ภาษาของชาวยิว
ภาษาของชาวยิว (อังกฤษ: Jewish languages) เป็นกลุ่มของภาษาและสำเนียงที่พัฒนาในชุมชนชาวยิวทั่วโลกทั้งในยุโรป เอเชียและแอฟริกาเหนือ พัฒนาการของภาษาเหล่านี้เกิดขึ้นโดยการเพิ่มศัพท์ภาษาฮีบรูเพื่อใช้อธิบายแนวคิดเฉพาะของชาวยิวเข้าสู่ภาษาท้องถิ่น ส่วนใหญ่เขียนด้วยอักษรฮีบรู[1] การอยู่เป็นกลุ่มก้อนอย่างเป็นเอกเทศของชาวยิว ทำให้ภาษาเหล่านี้รักษาคำศัพท์และลักษณะดั้งเดิมของภาษาที่เป็นภาษาต้นกำเนิดได้ภาษาของชาวยิวที่มีผู้พูดมากที่สุดคือภาษายิดดิช ซึ่งเคยมีผู้พูดมากที่สุดในอดีต ภาษาลาดิโนที่เป็นภาษาของชาวยิวเซฟาร์ดีมากว่า 5 ศตวรรษและภาษาอาหรับของชาวยิวที่ใช้พูดในบริเวณที่มีผู้พูดภาษาอาหรับมากว่าพันปี
ภาษาฮีบรูเป็นภาษาทางศาสนาของศาสนายูดาย และเคยใช้เป็นภาษาพูดมาก่อน จนราว พ.ศ. 43 ภาษาอราเมอิกซึ่งเป็นภาษาใกล้เคียงได้เข้ามาเป็นภาษาพูดในยูเดีย[2] จน พ.ศ. 243 ชาวยิวที่แพร่กระจายไปหันไปพูดภาษากรีกโบราณ ภาษาฮีบรูถูกรื้อฟื้นเป็นภาษาพูดอีกครั้งโดย เอลีเซอร์ เบน เยฮูดา ผู้มาถึงปาเลสไตน์เมื่อพ.ศ. 2424 ภาษาฮีบรูสมัยใหม่ในปัจจุบันเป็นภาษาราชการของประเทศอิสราเอล ก่อนพุทธศตวรรษที่ 21 ภาษาฮีบรูใช้ในบทสวดและคัมภีร์ทางศาสนายูดายเท่านั้น[3] ชาวยิวทั่วโลกจึงพูดภาษาท้องถิ่นที่ตนไปอาศัยอยู่ และพัฒนาสำเนียงเฉพาะของตนเองขึ้นมา และได้แยกออกมาเป็นภาษาเฉพาะ ภาษายิดดิชเป็นภาษาเยอรมันของชาวยิว พัฒนาโดยชาวยิวอาซเกนาซีที่อพยพไปสู่ยุโรปกลาง และภาษาลาดิโนหรือภาษาจูเดสโม หรือภาษามูเอสตรา สปันยอล เป็นภาษาสเปนของชาวยิวเซฟาร์ดีที่อยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย จากปัจจัยหลายๆอย่าง รวมทั้งอิทธิพลของฮอลโลคอตส์ในยุโรป ชาวยิวออกจากดินแดนอาหรับและแพร่กระจายไปทั่วโลก มีภาษาของชาวยิวที่แตกต่างไปในแต่ละชุมชน บางภาษาเป็นภาษาตายไปแล้ว เช่น ภาษากรูซินิก ภาษาอาหรับของชาวยิว ภาษาเบอร์เบอร์ของชาวยิว ภาษาเครียมชาก ภาษามลยาฬัมของชาวยิว และอื่นๆ ภาษาที่ใช้พูดในหมู่คนยิวทุกวันนี้ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฮีบรู และภาษารัสเซีย รวมทั้งภาษากลุ่มโรมานซ์บางภาษาเช่นภาษาฝรั่งเศสและภาษาสเปน [4] ภาษาของชาวยิวที่มีผู้พูดมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือภาษายิดดิช ซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกับชาวยิวที่พูดภาษาอังกฤษและภาษาฮีบรู เคยมีคนพูดภาษานี้ถึง 13 ล้านคนใน พ.ศ. 2482 การลดลงของผู้พูดภาษายิดดิชหลังเหตุการณ์ฮอลโลคอตส์ทำให้ชาวยิวหันไปพูดภาษาอื่นมากขึ้น ปัจจุบันชาวยิวที่พูดภาษาฮีบรูหรืออังกฤษมีมากกว่าภาษายิดดิช
ภูมิหลัง
[แก้]หนังสือที่เก่าที่สุดของชาวยิวคือโตราห์และตานัข เขียนด้วยภาษาฮีบรูไบเบิลเกือบทั้งหมด โดยมีภาษาอราเมอิกไบเบิลเล็กน้อย ซึ่งเคยใช้ในหมู่ชาวยิวอย่างกว้างขวางตลอดช่วงประวัติศาสตร์ ชาวยิวรักษาความเชื่อที่ว่าภาษาฮีบรูเป็นภาษาของพระเจ้าโดยถือว่าพระเจ้าใช้ภาษาฮีบรูในโตราห์ จารึกภาษาฮีบรูที่เก่าที่สุดที่เหลืออยู่คือปฏิทินกีเซอร์อายุราว 457 ปีก่อนพุทธศักราช เขียนด้วยอักษรปาเลียว-ฮีบรู และใช้มาตลอดยุคของโซโลมอน จนเปลี่ยนมาใช้อักษรแบบทรงเหลี่ยมเมื่ออพยพไปอยู่บาบิโลเนีย ในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภาษาไปเป็นภาษาฮีบรูมิซนะห์ ชาวยิวส่วนใหญ่พูดภาษาฮีบรูในอิสราเอลและยูเดีย นอกจากนั้นเริ่มเปลี่ยนมาพูดภาษาอราเมอิกและเปลี่ยนเป็นภาษากรีก เมื่อเกิดการแพร่กระจายของชาวยิว ช่วงนี้จึงเริ่มแปลไบเบิลเป็นภาษาอราเมอิกและภาษากรีก เมื่อชาวยิวอพยพไปยังประเทศที่ห่างไกล พวกเขาหันมาปรับภาษาในท้องถิ่นและพูดภาษาที่เป็นสำเนียงของภาษาท้องถิ่นนั้น
ตลอดยุคกลางตอนต้น ภาษาอราเมอิกเป็นภาษาที่สำคัญในหมู่ชาวยิว ตัลมุดส่วนใหญ่เขียนด้วยภาษาอราเมอิก ช่วงยุคกลางตอนปลายชาวยิวส่วนใหญ่หันมาพูดภาษาอาหรับของชาวยิว โดยเขียนด้วยอักษรฮีบรู
เมื่อเวลาผ่านไป สำเนียงของชาวยิวเหล่านี้ได้ต่างจากภาษาเดิมที่เป็นภาษาแม่มากขึ้นจนกลายเป็นภาษาใหม่ โดยมากจะมีอิทธิพลจากภาษาฮีบรูและภาษาอราเมอิกมากและสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นในภาษานั้น มีภาษาใหม่ๆเกิดขึ้นในหมู่ชาวยิวมาก เช่น ภาษายิดดิชในยุโรป (มาจากภาษาเยอรมัน)และภาษาลาดิโน (มาจากภาษาสเปน)ที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรปหลังการขับชาวยิวออกจากประเทศสเปนเมื่อ พ.ศ. 2035 ชาวยิวหลังการแพร่กระจายมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นสังคมเดี่ยวๆ ทำให้รักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้ และพัฒนาภาษาที่เป็นเอกเทศออกมา
ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ภาษายิดดิชเป็นภาษาหลักของชาวยิวในยุโรปตะวันออก ส่วนภาษาลาดิโนแพร่กระจายไปในมักเรบ ตุรกี บัลแกเรียและกรีซ มีกลุ่มเล็กๆในยุโรปที่พูดภาษาอิตาลีของชาวยิว ภาษาเยวานิกหรือภาษาการิม ชาวยิวในอาหรับพูดภาษาอาหรับของชาวยิว ในอิหร่านพูดภาษาเปอร์เซียซิดี กลุ่มที่เล็กกว่าพูดภาษาเบอร์เบอร์ของชาวยิว ภาษายิวตัต ในเคอร์ดิสถานมีภาษาอราเมอิกของชาวยิว ในอินเดียมีผู้พูดภาษามลยาฬัมของชาวยิว
การเปลี่ยนแปลง
[แก้]ภาพกว้างๆเหล่านี้เปลี่ยนไปในอีก 100 ปีต่อมา การอพยพของชาวยิวจากยุโรปไปอเมริกาเหนือ ทำให้ชาวยิวที่พูดภาษาอังกฤษมากขึ้น การจัดตั้งอาณานิคมในมักเรบเปลี่ยนให้ชาวยิวในบริเวณนั้นมาพูดภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาสเปน ขบวนการไซออนนิสต์ฟื้นฟูภาษาฮีบรูมาใช้เป็นภาษาพูด โดยเพิ่มคำศัพท์และทำให้ระบบเสียงง่ายขึ้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวลดจำนวนผู้พูดภาษายิดดิชและภาษาเยอรมันลดลง ความขัดแย้งระหว่างยิวกับอาหรับทำให้ชาวยิวส่วนใหญ่ออกจากดินแดนอาหรับไปสู่ประเทศอื่น
ชาวยิวในปัจจุบันพูดภาษาที่ต่างกันมากขึ้นกับประเทศที่ตนอาศัยอยู่ ภาษาที่ชาวยิวพูดมากที่สุดคือภาษาอังกฤษ ชุมชนชาวยิวที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกคือสหรัฐและแคนาดา (ชาวยิวในแคนาดาพูดภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศส) สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ไอร์แลนด์และนิวซีแลนด์มีชุมชนชาวยิวขนาดเล็ก
ภาษาที่มีผู้พูดรองลงมาคือภาษาฮีบรูสมัยใหม่ ซึ่งเป็นภาษาพูดในอิสราเอลและผู้ที่อพยพออกจากอิสราเอล รองลงไปคือภาษารัสเซียซึ่งมีชาวยิว 2 ล้านคนในอดีตสหภาพโซเวียต ในอิสราเอลมีผู้พูดภาษารัสเซียราว 1 ล้านคน รองลงไปอีกเป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส และภาษายิดดิช ภาษาฝรั่งเศสใช้พูดในหมู่ชาวยิวในฝรั่งเศสและควิเบก ส่วนใหญ่อพยพมาจากแอฟริกาเหนือซึ่งเดิมพูดภาษาอาหรับมักเรบหรือภาษาลาดิโนมาก่อน ภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกสใช้พูดในกลุ่มชาวยิวในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยบูเอโนสไอเรสมีชุมชนชาวยิวชขนาดใหญ่ ภาษายิดดิชใช้ในกลุ่มชาวยิวสูงอายุและเริ่มมีการฟื้นฟูโดยคนรุ่นหนุ่มสาว ภาษาของชาวยิวหลายภาษา เช่น ภาษาอราเมอิกของชาวยิวและภาษาลาดิโนจัดเป็นภาษาที่ใกล้ตาย
การออกอากาศทางวิทยุ
[แก้]สถานีวิทยุในอิสราเอลยังคงมีข่าวสั้นประจำวันในภาษาของชาวยิวที่หลากหลาย ทั้งภาษาอาหรับอิรักของชาวยิว ภาษายิดดิช ภาษาลาดิโน ภาษาอาหรับโมร็อกโกของชาวยิว ภาษาบูคาเรีย และภาษายิวตัต มีผู้ฟังทั้งในและต่างประเทศ ในเยเมนมีการออกอากาศเป็นภาษาอาหรับเยเมนของชาวยิว ในสหรัฐและในบิโรบิดซานของรัสเซีย มีการออกอากาศด้วยภาษายิดดิช
อักษร
[แก้]ใช้อักษรฮีบรูเป็นหลักในการเขียนภาษาของชาวยิวหลายภาษาเช่น ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาลาดิโน ภาษายิดดิช และภาษากรีก ภาษาลาดิโนในตุรกีเปลี่ยนมาเขียนด้วยอักษรละตินเมื่อ พ.ศ. 2463 ตามแบบที่ใช้เขียนภาษาตุรกี ผู้พูดภาษายิดดิชเริ่มใช้อักษรละตินแทนที่อักษรฮีบรูเช่นกันโดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ต
รายชื่อภาษาของชาวยิว
[แก้]- ตระกูลภาษาแอฟโฟร-เอเชียติก
- ภาษากลุ่มเซมิติก: ภาษาฮีบรู ภาษาอัมฮารา ภาษาอราเมอิก (ภาษาอราเมอิกของชาวยิวหรือภาษาอราเมอิกตัลมูดิก)สำเนียงต่างๆ ภาษาอาหรับโมร็อกโกของชาวยิว ภาษาอาหรับเยเมนของชาวยิว ภาษาอาหรับลิเบียของชาวยิว ภาษาอาหรับแอลจีเรียของชาวยิว เป็นต้น
- ภาษาเบอร์เบอร์ของชาวยิว
- ภาษากลุ่มคูชิติก: ภาษากายลา ภาษากายลิญา
- ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน
- ภาษากลุ่มเยอรมัน: ภาษายิดดิช ภาษายัวลิช ภาษาเยชิวิช ภาษาเกลซเมอร์-โลส ภาษาสกอตยิดดิช
- ภาษากลุ่มอิตาลี: ภาษาละตินของชาวยิว และภาษาลูกหลาน เช่น ภาษาลาดิโน ภาษาฝรั่งเศสของชาวยิว ภาษาโปรตุเกสของชาวยิว ภาษาอิตาลีของชาวยิว ภาษากาตาลาของชาวยิว ภาษาอราโกนีสของชาวยิว
- ภาษากลุ่มสลาฟ: ภาษาเชคของชาวยิว
- ภาษากลุ่มกรีก: ภาษากรีกของชาวยิว
- ภาษากลุ่มอินโด-อิเรเนียน: ภาษาเปอร์เซียซิดี ภาษาบูโครี ภาษาโกลปายกานีของชาวยิว ภาษายัซดีของชาวยิว ภาษาเกอร์มานีของชาวยิว ภาษาซิราซีของชาวยิว ภาษาเอสฟาฮานีของชาวยิว ภาษาฮาเมดานีของชาวยิว ภาษากัสซานีของชาวยิว ภาษาโรบูเบอร์กีของชาวยิว ภาษาเนเฮวันดีของชาวยิว ภาษายิวตัต ภาษามราฐีของชาวยิว
- ภาษากลุ่มเตอร์กิก: ภาษาเครียมชาก (ภาษาตาตาร์ของชาวยิว) ภาษาคาไรม์
- ภาษากลุ่มคาร์ทเวเลียน: ภาษากรูซินิก
- ตระกูลภาษาดราวิเดียน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Zuckermann, Ghil'ad (กิลอัด สุขเคอร์แมน) (ed.) 2014. Jewish Language Contact (International Journal of the Sociology of Language, vol. 226).
- ↑ Grintz, Jehoshua M. "Hebrew as the Spoken and Written Language in the Last Days of the Second Temple." Journal of Biblical Literature. March, 1960.
- ↑ Parfitt, T. V. "The Use of Hebrew in Palestine 1800–1822." Journal of Semitic Studies , 1972.
- ↑ "Jewish Languages". Beth Hatefutsoth, The Nahum Goldmann Museum of the Jewish Diaspora. สืบค้นเมื่อ 2008-07-03.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Jewish Language Research Website from Jewish-languages.org
- Links to individual languages เก็บถาวร 2013-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Lily Center for Jewish Languages and Literatures at Harvard University เก็บถาวร 2013-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- WW2 propaganda leaflets เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: A website about airdropped, shelled or rocket fired propaganda leaflets. Allied propaganda leaflet for Moroccan Jews in Judeo-Arabic language.
- Jewish languages dying out เก็บถาวร 2012-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Jewish Languages of Europe
- Hebrew (Jewish) languages: Ivrit, Yiddish