ผู้ใช้:JohnnyRayder/ทดลองเขียน/วิลเลียม เชกสเปียร์
วิลเลียม เชกสเปียร์ William Shakespeare | |
---|---|
ภาพวาดเหมือนในคริสตศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ที่หอศิลป์ภาพบุคคลแห่งชาติ ณ กรุงลอนดอน | |
เกิด | 26 เมษายน ค.ศ. 1564 สแตรตเฟิร์ด-อะพอน-เอวอน ประเทศอังกฤษ |
เสียชีวิต | 23 เมษายน ค.ศ. 1616 สแตรตเฟิร์ด-อะพอน-เอวอน ประเทศอังกฤษ | (51 ปี)
สุสาน | โบสถ์โฮลีทรินิตี้ สแตรตเฟิร์ด-อะพอน-เอวอน |
อาชีพ |
|
ปีปฏิบัติงาน | ป. 1585–1613 |
ยุคสมัย | |
องค์การ | คณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน/คิงส์เม็น |
ผลงานเด่น | งานวรรณกรรมของเชกสเปียร์ |
ขบวนการ | ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอังกฤษ |
คู่สมรส | แอนน์ แฮททาเวย์ (สมรส 1582) |
บุตร | |
บิดามารดา |
|
อาชีพนักเขียน | |
ภาษา | ภาษาอังกฤษสมัยใหม่ช่วงต้น |
แนว |
|
ลายมือชื่อ | |
วิลเลียม เชกสเปียร์ (อังกฤษ: William Shakespeare; 26 เมษายน ค.ศ. 1564 - 23 เมษายน ค.ศ. 1616)[a] เป็นกวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษที่ได้รับยกย่องโดยทั่วไปว่าเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการวรรณกรรมอังกฤษและในระดับโลก[2][3][4] ผู้คนมักกล่าวขานถึงชื่อเสียงของเขาว่าเป็นกวีแห่งชาติของอังกฤษ หรือ "ยอดกวีแห่งเอวอน" (เรียกง่าย ๆ ว่า "ยอดกวี") งานเขียนของเขาที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบันประกอบด้วยบทละคร 39 เรื่อง กวีนิพนธ์แบบซอนเน็ต 154 เรื่อง กวีนิพนธ์อย่างยาวอีกประมาณ 2-3 เรื่อง และบทกวีแบบอื่น ๆ อีกหลายชุด บทละครของเขาได้รับการแปลออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และได้กลายเป็นที่นิยมจนถูกนำมาแสดงมากที่สุดในบรรดาบทละครทั้งหมด[5] นอกจากนี้เชกสเปียร์ยังเป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการใช้ภาษาอังกฤษ และผลงานของเขาก็ยังคงได้รับการศึกษาและตีความใหม่อยู่อย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน
เชกสเปียร์เกิดและเติบโตที่เมืองสแตรทฟอร์ด ริมแม่น้ำเอวอน เมื่ออายุ 18 ปี เขาสมรสกับแอนน์ มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ ซูซานน่า และฝาแฝด แฮมเน็ตกับจูดิธ ระหว่างช่วง ค.ศ. 1585- 1592 เขาประสบความสำเร็จในการเป็นนักแสดงในกรุงลอนดอนรวมถึงการเป็นนักเขียน ได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนในคณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน (Lord Chamberlain's Men) ซึ่งในภายหลังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในชื่อ King's Men เชกสเปียร์เกษียณตัวเองกลับไปยังสแตรทฟอร์ดในราว ค.ศ. 1613 และเสียชีวิตในอีกสามปีต่อมา ไม่ค่อยมีบันทึกใดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเชกสเปียร์มากนัก จึงมีทฤษฎีมากมายที่คาดกันไปต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ความเชื่อทางศาสนา และแรงบันดาลใจในงานเขียนของเขา[6]
ผลงานที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ของเชกสเปียร์ประพันธ์ขึ้นในช่วง ค.ศ. 1590 ถึง 1613 ในยุคแรก ๆ บทละครของเขาจะเป็นแนวชวนหัวและแนวอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางบทละครที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อมาเขาเขียนบทละครแนวโศกนาฏกรรมหลายเรื่อง รวมถึงเรื่อง แฮมเล็ต King Lear และ แม็คเบธ ซึ่งถือว่าเป็นบทละครตัวอย่างของวรรณกรรมอังกฤษ ในช่วงปลายของการทำงาน งานเขียนของเขาจะเป็นแนวสุข-โศกนาฏกรรม (tragicomedies) หรือแนวโรมานซ์ และยังร่วมมือกับนักเขียนบทละครคนอื่น ๆ อีกมาก บทละครของเขาตีพิมพ์เผยแพร่ในหลายรูปแบบโดยมีรายละเอียดและเนื้อหาต่าง ๆ กันตลอดช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ ใน ค.ศ. 1623 เพื่อนร่วมงานสองคนในคณะละครของเขาได้ตีพิมพ์หนังสือ "First Folio" เป็นการรวบรวมงานเขียนของเขาขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้บรรจุบทละครที่ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นงานเขียนของเชกสเปียร์เอาไว้ทั้งหมด (ขาดไปเพียง 2 เรื่อง)
ในยุคสมัยของเขา เชกสเปียร์เป็นกวีและนักเขียนบทละครที่ได้รับการยกย่องอยู่พอตัว แต่เขาได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงเช่นในปัจจุบันนี้นับตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 กวียุคโรแมนติกยกย่องนับถือเชกสเปียร์ในฐานะอัจฉริยะ ขณะที่กวียุควิคตอเรียเคารพนับถือเชกสเปียร์อย่างยิ่ง กระทั่ง จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ เรียกเขาว่า Bardolatry[7] (คำยกย่องในทำนอง "จอมกวี" หรือ "เทพแห่งกวี") ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการดัดแปลงงานประพันธ์ของเขาออกไปเป็นรูปแบบแนวทางใหม่ ๆ โดยเหล่านักวิชาการและนักแสดงมากมาย ผลงานของเขายังคงเป็นที่นิยมอย่างสูงจนถึงปัจจุบันและมีการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ในทุกประเทศทุกวัฒนธรรมทั่วโลก
ประวัติ
[แก้]วัยเยาว์
[แก้]วิลเลียม เชกสเปียร์ เป็นบุตรของ จอห์น เชกสเปียร์ เทศมนตรีและพ่อค้าถุงมือชาวเมืองสนิตเตอร์ฟิลด์ กับแมร์รี่ อาร์เด็น บุตรีของเจ้าที่ดินผู้มั่งคั่ง[8] เขาเกิดที่เมืองสแตรทฟอร์ดริมแม่น้ำเอวอน เข้าพิธีรับศีลเมื่อ 26 เมษายน ค.ศ. 1564 ไม่ทราบวันเกิดของเขาแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นวันที่ 23 เมษายน หรือวันที่ระลึกนักบุญเซนต์จอร์จ[8] อย่างไรก็ดีอาจเป็นความผิดพลาดของนักวิชาการในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งสับสนกับวันเสียชีวิตของเชกสเปียร์ คือ 23 เมษายน 1616 ก็เป็นได้[8] เชกสเปียร์เป็นบุตรคนที่สามในจำนวนพี่น้องแปดคน และเป็นบุตรชายคนโตที่ยังมีชีวิตอยู่[8]
แม้จะไม่ใคร่มีบันทึกเกี่ยวกับประวัติของเชกสเปียร์หลงเหลืออยู่ นักศึกษาชีวประวัติส่วนใหญ่เชื่อว่า เชกสเปียร์เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียน King's New School ในเมืองสแตรทฟอร์ด[9] ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเขาราว 1 ใน 4 ไมล์ การศึกษาภาษาศาสตร์ในโรงเรียนยังค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปมาในยุคสมัยเอลิซาเบธ แต่หลักสูตรถูกควบคุมทั่วประเทศโดยกฎหมาย[10] ทางโรงเรียนจะต้องสอนไวยากรณ์ละตินและวรรณกรรมคลาสสิกเท่านั้น เมื่ออายุได้ 18 ปี เชกสเปียร์แต่งงานกับแอนน์ ฮาธาเวย์ (Anne Hathaway) หญิงสาวอายุ 26 ปี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1582 ดูเหมือนการแต่งงานจะจัดขึ้นอย่างเร่งรีบ เพราะมีการประกาศเรียกหาคำคัดค้านการวิวาห์เพียงครั้งเดียว แทนที่จะเป็นสามครั้งตามประเพณีปรกติ[11] สาเหตุอาจเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ของฮาธาเวย์ก็ได้ เพราะเพียงหกเดือนหลังการแต่งงาน เธอก็ให้กำเนิดบุตรีคนแรกของเชกสเปียร์ คือ ซูซานนา ผู้เข้าพิธีรับศีลในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1583[8] ต่อมาบุตรชายและบุตรสาวฝาแฝด คือแฮมเน็ตและจูดิธ จึงถือกำเนิดขึ้น 2 ปีหลังจากนั้น และเข้าพิธีรับศีลเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1585[8] แฮมเน็ตเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่ออายุได้เพียง 11 ปี มีพิธีฝังศพเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1596[8]
ไม่มีบันทึกใด ๆ เกี่ยวกับเชกสเปียร์ให้พบเห็นอีกหลังการเสียชีวิตของบุตรฝาแฝด จนกระทั่งปรากฏชื่อของเขาอยู่ในฉากละครหนึ่งในกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1592 ช่องว่างที่หายไปหลายปีระหว่าง ค.ศ. 1585 ถึง 1592 นักวิชาการเรียกว่าเป็น "ปีที่หายไป" ของเชกสเปียร์[8] มีนักศึกษาชีวประวัติหลายคนสร้างเรื่องสมมุติฐานขึ้นมากมายในช่วงปีเหล่านี้ เช่น นิโคลัส รอว์ นักศึกษาชีวประวัติเชกสเปียร์คนแรก ๆ เสนอแนวคิดว่า เชกสเปียร์หนีออกจากเมืองสแตรทฟอร์ดไปยังกรุงลอนดอนเพื่อหลบหนีคดีขโมยกวาง[12] เรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 18 บอกว่า เชกสเปียร์เริ่มต้นชีวิตการงานในโรงละครโดยการเป็นคนดูแลม้าของผู้อุปถัมภ์โรงละครในกรุงลอนดอน[8] จอห์น ออบรี่ย์ เสนอว่า เชกสเปียร์น่าจะเป็นครูโรงเรียนในชนบท[8] ขณะที่นักวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 20 บางคนคิดว่า เชกสเปียร์อาจจะเคยเป็นครูของ อเล็กซานเดอร์ โฮตัน แห่งแลงคาไชร์ เจ้าที่ดินชาวคาทอลิก ซึ่งระบุชื่อ "วิลเลียม เชกสชาฟต์" ในพินัยกรรมของเขา[13] อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลยนอกจากคำบอกเล่าที่ได้ยินได้ฟังมาหลังจากการเสียชีวิตของเขาแล้วทั้งสิ้น[8]
ลอนดอน และการอาชีพการละคร
[แก้]ไม่ทราบแน่ชัดว่า เชกสเปียร์เริ่มต้นการประพันธ์ของเขาเมื่อใด แต่มีบันทึกและการกล่าวอ้างถึงชื่อของเขาอยู่ในรายการแสดง ทำให้ทราบว่าบทละครของเขามีการแสดงอยู่ในลอนดอนแล้วในราวปี ค.ศ. 1592[14] เขาเป็นที่รู้จักดีในกรุงลอนดอนจนกระทั่งนักเขียนบทละคร โรเบิร์ต กรีน ยังเอ่ยถึง[15] นักวิชาการส่วนมากเห็นว่า กรีนระบุชื่อเชกสเปียร์ในเชิงปรามาสว่าเขาพยายามขยับฐานะของตัวให้ขึ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น และพยายามตีเสมอนักเขียนผู้ได้รับการศึกษาอย่างดีจากมหาวิทยาลัย เช่น คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์, โทมัส แนช รวมถึงตัวกรีนเอง[9]
คำว่าร้ายของกรีนเป็นหลักฐานอย่างแรกที่ระบุถึงการงานอาชีพของเชกสเปียร์เกี่ยวกับการละคร นักศึกษาชีวประวัติเชื่อว่าเขาน่าจะเริ่มต้นอาชีพของเขาในราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1580 ก่อนการเอ่ยถึงของกรีนเล็กน้อย[16] หลังจาก ค.ศ. 1594 บทละครของเชกสเปียร์ก็มีการแสดงแต่เฉพาะในคณะละคร Lord Chamberlain's Men ซึ่งเป็นคณะละครที่เหล่านักแสดงร่วมเป็นเจ้าของเอง โดยเชกสเปียร์ก็เป็นหุ้นส่วนด้วย ในเวลาต่อมาคณะละครนี้กลายเป็นคณะที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในกรุงลอนดอน[8] หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ในปี ค.ศ. 1603 คณะละครนี้ได้รับพระราชทานตราทะเบียนหลวงจากพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ คือพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง และเปลี่ยนชื่อคณะละครเป็น King's Men[17]
ปี ค.ศ. 1599 สมาชิกคณะละครกลุ่มหนึ่งได้สร้างโรงละครของตัวเองขึ้นมาบนฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำเทมส์ เรียกชื่อโรงละครว่า "โรงละครโกลบ" ในปี ค.ศ. 1608 หุ้นส่วนกลุ่มนี้ได้เข้าควบคุมกิจการของโรงละคร Blackfriars มีบันทึกการซื้อที่ดินและการลงทุนของเชกสเปียร์ทำให้ทราบได้ว่า การลงทุนครั้งนี้ทำให้เชกสเปียร์มีฐานะมั่งคั่งขึ้น[14] ในปี ค.ศ. 1597 เชกสเปียร์ซื้อบ้านขนาดใหญ่เป็นหลังที่สองในเมืองสแตรทฟอร์ด (ภายหลังเรียกว่า New Place) และในปี ค.ศ. 1605 เขายังได้ลงทุนเป็นเจ้าของถึงหนึ่งในสิบของตำบลแห่งหนึ่งในเมืองสแตรทฟอร์ด[18]
บทละครบางส่วนของเชกสเปียร์ได้รับการตีพิมพ์แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1594 เมื่อถึงปี 1598 ชื่อของเขาสามารถเป็นจุดขายโดยได้พิมพ์ปรากฏบนปกหนังสือ[8][19][20] เชกสเปียร์ยังคงแสดงละครเวทีของเขาเองและบทละครของคนอื่น ๆ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะคนเขียนบทละครแล้ว ละครเวทีของเบน โจนสัน ในปี ค.ศ. 1616 ยังปรากฏชื่อของเชกสเปียร์ในรายชื่อนักแสดงในเรื่อง Every Man in His Humour (1598) และ Sejanus, His Fall (1603)[21] ทว่าชื่อของเขาไม่ได้ร่วมอยู่ในละครของโจนสันในปี 1605 เรื่อง Volpone ทำให้นักวิชาการลงความเห็นว่า นั่นเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดบทบาทอาชีพนักแสดงของเชกสเปียร์[16] อย่างไรก็ดี ในหนังสือ "First Folio" แสดงชื่อของเชกสเปียร์เป็นหนึ่งในบรรดา "ตัวละครหลัก" ของบทละครทั้งหมดนั้น ซึ่งบางเรื่องก็เปิดแสดงหลังจากเรื่อง Volpone แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าเชกสเปียร์ได้ร่วมแสดงเป็นตัวละครใดกันแน่[8]
เชกสเปียร์ใช้เวลาของเขาไปกับทั้งลอนดอนและสแตรทฟอร์ดพร้อมกัน ในปี ค.ศ. 1596 ก่อนที่เขาจะไปซื้อที่ดินใหม่เพื่อสร้างบ้านในสแตรทฟอร์ด เชกสเปียร์อาศัยอยู่ที่โบสถ์หลังหนึ่งของเซนต์เฮเลน ทางตอนเหนือของแม่น้ำเทมส์[22] เขาย้ายข้ามแม่น้ำมาทางใต้ในปี 1599 ซึ่งพรรคพวกของเขาได้สร้างโรงละครโกลบขึ้นในที่แห่งนั้น เมื่อถึงปี 1604 เขาย้ายกลับไปทางเหนือของแม่น้ำอีก ไปอยู่ในแถบชุมชนทางตอนเหนือของคริสตจักรเซนต์ปอล โดยเช่าห้องจากช่างทำวิกผมชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ คริสโตเฟอร์ เมาท์จอย[22]
ช่วงปลายของชีวิต
[แก้]หลังจากปี ค.ศ. 1606-1607 เชกสเปียร์ก็เขียนบทละครน้อยลง และไม่ได้เขียนเพิ่มอีกเลยหลังจากปี 1613[8] งานเขียนบทละคร 3 เรื่องสุดท้ายของเขาเป็นงานเขียนร่วมกับนักเขียนบทละครคนอื่น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น จอห์น เฟล็ตเชอร์[22] ผู้รับสืบทอดตำแหน่งนักเขียนบทละครประจำคณะของเขาใน King's Men ในเวลาต่อมา[8]
นิโคลัส รอว์ เป็นนักศึกษาชีวประวัติคนแรกที่นำเสนอแนวคิดว่า เชกสเปียร์เกษียณตัวเองกลับไปยังสแตรทฟอร์ดเป็นเวลาหลายปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต[9] ทว่าในยุคสมัยนั้นยังไม่ค่อยนิยมการเกษียณการทำงาน และเชกสเปียร์เองก็ยังเดินทางไปยังลอนดอนอยู่บ่อย ๆ[9] เช่นในปี ค.ศ. 1612 เขาเดินทางมาเป็นพยานในศาลเนื่องจากคดีของบุตรสาวของเมาท์จอย[22] ในเดือนมีนาคม 1613 เขาซื้อบ้านหลังเล็กหลังหนึ่งในที่สงฆ์ของ Blackfriars[8] และหลังจากเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1614 เขาพำนักอยู่ในลอนดอนเป็นเวลาหลายสัปดาห์กับลูกเขย คือ จอห์น ฮอลล์[22]
เชกสเปียร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1616[8] โดยใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับภรรยาและบุตรสาวทั้งสอง ซูซานนาแต่งงานกับนายแพทย์ จอห์น ฮอลล์ เมื่อปี ค.ศ. 1607 ส่วนจูดิธแต่งงานกับโทมัส ควินีย์ พ่อค้าเหล้าองุ่น สองเดือนหลังจากเชกสเปียร์เสียชีวิต[8]
ในพินัยกรรมของเชกสเปียร์ เขายกที่ดินผืนใหญ่ของเขาให้แก่ซูซานนา บุตรสาวคนโต[8] ข้อกำหนดระบุว่าเธอจะต้องสืบมรดกต่อไปโดยมอบให้แก่ "บุตรชายคนโต"[22] ครอบครัวควินีย์มีบุตรสามคน แต่ทั้งสามถึงแก่กรรมโดยไม่ได้แต่งงาน ครอบครัวฮอลล์มีบุตรเพียงคนเดียวคือ เอลิซาเบธ เธอแต่งงานสองครั้งแต่ไม่มีบุตร จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1670 เป็นอันสิ้นสุดผู้สืบตระกูลสายตรงของเชกสเปียร์[8] ในพินัยกรรมของเขาไม่ค่อยเอ่ยถึงภริยา ซึ่งสมควรจะได้รับมรดกจำนวน 1 ใน 3 ของที่ดินของเขาโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดีเขาได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ให้ยก "เตียงนอนที่ดีที่สุดหลังที่สอง" ของเขาให้แก่เธอ เป็นเหตุให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมาก[9] นักวิชาการบางคนเห็นว่าเขาทำเช่นนั้นเพื่อยั่วแอนน์ แต่อีกหลายคนเห็นว่า เตียงนอนหลังที่สองของเขาหมายถึงเตียงจากการแต่งงาน จึงน่าจะมีความหมายอย่างลึกซึ้ง[8]
ร่างของเชกสเปียร์ฝังไว้ที่สุสานของคริสตจักรโฮลี่ทรินิตี้หลังจากเขาเสียชีวิตได้สองวัน ต่อมาในช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนปี ค.ศ. 1623 มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่เขาบนกำแพงทางด้านเหนือพร้อมรูปปั้นครึ่งตัวของเขาในท่ากำลังเขียนหนังสือ คำจารึกเปรียบเทียบเขาเสมอกับเนสเตอร์ โสกราตีส และเวอร์จิล[8] แผ่นหินที่วางเหนือหลุมศพของเขามีอักขระจารึกไว้พร้อมกับคำสาปหากมีผู้ใดบังอาจมาเคลื่อนย้ายกระดูกของเขา
งานบทละคร
[แก้]นักวิชาการมักแบ่งลำดับงานเขียนของเชกสเปียร์ออกเป็นสี่ช่วง[23] ในช่วงแรกจนถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1590 เขามักเขียนบทละครชวนหัวซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานของชาวโรมันและอิตาลี หรือบทละครแนวอิงประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงนั้น ต่อมาในช่วงที่สองตั้งแต่ราวปี 1595 เขาเริ่มเขียนละครโศกนาฏกรรม เริ่มตั้งแต่ โรมิโอกับจูเลียต ไปจนถึง จูเลียส ซีซาร์ ในปี ค.ศ. 1599 ในระหว่างช่วงเวลานี้ เขายังได้เขียนงานบทละครที่ได้รับยกย่องว่าเป็นบทละครแนวขบขันและแนวประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาด้วย จากนั้นในราวปี ค.ศ. 1600 ถึงประมาณ 1608 นับเป็น "ยุคโศก" ของเขา เชกสเปียร์เขียนแต่เรื่องโศกนาฏกรรมเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้นในช่วงปี 1608 ถึง 1613 จะเป็นแนวเศร้าปนตลก หรือบางครั้งเรียกว่าแนวโรมานซ์
งานบทละครชิ้นแรกของเชกสเปียร์ที่มีการบันทึกไว้ คือบทละครเรื่อง พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และบทละครอีกสามองก์ของ พระเจ้าเฮนรีที่ 4 ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1590 อันเป็นยุคที่นิยมละครชีวิตอิงประวัติศาสตร์ การระบุวันเวลาในการประพันธ์บทละครของเชกสเปียร์ทำได้ค่อนข้างยาก แต่จากการศึกษางานเขียนของเขา นักวิชาการเชื่อว่า Titus Andronicus, The Comedy of Errors, The Taming of the Shrew และ Two Gentlemen of Verona น่าจะเป็นงานเขียนในช่วงแรก ๆ ของเชกสเปียร์[8] ผลงานในกลุ่มละครอิงประวัติศาสตร์ของเชกสเปียร์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของราฟาเอล โฮลินเชด ในปี 1587 คือ Chronicles of England, Scotland, and Ireland แสดงให้เห็นถึงความล่มจมที่เกิดจากการปกครองอันอ่อนแอ ซึ่งสามารถตีความไปถึงต้นกำเนิดของราชวงศ์ทิวดอร์[24] องค์ประกอบของบทละครยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของนักเขียนบทละครในยุคเอลิซาเบธหลายคน โดยเฉพาะ โทมัส คิด และ คริสโตเฟอร์ มาโลว์ อันเป็นลักษณะของบทละครในยุคกลาง[25] บทละคร The Comedy of Errors ก็มีพื้นฐานมาจากรูปแบบละครในยุคคลาสสิก แต่ไม่พบแหล่งกำเนิดของ The Taming of the Shrew แม้ว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับละครอีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเดียวกันซึ่งดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้าน[8]
ผลงานคลาสสิกและงานขำขันในยุคแรกของเชกสเปียร์มักมีโครงเรื่อง 2 ส่วนเกี่ยวพันกัน และมีลำดับการออกมุขตลกที่แน่ชัด เป็นตัวเบิกทางไปสู่ผลงานสุขนาฏกรรมอันอบอวลด้วยความรักในช่วงกลางทศวรรษ 1590[9] นั่นคือ ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน (A Midsummer Night's Dream) อันเป็นบทละครที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวความรัก เวทมนตร์ของนางฟ้า และฉากตลกขำขัน บทละครเรื่องต่อมาคือ เวนิสวาณิช ก็เป็นละครชวนหัวที่เกี่ยวกับความรัก มีตัวละครชาวยิวผู้เป็นนายหน้าเงินกู้จอมงก ไชล็อก อันสะท้อนภาพของผู้คนในยุคเอลิซาเบธ นอกจากนี้ยังมีบทละครชวนหัวที่เล่นถ้อยคำอย่างชาญฉลาด Much Ado About Nothing, ฉากอันงดงามมีเสน่ห์ใน As You Like It ตลอดจนเรื่องราวรื่นเริงใน ราตรีที่สิบสอง (Twelfth Night) เหล่านี้ล้วนเป็นบทละครสุขนาฏกรรมอันมีชื่อเสียงของเชกสเปียร์[9] หลังจากงานกวีเรื่อง ริชาร์ดที่ 2 เชกสเปียร์นำเสนองานเขียนร้อยแก้วเชิงขำขันกับละครอิงประวัติศาสตร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1590 คือเรื่อง พระเจ้าเฮนรีที่ 4 และ พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ตัวละครของเขามีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากขึ้น โดยที่ต้องสลับไปมาระหว่างความจริงจังกับความตลก และยังสลับไปมาระหว่างการบรรยายแบบร้อยแก้วกับร้อยกรอง นับเป็นผลสำเร็จในการนำเสนอเรื่องราวด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ในงานเขียนของเขา[26][9] ยุคนี้ของเชกสเปียร์เริ่มต้นและจบลงด้วยงานเขียนโศกนาฏกรรมสองเรื่อง คือ โรมิโอกับจูเลียต ละครโศกนาฏกรรมความรักที่โด่งดังมีชื่อเสียงที่สุด และ จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งแต่งขึ้นจากผลงานแปลของเซอร์โทมัส นอร์ธ เรื่อง Parallel Lives ในปี 1579 นับเป็นการนำเสนอรูปแบบละครชีวิตแนวใหม่[9]
ช่วงที่เรียกว่า "ยุคโศก" ของเชกสเปียร์อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1600 - 1608 เขาเขียนทั้งบทละครโศกนาฏกรรมรวมถึงบทละครที่เรียกกันว่า "problem plays" (บทละครกังขา : กล่าวคือไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นละครตลกหรือละครเศร้า อาจเรียกว่าเป็น "ตลกร้าย") ได้แก่ Measure for Measure, ทรอยลัสกับเครสสิดา, และ All's Well That Ends Well[27][28] นักวิจารณ์หลายคนเห็นว่า ละครโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ของเชกสเปียร์เป็นตัวแสดงถึงศิลปะอันสูงสุดในตัวเขา วีรบุรุษ แฮมเล็ต เป็นตัวละครของเชกสเปียร์ที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดตัวหนึ่ง โดยเฉพาะบทรำพันของตัวละครที่โด่งดังมาก คือ "To be or not to be; that is the question."[27] แฮมเล็ตเป็นตัวละครที่มีปัญหาภายในใจมาก และความลังเลของเขาเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต ทว่าตัวละครเอกในโศกนาฏกรรมเรื่องอื่นที่ตามมา คือ Othello และ King Lear กลับได้รับผลร้ายจากความรีบเร่งด่วนตัดสิน[27] โครงเรื่องโศกของเชกสเปียร์มักเกิดเหตุการณ์ที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าเกิดขึ้น อันนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาดและทำลายชีวิตของตัวละครเอกกับคนรัก นักวิจารณ์คนหนึ่งคือ แฟรงค์ เคอร์โมด (Frank Kermode) กล่าวว่า "บทละครไม่เปิดโอกาสให้ตัวละครหรือผู้ชมสามารถหลุดพ้นจากความโหดร้ายได้เลย"[27][9] ในบทละครเรื่อง แมคเบธ ซึ่งเป็นบทละครที่สั้นที่สุดของเชกสเปียร์ ความทะเยอทะยานไม่รู้จบยั่วให้แมคเบธกับภริยา คือเลดี้แมคเบธ ปลงพระชนม์กษัตริย์ผู้ชอบธรรมและชิงบัลลังก์มา ความผิดนี้ทำลายคนทั้งสองในเวลาต่อมา เชกสเปียร์ได้ประพันธ์บทกวีนิพนธ์อันไพเราะลงในงานบทละครโศกชิ้นสำคัญในช่วงหลัง ๆ คือ Antony and Cleopatra กับ Coriolanus ซึ่งถือว่าเป็นบทกวีที่ดีที่สุด ที.เอส.อีเลียต กวีและนักวิจารณ์ ยังยกย่องว่าเป็นบทละครโศกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเชกสเปียร์อีกด้วย[9][29]
ยุคสุดท้ายของผลงานของเชกสเปียร์หวนกลับไปสู่บทละครโรมานซ์หรือตลกโศกอีกครั้ง โดยมีบทละครสามเรื่องเป็นเรื่องเอกคือ Cymbeline, The Winter's Tale และ The Tempest นอกจากนี้ยังมีงานอื่นอีกเช่น Pericles, Prince of Tyre บทละครทั้งสี่เรื่องนี้มีบรรยากาศของเรื่องค่อนข้างเศร้ากว่าบทละครตลกอื่น ๆ ในช่วงทศวรรษ 1590 แต่ก็จบลงด้วยความปรองดองและการให้อภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นักวิจารณ์บางคนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้เกิดจากการที่เชกสเปียร์มีประสบการณ์ในชีวิตมากขึ้น แต่ก็อาจเกิดจากความนิยมในการชมละครที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ด้วยเช่นกัน ยังมีผลงานของเชกสเปียร์ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันที่เชื่อว่าประพันธ์ขึ้นในยุคนี้อีกคือเรื่อง พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และ The Two Noble Kinsmen โดยคาดว่าเป็นงานเขียนร่วมกับจอห์น เฟล็ตเชอร์
การแสดงละคร
[แก้]ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเชกสเปียร์เขียนบทละครในยุคแรก ๆ ให้แก่คณะละครใด ที่หน้าปกของ Titus Andronicus ฉบับพิมพ์ปี 1594 ระบุว่าบทละครถูกนำไปแสดงโดยคณะละครเร่ถึง 3 คณะ[30] หลังจากเหตุการณ์โรคระบาดใหญ่ในปี ค.ศ. 1592-3 บทละครของเขาก็นำไปแสดงในคณะละครของเขาเองที่โรงละคร The Theatre และ The Curtain ในชอร์ดิทช์ ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเทมส์[30] ชาวลอนดอนแห่กันไปที่นั่นเพื่อชมละครตอนแรกของเรื่อง พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4 เลโอนาร์ด ดิกก์ส บันทึกไว้ว่า "แทบจะหาห้องไม่ได้"[31] เมื่อชาวคณะละครมีปัญหากับเจ้าของที่ดิน พวกเขาก็รื้อโรงละครลงแล้วเอาไม้ไปสร้างโรงละครแห่งใหม่ชื่อ "โรงละครโกลบ" ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำเทมส์ที่เซาธ์วาร์ค เป็นโรงละครแห่งแรกที่นักแสดงสร้างขึ้นเพื่อนักแสดงเอง[32] โรงละครใหม่เปิดในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1599 โดยแสดงเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ เป็นเรื่องแรก บทละครที่เชกสเปียร์เขียนขึ้นหลังปี 1599 ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับโรงละครแห่งนี้ รวมถึงเรื่อง แฮมเล็ต โอเธลโล และ King Lear[33]
หลังจากคณะละคร Lord Chamberlain's Men เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น King's Men ในปี 1603 พวกเขาก็เริ่มได้เข้าเฝ้าถวายรับใช้แด่กษัตริย์องค์ใหม่ คือ พระเจ้าเจมส์ แม้ประวัติการแสดงค่อนข้างจะขาดตอนไม่ต่อเนื่อง แต่คณะละครก็ได้ใช้บทละครของเชกสเปียร์แสดงต่อหน้าพระที่นั่งถึง 7 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1604 ถึง 31 ตุลาคม ค.ศ. 1605 รวมถึงเรื่อง เวนิสวาณิช ที่ได้แสดง 2 ครั้ง[30] หลังจากปี 1608 พวกเขาแสดงที่โรงละครในร่ม Blackfriars ในระหว่างฤดูหนาว และแสดงที่โกลบในช่วงฤดูร้อน[32] ฉากของโรงละครในร่มเปิดโอกาสให้เชกสเปียร์ได้ทดลองใช้อุปกรณ์ประกอบฉากแบบแปลกใหม่ เช่นในเรื่อง Cymbeline ฉากการโจมตีของเทพจูปิเตอร์ "ในท่ามกลางเสียงฟ้าร้องแสงฟ้าผ่า ประทับอยู่เหนืออินทรี ทรงขว้างค้อนสายฟ้า เหล่าปีศาจต่างทรุดลงไป"[9][34]
ในบรรดานักแสดงในคณะละครของเชกสเปียร์ มีนักแสดงผู้มีชื่อเสียงเช่น ริชาร์ด เบอร์บาจ, วิลเลียม เคมป์, เฮนรี่ คอนเดล และ จอห์น เฮมมิ่งส์ เบอร์บาจได้แสดงเป็นตัวละครเอกในบทละครยุคแรก ๆ ของเชกสเปียร์หลายเรื่อง รวมถึง ริชาร์ดที่ 3 แฮมเล็ต โอเธลโล และ King Lear[35] นักแสดงตลกผู้โด่งดัง วิล เคมป์ แสดงเป็นปีเตอร์คนรับใช้ในเรื่อง โรมิโอกับจูเลียต เป็น Dogberry ในเรื่อง Much Ado About Nothing[8] และบทอื่น ๆ อีก อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มิถุนายน 1613 มีปืนใหญ่ยิงถูกหลังคาของโรงละครโกลบ ทำให้เกิดไฟไหม้ทลายโรงละครลง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด[30]
ต้นฉบับงานเขียน
[แก้]ปี ค.ศ. 1623 เพื่อนของเชกสเปียร์สองคนในคณะละคร King's Men คือ จอห์น เฮมมิ่งส์และเฮนรี่ คอนเดล ได้จัดพิมพ์หนังสือ First Folio เป็นการรวมงานเขียนบทละครต่าง ๆ ของเชกสเปียร์เป็นครั้งแรก เป็นหนังสือขนาดใหญ่ราว 15 นิ้ว (เรียกว่า folio) ประกอบด้วยเนื้อเรื่องบทละคร 36 เรื่อง ในจำนวนนี้มี 18 เรื่องเป็นบทละครที่เพิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรก[30] โดยที่เนื้อเรื่องบางส่วนเคยเผยแพร่มาก่อนหน้านี้แล้วในรูปแบบหนังสือขนาดเล็ก (เรียกว่า quarto) ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าเชกสเปียร์เห็นชอบกับการตีพิมพ์คราวนี้ บางครั้ง "First Folio" จึงได้ชื่อว่าเป็นงานที่ "ขโมยมาและลักลอบตีพิมพ์"[36] อัลเฟรด พอลลาร์ด เรียกบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ว่า "bad quarto" (หมายถึงหนังสือที่บิดเบือน) เนื่องจากเนื้อหาจำนวนหนึ่งถูกดัดแปลง ถ่ายความ หรือบิดเบือนไป อันเนื่องจากการเขียนบทประพันธ์ขึ้นใหม่จากความทรงจำ[36] บทละครอื่น ๆ ของเชกสเปียร์ยังปรากฏเหลือรอดมาอยู่หลายชุด และแต่ละชุดก็มีความแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งอาจเกิดจากการคัดลอกหรือความผิดพลาดจากการพิมพ์ จากการบันทึกย่อของนักแสดง จากบันทึกของผู้ชม หรือบ้างก็จากกระดาษร่างของเชกสเปียร์เอง[37] บทละครบางเรื่องเช่น แฮมเล็ต ทรอยลัสกับเครสสิดา หรือ โอเธลโล ได้รับการดัดแปลงบทจากเชกสเปียร์เองหลายครั้ง สำหรับเรื่อง King Lear เนื้อหาที่ปรากฏในฉบับ folio กับฉบับ quarto ในปี 1608 มีความแตกต่างกันมากจนกระทั่งทางออกซฟอร์ดต้องตีพิมพ์ใน The Oxford Shakespeare ทั้งสองแบบ เพราะไม่สามารถนำสองเวอร์ชันนี้มารวมเข้าด้วยกันได้โดยไม่ทำให้เกิดความสับสน[30]
งานกวีนิพนธ์
[แก้]ปี ค.ศ. 1593-1594 เกิดโรคระบาดใหญ่ทำให้ต้องปิดการแสดงละครลงไป เชกสเปียร์ได้ตีพิมพ์ผลงานกวีนิพนธ์สองเรื่องในแนวอีโรติก คือ Venus and Adonis และ The Rape of Lucrece โดยอุทิศให้กับ เฮนรี ริธเธสลีย์ เอิร์ลแห่งเซาธ์แฮมตัน ในเรื่อง Venus and Adonis อโดนิสผู้ไร้เดียงสาปฏิเสธการร่วมรักกับเทพีวีนัส ขณะที่ในเรื่อง The Rape of Lucrece ลูครีส ภริยาผู้ซื่อสัตย์ของคอลลาทินุส ถูกขืนใจโดยโอรสของทาร์ควิน (เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดราชวงศ์ทาร์ควินด้วย)[38] งานประพันธ์เหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิรูปของโอวิด[39] แสดงถึงความผิดบาปและความขัดแย้งทางศีลธรรมซึ่งเป็นผลจากตัณหาที่ไม่สามารถควบคุมได้[38] บทกวีทั้งสองเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากและมีการพิมพ์ซ้ำหลายครั้งตลอดช่วงชีวิตของเชกสเปียร์ ยังมีบทกวีอีกเรื่องหนึ่งชื่อ A Lover's Complaint พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1609 บรรยายถึงคำคร่ำครวญของเด็กสาวคนหนึ่งที่เสียตัวให้กับชายผู้มาเกี้ยวพา ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันยอมรับกันว่าเชกสเปียร์เป็นผู้ประพันธ์บทกวีเรื่องนี้ แต่นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งเห็นว่าบทกวีนี้ด้อยความงามลงไปเพราะคำพรรณนาที่เยิ่นเย้อ[38] กวีนิพนธ์เรื่อง The Phoenix and the Turtle พิมพ์ในปี ค.ศ. 1601 เป็นกวีนิพนธ์เชิงเปรียบเทียบพรรณนาอาลัยในการสิ้นชีพของฟีนิกซ์ นกในตำนาน กับคู่รักของมันคือนกเขา (turtle dove) นอกจากนี้ยังมีบทกวีอีกสองเรื่องคือร่างโคลงซอนเน็ตบทที่ 138 และ 144 ได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1599 ในหนังสือ The Passionate Pilgrim ภายใต้ชื่อของเชกสเปียร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต[38]
ซอนเน็ต
[แก้]งานกวีนิพนธ์ชุด ซอนเน็ต ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1609 ถือเป็นงานเขียนที่ไม่ใช่บทละครชุดสุดท้ายของเชกสเปียร์ที่ได้รับการตีพิมพ์ นักวิชาการไม่ค่อยแน่ใจว่า บทกวี 154 ชุดได้ประพันธ์ขึ้นในช่วงเวลาใด แต่เชื่อว่าเชกสเปียร์เขียนโคลงซอนเน็ตระหว่างทำงานอยู่เรื่อย ๆ ในเวลาว่าง[8] ก่อนที่จะมีการพิมพ์บทกวีชุดปัญหาใน The Passionate Pilgrim ในปี 1599 ฟรังซิส เมเรส เคยอ้างถึงผลงานในปี 1598 ของเชกสเปียร์ เรื่อง "sugred Sonnets among his private friends"[22] ดูเหมือนว่า เชกสเปียร์ได้วางโครงร่างบทประพันธ์เอาไว้สองชุดหลักที่ตรงข้ามกัน ชุดที่หนึ่งเกี่ยวกับตัณหาที่ไม่อาจควบคุมได้ของสตรีที่แต่งงานแล้ว (เรียกว่า "dark lady" หรือ "หญิงใจชั่ว") อีกชุดหนึ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในความรักของเด็กหนุ่มไร้เดียงสา (เรียกว่า "fair youth" หรือ "วัยเยาว์ที่งดงาม") ไม่ทราบแน่ชัดว่าแนวคิดทั้งสองนี้เป็นตัวแทนถึงผู้ใดผู้หนึ่งในชีวิตจริงหรือไม่ รวมถึงคำว่า "I" (ข้า) ในบทกวี จะหมายถึงตัวเชกสเปียร์เองหรือไม่ งานพิมพ์ซอนเน็ตในปี 1609 ได้อุทิศให้แก่ "มิสเตอร์ ดับเบิลยู. เอช." ซึ่งได้รับยกย่องไว้ว่าเป็น "ผู้ให้กำเนิดเพียงผู้เดียว" ของบทกวีเหล่านั้น แต่ไม่ทราบแน่ว่าผู้เขียนคำอุทิศนี้คือเชกสเปียร์หรือทางสำนักพิมพ์ ทอมัส ทอร์ป กันแน่ ทั้งไม่ทราบว่า มิสเตอร์ ดับเบิลยู. เอช. ตัวจริงคือใคร มีทฤษฎีที่วิเคราะห์กวีนิพนธ์เล่มนี้มากมาย รวมถึงว่าเชกสเปียร์ได้อนุญาตให้มีการตีพิมพ์คราวนี้หรือไม่[8] นักวิจารณ์ต่างให้คำชื่นชมแก่บทกวีชุดซอนเน็ตว่าเป็นตัวอย่างการพรรณนาอันลึกซึ้งอย่างวิเศษเกี่ยวกับธรรมชาติของความรัก ความใคร่ การเกิด การตาย และกาลเวลา[40]
ลักษณะการประพันธ์
[แก้]ลักษณะการประพันธ์บทละครยุคแรก ๆ ของเชกสเปียร์เป็นไปตามสมัยนิยมในยุคของเขา โดยใช้ถ้อยคำภาษาที่มิได้ส่งออกมาจากภาวะในใจของตัวละครหรือตามบทบาทอันแท้จริง[41] คำพรรณนาในบทกวีก็เต็มไปด้วยอุปมาอุปไมยอันเพราะพริ้ง ภาษาที่ใช้เป็นลักษณะของสุนทรพจน์อันไพเราะมากเสียกว่าจะเป็นบทพูดจาสนทนากันตามจริง
แต่ต่อมาไม่นาน เชกสเปียร์เริ่มปรับปรุงวิถีทางดั้งเดิมเหล่านั้นเสียใหม่ตามจุดประสงค์ส่วนตัว การรำพึงรำพันกับตัวเองใน ริชาร์ดที่ 3 มีพื้นฐานมาจากวิธีการบรรยายจิตสำนึกของตัวละครในละครยุคกลาง ในขณะเดียวกันก็มีการแสดงบุคลิกตัวละครอย่างชัดแจ้งในระหว่างการรำพันนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกิดขึ้นทันทีทันใดในบทละครเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เชกสเปียร์ค่อย ๆ ผสมผสานวิธีการทั้งสองนี้เข้าด้วยกันไปเรื่อย ๆ ในระหว่างการทำงาน ตัวอย่างที่ดีที่สุดเห็นจะได้แก่บทละครเรื่อง โรมิโอกับจูเลียต[42] ช่วงกลางทศวรรษ 1590 ระหว่างที่เขาประพันธ์เรื่อง โรมิโอกับจูเลียต, ริชาร์ดที่ 3 และ ฝัน ณ คืนกลางฤดูร้อน เชกสเปียร์เริ่มแต่งบทกวีที่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น เขาค่อย ๆ ปรับระดับการอุปมาและการพรรณนาให้เหมาะสมกับลักษณะของตัวละครและเนื้อเรื่องของเขา
ฉันทลักษณ์มาตรฐานสำหรับบทกวีของเชกสเปียร์คือ blank verse ประพันธ์ด้วยมาตราแบบ iambic pentameter หมายความว่าบทกวีของเขาไม่ค่อยมีเสียงสัมผัส และมี 10 พยางค์ต่อ 1 บรรทัด ออกเสียงหนักที่พยางค์คู่ ฉันทลักษณ์ในบทประพันธ์ยุคแรกก็ยังมีความแตกต่างกับบทประพันธ์ในยุคหลังของเขาอยู่มาก โดยทั่วไปยังคงความงดงาม แต่รูปประโยคมักจะเริ่มต้น หยุด และจบเนื้อหาลงภายในบรรทัด เป็นความราบเรียบจนอาจทำให้น่าเบื่อหน่าย[43] ครั้นเมื่อเชกสเปียร์เริ่มชำนาญมากขึ้น เขาก็เริ่มใส่อุปสรรคลงไปในบทกวี ทำให้มีการชะงัก หยุด หรือมีระดับการลื่นไหลของคำแตกต่างกัน เทคนิคนี้ทำให้เกิดพลังชนิดใหม่และทำให้บทกวีที่ใส่ในบทละครมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่นที่ปรากฏใน จูเลียส ซีซาร์ และ แฮมเล็ต[44]
หลังจากเรื่อง แฮมเล็ต เชกสเปียร์ยังปรับรูปแบบการประพันธ์บทกวีของเขาต่อไปอีก โดยเฉพาะการแสดงความรู้สึกสื่อถึงอารมณ์ซึ่งปรากฏในบทละครโศกในยุคหลัง ๆ ในช่วงปลายของชีวิตการทำงานของเขา เชกสเปียร์พัฒนาเทคนิคการประพันธ์หลายอย่างให้ส่งผลกระทบด้านอารมณ์ต่าง ๆ กันได้ เช่น การส่งเนื้อความจากประโยคหนึ่งต่อเนื่องไปอีกประโยคหนึ่ง (enjambment) การใส่จังหวะเว้นช่วงหรือจังหวะหยุดแบบแปลก ๆ รวมถึงโครงสร้างและความยาวประโยคที่แตกต่างกันหลาย ๆ แบบ ผู้ฟังถูกท้าทายให้จับใจความและความรู้สึกของตัวละครให้ได้[45] บทละครโรมานซ์ในยุคหลังที่มีโครงเรื่องพลิกผันชวนประหลาดใจ ส่งแรงบันดาลใจให้กับแนวทางประพันธ์บทกวีในช่วงสุดท้าย โดยมีประโยคสั้น-ยาว รับส่งล้อความกัน มีการใช้วลีจำนวนมาก และสลับตำแหน่งประธาน-กรรม ของประโยค เป็นการสร้างสรรค์ผลกระทบใหม่โดยธรรมชาติ[45]
อัจฉริยะในทางกวีของเชกสเปียร์มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสัญชาตญานการทำละคร[46] โครงเรื่องละครของเชกสเปียร์ได้รับอิทธิพลจาก เปตราก และ โฮลินเชด เช่นเดียวกับนักเขียนบทละครคนอื่น ๆ แต่เขาปรับปรุงโครงเรื่องเสียใหม่ สร้างศูนย์กลางความสนใจขึ้นหลาย ๆ จุดและแสดงการบรรยายด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้ชมมากเท่าที่จะทำได้ ยิ่งเชกสเปียร์มีความชำนาญมากขึ้นเท่าใด เขาก็สามารถสร้างตัวละครได้ชัดเจนมากขึ้น มีแรงจูงใจอันหลากหลายมากขึ้น และมีวิธีการพูดที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างไรก็ดี เชกสเปียร์ยังคงรักษารูปแบบของงานในยุคต้นของเขาเอาไว้อยู่บ้าง แม้ในงานบทละครโรมานซ์ช่วงหลังของเขา ก็ยังมีการใช้รูปแบบของบทอันพริ้งเพรา เพื่อรักษามนต์เสน่ห์ของมายาแห่งการละครเอาไว้[45][47]
อิทธิพลของเชกสเปียร์
[แก้]ผลงานของเชกสเปียร์ได้สร้างให้เกิดความประทับใจอันยาวนานต่อมาในวงการการละครและวรรณกรรม เขาได้ขยายศักยภาพของการละครออกไปทั้งในด้านการสร้างลักษณะและบทบาทของตัวละคร โครงเรื่องที่แปลกใหม่ ภาษา และรูปแบบของการแสดงละคร[48] ก่อนจะมีละครเรื่อง โรมีโอและจูเลียต ไม่เคยมีการแสดงละครโรมานซ์ที่หยิบยกเอาความรักขึ้นมาเป็นประเด็นทรงคุณค่าสำหรับละครโศกมาก่อนเลย[49] การพูดคนเดียวของตัวละครเคยใช้สำหรับการอธิบายลักษณะของตัวละครหรือช่วยบรรยายเหตุการณ์ในเรื่อง แต่เชกสเปียร์นำมาใช้ในการรำพึงรำพันถึงความในใจของตัวละครตัวนั้น[50] นอกจากนี้ ผลงานของเขายังเป็นแรงบันดาลใจต่อกวีในยุคหลังอย่างมาก กวียุคโรแมนติกพยายามจะฟื้นฟูลักษณะการประพันธ์แบบเชกสเปียร์ขึ้นมาใหม่ แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก จอร์จ สเตนเนอร์ นักวิจารณ์ กล่าวว่า บทกวีอังกฤษในยุคระหว่างคอเลริดจ์จนถึงเทนนีสัน เป็นได้แค่ "งานดัดแปลงห่วย ๆ ที่เลียนแบบเชกสเปียร์" เท่านั้น[51]
เชกสเปียร์ยังมีอิทธิพลต่อนักเขียนนวนิยายเช่น โทมัส ฮาร์ดี[52] วิลเลียม ฟอลค์เนอร์[53] และ ชาร์ลส์ ดิคเก้นส์ ดิคเก้นส์นี้มักอ้างถึงงานประพันธ์ของเชกสเปียร์ และวาดภาพจากงานของเชกสเปียร์ถึง 25 ภาพ[54] นวนิยายที่มีตัวละครคนเดียวของนักประพันธ์ชาวอเมริกัน ชื่อ เฮอร์แมน เมลวิลล์ ถือว่าได้รับอิทธิพลมาจากเชกสเปียร์อย่างมาก กัปตัน อาฮับ ในเรื่อง โมบิดิก (Moby-Dick) ซึ่งเป็นวีรบุรุษรันทดที่คลาสสิกมาก ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากเรื่อง King Lear[55] นักวิชาการยังสามารถระบุงานดนตรีมากกว่า 20,000 ชิ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับผลงานของเชกสเปียร์ ในจำนวนนี้รวมถึงละครโอเปราสองเรื่องของจูเซปเป แวร์ดี เรื่อง Otello และ Falstaff ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับบทละครต้นฉบับอย่างเห็นได้ชัด[56] เชกสเปียร์ยังส่งแรงบันดาลใจต่อศิลปินนักวาดภาพจำนวนมาก รวมถึงศิลปินในยุคโรแมนติกและกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล[57][58] ศิลปินยุคโรแมนติกชาวสวิสคนหนึ่งชื่อ อองรี ฟูเซลี ซึ่งเป็นสหายของวิลเลียม เบลก ถึงกับลงมือแปลเรื่อง แมคเบธ ไปเป็นภาษาเยอรมันทีเดียว[59] นักจิตวิทยา ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ ยังใช้ตัวอย่างงานของเชกสเปียร์โดยเฉพาะเรื่อง แฮมเล็ต ไปเป็นทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์[60]
ในยุคของเชกสเปียร์ รูปแบบไวยากรณ์และการสะกดคำในภาษาอังกฤษยังไม่สู้จะเป็นมาตรฐานดังเช่นปัจจุบัน การใช้ภาษาของเชกสเปียร์มีบทบาทสำคัญที่ช่วยจัดรูปแบบให้ภาษาอังกฤษใหม่[61] ในหนังสือพจนานุกรมภาษาอังกฤษ (A Dictionary of the English Language) ของ ซามูเอล จอห์นสัน ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในตระกูลพจนานุกรมทั้งหมด อ้างอิงถึงเชกสเปียร์มากกว่านักเขียนคนอื่น ๆ มาก[62] สำนวนบางอย่างเช่น "with bated breath" (จาก เวนิสวาณิช) และ "a foregone conclusion" (จาก โอเธลโล) ก็กลายเป็นที่ใช้อยู่ทั่วไปในคำพูดภาษาอังกฤษในปัจจุบัน[63]
ชื่อเสียงและคำวิจารณ์
[แก้]
"เขามิใช่เพียง (นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่) แห่งยุค แต่เป็น (นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่) ตลอดกาล" |
เบน โจนสัน[64] |
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เชกสเปียร์ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากนัก แต่ก็ได้รับคำยกย่องสรรเสริญตามสมควร[65] ปี ค.ศ. 1598 พระนักเขียนชื่อ ฟรังซิส เมเรส ยกย่องเชกสเปียร์ว่า "โดดเด่นที่สุด" ยิ่งกว่านักเขียนชาวอังกฤษทั้งหมดไม่ว่าด้านงานสุขหรือโศกนาฏกรรม[66] เหล่านักเขียนบทละคร Parnassus ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น เคมบริดจ์ นับเนื่องเขาอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับชอเซอร์ โกเวอร์ และสเปนเซอร์[67] ใน First Folio เบน จอห์นสัน เรียกเชกสเปียร์ว่าเป็น "จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย เสียงชื่นชม ความรื่นเริงและความมหัศจรรย์แห่งเวทีของเรา" แม้เขาจะเคยกล่าวในที่แห่งอื่นว่า "เชกสเปียร์ต้องการศิลปะ"[67]
ระหว่างช่วงฟื้นฟูราชวงศ์ในช่วงทศวรรษ 1660 และปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 แนวคิดแบบคลาสสิกเป็นเสมือนแฟชั่นชั่วครู่ชั่วยาม นักวิจารณ์ในยุคนั้นส่วนมากจึงมักจัดระดับงานของเชกสเปียร์อยู่ต่ำกว่า จอห์น เฟล็ตเชอร์ และ เบน โจนสัน[67] ตัวอย่างเช่น โทมัส ไรเมอร์ วิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิกับการที่เชกสเปียร์นำเรื่องขำขันมาผสมปนเปกับงานโศก อย่างไรก็ดี จอห์น ไดรเดน กวีและนักวิจารณ์อีกคนหนึ่งให้ค่าแก่งานของเชกสเปียร์อย่างสูง เขาพูดถึงโจนสันว่า "ผมนับถือเขา แต่ผมรักเชกสเปียร์"[68] คำวิจารณ์ของไรเมอร์มีอิทธิพลมากกว่าเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักวิจารณ์จึงเริ่มกล่าวขวัญถึงถ้อยคำอันงดงามของเชกสเปียร์ และยอมรับถึงอัจฉริยภาพในทางอักษรของเขา งานเขียนเชิงวิชาการหลายชิ้น รวมถึงงานที่โดดเด่นเช่นงานเขียนของ ซามูเอล จอห์นสัน ในปี 1765 และ เอ็ดมอนด์ มาโลน ในปี 1790 แสดงให้เห็นถึงความนิยมยกย่องที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ[67] เมื่อถึงช่วงปี 1800 เขาก็ได้รับยกย่องให้เป็นกวีเอกแห่งชาติ[69] ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ชื่อเสียงของเชกสเปียร์ก็เลื่องลือกว้างไกลออกไป เทียบเคียงกับบรรดานักเขียนชื่อดังท่านอื่น ๆ ได้แก่ วอลแตร์ เกอเธ่ สเตนดัล และ วิกเตอร์ ฮูโก เป็นต้น[70]
ระหว่างช่วงยุคโรแมนติก เชกสเปียร์ได้รับยกย่องอย่างสูงจากกวีและนักปรัชญาวรรณกรรม แซมมวล เทย์เลอร์ คอเลริดจ์ (Samuel Taylor Coleridge) นักวิจารณ์ชื่อ August Wilhelm Schlegel แปลงบทละครของเขาไปอยู่ในวรรณกรรมโรแมนติกของเยอรมัน[71] เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำวิจารณ์ยกย่องอัจฉริยะของเชกสเปียร์ก็ยิ่งเลิศลอยมากขึ้น[72] โทมัส คาร์ลไลล์ เขียนถึงเขาเมื่อ ค.ศ. 1840 ว่า "เชกสเปียร์ผู้ยิ่งใหญ่ ส่องประกายด้วยมงกุฎแห่งเอกราช อันเจิดจรัสเหนือผองเรา ดำรงซึ่งเกียรติ ศักดิ์ และพลังอันยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้ใดจักทำลายลงได้"[73] การแสดงละครในยุควิกตอเรียสร้างจากงานของเชกสเปียร์อย่างยิ่งใหญ่อลังการ[74] จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักวิจารณ์และนักเขียนบทละครถึงกับตั้งสมญานามเชิงล้อเลียนให้แก่เชกสเปียร์ว่าเป็น "Bardolatry" (จอมเทพแห่งกวี: มีความหมายเชิงยกย่องแต่แฝงความโบราณคร่ำครึ) และกล่าวว่า งานเขียนร่วมสมัยเชิงธรรมชาตินิยมที่เริ่มจากบทละครของอิบเซน นับเป็นจุดสิ้นสุดยุคของเชกสเปียร์[67]
แต่การปฏิวัติศิลปะยุคใหม่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มิได้ละทิ้งงานของเชกสเปียร์ กลับนำผลงานของเขากลับมาใหม่ตามความพอใจของชนชั้นสูง กลุ่มเอ็กซ์เพรสชันนิสต์ในเยอรมันและพวกฟิวเจอริสต์ในมอสโกต่างนำเอาบทละครของเขากลับมาสร้างสรรค์กันใหม่ นักเขียนบทละครและผู้กำกับนิยมมาร์กซิสต์ ชื่อ Bertolt Brecht ได้สร้างโรงละครย้อนยุคโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเชกสเปียร์ ที.เอส.อีเลียต กวีและนักวิจารณ์แสดงความเห็นค้านกับชอว์ ว่างานของเชกสเปียร์มีความ "เรียบง่าย" อย่างมาก ซึ่งแสดงถึงความทันสมัยของเชกสเปียร์ในยุคเดียวกันนั้น[75] อีเลียต ร่วมกับ จี.วิลสัน ไนท์ และโรงเรียนวิจารณ์วรรณกรรมยุคใหม่ มีบทบาทสำคัญในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมนี้โดยได้รับอิทธิพลจากผลงานของเชกสเปียร์ ช่วงทศวรรษ 1950 คลื่นการเปลี่ยนแปลงของยุคใหม่เริ่มเคลื่อนเข้าสู่ยุค "โพสต์-โมเดิร์น" ซึ่งนำการศึกษาวรรณกรรมของเชกสเปียร์เข้าสู่ยุคใหม่ด้วย[75] ทศวรรษ 1980 ลักษณะการศึกษาผลงานของเชกสเปียร์เปิดกว้างต่อศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น เช่น structuralism, เฟมินิสต์, อัฟริกัน-อเมริกัน, และ เควียร์[75]
ข้อเคลือบแคลงเกี่ยวกับเชกสเปียร์
[แก้]ความเป็นเจ้าของผลงาน
[แก้]หลังจากเชกสเปียร์เสียชีวิตไปแล้วราว 150 ปี ก็เริ่มเกิดข้อสงสัยขึ้นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของผลงานบางชิ้นของเชกสเปียร์[76] นักเขียนคนอื่นที่อาจเป็นเจ้าของผลงานเหล่านั้นได้แก่ ฟรานซิส เบคอน, คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ และเอ็ดเวิร์ด เดอ เวียร์ เอิร์ลแห่งออกซฟอร์ด[77] แม้ว่าในวงวิชาการจะมีการพิจารณาและปฏิเสธความเป็นเจ้าของงานของผู้น่าสงสัยคนอื่น ๆ ไป แต่ประเด็นความสนใจในเรื่องนี้ก็ยังคงโด่งดังอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีที่ว่าเอิร์ลแห่งออกซฟอร์ดเป็นผู้ประพันธ์ตัวจริง ที่ยังคงมีการศึกษาค้นคว้าอยู่ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 21[78]
ศาสนา
[แก้]นักวิชาการบางคนอ้างว่าสมาชิกตระกูลเชกสเปียร์นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ในยุคที่การนับถือคาธอลิกเป็นการกระทำผิดกฎหมาย[79] แต่ที่แน่ ๆ มารดาของเชกสเปียร์ คือแมรี อาร์เดน มาจากครอบครัวคาธอลิกที่เคร่งครัด หลักฐานแน่นหนาเท่าที่พบน่าจะเป็นเอกสารเข้ารีตคาธอลิกที่ลงนามโดย จอห์น เชกสเปียร์ ค้นพบในปี ค.ศ. 1757 ในจันทันในบ้านเดิมของเขาที่ถนนเฮนลีย์ ปัจจุบันเอกสารนั้นสูญหายไปแล้ว แต่กระนั้นนักวิชาการก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเอกสารนั้นไม่ใช่เอกสารที่ปลอมขึ้น[9] ในปี ค.ศ. 1591 คณะปกครองสงฆ์รายงานว่า จอห์นไม่ได้ไปร่วมการประชุมที่โบสถ์ "เนื่องจากหวาดกลัวกระบวนการสารภาพบาป" ซึ่งเป็นวิธีล้างบาปโดยปกติของชาวคาธอลิก[9] ปี ค.ศ. 1606 ซูซานนา บุตรสาวของวิลเลียมถูกขึ้นชื่อไว้ในทะเบียนผู้ไม่เข้าร่วมพิธีรับศีลอีสเตอร์ที่เมืองสแตรทฟอร์ด[8][9] นอกจากนี้ นักวิชาการยังพบฉากเหตุการณ์ในบทละครของเขาหลายส่วนที่ทั้งสนับสนุนและต่อต้านความเป็นคาธอลิก ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าที่แท้เป็นอย่างไรกันแน่[80]
รสนิยมทางเพศ
[แก้]ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของเชกสเปียร์ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดนัก เขาแต่งงานตั้งแต่อายุเพียง 18 ปีกับ แอนน์ ฮาธาเวย์ อายุ 26 ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ บุตรีคนแรกคือซูซานนา ถือกำเนิดหลังจากการแต่งงานเพียง 6 เดือน แต่นักอ่านมากมายตลอดหลายศตวรรษต่างมุ่งประเด็นไปที่เนื้อหาในโคลงซอนเน็ตเกี่ยวกับความรักของเขาที่มีต่อชายหนุ่ม อย่างไรก็ดี บางคนกล่าวว่าเนื้อหาเหล่านั้นน่าจะสื่อถึงความสัมพันธ์แบบสหายมากกว่าแบบคนรัก[81] ในขณะเดียวกันโคลงซอนเน็ตอีกชุดหนึ่งคือ "Dark Lady" ก็สื่อถึงสตรีที่แต่งงานแล้ว และมีส่วนบ่งชี้ถึงการลักลอบมีความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง[82]
รายชื่อผลงานของเชกสเปียร์
[แก้]ผลงานของเชกสเปียร์ที่ทราบแน่ชัดคือบทละคร 36 เรื่องที่ปรากฏใน "First Folio" แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เรื่องเศร้า เรื่องตลกขบขัน และเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ยังมีบทละครอีกสองเรื่องที่มิได้อยู่ใน First Folio แต่นักวิชาการยอมรับกันแล้วว่าเชกสเปียร์มีส่วนเกี่ยวข้องในการประพันธ์ค่อนข้างมาก คือ The Two Noble Kinsmen และ Pericles, Prince of Tyre[83] ทั้งนี้ยังไม่นับรวมบทกวี
ปัจจุบันนิยมแยกงานประเภทตลกขบขันออกเป็นหมวดย่อยได้แก่: โรมานซ์ (romances) หรือ เรื่องตลกเศร้า (tragicomedies) งานประเภทนี้จะมีเครื่องหมายดอกจัน * แสดงไว้ งานที่ไม่อาจจัดประเภทได้ชัดเจนจะแสดงด้วยเครื่องหมายกางเขนคู่ (‡) ส่วนงานที่เชื่อว่าเชกสเปียร์ประพันธ์ร่วมกับผู้อื่นจะแสดงด้วยเครื่องหมายกางเขนเดี่ยว (†) งานเขียนบางชิ้นที่มีการกล่าวถึงเกี่ยวข้องกับเขาอยู่บ้างจะแสดงอยู่ในหมวดของงานสูญหายและงานเคลือบแคลง
|
|
|
|
|
|
เชกสเปียร์ในวัฒนธรรมปัจจุบัน
[แก้]อนุสาวรีย์
[แก้]ผลจากชื่อเสียงและความนิยมในผลงานของเชกสเปียร์ จึงมีอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์ของเชกสเปียร์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่อไปนี้เป็นต้วอย่างอนุสาวรีย์บางแห่งที่โดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ[84][85]
- รูปปั้นครึ่งตัวของเชกสเปียร์ที่โบสถ์โฮลี่ทรินิตี้ ในเมืองสแตรทฟอร์ด ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของเชกสเปียร์
- โกเวอร์เมมโมเรียล ที่อุทยานบันครอฟต์ เมืองสแตรทฟอร์ด เป็นรูปปั้นเชกสเปียร์ในท่านั่ง ด้านข้างมีรูปปั้นของเลดี้แมคเบธ เจ้าชายฮัล แฮมเล็ต พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 และฟอลสตัฟฟ์ เป็นตัวแทนหมายถึง ปรัชญา โศกนาฏกรรม ประวัติศาสตร์ และความขบขัน ผู้อนุเคราะห์การก่อสร้างคือลอร์ดโรนัลด์ ซุทเทอร์แลนด์-โกเวอร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1888
- ที่จัตุรัสเลสเตอร์ ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ของเชกสเปียร์ โดยเป็นน้ำพุอยู่กลางจัตุรัส
- อนุสาวรีย์เชกสเปียร์ที่ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน โดยตั้งอยู่ที่ "มุมกวี" (Poets' Corner) ของวิหาร สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1740
- รูปปั้นครึ่งตัวของเชกสเปียร์ สร้างโดย ลูอิส ฟรังซัวส์ โรบิลเลียค ศิลปินงานปั้นชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ
- อนุสาวรีย์เชกสเปียร์ที่ เซนทรัลปาร์ก ในเมืองนิวยอร์ก สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1864 ในโอกาสครบรอบ 300 ปีวันเกิดของเชกสเปียร์
ละครและภาพยนตร์
[แก้]เรื่องราวของเชกสเปียร์รวมถึงผลงานของเขาได้รับการดัดแปลงไปยังสื่อต่าง ๆ เช่น เป็นละครชุดทางโทรทัศน์เรื่อง "เชกสเปียร์" ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี ส่วนภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเชกสเปียร์ได้แก่
- The Life of Shakespeare (ค.ศ. 1914)
- Master Will Shakespeare (ค.ศ. 1936)
- Life of Shakespeare (ค.ศ. 1978)
- Shakespeare in Love (ค.ศ. 1998)
บทละครของเชกสเปียร์ นอกจากมีการนำไปใช้แสดงละครเวทีและดัดแปลงเป็นโอเปราแล้ว ยังได้นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกมากมายหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น
|
|
อื่น ๆ
[แก้]นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์น้อยที่ตั้งชื่อตามนามสกุลของเขา คือ ดาวเคราะห์น้อย 2985 เชกสเปียร์ ซึ่งค้นพบในปี ค.ศ. 1983
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ เป็นวันที่ตามปฏิทินจูเลียน ซึ่งใช้อยู่ในประเทศอังกฤษในช่วงที่เชกสเปียร์มีชีวิต แต่เมื่อต้นปีได้ปรับเป็นวันที่ 1 มกราคม (ดูที่วันที่รูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่) หากนับตามปฏิทินเกรกอเรียนซึ่งนำมาใช้ในกลุ่มประเทศคาทอลิกเมื่อ ค.ศ. 1582 เชกสเปียร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม[1]
แหล่งอ้างอิง
[แก้]- ↑ Schoenbaum 1987, p. xv.
- ↑ Greenblatt 2005, p. 11.
- ↑ Bevington 2002, pp. 1–3.
- ↑ Wells 1997, p. 399.
- ↑ Craig 2003, p. 3.
- ↑ เจมส์ ชาปิโร (2005). 1599: A Year in the Life of William Shakespeare. ลอนดอน: เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์, xvii–xviii. ISBN 0-571-21480-0.
• เอส. ฌอนบอม, (1991). Shakespeare's Lives. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 41, 66, 397–98, 402, 409. ISBN 0-19-818618-5.
• แกรี่ เทย์เลอร์ (1990). Reinventing Shakespeare: A Cultural History from the Restoration to the Present. ลอนดอน: สำนักพิมพ์โฮการ์ธ, 145, 210–23, 261–5. ISBN 0-7012-0888-0. - ↑ Bertolini, John Anthony (1993). Shaw and Other Playwrights. Pennsylvania: Pennsylvania State University Press, 119. ISBN 0-271-00908-X.
- ↑ 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 8.21 8.22 8.23 8.24 8.25 8.26 8.27 8.28 ฌอนบอม (1987), William Shakespeare: A Compact Documentary Life, ฉบับปรับปรุงใหม่, ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 14–22. ISBN 0-19-505161-0.
- ↑ 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 9.12 9.13 9.14 ปีเตอร์ แอคครอยด์ (2006). Shakespeare: The Biography. ลอนดอน: วินเทจ, 53. ISBN 0749386558.
- ↑ เดวิด เครสซี่ (1975). Education in Tudor and Stuart England. นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์เซนต์มาร์ติน, 28, 29. OCLC 2148260.
- ↑ ไมเคิล วูด (2003). Shakespeare. นิวยอร์ก: เบสิกบุ๊คส์, 84. ISBN 0-465-09264-0.
- ↑ นิโคลัส รอว์ (1709). Some Account of the Life &c. of Mr. William Shakespear. เล่าใหม่โดย เทอร์รี่ เอ. เกรย์ (1997) ในบทความ วิลเลียม เชกสเปียร์ กับอินเทอร์เน็ต เก็บถาวร 2008-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ อี. เอ. เจ. โฮนิกมานน์ (1999) Shakespeare: The Lost Years. ฉบับแก้ไขปรับปรุง. แมนเชสเตอร์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์, 1. ISBN 0-7190-5425-7.
- ↑ 14.0 14.1 อี.เค. แชมเบอร์ส (1930). William Shakespeare: A Study of Facts and Problems. Vol. 1. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์คลาเรนดอน, 287, 292. OCLC 353406.
- ↑ สตีเฟน กรีนแบลทท์ (2005). Will in the World: How Shakespeare Became Shakespeare. ลอนดอน: พิมลิโค, 11. ISBN 0-7126-0098-1.
- ↑ 16.0 16.1 สแตนลี่ย์ เวลส์ (2006). Shakespeare & Co. นิวยอร์ก: แพนธีออน, 28. ISBN 0-375-42494-6.
- ↑ อี.เค. แชมเบอร์ส (1923). The Elizabethan Stage. Vol. 2. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์คลาเรนดอน, 208–209. OCLC 336379.
- ↑ จี.อี. เบนท์ลี่ย์ (1961). Shakespeare: A Biographical Handbook. นิวฮาเว่น: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล, 36. OCLC 356416.
- ↑ เดวิด สก๊อต คัสทัน (1999). Shakespeare After Theory. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 37. ISBN 0-415-90112-X.
- ↑ โรสลิน นัตสัน (2001). Playing Companies and Commerce in Shakespeare's Time. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 17. ISBN 0-521-77242-7.
- ↑ โจเซฟ ควินซี อดัมส์ (1923). A Life of William Shakespeare. บอสตัน: ฮูตันมิฟฟลิน, 275. OCLC 1935264.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 ปาร์ก โฮแนน (1998). Shakespeare: A Life. ออกซฟอร์ด; นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 121. ISBN 0-19-811792-2.
- ↑ เอ็ดเวิร์ด ดาวเดน (1881). Shakspere. นิวยอร์ก: แอปเพิลตันแอนด์โค, 48–9. OCLC 8164385.
- ↑ เออร์วิง ริบเนอร์ (2005). The English History Play in the Age of Shakespeare. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 154–155. ISBN 0-415-35314-9.
- ↑ แพทริก เจอราร์ด เชนีย์ (2004). The Cambridge Companion to Christopher Marlowe. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 100. ISBN 0-521-52734-1.
- ↑ ไบรอัน กิบบอนส์ (1993). Shakespeare and Multiplicity. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 1. ISBN 0-521-44406-3.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 เอ. ซี. แบรดลี่ย์ (1991 edition). Shakespearean Tragedy: Lectures on Hamlet, Othello, King Lear and Macbeth. ลอนดอน: เพนกวิน, 85. ISBN 0-14-053019-3.
- ↑ Muir, Kenneth (2005). Shakespeare's Tragic Sequence. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 12–16. ISBN 0-415-35325-4.
- ↑ ที.เอส.อีเลียต (1934). Elizabethan Essays. ลอนดอน: เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์, 59. OCLC 9738219.
- ↑ 30.0 30.1 30.2 30.3 30.4 30.5 สแตนลี่ย์ เวลส์, et al (2005). The Oxford Shakespeare: The Complete Works, 2nd Edition. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. ISBN 0-19-926717-0.
- ↑ เจมส์ ชาปิโร (2005). 1599: A Year in the Life of William Shakespeare. ลอนดอน: เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์, xvii–xviii. ISBN 0-571-21480-0.
- ↑ 32.0 32.1 อาร์. เอ. โฟคส์ (1990). "Playhouses and Players". In The Cambridge Companion to English Renaissance Drama. เอ. บรอนมุลเลอร์ และ ไมเคิล ฮาธาเวย์ (eds.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 6. ISBN 0-521-38662-4.
- ↑ เอ.เอ็ม. แนกเลอร์ (1958). Shakespeare's Stage. นิวฮาเวน, CT: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล, 7. ISBN 0-300-02689-7.
- ↑ ปีเตอร์ ฮอลแลนด์ (ed.) (2000). Cymbeline. ลอนดอน: เพนกวิน; บทนำ, xli. ISBN 0-14-071472-3.
- ↑ วิลเลียม ริงเลอร์ จูเนียร์ (1997)."Shakespeare and His Actors: Some Remarks on King Lear". จาก Lear from Study to Stage: Essays in Criticism. เจมส์ โอเกิน และ อาเทอร์ ฮอลีย์ สกูเทน (eds.). นิวเจอร์ซีย์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฟาร์เลย์ ดิคคินสัน, 127. ISBN 0-8386-3690-X.
- ↑ 36.0 36.1 อัลเฟรด ดับเบิลยู พอลลาร์ด (1909). Shakespeare Quartos and Folios. ลอนดอน: เมธูน. OCLC 46308204.
- ↑ เฟรดสัน โบเวอร์ (1955). On Editing Shakespeare and the Elizabethan Dramatists. ฟิลาเดลเฟีย: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย, 8–10.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 38.3 จอห์น โรว์; ไบรอัน กิบบอนส์; และ เอ.อาร์. บรอนมุลเลอร์ (eds.) (2006). The Poems: Venus and Adonis, The Rape of Lucrece, The Phoenix and the Turtle, The Passionate Pilgrim, A Lover's Complaint, โดย วิลเลียม เชกสเปียร์. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่สอง; บทนำ, 21. ISBN 0-521-85551-9.
- ↑ โรแลนด์ มูแชต ไฟรย์ (2005). The Art of the Dramatist. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge. ISBN 0-415-35289-4.
- ↑ ไมเคิล วูด (2003). Shakespeare. นิวยอร์ก: เบสิกบุ๊คส์, 84. ISBN 0-465-09264-0.
- ↑ วูล์ฟกัง เคลเมน (2005). Shakespeare's Dramatic Art: Collected Essays, 150. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge. ISBN 0-415-35278-9.
- ↑ วูล์ฟกัง เคลเมน(2005). Shakespeare's Imagery. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 29. ISBN 0-415-35280-0.
- ↑ Frye, Roland Mushat (2005). The Art of the Dramatist. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge. ISBN 0-415-35289-4.
- ↑ จอร์จ ที ไรท์ (2004). "The Play of Phrase and Line". จาก Shakespeare: An Anthology of Criticism and Theory, 1945–2000. รัสส์ แมคโดนัลด์ (ed.). ออกซฟอร์ด: แบล็กเวลล์, 868. ISBN 0-631-23488-8.
- ↑ 45.0 45.1 45.2 รัสส์ แมคโดนัลด์ (2006). Shakespeare's Late Style. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. ISBN 0-521-82068-5.
- ↑ ไบรอัน กิบบอนส์ (1993). Shakespeare and Multiplicity. Cambridge: Cambridge University Press, 1. ISBN 0-521-44406-3.
- ↑ จอห์น ซี. เมกแฮร์ (2003). Pursuing Shakespeare's Dramaturgy: Some Contexts, Resources, and Strategies in his Playmaking. นิวเจอร์ซีย์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแฟร์เลย์ ดิคคินสัน, 358. ISBN 0-8386-3993-3.
- ↑ อี. เค. แชมเบอร์ส (1944). Shakespearean Gleanings. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 35. OCLC 2364570.
- ↑ จิลล์ แอล. ลีเวนสัน (2000) (ed.). บทนำ. Romeo and Juliet. วิลเลียม เชกสเปียร์. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 49–50. ISBN 0-19-281496-6.
- ↑ วูล์ฟกัง คลีเมน (1987). Shakespeare's Soliloquies. ลอนดอน: Routledge, 179. ISBN 0-415-35277-0.
- ↑ Dotterer, Ronald L (ed.) (1989). Shakespeare: Text, Subtext, and Context. Selinsgrove, Penn.: Susquehanna University Press, 108. ISBN 0-941664-92-9.
- ↑ ไมเคิล มิลเกต และ คีธ วิลสัน (2006). Thomas Hardy Reappraised: Essays in Honour of Michael Millgate โตรอนโต: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งโตรอนโต, 38. ISBN 0-8020-3955-3.
- ↑ ฟิลิป ซี. คอลิน (1985). Shakespeare and Southern Writers: A Study in Influence. แจ็กสัน: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งมิสซิสซิปปี, 124.
- ↑ วาเลรี แอล เกเกอร์ (1996). Shakespeare and Dickens: The Dynamics of Influence. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 163, 186, 251. ISBN 0-521-45526-X.
- ↑ จอห์น ไบรแอนท์ (1998). "Moby Dick as Revolution". ใน The Cambridge Companion to Herman Melville. Robert Steven Levine (ed.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 82. ISBN 0-521-55571-X.
- ↑ จอห์น กรอสส์ (2003). "Shakespeare's Influence". ใน Shakespeare: An Oxford Guide. สแตนลีย์ เวลส์ และ ลีนา โคเวน ออร์ลิน (eds.). ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 641–2. ISBN 0-19-924522-3.
- ↑ รอย พอตเตอร์ และ ทีค มิคูลาส (1988). Romanticism in National Context. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 48. ISBN 0-521-33913-8.
- ↑ ไลโอเนล แลมเบอร์น (1999). Victorian Painting. ลอนดอน: ไฟดอน, 193–8. ISBN 0-7148-3776-8.
- ↑ จูเลีย พาไรส์ (2006). "The Nature of a Romantic Edition". ใน Shakespeare Survey 59. Peter Holland (ed.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 130. ISBN 0-521-86838-6.
- ↑ นิโคลัส รอยล์ (2000). "To Be Announced". ใน The Limits of Death: Between Philosophy and Psychoanalysis. โจแอน มอร์รา, มาร์ค รอบสัน, มาร์ควาร์ด สมิธ (eds.). แมนเชสเตอร์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์. ISBN 0-7190-5751-5.
- ↑ เดวิด คริสตัล (2001). The Cambridge Encyclopedia of the English Language. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 55–65, 74. ISBN 0-521-40179-8.
- ↑ จอห์น เวน (1975). Samuel Johnson. นิวยอร์ก: ไวกิง, 194. ISBN 0-670-61671-0.
- ↑ แจ็ค ลิงก์ (2002). Samuel Johnson's Dictionary: Selections from the 1755 Work that Defined the English Language. เดลเรย์บีช ฟลอริด้า: สำนักพิมพ์เลเวนเจอร์, 12. ISBN 1-84354-296-X.
- ↑ Quoted in Bartlett, John, Familiar Quotations, 10th edition, 1919. เก็บข้อมูลเมื่อ 14 มิถุนายน 2007.
- ↑ มาร์ค โดมินิค (1988). Shakespeare–Middleton Collaborations. Beaverton, Or.: สำนักพิมพ์อลิออธ, 9. ISBN 0-945088-01-9.
- ↑ เจอร์ไมนี เกรียร์ (1986). William Shakespeare. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 9. ISBN 0-19-287538-8.
- ↑ 67.0 67.1 67.2 67.3 67.4 ฮิว เกรดี (2001). "Shakespeare Criticism 1600–1900". In deGrazia, Margreta, and Wells, Stanley (eds.), The Cambridge Companion to Shakespeare. เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 267. ISBN 0-521-65094-1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "grady" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ Dryden, John (1668). "An Essay of Dramatic Poesy". อ้างถึงโดย Grady ใน Shakespeare Criticism, 269; คำพูดทั้งหมดดูได้จาก: Levin, Harry (1986). "Critical Approaches to Shakespeare from 1660 to 1904". จาก The Cambridge Companion to Shakespeare Studies. Wells, Stanley (ed.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 215. ISBN 0-521-31841-6.
- ↑ ไมเคิล ดอบสัน, (1992). The Making of the National Poet: Shakespeare, Adaptation and Authorship, 1660–1769. ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์คลาเรนดอน. ISBN 0-19-818323-2. อ้างถึงโดย Grady ใน Shakespeare Criticism, 270.
- ↑ Grady อ้างถึง Philosophical Letters ของวอลแตร์ (1733); Wilhelm Meister's Apprenticeship ของเกอเธ่ (1795); two-part pamphlet Racine et Shakespeare ของสเตนดัล (1823–5); prefaces to Cromwell ของฮูโก (1827) และ วิลเลียมเชกสเปียร์ (1864). ใน Shakespeare Criticism, 272–274.
- ↑ Levin, Harry (1986). "Critical Approaches to Shakespeare from 1660 to 1904". จาก The Cambridge Companion to Shakespeare Studies. Wells, Stanley (ed.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 215. ISBN 0-521-31841-6.
- ↑ โรเบิร์ต ซอว์เยอร์, (2003). Victorian Appropriations of Shakespeare. นิวเจอร์ซี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแฟร์เลย์ดิกคินสัน, 113. ISBN 0-8386-3970-4.
- ↑ Carlyle, Thomas (1840). "On Heroes, Hero Worship & the Heroic in History". อ้างถึงในงานของ เอมมา สมิธ, (2004). Shakespeare's Tragedies. ออกซฟอร์ด: แบล็กเวลล์, 37. ISBN 0-631-22010-0.
- ↑ Schoch, Richard (2002). "Pictorial Shakespeare". จาก The Cambridge Companion to Shakespeare on Stage. Wells, Stanley, and Sarah Stanton (eds.). เคมบริดจ์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 58–59. ISBN 0-521-79711-X.
- ↑ 75.0 75.1 75.2 ฮิว เกรดี (2001). "Modernity, Modernism and Postmodernism in the Twentieth Century's Shakespeare". จาก Shakespeare and Modern Theatre: The Performance of Modernity. Bristol, Michael, and Kathleen McLuskie (eds.). นิวยอร์ก: Routledge, 22–6. ISBN 0-415-21984-1.
- ↑ จอร์จ แมคไมเคิล และ เอ็ดการ์ เอ็ม. เกล็นน์ (1962). Shakespeare and his Rivals: A Casebook on the Authorship Controversy. นิวยอร์ก: สำนักพิมพ์โอดิสซีย์. OCLC 2113359.
- ↑ เอช. เอ็น. กิบสัน (2005). The Shakespeare Claimants: A Critical Survey of the Four Principal Theories Concerning the Authorship of the Shakespearean Plays. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge, 48, 72, 124. ISBN 0-415-35290-8.
- ↑ เดวิด เคธแมน (2003). "ข้อสงสัยในความเป็นเจ้าของงาน". ใน Shakespeare: An Oxford Guide. สแตนลีย์ เวลล์ (ed.). ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด, 620, 625–626. ISBN 0-19-924522-3.
- ↑ Pritchard, Arnold (1979). Catholic Loyalism in Elizabethan England. Chapel Hill: University of North Carolina Press, 3. ISBN 0-8078-1345-1.
- ↑ ริชาร์ด วิลสัน (2004). Secret Shakespeare: Studies in Theatre, Religion and Resistance. แมนเชสเตอร์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์, 34. ISBN 0-7190-7024-4.
- ↑ Casey, Charles (ฤดูใบไม้ร่วง 1998). Was Shakespeare gay? Sonnet 20 and the politics of pedagogy เก็บถาวร 2007-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. College Literature. เก็บข้อมูลเมื่อ 2 April 2007.
- ↑ เจ. เอ. ฟอร์ต "The Story Contained in the Second Series of Shakespeare's Sonnets." The Review of English Studies. (ตุลาคม 1927) 3.12, 406–414.
- ↑ เดวิด เคธแมน (2003). "The Question of Authorship". จาก Shakespeare: An Oxford Guide. สแตนลี่ย์ เวลส์(ed.). ออกซฟอร์ด: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. ISBN 0-19-924522-3.
• ชาร์ลส บอยซ์ (1996). Dictionary of Shakespeare. Ware, Herts, UK: Wordsworth. ISBN 1-85326-372-9. - ↑ รวมอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์ของเชกสเปียร์
- ↑ อนุสาวรีย์เชกสเปียร์ที่เซนทรัลปาร์ก
แหล่งข้อมูล
[แก้]- หนังสือ
- Ackroyd, Peter (2006). Shakespeare: The Biography. London: Vintage. ISBN 978-0-7493-8655-9. OCLC 1036948826.
- Adams, Joseph Quincy (1923). A Life of William Shakespeare. Boston: Houghton Mifflin. OCLC 1935264.
- Baldwin, T.W. (1944). William Shakspere's Small Latine & Lesse Greek. Vol. 1. Urbana: University of Illinois Press. OCLC 359037.
- Barroll, Leeds (1991). Politics, Plague, and Shakespeare's Theater: The Stuart Years. Ithaca: Cornell University Press. ISBN 978-0-8014-2479-3. OCLC 23652422.
- Bate, Jonathan (2008). The Soul of the Age. London: Penguin. ISBN 978-0-670-91482-1. OCLC 237192578.
- Bednarz, James P. (2004). "Marlowe and the English literary scene". ใน Cheney, Patrick Gerard (บ.ก.). The Cambridge Companion to Christopher Marlowe. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 90–105. doi:10.1017/CCOL0521820340. ISBN 978-0-511-99905-5. OCLC 53967052 – โดยทาง Cambridge Core.
- Bentley, G.E. (1961). Shakespeare: A Biographical Handbook. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-313-25042-2. OCLC 356416.
- Berry, Ralph (2005). Changing Styles in Shakespeare. London: Routledge. ISBN 978-1-315-88917-7. OCLC 868972698.
- Bevington, David (2002). Shakespeare. Oxford: Blackwell. ISBN 978-0-631-22719-9. OCLC 49261061.
- Bloom, Harold (1995). The Western Canon: The Books and School of the Ages. New York: Riverhead Books. ISBN 978-1-57322-514-4. OCLC 32013000.
- Bloom, Harold (1999). Shakespeare: The Invention of the Human. New York: Riverhead Books. ISBN 978-1-57322-751-3. OCLC 39002855.
- Bloom, Harold (2008). Heims, Neil (บ.ก.). King Lear. Bloom's Shakespeare Through the Ages. Bloom's Literary Criticism. ISBN 978-0-7910-9574-4. OCLC 156874814.
- Boas, Frederick S. (1896). Shakspere and His Predecessors. The University series. New York: Charles Scribner's Sons. hdl:2027/uc1.32106001899191. OCLC 221947650. OL 20577303M.
- Bowers, Fredson (1955). On Editing Shakespeare and the Elizabethan Dramatists. Philadelphia: University of Pennsylvania Press. OCLC 2993883.
- Boyce, Charles (1996). Dictionary of Shakespeare. Ware: Wordsworth. ISBN 978-1-85326-372-9. OCLC 36586014.
- Bradbrook, M.C. (2004). "Shakespeare's Recollection of Marlowe". ใน Edwards, Philip; Ewbank, Inga-Stina; Hunter, G.K. (บ.ก.). Shakespeare's Styles: Essays in Honour of Kenneth Muir. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 191–204. ISBN 978-0-521-61694-2. OCLC 61724586.
- Bradley, A.C. (1991). Shakespearean Tragedy: Lectures on Hamlet, Othello, King Lear and Macbeth. London: Penguin. ISBN 978-0-14-053019-3. OCLC 22662871.
- Brooke, Nicholas (2004). "Language and Speaker in Macbeth". ใน Edwards, Philip; Ewbank, Inga-Stina; Hunter, G.K. (บ.ก.). Shakespeare's Styles: Essays in Honour of Kenneth Muir. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 67–78. ISBN 978-0-521-61694-2. OCLC 61724586.
- Bryant, John (1998). "Moby-Dick as Revolution". ใน Levine, Robert Steven (บ.ก.). The Cambridge Companion to Herman Melville. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 65–90. doi:10.1017/CCOL0521554772. ISBN 978-1-139-00037-6. OCLC 37442715 – โดยทาง Cambridge Core.
- Carlyle, Thomas (1841). On Heroes, Hero-Worship, and The Heroic in History. London: James Fraser. hdl:2027/hvd.hnlmmi. OCLC 17473532. OL 13561584M.
- Cercignani, Fausto (1981). Shakespeare's Works and Elizabethan Pronunciation. Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-811937-1. OCLC 4642100.
- Chambers, E.K. (1923). The Elizabethan Stage. Vol. 2. Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-811511-3. OCLC 336379.
- Chambers, E.K. (1930a). William Shakespeare: A Study of Facts and Problems. Vol. 1. Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-811774-2. OCLC 353406.
- Chambers, E.K. (1930b). William Shakespeare: A Study of Facts and Problems. Vol. 2. Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-811774-2. OCLC 353406.
- Chambers, E.K. (1944). Shakespearean Gleanings. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-8492-0506-4. OCLC 2364570.
- Clemen, Wolfgang (1987). Shakespeare's Soliloquies. แปลโดย Scott-Stokes, Charity. London: Routledge. ISBN 978-0-415-35277-2. OCLC 15108952.
- Clemen, Wolfgang (2005a). Shakespeare's Dramatic Art: Collected Essays. New York: Routledge. ISBN 978-0-415-35278-9. OCLC 1064833286.
- Clemen, Wolfgang (2005b). Shakespeare's Imagery (2nd ed.). London: Routledge. ISBN 978-0-415-35280-2. OCLC 59136636.
- Cooper, Tarnya (2006). Searching for Shakespeare. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-11611-3. OCLC 67294299.
- Craig, Leon Harold (2003). Of Philosophers and Kings: Political Philosophy in Shakespeare's Macbeth and King Lear. Toronto: University of Toronto Press. ISBN 978-0-8020-8605-1. OCLC 958558871.
- Cressy, David (1975). Education in Tudor and Stuart England. New York: St Martin's Press. ISBN 978-0-7131-5817-5. OCLC 2148260.
- Crystal, David (2001). The Cambridge Encyclopedia of the English Language. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-40179-1. OCLC 49960817.
- Dobson, Michael (1992). The Making of the National Poet: Shakespeare, Adaptation and Authorship, 1660–1769. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-818323-5. OCLC 25631612.
- Dominik, Mark (1988). Shakespeare–Middleton Collaborations. Beaverton: Alioth Press. ISBN 978-0-945088-01-1. OCLC 17300766.
- Dowden, Edward (1881). Shakspere. New York: D. Appleton & Company. OCLC 8164385. OL 6461529M.
- Drakakis, John (1985). "Introduction". ใน Drakakis, John (บ.ก.). Alternative Shakespeares. New York: Methuen. pp. 1–25. ISBN 978-0-416-36860-4. OCLC 11842276.
- Dryden, John (1889). Arnold, Thomas (บ.ก.). Dryden: An Essay of Dramatic Poesy. Oxford: Clarendon Press. hdl:2027/umn.31951t00074232s. ISBN 978-81-7156-323-4. OCLC 7847292. OL 23752217M.
- Dutton, Richard; Howard, Jean E. (2003). A Companion to Shakespeare's Works: The Histories. Vol. II. Oxford: Blackwell. ISBN 978-0-631-22633-8. OCLC 50002219.
- Edwards, Phillip (1958). Shakespeare's Romances: 1900–1957. Shakespeare Survey. Vol. 11. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 1–18. doi:10.1017/CCOL0521064244.001. ISBN 978-1-139-05291-7. OCLC 220909427 – โดยทาง Cambridge Core.
- Eliot, T.S. (1934). Elizabethan Essays. London: Faber & Faber. ISBN 978-0-15-629051-7. OCLC 9738219.
- Evans, G. Blakemore, บ.ก. (1996). The Sonnets. The New Cambridge Shakespeare. Vol. 26. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-22225-9. OCLC 32272082.
- Foakes, R.A. (1990). "Playhouses and players". ใน Braunmuller, A.R.; Hattaway, Michael (บ.ก.). The Cambridge Companion to English Renaissance Drama. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 1–52. ISBN 978-0-521-38662-3. OCLC 20561419.
- Friedman, Michael D. (2006). "'I'm not a feminist director but...': Recent Feminist Productions of The Taming of the Shrew". ใน Nelsen, Paul; Schlueter, June (บ.ก.). Acts of Criticism: Performance Matters in Shakespeare and his Contemporaries. New Jersey: Fairleigh Dickinson University Press. pp. 159–174. ISBN 978-0-8386-4059-3. OCLC 60644679.
- Frye, Roland Mushat (2005). The Art of the Dramatist. London; New York: Routledge. ISBN 978-0-415-35289-5. OCLC 493249616.
- Gibbons, Brian (1993). Shakespeare and Multiplicity. Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9780511553103. ISBN 978-0-511-55310-3. OCLC 27066411 – โดยทาง Cambridge Core.
- Gibson, H.N. (2005). The Shakespeare Claimants: A Critical Survey of the Four Principal Theories Concerning the Authorship of the Shakespearean Plays. London: Routledge. ISBN 978-0-415-35290-1. OCLC 255028016.
- Grady, Hugh (2001a). "Modernity, Modernism and Postmodernism in the Twentieth Century's Shakespeare". ใน Bristol, Michael; McLuskie, Kathleen (บ.ก.). Shakespeare and Modern Theatre: The Performance of Modernity. New York: Routledge. pp. 20–35. ISBN 978-0-415-21984-6. OCLC 45394137.
- Grady, Hugh (2001b). "Shakespeare criticism, 1600–1900". ใน de Grazia, Margreta; Wells, Stanley (บ.ก.). The Cambridge Companion to Shakespeare. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 265–278. doi:10.1017/CCOL0521650941.017. ISBN 978-1-139-00010-9. OCLC 44777325 – โดยทาง Cambridge Core.
- Greenblatt, Stephen (2005). Will in the World: How Shakespeare Became Shakespeare. London: Pimlico. ISBN 978-0-7126-0098-9. OCLC 57750725.
- Greenblatt, Stephen; Abrams, Meyer Howard, บ.ก. (2012). Sixteenth/Early Seventeenth Century. The Norton Anthology of English Literature. Vol. 2. W.W. Norton. ISBN 978-0-393-91250-0. OCLC 778369012.
- Greer, Germaine (1986). Shakespeare. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-287538-9. OCLC 12369950.
- Holland, Peter, บ.ก. (2000). Cymbeline. London: Penguin. ISBN 978-0-14-071472-2. OCLC 43639603.
- Honan, Park (1998). Shakespeare: A Life. Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-0-19-811792-6.
- Honigmann, E.A.J. (1998). Shakespeare: The 'Lost Years' (Revised ed.). Manchester: Manchester University Press. ISBN 978-0-7190-5425-9. OCLC 40517369.
- Johnson, Samuel (2002) [1755]. Lynch, Jack (บ.ก.). Samuel Johnson's Dictionary: Selections from the 1755 Work that Defined the English Language. Delray Beach: Levenger Press. ISBN 978-1-84354-296-4. OCLC 56645909.
- Jonson, Ben (1996) [1623]. "To the memory of my beloued, The AVTHOR MR. WILLIAM SHAKESPEARE: AND what he hath left vs". ใน Hinman, Charlton (บ.ก.). The First Folio of Shakespeare (2nd ed.). New York: W.W. Norton & Company. ISBN 978-0-393-03985-6. OCLC 34663304.[ลิงก์เสีย]
- Kastan, David Scott (1999). Shakespeare After Theory. London: Routledge. ISBN 978-0-415-90112-3. OCLC 40125084.
- Kermode, Frank (2004). The Age of Shakespeare. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN 978-0-297-84881-3. OCLC 52970550.
- Kinney, Arthur F., บ.ก. (2012). The Oxford Handbook of Shakespeare. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-956610-5. OCLC 775497396.
- Knutson, Roslyn (2001). Playing Companies and Commerce in Shakespeare's Time. Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9780511486043. ISBN 978-0-511-48604-3. OCLC 45505919 – โดยทาง Cambridge Core.
- Lee, Sidney (1900). Shakespeare's Life and Work: Being an Abridgment Chiefly for the Use of Students of a Life of A Life of William Shakespeare. London: Smith, Elder & Co. OCLC 355968. OL 21113614M.
- Levenson, Jill L., บ.ก. (2000). Romeo and Juliet. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-281496-8. OCLC 41991397.
- Levin, Harry (1986). "Critical Approaches to Shakespeare from 1660 to 1904". ใน Wells, Stanley (บ.ก.). The Cambridge Companion to Shakespeare Studies. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-31841-9. OCLC 12945372.
- Love, Harold (2002). Attributing Authorship: An Introduction. Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9780511483165. ISBN 978-0-511-48316-5. OCLC 70741078 – โดยทาง Cambridge Core.
- Maguire, Laurie E. (1996). Shakespearean Suspect Texts: The 'Bad' Quartos and Their Contexts. Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9780511553134. ISBN 978-0-511-55313-4. OCLC 726828014 – โดยทาง Cambridge Core.
- McDonald, Russ (2006). Shakespeare's Late Style. Cambridge: Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9780511483783. ISBN 978-0-511-48378-3. OCLC 252529245 – โดยทาง Cambridge Core.
- McIntyre, Ian (1999). Garrick. Harmondsworth: Allen Lane. ISBN 978-0-14-028323-5. OCLC 43581619.
- McMichael, George; Glenn, Edgar M. (1962). Shakespeare and his Rivals: A Casebook on the Authorship Controversy. New York: Odyssey Press. OCLC 2113359.
- Meagher, John C. (2003). Pursuing Shakespeare's Dramaturgy: Some Contexts, Resources, and Strategies in his Playmaking. New Jersey: Fairleigh Dickinson University Press. ISBN 978-0-8386-3993-1. OCLC 51985016.
- Muir, Kenneth (2005). Shakespeare's Tragic Sequence. London: Routledge. ISBN 978-0-415-35325-0. OCLC 62584912.
- Nagler, A.M. (1958). Shakespeare's Stage. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-02689-4. OCLC 6942213.
- Paraisz, Júlia (2006). "The Author, the Editor and the Translator: William Shakespeare, Alexander Chalmers and Sándor Petofi or the Nature of a Romantic Edition". Editing Shakespeare. Shakespeare Survey. Vol. 59. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 124–135. doi:10.1017/CCOL0521868386.010. ISBN 978-1-139-05271-9. OCLC 237058653 – โดยทาง Cambridge Core.
- Pequigney, Joseph (1985). Such Is My Love: A Study of Shakespeare's Sonnets. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-65563-5. OCLC 11650519.
- Pollard, Alfred W. (1909). Shakespeare Quartos and Folios: A Study in the Bibliography of Shakespeare's Plays, 1594–1685. London: Methuen. OCLC 46308204.
- Pritchard, Arnold (1979). Catholic Loyalism in Elizabethan England. Chapel Hill: University of North Carolina Press. ISBN 978-0-8078-1345-4. OCLC 4496552.
- Ribner, Irving (2005). The English History Play in the Age of Shakespeare. London: Routledge. ISBN 978-0-415-35314-4. OCLC 253869825.
- Ringler, William Jr (1997). "Shakespeare and His Actors: Some Remarks on King Lear". ใน Ogden, James; Scouten, Arthur Hawley (บ.ก.). In Lear from Study to Stage: Essays in Criticism. New Jersey: Fairleigh Dickinson University Press. pp. 123–134. ISBN 978-0-8386-3690-9. OCLC 35990360.
- Roe, John, บ.ก. (2006). The Poems: Venus and Adonis, The Rape of Lucrece, The Phoenix and the Turtle, The Passionate Pilgrim, A Lover's Complaint. The New Cambridge Shakespeare (2nd revised ed.). Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-85551-8. OCLC 64313051.
- Rowe, Nicholas (2009) [1709]. Nicholl, Charles (บ.ก.). Some Account of the Life &c of Mr. William Shakespear. Pallas Athene. ISBN 9781843680567.
- Rowse, A.L. (1963). William Shakespeare; A Biography. New York: Harper & Row. OCLC 352856. OL 21462232M.
- Rowse, A.L. (1988). Shakespeare: The Man (Revised ed.). Macmillan. ISBN 978-0-333-44354-5. OCLC 20527549.
- Sawyer, Robert (2003). Victorian Appropriations of Shakespeare. New Jersey: Fairleigh Dickinson University Press. ISBN 978-0-8386-3970-2. OCLC 51040611.
- Schanzer, Ernest (1963). The Problem Plays of Shakespeare. London: Routledge and Kegan Paul. ISBN 978-0-415-35305-2. OCLC 2378165.
- Schoch, Richard W. (2002). "Pictorial Shakespeare". ใน Wells, Stanley; Stanton, Sarah (บ.ก.). The Cambridge Companion to Shakespeare on Stage. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 58–75. doi:10.1017/CCOL0521792959.004. ISBN 978-0-511-99957-4. OCLC 48140822 – โดยทาง Cambridge Core.
- Schoenbaum, Samuel (1981). William Shakespeare: Records and Images. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-520234-2. OCLC 6813367.
- de Sélincourt, Basil (1909). William Blake. The Library of Art. London: Duckworth & co. hdl:2027/mdp.39015066033914. OL 26411508M.
- Schoenbaum, S. (1987). William Shakespeare: A Compact Documentary Life (Revised ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-505161-2.
- Schoenbaum, Samuel (1991). Shakespeare's Lives. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-818618-2. OCLC 58832341.
- Shapiro, James (2005). 1599: A Year in the Life of William Shakespeare. London: Faber and Faber. ISBN 978-0-571-21480-8. OCLC 58832341.
- Shapiro, James (2010). Contested Will: Who Wrote Shakespeare?. New York: Simon & Schuster. ISBN 978-1-4165-4162-2. OCLC 699546904.
- Smith, Irwin (1964). Shakespeare's Blackfriars Playhouse. New York: New York University Press. OCLC 256278.
- Snyder, Susan; Curren-Aquino, Deborah, บ.ก. (2007). The Winter's Tale. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-22158-0. OCLC 76798206.
- Steiner, George (1996). The Death of Tragedy. New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0-300-06916-7. OCLC 36209846.
- Taylor, Gary (1987). William Shakespeare: A Textual Companion. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-812914-1. OCLC 13526264.
- Taylor, Gary (1990) [1989]. Reinventing Shakespeare: A Cultural History from the Restoration to the Present. London: Hogarth Press. ISBN 978-0-7012-0888-2. OCLC 929677322.
- Wain, John (1975). Samuel Johnson. New York: Viking. ISBN 978-0-670-61671-8. OCLC 1056697.
- Wells, Stanley; Taylor, Gary; Jowett, John; Montgomery, William, บ.ก. (2005). The Oxford Shakespeare: The Complete Works (2nd ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-926717-0. OCLC 1153632306.
- Wells, Stanley (1997). Shakespeare: A Life in Drama. New York: W.W. Norton. ISBN 978-0-393-31562-2. OCLC 36867040.
- Wells, Stanley (2006). Shakespeare & Co: Christopher Marlowe, Thomas Dekker, Ben Jonson, Thomas Middleton, John Fletcher and the Other Players in His Story. New York: Pantheon. ISBN 978-0-375-42494-6. OCLC 76820663.
- Wells, Stanley; Orlin, Lena Cowen, บ.ก. (2003). Shakespeare: An Oxford Guide. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-924522-2. OCLC 50920674.
- Gross, John (2003). "Shakespeare's Influence". ใน Wells, Stanley; Orlin, Lena Cowen (บ.ก.). Shakespeare: An Oxford Guide. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-924522-2. OCLC 50920674.
- Kathman, David (2003). "The Question of Authorship". ใน Wells, Stanley; Orlin, Lena Cowen (บ.ก.). Shakespeare: an Oxford Guide. Oxford Guides. Oxford: Oxford University Press. pp. 620–632. ISBN 978-0-19-924522-2. OCLC 50920674.
- Thomson, Peter (2003). "Conventions of Playwriting". ใน Wells, Stanley; Orlin, Lena Cowen (บ.ก.). Shakespeare: An Oxford Guide. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-924522-2. OCLC 50920674.
- Werner, Sarah (2001). Shakespeare and Feminist Performance. London: Routledge. ISBN 978-0-415-22729-2. OCLC 45791390.
- Wilson, Richard (2004). Secret Shakespeare: Studies in Theatre, Religion and Resistance. Manchester: Manchester University Press. ISBN 978-0-7190-7024-2. OCLC 55523047.
- Wood, Manley, บ.ก. (1806). The Plays of William Shakespeare with Notes of Various Commentators. Vol. I. London: George Kearsley. OCLC 38442678.
- Wood, Michael (2003). Shakespeare. New York: Basic Books. ISBN 978-0-465-09264-2. OCLC 1043430614.
- Wright, George T. (2004). "The Play of Phrase and Line". ใน McDonald, Russ (บ.ก.). Shakespeare: An Anthology of Criticism and Theory, 1945–2000. Oxford: Blackwell. ISBN 978-0-631-23488-3. OCLC 52377477.
- บทความและช่องทางออนไลน์
- Casey, Charles (1998). "Was Shakespeare gay? Sonnet 20 and the politics of pedagogy". College Literature. 25 (3): 35–51. JSTOR 25112402.
- Fort, J.A. (October 1927). "The Story Contained in the Second Series of Shakespeare's Sonnets". The Review of English Studies. Original Series. III (12): 406–414. doi:10.1093/res/os-III.12.406. ISSN 0034-6551 – โดยทาง Oxford Journals.
- Hales, John W. (26 March 1904). "London Residences of Shakespeare". The Athenaeum. No. 3987. London: John C. Francis. pp. 401–402.
- Jackson, MacDonald P. (2004). Zimmerman, Susan (บ.ก.). "A Lover's Complaint revisited". Shakespeare Studies. XXXII. ISSN 0582-9399 – โดยทาง The Free Library.
- Mowat, Barbara; Werstine, Paul (n.d.). "Sonnet 18". Folger Digital Texts. Folger Shakespeare Library. สืบค้นเมื่อ 20 March 2021.
- "Bard's 'cursed' tomb is revamped". BBC News. 28 May 2008. สืบค้นเมื่อ 23 April 2010.
- "Did He or Didn't He? That Is the Question". The New York Times. 22 April 2007. สืบค้นเมื่อ 31 December 2017.
- "Shakespeare Memorial". Southwark Cathedral. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 2 April 2016.
- "Visiting the Abbey". Westminster Abbey. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2016. สืบค้นเมื่อ 2 April 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- รุ่นดิจิทัล
- William Shakespeare's plays on Bookwise
- Internet Shakespeare Editions
- The Folger Shakespeare
- Open Source Shakespeare complete works, with search engine and concordance
- The Shakespeare Quartos Archive
- ผลงานโดย JohnnyRayder/ทดลองเขียน/วิลเลียม เชกสเปียร์ ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่ Standard Ebooks
- ผลงานของ JohnnyRayder/ทดลองเขียน/วิลเลียม เชกสเปียร์ ที่โครงการกูเทินแบร์ค
- Error in Template:Internet Archive author: JohnnyRayder/ทดลองเขียน/วิลเลียม เชกสเปียร์ doesn't exist.
- ผลงานโดย JohnnyRayder/ทดลองเขียน/วิลเลียม เชกสเปียร์ บนเว็บ LibriVox (หนังสือเสียง ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ)
- นิทรรศการ
- Shakespeare Documented an online exhibition documenting Shakespeare in his own time
- Shakespeare's Will จาก The National Archives
- The Shakespeare Birthplace Trust
- William Shakespeare เก็บถาวร 2021-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at the British Library
- ดนตรี
- มรดกและบทวิพากษ์