ข้ามไปเนื้อหา

หนังสือปัญญาจารย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปัญญาจารย์)

หนังสือปัญญาจารย์ (อังกฤษ: Ecclesiastes) เป็นหนังสือในคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม เป็นลำดับที่ 4 ในหมวดบทเพลง

ผู้เขียนปัญญาจารย์กล่าวถึงตนเพียงว่าเป็นบุตรของ กษัตริย์ดาวิด ของชนชาติอิสราเอลในนครเยรูซาเลม คริสต์ศาสนาเชื่อว่าเป็นกษัตริย์ซาโลมอน

เนื้อหากล่าวถึง ชีวประวัติและประสบการณ์ในชีวิตที่วางใจในพระเจ้า ประกอบด้วย คำอุปมา คำพังเพย และคติพจน์ แต่ละประโยคสะท้อนให้เห็นถึง ความหมายของชีวิตและวิธีดำเนินชีวิตอย่างดีที่สุด เน้นถึงกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ ล้วนไร้ค่าไม่มีความหมายใด ล้วนจบลงด้วยความตาย จึงเตือนสติให้แสวงหาสติปัญญา จากพระเจ้า เพื่อเป็นเส้นทางในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ผู้เขียนไม่ได้ชี้ชัดถึงความหมายของชีวิตนิรันดร์ แต่แนะนำให้พอใจในสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ในสรรพสิ่งกิจวัตรประจำวัน เช่น หน้าที่ การงาน อาหาร และทรัพย์สินที่ได้โดยชอบธรรม

สรุปเนื้อหา

[แก้]

พระธรรมปัญญาจารย์เน้นถึง "ความเป็นอนิจจังของทุกสิ่งภายใต้แสงตะวัน" ควรละทิ้งการแสวงหาความพอใจทางกาย และให้มุ่งหน้าประกอบกิจที่ให้ผลประโยชน์ในสิ่งที่เหนือตะวันคือสวรรค์ ซึ่งสรุปได้ในสองประโยคสุดท้ายว่า

"ให้เราฟังข้อสรุปความจากทั้งสิ้นแล้ว คือจงยำเกรงพระเจ้า และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เพราะนี่แหละเป็นหน้าที่ทั้งสิ้นของมนุษย์ ด้วยว่าพระเจ้าทรงเอาการงานทุกประการ เข้าสู่การพิพากษา พร้อมด้วยสิ่งเร้นลับทุกอย่าง ไม่ว่าดีและชั่ว" [1]

ในประเพณีของชาวอิสราเอล พระธรรมปัญญาจารย์อ่านในวันแห่งการพักผ่อนและวันฉลอง เพื่อเป็นการเตือนถึงชีวิตไม่ให้ยึดกับความสำราญมากนัก

สรุปตามบท

[แก้]

บทที่ 1-3 กล่าวถึง อนิจจังของทุกสิ่งในโลก ตราบใดที่มนุษย์ยังอยู่ภายใต้แสงตะวัน ต้องอยู่กับความไม่แน่นอนของโลก การงาน และปัญญาที่ได้ทุ่มเทลงไปอย่างตรากตรำ ท้ายที่สุดก็เป็นการไร้สาระ คนรุ่นต่อไปก็แสวงหาการงาน และปัญญา ต่อไป โดยไม่ได้ให้ความสนใจต่อกิจของคนรุ่นก่อน คนที่ฉลาดกว่าและเก่งกว่ามาแทนที่ ความสำราญเป็นอนิจจัง ซาโลมอนลองใช้ชีวิตแสวงหาความรื่นรมณ์ของชีวิต แต่ก็พบว่าเป็นความสุขเพียงชั่วคราว มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง มีวาระสำหรับเรื่องราวทุกอย่าง วาระที่เกิดใหม่และสูญไปของสรรพสิ่งทางโลก

"ปัญญาจารย์กล่าวว่า อนิจจัง อนิจจัง อนิจจัง อนิจจัง สารพัดอนิจจัง" [2]


บทที่ 4-8 กล่าวถึง อุปสรรคและความไม่ยุติธรรมของโลก ผู้ที่ถูกข่มเหง ผู้ตกยาก อุปสรรคจากความชั่วร้ายของมนุษย์ เป็นสิ่งที่หลีกไม่ได้ ซาโลมอนแนะนำให้ทำภารกิจของแต่ละคนด้วยความตั้งใจ และไม่เปรียบเทียบชีวิตตนกับผู้อื่น อย่าเป็นคนเขลาในการใช้วาจา ให้สละความเห็นแก่ตน ละที้งความทะเยอทะยาน อย่าเป็นคนโลภที่ไม่สิ้นสุด หน้าที่ของผู้ที่มีปัญญาและทรัพย์สินมาก คือเขาต้องทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อนิจจังของความมั่งมี ของผู้สูงอายุ ผู้ไม่มีความพอใจ และผู้ที่โอ้อวด บุคคลเหล่านี้ต้องประสพกับหายนะ และความทุกข์ ถ้าเขาเป็นคนสามานย์ เห็นแก่ตน สอนถึงให้แสวงหาบทเรียนของชีวิต ได้จากประสบการณ์ จากอุปสรรค ความยากลำบากทำให้มนุษย์รู้จักปรับปรุงตนเอง

"ฟังคำตำหนิของคนที่มีสติปัญญา ดีกว่าฟังเพลงร้องของคนเขลา" [3]

บทที่ 9-12 กล่าวถึง หลักการในการดำเนินชีวิต โดยไม่ปักใจกับสรรพสิ่งและความเปลี่ยนแปลงของโลก ระวังวาจาและการกระทำ อย่าเป็นคนเขลา และอย่าเป็นผู้นำที่ไร้ความสามารถ ทำบุญกุศลและมีเมตตาไปตามสภาพและฐานะของแต่ละคน เพราะนอกจากเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือผู้ด้อยกว่าในสังคมแล้ว ยังเป็นผลบุญที่เก็บเกี่ยวในยามสูญชีวิตไป อย่าหลงใหลกับความสำราญชั่วคราวของโลก แต่จงเตรียมชีวิตและวิญญาณไว้ให้พร้อมเสมอ โดยยำเกรงในกฎของพระเจ้า


บทวิเคราะห์

[แก้]

ผู้เขียนและอรรถาธิบายทางประวัติศาสตร์

[แก้]

ผู้เขียนแนะนำตนเองว่าเป็นผู้มีปัญญาปราชญ์เปรื่อง และเป็นบุตรของกษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอล คือกษัตริย์ซาโลมอน ก่อน 931 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากซาโลมอนอาณาจักรได้แยกเป็นสองส่วน อิสราเอลทางเหนือ และยูดาทางใต้ ซึ่งอยู่ครอบครองของรัชทายาทจากซาโลมอน

อย่างไรก็ตาม ชาวคริสต์และยิวเชื่อกันทั่วไปว่า กษัตริย์ซาโลมอนเป็นผู้เขียนเอง เพราะเนื้อหาจากคัมภีร์กล่าวว่า ไม่มีใครมีพระปัญญาที่เสมอเหมือนท่าน เพราะพระเจ้าประทานพรพิเศษให้แก่ซาโลมอน มีราชอาณาจักรที่ก้าวหน้าทางความเจริญรุ่งโรจน์กว่าแคว้นใด และท่านเขียนพระธรรมนี้ในบั้นปลายชีวิต หลังจากใช้ชีวิตฟุ่มเฟื่อยสร้างสิ่งต่าง ๆ เช่น พระวิหารเยรูซาเลมที่ยิ่งใหญ่ มหาราชวังหลายแห่ง มหาวิทยาลัย ฯลฯ ท่านแสวงหาความรู้ ตลอดมาและความสามารถเป็นที่ลือชื่อในอิสราเอลและประเทศอื่น แต่ทั้งสมบัติและความรู้ ไม่ได้ทำให้เป็นสุข เมื่อคำนึงได้ว่า ทุกอย่างของโลกเป็นสิ่งอนิจจัง จึงเขียนพระธรรมปัญญาจารย์เพื่อเตือน บุคคลชาวยิวไม่ให้สนใจในทางโลก แต่ควรประพฤติดีงามเพื่อรางวัลที่ได้รับจากพระเจ้า

ปัจจุบันนักศึกษาทางคัมภีร์และเทววิทยา ตั้งข้อสงสัยในผู้เขียน โดยอ้างว่าปัญญาจารย์อาจเป็นผลงานของนักประพันธ์นิรนาม ที่เขียนวรรณคดีและบทประพันธ์ทางศาสนาศาสตร์ของยิวขึ้นเอง แล้วลงนามว่าเป็นผลงานของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นผู้เขียน ซึ่งปฏิบัติแพร่หลายในวรรณกรรมของชนชาติยูดาย ในระยะ 250 ปีก่อนคริสตกาล จนถึง 200 ปีก่อนคริสตกาล

โดยสันนิษฐาณว่าเขียนในยุคของ สร้างพระวิหารเยรูซาเลมครั้งที่สอง ซึ่งชาวยิวตกเป็นเชลยของชนชาติเปอร์เชีย ในระหว่าง 536 ปีก่อนคริสตกาล กรุงเยรูซาเลมที่กษัตริย์ซาโลมอนสร้างไว้ถูกทำลายเสียสิ้น จากการแผ่อำนาจของกษัตริย์ของอาณาจักรบาบิโลนและกวาดต้อนชาวยิวเป็นเชลยและทาสแรงงานในบาบิโลน นครหลวงของเปอร์เชีย

พระวิหารเยรูซาเลมครั้งที่สอง เริ่มสร้างในสมัยของกษัตริย์ไซปรัสของเปอร์เชีย เป็นผู้เริ่มก่อสร้างพระวิหาร และสำเร็จมาในสมัยของกษัตริย์ดาริอัสที่ยิ่งใหญ่ (515 ปีก่อนคริสตกาล) การสร้างพระวิหารนี้เพื่อสนองพระเกียรติให้พระเจ้าของผู้พยากรณ์ [ดาเนียล] ที่ช่วยแปลความหมายให้กษัตริย์เปอร์เชียได้พ้นภัย

นักวิจารณ์ให้ความเห็นว่า ผลงานปัญญาจารย์ อาจเขียนในระยะที่อาณาจักรเปอร์เซียครองอำนาจ ซึ่งเป็นระยะประมาณ 250 ปีภายหลังกษัตริย์ซาโลมอนครองราชย์ และวิธีการเขียนแบ่งเป็นสองภาค ทั้งการบรรยาย และแบบกวีนิพนธ์ ซึ่งนักวิจารณ์ลงความเห็นว่า อาจเป็นผลงานของนักประพันธ์สองท่าน

นักปรัชญาและศาสนาศาสตร์ ชาวออสเตรียชื่อ Nachman Krochmal (1785-1840) เห็นพ้องว่าผู้เขียนแท้จริง มิใช่กษัตริย์ซาโลมอน แต่เป็นกวีชาวเปอร์เชีย เขียนในระหว่างอาณาจักรเปอร์เชียเรืองอำนาจ อาจเป็นบุคคลในพระราชสำนัก หรือกษัตริย์หัวเมืองที่ได้รับอำนาจไปครองไว้ ในยุคที่ชาวอิสราเอลตกเป็นเชลยแก่เปอร์เชีย

ภาษาที่ใช้ประพันธ์และข้อวิจารณ์

[แก้]

พระธรรมปัญญาจารย์เขียนด้วย ภาษาฮีบรูของชนชาติยิว แต่เห็นได้ว่ายังมีศัพท์จากภาษาอื่นปะปนบ้าง มีศัพท์ภาษาเปอร์เชียสองคำ และหลายคำเป็นภาษาอะราเมอิก ซึ่งเป็นภาษาโบราณกว่า 3,000 ปี ในกลุ่มภาษาเซมิติกใช้ในพระราชสำนักและในวรรณกรรมทางศาสนาโดยเฉพาะ เป็นภาษาที่ใช้ในตะวันออกกลาง ปัจจุบันใช้ในประเทศอาหรับ เช่น อิสราเอล และปาเลสไตน์

ในสมัยต้นของอาณาจักรอิสราเอล ยังไม่ได้รับอิทธิพลทางภาษาอะราเมอิก กระทั่งอิสราเอลได้ตกเป็นเชลยของชนชาติอี่น จึงมีการพูดและเขียนทางอะราเมอิกมากขึ้น เช่น พระธรรมดาเนียลเขียนโดย ดาเนียล ป็นภาษาอะราเมอิกมาก เพราะตกเป็นเชลยและทำงานในพระราชสำนักของเปอร์เชีย แต่ในสมัยของซาโลมอนยังไม่ได้อิทธิพลจากภาษาอะราเมอิก จึงคาดว่าปัญญาจารย์อาจไม่ได้ประพันธ์ในระยะอิสราเอลตอนต้น เพราะภาษาเขียนแบบฮีบรูไม่ได้เป็นสิ่งแพร่หลายในยุคของกษัตริย์ซาโลมอน

อิทธิพลต่อวรรณกรรมอื่น

[แก้]

คริสตกาลที่ 16 สถาบันของนิกายโรมันคาทอลิกและออร์โธด็อกซ์ พิจารณาลงความเห็นตรงกันว่า ควรเพิ่มประโยคสำคัญ และเพิ่มเติมฉบับอื่น ๆ ของคัมภีร์ โดยนำมาบรรจุรวมไว้เป็น แบบฉบับสมบูรณ์เล่มใหม่ของคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ เป็นการรวบรวมวรรณกรรมทางศาสนาบรรจุเป็นเล่มครั้งที่สอง ที่ต่างจากฉบับแรกที่ได้มาจากคัมภีร์ของฮีบรู ข้อความและวรรณกรรมบรรจุใหม่เหล่านี้ บางนิกายของคริสต์ศาสนายอมรับแต่บางนิกายปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคำสอนของพระเจ้า เช่น Wisdom of Solomom และThe Story of Susanna เป็นต้น

คัมภีร์ของ นิกายโปรเตสแตนต์ไม่ได้บ่งชัดว่า ส่วนใดมาจากการบรรจุรุ่นแรกหรือรุ่นที่สอง วรรณกรรมทางคริสต์ศาสนายังแบ่งเป็นภาคพระพันธสัญญาเดิมและพระพันธสัญญาใหม่ แต่คัมภีร์บางฉบับที่พิมพ์ใหม่เพื่อการศึกษา ได้รวมวรรณกรรมและประโยคที่บรรจุในครั้งที่สองเป็นภาคพิเศษ เรียกว่า Opacryppha ซึ่งเป็นศัพท์มาจากกรีก แปลว่า "สิ่งที่ซ่อนไว้" คือการเปิดเผยคำสอนของพระเจ้าที่เดิมได้ปิดบังไว้

พระธรรมปัญญาจารย์ ได้มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมอื่น ๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ปัญญาของซาโลมอน Wisdom of Solomon และ Ben Sirah วรรณกรรมทั้งสองฉบับนี้ บางนิกายยอมรับเป็นคัมภีร์ แต่บางนิกายปฏิเสธ วรรณกรรมทั้งสองนี้ได้ยึดหลักของ "ความอนิจจังของโลก" ตามแบบอย่างที่เป็นปัจจัยในพระธรรมปัญญาจารย์ โดยเปรียบเทียบใจความในวรรณกรรมได้ เช่น

"ใครคนใดรู้ได้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์ในชีวิตนี้ คือในระยะวันเดือนปีทั้งหลายแหล่แห่งชีวิตอันเหลว ๆ ของตนเอง ที่ได้สูญไปดุจดังเงา ใครผู้ใดบอกกับมนุษย์ว่า สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นภายหลังความตายของตน ภายใต้ดวงตะวัน" ..(ปัญญาจารย์3;19)" เหตุการณ์ของบุตรทั้งหลายของมนุษย์ กับเหตุการณ์ของสัตว์เดรัจฉานนั้นเหมือนกัน คือเป็นเหตุการณ์อันเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายหนึ่งก็ตายเหมือนกัน ทั้งสองมีลมหายใจอย่างเดียวกัน และมนุษย์ไม่มีอะไรดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะสารพัดคืออนิจจัง" [4]

"ผู้อธรรมให้เหตุผลปลอบใจตนเองว่า ไม่เป็นไร ชีวิตมนุษย์แสนสั้นและน่าเบื่อหน่าย ความตายมาถึงเราแก้ไขไม่ได้ มีใครบ้างไหมที่รู้จัก คนตายแล้วกลับคืนชีพจากหลุมศพ" [5]

"และข้าพเจ้าตั้งใจเสาะแสวงหาปัญญา และสิ่งสารพัดที่กระทำได้ภายใต้ฟ้า และเห็นว่าเป็นความยากลำบาก ที่พระเจ้าประทานให้บุตรมนุษย์ทำกันอยู่" [6]

"อย่าแสวงหาสิ่งที่ยากลำบากเกินไป อย่าเสาะหาสิ่งที่เกินความสามารถของตน สิ่งที่ควรกระทำคือใช้พิจารณญาณด้วยความเคารพนับถือ เพราะท่านไม่จำต้องเข้าใจและเห็นทุกอย่างในสิ่งที่เป็นความลับ เพราะมีสิ่งอี่น ๆ อีกมากที่ได้ปรากฏขึ้นเกินกว่ามนุษย์เข้าใจได้" [7]


อ้างอิง

[แก้]
  • Matthew Henry Concise Commentary :Ecclesiastes.
  • Ecclesiastes at WiKisourse (King James Version)
  • คัมภีร์ภาคพระพันธสัญญาเดิม. ปัญญาจารย์
  • A Metaphrase of The Book of Ecclesiastes. by Gregory Thaumaturgus.
  • Richard Bauckham. " Pseudo-Apostolic Letters". Journal of Biblical Literature.Vol7.No3. september 1988.
  • Nachman Krochmal. Wikipedia English Language.
  • Jewish Encyclopedia. Ecclesiastes ( Kohelet).
  • William macDonald " Ecclesiastes An Overview.
  • Commentary on Ecclesiates by F.C Jennings.
  • Catholic Encyclopedia: Book Of Wisdom.
  • The New John Gill Exposition of The Entire Bible."Ecclesiastes"
  1. ปัญญาจารย์ 12:13-14
  2. ปัญญาจารย์ 1: 2
  3. ปัญญาจารย์ 7: 5
  4. พระธรรมปัญญาจารย์ 6: 12
  5. ปัญญา ของซาโลมอน 2: 1
  6. ปัญญาจารย์ 1: 13
  7. บุตรสิรา 3:21