ข้ามไปเนื้อหา

โครงการห้องสมุดดนตรีนานาชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
IMSLP / Petrucci Music Library
หน้าโฮมเพจเมื่อปี ค.ศ. 2007
ประเภทห้องสมุดสกอร์เพลง
ภาษาที่ใช้ได้กาตาลา จีน เดนมาร์ก ดัตช์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน กรีก อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี มาซิโดเนีย โปรตุเกส รัสเซีย สเปน สวีเดน ตุรกี
เจ้าของโปรเจ็คเปตรุชชี (Project Petrucci LLC)
สร้างโดยEdward W. Guo (Feldmahler)[1]
ยูอาร์แอลimslp.org
หรือ petruccilibrary.org
เชิงพาณิชย์ไม่
ลงทะเบียนไม่จำเป็น (ต้องการสำหรับการมีส่วนร่วม)
เปิดตัว16 กุมภาพันธ์ 2006
สถานะปัจจุบันเปิดให้บริการใหม่ (30 มิถุนายน 2008)
(ปิดให้บริการ 19 ตุลาคม 2007 – 29 มิถุนายน 2008)

โครงการห้องสมุดดนตรีนานาชาติ (อังกฤษ: International Music Score Library Project มีชื่อย่อว่า IMSLP) มีอีกชื่อหนึ่งว่า ห้องสมุดดนตรีเปตรุชชี (Petrucci Music Library) ตั้งตามชื่อของออตตาเวียโน เปตรุชชี (ค.ศ. 1466 – 1539) ผู้จัดพิมพ์โน้ตดนตรีชาวอิตาลี เป็นโครงการจัดตั้งห้องสมุดดนตรีออนไลน์ เพื่อเผยแพร่โน้ตดนตรีที่เป็นสาธารณสมบัติในรูปแบบวิกิ

เว็บไซต์เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 เครื่องแม่ข่ายตั้งอยู่ที่ประเทศแคนาดาโดยใช้ซอฟต์แวร์มีเดียวิกิ ในระยะเริ่มต้นเป็นงานคอมพิวเตอร์สแกนผลงานเก่าที่หมดลิขสิทธิ์แล้ว แต่ได้เปิดโอกาสให้เจ้าของผลงานนำผลงานของตนออกเผยแพร่ในแบบครีเอทีฟคอมมอนส์ จนถึงปัจจุบันได้เผยแพร่โน้ตดนตรีมากกว่า 140,000 ชิ้น และงานบันทึกเสียงมากกว่า 5,000 ชิ้น

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2007 เว็บไซต์ได้ปิดตัวลงตามคำสั่งตามกฎหมายของยูนิเวอร์ซัลเอดิชัน[2] บริษัทผู้ตีพิมพ์ชีตมิวสิกจากเวียนนา ประเทศออสเตรีย สืบเนื่องจากผลงานที่เผยแพร่บางส่วนมีอายุระหว่าง 50 ถึง 70 ปี ถือว่าเป็นสาธารณสมบัติในประเทศแคนาดา ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ให้การคุ้มครองเป็นระยะเวลา 50 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นบางประเทศให้การคุ้มครองเป็นระยะเวลา 70 ปี

ไมเคิล เอส. ฮาร์ต จากโครงการกูเทนแบร์ก[3] ได้เสนอให้ความช่วยเหลือเพื่อให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปได้ แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจาก Feldmahler ผู้ดำเนินงาน IMSLP ไม่ต้องการย้ายข้อมูลไปเก็บที่เครื่องแม่ข่ายในสหรัฐอเมริกา [4] เว็บไซต์ได้เปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 โดยกำหนดนโยบายลิขสิทธิ์เคร่งครัดขึ้น ผลงานที่ถูกอัปโหลดขึ้นมาใหม่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้ดูแลจึงจะเปิดให้ดาวน์โหลดได้

ในปี ค.ศ. 2010 ได้เปิดใช้งานเครื่องแม่ข่ายสำรองซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Daniel J. Wakin (22 กุมภาพันธ์ 2011). Free Trove of Music Scores on Web Hits Sensitive Copyright Note. The New York Times. (ต้องสมัครสมาชิก)
  2. Clark, Ken (5 ตุลาคม 2007). "Cease and Desist Letter from Universal Edition AG" (PDF). Aird & Berlis LLP. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 ตุลาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2007.
  3. Hart, Michael (23 ตุลาคม 2007). "Re: Three quick links on digitizations and their constraints". Book People (Mailing list). สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2007.
  4. Feldmahler (19 ตุลาคม 2007). "Open letter". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]