ซิงจงเอี๋ยน
ประเภท | หนังสือพิมพ์รายวัน |
---|---|
รูปแบบ | หนังสือพิมพ์ผู้นำ (Elite Newspaper) |
เจ้าของ | บริษัท ตลาดน้อย จำกัด |
ผู้เผยแพร่ | บริษัท ตลาดน้อย จำกัด |
บรรณาธิการ | นางผุสดี คีตวรนาฎ (何韻) |
คอลัมนิสต์ | นางผุสดี คีตวรนาฎ (何韻), สุเทพ ศุภภัทรานนท์ (林宏) |
ก่อตั้งเมื่อ | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517[1] |
นโยบายทางการเมือง | สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ |
ภาษา | ภาษาจีน |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 1022-30 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร |
ยอดจำหน่าย | 3,000 ฉบับ[2] |
"ซิงจงเอี๋ยน" (จีน: 新中原報; พินอิน: Xīn zhōng yuán bào; อักษรโรมัน: New Chinese Daily News) เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีน ที่ตีพิมพ์จำหน่ายในประเทศไทย
ประวัติ
[แก้]"ซิงจงเอี๋ยน" ก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกด้วยแรงหนุนของบรรดานักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนชื่อดัง เมื่อปี 2481 ในยุคแรกใช้ชื่อว่า "ตงง้วน" ซึ่งอ่านออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋ว ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกญี่ปุ่นเข้าควบคุมกิจการอยู่ 1 ปี เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงสงคราม เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามกลางเมืองจีน หนังสือพิมพ์ตงง้วนได้ถือนโยบายสายกลาง "แต่เอียงซ้ายนิด ๆ" ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนในขณะนั้น ในเดือนตุลาคม 2501 ได้ปิดตัวลงหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ในข้อหา "ซ้ายเกินไป" ตงง้วน กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งโดยนายลี่ คี่ ย้งในปี 2517 หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ พร้อมกับชื่อที่เปลี่ยนจาก "ตงง้วน" เป็น "ซิงจงเอี๋ยน" ซิง แปลว่า ใหม่ จงเอี๋ยน เป็นคำที่เขียนแบบเดิม ทว่าอ่านออกเสียงแบบจีนกลางแมนดาริน[3]
ต่อมานายผิน คิ้วไพศาล เจ้าของภูเก็ตแฟนตาซี และซาฟารีเวิลด์ ได้ขายกิจการให้นางผุสดี คีตวรนาฎ กระทั่งปี 2538 นายชาตรี โสภณพาณิชย์ เจ้าของธนาคารกรุงเทพ มาขอซื้อหุ้นกว่า 50% จากนางผุสดี และบริหารงานเอง ปัจจุบันนางผุสดียังเป็นผู้ถือหุ้น และเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา โดยนายชาตรีได้มอบให้ที่ปรึกษาส่วนตัว นายสุเทพ ศุภภัทรานนท์ มาเป็นกรรมการผู้อำนวยการ และบรรณาธิการบริหาร นายชาญศักดิ์ หิรัญสินสุนทร เป็นผู้จัดการทั่วไป[1] โดยนางผุสดีได้กล่าวว่า ตัวเองอายุมากแล้ว ลูกเต้าก็ไม่อยากจะมาทำหนังสือพิมพ์ ทางแบงก์กรุงเทพ ก็อยากจะได้ แล้วตอนนั้นเขาก็มีแผนกภาษาจีน คนรู้ภาษาจีนเยอะ เขาก็ซื้อไปส่วนหนึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ดิฉันก็ยังเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งแต่ไม่ใช่ใหญ่ที่สุด แบงก์กรุงเทพถือหุ้นใหญ่ที่สุดเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน[4]
สถานการณ์ปัจจุบัน
[แก้]ในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนตีพิมพ์อยู่ที่ 3,000 ฉบับต่อวัน โดยกระจายส่งไปยังสมาชิกที่บอกรับหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศซึ่งทำให้ควบคุมปริมาณการพิมพ์ได้ และแทบจะไม่มีการวางขายตามแผงหนังสือพิมพ์[2][3]
หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนมีความต่างจากหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับอื่น จากการที่หน้าในค่อนข้างจะเน้นในเรื่องของสุขภาพผู้สูงวัย ทานอะไรทำให้อายุยืน ต้องออกกำลังกายอย่างไร ต้องหลีกเลี่ยงอะไร[4] และมีคอลัมน์วิจารณ์การเมืองไทยและสังคมจีนที่รุนแรงและฉุนเฉียว ที่เขียนโดยสุเทพ ศุภภัทรานนท์ ในนามปากกา “及時風” (พินอิน: jíshí fēng) ซึ่งผู้อ่านบางคนที่ยังคงซื้อหนังสือหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนกล่าวว่าเขายังซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เพื่ออ่านบทความของบุคคลผู้นี้บุคคลเดียว[5]
ผุสดี คีตวรนาฎ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราไว้ว่า กองบรรณาธิการเน้นรับคนจีนจากแผ่นดินใหญ่เข้าทำงาน เพราะเกิดปัญหาขาดแคลนคนทำงาน เป็นผลจากชาวไทยเชื้อสายจีนขาดช่วงในการเรียนภาษาจีน และชาวจีนยูนนานที่มากับกองพล 93 มีจำนวนไม่พอ และบอกถึงคุณลักษณะที่ดีของคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ไว้ว่าพวกเขาเพียงแค่เรียนภาษาไทยประมาณ 1 ปี ก็สามารถแปลข่าวจากไทยเป็นจีนได้[6]
หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนไม่มีนโยบายทำข่าวออนไลน์ มุ่งไปทางคนมีอายุ เพราะไม่ได้ผู้อ่านเท่าไร โดยอ้างถึงกรณีของหนังสือพิมพ์จีนสากล[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 สภาการนสพ. แสดงความยินดี 42 ปี นสพ.ซิงจงเอี๋ยน
- ↑ 2.0 2.1 รอยต่อของความจีนในสายตา Hatchew People คนรุ่นใหม่เชื้อสายจีนกับนสพ.ซิงจงเอี๋ยนฉบับพิเศษ
- ↑ 3.0 3.1 ตรุษจีน : หนังสือพิมพ์จีนในไทย โซเชียลยุคกระดาษของคนไทยเชื้อสายจีน ยังมีคนอ่านอยู่แค่ไหน
- ↑ 4.0 4.1 4.2 คีตวรนาฏ บก. ซิงจงเอี๋ยน หนังสือพิมพ์จีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ 盤點泰國中文報章及雜誌的背景、風格與銷量2015下篇
- ↑ “ผุสดี คีตวรนาฎ” บก.ซิงจงเอี๋ยน เล่าเรื่อง “นสพ.จีน” ไม่มีวันตาย!