อัล ปาชิโน
อัล ปาชิโน | |
---|---|
อัล ปาชิโน ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศอาร์เจนตินา ในปี 2016 | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
ชื่อเกิด | อัลเฟรโด เจมส์ ปาชิโน Alfredo James Pacino |
เกิด | อีสต์ฮาร์เลม, แมนแฮตตัน, นครนิวยอร์ก, รัฐนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา | 25 เมษายน ค.ศ. 1940
บุตร | 4 |
อาชีพ | นักแสดง, ผู้กำกับภาพยนตร์, นักเขียนบท, โปรดิวเซอร์ |
ปีที่แสดง | 1968–ปัจจุบัน |
ผลงานเด่น | ไมเคิล คอร์เลโอเน ชุดภาพยนตร์ เดอะ ก็อดฟาเธอร์' (ค.ศ.1972, 1974 และ 1990) แฟรงค์ เซอร์ปิโก เซอร์ปิโก้ ตำรวจอันตราย (ค.ศ.1973) ซอนนี วอทซิค ปล้นกลางแดด (ค.ศ.1975) โทนี มอนตานา มาเฟียหน้าบาก (ค.ศ.1983) พันโท แฟรงค์ สเลด ผู้ชายหัวใจไม่ปอกเปลือก (ค.ศ.1992) เรฟตี รักเจโร ขึ้นทำเนียบเจ้าพ่อจับตาย (ค.ศ.1997) จิมมี ฮอฟฟา คนใหญ่ไอริช (ค.ศ.2019) |
รางวัล | |
ออสการ์ | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม 1992 ผู้ชายหัวใจไม่ปอกเปลือก |
เอมมี | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทละครทางโทรทัศน์ 2004 แองเจิลส์ อิน อเมริกา นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ 2010 ขอฆ่าด้วยปราณี |
โทนี | Best Featured Actor in a Play 1969 Does a Tiger Wear a Necktie? Best Leading Actor in a Play 1977 The Basic Training of Pavlo Hummel |
ลูกโลกทองคำ | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดราม่า 1974 เซอร์ปิโก้ ตำรวจอันตราย 1993 ผู้ชายหัวใจไม่ปอกเปลือก Cecil B. DeMille Award 2001 Lifetime Achievement นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทละครหรือภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ 2004 แองเจิลส์ อิน อเมริกา 2011 ขอฆ่าด้วยปราณี |
แบฟตา | นักแสดงยอดเยี่ยม ในบทนักแสดงนำ 1976 เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ภาค 2 และ ปล้นกลางแดด |
อัลเฟรโด เจมส์ ปาชิโน (อังกฤษ: Alfredo James Pacino; เกิดพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1940) เป็นนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน มีผลงานการแสดงภาพยนตร์, ละครเวทีและละครโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 50 ปี เขาได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในฮอลลีวูด โดยเป็นนักแสดงชายที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์มากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากแจ็ก นิโคลสัน และ ลอเรนซ์ โอลิวีเอร์ โดยเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 9 ครั้ง และเป็นหนึ่งในนักแสดงเพียง 24 คนที่ได้รับ สามมงกุฎแห่งการแสดง คือการได้รับรางวัลออสการ์, เอมมี และรางวัลโทนี ในสาขาการแสดง ซึ่งเป็นสามรางวัลสูงสุดที่ได้รับการยอมรับจากวงการภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ และละครเวทีของอเมริกาตามลำดับ นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ 5 ครั้ง ได้รับรางวัลแบฟตา, รางวัลแซกอวอร์ด, รางวัลเกียรติยศจากพีเพิลส์ชอยซ์อะวอดส์ในฐานะนักแสดงผู้เป็นที่นิยมสูงสุด, รางวัลสิงโตทองคำ ประเภทเชิดชูเกียรติ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส, รางวัลผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดจากสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน, ได้รับเหรียญศิลปะแห่งชาติจากรัฐสภาสหรัฐ และได้รับรางวัลเกียรติยศ ด้านศิลปะการแสดงจากสถาบันจอห์น เอฟ. เคนเนดี
อัล ปาชิโน เคยเป็นนักเรียนในโรงเรียนสอนการแสดง Actors Studio โดยเป็นลูกศิษย์ของ ลี สตราสเบิร์ก และเริ่มต้นอาชีพนักแสดงจากการแสดงละครเวทีจนเริ่มมีชื่อเสียงจากนั้นได้แสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในบทบาทตัวประกอบในเรื่อง Me, Natalie (1969) ก่อนจะได้รับบทนักแสดงนำเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง The Panic in Needle Park (1971) ซึ่งเขาต้องรับบทป็นคนติดเฮโรอีน ต่อมาเขาตัดสินใจรับบทเป็น ไมเคิล คอร์เลโอเน ในภาพยนตร์ที่กำกับโดย ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลาเรื่อง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ และจากบทบาทดังกล่าวทำให้เขาโด่งดังและประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเขาได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์และรางวัลลูกโลกทองคำเป็นครั้งแรก ต่อมาเขากลับมารับบทเดิมอีกครั้งใน เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ภาค 2 และ เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ภาค 3 จนมาประสบความสำเร็จทางการแสดงสูงสุดจากการแสดงเรื่อง Scent of A Woman - ผู้ชายหัวใจไม่ปอกเปลือก ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลใหญ่ 2 รางวัลในปีเดียวกัน ได้แก่รางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
อัลปาชิโน ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งหมด 9 ครั้ง โดยแบ่งเป็นการเข้าชิงรางวัลในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม 5 ครั้ง ได้แก่การรับบทนักแสดงนำในเรื่อง เซอร์ปิโก้ ตำรวจอันตราย (1973), เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ภาค 2 (1974), ปล้นกลางแดด (1975), ...And Justice for All (1979) โดยมาประสบความสำเร็จได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากการแสดงในบทบาทอดีตทหารตาบอดจากเรื่อง ผู้ชายหัวใจไม่ปอกเปลือก (1992) และ เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม 4 ครั้ง จากการแสดงในเรื่อง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ (1972), Dick Tracy - ยอดสืบเหนือคน (1990), Glengarry Glen Ross - เกมชีวิต เกมธุรกิจ (1992) และสร้างสถิติเป็นนักแสดงชายที่มีอายุมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ด้วยวัย 79 ปี จากผลงานเรื่อง คนใหญ่ไอริช (2019)
ประวัติ
[แก้]อัลเฟรโด เจมส์ ปาชิโน เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1940 ที่ย่านอีสต์ฮาเลม ซึ่งเป็นชุมชนของคนที่มีเชื้อสายลาตินอเมริกาและอิตาเลียน ในเขตแมนแฮตตัน, นครนิวยอร์ก โดยเขาเป็นลูกชายของ ซัลวาโตเร ปาชิโน และ โรเซ เจราร์ดี สองสามีภรรยาชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนที่มาจากแคว้นซิซิลี (พ่อของเขามาจากจังหวัดเมสซีนา และ แม่ของเขามาจากจังหวัดปาแลร์โม) ต่อมาในขณะที่เขาอายุได้เพียง 2 ปี พ่อกับแม่ของเขาก็ได้ตัดสินใจหย่าขาดจากกันทำให้ โรเซ แม่ของเขาต้องพาเขาย้ายออกจากแมนแฮตตันและย้ายไปอยู่ที่เดอะบร็องซ์[1]ร่วมกับคุณตาและคุณยายซึ่งอพยพมาจากปาแลร์โม ส่วนพ่อของเขาย้ายไปทำงานด้านการเป็นตัวแทนขายประกันที่ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย[1][2]
อัล ปาชิโน มีชื่อเล่นว่า "ซอนนี" ในวัยเด็กเขามีความสามารถทางด้านกีฬาและมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักกีฬาเบสบอลอาชีพ โดยอัล ปาชิโน เข้ารับการศึกษาในชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมเฮอร์แมน ริดเดอร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลในเดอะบร็องซ์ จากนั้นเขาได้ไปสมัครทดสอบออดิชันเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนสอนการแสดง ซึ่งเป็นโรงเรียนในระบบการศึกษาทางเลือกของรัฐบาล ในแมนแฮตตัน[3] หลังจากเขาผ่านการทดสอบและได้เข้าเรียนต่อ แม่ของเขากลับไม่เห็นด้วยที่เขาเลือกเรียนการแสดงแทนการเรียนต่อในวิชาสามัญจนทั้งคู่เกิดการโต้เถียงกันขึ้น อัล ปาชิโน จึงตัดสินใจออกจากบ้านและหางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำ เช่น เป็นคนส่งเอกสาร, เด็กเก็บโต๊ะในร้านอาหาร, ภารโรง หรือเสมียนในที่ทำการไปรษณีย์ เพื่อส่งตัวเองเรียน [4]
อัล ปาชิโน ติดนิสัยดื่มสุราและสูบบุหรี่จัดตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นตอนต้น โดยเขาเริ่มสูบกัญชาตั้งแต่อายุได้เพียง 13 ปี อย่างไรก็ตามเขาหลีกเลี่ยงที่จะใช้สารเสพติดชนิดร้ายแรงเนื่องจากเพื่อนสนิทของเขา 2 คนเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดตั้งแต่อายุน้อย ๆ ในช่วงวัยรุ่นเขามักจะก่อเหตุทะเลาะวิวาทและมีปัญหาด้านวินัยกับทางโรงเรียนอยู่เป็นประจำ และทำได้แค่แสดงละครเวทีที่ชั้นใต้ดินของโรงละครแห่งหนึ่ง หนำซ้ำยังถูกปฏิเสธจากสถาบันการแสดงที่มีชื่อเสียงอย่าง Actors Studio อย่างไรก็ตามเขายังได้เข้ามาอยู่ในสถาบันสอนศิลปะการแสดง HB Studio แต่ยังคงต้องอาศัยนอนที่ชั้นใต้ดินของโรงละคร หรือขออาศัยอยู่กับเพื่อนสนิท ต่อมาในปี 1962 ในขณะที่อายุ 22 ปี เขาได้รับทราบข่าวว่า โรเซ แม่ของเขาได้เสียชีวิตลงอีกทั้งคุณตาของเขาก็มาเสียชีวิตไปในปีถัดมา ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดในชีวิตของเขา
หลังจากฝึกศิลปะการแสดงที่ HB Studio นานถึง 4 ปี อัล ปาชิโน สมัครออดิชันเพื่อเข้าสู่ Actors Studio อีกครั้งและในครั้งนี้เขาประสบความสำเร็จได้เข้าสู่สถาบัน โดยเขาได้เรียนเทคนิคการแสดงชั้นสูงจาก ลี สตราสเบิร์ก (ต่อมาทั้งคู่ได้แสดงร่วมกันใน เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ภาค 2 และ แอนด์จัสติซฟอร์ออล)
ในปี 2000 ภายหลังจาก อัล ปาชิโน ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฮอลลีวูดเขาได้รับเกียรติให้เป็นประธานร่วมของ Actors Studio ร่วมกับศิษย์เก่าอย่าง เอลเลน เบอร์สติน และ ฮาร์วีย์ ไคเทล[5]
ผลงานการแสดงละครเวที
[แก้]อัล ปาชิโน่ ได้เริ่มต้นอาชีพนักแสดงในปี ค.ศ. 1967 จากการเป็นนักแสดงละครเวทีของโรงละครชาร์ลส์ ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยเขาได้รับค่าตัวในฐานะนักแสดงอาชีพครั้งแรกเพียงสัปดาห์ละ 125 ดอลลาร์สหรัฐ จากการแสดงละครเวทีที่สร้างจากบทประพันธ์ของ คลิฟฟอร์ด โอเด็ตส์ เรื่อง Awake and Sing! ต่อมาเขาได้แสดงในละครเวทีที่มีเนื้อหาเสียดสีสงครามเวียดนามเรื่อง America Hurrah (บทประพันธ์โดย ฌ็อง-โกลด ว็อง อิตัลลี) การแสดงเรื่องดังกล่าวทำให้เขาได้พบกับ จิล เคลย์เบิร์ก นักแสดงละครบรอดเวย์หญิง ที่เพิ่งเข้าสู่วงการเช่นเดียวกันกับเขาและได้แสดงร่วมกัน[6] โดย อัล ปาชิโน ได้คบหากับ จิล เคลียร์เบิร์ก ยาวนานถึง 5 ปี และได้พากันย้ายกลับไปอยู่ที่นครนิวยอร์ก ก่อนที่ทั้งสองคนจะได้เป็นนักแสดงชื่อดังของฮอลลีวูดในเวลาต่อมา
ในปี 1968 หลังจากย้ายกลับมาที่นครนิวยอร์ก อัล ปาชิโน ได้แสดงในโรงละครแอสเตอร์เพลส ในเขตแมนแฮตตัน โดยเขาประสบความสำเร็จจากการแสดงนำในละครเวทีเรื่อง The Indian Wants the Bronx ที่สร้างโดยอิสราเอล โฮโรวิตช์ ซึ่งได้รับความนิยมจนต้องจัดแสดงถึง 177 รอบ โดยในการแสดงดังกล่าวได้ จอห์น คาซาล มารับบทเป็นนักแสดงสมทบ ซึ่งจากความสำเร็จของเรื่องนี้ทำให้ทั้ง อัล ปาชิโน และ จอห์น คาซาล ได้รับรางวัลโอบีอวอร์ด ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักแสดงละครบรอดเวย์ ก่อนที่ในภายหลังทั้งคู่จะกลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์สหรัฐ และได้แสดงร่วมกันในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งชุดภาพยนตร์ เดอะ ก็อดฟาเธอร์ และ ปล้นกลางแดด
อัล ปาชิโน ถูกชักชวนให้เข้าสู่วงการภาพยนตร์สหรัฐโดย มาร์ติน เบรกแมน ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดัง ที่ได้เข้ามาชมละครเวทีเรื่อง The Indian Wants the Bronx และประทับใจในฝีมือการแสดงของเขา จึงได้เข้ามาเป็นผู้จัดการส่วนตัวและชักชวนให้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด[7] ต่อมาเขาและ จิล เคลย์เบิร์ก นักแสดงสาวที่กำลังคบหาอยู่ด้วยกันในขณะนั้น ได้มีผลงานการแสดงที่ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก โดยทั้งคู่ได้ร่วมแสดงในละครโทรทัศน์แนวสืบสวน-อาชญากรรมเรื่อง N.Y.P.D. ฤดูกาลที่ 2 ทางช่องเอบีซี จำนวน 1 ตอน
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1969 อัล ปาชิโน ได้แสดงละครบรอดเวย์เรื่อง Does a Tiger Wear a Necktie? ที่โรงละครเบลาสโก โดยทำการแสดงทั้งสิ้น 39 รอบ และได้รับคำชื่นชมในฝีมือการแสดงอย่างมากจนทำให้เขาได้รับรางวัลโทนีเป็นครั้งแรก ต่อมาในยุคคริสต์ทศวรรษ 1970 แม้ว่าเขาจะเริ่มมีชื่อเสียงมาจากผลงานการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ แต่เขาก็ยังคงมีผลงานการแสดงในละครเวทีควบคู่กันไปด้วย โดยในปี 1973 เขาแสดงในละครที่ประพันธ์โดย วิลเลียม เชกสเปียร์ เรื่อง ริชาร์ด ที่ 3 ซึ่งเขาได้รับบทเป็น พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ และจากผลงานในการแสดงละครเวทีเรื่อง The Basic Training of Pavlo Hummel ในปี 1977 ทำให้เขาได้รับรางวัลโทนี เป็นสมัยที่ 2 ของตนเอง
อัล ปาชิโน ถือเป็นนักแสดงชายแถวหน้าของวงการภาพยนตร์สหรัฐที่มักจะมีผลงานในละครเวทีอยู่เป็นระยะ ๆ โดยผลงานการแสดงละครเวทีในช่วงหลังของเขาที่โดดเด่น เช่น การรับบทเป็น มาร์ก แอนโธนี ในเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ ในปี 1988, การแสดงในละครองค์เดียวที่ประพันธ์โดย ออสการ์ ไวลด์ เรื่อง สะโลเม (รับบทเป็นเจ้าชายเฮโรด อันตีปัส ผู้ปกครองแคว้นกาลิลี) และการรับบทเป็น ไชลอก ในเรื่อง เวนิสวาณิช
ผลงานการแสดงภาพยนตร์
[แก้]เมื่อ อัล ปาชิโน เริ่มมีชื่อเสียงจากการแสดงละครเวที เขาจึงได้รับโอกาสในการแสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในบทบาทตัวประกอบในภาพยนตร์ที่ผลิตโดยสถานีซีบีเอสเรื่อง Me, Natalie ในปี 1969 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์อิสระที่ใช้ทุนสร้างต่ำแต่กลับได้รับกระแสชื่นชมอย่างมากจากนักวิจารณ์และสื่อมวลชน รวมทั้งได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมและได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลแกรมมี สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งจากความสำเร็จของภาพยนตร์ส่งผลให้ อัล ปาชิโน ที่รับบทบาทตัวประกอบเริ่มได้รับความสนใจและได้เซ็นสัญญากับบริษัทจัดหานักแสดง
ยุค 1970
[แก้]หลังจากเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่อง Me, Natalie เขาก็ได้รับบทนักแสดงนำเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์โรแมนติก-ดรามา เรื่อง The Panic in Needle Park (ค.ศ. 1971) ซึ่งเขาต้องรับบทเป็น"บ็อบบี" ชายติดเฮโรอีน ที่ถูกยาเสพย์ติดเข้าครอบงำชีวิต โดยบทบาทนี้เดิมทีทางผู้สร้างได้เคยทาบทาม จิม มอร์ริสัน นักร้องนำของวงเดอะดอส์ ให้มารับบทบาทดังกล่าว แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ บทบาทนี้จึงตกมาอยู่กับอัล ปาชิโน
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]อัล ปาชิโน มีบุตรทั้งหมด 4 คน โดยบุตรคนแรกของเขาคือ จูลี มารี ปาชิโน (เกิดปี ค.ศ. 1989) ซึ่งเป็นบุตรสาวที่เกิดกับ แจน ทาแรนต์ อดีตครูสอนการแสดงชาวอเมริกัน ต่อมาเขามีบุตรที่เป็นแฝดชาย-หญิงอีก 2 คน คือ แอนทอน เจมส์ ปาชิโน และ โอลิเวียร์ โรส ปาชิโน (เกิดปี ค.ศ. 2001) ซึ่งเกิดกับ เบเวอร์ลี ดีแอนเจโล นักแสดงหญิงชาวอเมริกัน ด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว[8][9] จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2023 เขาได้รับการบันทึกให้เป็นหนึ่งในยี่สิบผู้ชายอายุมากที่สุดในโลกที่สามารถมีบุตรได้เมื่อเขามีลูกชายชื่อ โรมัน ปาชิโน ในขณะที่อายุ 83 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายที่เกิดกับ นูร์ อัลฟัลลาฮ์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ขาวคูเวต-อเมริกัน ที่อายุน้อยกว่าเขาถึง 54 ปี
นอกจากนี้ อัล ปาชิโน ยังเคยคบหากับไดแอน คีตัน และ ลูซิลา โพลัค นางแบบชาวอาร์เจนตินา
ผลงานการแสดง
[แก้]† | ยังไม่ได้ออกเผยแพร่ |
ภาพยนตร์
[แก้]ปี | ชื่อเรื่อง | ชื่อเรื่องภาษาไทย | บทบาท | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1969 | Me, Natalie | โทนี | ตัวประกอบ | |
1971 | The Panic in Needle Park | บ็อบบี | ||
1972 | The God Father | เดอะ ก็อดฟาเธอร์ | ไมเคิล คอร์เลโอเน | |
1973 | Serpico | เซอร์ปิโก ตำรวจอันตราย | แฟรงค์ เซอร์ปิโก | |
Scarecrow | ฝันสุดท้ายของชายพเนจร | ฟรานซิส ลีโอเนล เดลบูชี | ||
1974 | The God Father Part II | เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ภาค 2 | ไมเคิล คอร์เลโอเน | |
1975 | Dog Day Afternoon | ปล้นกลางแดด | ซอนนี วอทซิค | |
1977 | Bobby Deerfield | บ็อบบี เดียร์ฟีลด์ | บ็อบบี เดียร์ฟีลด์ | |
1979 | ...And Justice for All | อาเธอร์ เคิร์กแลนด์ | ||
1980 | Cruising | คุณทำให้ผมกลายเป็นฆาตกร | สตีฟ เบิร์น | |
1982 | Author! Author! | อีวาน ทราวาเลียน | ||
1983 | Scarface | มาเฟียหน้าบาก | โทนี มอนตานา | |
1985 | Revolution | ปฏิวัติเลือด สงครามเพื่อสันติภาพ | ทอม ด็อบ | |
1989 | Sea of Love | ถ้ารักก็อย่ากลัว | แฟรงค์ เคลเลอร์ | |
1990 | Dick Tracy | ยอดสืบเหนือคน | บิ๊กบอย | |
The God Father Part III | เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ภาค 3 | ไมเคิล คอร์เลโอเน | ||
1991 | Frankie and Johnny | สั่งหัวใจ อย่าให้มีเครื่องหมายคำถาม | จอห์นนี | |
1992 | Glengarry Glen Ross | เกมชีวิต เกมธุรกิจ | ริชาร์ด โรมา | |
Scent of a Woman | ผู้ชายหัวใจไม่ปอกเปลือก | พันโท แฟรงค์ สเลด | ||
1993 | Carlito's Way | อหังการคาร์ลิโต้ | คาร์ลิโต บริกันเต | |
1995 | Two Bits | คุณตา | ||
Heat | ฮีท คนระห่ำคน | ร้อยตำรวจโท วินเซนต์ ฮันนา | ||
1996 | City Hall | จอมอิทธิพลป่าคอนกรีต | จอห์น แพพพาส | |
Looking for Richard | พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ | กำกับการแสดง | ||
1997 | Donnie Brasco | ขึ้นทำเนียบเจ้าพ่อจับตาย | เลฟตี รักเจโร | |
The Devil's Advocate | อาถรรพ์มัจจุราชเหนือเมฆ | จอห์น มิลตัน/ซาตาน | ||
1999 | The Insider | คดีโลกตะลึง | โลเวลล์ เบิร์กแมน | |
Any Given Sunday | ขบวนแกร่งประจัญบาน | โทนี | ||
2002 | Insomnia | เกมเขย่าขั้วอำมหิต | วิล ดอร์เมอร์ | |
Simone | ซิโมน ดิจิตอลอ้อนหัวใจรัก | วิคเตอร์ ทารันสกี | ||
People I Know | จอมคนเมืองคนบาป | เอลี เวอร์แมน | ||
2003 | The Recruit | พลิกแผนโฉด หักโคตรจารชน | วอลเตอร์ เบิร์ค | |
Gigli | คู่ฉ่ำเฉือนคม | สตาร์คแมน | ||
2004 | The Merchant of Venice | เวนิสวาณิช แล่เนื้อชำระหนี้ | ไชล็อก | |
2005 | Two for the Money | พลิกเหลี่ยม มนุษย์เงินล้าน | วอลเตอร์ | |
2007 | 88 Minutes | 88 นาที ฝ่าวิกฤตเกมส์สังหาร | แจ็ค แกรม | |
Ocean's Thirteen | 13 เซียน ปล้นเหนือเมฆ | วิลลี แบงค์ | ||
2008 | Righteous Kill | คู่มหากาฬ ล่าพล่านเมือง | เดวิด "รูสเตอร์" ฟิสค์ | |
2011 | The Son of No One | วีรบุรุษขุดอำมหิต | สแตนฟอร์ด | |
Jack and Jill | แจ็คแอนด์จิลล์ | ตัวเอง | ||
2012 | Stand Up Guys | ไม่อยากเจ็บตัว อย่าหัวเราะปู่ | วัล | |
2013 | Salomé | เฮโรด | กำกับการแสดง | |
2014 | Manglehorn | แมงเกิลฮอร์น | เอเจ แมงเกิลฮอร์น | |
The Humbling | มายาลวงตา | ไซมอน แอกซ์เลอร์ | โปรดิวเซอร์ | |
2015 | Danny Collins | จดหมายจากจอห์น เลนนอน | แดนนี คอลลินส์ | |
2016 | Misconduct | พลิกคดีโค่นเจ้าพ่อ | ชาร์ล อับรัมส์ | |
2017 | Hangman | แฮงแมน | เรย์ อาเชอร์ | |
2019 | Once Upon a Time in Hollywood | กาลครั้งหนึ่งในฮอลลีวู้ด | มาร์วิน ชวาซ | |
2020 | The Irishman | คนใหญ่ไอริช | จิมมี ฮอฟฟา | |
2021 | Axis Sally | เจมส์ ลาฟลิน | ||
House of Gucci | อัลโด กุชชี |
ผลงานทางโทรทัศน์
[แก้]Year | Title | Role | Director | Notes | Ref. |
---|---|---|---|---|---|
1968 | N.Y.P.D. | John James | David Pressman | Episode: "Deadly Circle of Violence" | [10] |
2003 | Angels in America | Roy Cohn | Mike Nichols | 6 episodes | [11] |
2010 | ขอฆ่าด้วยปราณี | Dr. Jack Kevorkian | Barry Levinson | Television film | [12] |
2013 | Phil Spector | Phil Spector | David Mamet | Television film | [13] |
2018 | สุดยอดโค้ช | Joe Paterno | Barry Levinson | Television film | [14] |
2020 | นักล่านาซี | Meyer Offerman | Various | 10 episodes | [15] |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Al Pacino Biography". UK: The Biography Channel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 29, 2014. สืบค้นเมื่อ March 10, 2010.
- ↑ Cohen, Francine (April 25, 2015). "Al Pacino: 'It's never been about money. I was often unemployed'". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 1, 2017. สืบค้นเมื่อ October 19, 2017.
- ↑ Okun, Stacey. "Fire Destroys Former Performing Arts High School," เก็บถาวร เมษายน 7, 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน New York Times (February 14, 1988).
- ↑ "Al Pacino Biography". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 12, 2014. สืบค้นเมื่อ May 10, 2014.
- ↑ "Pacino, Burstyn and Keitel To Lead the Actors Studio". The New York Times (June 20, 2000). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 14, 2020. สืบค้นเมื่อ September 30, 2020.
- ↑ Yule, Andrew (1992). Al Pacino : Life on the Wire. Time Warner Books. ISBN 0751500488. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 14, 2020. สืบค้นเมื่อ October 30, 2020.
- ↑ Al Pacino and the cast and crew talk Scarface | | South Africa เก็บถาวร มีนาคม 17, 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Filmcontact.com (August 26, 2011). Retrieved May 22, 2014.
- ↑ "Pacino's Bambinos". People. February 12, 2001. สืบค้นเมื่อ November 23, 2019.
- ↑ "Twin Pique". People. February 24, 2003. สืบค้นเมื่อ November 23, 2019.
- ↑ "Conheça os personagens de Al Pacino, que completa 73 anos" [Meet the characters of Al Pacino, who turns 73] (ภาษาโปรตุเกส). Terra. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 17, 2018. สืบค้นเมื่อ 17 November 2018.
- ↑ Franklin, Nancy (8 December 2003). "America, Lost and Found". The New Yorker. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 12, 2018. สืบค้นเมื่อ 22 October 2018.
- ↑ Ferrell, David (23 April 2010). "Trying to get to the heart of Jack Kevorkian". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 25, 2010. สืบค้นเมื่อ 22 October 2018.
- ↑ Brown, Mick (29 June 2013). "David Mamet on Phil Spector: 'I don't give a damn about the facts'". The Daily Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 25, 2018. สืบค้นเมื่อ 22 October 2018.
- ↑ Hale, Mike (6 April 2018). "Review: Al Pacino Stars in HBO's 'Paterno,' a Tragedy Without a Hero". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2018. สืบค้นเมื่อ 22 October 2018.
- ↑ Fleming Jr, Mike (January 10, 2019). "Al Pacino Poised To Make TV Series Starring Debut In 'The Hunt'". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 10, 2019. สืบค้นเมื่อ January 10, 2019.
- Grobel, Lawrence (2006). Al Pacino: The Authorized Biography. Simon & Schuster. ISBN 0-7432-9497-1.