บางกอกรีกอเดอ
ประเภท | หนังสือพิมพ์รายเดือน และรายปักษ์ |
---|---|
รูปแบบ | ข่าวทั่วไป |
เจ้าของ | แดน บีช บรัดเลย์ |
บรรณาธิการ | แดน บีช บรัดเลย์ |
คอลัมนิสต์ | หมอบรัดเลย์ |
ก่อตั้งเมื่อ | พ.ศ. 2387 (รายเดือน) พ.ศ. 2407 (รายปักษ์) |
ภาษา | ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ |
ฉบับสุดท้าย | พ.ศ. 2388 (รายเดือน) พ.ศ. 2411 (รายปักษ์) |
สำนักงานใหญ่ | พระนครหลวงกรุงเทพ |
บางกอกรีกอเดอ (The Bangkok Recorder ทับศัพท์แบบปัจจุบัน บางกอกรีคอร์เดอร์) หรือชื่อไทย หนังสือจดหมายเหตุ เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเล่มแรก ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2387-2388 และอีกครั้งระหว่างปี พ.ศ. 2407-2411 เขียนและพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ในระยะแรกเริ่มออกฉบับรายเดือน ต่อมาเปลี่ยนเป็นรายปักษ์หรือรายครึ่งเดือน ฉบับแรกเผยแพร่ครั้งแรกตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387
ประวัติ
[แก้]ก่อนหน้าที่จะมีบางกอกรีกอเดอ บาทหลวงกลุ่มหนึ่งเคยจัดตั้งโรงพิมพ์แถววัดซานตาครูส ตำบลกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี และพิมพ์หนังสือชื่อว่า KHÂM-SÓN CHRISTANG (สะกดด้วยอักษรโรมันแต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยว่า คำสอนคริสตัง) ใน พ.ศ. 2339 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เวลานั้นยังไม่มีการพิมพ์อักษรไทยขึ้น
หมอบรัดเลย์ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตกับรัชกาลที่ 3 เมื่อบรรดาอำมาตย์มุขมนตรีให้การสนับสนุนแล้ว จึงได้ออกหนังสือพิมพ์ขึ้น สำนักพิมพ์ของบางกอกรีคอร์เดอร์ ตั้งอยู่ที่บ้านพวกมิชชันนารีอเมริกันที่หน้าวัดเจ้าคุณพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ริมคลองหน้าวัดประยุรวงศ์ฯ หนังสือพิมพ์ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก จนบางคนคิดว่า มันเป็นเพียงจดหมายเหตุธรรมดา ถึงกับมีคนเรียกว่า จดหมายเหตุอย่างสั้น[1] แต่ออกพิมพ์ได้ปีเดียวก็เลิกไป เพราะรัฐบาลไม่สนับสนุน อันเนื่องมาจากการทำหนังสือพิมพ์แบบอเมริกัน ที่มีรูปแบบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่เนื่องจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์ก็คือรัฐบาลนั่นเอง และเมื่อประสบปัญหาจากรัฐบาล ประกอบกับหมอมีปัญหาส่วนตัวเกี่ยวกับการจัดระบบเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทยและปัญหาครอบครัว จึงเลิกออกหนังสือพิมพ์ไประยะหนึ่ง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเปิดกว้างต่อการไหลบ่าของอารยธรรมตะวันตกมากขึ้น ทั้งยังทรงเคยเป็นสมาชิก บางกอกรีกอเดอ มาก่อน และเมื่อหมอบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์อีก ก็ทรงบอกรับเป็นสมาชิกอีก ครั้นได้พบว่าหมอบรัดเลย์เขียนบทความโจมตีพุทธศาสนาก็ทรงเขียนบทความตอบโต้ โดยมิทรงลงพระมหาปรมาภิไธย แต่คนทั่วไปก็ทราบดีกว่าบทความเหล่านั้นคือใคร[2] แต่เนื่องจากหมอบรัดเลย์ยกศาสนาของตนและประเทศของตนข่มคนไทย[3] จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจกับคนไทยอย่างกว้างขวาง จึงทำให้การบอกรับสมาชิกไม่เพิ่มขึ้นทั้งสมาชิกเดิมก็ไม่จ่ายเงิน จึงยากที่จะยืนหยัดในสถานการณ์เช่นนี้
หมอบรัดเลย์ประกาศเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกรีกอเดอ ไว้ในเล่มที่ 2 ใบที่ 24 (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2410) โดยให้เหตุผลว่า เพราะขาดทุนและรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนอย่างแต่ก่อน[4]
รูปแบบ
[แก้]หนังสือพิมพ์มีจัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ออกปักษ์ละ 2 ใบ มี 4 หน้า โดยฉบับภาษาไทยขนาด 6"x9" ฉบับภาษาอังกฤษจะมีขนาดใหญ่กว่าคือขนาด 12"x18" รูปแบบการจัดหน้าแบ่งออกเป็น 2 คอลัมน์ มีภาพประกอบคือภาพวาดขายปลีกใบละสลึงเฟื้อง ถ้าซื้อแบบพิมพ์เป็นเล่มรวมเมื่อปลายปีขายเล่มละ 5 บาท เล่มหนึ่งมี 26 ใบ[5]
เนื้อหามีลักษณะเป็นตำรา ข่าวทั้งต่างประเทศและในประเทศ ในแต่ละฉบับมีข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ การแพทย์และการสาธารณสุข คำศัพท์สำนวนภาษาอังกฤษ พงศาวดารต่างชาติ ราคาสินค้า และเรื่องที่น่าสนใจอื่น ๆ[6] และมีการนำเสนอ เป็นการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่[7] จุดประสงค์ของหนังสือพิมพ์เล่มแรกฉบับนี้ หมอบรัดเลย์พยายามเน้นให้คนเห็นว่า "หนังสือพิมพ์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร หมอพยายามชี้ให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์นั้นมีคุณต่อบ้านเมืองเป็นอันมาก เป็นแสงสว่างของบ้านเมือง คนชั่วเท่านั้นที่กลัวหนังสือพิมพ์ เพราะกลัวว่าหนังสือพิมพ์จะประจานความชั่วของตน"[8]
เอกสารที่คงอยู่และการตีพิมพ์ซ้ำ
[แก้]บางกอกรีกอเดอ 16 ใบ (ฉบับ) ที่ตีพิมพ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เหลือต้นฉบับตกทอดมา แต่มี 24 ใบ (ฉบับ) ที่หลงเหลือที่พิมพ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2528 ทายาทมิสเตอร์แฮมิลตัน คิง อดีตอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชสำนักสยาม ระหว่าง พ.ศ. 2441–2455 มอบเอกสารที่สะสมไว้ ได้ส่งมอบเอกสาร และของที่ระลึกส่วนตัวที่มิสเตอร์คิง และครอบครัวสะสมระหว่างที่พำนักในประเทศไทยเป็นเวลา 14 ปีดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือหนังสือพิมพ์บางกอกรีกอเดอ พิมพ์เป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2387-88 เย็บรวมเป็นเล่มรวม 14 ใบขาดไปเพียง 2 ใบ คือเล่ม 2 ใบที่ 14 และใบที่ 15 กระดาษบางแผ่นยังขาวสะอาดเหมือนใหม่ ปัจจุบันเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
นอกจากนี้ยังมีการตีพิมพ์เอกสารที่หลงเหลือทุกฉบับ ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสมหมาย ฮุนตระกูล ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2536[9]
ผลกระทบ
[แก้]หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีกอเดอ ถือเป็นปฐมบทการพิมพ์และการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย เป็นการริเริ่มหนังสือพิมพ์แบบตะวันตกในประเทศไทย ทำให้มีการสื่อสารสองทางระหว่างผู้สื่อสารกับผู้รับสาร เช่น จดหมายร้องทุกข์ และเนื่องจากการตอบโต้ของรัชกาลที่ 4 ต่อเนื้อหาที่ให้ข่าวที่ผิด และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของราชสำนักอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดหนังสือเผยแพร่ข่าวสารของราชการ คือ ราชกิจจานุเบกษา[9]
บางกอกรีกอเดอ ทำให้ภาษาไทยเริ่มมีการใช้ภาษาทำเนียบแนวใหม่ ได้แก่การเขียนข่าว เขียนสารคดี การเขียนหนังสือสำแดงการ ซึ่งเป็นที่มาของบทบรรณาธิการหรือคำนำของหนังสือปัจจุบัน หมอบรัดเลย์ยังให้ความรู้ด้านภาษาไทย เมื่อต้องการกล่าวถึงคำใหม่ ๆ จำเป็นต้องมีคำใหม่ ทำให้มีการทับศัพท์ การใช้คำภาษาไทยในความหมายใหม่ การสร้างคำศัพท์ การยืมคำ และการบัญญัติคำ เช่นคำว่า เปรสเตนต์ (president), กัมปะนี (company)[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สุกัญญา ตีระวนิช, หมอบรัดเลกับการหนังสือพิมพ์กับกรุงสยาม (กรุงเทพ : มติชน 2529) หน้า 40
- ↑ สุกัญญา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 55
- ↑ ครบรอบ ๒๑๓ ปี !! "หมอบรัดเลย์" บิดาแห่งการพิมพ์สยาม ผู้กำเนิด "หนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก" และผู้สร้าง "ตำนานหมอบรัดเลย์ตัดแขนพระ"
- ↑ 4.0 4.1 "ความเป็นมาของการวิจัย อักขราภิธานศรับท์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-15. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.
- ↑ บางกอกรีกอเดอ ฉบับ 15 พฤษภาคม 2408
- ↑ โฉมหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเมืองไทย
- ↑ บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยเริ่มออกวางแผง
- ↑ บางกอกรีกอเดอ ฉบับ 3 พฤศจิกายน 2408
- ↑ 9.0 9.1 "บางกอกรีคอร์เดอร์ : หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-05.