ข้ามไปเนื้อหา

จีนโนสยามวารศัพท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จีนโนสยามวารศัพท์
ประเภทหนังสือพิมพ์รายวัน
รูปแบบข่าวทั่วไป
เจ้าของนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง (蕭佛成)
บรรณาธิการนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง (蕭佛成)
ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2450
ภาษาภาษาไทย, ภาษาจีน
ฉบับสุดท้ายไม่มีข้อมูล
สำนักงานใหญ่ถนนฮ่องกงแบ๊งค์ ปากคลองผดุงกรุงเกษม พระนครหลวงกรุงเทพ

จีนโนสยามวารศัพท์ หรือ ฮั่วเซียมซินป่อ (華暹新報) เป็นหนังสือพิมพ์จีนรายวันในสยามประเทศ เริ่มออกฉบับภาษาสยาม เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2450 ออกฉบับสุดท้ายเมื่อ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ส่วนฉบับภาษาจีนยกเลิกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2468 มีสำนักงานและโรงพิมพ์ตั้งอยู่ถนนฮ่องกงแบ๊งค์ ปากคลองผดุงกรุงเกษม พระนครหลวงกรุงเทพ

หนังสือพิมพ์มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นปากเสียงแก่ชาวจีนในราชอาณาจักรสยาม และเผยแพร่นโยบายของพวกก๊กมินตั๋ง ยึดมั่นในลัทธิชาตินิยม สนับสนุนและป้องกันชาวจีนในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งเสนอข่าว ให้ความรู้ สร้างมิตรภาพสัมพันธไมตรีอันดีงามระหว่างชาวจีนและชาวสยาม

รูปแบบ

[แก้]

รูปแบบเล่ม เมื่อออกในระยะแรกมี 4 หน้า กว้าง 18 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว เมื่อออกครบ 1 ปี จึงนำมาเย็บเล่ม ต่อมาปี พ.ศ. 2454 ลดหน้ากระดาษเล็กลงแต่เพิ่มจำนวนหน้าเป็น 8 หน้า และเพิ่มพิเศษอีก 4 หน้า รวมเป็น 12 หน้า แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นขนาดกว้าง 18 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว เช่นเดิมและยังคงมี 12 หน้า

การจัดวางคอลัมน์ มักนิยมเขียนเสร็จเป็นเรื่อง ๆ แล้วขึ้นเรื่องเรียงใหม่ต่อกัน หัวเรื่องมักเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ แต่บางครั้งถ้าต่อเรื่องไป จะเขียนว่า "โปรดอ่านหน้า___ยังมีข่าว" การจัดหน้าและภาพ หน้า 1 และ 2 มักลงโฆษณา แจ้งความ คำปรารภของผู้จัดทำ ต่อจากคำปรารภจะเป็นข่าวและบทความ ในระยะหลังที่เพิ่มหน้ามากขึ้น จะมีนิยายจีนหรือเรื่องแปลบ้าง มีคอลัมน์อื่นอย่าง คอลัมน์วิจารณ์และเสียดสีสังคม ประกาศต่าง ๆ ของทางราชการและโฆษณา ไม่นิยมลงภาพประกอบบทความหรือข่าว ยกเว้นรายงานชิ้นสำคัญจริง ๆ เช่นบทความเกี่ยวกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รูปภาพลายเส้นประกอบโฆษณามักทำอย่างแข่งขันและพิถีพิถันมาก

เนื้อหา เมื่อออกใน ร.ศ. 129 มีโฆษณาอยู่เต็มประมาณ 70-80% ของเนื้อหาทั้งหมด ส่วนข่าวและบทความจะแทรกระหว่างประกาศและโฆษณา ต่อมาเมื่อระยะหลังที่บ้านเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลงและปัญหามากขึ้น บทความมักชี้ปัญหาที่เกิดในสังคมสยาม เช่น "การพนันเป็นรากเหง้าของความชั่ว" (25 พฤศจิกายน ร.ศ. 129) และการพูดถึงความพยายามเรียกร้องความสัมพันธ์อันดีของสยามกับจีน เช่น บทความ "จีนกับไทย" (24 พฤศจิกายน ร.ศ. 129) เป็นต้น[1]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์. เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง: ทัศนะและบทบาทของจีนสยามในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศในเอเชีย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุกัญญา ตีระวนิช. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการหนังสือพิมพ์ --: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ กรุงเทพฯ, ISBN 974-7442-60-4