มหาวิทยาลัยธนบุรี
ชื่อย่อ | มธร. / TRU |
---|---|
คติพจน์ | สร้างทุนทางปัญญา พัฒนาคุณธรรม สร้างสรรค์สังคม |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาเอกชน |
สถาปนา | 27 มีนาคม พ.ศ. 2541 |
ผู้สถาปนา | ศุภชัย แย้มชุติ |
นายกสภาฯ | ดร.อุดม เฟื่องฟุ้ง |
อธิการบดี | ดร.บัญชา เกิดมณี |
ผู้ศึกษา | 6,306 คน (2565)[1] |
ที่ตั้ง | |
วิทยาเขต | วิทยาเขตศรีวัฒนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร วิทยาเขตภาคเหนือ จังหวัดลำพูน |
เพลง | ถิ่นมหาวิทยาลัยธนบุรี |
ต้นไม้ | พญาสัตบรรณ |
สี | แดง-น้ำเงิน-เขียว-เหลือง |
เว็บไซต์ | www.thonburi-u.ac.th |
มหาวิทยาลัยธนบุรี (อังกฤษ: Thonburi University; อักษรย่อ : มธร. – TRU) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งอยู่ที่ แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ 100 กว่าไร่ และยังมีศูนย์กีฬาสู่ความเป็นเลิศที่ทันสมัยบนพื้นที่ 50 กว่าไร่ อยู่ในซอยเพชรเกษม 110 ซอยเดียวกับที่ตั้งของมหาวิทยาลัย การคมนาคมสะดวกสบายด้วยบริการรถรับส่งนักศึกษาและบุคลากรของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยธนบุรีเปิดสอนในระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก ประกอบไปด้วย คณะบริหารธุรกิจ, คณะบัญชี, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะบัณฑิตวิทยาลัย โดยบัณฑิตวิทยาลัยเปิดสอน 3 หลักสูตร คือ MBA, M.Ed. และ M.Acc นอกจากนี้ยังเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู และหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธนบุรีได้เปิดศูนย์การศึกษา (วิทยาเขต) 3 ศูนย์ เช่น 1.ศูนย์ศรีวัฒนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 2.ศูนย์หมู่บ้านครูภาคเหนือ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน 3.ศูนย์สงขลาเทคโนโลยี จังหวัดสงขลา เพื่อทำการเรียนการสอนถ่ายทอดความรู้สู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธนบุรีได้ลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการหรือสถานศึกษาทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
ประวัติ
[แก้]มหาวิทยาลัยธนบุรี ยกฐานะขึ้นมาจาก วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2541[2] ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2550[3] ตั้งอยู่เลขที่ 248 ซอยเพชรเกษม 110 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน นายอุดม เฟื่องฟุ้ง เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และ ดร.บัญชา เกิดมณี เป็นอธิการบดี
หลังจากแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 1 ที่เรียกว่า "แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ" ซึ่งเน้นพัฒนาให้คนมีงานทำและการคมนาคมสะดวก และแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 2 ที่เรียกว่า "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" เริ่มเป็นที่ยอมรับกันว่าการพัฒนาใด ๆ จะสำเร็จได้ต้องมีการพัฒนาคนให้มีคุณภาพก่อน และปัจจัยที่ช่วยให้คนมีคุณภาพก็คือการศึกษา สถาบันการศึกษาในระยะนั้นมีบทบาทสำคัญในการผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเน้นด้านอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรม
การก่อตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เริ่มต้นจาก อาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลิตกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรม จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างโรงเรียนช่างกลโรงเรียนราษฎร์ขึ้น เนื่องจากขณะนั้นมีโรงเรียนช่างกลรัฐบาลเพียงแค่ 4 แห่งเท่านั้น ซึ่งผลิตช่างอุตสาหกรรมออกไปพัฒนาประเทศได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดแรงงาน อาจารย์ศุภชัยจึงปรึกษากับ อาจารย์สิทธิผล พลาชีวิน ผู้บริหารโรงเรียนช่างกลของรัฐบาล เพื่อจะเปิดโรงเรียนช่างกลโรงเรียนราษฎร์ขึ้น ในเวลาต่อมา โรงเรียนช่างอุตสาหกรรมพณิชยการ "หมู่บ้านครู" จึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(สายอาชีพ) ในสาขาช่างกล สาขาช่างก่อสร้าง และพณิชยการ จากนั้นโรงเรียนได้เปิดสาขาช่างสำรวจเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ 2513 และสาขาเกษตรกรรมในปี พ.ศ. 2518
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 โรงเรียนช่างกลอุตสาหกรรมพณิชยการ "หมู่บ้านครู" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเทคโนโลยีหมู่บ้านครู (วิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครู ในปัจจุบัน) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และในปีเดียวกันนี้ ได้เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์กลุ่มแรกในไม่กี่โรงเรียนที่ทางการอนุญาตให้เปิดได้ โดยมีการเรียนการสอนในสาขาช่างยนต์ สาขาช่างสำรวจ และสาขาช่างไฟฟ้า จนในปีต่อมา ได้เปิดแผนกสาขาช่างก่อสร้าง สาขาเทคนิคอุตสาหกรรม และสาขาอิเล็กทรอนิกส์
จากความมุ่งมั่นของอาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ ที่จะให้นักเรียนช่างกลเรียนจบปริญญาตรีให้ได้ จึงได้เตรียมการเปิดหลักสูตรปริญญาตรีขึ้น แต่อาจารย์ศุภชัย ได้เสียชีวิตไปก่อน ทำให้แผนขยายการศึกษาในระดับปริญญาตรีจึงชะงัก จนกระทั่งทายาทของอาจารย์ศุภชัย มาสานต่อเจตนารมย์ และได้เสนอขอจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 และก็ได้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในปี พ.ศ. 2541 โดยใช้ชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี และได้รับการเปลี่ยนชื่อและยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2550 โดยใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยธนบุรี จนถึงปัจจุบัน
สัญลักษณ์
[แก้]เครื่องหมายของมหาวิทยาลัยธนบุรี ประกอบไปด้วย วงกลม 3 วง ซึ่งจะมีสีน้ำเงิน สีเขียว และสีเหลือง ซ้อนกันอยู่บนรูปโล่สีแดง 8 เหลี่ยม ประดับไปด้วยช่อใบมะยม 2 ช่อ และชื่อมหาวิทยาลัยอยู่บนวงกลมสีเขียวทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตรงกลางเป็นโล่สีแดงสลับสีน้ำเงิน มีอักษรย่อ มธร. ประทับอยู่ภายในโล่ ซึ่งตัว " โล่" หมายถึง การพัฒนาการศึกษาเพื่อก่อให้เกิดการมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ "วงกลมสีเขียวใบไม้" หมายถึง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ "วงสีน้ำเงิน" หมายถึง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ "วงกลมสีเหลือง" หมายถึง คุณธรรม จริยธรรม สีประจำสถาบันได้แก่ สีแดง-สีน้ำเงิน-สีเขียว-สีเหลือง โดย "สีแดง" หมายถึง ความจงรักภักดีต่อชาติและสังคม "สีน้ำเงิน" หมายถึง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ "สีเขียว" หมายถึง ความมุ่งหมายที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมที่ยั่งยืน "สีเหลือง" หมายถึง การมีคุณค่าและรักษาคุณค่าของตนเองด้วยคุณธรรม
คณะ หลักสูตรและสาขาที่เปิดสอน
[แก้]คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
[แก้]เปิดสอนด้วยกัน 2 สาขาวิชาได้แก่ งาน
หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
[แก้]- สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ (วท.บ. เทคโนโลยีสารสนเทศ)
- สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลมีเดีย (วท.บ. เทคโนโลยีดิจิทัลมีเดีย) (เปิดสอนใน ปี พ.ศ. 2561)
คณะบัญชี
[แก้]เปิดสอนด้วยกัน 1 สาขาวิชาได้แก่
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
[แก้]- สาขาวิชาการบัญชี (บช.บ. การบัญชี)
คณะวิศวกรรมศาสตร์
[แก้]เปิดสอนด้วยกัน 4 สาขาวิชา 2 หลักสูตรได้แก่
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต
[แก้]- สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า (วศ.บ. วิศวกรรมไฟฟ้า)
- สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล (วศ.บ. วิศวกรรมเครื่องกล)
- สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ (วศ.บ. วิศวกรรมอุตสาหกรรม)
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
[แก้]- สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม (ทล.บ. เทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม)
คณะบริหารธุรกิจ
[แก้]เปิดสอนด้วยกัน 6 สาขาวิชาได้แก่
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
[แก้]- สาขาวิชาการจัดการ
- สาขาวิชาการตลาด
- สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจดิจิทัล
- สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ และธุรกิจพาณิชย์นาวี
- สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ
- สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและบริการ
บัณฑิตวิทยาลัย
[แก้]นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธนบุรียังเปิดสอนในระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก (บัณฑิตวิทยาลัย) ทั้งหมด 5 หลักสูตรได้แก่
ปริญญาโทและประกาศนียบัตรวิชาชีพ
[แก้]- หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม.) สาขาการจัดการ (MBA)
- หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.) สาขาบริหารการศึกษา (M.Ed.)
- หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต สาขาการบัญชี (M.Acc)
- หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต)
ปริญญาเอก
[แก้]- สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สถาบันในเครือ
[แก้]- วิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครู แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร
- วิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครู ภาคเหนือ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
- มหาวิทยาลัยธนบุรี วิทยาเขตภาคเหนือ (จังหวัดลำพูน)
วิทยาเขต
[แก้]มหาวิทยาลัยธนบุรี มีการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง จำนวน 2 วิทยาเขต เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาและรักษามาตรฐานการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพและทันสมัยตามมาตรฐานที่ดีของทางมหาวิทยาลัย [4] ได้แก่
- วิทยาเขตภาคเหนือ จังหวัดลำพูน อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
- วิทยาเขตศรีวัฒนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- ↑ ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี)
- ↑ สถาบันอุดมศึกษา เก็บถาวร 2011-04-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเว็บไซต์ สกอ.
- ↑ การจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553