมพ์ก็กลายเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากขึ้นนับแต่นั้นมา ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้สมัยใหม่และสนับสนุนการปฏิรูปในขณะที่ประเทศปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัย การพิมพ์ตำราเรียน, หนังสือพิมพ์ และนิตยสารสำหรับสำนักพิมพ์ที่กำลังเติบโตในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมด้านศิลปะการใช้ตัวพิมพ์และการออกแบบตัวพิมพ์ (type design) และไทป์เฟซอักษรไทยต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาตลอดยุคสมัย เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใหม่กว่ามาแทนที่ตัวพิมพ์แบบโลหะ (metal type) ปัจจุบันการพิมพ์ดิจิทัลเป็นกลไกขับเคลื่อนสื่อสมัยใหม่ แม้จะมีอุปสรรคในช่วงแรก ๆ เช่น ขาดการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่ตลาดในปัจจุบันก็เห็นการสนับสนุนจากนักออกแบบหลายประเภทและผู้ออกแบบตัวอักษร (type foundries) ดิจิทัล

ในระบบตัวอักษรไทย นอกจากจะมีตัวอักษรอยู่ในบรรทัดข้อความแล้ว ก็ยังสามารถมีตัวอักษรด้านบนหรือด้านล่างบรรทัดข้อความได้ ลักษณะเด่นประการหนึ่งที่โดดเด่นระหว่างแบบอักษรคือ หัว ของอักขระ (head หรือ terminal loop) แม้ว่าหัวนั้นเป็นองค์ประกอบหลักของการเขียนอักษรไทยด้วยลายมือและไทป์เฟซอักษรไทยแบบดั้งเดิม แต่ไทป์เฟซอักษรไทยอันมีลักษณะคล้ายกับไทป์เฟซตัวอักษรละตินแบบไม่มีเชิงและเรียกอีกอย่างว่า คล้ายอักษรโรมัน (Roman-like) นั้น ถูกนำมาใช้ในคริสต์ทศวรรษ 1970 และได้รับความนิยมอย่างสูง มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการโฆษณาและเป็นไทป์เฟซแสดงผล (display typeface) แม้ว่าการใช้ไทป์เฟซอักษรไทยอันมีลักษณะคล้ายกับไทป์เฟซตัวอักษรละตินแบบไม่มีเชิงเหล่านี้กับข้อความเนื้อหายังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ มีการเสนอระบบการจำแนกประเภทของแบบอักษรไทยโดยอิงจากส่วนหัว และคลังศัพท์เฉพาะสำหรับกายวิภาคศาสตร์ของไทป์เฟซ (type anatomy) ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ในขณะที่สาขานี้ก้าวหน้าต่อไป

ประวัติศาสตร์

[แก้]

การพิมพ์ไทยครั้งแรก

[แก้]
หน้า 84 จาก A Grammar of the Thai or Siamese Language ของ เจมส์ โลว์

ก่อนที่จะมีการพิมพ์อักษรไทย มีการพัฒนาอักษรไทยตามธรรมเนียมอักษรวิจิตร โดยบันทึกการเขียนส่วนใหญ่อยู่ในรูปต้นฉบับหนังสือพับที่เรียกว่าสมุดข่อย[1] บันทึกที่กล่าวถึงการพิมพ์ปรากฏครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2231) แห่งอาณาจักรอยุธยา กระนั้นก็ไม่พบหลักฐานการพิมพ์เอกสารภาษาไทย จนกระทั่ง พ.ศ. 2331 ในช่วงต้นอาณาจักรรัตนโกสินทร์ เมื่ออาร์โนด์-อองตวน การ์โนต์ (Arnaud-Antoine Garnault) มิชชันนารีคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ได้นำคำสอนและไพรเมอร์ที่พิมพ์ในเมืองปอนดิเชอร์รี ใน French India อันมีข้อความภาษาไทยในรูปแบบการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน มาเผยแพร่ในสยาม และต่อมาการ์โนลต์ได้ก่อตั้งโรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ [2]

การพิมพ์อักษรไทยนั้นริเริ่มโดยมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ โดยในปี พ.ศ. 2362 แอนน์ ฮัสเซลไทน์ จัดสัน (Ann Hasseltine Judson) มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ในพม่า แปลพระวรสารนักบุญมัทธิวรวมทั้งคำสอนและแผ่นพับเป็นภาษาไทย[2] เธอได้เรียนรู้ภาษาไทยจากเชลยศึกไทยที่ถูกย้ายมาหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 คำสอนดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เมื่อปลายปีที่สำนักพิมพ์ศรีรามปุระมิชชันในศรีรามปุระ, ชานเมืองโกลกาตา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเดนมาร์กในขณะนั้น นี่เป็นการพิมพ์อักษรไทยครั้งแรกสุดที่มีหลักฐาน แม้สำเนาของเอกสารเหล่านั้นจะสูญหายไปหมดตามกาลเวลาก็ตาม[2] ไทป์เฟซนี้อาจถูกสร้างโดยนักพิมพ์มิชชันนารี George H. Hough ซึ่งเคยร่วมงานกับจัดสันในพม่า ฟอนต์เดียวกันนี้อาจจะถูกนำมาใช้ในภายหลังในปี พ.ศ. 2371 เพื่อพิมพ์ A Grammar of the Thai or Siamese Language โดยกัปตัน เจมส์ โลว์ แห่งบริษัทอินเดียตะวันออก[3][4] หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ Baptist Mission ในเมืองโกลกาตา ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของคณะเผยแผ่ศรีรามปุระ และเป็นสื่อสิ่งพิมพ์อักษรไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีสำเนาหลงเหลืออยู่[2]

ในปี พ.ศ. 2366 ซามูเอล มิลตันได้ซื้อชุดฟอนต์ชุดหนึ่งสำหรับดำเนินการพิมพ์ของสมาคมมิชชันนารีลอนดอน (London Missionary Society หรือ LMS) ในสิงคโปร์[2] แผนกสื่อของ LMS ไม่ค่อยจะตีพิมพ์ภาษาไทยซักเท่าไร จนกระทั่งต้นคริสต์ทศวรรษ 1830 เมื่อมิชชันนารีโปรเตสแตนต์เริ่มเข้ามาพำนักในกรุงเทพฯ คำแปลของพระวรสารนักบุญลูกาโดย คาร์ล กุตซ์ลาฟฟ์ ได้จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2377 และเป็นการพิมพ์พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับอักษรไทยครั้งแรกสุดที่ยังมีสำเนาเหลืออยู่[2][5] ไทป์เฟซที่ใช้แตกต่างอย่างชัดเจนจากของโลว์ และอาจเป็นฟอนต์รุ่นใหม่ในภายหลัง[4]

การนำเข้ามาในประเทศไทย

[แก้]
หน้าแรกของบางกอกรีกอเดอฉบับแรก ตีพิมพ์เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2387

การพิมพ์อักษรไทยมาถึงสยามเมื่อแพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกัน แดน บีช แบรดลีย์ มาถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2378 โดยนำแท่นพิมพ์เก่าพร้อมไทป์เฟซตัวอักษรไทย จากสำนักพิมพ์ในสิงคโปร์มาด้วย (ซึ่งได้รับจาก คณะกรรมการคณะกรรมาธิการต่างประเทศแห่งอเมริกา (American Board of Commissioners for Foreign Missions หรือ ABCFM) เมื่อหนึ่งปีก่อน)[2] แบรดลีย์ทำงานร่วมกับผู้สอนศาสนาอีกสองสามคน และทำงานพิมพ์ได้สำเร็จในปีถัดมา ในไม่ช้านักพิมพ์จาก Baptist Board for Foreign Missions ก็มาเข้าร่วมกับพวกเขา ซึ่งนำอุปกรณ์การพิมพ์ใหม่ ๆ มาใช้ จึงสามารถเริ่มผลิตสื่อทางศาสนาเพื่อแจกจ่ายได้ ต่อมาเหล่า ABCFM และBaptist ได้จัดตั้งโรงพิมพ์แยกกัน แต่ในตอนแรก พวกเขาอาศัยการแบ่งปันชุดไทป์เฟซต้นฉบับที่นำมาจากสิงคโปร์[2] ในตอนแรกผู้สอนศาสนาสั่งไทป์เฟซใหม่จากสิงคโปร์และปีนัง แต่พบว่าคุณภาพยังไม่พึงพอใจ ในที่สุดพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์ไทป์เฟซของตัวเองในปี พ.ศ. 2384[6][7]

แม้ว่าเหล่ามิชชันนารีจะมิได้ทำให้คนเปลี่ยนศาสนาเป็นวงกว้าง แต่เทคโนโลยีการพิมพ์ที่พวกเขาริเริ่มมีผลกว้างขวาง และแบรดลีย์ก็เป็นที่รู้จักในฐานะนักพิมพ์และได้ผลิตผลงานที่มีอิทธิพลมากมาย ในปี พ.ศ. 2382 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ว่าจ้าง ABCFM ให้จัดทำเอกสารราชการฉบับแรกของประเทศ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกาห้ามใช้หรือขายฝิ่นจำนวน 9,000 ฉบับ[a][2][7] แบรดลีย์ประพันธ์และพิมพ์บทความทางการแพทย์หลายฉบับ ออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกคือบางกอกรีกอเดอในปี พ.ศ. 2387 และตีพิมพ์หนังสือหลายเล่ม รวมทั้ง นิราศลอนดอน ซึ่งเป็นงานไทยเล่มแรกที่มีการชำระค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ ในปี พ.ศ. 2404[3] การพิมพ์ของเขาได้รับความสนใจจากเชื้อพระวงศ์ และคนไทยชั้นสูง โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ) ซึ่งก่อตั้งโรงพิมพ์ของตนเองที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารและสร้างไทป์เฟซไทยของตนเอง และสร้างสรรค์วิธีการเขียนใหม่ คืออักษรอริยกะ เพื่อพิมพ์ภาษาบาลีที่ใช้เป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนา[b][2][6] เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงก่อตั้งสำนักพิมพ์ใน พระบรมมหาราชวังซึ่งจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์อย่างเป็นทางการ รวมทั้งราชกิจจานุเบกษาที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่[3][6]

ไทป์เฟซแรกสุดที่ใช้โดยโรงพิมพ์เหล่านี้มีพื้นฐานมาจากรูปแบบการเขียนด้วยลายมือในยุคนั้น มีลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่เส้นมีความหนาเท่ากัน และมีลักษณะเอียงตลอด ขณะที่แบรดลีย์ขัดเกลางานฝีมือของเขา เขาก็เปลี่ยนไปใช้ไทป์เฟซตั้งตรงโดยมีโครงร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง (ดังที่เห็นในบางกอกรีกอเดอ) และต่อมาก็ได้ใช้เส้นโค้งมนกับ นิราศลอนดอน งานของเขาจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อนักพิมพ์รุ่นหลัง[1][8]

การแพร่หลาย

[แก้]

การพิมพ์ได้ปูทางไปสู่ความทันสมัยของประเทศในสมัยรัชกาลถัดมาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2411-2453) แซมมวล เจ. สมิธ กับนักพิมพ์รายอื่น ๆ ร่วมงานกับแบรดลีย์ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1860 และพวกเขาริเริ่มการตีพิมพ์หนังสือ โดยผลิตหนังสือเกี่ยวกับข้อเท็จจริงมากมายรวมถึงวรรณกรรมยอดนิยม[6][9] การเผยแพร่ข้อความอย่างกว้างขวางซึ่งก่อนหน้านี้จำกัดอยู่เพียงต้นฉบับได้เปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ของสังคม โรงพิมพ์เอกชนหลายสิบแห่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษต่อ ๆ มา และห้องสมุดวชิรญาณได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ส่วนกลางและหน่วยงานกำกับดูแลการตีพิมพ์ โดยดูแลการผลิตหนังสือประเภทใหม่ที่เรียกว่า หนังสืองานศพและมีผลช่วยสร้างมาตรฐานอักขรวิธีของภาษา ไทป์เฟซที่โดดเด่นในยุคนี้เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันในชื่อ"ธงสยาม" ซึ่งตั้งชื่อตามที่ใช้ใน กฎข้อบังคับเกี่ยวกับธงสำหรับราชอาณาจักรสยาม พิมพ์ในปี พ.ศ. 2442 โดย W. Drugulin ในไลพ์ซิช ประเทศเยอรมนี [9]

เครื่องพิมพ์ดีดก็ได้รับนำเข้ามาในประเทศในเวลานี้ เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกได้รับการพัฒนาโดย Edwin McFarland ในปี พ.ศ. 2435 เครื่องพิมพ์ดีดได้รับการนำไปใช้อย่างกว้างขวางจากรัฐบาล และช่วยเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เป็นระบบราชการสมัยใหม่ พวกเขายังได้แก้ไขภาษาด้วย เนื่องจากเครื่องพิมพ์ดีดในสมัยนั้นไม่สามารถรองรับอักษรไทยได้ทั้งหมด McFarland จึงตัดสินใจตัดพยัญชนะที่ใช้น้อยออกไปสองตัว คือ ฃ และ ฅ[10][11]

โรงเรียนในระบบแห่งแรกก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ขยายออกไปมากขึ้นภายใต้รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2453-2468) จึงมีความต้องการหนังสือเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการสอน โรงพิมพ์หลายแห่งที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตหนังสือเรียน ได้แก่ สำนักพิมพ์อักษรนิตย์ ซึ่งมีไทป์เฟซวิทยาจันทร์ อันเป็นที่โดดเด่นในสมัยนั้น นอกจากนี้ คณะผู้แทนคาทอลิกกรุงเทพฯ ยังทรงอิทธิพลในด้านการบุกเบิกการศึกษา และก่อตั้ง โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ ผลงานที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อัสสัมชัญ ได้แก่ หนังสือเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา ดรุณศึกษา โดยบาทหลวงและอาจารย์ชาวฝรั่งเศส เอฟ. ฮิแลร์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2457 และยังคงพิมพ์ต่อไปในอีกหนึ่งศตวรรษต่อมา ไทป์เฟซ ฝรั่งเศส​ ซึ่งออกแบบในปี พ.ศ. 2456​ เป็นที่ชื่นชอบในบรรดา​เหล่าผู้พิมพ์ โดยเป็นไทป์เฟซชนิดแรกที่ใช้ลายเส้นหนาและบาง สะท้อนถึงไทป์เฟซละตินแบบมีเชิงเก่า และได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีไทป์เฟซหลายตัวที่พัฒนาต่อมาจากฝรั่งเศสที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคดิจิทัล เช่น กินรี (Kinnari) และอังสนา (Angsana)[12]

ปกนวนิยายแผลเก่า ตีพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2479

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังเป็นจุดเริ่มต้นของสื่อที่เจริญรุ่งเรือง และอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ก็เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ 1930 ตามมาด้วย นิตยสารเยื่อกระดาษ[13][14] เวทีใหม่สำหรับวาทกรรมสาธารณะมีส่วนทำให้มีการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี พ.ศ. 2475 และในขณะที่หนังสือพิมพ์เริ่มมีเรื่องการเมืองมากขึ้น ความต้องการพาดหัวข่าวประเภทต่าง ๆก็มีมากขึ้นตามไปด้วย มีการสร้างไทป์เฟซใหม่จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากไทป์เฟซไม้แกะสลักที่นำเข้ามาโดยโดยผู้อพยพชาวจีน ซึ่งครองตลาดเมื่อมีการเปิดตัวบริษัทผลิตไทป์เฟซ (type foundry) โดยเฉพาะ การพิมพ์และการเรียงพิมพ์กลายเป็นงานฝีมือที่ได้รับการยอมรับ และโรงเรียนการค้าโดยเฉพาะเริ่มสอนในปี พ.ศ. 2475 ฟอนต์ตัวเอียงแท้ (italic) และตัวเอียงเทียม (oblique) ถูกนำมาใช้ โดยตัวอย่างแรกสุดพบในปี พ.ศ. 2468[13] และฟอนต์ตัวหนาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่นอกเหนือจากขนาดตัวอักษรที่ละเอียดยิ่งขึ้นแล้ว ก็ไม่ค่อยมีนวัตกรรมใด ๆ ในด้านไทป์เฟซตัวข้อความมาเป็นหลาย ๆ ทศวรรษ ในขณะเดียวกัน มีเทรนด์เกิดขึ้นในรูปแบบของร้านขายงานฝีมือที่ให้บริการสร้างข้อความตกแต่งที่วาดด้วยมือตามสั่งสำหรับการพิมพ์แผ่นทองแดง รูปแบบข้อความแบบบล็อกเหลี่ยมเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ และใช้กับปกนิตยสารและไทป์เฟซโลโก้โดยเฉพาะ[14] นอกจากนี้ยังได้รับความนิยมในการทำป้าย โดยส่วนใหญ่มาแทนที่สไตล์นริศ (ตั้งชื่อตามผู้ออกแบบคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) คล้ายอักษรนิลที่ใช้มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19[15][16]

เปลี่ยนจากไทป์เฟซโลหะ

[แก้]

ระหว่างปี 1957 ถึง 1962 เทคโนโลยีการพิมพ์ของการเรียงพิมพ์โลหะร้อน (hot metal typesetting) และการเรียงพิมพ์ด้วยแสง (phototypesetting) ได้รับการริเริ่มโดยผู้จัดพิมพ์รายใหญ่ ไทยวัฒนาพานิช (Thai Watana Panich หรือ TWP) นำระบบโมโนไทป์ มาใช้ และร่วมมือกับโมโนไทป์คอร์ปอเรชั่นเพื่อพัฒนาไทป์เฟซโมโนไทป์ที่มีอักษรไทยสำหรับการใช้งาน ในช่วงเวลาเดียวกันโรงพิมพ์คุรุสภา (หน่วยงานย่อยของกระทรวงศึกษาธิการ) ก็ได้พัฒนาแบบอักษรของคุรุสภา เพื่อใช้กับเครื่องอัดภาพ และกระทรวงศึกษาธิการได้รับทุนจาก Tokyo Book Development Center และ ยูเนสโกเพื่อพัฒนาไทป์เฟซใหม่ ปัจจุบันไทป์เฟซนั้นรู้จักกันในชื่อยูเนสโก ไทป์เฟซเหล่านี้มีความกว้างของลายเส้นที่สม่ำเสมอและเส้นโค้งที่เรียบ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมในวงกว้าง และในไม่ช้าระบบโมโนไทป์ก็ล้าสมัยเนื่องจากมีการพิมพ์ออฟเซต ข้อยกเว้นคือ Thai Medium 621 ซึ่งนำมาใช้กับหนังสือเรียนของ TWP ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และยังคงได้รับความนิยมในทศวรรษต่อ ๆ มา[17]

แผ่นตัวอักษรฟอนต์มานพติก้าแบบ dry-transfer

ในคริสต์ทศวรรษ 1970 ได้นำ ตัวอักษรแบบ dry-transfer มาใช้งานในประเทศไทยโดย DHA Siamwalla ผ่านทางความร่วมมือกับ Mecanorma จากเนเธอร์แลนด์ ความเข้ากันได้กับเทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซตใหม่ช่วยเพิ่มความนิยมในการสร้างตัวอักษรแสดงผลในการโฆษณา การพิมพ์ข่าว และการสร้างสื่อทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2516-2519 ฟอนต์ส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบโดยมานพ ศรีสมพร ผู้สร้างนวัตกรรมครั้งสำคัญในรูปแบบของตัวอักษรแบบไม่มีหัว ซึ่งละทิ้งรูปทรงตัวอักษรธรรมดา ๆ ไปสู่รูปแบบที่เรียบง่ายและจุลนิยม ไทป์เฟซที่รู้จักกันดีที่สุดคือมานพติก้าได้รับการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความรู้สึกของแบบอักษรละตินแบบไม่มีเชิงที่ชื่อเฮลเวติกา และเปิดตัวในปี พ.ศ. 2516 สไตล์นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าทันสมัยและอินเทรนด์ ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโฆษณา และยังคงเป็นเช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน[18]

ในบรรดาผู้จัดพิมพ์ การเรียงพิมพ์ด้วยแสง เริ่มถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงคริสต์ทศวรรษปี 1970-1980 ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของไทป์เฟซโลหะในอุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทย ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ขายดีของประเทศ พัฒนาแบบอักษรใหม่สำหรับใช้กับเครื่อง Compugraphic ในปี พ.ศ. 2517

ไทป์เฟซ Tom Light ออกแบบโดย ทองเติม สมรสุต และเผยแพร่โดย บริษัท อีสท์ เอเชียติก (ประเทศไทย) ถูกสร้างขึ้นเป็นฟอนต์ข้อความสำหรับหนังสือพิมพ์ และมีการออกแบบทางเรขาคณิตที่สื่อถึงความรู้สึกทันสมัย ไทป์เฟซอื่น ๆ เช่น ชวนพิมพ์ อู่ทอง และคลองล้าน เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ[19]

ศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ดิจิทัล

[แก้]
การพัฒนาไทป์เฟซดิจิทัลในยุคแรก ๆ ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยผู้ที่ชื่นชอบการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น ภาณุทัต เตชะเสน นักศึกษาแพทย์ที่ผลิตแบบอักษรซีรีส์ JS[20]

ระบบคอมพิวเตอร์ที่รองรับภาษาไทยถูกนำมาใช้ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 ในรูปแบบของเครื่องเจาะบัตรและเครื่องพิมพ์แบบเรียงแถวโดย IBM การแสดงข้อความภาษาไทยแบบโต้ตอบบนหน้าจอเริ่มมีให้ใช้ในช่วงคริสต์ทศวรรษปี 1980 และโปรแกรมประมวลผลคำที่ใช้ DOS เช่น CU Writer ซึ่งเปิดตัวในปี พ.ศ. 2532 ก็ได้นำไปใช้อย่างกว้างขวาง[21] การมาถึงของการพิมพ์บนเดสก์ท็อปมาพร้อมกับแมคอินทอช ซึ่งนำเข้ามาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 โดย Sahaviriya OA ซึ่งเป็นผู้พัฒนาฟอนต์คอมพิวเตอร์ไทยตัวแรกในรูปแบบ PostScript จากนั้นไม่นานบริษัทออกแบบตัวอักษรโดยเฉพาะมากมายได้เผยแพร่ไทป์เฟซที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม โดยเฉพาะซีรีส์ DB โดยสุรพล เวสารัชเวช (Suraphol Vesaratchavej) และปริญญา โรจรายานนท์ (Parinya Rojarayanond) จาก Dear Book (ต่อมารู้จักกันในชื่อ DB Design) และซีรีส์ PSL โดย PSL SmartLetter ไทป์เฟซใหม่เหล่านี้ เช่นเดียวกับฟอนต์ดิจิทัลที่มีพื้นฐานมาจากไทป์เฟซคลาสสิกก่อนหน้านี้ ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในขณะที่อุตสาหกรรมสื่อเฟื่องฟูท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะหยุดชะงักจากพิษวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540[22]

ในช่วงแรกของการใช้คอมพิวเตอร์ การแพร่กระจายของระบบซอฟต์แวร์ทำให้เกิดปัญหาการทำงานร่วมกัน ส่งผลให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ออกมาตรฐานหลายประการที่ครอบคลุมการจัดการภาษา สำหรับฟอนต์ทรูไทป์ การวางตำแหน่งที่ถูกต้องของอักขระที่บางตัวจำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์พื้นที่ใช้งานส่วนตัว แต่สิ่งเหล่านี้ถูกกำหนดไว้แตกต่างกันระหว่างระบบวินโดวส์และระบบปฏิบัติการแมคอินทอช ส่งผลให้ไฟล์ฟอนต์สำหรับแต่ละระบบเข้ากันไม่ได้ ซอฟต์แวร์บางตัว โดยเฉพาะของ Adobe มีปัญหาที่มีมายาวนานเกี่ยวกับการวางตำแหน่งเครื่องหมายเหนือบรรทัด การนำรูปแบบโอเพนไทป์มาใช้คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้[21]

กฎระเบียบด้านลิขสิทธิ์ยังล่าช้ากว่านวัตกรรมที่รวดเร็วและการแพร่กระจายของข้อมูล และผู้ออกแบบไทป์เฟซก็ประสบปัญหาในการสร้างรายได้จากผลงาน ซึ่งนำไปสู่การตกต่ำในช่วงแรก[23]แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่ให้ความคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปี พ.ศ. 2537 การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทป์เฟซก็ยังไม่ชัดเจน ปัญหานี้กลับมาเป็นเรื่องใหญ่ในปี พ.ศ. 2545 เมื่อ PSL เริ่มฟ้องร้องผู้จัดพิมพ์ที่ใช้ไทป์เฟซของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากละเมิดลิขสิทธิ์ สิ่งนี้นำไปสู่การถกเถียงอย่างดุเดือดและข้อขัดแย้งกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ ซึ่งเชื่อว่าการออกแบบฟอนต์เป็นสาธารณสมบัติ และมองว่าแนวทางปฏิบัติของ PSL เป็นการดำเนินคดีแบบเอาเปรียบ ในท้ายที่สุด การรณรงค์นี้นำไปสู่การตระหนักรู้และการยอมรับฟอนต์คอมพิวเตอร์ในฐานะสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้มีคำตัดสินให้ PSL ชนะในปี 2546 ว่าฟอนต์ได้รับการคุ้มครองในฐานะโปรแกรมคอมพิวเตอร์[20][24]

ปริญญา โรจรยานนท์ บรรยายที่ค่ายเยาวชนเพื่อการออกแบบตัวอักษรในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 เพื่อส่งเสริมการออกแบบตัวอักษร

หนึ่งในการตอบสนองต่อปัญหานี้คือการแพร่หลายของฟอนต์คอมพิวเตอร์ที่ให้ใช้งานกันได้อย่างเสรี ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2544 NECTEC ได้เปิดตัวแบบอักษร 3 แบบ ได้แก่ กินรี (Kinnari) ครุฑ (Garuda) และนรสีห์ (Norasi) ภายใต้โครงการ ฟอนต์แห่งชาติ โดยตั้งใจให้ไทป์เฟซเหล่านี้เป็นทางเลือกสาธารณะแทนไทป์เฟซเชิงพาณิชย์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแต่มีการจำกัดใบอนุญาต ซึ่งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการและแอปพลิเคชันหลัก ๆ[23] (สำหรับวินโดวส์ ไทป์เฟซเหล่านี้เป็นชุดไทป์เฟซซีรีส์ UPC ที่สร้างโดย Unity Progress ซึ่งอิงโครงมาจากไทป์เฟซหลัก ๆ ก่อนหน้านี้) โครงการนี้ได้รับการขยายต่อในปี พ.ศ. 2550 เมื่อสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกไทป์เฟซสิบสามตัวที่ผ่านการประกวดระดับประเทศ ไทป์เฟซตัวที่โด่งดังมากที่สุดในหมู่ไทป์เฟซเหล่านั้นคือสารบรรณ (Sarabun) ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 ได้รับการจัดตั้งให้เป็นไทป์เฟซอย่างเป็นทางการสำหรับเอกสารราชการทั้งหมด แทนที่ไทป์เฟซอังสนา ที่เป็นมาตรฐานโดยพฤตินัยมาก่อนหน้านี้ (ตระกูลไทป์เฟซ UPC ที่อิงโครงมาจากฝรั่งเศส)[25] นอกจากนี้ เว็บไซต์ชุมชน f0nt.com ซึ่งโฮสต์ไทป์เฟซมากมายที่ให้สิทธิ์ผู้อื่นไปใช้ได้อย่างเสรี โดยซึ่งส่วนใหญ่ผู้สร้างไทป์เฟซเหล่านั้นเป็นมือสมัครเล่น นอกจากนี้ สมาคมการค้าของอุตสาหกรรมการพิมพ์ (ก่อตั้งขึ้นในปี 2547)[26] ยังได้เปิดตัวไทป์เฟซที่ให้สิทธิ์ผู้อื่นไปใช้ได้อย่างเสรีของตนเองในเวลาต่อมา[20]

ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงนำไปสู่การฟื้นคืนชีพอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการออกแบบไทป์เฟซดิจิทัล โดยมีผู้เล่นรายใหม่เข้าร่วมตลาด เช่น คัดสรร ดีมาก (Cadson Demak) ที่เน้นไปที่การออกแบบแบบสั่งทำสำหรับองค์กร โดยอนุทิน วงศ์ศุลกากรณ์หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคัดสรร ดีมากในปี พ.ศ. 2545 ได้ออกแบบฟอนต์แบบกำหนดเองตัวแรก ๆ ในตลาดให้กับ เอไอเอส ซึ่งเป็นหนึ่งในสามผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หลักของประเทศไทย ซึ่งต้องการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่ทั้งสามบริษัทใช้ไทป์เฟซเดียวกันในการทำการตลาด[27][28] อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นตั้งแต่นั้นมา และสาขาการพิมพ์ดิจิทัลและการออกแบบตัวอักษรก็เป็นที่สนใุของสาธารณชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2010 ในปี พ.ศ. 2556 ผู้ออกแบบไทป์เฟซดิจิทัล 12 แห่งในประเทศไทยได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมศิลปะการใช้ตัวพิมพ์กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม[29][30][31] แนวโน้มที่เห็นในช่วงเวลานี้คือไทป์เฟซอักษรไทยไม่มีหัว (หรือ "คล้ายโรมัน") อย่างที่มานพได้ริเริ่ม ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มเห็นใช้กับข้อความเนื้อหาในนิตยสารบางฉบับในปี พ.ศ. 2542 ผู้ออกแบบไทป์เฟซยังได้ประดิษฐ์ไทป์เฟซอักษรไทยที่มีช่วงน้ำหนักฟอนต์ที่กว้างขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ไทป์เฟซอักษรไทยไม่มีหัว แม้ว่าการใช้งานยังคงเป็นประเด็นถกเถียงก็ตาม[1][32]

กายวิภาคศาสตร์ของไทป์เฟซ

[แก้]

ยังไม่มีคำศัพท์มาตรฐานสำหรับ กายวิภาคศาสตร์ของไทป์เฟซอักษรไทย และผู้ออกแบบไทป์เฟซได้กล่าวถึงลักษณะต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น ปริญญา ในปี พ.ศ. 2546 อธิบายไว้ 6 แบบ ได้แก่ หัว หาง ห่วงกลางเส้น ฟันปลา จะงอยปาก และธง[25][32] คนอื่น ๆ ยังกล่าวถึงการลากเส้น ฐาน/เท้า และเดือย/รยางค์ด้วย[1][33]

Thai typeface anatomy
กายวิภาคศาสตร์แบบอักษรไทย
หัว
หัว (head หรืออาจเรียกว่า first loop หรือ terminal loop) เป็นหนึ่งในลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของอักษรไทย มักจะปรากฏเป็นหัวธรรมดา (เช่น บ) หัวในห่วงหรือมงกุฏ (ข) และหัวในมงกุฏหยัก (ฃ) - หัวอาจอยู่ทางซ้ายหรือขวาก็ได้ และอาจปรากฏด้านบน (พ/ผ), ล่าง (ภ/ถ) หรือตรงกลางตัวอักษร (ด/ค)
หาง
หางอาจชี้ขึ้น (เช่น ป), ชี้ลง (ฤ) หางอาจโค้ง/เฉียง (ศ) หางเป็นวงหรือขด (ฬ) หรืออยู่กลางตัวอักษร (ษ) โดยส่วนใหญ่จะอยู่เหนือ เส้นเฉลี่ย หรือต่ำกว่าเส้นฐาน
ห่วงกลางเส้น
ห่วงกลางเส้นหรือหัวที่สองสามารถอยู่ด้านบนได้ (แตะเส้นเฉลี่ย เช่น ห) หรือด้านล่าง (แตะเส้นฐาน เช่น ม)
ฟันปลา
ฟันปลาหรือเส้นขาด นอกเหนือจากในมงกุฏ ยังพบในทรงพุ่ม (เช่น ต) และหางลงมาแบบวนซ้ำของ ฏ
จะงอยปาก
จะงอยปากจะปรากฏในอักขระหลายตัว (เช่น ก) โดยมีรูปลักษณ์เดียว กระนั้นการออกแบบจะงอยแตกต่างกันไปตามแต่ละไทป์เฟซ
ธง
ธงหรือเส้นสองชั้น ใช้ในพยัญชนะ ฐ, ธ, ร และสระ โ ธงไม่ได้สร้างลักษณะที่ตัดกันกับตัวอักษรอื่น ๆ
การลากเส้น
ลักษณะเด่นของเการลากเส้นหรือเส้นได้แก่ ก้าน (เส้นแนวตั้งด้านหน้า ด้านหลัง หรือเส้นกลาง) เส้นทรงพุ่มหรือเส้นบน (โดยปกติจะเป็นส่วนโค้ง) เส้นฐานหรือเส้นล่าง (เส้นแนวนอนตามแนวเส้นฐาน) เส้นเฉียง และรอยพับหรือการลากเส้นย้อนกลับ
ฐาน
ฐานหรือเท้าพบในอักขระไม่กี่ตัวไม่ว่าจะติดไว้กับส่วนเส้นลากลงกลายเป็นส่วนของหาง (ฎ และ ฏ) หรือไม่ติดกับหาง (ญ และ ฐ)
เดือย
เดือยหรือรยางค์เป็นองค์ประกอบที่พบในไทป์เฟซบางตัว ปรากฏเหมือนเชิงของอักษรละตินที่มุมของฐานของอักขระบางตัว (เช่น ที่มุมล่างซ้ายของ บ ในไทป์เฟซกินรี)

รูปแบบและการจำแนกไทป์เฟซ

[แก้]

รูปแบบการเขียนด้วยลายมือตามธรรมเนียลของอักษรไทยแบ่งออกเป็นสองประเภทกว้าง ๆ คือ แบบเชิงมุมและแบบกลม (คนส่วนใหญ่เขียนแบบเชิงมุม) แบบเชิงมุมซึ่งเขียนกันโดยทั่วไปจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างน้อย อาจได้มาจากประเพณีการเขียนด้วยลายมือในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (แม้ว่าจะสูญเสียความลาดเอียงที่เห็นในต้นฉบับทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไปแล้วก็ตาม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบอักษรวิจิตรอาลักยังคงเกี่ยวข้องกับประเพณีทางศิลปะของราชอาลักษณ์ และใช้สำหรับฉบับต้นฉบับอย่างเป็นทางการของรัฐธรรมนูญ[1][25]

ไทป์เฟซอักษรไทยสามารถจำแนกได้เป็นแบบมุมหรือแบบกลม กระนั้นไทป์เฟซอักษรไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นแบบโค้งมน ดังนั้นความแตกต่างจึงไม่สะท้อนถึงศิลปะการใช้ตัวพิมพ์อีกต่อไป ไทป์เฟซอักษรไทยส่วนใหญ่ยังมีตัวอักษละตินพื้นฐานด้วย และบางแอปพลิเคชันจัดประเภทไทป์เฟซอักษรไทยเป็นไทป์เฟซแบบมีเชิงหรือไทป์เฟซแบบไม่มีเชิงตามอักษรละตินเหล่านั้น กระนั้นการจัดประเภทเหล่านี้มักจะไม่ค่อยมีผลกับตัวอักษรไทยในไทป์เฟซเหล่านั้นก็ตาม นอกจากนี้ไทป์เฟซอักษรไทยมักจะถูกจัดหมวดหมู่ตามรูปร่างของส่วนหัวของตัวอักษรไทยเป็นหลัก กล่าวคือ อักษรไทยมีหัวหรือไม่ แม้ว่าไทป์เฟซก่อนหน้านี้ที่ตัดทอนหรือละเว้นหัวได้นำมาใช้ในการทำป้ายและเป็นข้อความตกแต่งตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่รูปแบบไร้หัว "คล้ายโรมัน" ที่นำมาใช้ในคริสต์ทศวรรษ 1970 นั้นเป็นแบบไร้หัวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในยุคของการออกแบบไทป์เฟซดิจิทัล[1]

การจำแนกไทป์เฟซอักษรไทยยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยได้รับข้อมูลจากองค์กรและนักวิชาการหลายแห่ง แม้ว่าสำนักงานราชบัณฑิตยสภาและ NECTEC ได้รวมระบบการจำแนกประเภทไว้ในแนวทางการออกแบบไทป์เฟซที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2540 และ 2544 แต่ก็ไม่ได้รับการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง และระบบมาตรฐานยังไม่ได้รับการยอมรับ[25][34] เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทออกแบบไทป์เฟซชื่อคัดสรร ดีมาก ได้มีส่วนร่วมในรูปแบบการจำแนกไทป์เฟซที่กำหนดไทป์เฟซให้กับสามหมวดหมู่หลัก ได้แก่ ดั้งเดิม (มีหัว) แสดงผล (ร่วมสมัย) และทันสมัย (ไม่มีหัว) โดยหมวดหมู่หลักทั้งสามหมวดหมู่นี้มีประเภทย่อยหลายประเภท[1]

ดั้งเดิม

[แก้]

ไทป์เฟซอักษรไทยดั้งเดิมหรือแบบมีหัวเป็นเหมือนภาพสะท้อนของการเขียนด้วยลายมือแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นต้นแบบของไทป์เฟซอักษรไทยตัวแรก ๆ แบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้ดังนี้:

ลายมือ
ลายมือ (Handwriting) เป็นประเภทย่อยของไทป์เฟซอักษรไทย ไทป์เฟซอักษรไทยในยุคแรก ๆ ส่วนใหญ่จัดเป็นประเภทย่อยลายมือ เช่นเดียวกับไทป์เฟซที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากสไตล์การเขียนด้วยลายมืออักษรวิจิตร ไทป์เฟซจำนวนมากในประเภทย่อยนี้มีรูปร่างตัวอักษรเชิงมุม ปัจจุบันใช้ไทป์เฟซในประเภทย่อยนี้เพื่อสื่อถึงความเคารพนับถือเป็นหลัก (ตัวอย่าง: Bradley Square, Bradley Curved, ทองสยาม (Thong Siam))
เชิงเก่า
เชิงเก่า (Old style) ได้รับอิทธิพลจากไทป์เฟซละตินแบบมีเชิงเก่า ประเภทย่อยนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2456 รูปแบบนี้ใช้ลายเส้นหนาสลับกับบาง และใช้สำหรับเอกสารราชการในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 (ตัวอย่าง: อังสนายูพีซี (Angsana UPC), กินรี (Kinnari))
ไทป์เฟซไม้
ไทป์เฟซไม้ (Wood type) ได้รับการพัฒนาให้เป็นไทป์เฟซดิสเพลย์สำหรับพาดหัวข่าวขนาดใหญ่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 โดยผู้อพยพชาวจีนเป็นผู้ริเริ่มประเภทย่อยนี้ และบางไทป์เฟซอาจอยู่ในรูปไทป์เฟซไม้ ก่อนที่จะหล่อด้วยโลหะ (ตัวอย่าง: DB Zair, DB PongMai, DB PongRong)
มนุษยนิยม
ประเภทย่อยมนุษยนิยม (Humanist) นั้นสร้างสรรค์ครั้งแรกโดยโมโนไทป์ สำหรับหนังสือเรียนของไทยวัฒนาพานิช สไตล์นี้ได้รับอิทธิพลจากแบบอักษรไม่มีเชิงมนุษยนิยม แบบตะวันตก และใช้ลายเส้นแบบโมโนไลน์ที่มีรูปลักษณ์ที่คมชัด (ตัวอย่าง: Monotype Thai Medium 621, ทีเอฟ พิมาย (TF Pimai), บราวเลีย ยูพีซี (Browallia UPC), ครุฑ Garuda())
เรขาคณิต
ประเภทย่อยเรขาคณิต (Geometric) นี้ใช้การออกแบบทางเรขาคณิตเพื่อสร้างรูปลักษณ์ล้ำอนาคต โดยได้รับอิทธิพลจากไทป์เฟซละตินแบบไม่มีเชิงเรขาคณิต รูปแบบดั้งเดิมของประเภทย่อยนี้คือ Tom Light ได้รับการออกแบบเป็นครั้งแรกเป็นฟอนต์เนื้อความสำหรับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (ตัวอย่าง: Tom Light (C-1), EAC Tomlight, Cordia UPC)
มนุษยนิยมเรขาคณิต
ประเภทย่อยมนุษยนิยมเรขาคณิต (Geometric humanist) นั้นถือกำเนิดจากไทป์เฟซชวนพิมพ์ (ChuanPim) ซึ่งเป็นไทป์เฟซตัวแรกที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงการผสมผสานเข้ากับอักษรละตินได้เป็นพิเศษ (ตัวอย่าง: EAC ชวนพิมพ์)
เรขาคณิตใหม่
ประเภทย่อยเรขาคณิตใหม่ (Neo-geometric) นั้นเปฬนต้นแบบของไทป์เฟซทองหล่อซึ่งสร้างสรรค์โดยคัดสรร ดีมาก มีช่องว่างมากขึ้นเพื่อเพิ่มน้ำหนักแบบอักษร สไตล์นี้มีการออกแบบแบบโมดูลาร์ โดยมีเส้นขีดในส่วนที่แยกจากกัน (ตัวอย่าง: ทองหล่อ (ThongLor))

แสดงผล

[แก้]

หมวดหมู่แสดงผลประกอบด้วยไทป์เฟซที่มีที่มาจากสไตล์ของการสร้างตัวอักษรสำหรับแสดงผลด้วยมือ ซึ่งออกแบบมาเพื่อการใช้งานต่าง ๆ เช่น ป้าย ปกหนังสือ และฉลาก หมวดหมู่นี้แบ่งออกเป็นสองประเภทย่อย: สคริปต์ และ การตกแต่ง ประเภทย่อยสคริปต์ประกอบด้วยตัวอักษรที่มีรูปทรงโดดเด่นตามอุปกรณ์การเขียน ในขณะที่ประเภทการตกแต่งครอบคลุมการออกแบบที่หลากหลาย รวมถึงรูปแบบที่ผสมผสานรูปแบบดั้งเดิมหรือลวดลายเก๋ ๆ สไตล์ที่โดดเด่นในประเภทสคริปต์คืออักษรนิล ในขณะที่คอนสตรัคติวิสต์เป็นหนึ่งในสไตล์การตกแต่งที่สำคัญ[1]

อักษรนิล
อักษรนิล (Blackletter) มีอีกชื่อหนึ่งว่ารูปแบบ ริบบิ้น (ribbon) ตามลักษณะของเส้นหนาและบางที่เกิดจากปากกาปลายแหลม มีการใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับป้ายแสดงสินค้าตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่รู้จักกันดีที่สุดคือสไตล์นริศ ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นแบบอักษรดิจิทัล (ตัวอย่าง: ไทยนริศ (Thai Naris), ABC Burgbarn)
คอนสตรัคติวิสต์
คอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism) เป็นรูปแบบบล็อกเชิงมุมซึ่งมีผลกระทบต่อการมองเห็นสูง เคยถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับปกนิตยสารเยื่อกระดาษ และยังเป็นที่นิยมของคณะราษฎร (ผู้ครองอำนาจหลังการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) แม้ว่าการใช้งานอย่างเป็นทางการหมดความนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ตาม สไตล์นี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับไทป์เฟซดิจิทัลบางตัว (ตัวอย่าง: Tualiam, 9 LP)

ทันสมัย

[แก้]

ไทป์เฟซทันสมัย (หรืออาจเรียกว่า "ไม่มีหัว" หรือ "แบบโรมัน") ซึ่งสะท้อนถึงแรงบันดาลใจเดิมในการเลียนแบบรูปลักษณ์ของไทป์เฟซละตินแบบไม่มีเชิง ส่วนใหญ่มักจะไม่มีหัว กระนั้น บางไทป์เฟซอาจยังคงเศษเสี้ยวของหัวไว้เล็กน้อย มีสามประเภทย่อย:[1]

โมเดิร์น
ไทป์เฟซโมเดิร์น (Modern) เป็นรูปแบบสมัยใหม่ที่ริเริ่มด้วยตัวอักษรแบบถ่ายโอนแห้ง โดยมานพติก้าถือเป็นไทป์เฟซแรกในประเภทย่อยนี้ การออกแบบที่เรียบง่ายและไร้หัวเป็นการเลียนแบบภาพลักษณ์ของไทป์เฟซอักษรละตินแบบไม่มีเชิง และได้รับการออกแบบมาเป็นไทป์เฟซแสดงผลเป็นหลัก (ตัวอย่าง: มานพติก้า (Manoptica), มานพใหม่ (Manop Mai))
หัวซ่อนเร้น
ไทป์เฟซหัวซ่อนเร้น (Obscure loop) นั้นลดทอนส่วนหัวของอักขระลงอย่างมาก เหลือแค่เป็นเส้นหรือจุดขนาดเล็ก ซึ่งยังคงช่วยเพิ่มความชัดเจน ประเภทย่อยนี้รวมไปถึงไทป์เฟซอักษรไทยตัวแรก ๆ ที่ใช้กับข้อความเนื้อหา (ตัวอย่าง: LC Manop, PSL Display)
ครอสโอเวอร์
ไทป์เฟซครอสโอเวอร์ (Crossover) นั้นถูกสร้างขึ้นในยุคดิจิทัล และหลายไทป์เฟซรองรับการไล่ระดับน้ำหนักที่มากขึ้น ช่วยให้สามารถพัฒนาตระกูลฟอนต์ที่ขยายเพิ่มเติมได้ อาจถือว่ามีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะใช้สำหรับทั้งการแสดงผลและข้อความเนื้อหา (ตัวอย่าง: สุขุมวิท (Sukhumvit))

การใช้งานและข้อควรพิจารณา

[แก้]

การแสดงอักษรไทยอย่างเหมาะสมบนระบบคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องรองรับการแสดงข้อความที่ซับซ้อน (Complex Text Layout) เนื่องจากว่าเมื่อเทียบกับอักษรละตินแล้วอักษรไทยนอกจากจะมีอักษรที่อยู่บนเส้นบรรทัดตามปกติแล้ว (พยัญชนะ สระ และเครื่องหมายวรรคตอน) ยังมีอักขระที่อยู่เหนือ/ใต้อักขระอื่น ๆ ด้วย (สระบางตัว วรรณยุกต์ และสัญลักษณ์เบ็ดเตล็ด) โดยทั่วไปจะแยกออกเป็นสี่ระดับในแนวตั้ง คือ ระดับบรรทัด ระดับใต้บรรทัด ระดับสูงเหนือบรรทัด และระดับสูงสุดเหนือบรรทัด เครื่องพิมพ์ดีดที่ทำงานแบบกลไกได้รับการออกแบบมาให้ตัวอักษรแต่ละตัวมีตำแหน่งในแนวตั้งที่คงที่ โดยเครื่องหมายวรรณยุกต์อยู่ระดับสูงสุดเหนือบรรทัดเสมอ ในการเรียงพิมพ์แบบดั้งเดิมและแบบดิจิทัล ถ้าระดับสูงเหนือบรรทัดว่าง ตัวอักษรที่อยูู่ระดับสูงสุดเหนือบรรทัดจะเลื่อนลงมาแทนที่ และอักขระเหนือบรรทัดจะเลื่อนไปทางซ้ายเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ตัดกับส่วนของตัวอักษรที่อยู่เหนือบรรทัด นอกจากนี้ ถ้าพยัญชนะสองตัวมีทั้งส่วนฐาน(ซึ่งไม่ติดกับส่วนที่เหลือของพยัญชนะ)และสระล่างบรรทัด ฐานของพยัญชนะจะถูกถอดออก ภาษาไทยเขียนโดยไม่มีช่องว่างระหว่างคำ จึงจำเป็นต้องแยกคำเพื่อกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมของการแบ่งบรรทัด[21] หากต้องการจัดตำแหน่งข้อความให้เหมาะสม จะต้องกระทำโดยการกระจาย โดยเพิ่มระยะห่างระหว่างกลุ่มอักขระ (เช่น ระหว่างอักขระในบรรทัด แต่ไม่ใช่เครื่องหมายด้านบนและด้านล่าง)[35]

เทียบระหว่างไทป์เฟซมีหัวกับไม่มีหัว

[แก้]
"พรบ" ในไทป์เฟซแบบไม่มีหัว (ในที่นี้คือ IBM Plex Sans Thai) เทียบกับแบบมีหัว (ในที่นี้คือ IBM Plex Sans Thai Looped) ให้สังเกตว่า "พรบ" ที่ไม่มีหัวดูเหมือนกับ "WSU"

ในปัจจุบัน การเลือกระหว่างไทป์เฟซแบบมีหัวและแบบไม่มีหัวยังคงเป็นข้อควรพิจารณาที่สำคัญที่สุดในศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ไทย[28] โดยทั่วไป ความแตกต่างนี้จะถูกมองว่าคล้ายคลึงกับการเลือกระหว่างไทป์เฟซอักษรละตินแบบมีเชิงกับแบบไม่มีเชิง เนื่องจากหัวของตัวอักษรช่วยให้อ่านได้ง่ายขึ้น ทำให้ไทป์เฟซแบบมีหัวเหมาะกับข้อความเนื้อหามากกว่าไทป์เฟซแบบไม่มีหัว อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบนี้ก็ไม่ถูกต้องบริบูรณ์ เนื่องจากเหตุผลต่อไปนี้

  1. หัวเป็นลักษณะเด่นที่สำคัญในการระบุอักษรบางตัวที่ดูคล้ายกัน
  2. ไทป์เฟซหลายแบบมีอักษรไทยมีหัว แต่มีอักษรละตินแบบไม่มีเชิง[1][25]
  3. ไทป์เฟซบางแบบมีอักษรไทยไม่มีหัว แต่มีอักษรละตินแบบมีเชิง (เช่น ชลบุรี (Chonburi), JasmineUPC และ KodchiangUPC)

อย่างไรก็ตาม ความนิยมของรูปแบบคล้ายโรมันที่ไร้หัว อันมีความหมายแฝงถึงความทันสมัย ทำให้มีการใช้รูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 2000 จากการโฆษณาไปยังสื่ออื่น ๆ รวมถึงสิ่งพิมพ์ เรื่องนี้อาจมีข้อโต้แย้งบางประการ นิตยสาร Wallpaper ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ไทป์เฟซอักษรไทยแบบไม่มีหัวเป็นเนื้อความเมื่อเปิดตัวฉบับภาษาไทยในปี พ.ศ. 2548 ต่อมาแอปเปิลนำแบบอักษรดังกล่าวมาใช้กับส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้ของระบบปฏิบัติการมือถือ iOS 7 ในปี พ.ศ. 2556 คำร้องเรียนจากลูกค้าทำให้บริษัทต้องอัปเดตระบบให้เปลี่ยนกับเป็นไทป์เฟซแบบมีหัว[36][34]

ในขณะที่นักออกแบบบางคนมองว่าการต่อต้านไทป์เฟซอักษรไทยแบบไม่มีหัวเป็นแนวคิดอนุรักษ์นิยมและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ผู้เห็นต่องอ้างว่าการใช้มากเกินไปเป็นอุปสรรคต่อการอ่าน และอาจทำให้เกิดความสับสนเนื่องจากความคล้ายคลึงกับอักษรละติน เช่น อักษรย่อ พ.ร.บ.[c] ในไทป์เฟซอักษรไทยแบบไม่มีหัวนั้นแทบจะเหมือนกับตัวอักษรละติน W.S.U.[32] การศึกษาในปี 2018 พบว่าผู้อ่านภาษาไทยมีแนวโน้มที่จะอ่านข้อความผิดพลาดมากขึ้น เมื่ออ่านข้อความทดสอบที่พิมพ์ด้วยไทป์เฟซอักษรไทยแบบไม่มีหัวคล้ายโรมัน เมื่อเทียบกับไทป์เฟซมีหัว[36]

นักออกแบบบางคนมองว่าความนิยมชมชอบไทป์เฟซอักษรไทยแบบไม่มีหัวนี้เกิดจากการขาดแคลนความแปลกใหม่ในหมู่ไทป์เฟซอักษรไทยแบบมีหัว ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ไทป์เฟซอักษรไทยแบบมีหัวที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในข้อความส่วนใหญ่นั้นมาจากไทป์เฟซยุคก่อนดิจิทัลหลัก ๆ เพียงสี่ไทป์เฟซเท่านั้น: ฝรั่งเศส (Farang Ses), ไทยมีเดียม 621 (Thai Medium 621), ทอม ไลท์ (Tom Light) และชวนพิมพ์ (ChuanPim)[37] คัดสรร ดีมาก ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ออกแบบไทป์เฟซอักษรไทยแบบไม่มีหัวในช่วงปี พ.ศ. 2543 ได้เปลี่ยนโฟกัสไปที่การสร้างไทป์เฟซอักษรไทยแบบมีหัวมากขึ้น[38] ไทป์เฟซอักษรไทยบางตัวที่บริษัทได้ออกแบบ เช่น กลุ่มไทป์เฟซอักษรไทยสำหรับ Neue Frutiger และ IBM Plex ได้รับการออกแบบให้มีทั้งแบบไม่มีหัวและแบบหัว โดยเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลฟอนต์เดียวกัน[39][40]

ไทป์เฟซ

[แก้]

มีไทป์เฟซเพียงไม่กี่แบบเท่านั้นที่มีมาตั้งแต่สมัยของไทป์เฟซโลหะ เช่น แบรดลีย์ (Bradley) ธงสยาม (Thong Siam) วิทยาจันทร์ (Witthayachan) ฝรั่งเศส (Farang Ses) และไทป์เฟซแสดงผล "โป้ง" (Pong)[9][12][13] มีไทป์เฟซข้อความอีกหลายตัวที่เป็นที่รู้จักในยุคก่อนดิจิทัล เช่น Monotype Thai, Unesco, Kurusapa, ChuanPim, Uthong และ Klonglarn ในขณะที่แผ่นถ่ายโอนแบบแห้งของ Mecanorma นั้นมีแบบอักษรหลายสิบแบบ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งชื่อตามนักออกแบบ เช่น มานพ 1, มานพ 2 ฯลฯ[17][19][18]

จำนวนไทป์เฟซอักษรไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล โดยมีถึงประมาณ 300–400 แบบภายในปี พ.ศ. 2544 ไทป์เฟซคอมพิวเตอร์เหล่านี้มักจะถูกจัดกลุ่มเป็นชุด โดยตั้งชื่อตามนักออกแบบหรือบริษัทที่ออกแบบ ซีรีส์แบบอักษรในยุคแรก ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ DB โดย DB Design, UPC โดย Unity Progress (ไมโครซอฟต์ได้เข้าซื้อลิขสิทธิ์ไทป์เฟซหลายตัวของเจ้านี้), PSL โดย PSL SmartLetter, SV โดย Sahaviriya, JS โดย JS Technology และไทป์เฟซสำหรับแมคโอเอสที่ออกแบบโดยแอปเปิล (สิงคโปร์)[41]

ชื่อไทป์เฟซ ผู้ออกแบบ บริษัทที่ออกแบบ/ชุด หมวดหมู่/ประเภทย่อย ตัวอย่าง
Bradley Curved DB Design (DB) ลายมือ (Handwriting)

DB Bradley Curved X
Bradley Square DB Design (DB) ลายมือ

DB Bradley Angular X
Thong Siam DB Design (DB) ลายมือ

DB TongSiam X
Angsana Unity Progress (UPC) เชิงเก่า (Old style)

Angsana
EACT East Asiatic (EAC) เชิงเก่า

EAC Eact
Kinnari Dear Book National Fonts เชิงเก่า

Kinnari
Narai Parinya Rojarayanond DB Design (DB) เชิงเก่า

DB Narai X
Norasi NECTEC National Fonts เชิงเก่า

Norasi
Pimpakarn Federation of Thai Printing Industries (TF) เชิงเก่า

TF Pimpakarn
Uthong Manop Srisomporn East Asiatic (EAC)

EAC UThong
Komain East Asiatic (EAC) ไทป์เฟซไม้ (Wood type)

EAC Komain
Mahnakorn Pairoj Teeraprapa Siamruay (SR) ไทป์เฟซไม้

SR Mahnakorn
Pong Mai DB Design (DB) ไทป์เฟซไม้

DB PongMai X
Zair DB Design (DB) ไทป์เฟซไม้

DB Zair X
Adirek Dusit Supasawat DS มนุษยนิยม (Humanist)

DS AdiRek
Browallia Unity Progress (UPC) มนุษยนิยม

Browallia
Garuda Unity Progress National Fonts มนุษยนิยม

Garuda
Pimai East Asiatic (EAC) มนุษยนิยม

EAC Pemai
Pimai Federation of Thai Printing Industries (TF) มนุษยนิยม

TF Pimai
Thai Text Parinya Rojarayanond DB Design (DB) มนุษยนิยม

DB ThaiText X
Unesco East Asiatic (EAC) มนุษยนิยม

EAC Unesco
Klonglarn Niwat Charoenphon

Klonglarn
FongNam Parinya Rojarayanond DB Design (DB) เรขาคณิต (Geometric)

DB FongNam X
Tom Light Thongterm Samerasut East Asiatic (EAC) เรขาคณิต

EAC TomLight
ChuanPim Chao Sornsongkram East Asiatic (EAC) มนุษยนิยมเรขาคณิต (Geometric humanist)

EAC ChuanPim
Fahtalaijone Pairoj Teeraprapa Siamruay (SR) แสดงผล (Display)

SR Fahtalaijone
Kobori Panutat Tejasen JS Technology (JS) แสดงผล

JS Kobori Allcaps
Erawan Parinya Rojarayanond DB Design (DB) ทันสมัย (Modern)

DB Erawan X
Manoptica Manop Srisomporn DB Design (DB) ทันสมัย

DB Manoptica
Sumkan Square DB Design (DB)

DB Sumkan Square

ผู้คน

[แก้]
ไพโรจน์ ธีรประภา (Pairoj Teeraprapa คนที่สองนับจากทางซ้าย) และปริญญา โรจรายานนท์ (Parinya Rojarayanond คนขวาสุด), พร้อมกับนักออกแบบไทป์เฟซอื่น ๆ ในการประกวดในปี พ.ศ. 2554

ผู้คนที่มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ไทย และการออกแบบไทป์เฟซไทย ได้แก่:

อนุทิน วงศ์ศุกร
อนุทิน วงศ์ศุกร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคัดสรร ดีมากในปี พ.ศ. 2545 และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักออกแบบตัวอักษรชั้นนำของประเทศไทย และเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาและบริษัทของเขาได้ออกแบบแบบอักษรสำหรับแอปเปิล กูเกิล และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย[27][42]
กำธร สถิรกุล
กำธร สถิรกุล (พ.ศ. 2470-2551) เป็นผู้อำนวยการองค์การธุรกิจคุรุสภา และมีส่วนช่วยในอุตสาหกรรมการพิมพ์มากมาย รวมทั้งริเริ่มการพิมพ์ออฟเซตในประเทศไทย งานวิจัยและงานเขียนของเขาทำให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์การพิมพ์ไทย[43]
มานพ ศรีสมพร
มานพ ศรีสมพร ได้คิดค้นรูปแบบตัวอักษรสมัยใหม่แบบไม่มีหัว ผลงานของมานพจึงเป็นหนึ่งในผลงานที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการออกแบบตัวพิมพ์ภาษาไทย การงานของเขาครอบคลุมตั้งแต่ยุคข้อความที่วาดด้วยมือ ไปจนถึงการถ่ายโอนแบบแห้ง โฟโตไทป์ ไปจนถึงดิจิทัล เมื่อเขากลายเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่ออกแบบฟอนต์คอมพิวเตอร์ให้กับสหวิริยา โอเอ ตอนนี้เขาเกษียณแล้ว[44]
ไพโรจน์ ธีรประภา
ไพโรจน์ ธีรประภา หรือที่รู้จักในชื่อ โรจน์ สยามรวย เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีจากงานตัวอักษรสไตล์ท้องถิ่นสำหรับโปสเตอร์ภาพยนตร์ รวมถึงฟ้าทะลายโจร ในยุคปี พ.ศ. 2543 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นไทป์เฟซ SR FahTalaiJone เขาได้รับรางวัลศิลปาธรในปี พ.ศ. 2557[28][45]
ภาณุทัต เตชะเสน
ภาณุทัต เตชะเสน เป็นนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 เมื่อเขาเริ่มสอนตัวเองเขียนโปรแกรมและพัฒนาซอฟต์แวร์ภาษาไทย เขาสร้างชุดไทป์เฟซ JS ซึ่งเป็นหนึ่งในไทป์เฟซอักษรไทยยุคแรก ๆ สำหรับคอมพิวเตอร์[20]
ปริญญา โรจรายานนท์
ปริญญา โรจรายานนท์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง DB Design ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไทป์เฟซดิจิทัลแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นผู้บุกเบิกการสร้างฟอนต์ Thai PostScript จำนวนมากในยุคดิจิทัลตอนต้น เขาได้รับรางวัลศิลปาธรในปี พ.ศ. 2552[28]
ประชา สุวีรานนท์
ประชา สุวีรานนท์ เป็นนักออกแบบกราฟิก เป็นที่รู้จักจากผลงานของเขากับเอเจนซี่โฆษณา SC Matchbox รวมถึงมีส่วนร่วมในแวดวงศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ ในบรรดางานเขียนมากมายของเขาเกี่ยวกับการออกแบบและวัฒนธรรม หนังสือและนิทรรศการของเขาในปี พ,ศ. 2545 เรื่อง 10 Faces of Thai Type and the Nation ช่วยสร้างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ไทย เขาได้รับรางวัลศิลปาธรในปี พ.ศ. 2553[46]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. บันทึกของ ABCFM ระบุว่าได้พิมพ์สำเนาไป 10,700 ฉบับ
  2. ในสมัยนั้น ข้อความทางศาสนาพุทธของไทยนั้นเขียนอยู่ในอักษรขอมไทย ที่ดัดแปลงมาจากอักษรเขมร ต่อมาก็มีการเลิกใช้อักษรอริยกะ และข้อความทางศาสนาพุทธก็ได้ตีพิมพ์ในอักษรไทยตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  3. พ.ร.บ. ย่อมาจากคำว่า พระราชบัญญัติ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 Gunkloy, Sirin (2020). Tiga: A Latin-Thai type family for news media (PDF) (post-graduate dissertation). École supérieure d'art et de design d'Amiens. pp. 6–37. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 Winship, Michael (1986). "Early Thai printing: The beginning to 1851". Crossroads: An Interdisciplinary Journal of Southeast Asian Studies. 3 (1): 45–61. JSTOR 40860231. Partially reproduced in Winship, Michael (January 2008). "The Printing Press as an Agent of Change?". Commonplace: the journal of early American life. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  3. 3.0 3.1 3.2 Altbach, Philip G.; Hoshino, Edith S., บ.ก. (2015). International Book Publishing: An Encyclopedia. Routledge. pp. 521–530. ISBN 9781134261260.
  4. 4.0 4.1 พจนานุกรมฉบับมติชน. Matichon. 2004. pp. 1023–1031. ISBN 9743232648. Partly reproduced in จุฑารัตน์ อัศววัชรินทร์ (4 October 2019). "ตัวพิมพ์ไทยเกิดครั้งแรกในพม่า เชลยที่ถูกพม่าจับช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 เป็นตัวแปรสำคัญ". silpa-mag.com. Silpa Wattanatham. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  5. Metzger, Bruce M.; Coogan, Michael David, บ.ก. (1993). The Oxford Companion to the Bible. Oxford University Press. p. 774. ISBN 0199743916.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย". saranukromthai.or.th. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-07-13. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
    "การพิมพ์ของคนไทย". saranukromthai.or.th. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-06-25. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
    "โรงพิมพ์ในเมืองไทย". saranukromthai.or.th. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-06-25. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  7. 7.0 7.1 "ประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย". catholichaab.com. Historical Archives, Archdiocese of Bangkok. 18 September 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-20. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  8. Pracha Suveeranont. "บรัดเล". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  9. 9.0 9.1 9.2 Pracha Suveeranont. "ธงสยาม". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  10. Pracha Suveeranont (18 December 2017). "พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน (1)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
  11. Wongsamuth, Nanchanok (6 January 2014). "Key development". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
  12. 12.0 12.1 Pracha Suveeranont. "ฝรั่งเศส". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  13. 13.0 13.1 13.2 Pracha Suveeranont. "โป้งไม้". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  14. 14.0 14.1 Pracha Suveeranont. "คณะช่าง". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  15. Pracha Suveeranont (31 March 2017). "'ตัวเหลี่ยม' อัตลักษณ์ความทันสมัย (1)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
    Pracha Suveeranont (8 April 2017). "'ตัวเหลี่ยม' อัตลักษณ์ความทันสมัย (2)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
    Pracha Suveeranont (21 April 2017). "'ตัวเหลี่ยม' อัตลักษณ์ความทันสมัย (จบ)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  16. Pracha Suveeranont (30 July 2018). "ยุคคณะราษฎร : โมเดิร์นที่หายไป (2)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  17. 17.0 17.1 Pracha Suveeranont. "โมโนไทป์". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  18. 18.0 18.1 Pracha Suveeranont. "มานพติก้า". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  19. 19.0 19.1 Pracha Suveeranont. "ทอมไลท์". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 Pracha Suveeranont (18 June 2018). "ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่ (1)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
    Pracha Suveeranont (19 June 2018). "ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่ (จบ)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
    Pracha Suveeranont (16 July 2018). "ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่แตก (2)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  21. 21.0 21.1 21.2 Koanantakool, Hugh Thaweesak; Karoonboonyanan, Theppitak; Wutiwiwatchai, Chai (January 2009). "Computers and the Thai Language". IEEE Annals of the History of Computing. 31 (1): 46–61. doi:10.1109/MAHC.2009.5. ISSN 1934-1547. S2CID 17268722.
  22. Pracha Suveeranont. "เอราวัณ". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  23. 23.0 23.1 Pracha Suveeranont. "ฟอนต์แห่งชาติ". ๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย (10 Faces of Thai Type and Thai Nation). Thaifaces. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. Originally exhibited 18–31 October 2002 at the Jamjuree Art Gallery, Chulalongkorn University, and published in Sarakadee. 17 (211). September 2002.
  24. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 Virunhaphol, Farida (2017). Designing Khom Thai Letterforms for Accessibility (doctoral thesis). University of Huddersfield. pp. 38–67.
  25. "f0nt.com ของฟรีก็มีในโลก". Positioning Magazine. 13 September 2011. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020. "'ฟ๐นต์' เส้นอักษรที่มากกว่าแค่ตัวอักษร". Manager Online. 28 July 2008. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  26. 27.0 27.1 Roongwitoo, Napamon (22 July 2013). "On the font line". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  27. 28.0 28.1 28.2 28.3 Cornwel-Smith, Philip (November 2014). "Thaipography" (PDF). The Magazine. Post Publishing. pp. 216–221. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  28. Phungbun na Ayudhya, Pimchanok (11 July 2015). "The art of typeface". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  29. "ธุรกิจออกแบบฟอนต์ ปั้นอักษรเงินล้าน!". Krungthep Turakij. 6 August 2015. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  30. "12 ค่ายฟอนต์ไทย ผนึกกำลังมุ่งสู่มาตรฐานสากล". Manager Online. 20 July 2015. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  31. 32.0 32.1 32.2 Rachapoom Punsongserm (2012). "ข้อสังเกตในการใช้แบบตัวพิมพ์ไทยเสมือนโรมัน: เอกลักษณ์และความชัดเจนที่หายไป" [Viewpoint of Using a Roman-like Typeface: Disappearance of Singularity and Legibility]. Manutsayasat Wichakan. 19 (1): 113–145. ISSN 2673-0502.
  32. Punsongserm, Rachapoom; Sunaga, Shoji; Ihara, Hisayasu (28 February 2017). "Thai Typefaces (Part 1): Assumption on Visibility and Legibility Problems". Archives of Design Research. 30 (1): 5–23. doi:10.15187/adr.2017.02.30.1.5.
  33. 34.0 34.1 Pracha Suveeranont (23 January 2017). "'ธนบุรี' ตัวมีหัว/ไม่มีหัว (1)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
    Pracha Suveeranont (29 January 2017). "'ธนบุรี' ตัวมีหัว/ไม่มีหัว (จบ)". Matichon Weekly. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  34. "Approaches to full justification". W3C. 13 March 2017. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  35. 36.0 36.1 Punsongserm, Rachapoom; Sunaga, Shoji; Ihara, Hisayasu (October 2018). "Roman-like Thai typefaces: Breakthrough or Regression?". Back to the Future. The Future in the Past. Conference Proceedings Book. ICDHS 10th+1 Barcelona 2018. pp. 580–585.
  36. Anuthin Wongsunkakon (2016). Banthưk banyāi chanit nātā phachœ̄nnā ʻaksō̜n : khaočhai tūa ʻaksō̜n čhāk raya prachit læ bư̄anglang kānʻō̜kbǣp tūa ʻaksō̜n hai ʻō̜k mā pen bư̄angnā บันทึกบรรยาย ชนิด หน้าตา เผชิญหน้า อักษร : เข้าใจตัวอักษรจากระยะประชิดและเบื้องหลังการออกแบบตัวอักษรให้ออกมาเป็นเบื้องหน้า [Type Face Face Type: A closer look at type and a behind the scene view of how to design fonts]. Cadson Demak. ISBN 9786169222286. Cited in "อักษรไทยในสำนึกของคนไทย". TCDC Resource Center Facebook page. TCDC. 30 March 2017. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  37. Usakunwathana, Panuwat (4 April 2019). "Thong Lor: The Way Back into Loop". Cadson Demak. แปลโดย Chardjareansawad, Sumet. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.[ลิงก์เสีย]
  38. Wongsunkakon, Anuthin. "Neue Frutiger Thai". www.linotype.com. Monotype GmbH. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  39. Tantisuwanna, Kornkanok (18 December 2019). "Design like a Bilingual". Cadson Demak. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-18. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  40. Information Research and Development Division, National Electronics and Computer Technology Center (2001). Bǣp tūaphim Thai แบบตัวพิมพ์ไทย [Thai Font] (Phim khrang rǣk ed.). National Electronics and Computer Technology Center. ISBN 974-85990-7-8.
  41. Giles, Nolan (17 November 2016). "From Monocle: Thailand's graphic designers search for an identity". Nikkei Asian Review. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  42. "คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์" [Citation, Professor Kamthorn Sathirakul, honorary Doctor of Philosophy in library science] (PDF). Digital Repository of Ramkhamhaeng University Library. Ramkhamhaeng University. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.[ลิงก์เสีย]
  43. Poom Rattavisit (18 April 2018). "มานพ ศรีสมพร - The Documentary". Cadson Demak. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-30. สืบค้นเมื่อ 2024-04-29.
  44. Thungkasemvathana, Pimrapee (23 July 2014). "Mid-career but shining bright". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.
  45. "ประชา สุวีรานนท์ รางวัลศิลปาธร : สาขาเรขศิลป์". rcac84.com. Ratchadamnoen Contemporary Art Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-20. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.