ข้ามไปเนื้อหา

โรงละครโกลบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงละครโกลบ
Globe Theatre
โรงละครโกลบที่สอง ค.ศ. 1638
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทโรงละคร
สถาปัตยกรรมทิวดอร์
เมืองลอนดอน, อังกฤษ
ประเทศสหราชอาณาจักร
พิกัด51°30′24″N 0°5′42″E / 51.50667°N 0.09500°E / 51.50667; 0.09500
เริ่มสร้างค.ศ. 1599
ปรับปรุงค.ศ. 1614 (สร้างครั้งที่สอง)
ผู้สร้างคณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน

โรงละครโกลบ (อังกฤษ: Globe Theatre) เป็นโรงละครในลอนดอนที่มีความเกี่ยวข้องกับวิลเลียม เชคสเปียร์ โรงละครโรงแรกสร้างขึ้นโดย “คณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลน” (Lord Chamberlain's Men) ซึ่งเป็นคณะละครของเชคสเปียร์ในปี ค.ศ. 1599 แต่มาถูกเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1613[1] โรงละครโรงที่สองสร้างขึ้นบนโรงแรกในปีต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1614 และมาปิดลงในปี ค.ศ. 1642[2]

โรงละครสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นตามแบบโรงละครโกลบดั้งเดิมชื่อ “โรงละครเชคสเปียร์โกลบ” (Shakespeare's Globe) เปิดในปี ค.ศ. 1997 โรงละครสร้างห่างจากโรงละครเดิม 230 เมตร[3]

ที่ตั้ง

[แก้]

การตรวจสอบโฉนดที่ดินของโรงละครเก่าทำให้ทราบว่าตั้งอยู่ตั้งแต่ทางด้านตะวันตกของถนนซัทเธิร์คบริดจ์ปัจจุบันไปทางตะวันออกจนถึงถนนพอร์เตอร์ และจากถนนพาร์คไปทางใต้จนถึงด้านหลังของจตุรัสเกทเฮาส[4] แต่ตำแหน่งที่แน่นอนไม่เป็นที่ทราบจนกระทั่งการขุดพบบางส่วนของฐานสิ่งก่อสร้างเดิมที่รวมทั้งเสาเข็มเดิมในปี ค.ศ. 1989 ใต้ลานจอดรถทางด้านหลังของตึกแองเคอร์เทอร์เรสบนถนนพาร์ค[5] ในเมื่อฐานสิ่งก่อสร้างเดิมส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ตึกแองเคอร์เทอร์เรสซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ การพยายามขุดหาหลักฐานทางโบราณคดีจึงไม่อาจจะทำได้

ประวัติ

[แก้]

โรงละครโกลบเป็นของนักแสดงผู้มีหุ้นส่วนในคณะละครลอร์ดเชมเบอร์เลนด้วย สองในหกผู้ถือหุ้นของโรงละครโกลบริชาร์ด เบอร์เบจ และพี่ชายคัธเบิร์ต เบอร์เบจเป็นเจ้าของหุ้นสองเท่าของหุ้นทั้งหมดหรือคนละ 25% เจ้าของอีกสี่คน เชคสเปียร์, จอห์น เฮ็มมินจ์ส, ออกัสติน ฟิลลิปส์ และ ทอมัส โพพต่างก็เป็นเจ้าของหุ้นเท่าเดียวหรือคนละ 12.5%[6] สัดส่วนของการถือหุ้นก็เปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ เมื่อมีการเพิ่มจำนวนหุ้นขึ้น หุ้นส่วนของเชคสเปียร์ลดจาก 1/8 จนเหลือเพียง 1/14 หรือราว 7% ในชั่วอายุการอาชีพ[7]

โรงละครโกลบสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1599 โดยใช้ไม้จากโรงละครเก่า “เดอะเธียเทอร์” (The Theatre) ที่สร้างโดยเจมส์ เบอร์เบจบิดาของริชาร์ด เบอร์เบจในปี ค.ศ. 1576 เดิมตระกูลเบอร์เบจมีสัญญาเช่าที่ 21 ปี ก่อนที่จะได้เป็นเจ้าของเต็มตัว แต่เจ้าของที่ดินไจล์ส แอลแลนอ้างว่าสิ่งก่อสร้างเป็นของตนเองเมื่อสัญญาเช่าหมดอายุลง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1598 ขณะที่แอลแลนกำลังฉลองคริสต์มัสอยู่ที่คฤหาสน์ชนบท ช่างไม้ปีเตอร์ สตรีทพร้อมด้วยนักแสดงและเพื่อนก็ช่วยกันถอดโรงละครออกเป็นชิ้นๆ และขนไปไว้ที่กุดังริมน้ำของสตรีท เมื่ออากาศอุ่นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิชิ้นส่วนก็ถูกขนย้ายตามลำแม่น้ำเทมส์มาปลูกใหม่ที่ทางตอนใต้ของซอยเมดเดนที่ซัทเธิร์ค[8]

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1613 โรงละครโกลบก็ถูกเพลิงไหม้วอดวายขณะที่กำลังแสดงละครเรื่อง “พระเจ้าเฮนรีที่ 8” โดยสาเหตุที่มาจากการยิงปืนใหญ่ระหว่างการแสดงที่พลาดไปถูกคานไม้และหลังคาหญ้า ตามหลักฐานที่บันทึกไว้ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดได้รับการบาดเจ็บนอกจากที่ต้องเอาเบียร์เอลราดกางเกงที่ลุกเป็นไฟของชายคนหนึ่ง[9] ปีต่อมาก็ได้มีการสร้างโรงละครใหม่ขึ้นแทนที่

โกลบก็เช่นเดียวกับโรงละครอื่นๆ ในลอนดอนที่มาถูกปิดลงโดยกลุ่มเพียวริตันในปี ค.ศ. 1642 และถูกรื้อทิ้งราวปี ค.ศ. 1644 หรือไม่นานหลังจากนั้น เพื่อทำเป็นสถานที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย[10]

โครงสร้าง

[แก้]
ด้านนอกของโรงละครโกลบ
เวที
ภายในโรงละครใหม่

ขนาดของโรงละครโกลบที่แท้จริงไม่เป็นที่ทราบแต่รูปทรงและขนาดก็เป็นเรื่องที่ได้รับการศึกษาและสันนิษฐานกันโดยนักวิชาการมาร่วมสองร้อยปี[11] จากหลักฐานสันนิษฐานว่าเป็นสิ่งก่อสร้างสามชั้น, เป็นอัฒจันทร์กลางแจ้งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 30 เมตร และจุผู้ชมได้ราว 3,000 คน[12] จากภาพร่างโดยนักวาดภาพพิมพ์จากโบฮีเมียผู้อาศัยอยู่ในอังกฤษเวนสลาส ฮอลลาร์แสดงว่าเป็นโรงละครกลม แต่จากการศึกษาบางส่วนของฐานที่พบในปี ค.ศ. 1988 ถึงปี ค.ศ. 1989 ก็พบว่าตัวสิ่งก่อสร้างมีลักษณะเป็นหลายเหลี่ยมที่มีด้วยกันทั้งหมด 20 เหลี่ยม[13][4]

ที่หน้าเวทีเป็นบริเวณที่เรียกว่า “pit”[14] ที่ใช้เป็นที่ยืนชมบนดินที่ราคาต่ำที่สุด[15] ระหว่างการขุดค้นในปี ค.ศ. 1989 ก็พบชั้นเปลือกถั่วที่อัดแน่นลงไปในดินเพื่อสร้างชั้นดินใหม่[5] รอบลานก็เป็นอัฒจันทร์ที่มีที่นั่งสามชั้น ที่มีราคาสูงกว่าที่ยืนชม

เวทีเป็นทรงสี่เหลี่ยมที่ยื่นออกมายังลานกลางโรงละคร ที่เป็นเวทีแบบที่เรียกว่า “apron stage” ที่มีขนาดกว้าง 13.1 เมตร ลึก 8.2 เมตร และสูงจากพื้น 1.5 เมตร บนเวทีก็มีประตูกล (trap door) สำหรับนักแสดงเข้าออกได้จากใต้เวที[16]

สองด้านของเวทีเป็นเสารองรับหลังคาที่ยื่นมาคลุมด้านหลังของเวที เพดานใต้หลังคานี้เรียกว่า “สวรรค์” และทาสีเป็นภาพท้องฟ้าที่ประด้วยก้อนเมฆ[4] ประตูกลบนท้องฟ้าปิดเปิดให้นักแสดงห้อยตัวด้วยเชือกหรือบังเหียนลงมาได้

กำแพงด้านหลังของเวทีมีประตูสองหรือสามประตูบนชั้นหลัก โดยมีม่านสำหรับเวทีด้านหลังตรงกลาง และ บนระเบียงชั้นบน ประตูเชื่อมกับด้านหลังของเวที่ที่นักแสดงใช้แต่งตัวหรือรอคิวก่อนที่จะออกมาแสดง ระเบียงเป็นที่นั่งของนักดนตรีหรืออาจจะใช้เป็นฉากที่ต้องมีสองชั้นเช่นในฉากบนระเบียงในเรื่อง “โรเมโอและจูเลียต

อ้างอิง

[แก้]
  1. Nagler 1958, p. 8.
  2. Encyclopædia Britannica 1998 edition.
  3. Measured using Google earth
  4. 4.0 4.1 4.2 Mulryne, James Ronald; Mulryne, J. R.; Shewring, Margaret; Gurr, Andrew (1997-06-12). Shakespeare's Globe Rebuilt. Cambridge New York Melbourne: Cambridge University Press. ISBN 0-521-59988-1.}
  5. 5.0 5.1 "Simon McCudden 'The Discovery of The Globe" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-03-31. สืบค้นเมื่อ 2010-02-20.
  6. Gurr (1991: 45-46)
  7. Schoenbaum, pp. 648-9.
  8. Shapiro, James (2005). 1599—a year in the life of William Shakespeare. London: Faber and Faber. pp. 122, 129. ISBN 0-571-21480-0.
  9. Wotton, Henry (2 July 1613). "Letters of Wotton". ใน Smith, Logan Pearsall (บ.ก.). The Life and Letters of Sir Henry Wotton. Vol. Two. Oxford, England: Clarendon Press. pp. 32–33.
  10. Mulryne; Shewring (1997) p. 75
  11. Egan, Gabriel (1999). "Reconstructions of The Globe: A Retrospective" (PDF). Shakespeare Survey. 52 (1): 1–16. ISBN 0-521-66074-2. สืบค้นเมื่อ 2007-07-25.
  12. Orrell, John (1989). "Reconstructing Shakespeare's Globe". History Trails. University of Alberta. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-06. สืบค้นเมื่อ 2007-12-10.
  13. Egan, Gabriel (2004). "The 1599 Globe and its modern replica: Virtual Reality modelling of the archaeological and pictorial evidence". Early Modern Literary Studies. 13: 5.1–22. ISSN 1201-2459. สืบค้นเมื่อ 2007-07-25.
  14. Britannica Student: The Theater past to present > Shakespeare and the Elizabethan Theater
  15. Dekker (1609)
  16. Nagler 1958, pp. 23-24.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โรงละครโกลบ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โรงละครเชคสเปียร์โกลบ